ตามลม๒ (๑๔) : น้ำกับไนเตรทอีกรอบ

อ่าน: 2237

เคยบันทึกไว้เรื่องของไนเตรทว่าเป็นรูปหนึ่งของไนโตรเจนเมื่ออยู่ในน้ำ และจะรู้ว่ามีไนเตรทมากน้อยเพียงใดให้สังเกตตะกอนลอย การเห็นตะกอนลอยเยอะ ยังหมายถึงในน้ำนั้นมีแอมโมเนียไหลลงมาผสมอยู่ไม่น้อยเลย  ซึ่งแปลว่าในน้ำมีสิ่งปนเปื้อนของน้ำทิ้งจากห้องส้วม

แอมโมเนียเหล่านี้เกิดขึ้นจากแบคทีเรียย่อยสลายสารอนินทรีย์ไนโตรเจนจนกลายสภาพเป็นแอมโมเนีย  แอมโมเนียจึงเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่มีกฎกำหนดให้ตรวจวัดการปนเปื้อน

ในมาตรฐานน้ำดื่มของการประปานครหลวงกำหนดให้มีแอมโมเนียปนเปื้อนในน้ำประปาไม่เกิน 0.2 มก./ลิตร  เพื่อไม่ให้ต้องเติมคลอรีนลงไปในน้ำประปามากไป

นอกจากแอมโมเนีย ไนเตรทแล้ว ก็เคยเล่าเรื่องไนไตรต์ไว้  เมื่อไรพบไนไตรต์ในน้ำ แปลได้ว่าการย่อยสลายสารอินทรีย์ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ และถ้าพบน้ำประปามีสารไนไทรต์ ก็แปลว่าน้ำนั้นมีสารอินทรีย์ปนเปื้อน ในน้ำประปาจึงไม่ควรพบสารตัวนี้ หรือมีได้ไม่เกิน
๐.๐๐๑  มก./ลิตร ของไนโตรเจน

ไนไตรต์เปลี่ยนรูปต่อเป็นไนเตรตเมื่อการย่อยสลายสมบูรณ์   ไนเตรตในน้ำไม่ควรพบเกินกว่า ๔๕ มก./ลิตร ของไนเตรต (NO3) หรือ ๑๐ มก./ลิตร ของไนโตรเจน ถ้าพบ น้ำใช้นั้นจะเป็นอันตรายต่อเด็กทารก เกิดอาการเด็กตัวเขียว ชัก  ไม่ให้ตัวเองกลายเป็นต้นแหล่งทำร้ายทารก รพ.ที่จัดน้ำกดดื่มไว้ให้ผู้ใช้บริการจึงจำเป็นต้องมีระบบเฝ้าระวังน้ำดื่มและน้ำใช้ไว้ด้วย

ไนโตรเจนเป็นหนึ่งในสามของสารอาหารสำคัญที่พืชต้องการ  สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเปลี่ยนแก๊สไนโตรเจนให้กลายเป็นแอมโมเนีย (NH3) และไนเตรตที่พืชน้ำนำไปใช้ได้ สัตว์กินพืชน้ำแล้วนำไนโตรเจนที่ได้ไปสร้างโปรตีน เมื่อพืชและสัตว์ตายลง แบคทีเรียย่อยโปรตีนให้เล็กลงกลายเป็นแอมโมเนีย

แบคทีเรียชนิดอื่นๆมาย่อยแอมโมเนียกลายเป็นไนไตรต์ และไนเตรตโดยเฉพาะเมื่อน้ำมีออกซิเจนน้อย  การพบไนเตรตในน้ำที่มีออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำต่ำจึงเป็นเรื่องธรรมดา

การพบไนเตรตในน้ำสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับปริมาณการรับไนเตรตจากแหล่งต่างๆ สู่แหล่งน้ำ โดยปกติไนโตรเจนที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติจะต่ำ (น้อยกว่า 1 ppm ของไนโตรเจนในรูปของไนเตรต)  พบน้ำที่มีไนโตรเจนสูงบอกได้เลยว่าเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทิ้งของเสีย ขยะ ปุ๋ยเคมี ชะล้างคอกสัตว์ลงน้ำ  เป็ด ห่านถ่ายมูลลงน้ำก็ทำให้เกิดเช่นเดียวกัน

