ตามลม (๓๕) : สะดุดใจกับความกระด้างของน้ำไว้หน่อย

อ่าน: 2062

เมื่อกลับมาลองทบทวนคุณสมบัติเคมีของน้ำก็เพิ่งสะดุดคิดว่าน้ำที่โรยปูนขาวลงไปเป็นน้ำกระด้างดีๆนี่เอง น่าสนใจว่าปูนขาวจะทำให้น้ำกระด้างอยู่นานแค่ไหนอยู่เหมือนกัน

น้ำกระด้างที่คนพูดถึงทั่วไป เขาว่าเป็นน้ำที่มีเกลือ แคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมละลายอยู่ มีทั้งชั่วคราวและถาวร ชั่วคราวและถาวรแยกกันที่การตกตะกอนของหินปูน

ต้นตอที่ทำให้หินปูนตกตะกอนได้เป็นสารประกอบคาร์บอเนตของแคลเซียมและแมกนีเซียมและความร้อน  แคลเซียมคาร์บอเนตหรือหินปูนจึงกลายเป็นตัวบอกค่าความกระด้างของน้ำด้วยเหตุฉะนี้แล

เมื่อใช้แคลเซียมคาร์บอเนตบอกความอ่อน กระด้างของน้ำ จึงไม่แปลกที่เขาใช้ค่าความกระด้างที่ 0 - 75 mg/l บอกความเป็นน้ำอ่อน  กระด้างตั้งแต่ 150-300 mg/l เป็นน้ำกระด้าง ถ้าเกินกว่านี้ถือว่ากระด้างมาก

โดยทั่วไปความกระด้างที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจะอยู่ระหว่าง 100-120 mg/l

ในเมื่อน้ำกระด้างเป็นน้ำที่มีเกลือ ปลายน้ำที่รพ.ปล่อยน้ำออกไปเป็นป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งน้ำกร่อยและทะเล  อเมซซิ่งจริงๆ น้ำกร่อย น้ำทะเลก็เป็นน้ำกระด้างด้วยหรือนี่

น้ำทะเลมีน้ำขึ้น น้ำลง อย่างนี้ก็แปลว่าค่าความกระด้างของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยซิ มิน่าสัตว์น้ำริมฝั่ง ใกล้ฝั่ง และไกลฝั่งทะเลจึงอยู่รอดได้ รู้ตรงนี้แล้วรักธรรมชาติขึ้นอีกเยอะเลย

ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และโลกสัมพันธ์กันแล้วทำให้เกิดการจัดการปัญหาค่าเคมีที่เกี่ยวข้องให้น้ำ ช่วยลดพิษน้ำโดยไม่ต้องให้ขอ ดูแลชีวิตให้อยู่เงียบๆ วิเศษจริงๆ อย่างนี้ยังไม่รัก ไม่ชอบธรรมชาติอีกหรือไร

คุณสมบัติน้ำที่เป็นด่างทำให้กรดเป็นกลาง ตัวช่วยที่ทำให้เกิดความเป็นด่างมีอยู่หลายตัว คาร์บอเนต ไบคาร์บอเนต ไฮดรอกไซค์ บอเรต ซิลิเคต ฟอสเฟต และสารอินทรีย์ต่าง ๆ ใช่ทั้งนั้น

ความเป็นด่างมีดีตรงที่ช่วยควบคุมไม่ให้ pH เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป และช่วยลดพิษจากโลหะหนักหลายตัว เมื่อไรพบน้ำที่มีค่าความเป็นด่างต่ำ เมื่อนั้นบอกได้เลยว่าแหล่งน้ำนั้นปรับตัวเป็นกลางเองได้น้อย

อืม เข้าใจแล้วละ ว่าทำไมเมื่อใส่ปูนขาวลงไปในบ่อน้ำทิ้งที่ไตเทียม จึงช่วยปรับค่าเคมีให้เป็นด่างได้ง่ายดาย

ปูนขาว มีแคลเซียม ใส่ลงไปในน้ำในบ่อที่มีความเป็นกรด (pH 5) ก็ช่วยปรับค่าความเป็นกลางให้น้ำ  ความเป็นด่างกับความกระด้างของน้ำที่สัมพันธ์กันได้ไปทำให้ความอ่อนของน้ำกลายเป็นน้ำกระด้างอย่างนี้นี่เอง

