ภาพเก่าเล่าเรื่อง 14 ในหลวงกับสะเมิง

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 1549

พื้นที่ไกลปืนเที่ยงอย่างสะเมิงนั้น สุขภาพชุมชนย่อมด้อยไปเสียทุกด้าน ยิ่งสารเคมีเข้ามากับการส่งเสริมการเกษตรแบบใหม่ กับความไม่เท่าทัน ไม่ระมัดระวังเท่าที่ควรของเกษตรก็ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพมาก


ปี 2518 นั้นโรคคอพอกยังมีจำนวนมาก Mr Klaus Bettenhausen ผู้แทนองค์กรที่ทำงานอยู่จึงติดต่อขออาสาสมัครหมอมาจากเยอรมัน แล้วร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการของสมเด็จย่า จึงเกิดแพทย์อาสาในพื้นที่สะเมิงขึ้น มีการบริการสุขภาพเกือบทุกด้านที่สามารถทำงานได้ในระดับสนาม


พวกเราก็ช่วยเรื่องการประสานงาน การจัดการต่างๆ การอำนวยความสะดวกให้คณะแพทย์ พยาบาลทุกสาขาได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ

งานด้านนี้เป็นเหมือนสงเคราะห์ ซึ่งยุคนั้นเป็นช่วงรอยต่อระหว่างงานพัฒนาแบบสงเคราะห์กับการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งเราก็ทำควบคู่กันไป

สะเมิงแห่งนี้เกี่ยวข้องกับในหลวงของเรามาก โดยพระองค์เสด็จออกเยี่ยมเกษตรกรหลายครั้ง ทุกครั้งพระองค์จะเสด็จลงเดินไปตามหมู่บ้านเยี่ยงข้าราชการและประชาชนทั่วไป ด้วยเหตุนี้มีส่วนทำให้พระองค์เกิด “โรคพระหทัยเต้นผิดปกติ” มีข้อมูลโดยสรุปดังนี้

  • ปี 2530 ทรงเสด็จไปเยี่ยมประชาชนที่อำเภอสะเมิง ทรงพบว่าชาวบ้านจำนวนมากเป็นโรคคอพอก ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทูลว่า มีการเอาเกลือเสริมไอโอดีนมาแจกประจำ แต่ชาวบ้านไม่ยอมใช้ เพราะไม่รู้จักก็กลัวจะเป็นอันตราย ในหลวงจึงรับสั่งให้นำเกลือเสริมไอโอดีนมาแจกประชาชนด้วยพระหัตถ์ ชาวบ้านจึงยอมเชื่อว่าเกลือชนิดนี้กินได้ จนแพร่หลายต่อๆมา ปัจจุบันไม่มีคนป่วยโรคคอพอกที่สะเมิงแล้ว
  • ทรงเสด็จขึ้น-ลงสะเมิงอีกหลายครั้ง เพื่อติดตามแก้ปัญหาเรื่องน้ำและถนน จนชาวบ้านทำกินกันได้เป็นปกติสุข มีรายได้เลี้ยงชีพได้พอเพียง หากพระองค์เองที่ทรงพระประชวร! ในหลวงทรงได้รับเชื้อไมโครพลาสม่าจากการเสด็จไปที่สะเมิงนี้เอง
    อันเป็นสาเหตุของโรคพระหทัยเต้นผิดปกติเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน แม้คณะแพทย์จะพยายามเท่าใด ก็ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงถวายพระโอสถประคองพระอาการมาตลอด จนกระทั่งต้องทรงรับการผ่าตัดใหญ่เมื่อปี 2538
  • ในหลวงเคยมีพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า… ” ฉันขึ้น-ลงสะเมิงอยู่หลายปี จนได้รับเชื้อไมโครพลาสม่า ซึ่งในที่สุดทำให้ฉันเป็นโรคหัวใจเต้นไม่ปกติ จนเกือบต้องเสียชีวิต”


“การรักผู้อื่นยิ่งกว่าชีวิตของตนเองนั้น…ยิ่งใหญ่อย่างไรและเพียงไหน”

ข้อมูลนี้บันทึกก่อนแล้วที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/166752

ขอบคุณแหล่งข้อมูล


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 13 ยอดภู

27 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1371

สะเมิงเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูเขา สมัยนั้นไม่มีถนนดำ หรือที่ลาดยางเลย หมู่บ้านจะเกาะกลุ่มกันตามพื้นที่หุบเขา ที่มีพื้นที่มากน้อยแตกต่างกัน บางหมู่บ้านจะต้องข้ามภูเขาไป และแน่นอนระหว่างตำบลก็จะมีภูเขาขวางกั้น


มอเตอร์ไซด์จึงเหมาะสมที่สุดที่จะใช้เป็นยานพาหนะ เพื่อทำงานในโครงการนี้ พวกเราเองก็เป็นวัยรุ่น การขับมอเตอร์ไซด์ขึ้นดอย ลงดอย จึงคุ้นชินจนเป็นปกติ บ่อยครั้งที่เราหยุดรถบนยอดเขาแล้วมองกลับลงไปในหมู่บ้าน ไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน เถียงนา และทิวเขาไกลลิบโน้น สร้างบรรยากาศ และจินตนาการมากมายทีเดียว อากาศเย็นสบาย และวัฒนธรรมชุมชนที่เปิด แม้กับคนต่างถิ่นอย่างเรา เป็นชีวิตที่มีความสุข

บางช่วงฤดู เราชอบที่จะหยุดที่ยอดเขาเพื่อดูเมฆปกคลุมหมู่บ้านเบื้องล่างเสียมิด เหมือนเราอยู่บนสวรรค์ คิดถึงสะเมิง..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 11 กล้วยอบสะเมิง

1320 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 76333

สถานที่: สะเมิง

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2523

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

พื้นที่สะเมิงนั้นอาชีพหลักคือการทำนาปีข้าวเหนียว และข้าวไร่ตามไหล่เขา หลังนาก็ปลูกกระเทียม ซึ่งขึ้นชื่อว่าคุณภาพดี เพราะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี กระเทียมที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือใช้ปุ๋ยมูลสัตว์นั้นเก็บเอาไว้นานๆจะไม่ฝ่อ เหมาะเอาไปทำพันธุ์ต่อ สรรพคุณทางยาก็มีมากกว่า นอกจากนี้มีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ข้าวโพดพื้นบ้าน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา ฯลฯ พืชเศรษฐกิจที่ทำเป็นแบบ Contract farming คือยาสูบพันธุ์เวอจิเนีย และที่ขาดไม่ได้คือกล้วยน้ำว้า


ชาวสะเมิงมีทั้งคนเมืองและชนเผ่าไทยลื้อ นอกนั้นก็เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากเป็นม้งกับปกากะญอ กล้วยที่สะเมิงลูกใหญ่ หวาน ดก เพราะดินภูเขาดีมาก อาชีพที่สำหนึ่งคือการทำกล้วยอบขาย

เราเคยได้ยินกล้วยตาก แต่ที่สะเมิงเป็นกล้วยอบ เพราะใช้วิธีอบในเตา เกษตรกรเรียนรู้และดัดแปลงมาจากอาคารอบ หรือบ่มใบยาสูบนั่นเอง โดยสร้างอาคารเล็กๆขึ้น ภายในอาคารปิดด้วยดินที่มีโครงด้านในเป็นไม้ไผ่สาน ทึบ แบ่งป็นสองชั้น ชั้นล่างเกือบติดพื้นดิน เว้นไว้สำหรับเอาฟืนท่อนใหญ่ๆใส่เข้าไปได้ ชั้นบนแบ่งย่อยเป็นชั้นสำหรับใส่ตะแกรงอบกล้วย จะกี่ชั้นก็แล้วแต่การออกแบบของเจ้าบ้านนั้น

ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างแบ่ง หรือ กั้นด้วยแผ่นเหล็กชิ้นใหญ่ เพื่อใช้เผาพื้นด้านล่างแล้วให้เกิดความร้อนส่งแผ่ไปอบกล้วยที่อยู่บนชั้นต่างๆนั้น


ขั้นตอนการอบกล้วยนั้นเป็นความลับ(ทางราชการ)ที่มีเทคนิคเฉพาะของใครของมัน แต่โดยทั่วไปคือ คัดเลือกกล้วยที่เริ่มสุก และกล้วยเหล่านั้นจะไม่เอามาจากสวนที่มีต้นหญ้าคาขึ้น ชาวบ้านบอกว่า หากเอากล้วยจากสวนที่มีหญ้าคา จะทำให้กล้วยออกรสฝาดมากกว่า เอากล้วยมาปอกเปลือกลงในอ่างใหญ่ ล้างน้ำปูนเพราะ….

