เยือนน่าน (๗)

อ่าน: 1843

มีนิสิตคนหนึ่งตอบคำถามพี่แฮนดี้ว่าได้นำเอาความรู้ด้านเทคโนโลยี ไปช่วยญาติเรื่องราคาสินค้า อีกคนหนึ่งตอบว่าได้ช่วยให้รุ่นน้องสมัครเข้าเรียนต่อทันเวลา  ตัวอย่างเหล่านี้บอกความคุ้นเคยของการใช้ความรู้ด้านไอทีของเด็กๆ

อย่างที่เล่าไปแหละว่า พยายามค้นหาธีมของคำว่า “คืนถิ่น” ว่ารูปลักษณ์เป็นอย่างไร เพื่อจะได้มีโอกาสช่วย  รูปลักษณ์ที่ว่าหมายถึงภาพฝันเกี่ยวกับตัวเองของนิสิต

ภาพฝันที่จับต้องได้ก็มี  นิสิตคนหนึ่งบอกว่าตั้งใจเป็นครู มาเรียนในโครงการโอแคร์ก็เพราะที่บ้านอยากให้เรียน ทำให้นึกถึงคนเรียนหมอ หลายคนเลือกเรียนด้วย “ผู้ปกครองอยาก” เรียนแล้วไร้สุขหรือสุขน้อย ไม่สนุกกับสิ่งที่เรียน เรียนจบก็ไร้สุขกับงานที่ทำ บ้างหงุดหงิดอารมณ์เสียเมื่อทำงาน อารมณ์ดีเมื่อเลิกงาน

เหตุผลการเข้าเรียนที่เหมือนกัน ทำให้นึกเลยเถิดว่าอาจจะลงเอยเหมือนกัน ก็เป็นชีวิตที่ไม่อยากเห็นเด็กคนไหนพาตัวเองไปเจอ

ดูแลคนว่ายากแล้ว ดูแลสัตว์ก็ครือๆกัน ดูแลต้นไม้ ใบหญ้า นี่ซิยากกว่า สารพัดคุณสมบัติที่พึงมีเพื่อให้สามารถสร้างสุขในอาชีพได้ ด้วยเส้นทางที่เดินผ่าน ไม่ได้มีกลีบดอกไม้หอมโรยรอท่า แต่ต้องแสวงหาเอาเอง ไหนจะเป็นเรื่องความเข้าใจภูมิอากาศ ไหนจะเป็นเรื่องความเข้าใจต่อชีวเคมีในดิน น้ำ สิ่งมีชีวิต ไหนจะเป็นเรื่องความเข้าใจต่อสุขภาวะ ไหนจะเป็นเรื่องความเข้าใจต่อกาย ใจ ฯลฯ

สารพัดเรื่องท้าทายจะดาหน้าเข้ามาหา มีเรื่องให้จัดการความรู้มากมายซ่อนอยู่ ท้าทายชีวิตมากมายทีเดียวเชียวนะเมื่อพาตัวเองเดินเข้าสู่เส้นทางเกษตร  มีแรงใจไม่แรงพอ สอบตกในชีวิตได้เลย หลักแห่งชีวิตที่ซ่อนอยู่ในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นเรื่องท้าทายผสานอยู่

เมื่อความล้มเหลวมาสู่ วัยละอ่อนอย่างนิสิตจบใหม่จะก้าวข้ามได้อย่างไร เป็นโจทย์สำคัญ แน่ใจว่าความรู้ที่นิสิตรับไว้จากการแบ่งปันของคณาจารย์เป็นประโยชน์กับการร่วมดูแลสังคมอยู่แล้ว…แต่ความล้มเหลวสำคัญคือ หมดแรงใจ ตรงนี้มีหลักสูตรไหนให้โอกาสเด็กได้ฝึกการสร้างแรงใจบ้าง

เป็นห่วงจากใจ…..จริงๆนะ  ถ้าเป็นไปได้อยากให้คณาจารย์เพิ่มโจทย์ให้ฝึก “จะก้าวข้ามสภาวะหมดแรงใจได้อย่างไร” ให้เด็กๆหน่อยค่ะ

ก่อนจะมาน่าน เจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อเตะใจ  “เฉินซู่จวี๋ แม่ค้าผัก ผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่”  ปกหนังสือระบุว่า แม่ค้าคนนี้เป็น ๑ ใน ๑๐๐ คนของผู้ทรงอิทธิพลในโลกยุค ๒๐๑๐  ตะลุยอ่านแล้วยิ่งเตะใจกับจุดยืน “ขอเป็นแม่ค้าผัก” ของเธอ เมื่อเธอมีความก้าวหน้าเรื่องรายได้ มีข้อคิดมากมายของชีวิตมุมหนึ่งที่เชื่อมร้อยกับการเกษตรที่อยากชวนให้อ่านและถอดบทเรียนรู้ที่เธอแบ่งปัน

หนังสือเรื่องนี้บอกภาพฝันของคนได้ชัด คงจะต้องบอกว่าภาพฝันชัดๆเกี่ยวกับตัวเองที่ได้ยินจากนิสิตนั้นเบามาก  ยิ่งเบาเท่าไร เสียงอาจารย์ที่ดังก็จะยิ่งดัง สภาวะภายใต้ “เสียง” เยี่ยงนี้ เมื่อไหร่นิสิตเจอกับสภาวะ “ล้ม” “หมดแรงใจ” จะไม่รู้จักวิธีลุก วิธีดูแลใจให้ยังมีพลัง

« « Prev : เยือนน่าน (๖)

Next : เยือนน่าน (๘) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เยือนน่าน (๗)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.25510787963867 sec
Sidebar: 0.23710513114929 sec