กระบวนการค้นหาสารต้นเหตุที่ทำให้ปลาตายดำเนินต่อไป  มีหลายเรื่องที่ช่วยให้พอเห็นเส้นทางสืบค้น สารต้นน้ำ กระบวนการต้นน้ำอาจจะช่วยชี้บอก สารปลายน้ำที่รู้อยู่แล้วว่ามีแต่ไม่รู้ปริมาณที่ผสมอาจจะใช่ต้นเหตุ

บ่อพักน้ำที่อยู่รอบบริเวณตึกไตเทียมมีเรื่องเกี่ยวกับมูลคน พบแอมโมเนียไม่สูง ไนไตรต์เป็นก๊าซพิษที่เปลี่ยนแปรมาจากกะบวนการสลายตัวมัน  ถ้าพบว่าไนไตรต์เป็นต้นเหตุก็จัดการง่าย  แวะไปดูตะกอนในบ่อซ้ำ อืม ตะกอนที่นอนก้นในบ่อบอกว่ามีไนเตรตเยอะ มีความเป็นไปได้ คงต้องหาอะไรมาวัดให้รู้ระดับไนไตรต์ในน้ำซะหน่อย

แวะไปหาข้อมูลของสารต้นน้ำจากหน่วยไตเทียม  พบว่ามีน้ำผงซักฟอก และน้ำยาล้างเครื่องล้างไต ตัวแรกมีฟอสเฟต ส่วนตัวหลังเป็นสารผสม มีตัวหนึ่งที่พอเดาออกว่าเป็นกรดน้ำส้ม

ข้อสรุปที่ได้ล่าสุดบอกว่า น้ำออกซิเจนต่ำไม่ทำให้ปลาตาย ต้องมีเงื่อนไขอื่นอยู่ด้วยปลาจึงตาย เงื่อนไขนี้ไม่เกี่ยวกับ pH แอมโมเนีย และอุณหภูมิน้ำ  สารต้นน้ำจากไตเทียมเป็นกรด  ใส่ปูนขาวไปแล้วน้ำเป็นกลาง จึงพอสรุปได้ว่า มีความไม่น่าจะเป็นที่กรดน้ำส้มเป็นต้นเหตุให้ปลาตาย

น้ำล้างเครื่องล้างไตต้องมีสารเคมีที่ทำให้เครื่องสะอาดสุดๆ เนื่องจากเป็นเครื่องที่เลือดคนไข้จะผ่านเข้ามาแล้วผ่านกลับเข้าตัว  กรดน้ำส้มไม่น่าใช่ตัวหลักที่ใช้ฆ่าเชื้อในเครื่องให้สะอาดได้สุดๆ  นี่ก็เป็นเหตุผลที่ไม่เชื่อว่ากรดน้ำส้มเป็นต้นเหตุทำปลาตาย

ตอนนี้ได้แต่เดาว่าสารล้างนี้มีคลอรีนอยู่ด้วย แต่กระบวนการเกิดคลอรีนเป็นอย่างไร ตรงนี้ไม่รู้  เมื่อไม่รู้ชัด ก็ไม่สามารถจัดการน้ำทิ้งของหน่วยนี้ให้สะเด็ดน้ำ  จึงตัดสินใจเบี่ยงน้ำทิ้งจากเครื่องไปไว้อีกบ่อ  พักน้ำเอาไว้ก่อนปล่อยลงระบบบำบัดต่อไป

มีอีกหน่วยที่ปล่อยน้ำทิ้งลงบ่อตรงนี้ สารต้นน้ำเป็นพวกน้ำยาแช่เครื่องมือ  สารพวกนี้ปล่อยคลอรีน หากว่าเป็นคลอรีนที่ทำให้ปลาตาย ก็หมายความว่าในน้ำต้องมีคลอรีนเกินระดับน้ำประปา  สงสัยก็พิสูจน์ บอกลูกน้องให้ตรวจระดับคลอรีนในน้ำทิ้งไว้ด้วย

« « Prev : ตามลม๒ (๑๓) : มันอะไรกันวุ๊ย

Next : ตามลม๒ (๑๕) : ฟันธงเร็วเกินไปหรือเปล่า » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม๒ (๑๔) : น้ำกับไนเตรทอีกรอบ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.026093006134033 sec
Sidebar: 0.12942600250244 sec