เยือนน่าน (๕)
อ่าน: 1779เมื่อยังเป็นเด็ก จะมีเรื่องเล่าประทับใจกับมนุษย์อยู่ป่าที่เข้ามาอยู่เมืองอยู่ 2 เรื่อง เรื่องหนึ่ง คือ ทาร์ซาน เป็นเรื่องที่มีจุดเด่นด้านความกล้าหาญที่ป่าสอน ทักษะชีวิตที่ป่ามอบให้ เมื่อเข้าไปอยู่เมือง ทักษะเหล่านี้ก็ส่งเสริมให้ยิ่งเห็นคุณค่าของป่า รับรู้ความรักป่าที่ซ่อนอยู่ในจิตวิญญาณของตน เมื่อมีข่าวว่าวัฒนธรรมแห่งป่าถูกรุกราน มนุษย์ผู้ห้าวหาญผู้นี้ก็จะพาตัวกลับไปปกป้องทันควัน บางครั้งการพาตัวไปปกป้องก็ทำให้พลาด บางครั้งก็เป็นฮีโร่ของสัตว์ป่า
แม้จะอยู่ป่าก็ไม่ไร้ทักษะทางสังคม สัตว์ทุกตัวในป่าคือเพื่อน สังคมที่เติิบโตด้วยสัญชาตญาณป่ากลับเต็มไปด้วยอุ่นไอรัก และแน่นอนสัญชาตญาณแห่งความระแวงภัยก็ถูกหล่อหลอมไว้รักษาตัวพร้อมไปด้วย
อีกเรื่อง คือ เรื่อง เมาคลี ลูกหมาป่า ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของการเรียนรู้การปรับตัวให้สามารถกลับมาอยู่เมืองได้หลังจากเติบโตในป่า กว่าที่เมาคลีจะเป็นมนุษย์เมืองเต็มตัว ก็ต้องฝึกตน ฝึกความอดทนมากมาย
วันรุ่งขึ้นที่ได้พบเจอนิสิต รู้สึกว่าได้สัมผัสสัญชาตญาณอย่างหลังในวงโสเหล่ที่พวกเราจัดให้มี จึงเอ่ยชวนให้ฝึกความกล้าหาญ บอกเล่าความระแวงภัยที่ซ่อนอยู่ออกมา ความในใจจึงหลุดออกมาเป็นคำถามว่า จะสามารถจัดการและก้าวข้ามความกลัวของตนไปได้อย่างไร
ทั้ง 3 กลุ่มที่หมุนวนมาถูกพวกเราชวนฝึกความกล้าหาญ ฝึกง่ายๆ ด้วยการชวนเล่าความคิดคำนึงต่อตนเองออกมาดังๆนี่แหละ มีนิสิตที่กล้าเอ่ยปากพูดคนสองคนต่อกลุ่ม ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อหละว่าภายใน 1-2ปีที่ผ่าน ความกล้าในการพูดคุยกับคนแปลกหน้าของเด็กหดหายไป ที่จริงนิสิตได้พบกับคนแปลกหน้าอยู่บ่อยๆ คนเหล่านั้นพาตัวมาพบปะในรูปของวิทยาจารณ์อาสา จึงน่าที่จะคุ้นเคยกับการสร้างสัมพันธภาพมิใช่หรือ ตรงนี้ทำให้เฉลียว ที่นี่เด็กพบอาจารย์ผ่านจอ หรือว่าที่ไม่ได้เจอคณาจารย์ตัวเป็นๆ อาจารย์ไม่ได้ใช้ชีวิตร่วม อยู่ห่างเกินไป พบกันแค่แป๊บๆอาจารย์ก็หายไป ทักษะดีๆของเด็กจึงหดหายไป
ภาคเช้าจบลงก็ตั้งวงโจ้ข้าวมันไก่รสอร่อย ไก่นุ่มลิ้น บรรจุแบบข้าวกล่อง มีนิสิตมานั่งร่วมโต๊ะ 2 คน คนหนึ่งหัวแดง อีกคนหัวหยิก ทั้งคู่ผิวดำเป็นเหนี่ยง คุยไปด้วยกินไปด้วย จึงรู้้ว่าเด็กๆอยู่หอ ใช้มอร์เตอร์ไซด์เป็นพาหนะ มีอิสระในการพาตัวเองสัญจรไปในที่ที่ปรารถนา มีกติกาแค่เอ่ยบอกลาอาจารย์ก็ไปได้ ให้เวลาตัวเองกลับไปเยี่ยมแม่ที่บ้านไม่บ่อยนัก แต่ก็ไป รู้สึกว่า อืม แม้ว่าอีหนูจะหัวแดงก็ลุยอยู่นะ เวลาสั้นไปจึงไม่รู้ว่าเป็นขาลุยด้านไหนบ้าง
