ตอบเบิร์ด..

2317 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 กุมภาพันธ 2012 เวลา 21:44 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 56275

“พี่บู๊ทคะ เวลานักพัฒนาอย่างพี่บู๊ทมองย้อนหลัง แล้วเทียบสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พี่บู๊ทคิดยังไงบ้างคะ เคยคิดมั้ยว่าเป็นตามที่เราฝันหรือเปล่า”

เป็นประเด็นที่ค้างการตอบไว้ วันนี้พอมีเวลาครับ

พี่มีข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า สังคมเคลื่อนตัวไปตลอด งานพัฒนาชนบทที่ทำมานั้นก็เคลื่อนตัวไปตามสังคมที่เคลื่อนไป ซึ่งการเคลื่อนตัวของสังคมนั้นเป็นพลังที่ทำให้ทุกอย่าง “ลู่ตามลม” พลังของการเคลื่อนตัวของสังคมหากมีพลังมากก็จะพาให้ปัจจัยต่างๆของวิถีชีวิตของคนในชนบท ถูกกระแสสังคมพัดพาไป มากน้อยแล้วแต่ความมั่นคงของสำนึก และการรู้เท่าทัน กระแสสังคมมีทั้งสิ่งดีดี และสิ่งที่ซ่อนมากับความทันสมัย ค่านิยม ใครๆก็มี ใครๆก็ทำกัน ซึ่งมีพลังแรงมาก คนในสังคมชนบท หรือที่ไหนๆมีแรงต้านพลังนี้แตกต่างกัน เด็กวัยรุ่นในชุมชน หากไม่มีปัจจัยสร้างให้สำนึก เขาก็ง่ายที่จะไหลตามกระแสบริโภคนิยม เช่น มือถือ มอเตอร์ไซด์ การแต่งตัว คำพูด กิจกรรมที่ทำ ฯลฯ งานพัฒนามักจะไม่ได้ทำหน้าที่สร้างพลังของการรู้เท่าทันมากนัก ไปทำกิจกรรมเพื่อสร้างความมีอยู่มีกินเสียมากกว่า

หากจะถามว่าแนวคิดในงานพัฒนาเปลี่ยนไปไหม เปลี่ยนครับ แนวคิดในงานพัฒนาก็พัฒนาตัวมันเองไปตลอด ละเอียดมากขึ้น แต่ก็ขึ้นกับตัวนักพัฒนา เจ้าของโครงการ สาระที่ทำงาน นักพัฒนาบางคนสนใจงานวัฒนธรรม ก็จะเล่นแต่วัฒนธรรม ด้านอื่นสนใจแต่ให้น้ำหนักน้อย เช่นเดียวกัน ใครที่สนใจสิ่งแวดล้อมก็เล่นแต่สิ่งแวดล้อม งานสตรี งานเด็ก งานสุขภาพ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ทั้งๆที่วิถีชีวิตนั้นประกอบด้วยทุกส่วน แต่งานพัฒนาทำเพียงบางส่วนเท่านั้น

งานสมัยก่อนไม่มีประเด็น Gender และสิ่งแวดล้อมมากนัก พี่พูดถึงสมัยปี 2518 ที่พี่เริ่มเข้ามาทำงาน องค์ความรู้เรื่องการทำงานพัฒนา นำเข้าจากต่างประเทศด้วยซ้ำไป เช่น ฟิลิปปินส์ก็คือ PRRM ของ ดร.เจมส์ ซี เยน ที่ ดร.ป๋วยนำหลักการมาทำที่ชัยนาท อันเป็นสถานที่ที่ท่านโดดร่วมลงมาสมัยท่านเป็นเสรีไทย และชาวบ้านที่วัดสิงห์ช่วยชีวิตท่านไว้ ท่านจึงกลับไปทำงานพัฒนาชนบทที่นั่น อิสราเอลก็หลักการคิบบุช และโมชาบ แม้เกาหลี ก็หลักการแซมาเอิน อันดง และศรีลังกาก็คือ หลักการซาโวดายา

NGO เมืองไทย “บูม” มากๆก็หลัง 14 ตุลา เพราะนักศึกษาที่มีอุดมการณ์แห่กันไปทำโครงการพัฒนาชนบทกันมากมายจนถึงปัจจุบัน

ที่ธรรมศาสตร์มีโครงการบัณฑิตอาสาที่ ดร.ป๋วยจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก และแนวคิดนี้ก็ขยายไปในหลายมหาวิทยาลัย เช่น จุฬา ขอนแก่น เป็นต้น มีการเปิดภาควิชาพัฒนาชุมชน ต่อยอดจากคณะสังคมสงเคราะห์ ของธรรมศาสตร์ ทำให้มีบัณฑิตจบออกไปทำงานพัฒนามากขึ้นทุกภูมิภาค และทำให้กระบวนการทำงานพัฒนาในเมืองไทยก้าวกระโดดมาก เป็นตัวของตัวเองมากกว่าจะไปเรียนมาจากต่างประเทศเหมือนยุคก่อน มีการตั้ง กป.อพช. หรือคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งพี่เป็นชุดก่อตั้งในสมัยนั้นด้วย