แล้วก็เอาไปเข้าเครื่องบีบให้แบนดังรูป แล้วก็เอาไปวางเรียงกันในตะแกรง มากเพียงพอสำหรับการอบครั้งหนึ่งๆ แล้วก็ปิดประตู ทำการก่อไฟเผาฟืนใส่เข้าไปด้านล่างของเตาอบนี้ ควบคุมความร้อนด้วยเทอร์โมมิเตอร์ ความร้อนเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ)

นานพอสมควรก็เปิดประตูเอาตะแกรงออกมากลับกล้วยเอาด้ายอื่นลงล่างบ้าง และสลับตะแกรงบนลงล่าง ล่างขึ้นบนบ้าง ดูแลฟืนให้มีตลอด นานเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ) เมื่อได้ที่ก็เอาออกมาทิ้งให้อุ่นๆบรรจุถุงพลาสติก ขาย

สมัยก่อน กก.ละ 10 บาท กินกันพุงกาง เดียวนี้แพงขึ้นไปเท่าไหร่แล้วไม่รู้…

กล้วยอบสะเมิงขึ้นชื่อว่ารสอร่อย สะอาด ออกจากเตาก็เข้าถุงเลย.. ไม่ได้ทิ้งให้แมลงวันตอม..

ใครเข้าสะเมิงละก็ถามหากล้วยอบนะครับ ที่บ้านศาลา หรือบ้าน ป่ากล้วยก็ได้ รับรองไม่ผิดหวังแน่ๆ..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 12 ส. ศิวรักษ์

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:42 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1074

สถานที่: สะเมิง

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2524

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

 

เนื่องจากโครงการฯเป็นมูลนิธิของประเทศเยอรมัน และเข้ามาเมืองไทยโดยการชักนำของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตอังกฤษผู้โด่งดัง ท่านอาจารย์เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อสังคมในด้านต่างๆ ท่านเป็นผู้รู้กว้าง และสัมผัสการทำงานแบบนี้มามากจึงมีสาระที่อบรมบ่มเพาะสำนึกพวกเรามาเสมอ ท่านไปพูดที่ไหนๆ พวกเราก็แห่ไปฟังกัน


ประมาณปี พ.ศ. 2522 เราก่อตั้ง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติขึ้นหรือ กป.อพช. ผมเป็นกรรมการในยุคแรกๆอยู่พักหนึ่ง เราเชิญท่านมาพูดให้สติแก่พวกเรา ท่านพูดถึงนักเขียนมากมาย เช่น ฟร้านซ์ เฟนอน, กอร์กี้, ฟริจอฟ คับปรา, อี เอฟ ชูเมกเกอร์, ฯลฯ นักคิดนักเขียนไทยก็มีมากมาย โดยเฉพาะท่าน ประยุต ปยุตโต หนังสือต่างๆที่นักพัฒนาชุมชนควรจะอ่านมากมาย เรางี้ แค่กระผีกของท่านก็ไม่ได้ ท่านอ่านหนังสือดีดีมากมาย และเอาแง่คิด ความรู้มาบอกกล่าวพวกเรา

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมท่านก็พาฝรั่งเข้าไปประเมินผลโครงการที่เราทำอยู่ ผมพาท่านท่องสะเมิงโดยท่านนั่งท้ายมอเตอร์ไซด์ เนื่องจากท่านไม่เคยนั่งมาก่อน เกร็งไปหมด ผมเองก็เกรงที่มีผู้ใหญ่ระดับโลกมานั่งท้ายมอเตอร์ไซด์ ท่านมาสัมผัสชีวิตพวกเรา มาดูงานที่เราทำ มาเยี่ยมชาวบ้าน…และให้สติแก่พวกเรา

เพราะเรามีแต่ความตั้งใจทำงาน มีความต้องการช่วยเหลือชุมชนผ่านระบบโครงการ แต่ไม่มีประสบการณ์ สมัยนั้นในมหาวิทยาลัยยังไม่มีภาควิชาพัฒนาชุมชน มีแต่เรียนกันเอง สนใจกันเอง และไปหาประสบการณ์กันเอง ดีที่สุดก็ไปฝึกงานหรือศึกษาดูงานกันที่ต่างประเทศ เช่นที่ ฟิลิปปินส์ที่เรียกสถาบัน “เซียโซลิน” ที่ศรีลังกาก็โครงการ “ซาโวดายา” ที่อิสราเอลก็ “กิบบุช” และ “โมชาป” บลังกาเทศก็คือ “กรามินแบ๊งค์” ของมูฮัมหมัด ยูนุส ที่ได้รับรางวัลโนเบล ที่เกาหลีก็โครงการ “แซมาเอิลอุลดอง” ของปักชุงฮี

ในเมืองไทยที่ทำกันอย่างจริงจังก็ต้องสภาคาทอลิคแห่งประเทศไทยที่ก้าวหน้ามากที่สุด อาจเรียกว่าเป็นต้นปฐมบทของงานพัฒนาเอกชนในประเทศไทย

ท่านอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ถือได้ว่าท่านเป็นปรมาจารย์ของคนทำงานเพื่อชุมชน


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 9 อดีตผู้ว่าฯเชียงใหม่

935 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:52 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 48936

สถานที่: สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2521

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

ภาพนี้มีอายุ 31 ปีแล้ว


โครงการร่วมมือกับสภากาชาดไทย สมาคมสตรีผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือ ร่วมกันจัดฝึกอบรมสาระที่จำเป็นให้แก่แม่บ้าน สตรีทั่วไป ผู้ที่กำลังจะเป็นแม่ เราได้ส่งสตรีที่จะไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็กมาเข้าหลักสูตรด้วย เพื่อนำความรู้ไปดัดแปลง ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่อไป

เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรม ผู้จัดได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาแจกใบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมทุกคนโดยนายประเทือง สิทธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น

ท่านผู้ว่าท่านนี้ต่อมาอีก 2 ปี พ.ศ. 2523 ท่านใช้ปืนยิงตัวเองตายที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เหตุผลที่ทราบจากข่าวหนังสือพิมพ์ภายหลังคือ ท่านไปพัวพันคดีคอรับชั่นโรงพิมพ์ของราชการในสมัยนั้น ท่านทนสภาพกดดันไม่ได้ก็จบชีวิตลงดังกล่าว


(ภาพนี้เอามาจาก internet ไม่ทราบที่อยู่แล้ว ขออภัยท่านเจ้าของภาพด้วย)

ภาพจวนผู้ว่าหลังนี้ ทราบว่าปัจจุบันเป็นอาคารสงวนไว้ และย้ายจวนผู้ว่าไปสร้างใหม่ จวนหลังนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานสมควรอนุรักษ์ไว้ ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนวรัตน์ขาเข้าจะอยู่ทางซ้ายมือ ติดริมปิง

คนเชียงใหม่ทราบรายละเอียดกรุณาขยายความด้วยเน้อ…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 8 ทัศนศึกษากรุงเทพฯ

1408 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 16628

กิจกรรมการพัฒนานั้นมีมากมาย ล้วนแต่เป็นความคาดหวังที่จะก่อเกิดในสิ่งที่ดี แก่บุคคล แก่ชุมชน แก่กลุ่ม องค์กร หรือแม้แต่ส่งผลสะเทือนในระยะยาว


แต่ทั้งหมดนั้นก็ก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นด้วย เพราะไม่ได้คิดถึงส่วนนี้ หรือคิดไม่ถึง หรือไม่ระมัดระวัง หรือ ฯลฯ

สะเมิงเป็นเมืองปิด หรือกึ่งปิด(เหมือนดงหลวงช่วงที่ผมเข้าไปใหม่ๆ) เพราะชาวบ้านมีเวลาส่วนใหญ่อยู่กับท้องที่ท้องถิ่น เชื่อมต่อกับโลกภายนอกด้วยรถโดยสารที่มีจำกัด และวิทยุที่ฟังได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะทีวี เลิกกันเลย ทั้งอำเภออาจจะมีไม่ถึง 10 เครื่อง เพราะเป็นพื้นที่ภูเขา ไม่สามารถรับคลื่นได้ สมัยนั้นยังไม่มีระบบดาวเทียม…

ความหวังดีของเราก็คือ พาคณะแม่บ้าน และเยาวสตรีออกไปศึกษาดูงานในเมืองจนถึงกรุงเทพฯ โดยเชื่อมกับเพื่อนองค์กรพัฒนาเอกชนในเมือง เพื่อดูแหล่งสลัม ซึ่งก็คือพี่น้องจากชนบทที่มาอาศัยที่นี่เพื่อหางานทำ….

เราคิดในแง่ดี มีการเตรียมมาตัวมาก ก่อนการเดินทาง ระหว่างการเดินทาง และหลังการเดินทาง พูดคุยกันมากเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สภาพสังคมในมุมต่างๆ ในครั้งนั้นเรามีโอกาสติดต่อกับองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิสตรีที่ถูกกดขี่ เราเลือกกรณีขายบริการจำนวนหนึ่งที่มาทำงานในกรุงเทพฯ การพบปะพูดคุยกันมีการเตรียมการอย่างดี โดยภาพรวมก็ออกมาดี ใครต่อใครก็แสดงความเห็นว่า อยู่บ้านนอกเราดีกว่า ไม่มีเงินใช้แต่มีกิน ไม่ต้องดิ้นรน เผชิญปัญหาการกดขี่มากมายเช่นกรณีอาชีพนี้…

เราเดินทางกลับสะเมิง ต่างแยกย้ายกับกลับบ้าน….

