ตามลม(๓๘) : แค่ทำให้น้ำไหลวนช้าๆ…ก็ช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำได้บางส่วนแล้ว

อ่าน: 1537

การใส่ปลาลงไปในบ่อน้ำทิ้งใกล้ไตเทียม เป็นความคิดเพื่อการพัฒนางานควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในรพ.เพื่อการป้องกันไข้เลือดออกโดยลูกน้องคนหนึ่ง เขาเป็นคนแรกที่พบว่าบ่อน้ำทิ้งแห่งนี้ปลาอยู่ไม่ได้  ความเป็นคนช่างสังเกตและขบคิดหาความรู้  เมื่อยังไม่พบคำตอบที่ทำให้เข้าใจ เรื่องราวที่พบเจอจึงมีแต่เขารู้อยู่แต่ผู้เดียว

จนเมื่อได้น้ำในคูเจ้าปัญหามาเป็นครู และมีการเรียนรู้น้ำในบ่อน้ำทิ้งแห่งนี้คู่ขนานไปด้วย  แล้วได้ผลลัพธ์ออกมาเรื่องน้ำมีความเป็นกรดสูง และเป็นน้ำเสีย ก็ปรากฏรอยยิ้มบนใบหน้าของเขาเหมือนถูกใจอะไรบางอย่าง

แล้วเรื่องเล่าก็พรั่งพรู “หนูสังเกตและสงสัยมานานแล้วว่าน้ำในบ่อนี้น่าจะเป็นน้ำเสีย แต่หนูไม่แน่ใจ ที่คูน้ำซึ่งมีน้ำอยู่ บางทีหนูก็พบว่าปลาหนี บางทีปลาก็มา วันนี้มีเฉลย หนูรู้สึกดีใจเมื่อรู้ว่าสิ่งที่หนูสงสัยนั้นใช่เลย”

ความดีใจที่ปรากฏ สะท้อนให้ฉุกคิด เออแนะ แค่ความสมใจง่ายๆกับเรื่องที่อยากรู้มานาน แล้วได้พบกับคำเฉลยก็ทำให้คนตื่นเต้นและมีความสุขกับปัญญาของตนเองได้ ที่แท้ความสุขของคนก็อยู่ใกล้ตัวของคนนั้นอยู่แล้วนี่เอง  ดีใจที่ได้เห็นว่าเมื่อได้คำตอบแล้ว เขาก็เดินหน้าต่อกับการเรียนรู้ต่อไป   คนทำงานมีความสุข นี่แหละคือความชื่นใจที่อยากได้มากๆละน่า

สีน้ำเงินแกมเขียวของน้ำที่บ่อนี้ ออกซิเจนในน้ำที่พบว่าน้อย ค่าความเป็นด่างที่สูงของน้ำ การพบมีสาหร่ายในน้ำ  ให้เคล็ดลับไปใช้ต่อว่า สีน้ำเงินแกมเขียวใช้เตือนเรื่องน้ำมีพิษได้ ถ้าเห็นให้รู้ไว้เลยว่ามีน้ำจากของเสียมาปนอยู่ มีฟอสเฟตจากผงซักฟอกลงมาปน

ที่ฟอสเฟตก่อปัญหาต่อแหล่งน้ำก็เพราะว่ามีฟอสฟอรัสอยู่ ปัญหาต่อน้ำจะเกิดเมื่อมีไนโตรเจนอยู่ด้วยแบบเพื่อนซี้  คู่ซี้นี้มีฟอสฟอรัสเป็นหัวโจก ไนโตรเจนเป็นมือรอง ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้แหละที่ทำให้จำนวนไนโตรเจนมีความสำคัญ

น้ำทั่วไปมีฟอสฟอรัสตั้งแต่ 0.05 - 1 มก./ลิตร ขึ้นไป เมื่อไรที่มีเกิน 0.6 มก./ลิตร ขึ้นไป น้ำตรงนั้นมีคุณภาพที่เสียไปแล้ว

เคยเล่าในบันทึกก่อนว่า ไนเตรท ไนโตรเจน ไนไตรท์ นั้นถือกำเนิดจากแอมโมเนีย พวกมันแปลงร่างเป็นกันและกันได้เมื่อเจอแบคทีเรียที่ชอบมัน

ไนเตรทเจอความร้อนแล้วเปลี่ยนร่างเป็นไนไตรท์  ต้มน้ำเดือดแล้วน้ำยังมีพิษ ถ้าต้มน้ำเดิมซ้ำหลายๆรอบก็ยิ่งแย่ซินะ  อย่างนี้ยิ่งต้องรู้ฟอสฟอรัส ไนเตรทเกี่ยวอะไรกันอีก

อ้อ ได้มาแล้วว่า ฟอสฟอรัสนั้นเป็นธาตุที่สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องใช้ร่วมกับไนโตรเจน ไปสร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่สร้างพลังงาน และสร้างโครงสร้างให้แข็งแรง  การที่มาอยู่ด้วยกันจึงเท่ากับเป็นสองแรงแข็งขันที่ช่วยให้แพลงตอนพืชมีอาหารสมบูรณ์นี่เอง

