เยี่ยม

โดย สาวตา เมื่อ 30 กันยายน 2009 เวลา 22:52 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1414

เวลาทำงานคำว่า “เยี่ยม” มีหลายความหมาย จะแปลเข้าข้างตัวว่า เป็นคำชมก็ได้ จะใช้เป็นการปฏิบัติที่ทำให้ได้พบหน้าใครบางคนที่อยากพบก็ได้ จะเป็นการปฏิบัติโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อการตรวจสอบก็ได้ จะเป็นการปฏิบัติโดยบอกล่วงหน้าเมื่อเจอหน้าว่าขอตรวจสอบก็ได้ หรือจะเป็นการปฏิบัติโดยมีวัตถุประสงค์ของการแลกเปลี่ยนหรือสอนงานก็ได้ หลากหลายความหมายจริงเชียว  เห็นความงดงามของภาษาไทยเราแล้วภูมิใจนะ

เมื่อคืนก่อนเข้านอนก็มีคำตอบโผล่ผุดออกมาให้นิยามกับตัวเองว่า การผ่องถ่ายความรู้นี้เป็นการฝึกฝนบ่มเพาะหัวหน้างานให้เป็นผู้เยี่ยมสำรวจที่เก่งให้กับองค์กร และฝึกฝนการเชื่อมโยงบทบาทด้านการบริหารแนวดิ่งจากหัวหน้างานขึ้นไปสู่หัวหน้าเบอร์สองและเบอร์หนึ่งขององค์กรตามลำดับชั้น  น้ำหนักการตัดสินใจระหว่างหัวหน้าเบอร์สองต่างจากหัวหน้าเบอร์หนึ่งตรงที่ไม่ต้องตัดสินใจเกี่ยวข้องกับการพัฒนางานที่อยู่นอกการดูแลของตน เมื่อไรมีเรื่องนอกการดูแลของตน เรื่องราวจะถูกส่งข่าวใส่มือของเบอร์หนึ่งเพื่อจัดการให้

วันนี้ได้ทำความเข้าใจต่อว่าวิธีฝึกฝนให้คนใช้ความรู้ตามตำราที่ตัวคนถอดออกมาใช้งานเป็นประจำอยู่ทุกวันนำทิศ ใช้ความจริงที่ประจักษ์ต่อหน้านำทาง กิจกรรมอย่างที่เขียนไว้เป็นอย่างไรเป็นอย่างที่ความคิดทำนายไว้หรือเปล่า แล้วรู้สึกว่าได้เห็นอะไรบางอย่างเพิ่มขึ้นอีกในเรื่องกระบวนการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการจัดการความรู้แล้วเรียนรู้ตามของผู้ถูกฝึก

ได้เห็นวิธีฝึกมันคล้ายกับวิธีที่ครูใหญ่โรงเรียนมงคลวิทยาเล่าให้ฟังถึงวิธีฝึกนักเรียนของเธอเลยนะ นั่งดูแล้วนึกขำ อืม วิธีนี้ใช้กับผู้ใหญ่ก็ได้นะ ขอเพียงแต่ “ครู” ผู้ให้ มีวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง  ที่ขำคือวิธีสอน ที่ได้ยินครูพูดให้ฟังก่อน แล้วจึงป้อนคำถาม ทวนสอบการตามรับรู้ของผู้เรียน แล้วก็ให้ผู้เรียนท่องคำตอบตามคำสอนให้ฟังเหมือนกันทุกคำ วันละหลายๆครั้ง

อ่านแล้วอย่าเพิ่งเอ๊ะว่าแล้วคนถูกฝึกไม่จี๊ดหรือที่สอนกันอย่างนี้ จะบอกว่า มีผลปรากฏว่าคนเรียนผ่อนคลายไม่เครียดกันเลย แถมกลับไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กอีกครั้ง มีความสุขกับการเรียนกันซะอีกแนะ

ในแบบฝึกหัดที่ให้ฝึกทำการสำรวจ  มีคำถาม 1 คำถาม และคำตอบ 4 ประโยค โดย 2 ประโยคตั้งขึ้นใช้งานเองตามความรู้ในตัวคนที่มีอยู่แล้วและได้ทำความตกลงกันแล้ว

อีก 2 ประโยคได้มาจากของจริงที่ไปสำรวจแล้วตาเห็น คำตอบเขียนแค่สั้นๆ พบ-ไม่พบอะไร โดยไม่ใส่ความเห็น ความรู้สึกขยายไว้

กิจกรรมที่ให้ฝึกทำจะเป็นลักษณะของการรุมสำรวจ ประโยคที่ตั้งขึ้นใช้งานมาจากความเห็นของผู้รุมลงไปสำรวจประดิษฐ์ขึ้น ผู้ถูกรุมคือเจ้าของพื้นที่ที่ลงไปสำรวจ

