เยือนน่าน (๓)

โดย สาวตา เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2012 เวลา 23:59 ในหมวดหมู่ การจัดการ, ประสบการณ์ชีวิต, วงแม่พิมพ์, สสสส.๒, สังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1933

เมื่อได้ยินเรื่องของการเกษตร ในหัวคิดและหัวใจรู้สึกจั๊กจี้ ด้วยว่ากี่ทีกี่ทีกี่ครั้ง ก็มักจะได้ยินคำว่า “เศร้ากับแรงงานเกษตรกรไทย”…..  “สงสารชาวนา”…..”มีแต่จะจนลงๆ เมื่อทำการเกษตรต่อๆมาหลายชั่วคน”……”ขายนา ใช้หนี้”……”ขายที่ หนีเข้าเมือง”  ไปน่านคราวนี้ก็ได้ยินคำเหล่านี้อยู่เหมือนกัน เมื่อบัณฑิตคืนถิ่นคือช้างเผือกที่จะกลับสู่ป่า ในขณะที่ชะตาของเกษตรกรที่สังคมกรอกหูอยู่ทุกวันเป็นดังว่าข้างต้น ชวนให้อยากรู้ว่านิสิตคิดอย่างไรอยู่

ฟังอาจารย์หัวใจทองเล่าแล้ว จับความได้ว่า คณาจารย์นั้นตั้งมั่นที่จะสร้างสรรค์ช้างเผือกคืนป่า สู่ครอบครัวเกษตรกรแบบไม่พากันจน การเติมเต็มความรู้ให้เป็นเครื่องทรงของช้างเผือก จึงออกไปในแนวระดมสรรพกำลังฝ่ายสนับสนุนที่มีวิชาเป็นเลิศมาช่วยกั๊นช่วยกัน โดยชี้ชวนนิสิตให้ร่ำเรียนเขียนอ่านผ่านสื่อไอที ช่องทางไหนทำได้ เตรียมไว้ให้หมด

ถึงจะมีติดๆขัดๆ ก็ยังได้วิธีทันสมัยเรียนทางไกล แบบว่า คณาจารย์อยู่กรุงเทพฯก็คุยผ่านจอสอนว่างั้นเหอะ  ส่วนลูกศิษย์ก็นั่งฟังเสียงอาจารย์คุยอยู่ที่จุฬา-น่าน ไม่ต้องแบกสังขารไปอยู่เมืองกรุงให้เสียอารมณ์ เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายกับรถติดในกรุง อยู่ต่างจังหวัดอย่างสุขสบายด้วยกัน มีคณาจารย์ไปๆมาๆบ้าง อยู่กับนิสิตที่น่านบ้าง ปะปนกันไป

รู้สึกดีที่ได้ร่วมรับรู้ความสำเร็จที่อาจารย์เล่าว่า เด็กจุฬา-น่านปี ๑ ผ่านการทดสอบอีคิวในระดับท็อปในข้อสำคัญๆ เช่น ความมีจิตอาสา แต่ฟังตรงนี้แล้วเริ่มงง ข้อที่จะไม่ผ่านการทดสอบมีเรื่องความพึงพอใจต่อชีวิตอยู่ด้วย

ในชีวิตการงานที่ทำอยู่ ได้พบผู้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อาหารอยู่มากมาย แล้วจุดเริ่มต้นแห่งห่วงโซ่อาหาร ทั้งคุณค่าและวิธีผลิตอยู่ในมือเกษตรกรทั้งนั้น  ดิน น้ำ ลม แสงสว่าง อุณหภูมิ อากาศ เป็นปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับธาตุ และสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ แลมนุษย์  การคลุกกับความแปรปรวนของสิ่ง ๕ ประการนี้ถ้าอึดไม่พอ ก็จะเดี้ยงแบบไม่ผุดไม่เกิด โบกมือขอบายเอาง่ายๆ ช้างเผือกที่จะคืนสู่ป่าไม่มีแรงจูงใจให้เกิดความพอใจต่อชีวิต อย่างนี้จะรอดปลอดภัยแค่ไหนหนอเมื่อคืนป่า????

หวนนึกถึงธรรมทานของพระอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ขึ้นมาอีกแล้ว  “…..งานเป็นกิจกรรมส่วนสำคัญของชีวิต เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูให้ละเอียดว่าเราใช้ชีวิตกันอย่างไร ก็ต้องมาดูเรื่องการทำงานว่าทำกันอย่างไรด้วย…..”  ที่ว่าเป็นหลักสูตรพิเศษเพื่อสร้างช้างเผือกคืนป่า แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นตรงการระดมสรรพกำลังในกรุงเทพฯมาสอนทางไกลหรือเปล่าหว่า แล้วคุณสมบัติสำคัญที่ผู้ทำการเกษตรหรือต่อให้ต้องทำงานบริหารจัดการก็เหอะนั้น ไม่มีฐานความพึงพอใจต่อชีวิตจะไม่ผ่านด่านสำคัญ สำคัญที่สุดตรงนี้นี่นา นึกในใจ….เอาละซิ ที่ขันอาสามาคราวนี้จะแจมแบบไหนดีละ