……

ทุกอย่างก็เดินไปตามปกติ เราก็ออกตระเวนเยี่ยมเยือนพี่น้องกันตามแผนงาน..

แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น…. มีหญิงสาวในหมู่บ้านหายตัวไปสามคน..

ต่อมาทราบว่าเธอเหล่านั้นแอบหนีหมู่บ้านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปหากลุ่มสตรีที่ขายบริการนั้น..??

พระเจ้า….

กิจกรรมของเรามีส่วนเป็นการชี้โพรงให้กะรอกเสียแล้ว…..


นักการเมือง นวัตกรรม ธรรมชาติ

322 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 กรกฏาคม 2009 เวลา 11:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 5514

วันก่อนพาทีมงานไปศึกษาเรื่องการบริหารจัดการน้ำของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และชลประทานระบบท่อที่ อ.ชุมแพ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ค่อยเขียนเฉพาะ


ชลประทานระบบท่อที่ขอนแก่น เป็นมหากาพย์ที่ต้องจารึกไปอีกนาน เป็นกรณีตัวอย่างที่ขอกล่าวแรงๆสักครั้งว่า “บัดซบที่สุด” ไปดูสิ่งเจ็บปวดอันเนื่องมาจากนักการเมืองที่ถลุงเงินของชาติ เพียงเพื่อโฆษณาหาเสียงกับประชาชน ว่าจะเอาน้ำมาให้ถึงแปลงนาในพื้นที่เลือกตั้งของตัวเอง แล้วรีบก่อสร้างเพื่อให้เห็นผลงาน แต่แล้วไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามที่โฆษณาไว้ ถ่ายโอนไปให้ อบต. เขาก็ไม่รับ รัฐก็แบกภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้า การซ่อมแซมทุกปีจำนวนมากมาย แต่แล้วฟ้าดินก็ลงโทษ นักการเมืองท้องถิ่นคนนี้ไม่ได้รับเลือกในฤดูกาลเลือกตั้งถัดมา แต่เขาก็ยังได้เป็นรัฐมนตรี..???

เจ้าหน้าที่ชลประทานจังหวัดกล่าวว่า ช่วงนี้ระบบสูบน้ำไม่สามารถเอาน้ำขึ้นมาได้ เพราะโรงสูบน้ำตั้งอยู่ในหมู่บ้านห่างจากริมน้ำที่ไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อห่างก็ต้องลงทุนขุดคลองนำน้ำเข้ามา แต่พบว่าคลองไม่ลึกมากพอ เมื่อน้ำในลำน้ำลดลงก็ไม่มีน้ำไหลเข้าคลองโรงสูบ ทุกอย่างก็จบ…

สูบน้ำไม่ได้ ก็ไม่มีน้ำใสถัง ที่ห่างออกไปอีกนับกิโลเมตร จำนวน 6-8 ถัง กระจายไปตามแปลงนาชาวบ้าน เมื่อไม่มีน้ำในถัง เกษตรกรก็ไม่สามารถใช้น้ำตามวัตถุประสงค์ได้…….


วัตถุประสงค์นั้นเพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนา มีเพียงไม่กี่คนที่ทำเช่นนั้น นอกนั้นใช้น้ำเสริมการทำนาทั้งนั้นซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ…??? แต่ถูกต้องตามความต้องการชาวบ้าน.. (และทราบว่าเกษตรกรหลายหมู่บ้านในเขตนี้มีอาชีพทำรางน้ำขายทั่วประเทศ ทุกหลังคาเรือนมีรถปิคอัพตั้งแต่ 1-2 คัน ก็ไม่มีแรงงานมาทำพืชผักหลังนา หรือเขาไม่สนใจด้วยซ้ำไปเพราะเสี่ยงมากกว่าทำรางน้ำขาย… ทำไมข้อมูลเหล่านี้จึงไม่ได้ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในการตัดสินใจช่วงก่อนการก่อสร้างโครงการ)

การจัดการน้ำเพื่อเข้าสู่ระบบตามโครงการผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย เจ้าหน้าที่และชาวบ้าน(ส่วนหนึ่ง)บอกว่าเป็นเพราะนักการเมืองทั้งสิ้น ผมถามเจ้าหน้าที่ว่า น้ำในลำน้ำแห้งหรือ เขาตอบว่า น้ำไม่แห้งยังมีปริมาณพอสูบได้ แต่คลองนำน้ำเข้าโรงสูบไม่ลึกพอ จะสูบได้เมื่อมีน้ำมากขึ้น


ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้ไปเกี่ยวกับระบบการจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ด้วย

ชาวลานหลายท่านคงไม่ทราบว่า เขื่อนที่สร้างขึ้นมานั้นก็ต้องการเก็บกักน้ำไว้เพื่อการเกษตรก็คือเขื่อนของกรมชลประทาน และเขื่อนเพื่อนำไปสร้างพลังไฟฟ้าก็คือเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในช่วงฤดูฝน เขื่อนจะระบายน้ำออกจำนวนหนึ่งเพื่อรอน้ำฝนจากฟ้า… เมื่อมาถึงประโยคนี้ท่านคิดอะไรบ้าง…

  • เอาน้ำทิ้งไปเท่าไหร่ คิดได้อย่างไรว่าจะทิ้งเท่านั้นเท่านี้ ทิ้งเพื่อจะรอน้ำฝนใหม่ที่จะมาเติม
  • แล้วมั่นใจได้อย่างไรว่าฤดูฝนปีนี้จะมีพายุผ่านเขื่อน ฝนตกได้ปริมาณน้ำเต็มเขื่อนพอดี
  • ทำไมน้ำที่ทิ้งลงคลองธรรมชาตินั้น คิดอ่านนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นอีกได้ไหม..

—————

เหตุผลข้อแรกนั้นเพราะว่า ปริมาณเก็บกักน้ำของเขื่อนมีจำกัด จะเอาน้ำเข้าใหม่เท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าพายุลูกไหนจะเข้า เข้าเมื่อไหร่ จะมีปริมาณน้ำที่ได้เท่าไหร่ แต่สิ่งที่ชาวเขื่อนต้องทำคือต้องระบายน้ำในเขื่อนออกในปริมาณหนึ่ง เพื่อรอรับน้ำฝนใหม่ดังกล่าว ความถูกต้องพอดีนี้อยู่ที่ตรงไหน เหตุผลทางวิชาการตรงนี้น่าจะคำนวนได้ แต่ที่คำนวนไม่ได้คือ เฮ้ย…ปีนี้พายุจะเข้ากี่ลูก เข้าแล้วผ่านพื้นที่รับน้ำหน้าเขื่อนหรือไม่ พายุลูกนี้จะมีปริมาณน้ำที่ได้เท่าไหร่…ไม่มีใครทราบได้ เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความเสี่ยง ดีที่สุดคือเอาสถิติและการจัดการเข้ามาวิเคราะห์ คาดการณ์….

เหตุผลข้อสอง ไม่มีใครทราบ เขื่อนทุกเขื่อนจึงมีการติดตั้งระบบอุตุนิยมวิทยาขึ้นมาเฉพาะ และระบบการจัดการที่พยายามยกระดับให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อรับประกันว่าทุกปีจะต้องระบายน้ำออกแล้วมีน้ำใหม่เข้ามาเติมเต็มที่ระดับเก็บกัก….

เหตุผลข้อที่สาม เท่าที่ทราบกรณีเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์นั้น ตลอดแม่น้ำลำปาวจะมีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าหลายจุดเพื่อสูบน้ำนี้เข้านาเกษตรกรในพื้นที่อยู่นอกระบบชลประทาน

————-

แต่ที่โครงการชลประทานระบบท่อที่เดินทางไปศึกษานั้น ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำออก เพื่อรอรับน้ำฝนใหม่ การระบายน้ำในเขื่อนออกส่งผลไปดึงน้ำในลำน้ำที่มีโครงการชลประทานระบบท่อลดลงฮวบฮาบ ระบบชลประทานก็ไม่มีน้ำ ขณะที่ช่วงนี้เป็นวิกฤติช่วงหนึ่งของการทำนา เพราะเป็นช่วงที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปี

แต่น้ำในเขื่อนกลับระบายทิ้ง ระบบชลประทานแบบท่อก็ไม่ได้แก้ปัญหา สร้างหรือไม่ได้สร้าง พื้นที่เหนือเขื่อนก็ยังอาศัยเทวดาที่ชื่อ “พระธรรมชาติ” (ของเม้ง เทอร์โบ) อยู่ดี….

