เก็บเกี่ยวข้อฝึกตน
อ่าน: 1069ความเป็นคนชอบอ่าน ทำให้อ่านไปเรื่อยๆ แต่ก่อนเจออะไรตอนอ่านก็แค่ อืม เออ ใช่ ซะบ่อยมากๆ
แล้วบางเรื่องไอ้ที่อือ เออ ใช่ ก็ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำ แบบแปลมาใช้งาน แบบการอ่านเอาเรื่อง แบบการบันทึกความทรงจำว่า เคยอ่าน เคยผ่านตาแล้ว ใช่เลยเขาว่าอย่างนี้แหละ
จำได้ว่าเมื่ออ่านในสไตล์อย่างนี้ หนังสือเล่มหนึ่งจะถูกอ่านจบลงในเวลาที่แสนสั้น
ความรู้สึกตอนอ่านก็แค่เพียง อืม เพลิน อืม สนุก ไม่รู้สึกดื่มด่ำกับคารมหรือข้อความหมายที่แฝงอยู่ในข้อเขียนสักเท่าไร
ความรู้สึกแค่เพียง อืม หากอยากรู้อีกก็มาเปิดอ่านใหม่ ซึ่งการกลับมาอ่านซ้ำเล่มเดิมกว่าจะเกิดก็เนิ่นนานแสนนานเป็นหลายปี
อืม ตรงนี้ รับรู้แล้วนะ ถ้าจะใช้งานอีก มันอยู่ตรงนี้นะมาเปิดดู อย่างนี้ก็มีบ่อย
อืม ตรงนี้ น่าสนใจ เอาไปบอกต่อดีกว่า อย่างนี้ก็มีบ่อย
ทวนกลับไปดูก็พบว่า ในความคิดหลังการอ่านกระหยิ่มอยู่กับคำว่า “รู้แล้ว” อยู่ในความจำ
เมื่อกลับมาอ่านซ้ำหนังสือเล่มเดิม ความสนุกของการอ่านมักลดลงกว่าครั้งแรกที่ได้อ่านและใช้เวลากับการอ่านในรอบหลังสั้นกว่ารอบแรกๆเยอะเลย แล้วหนังสือส่วนใหญ่ก็มักจะไม่เคยอ่านซ้ำกว่าสองรอบ
มาเดี๋ยวนี้ กลับพบว่า การอ่านของตัวเองเปลี่ยนไป
อ่านแล้ว อืม เออ ยังมีอยู่เช่นเดิม แต่เรื่อง ใช่เลย มีเปลี่ยนไปให้แปลกใจนะ
ใช่เลย มันเปลี่ยน เพิ่มมาซึ่งความดื่มด่ำในอรรถรสของข้อเขียนอยู่มากขึ้นแฮะ
อ่านไปแล้วทึ่ง กับข้อเขียนธรรมดาที่เฉยๆ แปลกใจจริงๆ
ในคำเขียนธรรมดาที่คนเขียนเขาใช้เขียนมานั้น กลับสัมผัสว่ามีอะไรที่คนเขียนเขาอยากสื่อบอกนะ
บางครั้งรับรู้ว่าสื่ออะไร แล้วทึ่งกับความคมที่แฝงอยู่ของคนเขียนขึ้นซะอีกแนะ
ช่วงหลังของการอ่านจึงดื่่มด่ำกับข้อเขียน จนอ่านซ้ำซากได้บ่อยขึ้นๆ
อ่านซ้ำๆแล้วดื่มด่ำและสัมผัสกับเสน่ห์ที่หนังสือต้องการนำเสนอมากขึ้นด้วยแฮะ
อ่านหนังสือด้วยความรู้สึกอย่างนี้ มีความสุขกับการอ่าน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
มีความสุขกับการที่ไม่รีบร้อนที่จะอ่านให้จบเล่มโดยเร็ว
ทำให้เดี๋ยวนี้ใช้เวลากับการอ่านหนังสือหนึ่งเล่มนานขึ้นๆ
เวลาหยิบหลายเล่มมาอ่านในช่วงหนึ่งร่วมกัน ก็สามารถอ่านเล่มโน้นบ้างเล่มนี้บ้างสลับกันไปได้
แถมได้ผลการอ่านที่ต่างไปไม่เหมือนเคยไปแล้ว
อ่านสนุกเป็นหน้าๆ แล้วยังได้อรรถรสของเรื่อง
ผสมผสานคลุกกันกับการเรียนรู้ สนุกกับการอ่านไปอีกแบบกับความเข้าใจที่เกิดขึ้นอีกแนะ
ความสุขของการอ่านที่ดำเนินไปช้าๆ ทำให้สัมผัสว่าความเร่งในการอ่านของตัวเองเปลี่ยนไปไม่เหมือนอย่างเคย
หาก “การอ่าน” เป็น “การฟัง” ในรูปแบบหนึ่ง ก็ได้พบว่า การฟังของตัวเองเปลี่ยนไปแล้ว
ชวนท่านมาตามดูตัวเอง ผ่านการอ่านกันดูหน่อยนะคะ
อย่างความเห็นของอาจารย์ไร้กรอบ ที่แลกเปลี่ยนเรื่อง Tai Chi เอาไว้
อ่านแล้วประเมินดูหน่อย ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง อาจารย์ไร้กรอบเขียนให้อ่านเอาไว้อย่างนี้ค่ะ
ฟัง —- ร่างกายมันฟ้องว่าเรา ป่วย เคลื่อนไหว ปกติ กลัว ชอบ กังวล ฯลฯ
เข้าใจ —- เข้าใจ ร่างกายของเรา
หล่อเลี้ยง —- ดูแลมัน ให้ความสุขมัน คิดดีกับมัน
