เยือนน่าน (๒)

โดย สาวตา เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2012 เวลา 0:49 ในหมวดหมู่ การจัดการ, ประสบการณ์ชีวิต, วงแม่พิมพ์, สสสส.๒, สังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1269

ที่ตกปากรับคำไปน่านด้วย เมื่อพ่อครูโยนโจทยขึ้นบล็อก มีเบื้องหลังซ่อนเร้นอยู่เหมือนกัน หนึ่งในนั้นเป็นการลงทุนเพื่อการดำเนินชีวิตให้ได้ดียิ่งๆขึ้นไป  ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนไว้ว่า ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งมีชีวิตที่ดี เป็นธรรมชาติที่ยิ่งฝึก ยิ่งได้ ยิ่งมีความสุข เป็นอิสระ เป็นโอกาสแห่งตนกับการได้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุขในสังคมและในโลก  เป็นจริยธรรมตามคติของพุทธศาสนาที่ยิ่งฝึก ก็ยิ่งได้ โดยเฉพาะการได้ฝึกศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นเรื่องที่พึงฝึกตนเต็มสุดความสามารถให้ไปถึงได้

ก่อนมาน่านรู้แต่ว่า นิสิตจุฬาที่น่านต้องการอาจารย์นอกระบบมาแบ่งปันประสบการณ์เพื่อเติมเต็มการฝึกฝนตน หลังจบปริญญาตรีแล้ว นิสิตเหล่านี้จะคืนถิ่น  “บัณฑิตคืนถิ่น” เป็นคำที่เตะใจและตื่นใจ นึกในใจว่าจุฬานี้กล้าจริง อยากเห็นวิธีผลิตช้างเผือกโขลงใหม่ให้วงการเกษตรไทยกับตา เป็นอีกหนึ่งเบื้องหลัง

จะว่าไปแล้ว ชีวิตดี ณ วันนี้ก็ได้มาด้วยสิกขา เด็กซิ่วจุฬาฯคืออดีตที่ผันผ่าน วิชาความรู้ที่จุฬามอบให้ คือ บันไดที่ค้ำชูให้ผันมาเป็นหมอได้ดั่งใจพ่อแม่  เมื่อถึงเวลาให้ตอบแทนคุณ จึงเป็นประหนึ่งโอกาสทองที่ควรลงทุนให้กับตัว เป็นอีกหนึ่งเหตุที่นำสู่การตกลงใจรับคำชวน

ฟังเรื่องเล่าจากอาจารย์หัวใจทองและสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินกับหู  ในใจเกิดคำถามขึ้นมากมาย  เข้าใจผิดอะไรอย่างไรหรือเปล่ากับคำว่า “บัณฑิตคืนถิ่น”    ไหนๆก็อาสาจะทำหน้าที่ “วิพุทธิยาจารย์” แล้ว  จึงขออนุญาตใช้ธรรมเนียมชาวเฮฮาศาสตร์ ถอดบทเรียนและมุมมองเล่าสู่กันฟังเพื่อประโยชน์สืบต่อด้านการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ที่คณาจารย์หัวใจทองทั้งหลายเห็นพ้องต้องกัน

พระอาจารย์พระพรหมคุณคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้มอบธรรมทานไว้ในหนังสือชื่อ “เล่าเรียน-ทำงานกันไป ชีวิตได้อะไร” ไว้ตอนหนึ่งว่า  “….การที่จริยะนั้นจะเป็นพรหมะ (พรหมจริยะ) คือ จะเป็นการดำเนินชีวิตที่ดีงามได้ จริยะก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ (ที่เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องเรียนรู้) คือ ต้องศึกษา  เพราะฉะนั้น จริยะจึงแยกจากการศึกษาไม่ได้ และดังนั้น เรื่องการศึกษากับเรื่องจริยะ จึงแทบเป็นเรื่องเดียวกัน