มีคำถามมากมาย แต่เอาสั้นๆแค่

  • โครงการที่ใช้เงินมหาศาลของรัฐเพียงเพื่อให้นักการเมืองดึงดันก่อสร้างเพื่อหาเสียง เราจะมีทางป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างรในอนาคต..?
    (ปัจจุบันอาจจะไปตรงกับกรณีซื้อรถเมล์ 4000 คัน)
  • การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน (กรณีนี้คือ ชลประทานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต) เพื่อผลที่ดีที่สุดของการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ทำได้อย่างไร กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตดำเนินการตามปกติตามระบบของเขา คือระบายน้ำออก แต่ไปกระทบระบบชลประทานท่อที่ก่อสร้างนั้น
  • ฯลฯ

หากจะว่ากล่าวว่านักการเมืองคือผู้ทำลายชาติ ก็มีนักการเมืองดีดีอีกไม่น้อยที่เราภูมิใจ กลุ่มชุมชนเล็กๆแห่งนี้คงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากเอาข้อเท็จจริงมาบอกกล่าวกันเพื่อคิดอ่านกันต่อไป


อาม่า..ข้าวพื้นบ้าน..ดงหลวง

15 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:50 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3006

ดูอาม่าเมื่อเช้าทำให้ย้ำความตั้งใจที่ทีมงานร่วมกันคิดไว้ว่า เรามาช่วยกันฟื้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน และขยายข้าวอินทรีย์ออกไปในพื้นที่โครงการ…


ปาลียน ส่งต่องานวิจัยแบบชาวบ้านไว้เรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่ดงหลวงไว้ น้องๆทีมงานก็สานงานต่อ และเราก็มีข้อสรุปครั้งที่หนึ่งไว้ว่า เป็นไปได้ที่เราจะเพิ่มผลผลิตข้าวในสภาพปกติ และเป็นข้าวอินทรีย์ ปีนี้เราก็ดำเนินการต่อเพื่อศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด..


ก่อนที่พี่น้องดงหลวงจะลงนาเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ทีมงานก็ไปเอาข้าว “เล้าแตก” และ “มะลิแดง” มาจากกาฬสินธุ์เพื่อมาให้พี่น้องดงหลวงขยายพันธุ์และเอาไปปลูกกันในปีต่อๆไป อาม่าบอกว่า ข้าวเล้าแตกมีคุณค่าเหมาะกับ สว.ทั้งหลาย และ…

เมื่อวันก่อนผมกับทีมงานก็ไปประสานงานกับสำนักงานชลประทานจังหวัดเพื่อแลกเปลี่ยนกันถึงแหล่งน้ำที่กรมชลประทานมาก่อสร้างไว้ในดงหลวง และการใช้ประโยชน์ เราก็แอบคิดในใจว่า พื้นที่ที่จะขยายพันธุ์ข้าวดังกล่าวควรจะอยู่ในพื้นที่ชลประทานเป็นอันดับแรก เพราะจะมีหลักประกันในเรื่องน้ำไว้ก่อน และต่อไปก็เป็นเกษตรกรที่มีสระน้ำประจำไร่นาที่สมัครใจ


หากโครงการต่อเฟสที่สองได้ คงต้องเตรียมเกษตรกรในเรื่องการเป็นแหล่งผลิตข้าวพื้นบ้านอินทรีย์ แต่ทั้งหมดนี้ต้องผ่าน กระบวนการ “ชุมชนสนทนา” (Community Dialogue) ก่อน…

ขอบคุณอาม่าครับ..



ภาพเก่าเล่าเรื่อง 6 ยานพาหนะสมัยนั้น

896 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 14:47 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 16590

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

ปี พ.ศ. 2518-2522 นั้น ถนนมีแต่ฝุ่นกับโคลน ฝุ่นในฤดูแล้ง โคลนในฤดูฝน เวลาเราออกพื้นที่ ก็จะไปหลายวัน ไปหมู่บ้านไหนก็ค้างนอนกับบ้านชาวบ้าน อุปกรณ์ประจำของเราก็คือเป้ที่มีถุงนอน เสื้อ กางเกงและสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้



ระหว่างเดินทางจากบ้าน อมลอง ไปหาดส้มป่อย จะต้องผ่านแม่น้ำแม่ขาน ที่ฤดูแล้งชาวบ้านเอาต้นไม้ใหญ่ๆมาทำสะพานแบบหยาบๆให้รถปิคอัพผ่านไปยังตำบลยั้งเมิน ที่ไกลออกไป


สะพานไม้แบบชั่วคราวนี้ คือต้นไม้ทั้งต้นที่เอามาวางเรียงกัน ยึดติดกันด้วยเหล็กที่มีปลายแหลมสองด้านตอกเข้าไปในเนื้อไม้ให้ยึดติดกัน(ดูเหมือนจะเรียกปลิง หากผิดขออภัย) เมื่อฤดูฝนมา น้ำป่าหลาก ตรงนี้แหละที่เราต้องมาพร้อมๆกันหลายคน เพราะบางช่วงไม่สามารถขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ต้องช่วยกันประคองเอาข้ามฝั่ง


บางช่วงน้ำป่ามาแรงมาก พัดพาเอาสะพานไม้สักทั้งต้นนั้นหายไปหมดแล้ว เราก็ต้องช่วยกันแบกมอเตอร์ไซด์ข้ามแม่น้ำขานแห่งนี้ หากน้ำลด ก็อาจจะขับข้ามได้

และรูปนี้ คลาสสิคจริงๆ นายสุรพล จำนามสกุลไม่ได้แล้ว เป็นนายอำเภอสะเมิง ออกตรวจเยี่ยมชาวบ้านกับพวกเรา ยังต้องยอมถอดกางเกงนุ่งผ้าขาวม้าข้ามแม่น้ำขาน…

มันจริงๆ..ชีวิตคนทำงานพัฒนาชนบท..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 5 โรงเรียนเด็กเล็ก

55 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:54 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4976

สถานที่: Kindergarten บ้านงาแมง ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2520

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


ใครไปพระบาทห้วยต้มก็จะเห็น “ป้าดาว” ผู้เป็นเจ้าของกิจการ น้ำพลูคาวหมักใส่ขวดขาย กิจการส่งออกหัวไม้ดอกไปต่างประเทศ กิจการน้ำดื่มที่ จ.ลำพูน และอื่นๆ อดีตเธอคือครูพี่เลี้ยงสถานดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนภายใต้โครงการที่ผมทำงานอยู่ ภายใต้ความรับผิดชอบคนข้างกายผม

วันนั้นเธอคือสาวเพิ่งจะรุ่น ชื่อ สุธรรม ชาวบ้านเชื้อสายปกากญอ ที่มีความแตกต่างจากเด็กชาวบ้านคนอื่นๆ ตื่นตัว กล้าแสดงออก กล้าพูดจาไม่กลัวเกรงใคร ฉะฉาน ฉับฉับฉับ… รักความก้าวหน้า ทำทุกอย่างที่ทำได้ ไม่รังเกียจ


นี่คือสภาพ Kindergarten ในป่าเขาลำเนาไพร ไกลความเจริญ อิอิ.. ดูเหมือนว่าพ่อแม่เด็กเสียเงินเดือนละสิบบาท ค่าบริหารจัดการ สถานที่ดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนนี้..

รูปเหล่านี้มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้วครับ… สมัยนั้นยังไม่มี digital


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 4 ที่ตั้งสำนักงานโครงการฯ

458 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 7:39 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 6948

สถานที่: สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2518

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


ช่วงที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ(สกน.)เป็นสำนักงานในเมืองของโครงการพัฒนาชนบทที่ผมทำงานอยู่นั้น เพิ่งก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ(2518) มี ดร.ครุย บุญยสิงห์ เป็น ผู้อำนวยการโครงการ ภรรยาท่านคือนักพูดเพื่อสังคมคนสำคัญที่มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นทางทีวีบ่อยคือ คุณหญิงเต็มสิริ บุญยสิงห์

สกน.สมัยนั้นยังไม่มีร้านอาหารกาแลที่สวยงามเช่นปัจจุบัน สำนักงานแบบนี้มีทุกภาค ช่วงที่มีการปรับโครงสร้างระบบราชการถูกยุบไปเป็นเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สกน.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์

ปกติผมจะประจำอยู่ที่พื้นที่โครงการคือสะเมิง จะออกมาที่นี่เดือนละครั้งช่วงที่มีการฝึกอบรมผู้นำเกษตรกรเท่านั้น..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 3 ฝิ่น

153 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:06 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4681

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ



สภาพพื้นที่ อ.สะเมิงเป็นภูเขา หมู่บ้านจะตั้งอยู่ระหว่างหุบเขา ที่มีลำห้วยน้ำใสไหลผ่าน ทุกช่วงฤดูทำนาเราจะเห็นภาพนี้จนคุ้นชินตา บ่อยครั้งที่เราหยุดรถมอเตอร์ไซด์เพื่อชื่นชมภาพสวย เช่นนี้ อิอิ บางครั้งเราก็ลงไปนอนเล่นที่เถียงนาหรือกระต๊อบนั่น..