วงการพัฒนาก้าวไปทำเรื่องการพึ่งตนเอง เกษตรธรรมชาติ ตามแนวคิด ฟูกูโอกะ เกษตรอินทรีย์ สตรี เด็ก คนพิการ เกิดโรงเรียนที่แหวกกฎกระทรวง เช่น หมู่บ้านเด็กที่กาญจนบุรี การเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง ฯลฯ

เมื่อมองย้อนหลังสะเมิง สิ่งที่สะท้อนเห็นๆและบอกได้ว่านั่นคือ impact ของงานพัฒนาที่เราทำกันมาคือ

  • สมัยนั้นเรามีการฝึกผู้นำชาวนา โดยการรับมาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ สมัยนั้น ดร.ครุย บุญสิงห์ สามีอาจารย์เต็มศิริ บุญสิงห์ ที่โด่งดังในการรับเชิญไปแสดวความเห็นบนจอทีวีสมัยสามสิบปีที่ผ่านมา และเราเอาชาวบ้านหนุ่มๆมาทำวานกับพวกเราโดยมาฝึกให้เป็นผู้รู้เรื่องเครดิตยูเนี่ยน และให้เขาออกไปเป็นพี่เลี้ยงให้ชาวบ้าน เราพบว่า บุคลากรเหล่านี้มากกว่า ร้อยละ 80 มาเป็น พ่อหลวง(ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นแคว่น(กำนัน) ในปัจจุบันมากมาย แม้คนขับรถของเราก็เป็นกำนัน และมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน เด็กหนุ่มสองคนที่เราจ้างมานั้นกลายเป็น นายกองค์การบริหารส่าวนตำบล หากถามว่าเพราะอะไร ตอบแบบเข้าข้างตนเองโยยังไม่ได้ทำการวิจัยคือ เขาถูกฝึกอบรมให้มีแนวคิดในการพัฒนาในด้านต่างๆมากมายตลอดสามปีทุกเดือน ความคิดต่างๆที่ได้ เขาได้ใช้แสดงบทบาทในชุมชนของเขาเอง ออกความเห็น เสนอแนะ และสร้างกิจกรรมต่างๆขึ้นเองในชุมชนของเขา ต่อมาเขาจึงถูกเสนอชื่อให้ขึ้นเป็น พ่อหลวง และกำนัน เพราะเขาคลุกคลีกับเรา และเราก็กรอกหูเรื่องงานพัฒนาทุกวัน เขาจึงซึมซับแนวคิดเหล่ารี้ไปไม่มากก็น้อย แล้วเอาไปใช้จริงๆ เกือบทุกหมู่บ้าน อย่างน้อยที่สุด สมาชิก อบต. ก็แนคนเดิมๆเหล่านั้นของเรา
  • สิ่งที่เราประทับใจมากประการหนึ่งคือ สมัยนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนของโครงการจะต้องไปรับการฝึกอบรมที่ โครงการบูรณชนบทที่ชัยนาท อันเป็นโครงการของ ดร.ป๋วยดังกล่าว เราจำลองกิจกรรมหลายกิจกรรมจากชัยนาทไปใช้ที่สะเมิง เช่น ที่ชัยนาทมี Buying club หรือร้านค้าชุมชน เราก็เอาไปใช้ที่สะเมิง และเติบโตจนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านดำเนินการเอง ถือหุ้นกัน ทำบัญชีเอง ประชุมเอง ซื้อสินค้ามาจำหน่ายเอง… ที่แอบบภูมิใจมากๆคือ มีการทำกลุ่มออมทรัพย์ แต่เราเลือกใช้กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน เพราะเราไปฝึกอบรมเรื่องนี้มาจากสันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย สมัยนั้นยังขึ้นกับสภาแคทอลิคแห่งประเทศไทยโยมีคุณพ่อบุญเลื่อน มั่นทรัพย์เป็นผู้นำเข้ามาในเมืองไทยและเริ่มแรกที่สลัมคลองเตย …เราศรัทธาหลักการและกระบวนการ จึงเอาไปใช้ในชุมชนสะเมิงที่เป็นป่าเขา ซึ่งพี่เองเป็นผู้รับผิดชอบในการอบรม จัดตั้ง ประชุม ทำบัญชี ฯลฯ ตั้งแต่เริ่มจนเป็นกลุ่มขึ้นมา ใน 24 ชุมชน 4 ตำบล ทำไป