อยู่ร่วมและเรียนรู้
อ่าน: 978
วันก่อนเผลอบ่นเรื่องอยู่รอดเอาไว้ บ่นๆแล้วก็เลยตามเลยบ่นต่ออีกหน่อย เอาไว้คอยตามดูปรากฏการณ์อีกนะแหละ ถึงแม้ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ซ้ำซากแต่ก็อยากจะรู้นะว่า หากมีคนที่อยากจะให้การอยู่เป็น “อยู่อย่างมีความหมาย” พลังข้างไหนจะแรงกว่า
บางคนอาจเคยได้ยินเรื่องที่ว่า คนทำงานพึงฝึกตนให้ดูทิศทางลมให้เป็น เมื่อเปลี่ยนหัวจะได้อยู่รอด ใช่ไหม
ในหลักสูตร “การประเมินคุณภาพสิ่งส่งมอบ” ครูฝึกได้ย้ำให้คนเข้าฝึกฟังว่า “หัวหน้า” แปลว่า “คนเป็นหัวเอาหน้าตัวเองเป็นการันตี” ฟังแล้วขำๆ และในใจนั้นแอบพยักตามว่า เออจริง
ช่วงปลายๆของเดือนกันยายน ก็มีลุ้นๆกับการที่ใครจะมาเป็นหัวเรือใหญ่ขององค์กรฉัน ลุ้นกันแบบไม่ลุ้นคนไหนหรอกนะ ลุ้นกันแบบตามดูว่าหวยไปออกที่ใครแค่นั้นแหละ
ที่ตามลุ้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า จะเตรียมความพร้อมในการทำงานต่อให้ไปฉิวตรงทิศทางลม ไม่ให้หมดพลังจนเกินเหตุอย่างนั้นเองแหละ
ถ้าเปรียบกับการทำงาน เหมือนการนำพาเรือออกจากฝั่ง แต่ก่อนเมื่อถึงเดือนนี้ ฝ่ายจัดทำแผนงานก็ต้องชะลอๆกันไว้ เหมือนชะลอเรือรอลม ไม่ตัดสินใจพลันทันทีที่จะลอยเรืออกไป กลัวกันไปว่าหากจะแล่นฉิวปลิวลมไปก่อน แล้วเกิดแล่นเรือวิ่งต้านลมโดยบังเอิญไปละก็ งบดุลที่มีจะหมดกระเป๋าไปซะก่อน หมดงบก็เหมือนเรือหมดน้ำมัน ลอยเท้งเต้งเซ็งกระเด๊๊ะอยู่กลางทะเล แถมอาจมีลมพายุจากหัวๆพัดมาให้สะดุ้งจนทำเรือจม เก้าอี้ที่นั่งหักกลางได้ ทำเรือล่มเองได้
ตอนนี้หวยออกมาแล้ว และแล้วในวันหนึ่ง นายกองเรือคนหนึ่งได้เอ่ยถามขึ้น ทิศทางของงานที่กำลังทำกันอยู่ ศึกใหญ่ที่ดูแลกันอยู่ตอนนี้ค่อยเบาลงๆแล้ว คนมารับบริการจากแต่ก่อนเป็นกว่าสองร้อยเหลือแค่ไม่ถึงยี่สิบคนต่อวัน แม่ทัพที่ให้นำทีมออกไปรับหน้าศึกตรงจุดนี้ ต่างพากันถอยเข้ามาทำงานรับมือตรงจุดปกติอย่างสบายๆแล้ว จะให้ยุบกองเรือไหม จะให้แล่นเรือต่อไปไหม
พลันก็ได้คำตอบแกมหัวเราะจากหัวขององค์กรว่า รู้หรือเปล่าว่าคนที่หวยออกนะได้เป็นใหญ่ด้วยเรื่องที่กำลังปรึกษา มาตรการที่ออกมาให้ปฏิบัติกันจึงยิ่งเข้มข้นนะไม่ว่า….เอิ๊ก..เอี๊ก..เอิ๊ก นายกองได้ยินตัดสินใจพลันว่า “ฮ่อๆๆอั๊วรู้แล้ว ถ้างั้นอั๊วจะคงกองเรือเอาไว้อย่างนี้แหละ แต่ขอรายงานว่าบรรดาแม่ทัพทั้งหลาย เขาได้พากันถอนกำลังพลเข้าประจำที่เดิมของเขากันแล้ว ศึกที่ให้สู้นะก็ยังสู้อยู่ แต่เขาไม่จำเป็นต้องพึ่งกองเรือของเรา…..”
