ตามลม (๓๖) : ความเค็มเป็นคุณสมบติทางกายภาพที่สำคัญของน้ำด้วย

อ่าน: 1646

เอ่ยถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก็หลายรอบ ค่า DO ที่วัดได้ต่ำๆ ก็ทำให้สนใจว่าสัตว์น้ำอึดต่อคาร์บอนไดออกไซด์ได้แค่ไหน ก็ได้คำตอบมาว่า ปลาจะหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในน้ำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า 5 มก.ต่อลิตร และอยู่ทนในน้ำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 60 มก.ต่อลิตรได้

มีคนบอกให้สังเกตว่า ในขณะที่มีอากาศมืดครึ้ม คาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มสูงขึ้นทันที เพราะแพลงก์ตอนตาย หรือมีน้ำที่รวมตัวมาจากน้ำระดับต่าง ๆ  มิน่าละช่วงฝนตก น้ำในคูที่ใสขึ้นแล้วจึงขุ่นเพิ่มและน้ำมีกลิ่นอีก

เพิ่งเห็นมุมของน้ำเดือดว่าช่วยไล่คาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากน้ำ แต่ถ้าน้ำนั้นมีไนเตรทปนก็เห็นอีกมุม ไนเตรทกลายร่างกลับมาเป็นไนไตรท์ซึ่งเป็นพิษเมื่อน้ำอุณหภูมิสูงขึ้น  ต้มน้ำที่มีไนเตรทให้เดือดจึงไม่ปลอดภัย ตรงนี้อยากให้จำจนขึ้นใจ จะได้ตัดสินใจให้เหมาะกับความปลอดภัยของน้ำในมือที่ได้มาว่าต้องการอะไร

ทีแรกก็ไม่ได้สนใจเท่าไรว่าเรื่องเค็มมีผลต่อคุณภาพน้ำทิ้งแค่ไหน แม้ว่าตอนที่ขนถุงน้ำยาเปื้อนขี้ปลวกออกจากไตเทียมไปทำลายจะมีคำถามแวบขึ้นมา แต่พอตามรอยน้ำในบ่อน้ำทิ้งใกล้ไตเทียมมาเรื่อยๆ แล้วพบว่าคุณภาพน้ำบางตัวดีขึ้น แต่ปลายังตาย ก็พบว่าจำเป็นแล้วที่ต้องรู้

เค็มเกลือกับเค็มน้ำเหมือนกันตรงที่ วัดกันที่ปริมาณของสารประกอบเกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์)  หน่วยของความเค็มที่เรียกกันอยู่คือ parts per thousand หรือ  ppt

ความเค็มของน้ำที่วัดได้เขานำไปใช้ประโยชน์ดูความสัมพันธ์กับความนำไฟฟ้าของน้ำซึ่งหนักหนึ่งกิโลกรัม และดูความสัมพันธ์กับค่าสารประกอบกลุ่มโบรไมด์ (Chlorinity) ซึ่งหมายถึงปริมาณคลอไรค์ โบรไมค์และไอโอไดด์ที่อยู่ในน้ำ

น้ำจืด (fresh water) มีรสชาติที่ไม่จืดสนิทเพราะน้ำจืดไม่ได้ไร้เกลือแกงแต่มีอยู่น้อย คือ ไม่เกิน 0.5 ppt เกลือแกงละลายน้ำเกิน 30 ppt เมื่อไร น้ำนั้นก็กลายเป็นน้ำทะเล

ที่สัตว์น้ำจืดทนต่อความเค็มของน้ำที่ปากน้ำได้ เพราะปรับตัวแบบค่อยๆเป็นค่อยไปช้าๆ   ปลาเล็กทนความเค็มได้มากกว่าปลาใหญ่ ความเค็มที่สัตว์น้ำจืดทนได้อยู่ที่ 7 ppt

ที่สัตว์น้ำต้องปรับตัวกับความเค็มก็เพื่อจะได้ทนแรงดันของสารละลายในน้ำที่อาจทำร้ายตัวมันได้

น้ำกร่อยมีความเค็มอยู่ระหว่างน้ำจืดกับน้ำทะเล แรงดันของสารละลายในน้ำมีผลทำร้ายสัตว์น้ำได้ สภาพน้ำของน้ำกร่อยเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย สัตว์น้ำที่อยู่น้ำกร่อยจึงต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของน้ำจึงอยู่ได้

ปลาที่หยอดในบ่อหายไปทุกครั้ง แล้วน้ำทิ้งที่ไตเทียมก็เปลี่ยนแปลงส่วนผสมได้ทุกวัน ถึงแม้ปลายทางของน้ำทิ้งจะเป็นทะเล แต่กว่าที่น้ำจะไหลไปถึงปลายน้ำระยะทางก็ยาวไกล ถ้ารู้ความเค็มของน้ำก็จะสบายใจขึ้นอีกเรื่อง

« « Prev : ตามลม (๓๕) : สะดุดใจกับความกระด้างของน้ำไว้หน่อย

Next : ตามลม (๓๗) : พืชน้ำสีเขียว ช่วยบอกเรื่องแอมโมเนียได้เยอะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 กรกฏาคม 2011 เวลา 23:41

    เรื่องการบำบัดน้ำเสียจากรพ.นี้น่าสนุกมากๆ ครับ มันมีปัจัยหลายหลาก ที่ท้าทาย มีทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และวิศวกรรม ยากมากๆ ขอชมเชยหมอเจ๊ที่กัดไม่ปล่อยในเรื่องนี้ เขียนไปเถอะครับ ไม่มีคนอ่านก็ช่าง เพราะมันทำให้เราเก่ง กว่าจะเขียนออกมาได้ต้องคิดไปด้วย ก็เป็นการลับสมองของเรา …เจอกันเดือนตค.นะครับ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 กรกฏาคม 2011 เวลา 23:29

    ยิ่งตามรอยไปเรื่อยๆ ยิ่งเจออะไรลึกๆ ในแง่ของการเรียนรู้ก็สนุกมากๆค่ะ ในแง่ของภาระในการแก้ปัญหาก็หนักใจในความยาก พบแล้วก็บอกตัวเองว่าต้องใจเย็น ใจเย็น ใจ เย็น ใจเย็น

    ตุลาคมเจอกันค่ะอาจารย์ จะส่งจดหมายเชิญให้ปลายๆเดือนสิงหาคมนะคะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.030220985412598 sec
Sidebar: 0.12097501754761 sec