เยือนน่าน (๖)

โดย สาวตา เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2012 เวลา 23:20 ในหมวดหมู่ เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1888

ในระหว่างที่พ่อครูโยนโจทย์ให้เด็กๆถาม มีอีหนูคนหนึ่งโดนอาจารย์ถีบลงเหว ส่งไมค์ให้ถามในบัดดล อีหนูถามว่า “พ่อครูมีที่ดินเป็นของตัวเองใช่ไหม” ถามย้ำอยู่หลายคำ เมื่อพ่อครูตอบทันควัน ผมมีที่ดินครับ แล้วรอคอยคำถามต่อ อีหนูก็อึ้ง

ดูเหมือนไม่ตั้งใจถามและเกร็ง ถามไปงั้นๆ แต่คำถามนี้มีเรื่องให้เห็นต่อ ว่าที่ไม่กล้าถามเกร็งกับเพื่อนหรือเกร็งใคร  มีเรื่องในใจที่ทำให้เกร็งไม่กล้าเปิดใจท่ามกลางบุคคลมากหลาย ถ้าใช่หมายความว่าอีหนูคนนี้มีความในใจของตัวเองอยู่เกี่ยวกับที่ดิน และในระหว่างนิสิตมีช่องว่างระหว่างเพื่อนอันเนื่องมาจากฐานะซ่อนอยู่ก็ได้

เคยเป็นเด็กหอมาก่อน จึงเสียดายบรรยากาศอยู่หอที่ไม่ได้ช่วยเติมเต็มระยะห่างของผู้อยู่ร่วมหอให้ชิดใกล้ขึ้น อยู่ในชนบทแท้ๆ เป็นรุ่นบุกเบิกแท้ๆ ตะลุยผ่านจุดนี้ไม่ได้ มีแต่ความสัมพันธ์แบบคนพักหอพักในกรุงไปได้ เสี่ยดายจัง (ขอใช้สำเนียงเสียงพุ่มพวงหน่อยนะ จะได้เข้าใจว่าเสียดายขนาดไหน)

เมื่อฟังเรื่องการสร้างสวนป่าของพ่อครูแล้ว ถามเรื่องที่ดิน มองในมุมบวกแบบหลงตัวเองก็เป็นสัญญานที่ดีของการยกทีมเฮมาคราวนี้ แปลว่าเรื่องที่เล่าๆของพ่อครู ชูโรงเตะใจอีหนูเข้าให้แล้ว การคืนถิ่นของอีหนูอาจมีอะไรจูงใจอยู่แล้วกับการลงมือทำ และเธออาจยังติดข้องกับการถือครองที่ทำกินอยูในมุมใดมุมหนึ่ง  คำถามเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของจึงเกิดขึ้นก่อนป้อนคำถามถัดไป

ทั้งวันที่ผ่านค้นหาเป้าหมายร่วมของอาจารย์หัวใจทองและเด็กๆเพื่อทำความเข้าใจกับสถานะของคำว่า “คืนถิ่น”  จะได้ทำหน้าที่แบ่งปันสิ่งที่รู้อันอาจจะช่วยเติมเต็มในจุดที่ต้องการกรุยผ่าน

ไม่ชัดว่าเป้าหมายของเจ้าของถิ่นกับครูบาอาจารย์เป็นเรื่องเดียวกันอย่างไร ต่างอย่างไร  ธีมภาพของศิษย์ที่อาจารย์เล่าสู่กันฟังกับธีมภาพตัวเองของเด็กเหมือนต่างมุม  เด็กบางคนชัดกับธีมของตัวเองเรื่อง “คืนถิ่น” แต่ก็ไม่ชัดว่าจะคืนอย่างไร

ที่ไม่ชัดมากถึงมากที่สุด คือ อย่างไรที่เรียกว่า “การเกษตร”  เท่าที่รับรู้จากการฟังและเห็น รู้สึกหลักสูตรหนักไปเป็นกระบวนการหลังการมี “การกสิกรรม” แล้วซะมากกว่า ถ้าใช่ก็ไม่แปลกที่มองไปไม่เห็นนา ไร่ ร่องผัก แหล่งน้ำทำการเกษตร ฟาร์มสัตว์ แหล่งทดลองลงมือทำอะไรบางอย่างด้านเกษตร ไม่แปลกที่ได้ยินเรื่องการตลาด โลจิสติกส์ การค้นคว้าหรือดูงานในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จแล้วหรือฟู่ฟ่าด้านการตลาด ฟู่ฟ่าในความเบ็ดเสร็จของกระบวนการผลิตที่ทันสมัย

ในระหว่างจัดวงโสเหล่กับเด็กๆ  มุมแบ่งปันเป็นเหตุการณ์อาหารกับร้านสะดวกซื้อระหว่างเกิดภัยธรรมชาติ ผลกระทบเมื่อการกสิกรรมมีปัญหา ทั้งระหว่างเกิดและแม้ภัยยุติลงแล้วผลก่อเกิดก็ยังอยู่ต่อ ไม่มีอาหารระหว่างเกิดภัยธรรมชาติ และเกริ่นชวนให้มองเห็นโรคภัยเช่นมะเร็งอันเป็นผลพวงจากการกสิกรรมสมัยใหม่ของเกษตรกร

ตั้งใจเล่านิยายท้องถิ่นของจริงนี้ให้ฟัง ครูใหญ่เตือนว่าเป็นเรื่องดีแต่ไกลตัว ไม่เหมาะกับเวลา  เห็นด้วยกับมุมไกลตัว ด้วยคนวัยคราวลูกส่วนใหญ่สนใจเรื่องใกล้ตัว…เรียนรู้ความรู้สึก….สอบได้ ไม่ได้ อยู่ ไม่อยู่ในเทรนด์ตามวัยนิยม ความรู้สึก ความคิดที่อยู่ในใจของเรื่องเฉพาะตัวมากกว่าเรียนรู้ความสัมพันธ์ของชีวิตกับสิ่งรอบตัวในมุมอื่น มานั่งฟังเรื่องอย่างนี้ จะได้ประโยชน์กับมุมมอง “คืนถิ่น” หรือไม่ อย่างไรไม่แน่ใจเหมือนกัน

นิยายชีวิตจริงเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ มีเรื่องท้าทายในด้านปัจจัย ๔ ซ่อนอยู่มากมาย น่านน้ำท่วมบ่อยครั้ง บัณฑิตคืนถิ่นน่าน จะสามารถยังชีพให้อยู่รอดยังไง จิตอาสาที่ฝึกฝนไว้จะนำพาครอบครัวและช่วยผู้อื่นอยู่รอดยังไง ในยามต้องพึ่งตัวเองจะอยู่รอดตลอดรอดฝั่งอย่างไร โจทย์เหล่านี้ชวนให้สนใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์และฝึกฝนตนให้พร้อม  คืนถิ่นเมื่อไรจะได้ไม่เกิดความสับสน เดินหน้าเป็นที่พึ่งให้กับบ้านเกิดได้ในยามสำคัญเยี่ยงนี้  น้ำท่วมในภาคกลางที่ผ่านพ้นไปไม่นานก็เป็นปัญหาอีกแบบด้านปัจจัย ๔ แต่ละถิ่นมีปัญหาเฉพาะที่ช้างเผือกโขลงนี้ควรได้เรียนระหว่างอยู่ในหลักสูตร เพื่อจะได้กลับคืนถิ่นไปเป็นพญาช้างเผือกได้

« « Prev : เยือนน่าน (๕)

Next : เยือนน่าน (๗) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.1722240447998 sec
Sidebar: 0.78057909011841 sec