แต่เวลานี้ เรามองจริยธรรมเป็นส่วนเศษนิดเดียวของการศึกษา และการศึกษาที่เราพูดถึงกันนั้น เมื่อมองในแง่ของพุทธศาสนา ก็เป็นเศษนิดเดียวในระบบการศึกษาของพระพุทธศาสนา เพราะการศึกษาปัจจุบันมองพร่าแล้ว

การศึกษาในความหมายของคนทั่วไป จะมองเน้นไปในเรื่องของการเล่าเรียนวิชาทำมาหากิน ทั้งๆที่นักการศึกษาบอกว่าไม่ใช่แค่นั้น แต่เวลาจัดการศึกษาในเชิงปฏิบัติ เรามักจะเอาอย่างนั้น หรือแม้แต่แค่นั้น จนกระทั่งชาวบ้านก็มองเป็นอย่างนั้นว่า การศึกษาคืออะไร คือไปเล่าเรียนวิชา เพื่อจะได้เอามาทำมาหาเลี้ยงชีพ ตลอดจนเอาไปเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ อย่างดีก็เอามาพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม จนกระทั่งไปๆมาๆตัวคนเองก็กลายเป็นแค่ทรัพยากรมนุษย์….

พ่อครูได้แลกเปลี่ยนเรื่อง “จริยะที่แยกจากการศึกษา” ฝากไว้พิจารณาเติมเต็มตามสมควรแล้ว  พี่ตึ๋งชื่นชม “จริยะที่แยกจากการศึกษาไม่ได้” ที่นี่แล้ว  จึงขอเพิ่มเพียงคำชี้ชวนให้คณาจารย์ย้อนอดีตแลทบทวนว่า  “บัณฑิตคืนถิ่น” ที่กำลังปั้นให้กลายเป็นช้างเผือกของการเกษตรไทยนั้นพร่าหรือชัด  บัณฑิตแต่ละคน “คืนถิ่น” ในความหมายแบบชาวบ้านกับที่คณาจารย์ทั้งหลายกำลังมอบให้แก่นิสิตในฐานะนักการศึกษาเหมือนและต่างอยู่อย่างไร  บัณฑิตคืนถิ่นเป็นทรัพยากรมนุษย์เท่านั้นหรือไร

“……เมื่อมองคนแคบๆและเขวกันไป จนการศึกษาเป็นแค่การรู้วิชาเลี้ยงชีพทำมาหากิน คนเล่าเรียนกันไป ทำงานทำเงินได้มา ก็ว่ายวนอยู่กับความวุ่นวายในการวิ่งแข่งแย่งกันหาความสุข จนกระทั่งสังขารเหี่ยวแห้งร่วงโรย เที่ยวหาความสุขไม่ไหว ก็เหงาหงอย แล้วชีวิตก็จบไป  ในสภาพเช่นนี้ ศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ ถูกทิ้งสูญเปล่า เกิดมาแล้วชีวิตเหมือนว่าว่างเปล่าอย่างน่าเสียดาย ไม่ได้ประโยชน์จากการมีชีวิต และไม่ได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ให้สมกับศักยภาพที่ตนมี….”

ใครบ้างที่จบไปแล้วจัดอยู่ในกลุ่มที่ธรรมทานนี้เอ่ยไว้ เป็นความกล้าที่อยากชวนให้คณาจารย์ลงมือทำนายจำนวนนับตั้งแต่วันนี้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารเวลาตามหลักสูตรที่เหลืออยู่ ต่อยอด เติมเต็มฐานความรู้และประสบการณ์ที่ขาดหายให้แก่นิสิต จนสามารถเป็นบัณฑิตคืนถิ่นได้เต็มตัวแท้จริง ตามจำนวนที่คณาจารย์ปรารถนา อย่างสมเกียรติแห่งความเป็นสถาบันการศึกษาหลักของสังคมไทย

๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

« « Prev : เยือนน่าน (๑)

Next : เยือนน่าน (๓) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.024765968322754 sec
Sidebar: 0.15181612968445 sec