14 ตุลาของบางทราย

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 ตุลาคม 2010 เวลา 16:37 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 864

นับได้ 37 ปีที่ผ่านมาครบวันที่ 14 ตุลาคม อีกรอบหนึ่ง นึกย้อยไปผมยังไม่เดียงสานักในหลายด้าน แต่หัวใจรักความยุติธรรม เกรียดการเอารัดเอาเปรียบ และอยากเห็นบ้านเมืองอยู่กันอย่างมีความสุข จะเรียกอุดมคติหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมก็ว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในทุกทั่วตัวคน เพียงแต่ไม่ได้กล่าวออกมาเท่านั้น

“คนเหมือนกันแต่โอกาสทำให้คนต่างกัน” นี่คือคำกล่าวของพวกเราสมัยนั้น เราจึงไม่รอคอยโอกาสแต่แสวงหามัน สร้างมันขึ้นมา เราทำในสิ่งที่นักศึกษาผู้มีหัวใจบริสุทธิ์พึงจะคิดได้ทำได้ โดยมีรุ่นพี่คอยให้ความรู้ความเข้าใจ มีอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนคนหนุ่มรุ่นใหม่ทำกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม


สิ่งแรกๆที่ทำได้เลยทันทีคือการศึกษาโลก โดยการอ่านหนังสือหลักคิดต่างๆ เชิญผู้รู้มาพูดมาเคาะกะโหลก จนกระทั่งจัดเวทีอภิปราย ใครมีความสามารถทางการพูดก็ขึ้นเวที ใครพูดไม่เก่งก็อยู่เบื้องหลัง ช่วยโน่นช่วยนี่ แล้วก็ชวนกันออกชนบทกัน

แม้ว่าจะมีการออกค่ายพัฒนาชนบทอยู่แล้วแต่เรามองว่านั่นเป็นแค่การไปสงเคราะห์ การพัฒนาจริงๆต้องพัฒนาคน ความคิด ระบบคิด ควบคู่ไปกับกิจกรรมในวิถีประจำวัน ใครๆเขาเรียกกลุ่มนี้ว่าพวกบ้ากิจกรรม พวก Activist หนักเข้าก็เรียกพวกซ้าย ทำอะไรก็ขวางๆสังคมสมัยนั้น เช่นเขาสนุกกับการเต้นรำ ก็ไปพังงานเขาซะ สมัยนั้น เดป กับ มอส ดังระเบิดเถิดเทิง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ค่าตัวแพงที่สุด เราก็ต่อต้าน ทั้งๆที่หลายคนก็แอบชื่นชอบอยู่ลึกๆ นึกย้อนไปก็ขำๆ หากมองอย่างเป็นหลักการก็คือ เขากำลังปรับเปลี่ยนซึ่งต้องใช้เวลาบ้าง มากน้อยต่างกัน เพียงแต่ว่า รวมๆแล้วคิดเหมือนกัน ใกล้เคียงกัน ก็จูงมือกันมาทำกิจกรรม แต่รายละเอียดยังแอบใส่กางเกงเดฟ กางเกงมอสอยู่เล้ยยยยย ห้า ห้า ห้า..

การอ่าน และแลกเปลี่ยนกันดูจะดุเดือดมาก ทุกเทอมเราจะมี “ค่ายศึกษา” ไม่ได้ไปสร้างส้วม สร้างโรงเรียนอะไรที่ไหน แต่ไปตั้งค่ายใช้แรงงานกับชาวบ้านแล้วก็มีเวลามาแลกเปลี่ยน พูดคุยกันในประเด็นต่างๆ มีรุ่นพี่พี่ที่เขาเจ๋ง มาเป็นหลักในการนำการพูดคุย บ่อยครั้งก็เชิญวิทยากรดังๆจากกรุงเทพฯไปพูดคุยกับเรา ไม่ว่าจะเป็น พี่อนุช อาภาภิรมย์ พี่วิทยากร เชียงกูร เจ้าของกวีอมตะ ..ฉันจึงมาหาความหมาย…. อาจารย์ผสม เพชรจำรัส แม้สองกุมารสยาม เจ้าของมติชนในปัจจุบันนี้ มิต้องพูดถึง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ธีรยุทธ์ บุญมี… ฯลฯ

เป็นการลับสมองในเรื่องสังคม เรื่องบ้านเมือง มากกว่าเรื่องส่วนตัว ทำให้เรามองดูเด็กที่แตกต่างออกไปไร้สาระ แต่ก็เข้าใจ เพราเราเรียนในสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เราสัมผัสชุมชนตั้งแต่เกิดและย้ำลงไปด้วยระบบคิดเมื่อเราออกไปช่วยชาวนาชาวไร่มากกว่าจะจับคู่กันถลุงเงินพ่อแม่ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง

มิได้อวดตัวว่าทำดีทำถูก หลายอย่างก็สลัดคราบวัยรุ่นไม่หมดหรอก เช่นกินเหล้า ดูดบุหรี่ แอบฟังเพลงเดอะ บิทเทิ้ล เดอร์-คาร์เพนเทอร์ ฯลฯ แม้เหร่สาวๆที่ถูกใจ จนกระทั่งจับคู่กันไปจนอยู่กินด้วยกันจนปัจจุบันก็มีหลายคู่ แต่รับผิดชอบกันดี มิเช่นนั้น ถูกวิภาควิจารย์ไม่ได้ผุดได้เกิด

เมื่อการกวาดล้างเกิดขึ้น กลุ่มทั้งกลุ่มก็เข้าป่า จูงมือกันไปสายใครสายมัน หลุดรอดเรามาได้ก็เพราะเราจบแล้ว ทำงานชนบทแล้ว เขาหาตัวเราไม่พบ เลยอดเข้าไปเลย เวลาถัดมาเขาออกมาตามหาจนพบ แต่บอกว่า ไม่ต้องเข้า ทำงานแบบนี้มีประโยชน์ต่อสังคมดีแล้ว

น้องๆ พี่ๆ สละชีพไปหลายคน คิดถึงไอ้เติบ ตานี เขาเป็นน้องที่คณะ เป็นคนปัตตานี เรารักใคร่กันมาก เติบ เป็นคนตรงไปตรงมาตามนิสัยคนใต้ สนใจไฝ่รู้และจริงจังทุกอย่าง น้องสละชีพเพราะพกระเบิดในป่าแล้วเกิดพลาด กว่าจะเอาศพออกมาได้ ก็หลายสิบปี พี่น้องต้องเดินหาที่ฝังศพแล้วขุดเอากระดูกมาทำพิธีกรรมทางศาสนาให้

ต่างคนต่างเลือกเส้นทางที่ตนเองชอบ ถนัด หลายคนเป็นนักการเมืองทั้งเหลืองทั้งแดง กล่าวถึงไปบ้างแล้ว บางคนเป็นพ่อค้าเล็กๆเงียบๆ แต่มีกิจกรรมที่สนับสนุนพี่น้องที่เคยไปขออาศัยข้าวปลาอาหารกินสมัยอยู่ป่า บางคนมุ่งหน้าเรียนจนจบเมืองนอกเมืองนาเป็นครูบาอาจารย์โด่งดัง

ส่วนผมพึงพอใจที่จะเดินบนเส้นทางชนบทต่อไป

14 ตุลาสร้างให้ผมเกิดมาอีกครั้งในมุมจิตสำนึกเล็กๆ

ก็ขอจบสิ้นที่มุมนี้ก็แล้วกัน

รำลึกถึงอุดมการณ์ 14 ตุลา..


ข้าวกับโรงเรียน

243 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 ตุลาคม 2010 เวลา 8:29 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 10243

 

 

การประชุมพี่น้องโส้ครั้งนั้น คุยกันว่า

วันนี้ชาวบ้านเตรียมจักตอกเพื่อใช้มัดข้าวในนาที่กำลังจะต้องเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว

ข้าวมีหลายประเภท ข้าวที่เก็บเกี่ยวก่อนเรียก “ข้าวไร่”

ถัดมาที่ต้องเก็บเกี่ยวเรียงไปคือ “ข้าวดอ”

แล้ว “ข้าวกลาง” และที่ล่าที่สุดคือ “ข้าวนาปี”

พี่น้องโส้คนหนึ่งพูดมาว่า

…ตอนนี้ปิดเทอมเด็กเต็มบ้าน พอจะเกี่ยวข้าวโรงเรียนก็เปิด แทนที่จะได้อาศัยแรงงานเด็กบ้างก็กลายเป็นภาระต้องดูแลลูกก่อนไปโรงเรียนอีก งานในนาก็ยุ่ง ทำไมไม่ปิดโรงเรียนให้สอดคล้องกับการทำนา ถามกระทรวงศึกษาหน่อยซิอาจารย์…

…แต่ก่อนเราหยุดวันพระ เพื่อให้ชาวบ้านไปทำบุญกัน

ทุกวันนี้เราหยุดเสาร์ อาทิตย์ นี่ไงเล่าเด็กมันถึงห่างวัด ห่างธรรม…

…การจัดการศึกษานี้เอาอะไรมาเป็นตัวตั้งล่ะ

ไหนบอกว่าเอาท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง…

 

อือ…น่าคิด



Main: 0.3127338886261 sec
Sidebar: 0.59466505050659 sec