ปี พ.ศ.2518 นั้น ยอดเขาบางแห่งที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวม้ง จะมีการปลูกฝิ่นกันอย่างเปิดเผย เราชอบขึ้นไปชมไร่ฝิ่น ซึ่งเจ้าของไร่คุ้นเคยกับพวกเราก็มิได้มีปฏิกิริยาในทางลบแต่ประการใด หลังจากนั้นไม่กี่ปีทางราชการก็ปราบปรามอย่างหนัก การปลูกฝิ่นจึงหมดสิ้นไป หรือลบลี้มากขึ้นกว่าอดีตที่เคยทำมา



ตอบโจทย์พ่อครูบาฯ..2

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:48 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2769

ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์ที่พ่อครูบาเสนอไว้ครับ โจทย์ที่สั้นๆแต่ใหญ่โตมโหฬาร ระทึก กึกก้อง “พูดคุยวิเคราะห์กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสภาพปัญหาที่เป็นรากฐานและทางออกของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตชนบทของภูมิภาคต่างๆ“… หน้ากระดาษแห่งนี้คงไม่ใช่ความสมบูรณ์ของความคิดเห็นและสูตรสำเร็จใดๆของทางออก เป็นความเห็นเพียงเสี้ยวส่วน..


สังคมอีสานที่เปลี่ยนแปลงมาจากอดีตอยู่ในรูปปัจจุบัน ก็ไม่แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบันของภูมิภาคอื่นๆ เพราะพลังและอำนาจของการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากแหล่งเดียวกัน คือการปกครองสังคมและระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่ชายแดนมุกดาหารมีโลตัสเหมือนกลางกรุงเทพฯมหานคร


ถามว่ามีอะไรที่เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง นักวิชาการก็คงตอบว่ากระแสหลัก(กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์) ที่มาแรงสุดๆ เป็นกระแสที่มีพลังมากที่สุด และเพราะเปลี่ยนค่านิยมจากเดิมมาเป็นทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ ได้ส่งผลสะเทือนเข้าไปในทุกหนทุกแห่งที่มีถนนเข้าไป ที่มีวิทยุ ที่มีทีวี หนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆทั้งหมด ระบบธุรกิจที่มุ่งผลกำไรสูงสุด ไม่ได้พูดความเหมาะสมขององค์ประกอบการดำรงชีวิต แต่สร้างภาพลักษณ์ที่ทุกคนที่ต้องการความทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก คุณจะต้องรีบหาสินค้านั้นๆมาไว้ครอบครอง


การเปิดโลกใหม่สุดๆเช่นนี้ ผมก็คิดว่า ต่อให้หมู่บ้านใดๆมีเฒ่าจ้ำร้อยเฒ่าจ้ำก็หยุดไม่อยู่ เพราะเฒ่าจ้ำก็ไม่เข้าใจต่อสิ่งใหม่ที่เข้ามา เพราะเขาอยู่ในโลกเกษตรกรรม โลกสิ่งแวดล้อมเดิมๆ และสิ่งใหม่เข้ามาพร้อมๆกับคำว่า ทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ เขาเหล่านั้นไม่เข้าใจเท่าทัน และคนในสังคมก็ไม่เท่าทัน อย่างกรณี กรมกสิกรรมกระทรวงเกษตรนำเอาข้าวพันธุ์ใหม่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว เพื่อขาย เพื่อเงิน เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่ใน พ.ศ. นี้ กลับเดินย้อนรอยเดิม พร้อมสารภาพว่า ต้องใช้ปุ๋ยคอก ทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้พันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม เพราะเขาพัฒนามานานแสนนานจนเหมาะต่อสภาพพื้นที่นั้นๆอยู่แล้ว สติที่กลับคืนมาก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปนับเกือบชั่วอายุคน แล้วนวัตกรรมอื่นๆเหล่า มีใครกล้าออกมาสารภาพเช่นนี้บ้าง

คำถามใหญ่คือ อะไรคือตัวคัดกรองของสังคมต่อการเปลี่ยนแปลง อะไรคือภูมิคุ้มกัน อะไรคือพลังคัดหางเสือสังคม เมื่อเฒ่าจ้ำ และบรรดาผู้อาวุโสในสังคมตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว..

เราจะหวังที่ระบบการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่สถาบันการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่หน่วยงานราชการหรือ…?

หรือหวังที่ตัวเองโดยการสร้างชุมชนในรูปแบบใหม่…?

แผนผังแสดงความคิดเห็นเบื้องต้นต่อทางออก

น่าสนใจการพัฒนาชุมชนในรูปแบบใหม่ที่มีความพร้อมต่อการหนุนสร้างทุนทางสังคม สร้างบุคลากรที่มีความพร้อม เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหม่ๆ สร้างสิ่งคัดกรองการพัฒนาในรูปแบบต่างๆว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ฯลฯ

ภาพนี้ผมแอบถ่ายที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งระหว่างเดินทางไปมุกดาหาร ตรงนี้คือห้องน้ำของปั้มน้ำมันที่อยู่ในมุมปิด ทุกครั้งที่ผมแวะและเข้ามาใช้บริการ จะพบเด็กนักเรียน ทั้งชายหญิง ขี่มอเตอร์ไซด์มามั่วสุม ไม่ไปเรียนหนังสือ เด็กสาวรุ่นคนนี้ไม่ไปเรียนหนังสือแต่กลับมาวุ่นวายอยู่กับโทรศัพท์มือถือ เมื่อผมไปถามคนที่ปั้มน้ำมัน เขาก็บอกแบบไม่สนใจว่า “เด็กมันก็มามั่วสุมที่นี่กันทุกวัน”…..

สรุปว่าชุมชนไปหวังคนไกลตัวไม่ได้ หวังระบบก็ไม่ได้ หวังสถาบันต่างๆก็มองไม่เห็นแสงไฟ มีแต่หวังที่ตัวเอง คนในชุมชนด้วยกันเอง … แล้วสร้างอย่างไรล่ะ..เป็นหนังยาวอีกม้วนหนึ่งครับ….


ตอบโจทย์พ่อครูบาฯ…1

1287 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 17:29 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8275

ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์ที่พ่อครูบาเสนอไว้ครับ โจทย์ที่สั้นๆแต่ใหญ่โตมโหฬาร ระทึก กึกก้อง “พูดคุยวิเคราะห์กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสภาพปัญหาที่เป็นรากฐานและทางออกของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตชนบทของภูมิภาคต่างๆ“… หน้ากระดาษแห่งนี้คงไม่ใช่ความสมบูรณ์ของความคิดเห็นและสูตรสำเร็จใดๆของทางออก เป็นความเห็นเพียงเสี้ยวส่วน..

ผมมองเป็นสองสถานภาพ คือสถานภาพที่เป็นอดีตของสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และสถานภาพที่เป็นปัจจุบันอันเนื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มาจากการพัฒนาประเทศชาติในทุกด้านทุกแง่มุม สองส่วนนี้เกี่ยวเนื่องกัน ส่งผลแก่กันและกัน มีพัฒนาการแก่กัน ปัจจุบันมาจากอดีต และอดีตมีส่วนส่งผลถึงปัจจุบัน สรุปมุมมองเป็นแผนผังคร่าวๆดังที่เห็นนี้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมิได้พัฒนามาจากเพียงอดีตแต่อย่างเดียว แต่ยังมาจากการนำเขามาจากภายนอกประเทศ อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศทั้งในด้านการค้าขาย การศึกษา อุตสาหกรรมจนมาถึงยุคธุรกิจในระบบโลกาภิวัฒน์

การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจึงเป็นผลพวงของปัจจัยหลักของทั้งสองนั้น แต่ที่เป็นตัวชี้ขาดของการปรับเปลี่ยนคือ ตัวของตัวเราเองว่าเราสืบต่อของเก่าเพราะอะไร เรารับของใหม่เข้ามาเพราะอะไร เราเอาสองส่วนมาผสมผสานกันเพราะอะไร..

