ตามลม (๓๔) : ตะกอนลอย ไนเตรท ขี้แดด

อ่าน: 2796

ที่จริงหลังจากบำบัดน้ำด้วยลูกบอลน้ำหมักไปแล้ว ตะกอนในคูตรงแอ่งน้ำจำลองก็ดูดีมาตลอด ตรงจุดที่มีอุนจิไหลออก ไม่เห็นตะกอนสีดำ ก้นคูก็สะอาดตา

ตอนที่ไปลอยผักตบชวาวันแรก คูก็สะอาดดี แต่พอลอยไปๆ แม้น้ำจะใส แต่ก็เห็นตะกอนเปลี่ยนไป มีตะกอนสีน้ำตาลดำคล้ายดินลอยขึ้นเกาะผนังคูตรงใกล้ๆขอบน้ำ มีความต่างของตะกอนตรงที่มีอุนจิและไม่มีอุนจิ อืม ตรงนี้สะดุดใจ ทำไมต่างกัน

ทีแรกก็คิดไปว่าเป็นตะกอนดินที่ลอยมาเกาะเมื่อน้ำฝนลงไปทำให้น้ำท้น แต่เมื่อได้เห็นว่ารอบบริเวณคูนั้นไม่มีจุดไหนที่จะโดนฝนชะล้างดินไหลลงในคู ก็ฉุกคิดถึงแบคทีเรียที่เปลี่ยนแอมโมเนียเป็นไนเตรทขึ้นมา  มีความเป็นไปได้นะว่าตะกอนที่เห็นเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่เราไม่รู้จัก

หลังจากลอยผักตบ วันแรกน้ำที่เคยเห็นใสก็ขุ่น จนผ่านไปเลย 3 วันน้ำจึงคืนความใสกลับมา

เหนือน้ำตรงจุดลอยผักตบไม่มียุง ตรงจุดที่มีอุนจิไม่มียุง แต่ต่ำกว่าลงมามียุง  จุดปล่อยน้ำซักล้างมียุง  จึงตั้งข้อสังเกตให้ลูกน้องดูเรื่องยุงไว้ใช้ประโยชน์เรื่องการจัดการที่ลดขั้นตอนของงานต่อไป

แล้วลองต่อโดยเติมปูนขาวลงไปในน้ำ ได้เรื่องเลย น้ำที่ใสขุ่นขึ้นชัด ความใสยังพอเห็นก้นคูลางๆ ใจแป้วไปเลย

เช้าวันต่อมาไปดูต่อ โอ๊ยยย ดีใจ น้ำใสคืนมาแล้ว  ไม่รอช้าบอกลูกน้องให้ใส่ปูนขาวในอีก 2 หลุมน้ำที่อยู่ใกล้ๆกัน  ทีนี้ได้เรื่องใหม่ วันต่อมาเมื่อมาตามดูตอนเช้า ยุงบินตรึม เอ๋ สัญญาณนี้บอกอะไรนะ

บอกตัวเองให้ใจเย็นๆ ตามดูตามสังเกตต่อไป  ตามแล้วก็ได้รู้ วันต่อๆมายุงหดหายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเลยวันที่ 3 ยุงจะกลับเพิ่มขึ้นใหม่ pH น้ำเปลี่ยนไปในทิศเพิ่มความเป็นด่างมากขึ้นๆ  ตรงนี้ให้ข้อมูลที่เอะใจ ก๊าซอะไรเกิดขึ้นหรือหลังใส่ปูนขาว

ทีแรกเข้าใจว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ดูเหมือนมีความขัดแย้งกัน มีบางบริเวณเหนือคูที่ยุงตายด้วย บางที่ก็อยู่สบายดี ตรงไหนตะกอนเยอะ ตรงนั้นยุงแอบเกาะตามต้นหญ้าในยามเย็น ตรงไหนไม่มีตะกอน ตรงนั้นเจอยุงตาย

