ตามลม๒ (๑๓) : มันอะไรกันวุ๊ย

อ่าน: 1963

ความเกะกะของไม้หลักปักไว้เพื่อพิธีกรรมขัดขวางความสะดวก จะสืบค้นเืพื่อหาทางระบายน้ำออกจากบริเวณที่เจิ่งนองไม่สามารถ  เมื่อฝนเติมน้ำลงมาทำได้อย่างเดียวใช้เครื่องดูดออกทิ้ง

เดาไปว่าเทวดาบนสวรรค์น่าจะทนไม่ได้กับภาพอุนจิลอยคอจะจะในพื้นดินรพ.ฝนจึงทิ้งห่าง แสงอาทิตย์ที่ส่งตรงลงมาตรงจุดนี้สบโอกาสระเหยน้ำที่ขังเจิ่งจนหายไป  ปิดโอกาสการตกเป็นเหยื่อข่าวกล้วยลอยให้แบบสบายๆ

ในเวลาเดียวกับที่ตัดสินใจลดงานที่คูเจ้าปัญหา ก็ไล่เรียง ค้นหาแยกท่อน้ำที่เทลงสู่บ่อข้างไตเทียม ท่อไหนนำน้ำจากคนไข้มาทิ้ง  ท่อไหนนำน้ำใช้สอยของคนทำงานมาทิ้ง

ได้คำตอบว่าบ่อและคูข้างไตเทียมเป็นปลายน้ำของน้ำเสียหลากประเภททีเดียวเชียว  ในคูเป็นน้ำหลังซักล้างผสมน้ำฝนจากหลังคาและน้ำประปาที่บางเวลาคนงานเผลอเปิดทิ้งไว้ เหตุที่เกิดปรากฏการณ์แอลจีบลูมก็ด้วยว่ามีท่อนำน้ำจากคนไข้ลงมาปนบ้างบางเวลา

ในบ่อที่ใส่ปลากี่ทีกี่ทีปลาหายจ้อย เป็นน้ำปล่อยทิ้งตรงมาจากระบบล้างไต ผสมน้ำล้างข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับอาหารและน้ำจากท่อน้ำทิ้งห้องน้ำ

ปรึกษาช่างให้รื้อระบบและต่อท่อทิ้งน้ำให้ใหม่ เบี่ยงน้ำจากระบบล้างไตไปลงบ่อพักบ่ออื่น เบี่ยงท่อนำน้ำจากคนไข้มาปนในคูไปเชื่อมกับท่อทิ้งที่อยู่ใกล้ๆ  แยกท่อแล้วนำปลาใส่ลงไปในบ่ออีกรอบ ตอนใส่น้ำมีค่า DO4 pH 7 ปลาหายจ้อยเหมือนเดิม

ในความคิดนั้นมั่นใจว่าแอมโมเนียที่เป็นพิษกับปลาเป็นจำเลยทำให้ปลาหายจ้อย จึงปรับน้ำให้เป็นด่างด้วยปูนขาว แล้วลองใช้ขวดน้ำพลาสติกเจาะรูยัดไส้ฟองน้ำและเศษพลาสติกตามหลักการวัสดุมีรูพรุนช่วยจัดการแอมโมเนียในน้ำได้  ลอยลงน้ำแบบลอยทุ่น หาบ่อที่มีน้ำขังลอยขวดแบบเดียวกันไว้เปรียบเทียบผล

ปูนขาวปรับน้ำเป็นด่างเร็วทันใจ  ใส่ครั้งเดียว น้ำมี pH 7 อยู่นานแรมเดือน หลังเติมปูนขาว น้ำมี DO เกิน 4  แอมโมเนียมีราว 0.2  แวะเวียนไปจนมีลูกน้ำแตกตัวเป็นฝูงในน้ำ เห็นลูกน้ำก็มั่นใจว่าปลาน่าจะรอด ใส่ปลาซ้ำอีกรอบ แป่วเหมือนเดิม ไร้ร่องรอยปลา

ด้อมๆมองๆหลายวันไม่เห็น นึกไปว่าปลาหนีเข้าไปอยู่ใต้ตึก ตามตัวลูกน้องมาถามปลาหายไปไหน ลูกน้องให้ข้อมูลว่า ได้ปล่อยปลาลงไปอีกเรื่อยๆ แต่ไม่เคยเห็นออกลูก ตัวแม่ก็ไม่เห็น เวลาที่ปล่อยลงก็ไล่เรี่ยกับที่อื่น ที่อื่นมีลูกปลาเป็นโขยง แต่ที่นี่ไม่เห็น

งั้นแปลว่าน้ำบ่อนี้มีความพิเศษเรื่องพิษที่แตกต่างไปจากน้ำใต้ตึกเจ้าปัญหาแล้วซิ  ยังนึกไม่ออกว่าเป็นอะไรได้อีก  แวบขึ้นว่าเคยสงสัยน้ำมีเกลือเยอะ ปลาหางนกยูงเป็นปลาน้ำจืด ยังไม่เคยพิสูจน์เรื่องเค็ม

ไม่กล้าทดสอบความเค็มด้วยการจิบชิมดั่งที่อัศวินม้าขาวท้าทายไว้  ฉี่คนไข้ที่เคยผ่านตามักมีความหนาแน่นตั้งแต่ 1.015 - 1.025  ถ้าวัดค่าได้ใกล้เคียง พออนุโลมว่าเค็มเหมือนน้ำในตัวคนได้  อีกอย่าง คือ ทั่วๆไปน้ำทะเลผิวๆมีความหนาแน่น 1.025 ถ้าน้ำทิ้งหนาแน่นไล่เรี่ยกัน ความเค็มไม่น่าต่างกันเท่าไร

ใครจะว่าจับแพะชนแกะขอไม่สน  เลี่ยงมาวัดความหนาแน่นเทียบเค็มแบบมั่วๆดู  ได้มาว่าจะน้ำทิ้งท่อไหนๆ ความหนาแน่นน้ำไม่ต่างจากน้ำประปา จึงสรุปว่าเหตุชวนสงสัยเรื่องเค็มทำให้ปลาตาย บ่ไซ่เลย

อืม อากาศก็มีพอ ภาวะน้ำก็เป็นกลาง เค็มก็ไม่เค็ม แอมโมเนียที่ละลายปนก็ต่ำมากๆ อะไรทำให้ปลาตายหว่า มันอะไรกันวุ๊ย

« « Prev : ตามลม๒ (๑๒) : ห่วงจริงจริ๊ง

Next : ตามลม๒ (๑๔) : น้ำกับไนเตรทอีกรอบ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม๒ (๑๓) : มันอะไรกันวุ๊ย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.018733978271484 sec
Sidebar: 0.15128207206726 sec