ตามลม๒ (๑๕) : ฟันธงเร็วเกินไปหรือเปล่า

อ่าน: 1927

แวะไปคุยกับผู้รู้เรื่องสัตว์น้ำ เพื่อเติมความแน่ใจกับที่ฟันธงเรื่องแอมโมเนียไว้  ได้ความรู้เพิ่มมาว่า ต้นเหตุทำให้ปลาตาย มีหลายตัว  pH แอมโมเนีย ไนเตรท ไนไตรต์ คลอรีน ผงซักฟอก  โลหะหนัก ก๊าซไข่เน่า  นิโคติน อุณหภูมิน้ำ  ออกซิเจน  ยาฆ่าแมลง เหล่านี้เป็นต้นเหตุได้โหม๊ด

pH จะเป็นกรดหรือเป็นด่างทำให้ปลาตายแบบผ่อนส่งมากกว่าตายทันที เป็นกรดมากโน่นแหละปลาตายจึงทันที ลักษณะของปลาช่วยบอกได้  ว่ายปรู๊ดปร๊าด ว่ายผิดปกติ ขยับเหงือกผิดปกติ เชื่อไว้ก่อนได้ว่าน้ำนั้นเป็นกรด  สีที่จัดขึ้นของปลาก็เตือนว่าน้ำนั้นค่อนไปทางกรดมากกว่าด่าง

แอมโมเนีย ไนเตรท ไนไตรต์ทำให้ปลาตายแบบผ่อนส่ง  คลุกนานจึงตายมากกว่าตายทันที ยิ่งน้ำเป็นกรด พิษแอมโมเนียจะลดลง ตายช้ากว่าน้ำเป็นด่างซึ่งเพิ่มพิษแอมโมเนีย

คลอรีนทำให้ปลาตายรวดเร็วหรือตายผ่อนส่ง อยู่ที่ความเข้มข้นที่อยู่ในน้ำ มีมากเกิน 0.5 มก.ต่อลิตรตายเร็ว มีเจือจางกว่าตายช้า  ได้ความรู้มาด้วยว่าจะลดคลอรีน ให้ใช้สารโซเดียมไธโอซัลเฟตเิติมลงไป

ส่วนผงซักฟอกนั้น ฟังได้ว่ามีความเป็นพิษอย่างมากต่อปลา เมือกที่คลุมเหงือกปลาถูกทำลาย การดูดซึมเข้าไปจับตัวกับเม็ดเลือดทำให้เกิด methemoglobin ปลาจึงตาย ไม่มีสารที่ช่วยทำลายพิษนี้ได้  อืม น้ำในคูมีน้ำผงซักฟอกด้วยนิ  อย่างนี้ก็ต้องพิสูจน์ต่อไป

โลหะหนัก จะก่อพิษต่อปลาก็ต่อเมื่อในน้ำมีออกซิเจนต่ำ เช่น ทองแดง สังกะสี  พิษที่เกิดเป็นแบบผ่อนส่ง  อืม ก็ต้องกลับไปดูจะมีโลหะหนักอะไรมาเกี่ยวกับบ่อข้างไตเทียม

ก๊าซไข่เน่า ก่อพิษแบบเข้าไปแย่งจับออกซิเจนกับเม็ดเลือดและทำลายระบบประสาทส่วนกลางโดยตรง ความเข้มข้นมากจึงทำให้ตายทันที การสะสมของเสียในน้ำไว้มากเป็นต้นเหตุที่ทำให้ความเข้มข้นเพิ่ม อืม ตรงนี้ต้องกลับไปดูตะกอนและกลิ่นน้ำอีกที

นิโคตินละลายน้ำทำให้ปลาหางนกยูงตายได้อย่างรวดเร็วใน 5 นาที   ยาฆ่าแมลง ทำให้ตายเร็วช้าอยู่ที่ความเข้มข้นที่ปลาได้รับเข้าไป  2 เหตุนี้น่าจะไม่เกี่ยวกับน้ำตรงนี้

พบผู้รู้แล้วฟังเพลินไปเลย  ได้มุมสะกิดใจให้กลับมาทบทวนสิ่งที่พบเจอหลายจุด  โดยเฉพาะที่บอกว่าปลาแต่ละชนิดไวต่อพิษแอมโมเนียต่างกัน  ไข่ปลาและตัวอ่อนของปลา กุ้งและสัตว์น้ำไวมาก ขนาดฆ่าปลา กุ้ง และสัตว์น้ำได้อยู่ที่ 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร  ระดับที่ปลอดภัยควรอยู่ที่ 0 มิลลิกรัมต่อลิตร

กลับไปถามลูกน้องว่า “ปลาที่เธอใช้สังเกตผลล่าสุดให้หมอเป็นปลาหนุ่มหรือลูกปลา”  ลูกน้องชี้ให้ดูปลาที่ใส่ขวดเอาไว้ซึ่งเพิ่งตาย อ้าว เป็นลูกปลาเรอะ

ขอดูค่าแอมโมเนียที่เจ้าหล่อนบันทึกไว้  พบว่าเป็นตัวเลข 0.2  อืม ยังมีความเป็นไปได้ที่แอมโมเนีย จะเป็นต้นเหตุให้ปลาตาย ระหว่างรอผลตรวจเรื่องคลอรีน ก็ควรสอบทวนบทสรุปซะใหม่

« « Prev : ตามลม๒ (๑๔) : น้ำกับไนเตรทอีกรอบ


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม๒ (๑๕) : ฟันธงเร็วเกินไปหรือเปล่า"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 3.1657428741455 sec
Sidebar: 0.2934250831604 sec