เมื่อหวนไปทวนความรู้ที่มีคนอุตส่าห์เติมมาให้ อืม เป็นไปได้มั๊ยว่า ก๊าซนั่นคือไนไตรท์  ตรงนี้เดาไว้จากน้ำเป็นด่างมากขึ้น แอมโมเนียปนได้มากขึ้น ยิ่งปนมากก็ยิ่งมีการเปลี่ยนตัวระหว่าง 3 ตัว แอมโมเนีย ไนไตรท์ ไนเตรตได้ตลอดเวลา  เสียดายไม่มีเครื่องวัด ไม่งั้นได้รู้แล้ว

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไปตามดูคูซ้ำ น้ำในคูใสปิ๊งอยู่ไม่กี่วัน ก็มีสีเพิ่มขึ้นๆ จากตะกอนในคูที่เคยมีแต่สีทราย ก็เริ่มมีจุดเขียวๆคล้ายตะไคร่น้ำเกิดขึ้น และในวันต่อๆมา สีเขียวก็แผ่กว้างออกเรื่อยๆ  ตะกอนที่เกาะริมขอบน้ำก็กลายเป็นสีเขียวไปหมดด้วย

นี่พอยืนยันได้มั๊ยว่าก๊าซที่ทำให้ยุงตายเป็นไนไตรท์ ตรงนี้ก็ขอบันทึกเป็นคำถามรอคำตอบไว้ก่อน รอวันพิสูจน์หลักฐานกันต่อไป

เจอคนที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ก็ได้ความรู้เติมมาอีกว่า น้ำจะเริ่มเสียตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยสัตว์น้ำแต่เสียน้อย ที่เป็นอย่างนี้เพราะระบบนิเวศน์ที่มีอยู่ยังมีสมดุลย์ แก้ปัญหาได้

อีกมุมที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนก็คือ สัตว์เมื่อกินแล้วต้องถ่าย สัตว์น้ำจึงเป็นตัวแพร่สภาวะส้วมในน้ำให้ด้วย ไม่ได้มีแต่สัตว์บกหรือคน เมื่อไรขาดความพอดีในน้ำ เมื่อนั้นคุณภาพน้ำจะเสีย

จุดที่ไปตามดูอยู่มีลักษณะที่คล้ายการจัดการน้ำให้ลดพิษโดยตัวมันเอง คือ มีรูออกของน้ำเหมือนการถ่ายน้ำออก และมีน้ำไหลเข้าจากอีกด้านของคูเข้าไปแทนที่ น้ำที่ไหลเข้าไปเป็นน้ำฝนที่ยังหาทางต้นทางไหลเข้าไม่เจอ รู้แต่ว่ามีน้ำฝนไหลลงไปปนเวลาฝนตก

วิธีถ่ายน้ำออก หรือ ใส่น้ำเข้าไปเปลี่ยน เป็นอะไรที่คนเลี้ยงสัตว์น้ำใช้ลดพิษน้ำอยู่เป็นประจำ จุดนี้ก็เป็นอะไรที่ทำให้เบาใจไปเหมือนกันกับสิ่งที่ตาเห็น น้ำที่เห็นตรงต้นน้ำไหลเรื่อยไม่หยุด

ที่สงสัยว่ามีท่อประปาใต้ตึกรั่วหรือเปล่า เพราะเวลาฝนไม่ตก ไม่มีการใช้ห้องน้ำ น้ำก็ยังไหลออกมา นึกแล้วก็เสียดายน้ำขึ้นมาทันใด

ช่างประปาเคยคลานเข้าไปสำรวจใต้ตึก คนหนึ่งมุดออกมาก็เจ็บป่วยด้วยโรคผิวหนังเฟอะอยู่หลายวัน คนหนึ่งเข้าไปไม่นานก็ต้องมุดออกมาเพราะหายใจไม่ออก สภาพการณ์ที่เขาพบเจอ บอกให้รู้ว่าใต้ตึกมีก๊าซที่เป็นพิษกับสุขภาพคน และมีออกซิเจนน้อย คำตอบเรื่องท่อประปารั่วหรือเปล่าจึงยังเป็นปริศนา

มองมุมบวกไว้ให้คลายกังวล ก็ต้องมองโลกในแง่ดีไว้ก่อน ถ้าเป็นน้ำประปา มันก็ช่วยเปลี่ยนน้ำเสียที่มีสารพิษออกมาให้บ้างแล้ว