ไม่แน่ใจไปเพราะเป็นชุมชนเกษตรกรรม ไม่มีเงินเดือนมีแต่เงินตามฤดูกาล แล้วจะเงินที่ไหนมาสะสมกันทุกเดือนๆ น้องเบิร์ด ปัจจุบันกลุ่มทั้งหมดรวมตัวกันเป็นกลุ่มระดับตำบล และแต่ละกลุ่มมีเงินหมุนเวียนนับสิบล้านบาท ที่มากที่สุด 46 ล้านบาท พี่ได้ยินเมื่อปีใหม่ ก็ตกใจว่าเป็นไปได้อย่างไรกัน จากการที่สะสมกันมาคนละ 5 บาท 10 บาทแต่ละเดือนนี่นะ… กลุ่มยังขยายการบริการสมาชิกจากสะสม กู้ ขยายเป็นจัดกำไรเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกในรูปแบบต่างๆ เช่น ตาย ป่วย เกิด ได้เงินจำนวนหนึ่ง และอื่นๆอีก กลุ่มก็โตเอาโตเอา ปรับระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกับสภาพแบบปัจจุบันมากขึ้น ใครอยากซื้อรถ มากู้เอาเงินสดไปเลย แล้วผ่อนกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนดอกเบี้ยถูกๆ
  • ผลกระทบทางเสียก็มี คือ มีผู้นำที่ทำงานคู่กับเราคนหนึ่ง ทั้งสามี ภรรยาทุ่มเทการทำงานให้กับชุมชนมากเกินไป เราก็ไม่เอะใจ เราพบว่าฐานเศรษฐกิจครอบครัวเขาพังลงไป เพราะ ทั้งสามี และภรรยามีบทบาทมากในการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน ตามที่โครงการพัฒนาชนบทมีกิจกรรมในบ้านนั้นๆ ทำให้เขาไม่มีเวลาสำหรับกิจกรรมส่วนตัว ไร่นาพังเป็นแถบๆเมื่อเจ้าของนาเอาแต่ตระเวนไปประชุมที่นั่นที่นี่ เศรษฐกิจครอบครัวพังลง เขาไม่อาจทำงานเสียสละต่อไปได้ เขาต้องหอบครอบครัวออกมาในเมืองเชียงใหม่เพื่อฟื้นเศรษฐกิจโดยการมาเปิดร้านขายอาหารที่หน้าแม่โจ้
  • มีกิจกรรมหนึ่งที่เราเสียใจมากคือ วัยรุ่นสตรี มีความสนิทสนมกับเรามากเพราะเราไปกินนอนบ้านชาวบ้านทุกครั้งที่เดินทางเข้าพื้นที่ ตระเวนไปประชุมที่นั่นที่นี่ เรามีความคิดที่จะสอนให้เขารู้ว่า การหนีออกจากหมู่บ้านไปเมืองเพื่อขายตัวหรือไปทำงานบริการต่างๆในเมืองนั้น ไม่ดี อันตราย จึงพาเยาวสตรีจำนวนหนึ่งเดินทางเข้ากรุงเทพฯไปดู อาบอบนวด สถานที่บริการต่างๆที่เป็นเด็กสาวภาคเหนือลงมาทำงานเอาเงินเดือน ไปคุยกับรุ่นพี่พี่ที่เขามาก่อนว่า ลำบากแค่ไหน ข้าวของราคาแพง และเสี่ยงต่อโดนถูกหลอก ดูไปสรุปควาคิดเห็นกันไป แล้วต่อมาเราทราบว่า เด็กสตรีที่อยู่ในกลุ่ม จำนวน 3 คนแอบออกจากชุมชนกลับไปกรุงเทพฯเพื่ออยากทำงานแบบรุ่นพี่ เราวุ่นวายกันใหญ่กว่าจะเอาตัวกลับมาได้ เรื่องนี้ไปตรงภาษิตที่ว่า ชี้โพรงให้กะรอก…

สรุปว่ามีทั้งที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และไม่สำเร็จตามประสงค์และที่ไม่คาดคิดที่ดีและไม่ดีครับ สิ่งที่น่าสนใจคือ พี่เสนอให้ทำการโครงการมาประเมิน Development Impact หรือ After Project ครับ อยากเห็นกระบวนการปรับตัวของชุมชนในกิจกรรมต่างๆที่โครงการสมัยก่อนได้ทำไว้ เพราะอะไร อะไรเป็นปัจจัย ฯลฯ อยากเห็นพัฒนาการของความคิดของผู้นำ และชาวบ้านหลังโครงการสิ้นสุดลง ฯลฯ



Main: 0.55739998817444 sec
Sidebar: 0.30438613891602 sec