เตือนใจ “หน่วงไว้”

โดย สาวตา เมื่อ 30 กันยายน 2009 เวลา 0:30 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 2435

วันนี้รู้สึกว่าได้ตั้งหลักกับอะไรบางอย่างที่กระตุกให้หันไปมองวิธีผ่องถ่ายความรู้จากผู้สอนไปสู่ผู้เรียนเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพ ถ้ารักจะเรียกตามภาษาเดิมๆในด้านการศึกษาว่า”วิธีสอน” ก็ว่าได้(มั๊ง)

เรื่องของเรื่องคือมีผู้ปรารถนาดีจัดหลักสูตรให้มีการรวมหัวกันของร.พ. 8 แห่งในกระบี่นี่แหละ ช่วยกันเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพของร.พ.ในลักษณะของเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง โดยวางเป้าไว้ที่การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยวิธีที่แตกต่างไปจากเดิมๆ

จะว่าไปแล้วการพัฒนาคุณภาพร.พ.ตามแบบที่ทำๆกันอยู่โดยสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพร.พ. (พรพ.) ซึ่ง ณ เวลานี้เปลี่ยนตัวเองเป็นองค์การมหาชนและมีชื่อใหม่ว่า สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สพช.) ก็มีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาภาวะผู้นำเช่นกัน

จากการสัมผัสสั้นๆเพียง 2 ครั้งกับวิธีการผ่องถ่ายความรู้ของหลักสูตรที่กำลังดำเนินอยู่ ณ เวลานี้ และจากความคุ้นเคยที่พอเข้าใจวิธีการผ่องถ่ายความรู้ที่ดำเนินมาอยู่นานแล้วของ สพช.  ฉันว่าทั้ง 2 หลักสูตรให้ความสำคัญกับพื้นฐานศรัทธาที่ผู้คนมีอยู่ต่อตัวเอง

ความเหมือนของทั้ง 2 หลักสูตรในการประเมินศรัทธาที่ผู้คนมีให้กับตัวเองอยู่ที่ การให้อิสระในการชี้ทิศและขับเคลื่อนกระบวนงานไปสู่คุณภาพด้วยตัวเอง  ด้วยความมั่นใจว่า องค์กรที่นำพาตัวเองเข้าสู่กระบวนการพัฒนานั้น มีผู้คนศรัทธาต่อการทำงานตามหน้าที่ของตัวเองและพร้อมที่จะส่งมอบผลงานที่ดีให้กับผู้รับผลงาน

ความเหมือนอีกมุมของทั้ง 2 หลักสูตรก็คือ การให้น้ำหนักกับความสามารถของคนด้านการจัดการความรู้

หลังการผ่องความรู้เพื่อให้ผู้คนนำไปสู่การจัดการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ตนปรารถนา ทั้ง 2 หลักสูตรต่างได้มอบตำราให้ผู้รับความรู้ในลักษณะแกล้งทำข้อสอบรั่วก่อนวัดผลการพัฒนา

หลักสูตรทั้ง 2 ล้วนการมองความสามารถของคนด้านการบริหารงานเป็นเป้าหมาย

ในความเห็นของฉัน หลักสูตรการพัฒนาแบบสพช. ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นว่า คนพัฒนาความเก่งได้ด้วยตัวเองจากการอ่าน คิดวิเคราะห์แล้วลงมือพัฒนา แล้วเมื่อนั้นคุณภาพจะเกิดขึ้นได้เองจากการจัดการความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวคน เป็นการจัดการความรู้แบบผสมผสานกับความรู้สึกว่า “ทิศนี้ใช่เลย” อะไรอย่างนั้น (เป็นการจัดการที่มีอารมณ์ผสมปนเปความรู้)

ส่วนหลักสูตรแบบหลัง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นว่า คนมีความเก่งอยู่ในตัวอยู่แล้วทุกคน แต่การพัฒนาต้องการฝีมือในการจัดการ หากคนไม่เก่งในการจัดการ การพัฒนาจะเกิดคุณภาพไม่ได้ ฉะนั้นจะให้เกิดการพัฒนาได้ คนพึงมีความสามารถในการจัดการที่ดี และละซึ่งความรู้สึกต่อสิ่งที่ลงมือจัดการ (เป็นการจัดการแบบหุ่นยนต์ที่มีชีวา)

ถ้าถามความเห็นของฉันว่า หลักสูตรทั้ง 2 อย่าง หลักสูตรไหน คนทำหน้าที่ผ่องถ่ายความรู้จะทำงานง่าย  ฉันว่าหลักสูตรของ สพช. คนทำหน้าที่สอนทำงานง่าย  ชวนคนรับความรู้ไปสนทนาด้วยกันสักวันสองวันแล้วมอบตำราให้ เท่านั้นแหละจบการผ่องถ่ายความรู้รอบแรกไปแล้ว  การสอนจึงไม่ต้องการเวลาสักเท่าไร ไม่ใคร่ได้เห็นการบริหารสติของผู้สอนสักเท่าไร ไม่ใคร่ได้เห็นและสัมผัสว่าผู้สอนได้มีการประเมินผลการผ่องถ่ายความรู้ของตัวเองสักเท่าไร

