ตามลม (๓๗) : พืชน้ำสีเขียว ช่วยบอกเรื่องแอมโมเนียได้เยอะ

อ่าน: 1458

ถึงแม้ความเป็นด่าง ความใสของน้ำที่บ่อน้ำทิ้งของไตเทียม จะเพิ่มความสบายใจให้มากแล้ว ก็ยังมีประเด็นของแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำที่ยังต้องทำความเข้าใจ

จึงกลับไปดูผลทางเคมีที่วัดไว้เพื่อค้นหาความต่างของน้ำลองดู  ได้ความรู้เกี่ยวกับน้ำตรงนี้เพิ่มมาว่า เวลาเช้าที่ใกล้เคียงกัน ความเป็นด่างของน้ำเกือบเท่ากัน ออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราเกือบเท่าตัวทุกวัน

ภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงที่สายขึ้นของวันเดียวกัน น้ำที่เป็นด่างก็เปลี่ยนตัวมีความเป็นด่างลดลง แต่ไม่ถึงกับกลายเป็นกรด  pH ในเวลาห่างกันครึ่งชั่วโมงของตอนเช้าต่างไปราว 0.5 แต้ม ออกซิเจนในน้ำลดลงบ้าง คงที่บ้าง

เวลาที่ผ่านไปเกือบครบเดือน ปูนขาวและลูกบอลน้ำหมักได้เพิ่มความเป็นด่างของน้ำตรงนี้ให้ แม้ปูนขาวจะละลายหมดไปแล้ว ความเป็นด่างของน้ำก็ยังเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างวันมีความคงที่ การเปลี่ยนแปลงในวันเดียวกันไม่คงที่ ภายในวันเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงจะต่างกันระหว่างเวลาเช้าและเวลาสาย เวลาสายความเ็ป็นด่างจะลดลงกว่าตอนเช้า

ในเวลาราว 2 สัปดาห์ น้ำที่เติมปูนขาวและลูกบอลน้ำหมักไว้ในเวลาไล่เรี่ยกันจะมี pH เพิ่มขึ้นราว 4 แต้ม และในเวลาที่ต่อเนื่องมาเกือบเดือน pH น้ำจะเพิ่มขึ้นได้อีก 1 แต้ม ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มาจากจำนวนปูนขาว 3 กก. น้ำในบ่อน้ำทิ้ง 10 ลิตร ลูกบอลน้ำหมักทำเองขนาด 1 กำมือ 2 ก้อน และน้ำในบ่อน้ำทิ้งมีของเสียเติมเข้าและมีรูไหลออกเอื่อยๆอยู่ตลอดวัน 1 รูที่ก้นบ่อ

หลังใส่ปูนขาวและลูกบอลน้ำหมักเพียงครั้งเดียวแล้วตามดูต่อเนื่องราว 1 เดือน ก็พบว่าออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นๆ เกือบ 4 เท่า พร้อมกับมีแพลงตอนพืชที่ไม่เคยมีเกิดขึ้นในบ่อจำนวนหนึ่ง การเพิ่มจำนวนขึ้นในแต่ละวันของแพลงตอนเป็นอย่างไร ยังไม่รู้เลย

บ่อนี้ตั้งอยู่ใกล้สนามโล่ง แดดที่ส่องลงมาที่สนามแรงตลอดวัน ทุกครั้งที่ไปตามดู ดูเหมือนแดดจะส่องเข้าไปไม่ถึงน้ำในบ่อ แต่จะใช่อย่างที่เห็นทั้งวันหรือเปล่ายังไม่รู้  เขาว่าแพลงตอนพืชสังเคราะห์แสงได้ พืชสังเคราะห์แสงแล้วจะปล่อยออกซิเจนทิ้งออกมา ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่ด่วนสรุปว่าปูนขาวและลูกบอลน้ำหมักเติมออกซิเจนในน้ำได้ด้วย จนกว่าจะเข้าใจเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าแพลงตอนที่เห็น

น้ำตรงนี้ยังมีอีกเรื่องที่ยังติดใจ ออกซิเจนในน้ำมีเยอะ ความเป็นด่างก็เหมาะให้ปลาอยู่ อาหารก็มีให้พอกิน แต่ย้ายปลามาให้อยู่กลับหายจ้อย หาตัวไม่เจอ มีแต่หนอนกับลูกน้ำอยู่ได้  แถมยังมีแพลงตอนพืชสีเขียวอมน้ำเงินมาอยู่ด้วย นี่แหละที่เอะใจว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับความเค็มของน้ำได้

ท่อน้ำทิ้งตามอาคารของรพ.มีหลายรุ่น มีทั้งท่อปูน ท่อเหล็ก ท่อพลาสติก โอกาสที่จะพบโลหะหนักที่เป็นพิษจึงยังมีอยู่ ไหนยังมีสารเคมีที่อยู่ในวัสดุต่างๆที่ใช้ประจำวันอีก

ปลายน้ำคือทะเล สัตว์น้ำเป็นอาหารของคน สัตว์น้ำเป็นอันตรายคนก็หนีไม่พ้น การนึกถึงการปนเปื้อนของโลหะหนักเอาไว้ด้วยจึงเป็นเรื่องดีๆที่ควรทำ ใช่ไหม