แหล่งน้ำที่มีความสกปรกสูงและมีการปนเปื้อนอย่างสม่ำเสมอของของเสีย สิ่งสกปรกจากชุมชน และดินจากพื้นที่เกษตรกรรม จะมีจำนวนไนเตรทปริมาณสูง น้ำแบบนี้ถ้านำมาใช้ในการบริโภคหรือการผลิตน้ำประปามีอันตราย

น้ำในคูเจ้าปัญหา ได้สะท้อนเคล็ดลับว่า เมื่อทำให้น้ำเสียที่มีสีดำและเหม็นไหลวนอย่างช้าๆแบบไม่ทำให้ตะกอนสกปรกฟุ้งกระจาย น้ำเสียนั้นจะได้อากาศเติม  แบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น การย่อยสลายตะกอนสกปรกในน้ำจะง่ายขึ้น กลิ่นเหม็นลดลง ออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้น  ความเป็นด่างของน้ำลดลง

ความคิดเรื่องเลี้ยงปลาในบ่อยังคงอยู่  คูเจ้าปัญหาได้สอนไว้ว่า ออกซิเจนในน้ำมีพอเลี้ยงให้ปลาอยู่ได้แล้ว การลองใช้ผักตบชวาบังตาเด็กไม่ได้ผล อย่างนี้ลองใช้พืชใต้น้ำดูบ้างเป็นไร  สาหร่ายหางกระรอกเป็นที่หมายตา ด้วยมีคนบอกว่ามันช่วยกำจัดตะกอนสกปรกในน้ำได้เหมือนกัน

ว่าแล้วก็บอกลูกน้อง ไปที่ร้านอาหารใกล้บ้าน แล้วให้ขอแบ่งปันสาหร่ายหางกระรอกมาใช้งานหน่อย

« « Prev : ตามลม (๓๗) : พืชน้ำสีเขียว ช่วยบอกเรื่องแอมโมเนียได้เยอะ

Next : ตามลม(๓๙) : เกลือในน้ำสำคัญยังไงกับปลา…รู้ไว้หน่อยก็ดีนะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 กรกฏาคม 2011 เวลา 22:50

    หมอครับ blue-green algea นั้นมีการวิจัยกันมากเหลือหลาย ว่ามันช่วยกำจัดน้ำเสียได้ แล้วปลาก็กินได้อีกต่างหาก ส่วนสาหร่ายหางกระรอก ก็ขจัดน้ำเสียได้ และปลาจีนชอบกินมากด้วย

    ผมว่าปลูกสาหร่ายดีกว่ามาก และต้องกำจัด ผักตบออกไปให้หมดสิ้น เพราะพวกนี้บังแสง ทำให้สารหร่ายไม่โต สาหร่ายหลายพันธุ์โตได้ไวมาก แม้มีแสงส่องน้อย ผมว่ามันเป็นพืชมหัศจรรย์ที่คนไทยมองข้าม

    ผมเคยเสนอแนวคิดในการทำนา แล้วเลี้ยงสาหร่าย พร้อมเลี้ยงปลา โดยเฉพาะปลาจีน (หรือปลาเฉา)

    แต่ถ้าให้ดีกว่านี้ผมว่า เอาไปลงบ่อหมัก ทำแก๊สชีวภาพดีกว่าครับ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสไปเลย ของเสียที่ดีๆ แบบนี้ ไม่ควรปล่อยทิ้งไป ให้เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม

    ถามว่าพอมันไหลออกไปจาก รพ. แล้วมันไปไหน มันก็ไปก่อปัญหาให้กับชุมชนรอบๆ รพ. ต่อไป ..นี่แสดงว่ารพ. จะ “ปัดสวะ” ให้พ้นตัว ใช่ไหม ?

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 กรกฏาคม 2011 เวลา 23:36

    ตามรอยมาจนรู้ขนาดนี้ เห็นทีจะยอมให้ปิดสวะไม่ได้แล้วละคะอาจารย์ เมื่อหลายเดือนก่อนก็กดดัน ให้รองฯด้านบริหารบรรจุรายการของบประมาณลงไปในปีงบหน้าด้วย

    เมื่อรอบที่แล้วก็นำเรียนปัญหาให้ผู้ตรวจราชการเขตได้ทราบแล้วว่า มีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำเสีย จำเป็นต้องมีงบประมาณรองรับ

    ตอนนี้ขอปัดสวะ ที่หมายถึง ผักตบชวาเท่านั้นค่ะ…อิอิ

    เรื่องราวของสาหร่ายสีน้ำเงิน มันติดอยู่ตรงดูสายพันธุ์ไม่เป็นนี่แหละค่ะ กำลังส่ายตามองหาครูที่อยู่ใกล้ๆอยู่ค่ะอาจารย์ ยังไม่ฟันธงด้านลบค่ะ

    ทำงานอยู่กับน้ำ 2 จุด ก็รู้แล้วว่างานนี้ไม่ง่ายแค่ของบ วันนี้จึงขยับด้วยการแก้ไปทีละเปลาะทีละเปลาะ ทำงานเล็กๆไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมาก็คล่องตัวดีค่ะ ได้รับความร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ ลูกน้องซึ่งทีแรกก็ไม่อยากทำ วันนี้ก็สนุกที่ได้รู้ปัญหาด้วยกันค่ะ

    เรื่องของก๊าซชีวภาพ รออาจารย์มาเห็นสถานที่แล้วช่วยคิดค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.035950899124146 sec
Sidebar: 0.13145804405212 sec