สิ่งที่ต้องใช้เวลามากของผู้สอนอยู่ตรงการเขียนตำราขึ้นมาใช้สอน เหมือนอย่างบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลายอย่างไรอย่างนั้น

ส่วนเจ้าหลักสูตรหลังนี่ คนทำหน้าที่สอนได้ให้เวลากับผู้รับความรู้ ให้้มีเวลาย่อยสิ่งที่เรียนในระหว่างการสอน ผู้สอนจึงต้องการเวลามากในการเดินทางร่วมกันไปในระหว่างการผ่องถ่ายความรู้ ได้เห็นบรรยากาศของการบริหารสติของผู้สอน ได้เห็นและสัมผัสว่าผู้สอนมีการประเมินผลการผ่องถ่ายความรู้ของตนอย่างต่อเนื่อง

นับว่าโชคดีหลังจากได้มีโชคได้พบพานกับกัลยาณมิตรเหล่าชาวเฮอีกครา ที่ได้พบและได้เรียนรู้ความเป็น “ครู” อีกรูปแบบหนึ่ง

สิ่งที่กระตุกให้คิดก็คือ เมื่อต้องรับบท “กระบวนกร” คุณลักษณะของผู้สอนแบบใดฤาที่เราพึงถือเป็นเยี่ยงอย่าง

มุมมองบางอย่างที่ได้คลี่ออกมาให้เห็นในวันนี้ ให้คำตอบว่าเหตุใดรูปแบบการเรียนการสอนที่มีมาเนิ่นนาน จึงมีพิมพ์นิยมแบบใช้เวลาน้อยๆ ใส่เนื้อหาเยอะๆ มอบเนื้อหาให้แล้วผู้สอนก็ถือว่าได้ทำหน้าที่สอนให้แล้ว ซะมากกว่าพิมพ์นิยมอื่น

ได้มองเห็นมุมของการบริหารการ “หน่วงให้ช้าลง”  เพื่อผลสัมฤทธิ์ของการผ่องถ่ายความรู้ที่เข้ามาสะกิดให้มองเห็นความยืดหยุ่นอะไรบางอย่างที่ควรเติมใส่เข้าไปหากรับบทเป็นผู้ผ่องถ่ายความรู้สู่คนรับความรู้ที่ปิดหูอยู่ตลอดเวลาในระหว่างกระบวนการเรียนรู้อีกด้วย

ข้อสรุปนี้เพียงสรุปไว้เพื่อบอกตัวเองว่าแวบอะไรขึ้นมาในห้วงคิดของวันนี้  ใช่-ไม่ใช่ ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่อยากเขียนไว้เท่านั้นเองว่า

หลักสูตรการพัฒนาคุณภาพของ สพช. ฝึกคนให้คิดนอกกรอบ โดยใช้ความฝันนำทิศ  ใช้ความรู้ในตัวคนนำทาง  ผู้บริหารที่คิดนอกกรอบ หรือชำนาญวิธีการจัดการจะชอบการพัฒนาแบบนี้ แต่จะเหนื่อยมากหน่อยกับการติดตามความคิด ความฝันของลูกน้องให้ทัน มีลูกน้องฝันเก่ง ความรู้ไม่พอ เหนื่อยนะ ยิ่งลูกน้องฝันเก่ง ความรู้ดียิ่งเหนื่อยเข้าไปใหญ่ การพัฒนาแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ชอบงานบริหารที่ไม่ยึดติดกับตัวเลขกะปิ ที่หยิบกะปิดีขึ้นมาใช้เองเป็น

ส่วนหลักสูตรที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ฝึกคนให้คิดในกรอบ โดยใช้ความรู้ตามตำราที่ตัวคนถอดนำมาใช้เป็นประจำนำทิศ ใช้ความจริงที่ประจักษ์ต่อหน้านำทาง ผู้บริหารที่ไม่มั่นใจว่าจะตามทันการคิดนอกกรอบจะชอบการพัฒนาแบบนี้  การพัฒนาแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ถนัดทำงานวิชาการอย่างยิ่ง และเหมาะกับผู้บริหารที่ยึดติดกับตัวเลขกะปิ หยิบกะปิขึ้นมาใช้เองแต่ละที ก็เป็นกะปิเดิมๆที่ไม่ยืดหยุ่นสักกะที

« « Prev : อ่านแล้วอารมณ์ดี

Next : เยี่ยม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เตือนใจ “หน่วงไว้”"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.032735109329224 sec
Sidebar: 0.1610209941864 sec