น้ำกระด้างช่วยลดความเป็นพิษของปรอท ตะกั่วและแคดเมี่ยม ฯลฯ ได้ อย่างนี้ถ้าในน้ำที่ทิ้งลงในบ่อ และคู มีโลหะหนักพวกนี้ ก็ช่วยได้มากเลย

เข้าใจแล้วละว่าทำไมปูชนียบุคคลด้านสาธารณสุขในอดีตจึงสอนต่อๆกันมาให้ใช้ปูนขาวเป็นเครื่องมือทำงานชิ้นหนึ่งด้านสาธารณสุข

น้ำที่มีเกลืออย่างน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงความกระด้างเพราะมีน้ำขึ้น-ลง แล้วทำให้สัตว์น้ำอยู่ได้ อืม ตรงนี้ที่คูน้ำทั้ง 2 จุดมีอะไรที่เหมือนบ้างมั๊ยนะ ไปดูมาหน่อยดีกว่า

อ้อ น้ำในคูหลังตึกในยามหน้าฝน มีน้ำฝนลงไปปน นักเลี้ยงสัตว์น้ำเขาสอนกันมาว่า น้ำที่กระด้างปานกลางหรือสูงเท่านั้นที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ และน้ำกระด้างอ่อนหรือน้ำฝนไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ที่ปล่อยปลาลงไปในคู แล้วปลาเพิ่มจำนวนได้ในคูหลังตึก แต่ที่บ่อน้ำทิ้งไตเทียมปลาอยู่ไม่ได้ ก็มีคำอธิบายความต่างได้แล้วละ น้ำฝนที่ตกลงมาถูกเปลี่ยนความกระด้างด้วยน้ำที่กระด้างกว่าเมื่อน้ำขังตัว แล้วได้ความกระด้างที่พอเหมาะให้เพาะพันธุ์นี่เอง

ทีแรกที่ใส่ปูนขาวลงในคูหลังตึกเจ้าปัญหา ก็มุ่งตามดูแต่ค่าเคมี ออกซิเจนที่ละลายน้ำและความใสขุ่นอยู่นาน จนสังเกตเห็นว่าหลังใส่ปูนขาว 2-3 วันแรกปลาหางนกยูงมีพฤติกรรมแปลกๆ ว่ายน้ำปรู๊ดปร๊าด ว่ายทวนกระแสน้ำเป็นฝูงๆลดลงๆ แล้วต่อมาก็เห็นตัวปลานานๆครั้ง จึงเอะใจ  อย่างนี้ก็น่าจะเกิดจากความกระด้างของน้ำที่มากไปนี่เอง

เข้าใจแล้วละ ว่าทำไมหลังใส่ปูนขาวลงไปปรับคุณภาพน้ำเพื่อใช้พื้นที่นั้นกับสิ่งมีชีวิต คนรุ่นเก่าจึงสอนต่อๆกันมาว่า “ให้รอ….วัน”

ในมุมของชีวิตประจำวัน น้ำกระด้างถาวรไม่เหมาะกับการอุปโภคและบริโภคตรงเรื่องตะกอนที่แขวนอยู่  น้ำในคูที่กำลังลองจัดการอยู่เป็นน้ำที่จะปล่อยทิ้งไปปนกับน้ำทะเลที่ปลายน้ำ ความกระด้างที่ได้มาแทนที่ตรงบ่อน้ำทิ้ง ถึงแม้ปลาจะเลี้ยงในบ่อนี้ไว้ไม่ได้ ก็ยังถือว่าโอเคแล้วสำหรับน้ำทิ้งที่จะปล่อยไปปนกับแหล่งน้ำชุมชนในมุมของความเป็นกรด-ด่าง

ก็คงเหลือแต่การรอหาคำตอบเพิ่มว่า ควรขังน้ำไว้กี่วันจึงปล่อยออกไปยังปลายน้ำแล้วละ

« « Prev : ตามลม (๓๔) : ตะกอนลอย ไนเตรท ขี้แดด

Next : ตามลม (๓๖) : ความเค็มเป็นคุณสมบติทางกายภาพที่สำคัญของน้ำด้วย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๓๕) : สะดุดใจกับความกระด้างของน้ำไว้หน่อย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.017482042312622 sec
Sidebar: 0.15389394760132 sec