เรื่องเล่านี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้หน้าเป็นประกันของหัว
สำหรับคนทำงานเวลาหัวต้องการใช้หน้าเป็นประกันด้วยเรื่องต่อเนื่องอย่างนี้ ชอบๆๆ ดีที่ทำให้ไม่ต้องปรับตัวมากมาย ทำต่อไปๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ชวนกันแค่ชะลอการโหมแรงไว้ เพื่อพักผ่อนกายให้ฟื้นจากความล้าไปพลาง มีศึกยกใหม่ค่อยเร่งเครื่อง รบศึกทุกทางกันไปต่อ
เพิ่งได้คำเฉลยกับข้อกำหนดบางอย่าง ว่าด้วยเหตุใดครูฝึกจึงเคร่งครัดกับคุณสมบัติของผู้เข้าฝึกว่า ขอให้เป็น “หัวหน้า” เท่านั้น ส่งรองหัวหน้าหรือคนทำแทนมาให้เท่าไรไม่รับไม่สน เบื้องหลังคำเฉลยมีอยู่ว่า “นี่คือหลักสูตรสอนงานให้หัวๆสั่งงานเป็น”
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฉันตามไปดู ตามรู้ ครูฝึกได้ชวนให้เดินไปด้วยกัน ก่อนไปถึงห้องเรียนก็แวะไปถึงจุดทำงานที่หนึ่ง คำสนทนาด้วยกันมีแค่คำถามที่ป้อนมาให้ตอบอยู่แค่ 3 ข้อ
ข้อหนึ่งถามพร้อมใช้มือชี้ “นี่อะไร”
ข้อสองถามต่อ “เห็นอะไร”
ข้อสามถามใหม่ “ปกติหรือไม่ปกติ”
คำถามทั้งสามถูกใช้ซ้ำเมื่อเปลี่ยนหมุนตัวไปยังจุดใหม่ในสถานที่เดิม
แปลกใจกับตัวเองที่เริ่มอ้อ ว่าคำถาม 3 ข้อมีความหมายอะไร หลังจากโดนถามไป 3 รอบ 3 จุดที่เปลี่ยนไป ปิ๊งแวบเข้าใจครูฝึกแฮะ “สอนให้หัวๆสั่งงานเป็น” แท้จริงครูฝึกมุ่งหวังอย่างไรไว้
เข้าใจแล้วค่ะ่ครูฝึกว่า ทำไมครูจึงขอให้ ผอก.หรือใครที่เป็นหัวแทน เข้ามาร่วมในตอนปิดเวทีให้ได้ และขอให้ทำหน้าที่่แค่ 4 อย่างเท่านั้นเอง
หนึ่งคือ เมื่อหัวหน้ารองลงไปนำผลงานมาเสนอว่า งานนี้ควรพัฒนาซะก่อนจึงให้ผ่าน ให้พูดออกไปแค่คำว่า “…..ก็ลองดู”
สองคือ เมื่อหัวหน้ารองนำเสนอผลงานมาเสนอว่า งานนี้ควรพัฒนาซะก่อนจึงให้ผ่าน ให้พูดออกไปแค่คำว่า “…ใครรับผิดชอบ”
สามคือ เมื่อหัวหน้ารองนำเสนอผลงานมาเสนอว่า งานนี้ควรพัฒนาซะก่อนจึงให้ผ่าน ให้พูดออกไปว่า “….จะเสร็จเมื่อไร”
หน้าที่ 3 อย่างที่ให้ทำนี้ ให้ทำให้เสร็จก่อนลงนามรับรายงานแต่ละใบที่หัวหน้ารองส่งมา
หน้าที่อย่างที่ 4 ที่ให้ทำ คือ ลงนามรับรู้ผลงานที่เสนอมาว่าผ่านหรือไม่ผ่านก็ตามโดยไม่ทำหน้าที่ : ซัก ค้าน เสนอความเห็นชี้นำ แทรกแซง วิจารณ์ใดๆ ขอเพิ่มเติมเรื่องใดๆ
ฉันนั่งฟัง นั่งสังเกตไปเรื่อยๆ ได้เห็นบรรยากาศแล้วขำในใจ นึกเห็นไปว่า ถ้าในหัวๆที่มานั่งอยู่หัวไว ปากเร็ว สมองหมี นิสัยกระทิง เร็วแบบเหยี่ยวอยู่ร่วมเยอะ คงหงุดหงิดกับสไตล์ของครูฝึกน่าดู
ครูฝึกเขาฝึกแบบมองหัวๆทั้งหลายเป็นเด็กอนุบาลยังไงยังงั้น เมื่อสอนแล้วถามกลับ ตอบไม่ได้ก็ให้อ่านให้ฟัง เมื่อสอนแล้วให้อ่านก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ก็สอนใหม่ เมื่อสอนแล้วก่อนป้อนคำถามให้ตอบก็จะมีคำถามว่า “เข้าใจไหม”
อยากรู้ว่าบรรยากาศในห้องเรียนเป็นอย่างไร ให้นึกถึงสมัยเรียน ข อา ขา ก อา กา ดูแล้วกัน เหมือนอย่างนั้นเดี๊ยะเลย ไม่น่าเชื่อ
ตอนนี้ครูฝึกเขากลับไปแล้ว กว่าจะแวะกลับมาเยี่ยมใหม่มีเวลาอีกหลายเดือน มีการบ้านทิ้งไว้ให้ทำแล้วให้ส่งเมื่อกลับมาใหม่
ไม่รู้ยังไงซิน่า มีคำๆหนึ่งแวบขึ้นมาในใจในวันนั้น อย่างนี้
“อ้อ ครูฝึกเขาจะมาช่วยฝึกให้หัวหน้าทั้งหลายเปลี่ยนตัวเองจากคุณละเอียดเป็นคุณละเมียด….อิอิ”
บันทึกไว้เพื่อการติดตามดูต่อไปด้วยความอยากรู้ว่า จะได้คุณละเมียดแล้วแถมคุณละไมมาให้ด้วยหรือเปล่า น่ารู้จริง (อยากได้คุณละไมไว้เติมความสุขให้คุณลืมละเมียดมากกว่าในตอนนี้)
ก่อนจบขอฝากคำคมจากครูฝึกไว้หน่อย ฉันว่าเตือนใจได้ดีนะ
“เมื่อมีอะไรที่ไม่ปกติอยู่ ทุกวันๆมาเห็นแล้ว คนกลับรู้สึกว่าเป็นปกติ นี่น่ากลัวนะ การพัฒนาจึงไม่ง่ายเลยนะหมอ…….”
6 ตุลาคม 2552
บันทึกอื่น
2. เยี่ยม
3. อยู่รอด
« « Prev : ถังแตก
Next : ยางลบ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "อยู่ร่วมและเรียนรู้"