ฟังอาจารย์ต่อก็จับความได้เพิ่มว่า ด้วยความกรุณาและมีเมตตาต่อนิสิต จึงขวนขวายระดมทุนและการสนับสนุนเตรียมพร้อมไว้ช่วยเมื่อศิษย์จบไปแล้วอาจประสบกับความลำบากยากเย็น ทุนสนับสนุนการงานอาชีพ ทุนให้เรียนรู้ มีพร้อมสิ้น อืม ตรงนี้แหละมั๊งที่พิเศษสุดยอด แต่เมื่อหันดูโจทย์ว่าที่ดูแลช้างเผือกมาก่อนจบนั้นเมื่อปล่อยคืนสู่ป่า ช้างแข็งแรงพอที่จะอยู่รอดหรือเปล่า ก็ชวนค้นหาอยู่เหมือนกัน รู้สึกเหมือนมีภาพพรางตาที่พึงขจัดเงาพรางให้หลุดออก ตะหงิดๆเลยละ

ช้างเผือกในธรรมชาติอยู่ป่าหากินด้วยลำแข้งและพละกำลังที่มันมี ที่มันหากินได้ มีแม่ช้างคอยอุ้มชูให้นมอยู่ไม่นานก็ปล่อย ความเข้มแข็งที่เกิดต่อมัน มาจากการได้ลองหากิน การหลงฝูงแตกแถว ครั้งแรกเจอสิ่งที่ไม่เคยคงไม่พ้นตกใจและกลัว ต่อมาเมื่อคุ้นเข้าๆ ก็หากินเองได้ ที่ตื่นกลัวหดหายไป เหลือความคุ้นชิน และสัญชาตญาณสะสมที่นำพาตัวรอดได้

นิสัยการอยู่เป็นโขลง เดินตามผู้นำไปไหนๆ เป็นโอกาสให้ลูกช้างได้เรียน ได้เล่น ได้เลียนแบบและเรียนรู้จากช้างตัวโตๆที่ประคบประหงม คอยระวังภัย ไม่เคยเห็นเลยว่า ช้างสะสมทุน สะสมอาหาร รออาหารจากช้างตัวโตๆป้อนให้จนเติบใหญ่  มีแต่รอใช้ชีวิตเคียงข้างเพื่อฝึกสัญชาตญาณเพื่อให้เดินทางลำพังได้ หากินได้

เอ๊ะยังไง ตกลงที่เข้าใจว่าเป็นการสร้างช้างเผือกโขลงใหญ่เพื่อคืนป่านั้น อันตัวเราเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า ( ขอใช้สำนวนลิเก เขกกระโหลกตัวเอง แก้งงหน่อยเหอะนะ…อิอิ)

“….คนเรานั้นมองการทำงานต่างกันไปหลายอย่าง และจากความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการทำงาน ก็ทำให้เขามีพฤติกรรมการทำงาน เป็นแบบของตนๆไปตามความเข้าใจนั้น  อย่างแรกซึ่งเห็นชัดที่สุด คนโดยมากมองงานว่าเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ทำให้มีเงินมีทองสำหรับเอามาซื้อหารับประทาน มาจับจ่ายใช้สอยหาความสุขอะไรต่างๆ คนจำนวนมากมายมองความหมายของงานแบบนี้ ถ้าถือตามคตินี้ ก็จะเข้ากับคำขวัญที่ว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ต้องทำงานจึงจะมีเงิน และต้องมีเงินจึงจะได้คนมาทำงาน นี้คือความหมายขั้นแรก แต่ยังมีความหมายต่อไปอีก

สำหรับคนจำนวนมาก นอกจากมองความหมายที่หนึ่งแล้ว ยังมีความหมายที่สองพ่วงมาด้วย คือ มองขยายกว้างไกลออกไปว่า งานนี้จะนำชีวิตเราไปสู่การมีตำแหน่ง มีฐานะ เจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง หรือรุ่งโรจน์และได้รับความนิยมนับถือ ที่ทางพระเรียกว่าโลกธรรม อันนี้ก็เป็นความหมายที่สำคัญเหมือนกัน คนไม่น้อยมองงานในความหมายแง่นี้…….”

เมื่อโยงไปสู่คำกล่าวที่ทำให้หัวคิดและหัวใจจั๊กจี๊ที่เกริ่นไว้ต้นบันทึกนี้ กับเรื่องของงานในท่อนธรรมทานที่ยกมา ฉันก็อยากรู้ว่านิสิตรู้สึกต่อสถานะและอาชีพของพ่อแม่ก่อนเข้ามาเรียนดังเช่นคำกล่าวด้วยหรือไม่  การงานอาชีพเป็นสิ่งที่แปรสภาพชีวิตของคน เกษตรกร กรรมกร หมอ นักวิชาการ ครู ชาวบ้าน พระ ชี มีชีิวิตที่แตกต่างกันไป ดำเนินชีวิตที่ต่างกันไป มีสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่าง สภาพความสัมพันธ์ในสังคมแปลกกันไป

ความหมายในแง่นี้ของงาน สร้างความเย็นยะเยือกในใจ  หรือว่าเมื่อศูนย์บ่มเพาะแห่งนี้ปล่อยช้างเผือกคืนป่า วัยจ๊าบจุฬา-น่าน จะเป็นช้างเผือกพันธุ์ใหม่จริงๆ เป็นช้างที่ชอบเดินบนถนนคอนกรีตหรือยางมะตอย  ชอบนอนในเมือง อยู่กับคนเมือง เกลียดป่าซะละมั๊ง

« « Prev : เยือนน่าน (๒)

Next : เยือนน่าน (๔) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 เวลา 9:41

    มีประเด็นที่นิสิต หรือบัณฑิตคืนถิ่น หรือบัณฑิตไหนๆก็ควรเก็บเอาไปตอบคำถามในใจตัวเองให้ได้มากมายทีเดียว ครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.086148023605347 sec
Sidebar: 0.58092308044434 sec