เบื้องหลังข้อสอบ(2)
อ่าน: 6117เชื่อว่ามีคนอยากให้เล่าความคิดให้ฟังจนจบ ก็เลยเขียนบันทึกต่อให้ค่ะ มาถึงคำสนทนาตอนถัดมานะค่ะ
รัชนี : ดิฉันจะขอคุยกับคุณหมอที่รักษาได้มั๊ยค่ะ อยากรู้ว่าดิฉันต้องมา
ที่กระบี่ด่วนมั๊ยนะคะ
คู่สนทนา :
รัชนี : ดิฉันต้องทำงานค่ะ ต้องลางานถ้าจะต้องมากระบี่ จึงอยากจะรู้
ข้อมูลคนไข้เพื่อการเตรียมตัวค่ะ
คู่สนทนา :
รัชนี : ดิฉันอยู่ที่เชียงใหม่ค่ะ ทำยังไงได้บ้างค่ะ ถ้าจะต้องมากระบี่ให้
เร็ว เป็นห่วงคนไข้ค่ะ อยากมาให้เร็วๆค่ะ
คู่สนทนา :
รัชนี : ไม่ได้ยินเสียงที่คุณพูดเลยค่ะ เสียงดังอีกหน่อยได้มั๊ยค่ะ
คู่สนทนา :
คำสนทนาที่กำหนดขึ้นสองประโยคบนนั้น ฉันวางแนวคิดไว้ใช้วัด ความใส่ใจ การคัดเข้าและคัดออกความรู้และผลการเรียนรู้เรื่องราวในวิถีประจำวันซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการแก้สถานการณ์ในแต่ละวันที่ผู้คนต้องเผชิญ รวมทั้งการพัฒนาตนของแต่ละคนว่าใครก้าวหน้ากว่าใคร ผสมผสานกับความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองที่มีต่อตนเอง ผู้อื่นและองค์กร พูดง่ายๆก็คือ วัดการรู้จักใช้อัตตาให้ส่งผลเชิงบวกให้กับตัวเอง ที่ไม่เบียดเบียนใครไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องน่ะเอง สังคมไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ถ้ามีคนที่ทำได้อย่างนี้อยู่จะมีความสงบเย็นค่ะ ใครมีคุณสมบัติส่วนนี้อยู่ในตัวตนจึงควรให้คะแนนผ่านในเรื่องของมนุษยสัมพันธ์และความรับผิดชอบค่ะ มันเป็นเรื่องสามัญสำนึกที่ตัวตนเขาแสดงให้ดู คนพูดเก่งแบบฝึกมาดมาดีแต่ไม่ใช่ของจริง คนพูดไม่เก่งแต่เป็นของจริง ดีจริง รู้กันได้ตรงนี้ค่ะ
ผู้เข้าสอบบางคน กร่างมาก ตอบแทนหมอผู้รักษาเลยว่า คนไข้อาการไม่หนัก ไม่ด่วน โดยไม่ใส่ใจเลยว่า ข้อมูลที่แท้จริงเป็นอย่างไร บางคนไม่ตอบเรื่องราวแค่รับรู้ด้วยคำว่าค่ะ บางคนชวนสนทนาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่อาจจะช่วยเหลือได้เพิ่ม ถ้าตัวท่านเป็นกรรมการท่านจะให้คะแนนใครดีกว่าใครค่ะ
ผู้คนที่เข้าสอบส่วนใหญ่ ให้คำแนะนำสำหรับบทสนทนาในบทที่สามให้เดินทางมาโดยเครื่องบิน บางคนบอกไปเลยว่า ถ้าจะมาให้โทรศัพท์มาบอก ร.พ.จะจัดรถไปรับถึงสนามบิน บอกให้ฉันรู้ว่า เขาไม่ใคร่ได้ใส่ใจกับความรู้รอบตัว ไม่สนใจสังคมรอบตัว และไม่รู้จักร.พ.ด้วยว่ามีหน้าที่อะไร คนที่แนะนำไม่ได้เลยบอกได้เลยว่าคนๆนั้นแทบจะไม่ได้พูดคุยกับใคร บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เครื่องบินนะบินวันละกี่รอบ มีเวลาไหนบ้าง มีกี่บริษัท บางคนใช้ได้ทีเดียวที่แนะนำให้มาทางรถทัวร์