ประโยคแรกที่ตั้งกันขึ้น เป็นสเป็คของคุณภาพที่ต้องการ ซึ่งสามารถมองเห็นประจักษ์ด้วยตา เช่น รถพร้อมใช้สำหรับเดินทางทันที

ประโยคที่สี่กำหนดวิธีที่จะทำให้คุณภาพเกิดขึ้นได้จริง ที่ไม่ต้องอธิบายก็สามารถใช้มือจับต้องและตามองเห็นได้ เช่น ให้ตรวจสอบรถทุกวัน

สองประโยคกลาง ไปดูของจริงแล้วนำมาเปรียบเทียบกับประโยคทั้งสอง ถ้าหากตรงกันถือว่า ผ่านคุณภาพในระดับที่ต้องการแล้ว

เช่น ไปดูรถจริง ประโยคที่สองบันทึกว่า พบ-มีน้ำมันเต็มถัง  คนขับรถรออยู่ใกล้รถ  ประโยคที่สามบันทึกว่า ไม่พบบันทึกเวลาตรวจรถในระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2552

รุมสำรวจเสร็จกันแล้ว ผู้เยือนจะแจ้งผู้เหย้าให้รับรู้สิ่งที่พบพร้อมความเห็นว่าผ่าน-ไม่ผ่าน  หากไม่จริงผู้เหย้าเพียงแค่ไม่ลงนามรับรู้การสำรวจให้ก็เป็นอันรู้กันว่าไม่ยอมรับว่าบันทึกไว้ตรงจริง

“ครู” ให้แบบฝึกหัดว่าให้ทำวนเวียนอย่างนี้ทุกวัน แต่แลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทำให้ครบทุกร.พ.

เล่าเรื่องมาคร่าวๆให้พอเห็นภาพเงาๆว่าเขาทำอะไรกัน สำหรับสิ่งที่ฉันรับรู้จากการนั่งฟังร่วม ฉันได้มุมมองอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมคนแฮะ

ฉันเห็นว่าวิธีฝึกอย่างนี้ทำให้คนที่ไม่คุยกันหันมาคุยกันและแลกเปลี่ยนความรู้กัน กระบวนการนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้สำรวจและผู้เหย้านั่งคุยกันเพื่อกำหนดประโยคแรกและประโยคที่สี่ด้วยกันนั่นแหละ  แล้วต่อจากนั้นก็ยังเห็นกระบวนการของการยอมรับการถูกตรวจสอบอย่างไม่กลัวเสียหน้าซะด้วย

เวลาที่ไปสำรวจแล้วมีคำตอบว่าไม่ผ่าน ก็มีกติกาให้ผู้ที่สามารถทำได้ดีในกลุ่มผู้สำรวจผ่องถ่ายวิธีการให้ผู้เหย้าได้รู้ด้วย เพื่อว่าครั้งหน้าเมื่อมาสำรวจใหม่จะได้เห็นความเปลี่ยนไป

เป็นอะไรที่รอดูการเปลี่ยนแปลงอยู่เงียบๆ น่าสนใจวิธีฝึกคนให้เปลี่ยนแปลงตัวเองวิธีนี้เหมือนกัน

ที่นำมาบันทึกเอาไว้ก็ด้วยมันเป็นวิธีการเพื่อนช่วยเพื่อนในอีกรูปแบบที่เพิ่งเคยเจอ แล้วมันยังแฝงด้วยวิธีการจัดการความรู้ในตัวคนที่ง่ายๆและชัดเจนดีซึ่งใช้การสนทนาเป็นเครื่องมือเช่นกัน

ที่ฉันสนใจมากกว่าก็คือ ผู้ที่เคยผ่านมาก่อนอย่างผู้ช่วยครู เธอบอกว่า เมื่อเข้าใจวิธีการแล้ว เธอได้นำไปใช้กับชีวิตครอบครัว แล้วมันส่งผลที่น่ามหัศจรรย์ให้กับเธออีตรงที่ เรื่องขัดแย้งและง่องแง่งในครอบครัวของเธอหดหายไป ความสุขได้กลับคืนมาสู่อย่างที่เธอก็ทึ่งกับมัน เธอเล่าว่าประสบการณ์ที่เธอคลุกคลีเรียนรู้กับเรื่องราวการพัฒนารูปแบบนี้นาน 7 ปีแล้ว และเธอคนนี้เกษียนอายุราชการแล้วค่ะ

น่าสนใจติดตามดูมั๊ยละ หลักสูตรนี้เธอเรียกมันว่า “การประเมินคุณภาพสิ่งส่งมอบ” ค่ะ

30 กันยายน 2552

บันทึกอื่น

เตือนใจ”หน่วงไว้”

« « Prev : เตือนใจ “หน่วงไว้”

Next : อยู่รอด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เยี่ยม"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.030526161193848 sec
Sidebar: 0.15301585197449 sec