ถ้าเป็นการสนทนา คือ ฟังคนอื่น ….. ฟัง “เสียงภายใน” (Inner Voice) ของเรา อย่าตัดสิน อย่าด่วนพิพากษา
เข้าใจ แบบ Empathy (ไม่ใช่ Sympathy) …. ทั้งตัวเรา และ คนอื่น จิตเราเกิดอาการไหม จิตเขาเป็นอย่างไร
หล่อเลี้ยง …. ดูลมหายใจของเรา เลี้ยงจิตด้วยสติ จิตสงบ หล่อเลี้ยงคนอื่น อย่ารีบร้อนทุบ ทำลาย
คุยกันบ่อยๆ คุยกันแบบเข้าใจ คุยกันแบบมีสติ คุยแบบ”ฟัง เข้าใจ หล่อเลี้ยง”
คุยกันบ่อยๆ จะคิดได้
เมื่อคิดได้ ปิ๊งแล้ว ก็เอาไป ทำ เอาไปลองๆทำดู
ผิดถูก ก็กลับมาคุยกันอีก อย่าดับความหวัง อย่าดับดาวรุ่ง เปิดพื้นที่ให้ได้ลอง ได้เรียนรู้ ได้ออกนอกกรอบบ้าง
Self Dialogue ฟังตนเองตามความเป็นจริง อย่าหลอกตนเอง ไม่มีอคติ ไม่มีลำเอียง
ฟัง “กาย เวทนา จิต ธรรม” ของเรา
Self Dialogue
การคุยกับตนเอง อย่างแยบคาย ลองหาเวลาว่างสักสองสาม นาที ทบทวนตนเอง คุยกับตนเอง ได้แก่ สนทนาภายใน และ ภายนอก
ภายใน คือ ทบทวนพันธกิจ ในการเดินทางในวัฏสงสารของเรา และ ลองฟังอวัยวะต่างๆในร่างกายของเรา ฟังจิตใจ อารมณ์ ฟังความคิด ฟังธรรมต่างๆที่ปรากฏบนกายของเรา ใจของเรา
ภายนอก คือ หน้าที่การงาน ความรับผิดชอบ ครอบครัว ชุมชน มนุษยชาติ ฯลฯ
Self Dialogue ภายใน
1. เกิดมาทำไม กำลังเดินทางไปไหน เป้าหมาย พันธกิจ คืออะไร ใครเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ใครเป็นกัลยณมิตร (สังฆะ หรือ อพยพจากวัฏสงสาร)ของเรา เรามีบารมีอะไรที่ยังต้องสะสม เรียนรู้บ้าง ( บารมี ๑๐ เช่น ทาน วิริยะ ขันติ ศีล ฯลฯ )
2. ร่างกายของเรา อวัยวะต่างๆจะ ฟ้องเราหรือยังว่า เจ็บไข้ได้ป่วย ใช้งานมาก เครียดจนความดันขึ้น ฯลฯ บ่อยครั้ง อวัยวะเตือนเรา ส่งสัญญาณว่า แย่แล้ว แย่แล้ว แต่เราก็ดันทุรังใช้งานแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมขอเชิญเชิญให้ลองฝึกรำมวยจีน หรือ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
3. การฟัง หรือ จะใช้คำว่าการดู ก็ได้ ในที่นี้ คือ การรู้เท่าทัน “กาย เวทนา จิต ธรรม” ซึ่งก็คือ มีสติ ลองฝึกรู้เท่าทันความคิด รู้เท่าทันความคิดที่เข้าทำให้เกิดอารมณ์มันก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร รู้เท่าทันความคิดที่ออกมาจากจิตใจที่ผิดปกติ ลองฝึกไม่ให้ความคิดและจิตมีอิทธิพลต่อกัน ฝึกให้ชำนาญก็จะไปถึง มหาสติ ฯ
Self Dialogue ภายนอกซึ่งบางที ฝรั่งเรียกว่า ทบทวน วันละ 2 นาที (Two minutes management) มีเวลาทบทวนแค่ 2 นาที ก็ถือว่าดีกว่า ไม่ได้ทบทวนเลย
ในขณะที่ทบทวน เราจะมี ความกลัว ความไม่อยากจะทบทวน ความผลักไส รังเกียจ เลือกเรื่องที่จะทบทวน ฯลฯ ก็จงหายใจลึกๆ ดีดนิวรณ์ออกไป
บางทีร่างกายเราไม่แข็งแรง จิตใจเราจึงไม่สดใส ถ้าพิจารณาในแง่แพทย์ตะวันออก
โกรธง่ายมาจากตับไม่ดี
อิจฉา มาจากหัวใจไม่ดี
กังวล มาจากม้ามไม่ดี
หดหู่ มาจาก ปอดไม่ดี
ผมก็ขอแนะนำ ให้ฝึกรำมวยไท้เก็ก
หลักการ มวย Tai Chi ได้กล่าวถึง การฟัง เข้าใจ หล่อเลี้ยง
ฟังแรง (ที่คนร้าย ทำร้ายเรา) เข้าใจแรง และ หล่อเลี้ยง (นัวเนีย พัวพัน ดูแล ไม่ทำร้ายตอบ)
เราประยุกต์มาใช้ กับ การทำงาน กับครอบครัวได้ เวลา โดน กระแทกแรงๆ จาก คนรอบข้างเรา
« « Prev : อยู่รอด
Next : ถังแตก » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เก็บเกี่ยวข้อฝึกตน"