นี่เป็นบทเรียนรู้ที่ยืนยันคำของรอกอดที่แนะนำนักศึกษาของอ.แป๋วว่า “ถ้าจะต้องนำเสนอ ให้พูดในเรื่องที่ตัวเองรู้ดีที่สุดออกไป” ฉันให้คะแนนคนที่บอกเรื่องรถทัวร์มากกว่าคนที่แนะนำเครื่องบินค่ะ ลองถอดบทเรียนในมุมมองของท่านดูนะค่ะว่า เรื่องนี้วัดเรื่องราวใน 4 ข้อตามที่ถูกกำหนดที่กรรมการต้องให้คะแนนอะไรได้บ้าง บทสนทนาบทล่างสุดนั้น ฉันใช้วัดความอดทนและมารยาทที่มีต่อผู้คนในการใช้เสียงพูดจากันค่ะ
เกรงใจคนอ่านจะเหนื่อยจึงขอเอาบทสนทนาต่อมามาบอกสั้นๆว่าคนออกโจทย์คิดอะไรในส่วนที่เหลือนะค่ะ
รัชนี : ดิฉันจะค้นหาข้อมูลคนไข้ด้วยตัวเองได้ยังไงบ้างค่ะ ขอ
คำแนะนำหน่อยค่ะ
คู่สนทนา :
รัชนี : ดิฉันจะขอเบอร์โทรศัพท์คุณหมอที่ดูแลคนไข้รายนี้ได้มั๊ยค่ะ
คู่สนทนา :
รัชนี : ถ้าดิฉันจะติดต่อมาใหม่ จะติดต่อคุณได้ยังไง ขอบคุณสำหรับ
ข้อมูลค่ะ
คนนอกบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ website ของร.พ. คนในบอกเล่าเรื่องราวของความเข้าใจต่อบทบาทตนเองและระบบประชาสัมพันธ์ของร.พ. คนในบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า website ของร.พ.ชื่ออะไรทั้งๆที่ใช้คอมพิวเตอร์และค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตอยู่เป็นประจำ บางคนที่ไม่รู้อะไรเลย หันมาปรึกษากรรมการที่นั่งกันอยู่ ฉันใช้ภาษากายของคนที่หันหน้ามามองเป็นตัวตัดสินว่าเขาอาจต้องการข้อมูล ใครหันหน้ามาทางกลุ่มกรรมการฉันก็จะถามไปว่า มีอะไรจะให้ช่วย บางคนก็ถามออกมา บางคนก็แค่หันมาแล้วหันกลับไปตอบเอง คำตอบของผู้เข้าสอบอย่างที่ยกตัวอย่างมานี้ ท่านคิดว่าบอกอะไร วัดอะไรได้บ้าง ที่จะไปช่วยเติมคะแนนให้ในหลังจากผ่านบทสนทนาตอนแรกๆ ท่านคงจะมีมุมมองนะค่ะ
บทสนทนาสองบทสุดท้ายนั้นเป็นเรื่องจริงๆที่ร.พ.มักเจอในกรณีคนต่างชาติต่างภาษาที่มีระบบประกันชีวิตค่ะ เป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบให้เขาค่ะ และมันสื่อให้กรรมการรับรู้ด้วยว่า คนนอกรายไหน ใครเคยผ่านงานและมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหา คล้ายๆกับเรื่องข้างบนนะแหละค่ะ ส่วนคนในก็สามารถวัดได้ว่า ใครสนใจแนวทางปฏิบัติที่ร.พ.วางไว้บ้าง ใครที่เอาแต่ทำหน้าที่ของตน ไม่สนใจคนอื่นเลย ใครที่มีมนุษยสัมพันธ์และเปิดใจออกมามีสัมพันธ์กับคนอื่นบ้าง เรื่องราวเหล่านี้อยู่ในวิถีที่คนซึ่งมีมนุษยสัมพันธ์ดีกับคนนอกงานและคนในงาน ไม่เอาแต่อยู่กับตัวเองได้รับข้อมูลค่ะ
อ้อ ลืมบอกไปว่า ตำแหน่งที่เปิดสอบ คือ ตำแหน่งผู้ช่วยเหลือคนไข้ และ เจ้าพนักงานธุรการ ค่ะ
อยากได้มุมมองแลกเปลี่ยนจากท่านที่เข้ามาอ่านด้วยนะค่ะ นี่แหละวิธีวัดศักยภาพคนที่สาวตาวาดความคิดลงไปค่ะ
บันทึกหน้าจะเอาข้อสอบอัตนัยมาโชว์ค่ะว่า ออกข้อสอบอะไรไป และวัดอย่างไรที่ตัวเองคิดว่าวัดง่ายและชัดเจนอธิบายผู้เข้าสอบได้ว่าให้คะแนนอย่างไรอย่างโปร่งใสค่ะ แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาช่วยตรวจข้อสอบ ซึ่งทำให้แปลกใจค่ะ
« « Prev : เบื้องหลังข้อสอบ(1)
ความคิดเห็นสำหรับ "เบื้องหลังข้อสอบ(2)"