คงเข้าใจในความกลัวของคนทำงานแล้วนะคะ ที่ตัดสินใจสาวปมต่อเพื่อหาทางแก้ด้วยการตรวจวัดคุณภาพน้ำที่พอบอกได้ง่ายๆไปก่อน จนได้รู้จักสภาพของหลุมขังน้ำที่เห็นและน้ำที่ไหลออกมาอย่างที่เล่ามาแล้วในหลายบันทึก ก็มีเบื้องหลังอย่างนี้แหละ

สัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งใจว่าจะใช้น้ำหมักที่น้องชายที่รักให้มาไปลองดู ช้าไปเพียงแค่ 2-3 วันก็เจอสภาพน้ำสีเขียวเข้มหนืดอยู่ในคู ได้เรียนจากบ่อน้ำทิ้งใกล้ไตเทียมมาแล้ว จึงกลับไปสังเกตที่คูต่างเวลากัน ก็ได้พบสาเหตุที่ทำให้น้ำเสียเพิ่มอีกเรื่อง ญาติคนไข้ที่มาเฝ้าไข้ กินอาหารแล้วก็โยนเศษอาหารทิ้งลงคูอย่างเพลิดเพลิน มิน่าแพลงค์ตอนพืชจึงเกิดมาก

มีคนเขาแนะนำว่า แพลงตอนพืชที่เห็นเป็นคราบสีเขียวเข้มหนืด มีชื่อเรียกว่า “ขี้แดด” เขาว่าเมื่อเปิดหน้าน้ำให้เจอแดด จะมีจุลินทรีย์น้ำไปย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ที่เน่าอยู่ที่ก้นบ่อเป็นก๊าซไนโตรเจน ทำให้ขี้แดดลอยขึ้นมามากกว่าปกติ

เพื่อให้น้ำไม่เกิดพิษ เขาให้เติมจุลินทรีย์จำนวนน้อยๆทุกวัน และดูดขี้แดดเปิดหน้าน้ำทุกวัน และให้ใส่เกลือผงละลายน้ำเติมลงในน้ำด้วย เกลือจะทำให้แพลงค์ตอนพืชตาย แล้วกลายตัวเป็นสีดำ ที่แพลงค์ตอนพืชตายแล้วเป็นพิษเพราะมันมีธาตุเหล็ก

ขณะที่ใช้จุลินทรีย์ น้ำเปลี่ยนสีและฟองได้  เมื่อแพลงค์ตอนพืชตาย โปรตีนจะถูกเปลี่ยนโฉมเป็นแอมโมเนียทั้งในภาวะที่มีและไม่มีออกซิเจน และมีการนำแอมโมเนียไปใช้สร้างโปรตีน เหลือก็ออกซิไดส์เป็นไนไตรท์และไนเตรท

อืม ถ้าอธิบายด้วยกลไกที่คนเล่ามาข้างบนนี้ น้ำที่อยู่ในคูก็มีไนเตรทสูงแล้วละ ตรงนี้ยิ่งยืนยันว่าก๊าซไนไตรท์ตรงนี้มีเยอะ อากาศตรงนี้มีไนโตรเจนสูง เพราะความสกปรกของมันมีมานานแล้ว

เจ้าตะกอนที่เห็นติดขอบน้ำนี่เองที่ในระบบบำบัดน้ำเสียเขาเรียกกันว่า “ตะกอนลอย”  ก็ได้เคล็ดนี้ไปไว้ใช้ในงานอีกเรื่องแล้ว “น้ำที่พบตะกอนลอยสูง เป็นน้ำที่มีสารไนเตรทสูง”

« « Prev : ตามลม (๓๓) : น้ำเหม็น แอมโมเนีย มะเร็ง ออกซิเจน

Next : ตามลม (๓๕) : สะดุดใจกับความกระด้างของน้ำไว้หน่อย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๓๔) : ตะกอนลอย ไนเตรท ขี้แดด"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.025935888290405 sec
Sidebar: 0.11244511604309 sec