ความรู้สึกความเป็นอาเซียน
ผมมามีความรู้สึกใหม่เกิดขึ้นระหว่างนั่งรถไปยังสถานที่ที่ทัวร์จัดให้ชม ซึ่งระหว่างนั้น โจ ไกด์ของเราบรรยายรายละเอียดสถานที่จะไปให้ฟัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาและ/หรือประวัติศาสตร์ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้รับรู้มาก่อน เพราะเป็นประวัติศาสตร์ภายในประเทศของเขา แต่ทั้งหมดทั้งมวลมีส่วนเชื่อมโยงกับประเทศไทยแบบ เหตุ ปัจจัย ของยุคสมัย ทำให้ผมเกิดความรู้สึกใหม่เกิดขึ้นระหว่างนั้น เป็นความรู้สึกที่ผมเรียกว่า “ความรู้สึกความเป็นอาเซียน”
เป็นความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยโบราณ เป็นความเข้าใจการปฏิบัติต่อกันในสมัยโบราณ ฯลฯ มากกว่าการคลั่งต่อประวัติศาสตร์เพียงเฉพาะของประเทศของเรา ซึ่งไปสร้างความรู้สึกเชิงลบ ต่อเพื่อนบ้าน เมื่อเรากล่าวถึงการเสียกรุง และผยองพองตัวเมื่อเราไปตีเมืองนั้นเมืองนี้ได้
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพียงให้เราสำเหนียกเรื่องราวความเป็นมาเป็นไป ความสัมพันธ์ในปัจจุบันเป็นเรื่องของความหวังดี เจตนาดีแก่กัน
ที่เมืองหงสาวดี โจ พาเราไปชมพระราชวังพระเจ้าบุเรงนอง ราชวงตองอู ที่สูญหายไปเพราะถูกเผาไปสิ้น ด้วยการสู้รบภายในประเทศของเขาเอง ไม่ว่า อังวะ ย่างกุ้ง เมืองแปร รัฐมอญ กะฉิ่น มันดะเล ตองยี …. เพราะต่างเป็นรัฐอิสระ และรบพุ่ง ผลัดกันแพ้ ชนะกัน จนพระเจ้าบุเรงนองหรือผู้ชนะสิบทิศเกิดขึ้น ได้รวบรวมรัฐต่างๆขึ้นมาอยู่ภายใต้เมืองหงสาวดีได้ เหมือนกับประวัติศาสตร์ไทยที่เมื่อเราไปตีเมืองเชียงใหม่ ปัตตานี เวียงจันทร์ เขมรได้แล้ว รัฐเหล่านั้นก็ต้องมาถวายบรรณาการทุกปี และเมื่อเวลาผ่านไป รัฐต่างๆอาจจะเกิดมีคนดีคนกล้าเกิดขึ้น และประเมินตนเองว่ามีกำลังแข็งแกร่งมากพอก็กล้าหาญไม่ส่งบรรณาการ และพร้อมจะทำสงครามครั้งใหม่ต่อไป..
สมัยที่พระเจ้าบุเรงนองเป็นใหญ่ ทรงสร้างวังในเมืองหงสาวดี หลังแพ้ศึกในปลายราชการ พระราชวังถูกเผาสิ้น และมีการขุดค้นพบภายหลัง มีหลักฐานยืนยันว่าตรงนี้เป็นพระราชวังเก่าคือ เสาทุกต้นจะจารึกชื่อเมืองที่เป็นเมืองขึ้นทุกเมืองอยู่ที่ใต้เสาต้นนั้นๆ หรือหน้าตัดของเสา
เสาพระราชวัง กำโพชธานี ของพระเจ้าบุเรงนองที่ระบุชื่อเมืองประเทศราชต่างๆที่หน้าตัดของเสา เป็นหลักฐานสำคัญ
การสร้างพระราชวัง กำโพชธานี ใช้แรงงานจากประเทศราช และทรงสร้างประตูเข้าเมืองโดยใช้ชื่อเมืองประเทศราชต่างๆเป็นชื่อประตูเมือง เช่น Yodayar หมายถึงกรุงศรีอยุธยา Ziemei หมายถึงนครเชียงใหม่
โจ อธิบายว่า ความเป็นยอดนักรบของพระเจ้าบุเรงนองนั้นยังมีความแตกต่างจากกษัตริย์องค์อื่นๆของเมียนมา คือ กษัตริย์องค์อื่นๆเมื่อตีเมืองได้แล้วก็จะทำลายเมืองเสียสิ้นเพื่อมิให้เติบโตขึ้นมาใหม่ภายหลัง และให้เป็นเมืองประเทศราช แต่พระเจ้าบุเรงนอง หรือจะเด็ด พระองค์นี้ เมื่อตีได้ก็ จะทำข้อตกลงให้เป็นเมืองพี่เมืองน้อง เหมือนทำ MOU ว่า หากเมืองหงสาถูกรุกราน เมืองต่างๆต้องมาช่วย ในทางตรงข้าม หากเมืองต่างๆถูกรุกราน หงสาและเมืองต่างๆจะเข้าไปช่วย นี่เองที่สมเด็จพระนเรศวรของเราอยู่ใต้เงื่อนไขนี้และเคยสำแดงความกล้าหาญเก่งกาจให้พระเจ้าบุเรงนองเห็นในการเดินทางขึ้นไปปราบเมืองอังวะ..? (กรุณาอย่าอ้างอิงเพราะไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง)