รากฐานสังคมไทยเราที่น่าจะมีส่วนของการพัฒนาไปเป็นปัญหา

  • ระบบอุปถัมภ์: เราพูดกันมากในเรื่องนี้ส่วนตัวเองยอมรับว่าระบบอุปถัมภ์มีส่วนดีและสามารถพัฒนาไปเป็นความล่อแหลมของการเกิดปัญหา เช่น ครูบาอาจารย์นั้น คนโบราณ เขายกย่องส่งเสริมนับถือไว้เป็นคนที่มีสถานภาพที่สูง ลูกศิษย์ลูกหาก็จะมักเยี่ยมเยือน ไปมาหาสู่ และการไปมาหาสู่วัฒนธรรมไทยก็จะมีสิ่งของติดไม้ติดมือไปด้วย ส่วนมากแต่ก่อนก็จะเป็นส้มสุกลูกไม้ ผู้ใหญ่ หรือครูบาอาจารย์ก็จะให้ศีลให้พร..แค่นั้นความสัมพันธ์ต่อกันก็แน่นแฟ้น ที่เรียกว่ามีใจให้แก่กัน นี่คือทุนทางสังคมที่มีคุณค่ามาก แต่ปัจจุบันระบบอุปถัมภ์ได้พัฒนาไปสู่ผลประโยชน์แก่กันและกัน อันเป็นความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสียหายต่อฐานรากของเศรษฐกิจและสังคมของเรา การพัฒนาการของระบบอุปถัมภ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นทุนทางสังคม แต่ตรงข้ามเลยทีเดียวเป็นตัวบ่อนทำลายทุนทางสังคม
  • ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม: ของเรานั้น น่าจะอยู่บนฐานของการพึ่งตัวเองได้โดยภาพรวม อาชีพเกือบทุกอาชีพจะมีฐานรากอยู่บนการเกษตรเป็นองค์ประกอบ มากน้อยแล้วแต่เงื่อนไข ยกเว้นกลุ่มพ่อค้าคนจีน ข้าราชการจำนวนมาก นอกจากรับราชการก็ยังทำนาทำไร่ทำสวนกันอยู่ เหมือนสังคมในประเทศลาวปัจจุบัน ซึ่งสภาพเช่นนั้น เป็นระบบเศรษฐกิจพอเพียงในสิ่งแวดล้อมแบบดั้งเดิม สังคมไทยวัฒนธรรมไทยทั้งมวลตั้งอยู่บนฐานสังคมเกษตรกรรม ทุนทางสังคม คุณค่าต่างๆทางสังคมตั้งอยู่บนฐานสังคมเกษตรกรรม เมื่อประเทศชาติก้าวเข้าสู่รับไทยใหม่ ที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการพัฒนาอาชีพใหม่ๆเข้ามา ค่านิยมดูถูกอาชีพเกษตรกรรม ยกย่องการรับราชการและพ่อค้าธุรกิจ การดำรงชีวิตชั้นลูกหลานจึงห่างไกลสังคมเกษตรกรรม ก็ห่างไกลสังคมที่อุดมด้วยรากฐานทุนทางสังคม คุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี ถามว่าจะมีสักกี่คนที่ซาบซึ้งต่อประเพณีจุดบั้งไฟ มีแต่สนุกสนาน และสร้างความอลังการของปราสาทผึ้ง เด็กรุ่นใหม่เชื่อมไม่ติดกับคุณค่าเหล่านั้น เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจว่าทำไม พ่อแม่จึงต้องพาไปกราบไหว้ ศาลเจ้าปู่ เมื่อยามเจ้าจะจากหมู่บ้าน หรือเมื่อกลับมาหมู่บ้าน รากเหง้าตรงนี้เชื่อมกันไม่ติดเสียแล้ว มันกลายเป็นแค่พิธีกรรม แต่ไม่เข้าใจ ไม่น้อมรับ ไม่ศรัทธา ไม่สำนึก ไม่สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติที่ควบคุมพฤติกรรมความดีของการปฏิบัติตนในสังคมกว้างใหญ่… เหล่านี้ทั้งหมดอยู่บนฐานของสังคมเกษตรกรรม สังคมใหม่ที่ประกาศตนว่าก้าวหน้ากว่า ทันสมัยกว่ามีอะไร เปิดสำนักงานใหม่ก็เอาโป้งฉิ่งมาแสดง ดนตรีที่ดังหนวกหู พิธีเปิดป้ายเชิญผู้ใหญ่ที่คอรับสั่งบ้านเมืองมาทำพิธี เฒ่าจ้ำบทบาทหดหายไปแล้ว…เฒ่าจ้ำผู้คอยคัดหางเสือสังคมนั้นไม่มีที่นั่งในสังคมแล้ว เลือนหายไปแล้ว เด็กอีสานยุคใหม่เกือบจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่าเฒ่าจ้ำในหมู่บ้านของเราคือใคร..มีประโยชน์อย่างไร.. แต่ดันร้องให้เมื่อไมเคิล แจ็คสันตายลงไป..
  • รากเหง้าสังคมอีสาน: เฒ่าจ้ำคือตัวอย่างของโครงสร้างสังคมเดิม ก่อนโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสมัยใหม่จะเข้ามา สังคมเดิมมี จ้ำ หมอธรรม มีหมอสมุนไพร หมอตำแย หมอบีบนวด หมอเหยา หมอเป่า หมอน้ำมัน ฯลฯ ทั้งหมดนั้นมีบทบาทต่อสังคมชุมชนตั้งแต่เด็กเกิดจนกระทั่งตาย เรามีโครงสร้างสังคมที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว และทั้งหมดนั้นอยู่ไม่ได้หากเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับนับถือ อยู่ไม่ได้หากไม่มีคุณธรรม อยู่ไม่ได้หากไม่ปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ด้วยอี้และตองของอีสานที่เป็นครอบใหญ่ควบคุมสังคมให้อยู่อย่างปกติสุข เมื่อโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามา ก็เป็นโครงสร้างซ้อนทับกันใหม่ๆก็ไม่มีปัญหาอะไรต่างอยู่ด้วยกันได้ แต่เมื่อพัฒนาการสังคมนำระบบทุนเข้ามาเต็มตัว ระบบอำนาจเข้ามาเต็มที่ โครงสร้างเดิมก็หดหายไปสิ้น แม้คงอยู่ก็เกือบจะไม่มีบทบาทมากนัก ตรงข้ามโครงสร้างใหม่พร้อมกับอำนาจ และผลประโยชน์ตามค่านิยมใหม่ของระบบโลกาภิวัฒน์ ทุนทางสังคมหดหายไป จางลงไป
  • ศาสนา: น่าตั้งคำถามว่าสังคมอีสานนั้นมีพระปฏิบัติที่มีผู้คนในประเทศเคารพกราบไหว้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมอีสานมีความสุขมากที่สุด การดำรงอยู่ของศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับวิถีชีวิตของคนอีสานเป็นอย่างไรถึงคุณค่าทางศาสนาจึงเข้าไม่ถึง หรือไม่เข้าไปอยู่ในเนื้อในของจิตใจของชาวอีสาน(แม้ภาคอื่นๆก็ตาม) หลายวัดหาพระไม่ได้ หลายวัดพระทำบัดสี หลายต่อหลายวัดมุ่งแต่สร้างสิ่งก่อสร้าง อาจเป็นเพราะสังคมเราไม่ได้ให้วันพระเป็นวันหยุดราชการเหมือนแต่ก่อน ที่ทุกคนหยุดกิจการแล้วเข้าวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ เมื่อกิจกรรมที่จะยึดโยงทางศาสนาไม่มีตรงข้ามสิ่งยั่วยุทางวัตถุอื่นๆเข้ามา คนก็ห่างวัด ความละอายต่อบาปก็หมดสิ้นไป ความเชื่อศรัทธาก็หดหายไป ความสัมพันธ์ของคนในสังคมห่างออกไป ระหว่างรุ่นก็ห่างออกไป รากฐานใหญ่ของทุนทางสังคมที่มาจากศาสนาก็ไม่เหลือหรอ

ทางออก

แผนผังคร่าวๆนี้ช่วยสรุปจากมุมมองผมว่า

สังคมเราต้องมีสถาบันที่ก้าวเข้ามาจริงจังต่อเรื่องนี้

  • ศึกษา ค้นคว้า วิจัย สร้างสรรค์สิ่งดีดีที่เป็นรากเหง้าของสังคมเราออกมา แล้ว
  • อะไรที่ดีดี คิดอ่านสานต่อกิจกรรมนั้นๆอย่างที่เป็นคุณค่าแท้จริงมิใช่เพียงสักแต่เป็นกิจกรรม
  • อาจพิจารณาดัดแปลงสิ่งดีดีของเดิมๆให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่
  • อะไรที่เป็นอุปสรรค ต้องออกมาคัดค้าน ต่อต้าน ควบคุม กำจัด จำกัด ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม

ต่อตอนสอง..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 2 ยานพาหนะและการเดินทาง

54 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 0:32 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4411

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


ยานพาหนะในการทำงานคือ มอเตอร์ไซด์ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คุณสมบัติประการหนึ่งคือ ต้องขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ สมัยนั้นเป็น เอนดูโร 125 CC รุ่นที่เห็นเป็น ซูซูกิ 2 จังหวะ ใช้ปีเดียวพัง ต่อมาเปลี่ยนเป็น Honda รุ่น Trial 125 CC ระบบ 4 จังหวะ


ต้องใส่หมวกกันน็อค (Helmet) ใส่ถุงมือ และใส่รองเท้าหุ้มหน้าแข้ง ตามกติกาฝรั่งที่ว่า safety first เป็นครั้งแรกๆในสังคมไทยที่คนขับขี่มอเตอร์ไซด์ต้องใส่หมวกกันน็อค ชาวบ้านชอบมามองเราเป็นตัวตลก


สภาพพื้นที่ หมู่บ้านใน อ.สะเมิง อย่างที่เห็น เป็นป่าเขา ทางลำบากมาก ลำห้วยแม่ขานสมัยนั้นยังไม่มีสะพาน ต้องข้ามลำต้นไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันทำ เมื่อฤดูน้ำหลาก ต้นไม้ใหญ่ๆที่เห็นก็หลุดลอยไปตามน้ำ ออกเขื่อนภูมิพลโน้น ฤดูแล้งก็หาต้นไม้มาทำใหม่…!!!??? ฤดูฝน เส้นทางเป็นร่องลึก ดินเหนียว ล้มแล้วล้มอีก บางปีต้องพันล้อด้วยโซ่ และมีไม้แคะดินออกจากล้อประจำรถเรา