ภาคบ่ายให้คิวพี่บ่าวแฮนดี้แบ่งปันวิธีประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางไกลสร้างสัมพันธภาพ เมื่อเสียงพี่บู๊ดดังเข้ามาในห้อง นิสิตเงียบฟังอย่างตั้งใจ ให้เวลากับพี่บ่าวแบ่งปันยาว ก่อนส่งไมค์ต่อให้พ่อครู นิสิตที่ผูกพันกับบ้านเกิดก็เปิดม่านแสดงตัว มีอีหนูคนหนึ่งฝีมือจัดเจนกับการใช้เสียงเร้าพลังผู้คน เธอส่งเสียงพากษ์การแข่งเรือให้ฟัง เสียงเร้าใจมาก
พ่อครูรับไมค์แล้วก็โยนโจทย์ ใครอยากถามอะไรถามมา รออยู่เป็นครู่จึงมีคำถาม จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสพัฒนาที่หลุดมาในคำถาม บอกให้รู้ว่านิสิตได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้การจัดการเชิงกลยุทธ มีการฝึกให้คิดวิเคราะห์ พ่อครูเจ๋ง ตอบแบบชาวบ้าน แต่ตรงประเด็นครบด้าน ไม่รู้ว่านิสิตเก็บประเด็นได้หมดมั๊ย
คำถามต่อมาจำไมไ่ด้แล้ว จำได้แต่มีนิสิตถามน้อยคน อืม ความกล้าหาญของเด็กๆหายไปไหน หรือว่าเด็กไม่มีประสบการณ์ภาคสนาม หรือว่าเ็ด็กๆเกร็งกันเอง ถ้าเป็นอย่างหลังก็น่าห่วง จบกันไปแล้ว จะช่วยกันดูแลน่าน เป็นเครือข่ายกันยังไง ถ้าเป็นอย่างแรกยังพอแก้ ปีเดียวสำหรับนิสิตปี 3 ยังพอลุ้นเติมเต็มบทเรียนภาคสนาม
เมื่อการแบ่งปันจบลง อาจารย์ไก่ได้กล่าวขอบคุณพวกเรา นิสิตมอบเกลือน่านไว้ต่างหน้า แล้วเสียงเพลงนี้ก็ดังขึ้น…..น้ำใจน้องพี่สีชมพู………..แทนคำขอบคุณจากนิสิต
มื้อเย็นมีอาหารเตรียมให้แล้ว ดร.ฝนใช้เวลากับการจัดการโหลดรูปกับครูสุอยู่พักใหญ่ ทำงานชนิดว่าลืมไปเลยว่าตัวเองจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ชะตาจึงหนีไม่พ้นการกินข้าวแบบทอดกลืนๆและรีบร้อนแบบไม่ลนลาน รีรอแบบไม่ลีลากับการรอเปลี่ยนผู้อาสานำส่งสู่สถานีขนส่งจนสะเด็ดน้ำ
ก่อนจะกินข้าวเย็น ได้นั่งรถหกล้อชมทิวทัศน์มหาวิทยาลัย บรรยากาศยามเย็นน่าอยู่ ชีวิตนิสิตที่นี่สุขสบาย เพียบพร้อมยิ่งกว่าแพทย์จบใหม่ที่ต้องไปทำงานในชนบทซะอีก อย่างนี้จะลุยไหวมั๊ยเมื่อคืนถิ่นสู่ครอบครัว น่าติดตาม
ระหว่างทางแวะเยี่ยมหมูหลุมที่ไม่มีหลุมให้เห็นแล้ว เพราะหลุมเต็ม เจอวัวตัวหนึ่งอยู่ในทุ่ง พอเห็นคนกลุ่มใหญ่มา มันก็รี่เข้ามาหาแบบเคยคุ้น ความเชื่องและการเดินตรงรี่เข้ามาหาแบบชวนเล่นบอกว่าคนที่มันเจอได้มอบความรักให้มันอยู่เรื่อยๆ และเล่นกับมันแบบเพื่อน แอบคิดไปว่าบรรดานิสิตที่พักอยู่ที่นี่นั่นแหละที่มาเล่นกับมัน
1 ความคิดเห็น
รออ่าน ตอนที่ 6 สุดยอด น่ าจะรวมที่ทุกท่านช่วยกันเขียน