โจ กล่าวถึงความกล้าหาญ เก่งกล้าขององค์พระนเรศวรที่ส่อแววไว้ว่า เฉลยศึก หรือเมืองประเทศราชทั้งหลายที่ไปขึ้นต่อพระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีนั้น การเข้าเฝ้าจะต้องก้มหน้าและห้ามมองตากษัตริย์ มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ไม่ทำเช่นนั้นคือ พระนเรศวรแห่งอโยธยา บุเรงนองก็ทรงชุบเลี้ยงและทำนายว่าจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน….
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวส่วนของประวัติศาสตร์ ที่โจ บรรยายให้พวกเราฟัง ผมคิดว่าผมมีความรู้สึกใหม่ๆเกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น เพราะก่อนหน้านี้ ความที่ประวัติศาสตร์ไทยที่เราเล่าเรียนมา ได้สร้างความรู้สึกบางอย่างแก่เราเมื่อพูดถึงพม่า แต่เมื่อมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเขาเอง และส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทยเรา คามรู้สึกเข้าอกเข้าใจ ความรู้สึกสากล หรือความรู้สึกยกตัวเองออกจากความเป็นคนไทย คนพม่ามาเป็นคนอาเซียนมากขึ้น เช่นเดียวกับการที่ไปทำงานลาว และอ่านประวัติศาสตร์ลาวมาก คุยกับคนลาว รับรู้เรื่องความรู้สึกของคนลาวต่อประเทศไทย รับรู้การปฏิบัติต่างๆที่มีต่อกัน ผมคิดว่า อาเซียนต้องสร้างความรู้สึกใหม่ให้เกิดขึ้น
ผมไม่ทราบว่าการตั้งอาเซียนนั้นเพียงเพื่อรวมกลุ่มกันในรูปขอองค์กรเท่านั้นหรือการพยายามร้างความเป็นหนึ่งขึ้นมาด้วย หากเป็นความหมายหลังผมคิดว่า การเอาประวัติศาสตร์มาอนุวัติใหม่เพื่อสร้างเป็นความเป็นมาของอาเซียนในด้านความรู้สึกที่เป็นสากล ก็น่าที่จะเกิดประโยชน์มากกว่าไปหนุนเนื่องอัตลักษณ์มากเกินไปจนไม่ได้สร้าง “ทุนทางสังคมแบบอาเซียน” ร่วมกัน
มันไม่ง่ายครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้
« « Prev : ประวัติศาสตร์ไทย Myanmar version
1 ความคิดเห็น
จ๊ากสสสส์ Putarn ครับ ขอบพระคุณอย่างสูงที่ชมเชยและแนะนำให้เขียนนำเที่ยวอาเซี่ยน ข้าน้อยมิกล้าครับ ยังต้องสั่งสมบารมีงานเขียนอีกมากครับ
หากการขอโทษจากผู้นำต่อประเทศที่อดีตเราไปย่ำยี ใครต่อใครนั้นเป็นการสร้างมิติใหม่ของความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มันก็สมควรพิจารณาทำ ผมไม่คิดว่านี่เป็นการเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี ตรงข้ามเสียอีกนะครับ เกิดความรู้สึกดีดี ชื่นชมที่กล้าหาญในการยอมรับผิดพลาดที่เกิดขึ้น มองเชิงบวกคือ มันเป็นความผิดพลาดในอดีต คนปัจจุบันไม่มีเจตนาเช่นนั้นอีกแล้ว นี่คือมิติใหม่แห่งการอยู่ร่วมกันนะครับ
ขอบคุณครับ