ความเป็นไปได้ที่โลหะหนักจะปนลงในน้ำที่รพ.ทิ้ง ก็ไม่พ้นจากท่อและขยะปนเปื้อนสารเคมี อย่างนี้แหละที่ระบบขยะของรพ. จะเป็นระบบขยะรวมไม่ได้

ปรอท แคดเมี่ยม ทองแดง ตะกั่ว สังกะสีและโครเมียม คือโลหะหนักตัวสำคัญที่จะต้องค้นหาไปด้วยเลย

นึกไม่ถึงว่า สารเคมีกลุ่มที่ใช้ในด้านเกษตรกรรมจะเป็นอะไรใกล้ตัว แต่เมื่อรู้จักแอมโมเนียมากขึ้น สรุปได้เลยว่าปุ๋ยจากตัวคนก็เป็นสารเคมีกลุ่มนี้ด้วย ทรายฆ่าลูกน้ำก็ใช่เลย

ผู้เชียวชาญเรื่องน้ำเขาบอกกันไว้ว่า สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กซึ่งมีแพลงก์ตอนและแบคทีเรีย เมื่อมีปริมาณมากขึ้น น้ำจะขุ่นสูงขึ้น

เมื่อน้ำมีเกลืออนินทรีย์ มีคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและแดดก็ทำให้แพลงก์ตอนพืชสังเคราะห์แสงได้ แพลงก์ตอนพืชเป็นอาหารของแพลงก์ตอนสัตว์ รวมไปถึงเศษอินทรีย์วัตถุในน้ำและซากการตายของแพลงก์ตอนพืช แบคทีเรียใช้อินทรีย์วัตถุต่างๆที่เน่าสลายเป็นอาหาร

ทั้งหมดอาจทำให้น้ำขุ่นและขัดขวางแสงไม่ให้ส่องลึกลงไปถึงพื้นน้ำ การเจริญเติบโตของพืชน้ำที่อยู่ชั้นล่างลงไปก็ลดลงเพราะสังเคราะห์แสงได้น้อยลง แพลงก์ตอนจำนวนมากจึงเป็นอันตรายได้

เขาว่าสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่เห็นนั้นดูดซับความร้อนจากแสงแดดและคายให้น้ำ น้ำจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นในตอนกลางคืน และกลางคืนพืชที่สังเคราะห์แสงใช้ออกซิเจนหายใจ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สาหร่ายที่เห็นในคูน้ำใกล้หน่วยไตเทียม ที่ลอยเป็นคราบในบ่อน้ำทิ้ง ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น

อืม ถ้าออกซิเจนถูกสาหร่ายใช้ไปในการหายใจกลางคืน ออกซิเจนในน้ำช่วงเช้าก็ลดต่ำได้ ขาดแคลนได้  อย่างนี้ก็เป็นไปได้ว่า ค่า DO ที่วัดได้ต่ำๆในตอนเช้าที่พบในระยะหนึ่งจะมีต้นเหตุมาจากเรื่องนี้  กลิ่นในน้ำที่ยังคงอยู่ก็เช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำเขาบอกว่า จะควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนก็ให้ควบคุมคุณสมบัติของน้ำ ควบคุมแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ทั้ง คาร์บอน ออกซิเจน ไฮโดรเจน ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน ใช่ทั้งนั้นเลย

แร่ธาตุที่สำคัญที่สุดสำหรับแพลงก์ตอนก็คือ ฟอสฟอรัส ธาตุตัวนี้ถูกนำไปใช้กับโครงสร้างในตัวมันที่ทำหน้าที่สร้างพลังงานให้อยู่รอดได้

เข้าใจแล้วละ การมีผงซักฟอกปนลงในบ่อเป็นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตลงในน้ำให้มันนี่เอง  มิน่าแพลงก์ตอนพืชจึงเพิ่มปริมาณจนเห็นสีเขียวชัดขึ้นๆ จนเห็นได้ด้วยตา

วันนี้ในคูมีคราบสีเขียวแกมน้ำเงินเต็มไปหมด ต้นคูที่รับน้ำทิ้งไว้ตรงไตเทียมมีคราบสีเขียวแกมน้ำเงินอยู่ประปราย เดิมน้ำขุ่นแต่วันนี้น้ำใสขึ้น แพลงก์ตอนเจริญเติบโตในปริมาณที่มากจนสีเขียวกลายเป็นสีเขียวดำแล้ว จะแก้ยังไงดี วันนี้คำตอบยังต้องรอ

มีคำตอบแ้ล้วแน่ๆแต่เพียงว่า สิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจทำในบางเรื่องของคนอื่น ก็มีมุมบวกเหมือนกัน เพราะหลังใส่ปูนขาวและลูกบอลน้ำหมักลงไป มันส่งผลเสริมให้น้ำตรงนี้ปลอดภัยขึ้น

« « Prev : ตามลม (๓๖) : ความเค็มเป็นคุณสมบติทางกายภาพที่สำคัญของน้ำด้วย

Next : ตามลม(๓๘) : แค่ทำให้น้ำไหลวนช้าๆ…ก็ช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำได้บางส่วนแล้ว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๓๗) : พืชน้ำสีเขียว ช่วยบอกเรื่องแอมโมเนียได้เยอะ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.022083044052124 sec
Sidebar: 0.1863329410553 sec