น้ำในลำห้วยแม่ขานสะอาดใสแจ๋ว ชาวบ้านบางคนก็ดื่มกิน

มอเตอร์ไซด์เหล่านี้ทุกคนต้องเรียนวิธีการซ่อมแซมปัญหาพื้นฐานได้ และต้องทนุถนอมดุจหญิงสาว เพราะเมื่อใช้งานครบสามปี ทางโครงการโอนรถนี้ให้เป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าหน้าที่คนนั้นเลย…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 1 วิถีนักพัฒนาชุมชน

30 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:56 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3117

สถานที่: บ้านแม่สาบ ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2519

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


งานหน้าที่หลักประการหนึ่งคือตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆของพื้นที่โครงการ เพื่อประชุมชาวบ้านในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์ ที่มีสันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุน ภายใต้การดูแลของสภาแคทอลิคแห่งประเทศไทย ต่อมาจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ชนิดหนึ่งภายใต้กรมส่งเสริมสหกรณ์

เราจะตระเวนไปตามหมู่บ้านแล้วพักนอนที่บ้านชาวบ้าน ซึ่งจะมีบ้านประจำที่เราสนิทสนมด้วย บ้านนี้เป็นไทยลื้อ ชายหนุ่มที่ยืนขวามือของผมเป็นลูกชายแม่อุ้ย พ่ออุ้ย เจ้าของบ้าน ที่เราเลือกให้เป็น เกษตรกรผู้นำประจำหมู่บ้านนี้ ไทยลื้อเป็นชนเผ่าที่ขยัน แข่งขันกันทำงาน รักความก้าวหน้า อัตราการเรียนหนังสือสูงๆของเด็กรุ่นใหม่สูงกว่าชนเผ่าอื่นๆ ปรับตัวต่อเทคโนโลยี่ได้เร็ว ฉลาด อิอิ สาวก็สวย..ด้วย :-


ไปสุรินทร์ทำไม..

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 กรกฏาคม 2009 เวลา 2:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2481

ขณะที่ผมนั่งดูรายการระลึกถึงไมเคิล แจคสัน พิธีกรเชิญคุณมาโนช พุฒตาลมาคุยด้วย ซึ่งเขาเป็นผู้รู้ในเรื่องเสียงเพลงและประวัติบรรดานักร้องต่างประเทศ คุณมาโนชพูดถูกใจผมมาก กล่าวว่า ความคลั่งใคร้ของแฟนๆไมเคิลนั้น “เกินจริง ยกให้ไมเคิลเป็น King of Pop เขามีชื่อเสียงมากตั้งแต่เด็ก และดังมาตลอด วิถีเขาอย่างราชา จนเขาไม่เคยสัมผัสชีวิตความเป็นปุถุชนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเกินจริง ในสังคมนี้มีสิ่งเกินความจริงหลายอย่าง… การที่คนยกย่องเขามากมายมหาศาลนั้นมันไม่ได้ก่อประโยชน์แก่สังคม อาจจะมีเพียงธุรกิจเท่านั้นที่รองรับการเป็น Superstar ของเขา ขณะที่มีคนเล็กๆที่ทำประโยชน์แก่สังคมนี้ แต่เขาอยู่ในมุมมืดของการเป็นข่าว การดำเนินชีวิตของเขาเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าไมเคิล แต่สังคมไม่เคยกล่าวถึงเขาเหล่านั้น....”


ผมนึกถึงเรื่องในอดีตน้องเขยผมมีเหตุขัดคอกับเพื่อนบ้านที่เป็นคนนอกเข้ามาอยู่ในสายเครือญาติ เขาไม่ทราบพัฒนาการตระกูลเราเพราะเขาเป็นคนนอก ความรุนแรงของความขัดแย้งนั้นมันบานปลายมากกว่าที่เราคิดถึง เรื่องนี้เปิดเผยมาในภายหลังอีกหลายปีต่อมา คือ คู่ขัดแย้งของน้องเขยผมไปว่าจ้างมือปืนมาให้ไปทำร้ายแก่ชีวิตน้องเขยผม ต่อมามือปืนมาสารภาพแก่ครอบครัวผมว่า เขารับงานมาไม่รู้ว่าเป้าหมายคือใคร แต่เมื่อจะลงมือทราบว่าเป็นคนในครอบครัวผม มือปืนคนนั้นยกเลิกงานชิ้นนี้ เพราะเขากล่าวว่าเขาสำนึกใน “ข้าวแดงแกงร้อน” ที่อดีตปู่ผม พ่อผมเคยมีโอกาสเลี้ยงดูเขามา บุญคุณต้องทดแทน แม้ว่าน้องเขยผมเป็นคนนอก แต่ก็เข้ามาในตระกูลผมแล้ว มือปืนคนนี้จึงไม่ทำงานชิ้นนี้ต่อให้จบ….

ผมไม่ทราบว่าสังคมนี้จะมีอะไรอย่างนี้คงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน.ไม่มีสำรวจหาความคงอยู่ หรือมันเป็นเพียงสิ่งบอกเล่าเรื่องในอดีตเท่านั้น


หลายสิบปีก่อน ขณะที่ผมและเพื่อนนั่งทานก๊วยเตี๋ยวที่ร้านเล็กๆแห่งหนึ่ง มีขอทานเข้ามาขอเงิน เพื่อนผมถามว่า เอาเงินไปทำอะไร ขอทานคนนั้นบอกว่า เอาไปซื้อข้าวกิน เขายังไม่ได้กินข้าว เพื่อนผมกล่าวกับขอทานคนนั้นว่า หากหิวข้าวก็นั่งลงตรงนี้เดี๋ยวจะสั่งก๊วยเตี๋ยวให้กินเอาไหม ขอทานคนนั้นพยักหน้า แล้วเราก็นั่งกินก๋วยเตี๋ยวโต๊ะเดียวกัน เขากินเสร็จก็ขอห่อเศษที่เหลือกลับไปด้วย…… ผมจำได้ติดหูติดหาต่อการกระทำของเพื่อนคนนี้…

เวลาผมออกหมู่บ้าน และมีโอกาสกิน นอนที่หมู่บ้านชาวบ้าน เราทราบดีว่า อาหารทุกมื้อที่ชาวบ้านทำให้ผมและเพื่อนๆกินนั้น เป็นอาหารที่ดีที่สุดที่เขาสรรหามาให้

ตอนที่คุณแม่(ยาย)ผมยังมีชีวิตและนอนแบบอยู่บนเตียงเป็นเวลา 7 ปีนั้น แม่มักจะเรียกผมไปหา แล้วกล่าวว่า “แม่ดีใจที่บู๊ดอยู่บ้านให้เห็นหน้า…” คนป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลยนั้นอยากให้คนใกล้ชิดมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ก็แค่ให้สบายใจ..

ผมไม่รู้จักคุณปิ๋วเป็นการส่วนตัว แทบจะไม่เห็นหน้าค่าตาด้วยซ้ำไป แต่ผมกินข้าวจากฝีมือเธอ จากความตั้งใจของเธอ จากน้ำใจของเธอ ผมอิ่มหนำสำราญจากการประกอบอาหารของเธอให้ผมและเพื่อนๆอีกนับจำนวนไม่หมดที่ผ่านสวนป่า…

ผมเชื่อว่าเพื่อนทุกคนก็คิดเหมือนผม และมีประสบการณ์คล้ายๆที่ผมกล่าวมา เมื่อผมมีโอกาสจึงเก็บหยูกยา และของใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานของแม่ที่เหลืออยู่ น่าจะเป็นประโยชน์แก่คุณปิ๋วมากกว่าที่เก็บไว้เฉยๆที่บ้านผม…

คุณปิ๋วต้องการกำลังใจ เธอต้องการคุณหมอและการรักษากาย แม้ว่าคุณปิ๋วเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ไปทำให้ฟันเฟืองใหญ่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมนี้ สังคมในฝันของเรา…

ผมมีความรู้สึกดีดีมอบให้คุณปิ๋วน่ะครับ

นี่คือเหตุผลที่ผมไปสุรินทร์…

(หมายเหตุ: เอารูปมาจาก blog ของพ่อครูบาฯ)


หนึ่งขวบปี..ที่นี่มีอะไร 1

290 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 กรกฏาคม 2009 เวลา 10:36 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3173

(ย้ายมาจากลานเจ๊าะแจ๊ะครับ)

ถามตัวเองว่าหนึ่งขวบปีของลานปัญญามีอะไรที่นี่บ้าง ก็นึกๆพอจะเห็นสิ่งต่อไปนี้

จุ๊บจุ๊บ..เจ๊าะแจ๊ะ:
ผม เห็นคนคอเดียวกันมาเจ๊าะแจ๊ะกันที่นี่ในสาระพันเรื่องทั้งบ่นกะปอดกะแปด ทั้งเศร้า ทั้งดีใจ เรื่องในใจเอามาบอกกัน ให้กำลังใจกัน ชี้แนะกัน ทักท้วงกัน เสริมทักษะกัน จุดไฟปัญญาให้แก่กัน ปลอบประโลมแก่กัน ไถ่ถาม เติมเต็ม แม้กระทั่งฟ้องร้องกัน อิอิ..

