สงกรานต์ 55
อ่าน: 1519ผมไม่ได้เที่ยวสงกรานต์มานานหลายปีจนจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ แต่จำได้ช่วงที่ทำงานพัฒนาชนบทที่ อ.สะเมิง เชียงใหม่นั้น ผมเตรียมน้ำส้มป่อย พร้อมกับทีมงานไปดำหัวพ่อแคว่น หรือกำนัน และพ่อหลวง หรือผู้ใหญ่บ้าน และผู้เฒ่าที่เคารพในหมู่บ้าน ไปกราบอวยพรท่าน และขอรับพรจากท่าน มีการดำหัว ก็แค่รดน้ำบนฝ่ามือท่านที่มีขันเงินใบใหญ่รองรับ มีดอกไม้ไปกราบท่านด้วย
หลังจากนั้นก็เล่นสาดน้ำตามประสาหนุ่ม สาว ที่มักจะมีผู้ใหญ่คอยบอกกล่าวถึงการเล่นที่ไม่เกินพอดี แต่ปกติ หนุ่มสาวก็มักจะถือโอกาสนี้ หยอกล้อกัน จีบกัน หรือส่งสัญญาณว่าชอบพอกันให้ปรากฏ ผมชอบที่ชนบทแม้จะมีการดื่มเหล้าแต่ไม่มีเรื่องร้ายแรงใดๆ มักเป็นเรื่องสนุกสนานเสียมากกว่า แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้สายตาผู้หลักผู้ใหญ่ หลักจากนั้นก็ขนทรายเข้าวัด และพิธีกรรมพื้นบ้านต่างๆ การสาดน้ำนั้นมีนานกว่าในเมือง โดยมากก็เป็นหนุ่มสาวและเด็กๆที่เห็นเป็นเรื่องสนุก
สงกรานต์ในชนบทที่ผมผ่านมาจึงเป็นเรื่องประเพณีท้องถิ่นจริงๆ ผมเห็นสิ่งดีงามที่เกิดขึ้น คือการดำหัวผู้ใหญ่และการแสดงตัวถึงการเคารพนับถือ และผู้ใหญ่ก็อวยพรด้วยความเมตตา ตลอดปีมาอาจจะมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจมาบ้างก็มาขอขมาลาโทษและเริ่มต้นกันใหม่ ต่างฝ่ายก็ให้อภัยกัน สังคมจึงสืบต่อกันมาอย่างมีความสุขตามสภาพ โดยเฉพาะความสุขทางใจที่อบอุ่น
อาจเป็นเพราะสะเมิงสมัยนั้นเป็นชุมชนค่อนข้างปิด หรือกล่าวอีกทีคือเป็นแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด เพราะการติดต่อกับในเมืองค่อนข้างลำบาก สาระของชีวิตจึงเป็นแบบท้องถิ่นอย่างอุดมสมบูรณ์ เพราะถนนไม่ดี ระบบสื่อสารไม่มี ทีวีรับได้ แต่มีจำนวนบ้านที่มีทีวีนั้นไม่ถึงห้าครอบครัว
ชีวิตจึงไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่การมีกินและพอมีใช้ เราอาจเรียกชุมชนแบบนี้ว่าค่อนข้างบริสุทธิ์ งานของเรานั้นก็ไปส่งเสริมอาชีพ ยกระดับการมีรายได้ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วคือ กระเทียม ถั่วเหลือง ข้าวไร่ ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย ซึ่งที่อีสานเป็นพันธุ์เตอร์กิส ที่ชาวบ้านมักเรียกสั้นๆว่า “ยากีส” งานที่สะเมิงที่เราภูมิใจมากคือการตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีเงินมากมายถึง 45 ล้านบาท ทั้งที่เริ่มมาจาก เงินไม่กี่ร้อยบาทในปี 2519 สมัยนั้นไม่มีคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” แต่มีคำว่า “ยืนบนขาของตัวเองได้”
อ้าวเลยเถิดไปแล้ว…
กลับมาที่งานสงกรานต์สมัยนี้ ผมเห็นแล้วก็ตั้งคำถามเยอะ ไปหมดว่า ไอ้ถนนข้าวเหนียวที่ขอนแก่นนั้นสร้างชื่อเสียงในเรื่องการไม่มีเครื่องดื่มมึนเมา ดูดีนะ แต่ที่พยายามสร้างความยิ่งใหญ่โดยการทำเวฟคลื่นมนุษย์ใหญ่ที่สุดในโลก อะไรนั่น มันเป็นประเพณีโบราณมาจากไหน มันสร้างให้คนรักกันตรงไหน มันไปเสริมวัฒนธรรมประเพณีดีงามที่ตรงไหน
(ภาพจากอินเตอร์เนต)
มันเป็นการสร้างกิจกรรมใหม่ขึ้นมาที่เน้นการท่องเที่ยว สนุกสนานมากกว่าสาระทางคุณค่าจิตใจ ด้านในของมนุษย์เรา ใช้เงินทองไปมากมายกับเรื่องเหล่านี้ คนมาเที่ยวมากก็ทำให้เงินไหลสะพัด ธุรกิจที่พัก อาหารการกิน ซุปเปอร์มาเก็ต และพวก Department store ขนาดใหญ่ที่ขายดิบขายดี หรือเพราะว่านายกเทศบาลนครขอนแก่น และนายก อบจ. เป็นพ่อค้าใหญ่ในเมืองขอนแก่น
การทำกิจกรรมใหม่ๆนอกเหนือประเพณีเดิมๆนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และ trend ของสังคมก็เป็นเช่นนั้น แต่คำถามคือ
กิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างคุณค่าทางสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันได้หรือไม่
ผู้คนที่มาเล่นน้ำ เล่นเวฟคลื่นมนุษย์นั้นมีสักกี่คนที่ไปรดน้ำดำหัวพ่อแม่ ตายาย ผู้มีพระคุณของเขาหรือไม่
กิจกรรมแบบนี้ได้เปลี่ยนความเข้าใจในเรื่องประเพณีสงกรานต์ของเราไปสิ้น ปีหน้าจัดให้มันยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก ระดมคนมาให้มากกว่านี้เพื่อจะได้เป็นสถิติโลก..แล้วสังคมได้อะไร…..การส่งต่อคุณค่าทางวัฒนธรรมอยู่ที่ตรงไหน การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมอยู่ตรงไหน
ก็เข้าใจกันว่าสังคมค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนตัวของระบบใหญ่ของประเทศที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์เช่นนี้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผมก็แค่คำนึงถึงประเพณีดั้งเดิมดีดีของเรา…
ที่กำลังจางลงไปและจะเหลือเพียงการกล่าวถึงเท่านั้น..