โดย ธรรมชาติและเป็นที่เข้าใจกันว่าตรงนี้เป็นอะไรแบบสั้นๆ ได้ใจความที่ต้องการสื่อแก่กัน และใครต่อใครอย่างน้อยก็เข้ามาผ่านข้อความนี้ ก่อนไปลานอื่นๆ หากอยากจะเจ๊าะแจ๊ะก็หยอดลีลาลงไปตามแบบฉบับของตัวเอง หลายหลากอารมณ์

หลากหลายรสคำ:
แต่ ละคนมีเบ้าหลอมที่แตกต่างกัน ใครมีเบ้าแบบไหนไปรู้จักกันได้ที่ “เจ้าเป็นไผ๑” แต่ละคนมีรสนิยม ต่างกัน แม้กระทั่งความตั้งใจที่แตกต่างกัน แต่ละ “ลาน” จึงเป็นแบบฉบับของตนเอง ซึ่งมีทั้ง ขำกลิ้ง อมยิ้ม น่าคิด ชวนคิด แหย่ให้คิด จนกระทั่งกระแทกให้คิด บอกกล่าว เคร่งขรึม ตามจับความคิดตนเอง เตือนตัวเอง บอกกล่าวสิ่งที่พบเห็น สาระแห่งการงาน การชีวิต เทคโนโลยี ใครอยู่ในแบบไหนนึกกันเอาเองเด้อครับ..

ไม่ใช่สาระเท่านั้นที่เป็นแบบเฉพาะ การใช้ภาษา อักษร ก็หลากหลายลีลา ไปจนถึงหลุดลุ่ย(บางที)..อิอิ

เห็นคนในคน:
ใคร ก็ไม่รู้กล่าวว่าอยากรู้จักกันก็คุยกันซี อยากรู้จักกันมากกว่านี้ก็ต้องหากิจกรรมทำด้วยกัน อยากจะสัมผัสมุมลึกกันก็ต้องยามมีปัญหา แต่เพื่อนพ้องในลานพิสูจน์แล้วว่า เป็นคนคอเดียวกันจริงๆ เพราะเราชุมนุมกันหลายครั้ง และร่วมแก้ปัญหากันหลายครั้ง จากวันแรกมาถึงวันนี้ ผมว่าพวกเรากลายเป็นคนรู้ใจกันไปหมดแล้ว ยิ่งปอกเปลือกเห็นแก่นใน จปผ๑ ก็ยิ่งแดงโล่มาเลย ผมหลับตานึกถึงใครสักคน ก็เห็นอากัปกิริยาไปหมด ได้ยินน้ำเสียง หัวเราะ แหย่เย้าจนรู้นิสัยใจคอที่น่ารักแก่กัน

ที่มาแรงแซงโค้งดูจะเป็นอาม่าที่รักของพวกเรา..

ทำในสิ่งที่ไม่เคยหรือไม่ค่อย:
อัน นี้ผมเห็นก็ขำแบบดีใจที่ CEO ใหญ่ของเราลงทุนหาจอบขุดดินถมถนน ผมเดาว่าท่านผู้นี้ไม่เคยมาก่อน แต่อยู่ในชุมชนนี้ได้ทำ อิอิ..น่ารักจะตาย… บางท่านคงไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวา ก็ได้มีโอกาสกราบพระงามๆ มีช่วงเวลาที่สัมผัสรากเหง้าทางจิตวิญญาณบ้าง บางคนไม่เคยและไม่ค่อยเข้าครัวก็ได้ย้อนรอยปลายจวักกัน ให้อิ่มเอมเปรมพุงกะทิไปหลายมื้อหลายคราว ยังคิดถึงผัดหมี่โคราชของท่านสะมะนึกะ …..ฯลฯ….

รุมสอน:
นี่ เป็นกรณีพิเศษจริงๆ ไม่มี blog ที่ไหนที่มีเหตุการณ์นี้ ไม่มีชุมชนเสมือนที่ไหนที่เป็นเช่นนี้ ไม่มี KM ที่ไหนที่มีภาพนี้ ที่นี่มีเจ้า “จิ” เหน่อเสน่ห์ เป็นกรณีเด่นที่สุดประการหนึ่งของลานเรา เพราะเราอยากเห็นภาพเหล่านี้ คล้ายๆๆแบบนี้ในกลุ่มคนทำงานแต่ไม่เกิด ไม่ค่อยเกิด แต่กลับมาเกิดกับลูกหลานน่าหยิกคนนี้ เธอมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็มาวางไว้ที่ลาน ลุง ป้า น้า อา ปู่ ทวด ต่างทยอยกันมาเยี่ยมเยือนลูกลิง เอ้ยลูกหลานคนนี้.. คำแนะนำออกมา มันช่างวิเศษแท้ๆ พ่อครูว่าเหมือนกดปุ่ม..

ผมชอบสังคมนี้ตรงนี้มาก นึก ถึงสมัยเด็กๆ ในหมู่บ้านนอกที่วิเศษชัยชาญ เย็นๆเด็กในหมู่บ้านจะรวมตัวกันที่ลานกลางบ้านแล้วนัดเล่นสนุกๆกัน และเป็นที่รู้กันว่า เด็กที่เล่นนั้นไม่ว่าจะลูกครูใหญ่ หรือลูกคนไม่มีที่ดินชายบ้าน ผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิ์สั่งสอน ตักเตือน แนะนำทุกอย่างหากเด็กคนใดเล่นพิเลนเกินไป หรือเกเร หรือทำให้ข้าวของเสียหาย แม้กระทั่งลงโทษตีเด็กคนนั้น พ่อแม่ทุกครอบครัวก็อนุญาต  ผมมองย้อนหลัง มันเป็นสังคมที่สวยงาม ที่ต่างช่วยกันประคับประคองความดีงาม ถูกต้อง ถูกทำนองครองธรรม กรณีจิคนสวย ก็เช่นกัน ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย มาช่วยกันชี้แนะสิ่งที่ถูกที่ควรเมื่อเด็กมีปัญหา และเธอกล้าเอามาบอกกล่าว… งามจริงๆสังคมแห่งนี้

แปลกใหม่:
ปัจจุบัน มีบางคนเรียกเราว่า ป๋า..เรายังต๊กกะใจ ว่า เฮ้อ ตูข้านี่เป็น สว.ไปแล้วหรือนี่.. ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนลืมนับไปแล้ว มีหลายเรื่องก็ไม่รู้ก็ได้รู้ในที่นี่ ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ไม่เคยสัมผัสก็ได้รับรู้ อยากกอดสาวๆก็ได้กอด อิอิ.. ต้นอะไร เอกมหาชัย ชื่อก็พิสดาร แถมยังสารพัดประโยชน์ ทึ่งกระบี่ สุดยอดมุมลับของภูเก็ต อลังการเชียงราย ศรัทธายิ่งใหญ่ที่ลี้ลำพูน โดยเฉพาะท่านเทพ เอาอะไรก็ไม่รู้ไม่เคยพบเคยเห็นมาให้ศึกษา น่าดูน่าเรียนทั้งนั้น ท่านแฮนดี้ ก็คนอะไรช่างคิดช่างทำช่างสร้างสรรค์ ผมละอยากให้ถ้วยรางวัล “นักประดิษฐ์พอเพียง” แก่ท่านจริงๆ ผมว่าหลายคนก็เพิ่งได้ยินคำว่า dialogue ในมุมการเอามาใช้ประโยชน์เชิงพัฒนาคน.. ฯลฯ.. เห็นไหมล่ะ มากมายสาระที่แปลกใหม่สำหรับผม

น่าจะมีอีกมาก เท่าที่ด่วนๆคิดเอาก็เห็นดังกล่าวนี้แหละครับ



เสียงบ่นจากคนชายขอบ..

26 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 มิถุนายน 2009 เวลา 18:06 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1013

หากเขาคือเพื่อนร่วมชาติ ที่เรานับญาติว่าเป็นพี่น้องไทย เขามีอาชีพเกษตรกรรม ทำนาไว้กินและขายให้พวกเราซื้อ ทำไร่เพื่อขายผลผลิตเป็นรายได้ในครอบครัว …..ฟังเขาบ้างซิ..


ช่วงฝนตกนี้ ครอบครัวส่วนใหญ่ก็หอบลูกจูงหลานไปอยู่เถียงนาโน้น..อย่าไปหาที่บ้านเลยไม่พบแน่นอน อย่ามาประชุมเลยช่วงนี้ อย่ามีกิจกรรมอะไรเลย เพราะเราต้องการทำนาให้ราบรื่นเสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วเรื่องอื่นๆก็ค่อยว่ากัน


อย่ามาทำหนังสือราชการเหมือนบังคับว่าจะต้องไปนั่นไปนี่ แล้วหากงานในนาผมไม่สำเร็จ ไม่ทันตามฤดูกาล พวกคุณๆรับผิดชอบไหม ไม่ใช่ว่าเอาคุณเป็นตัวตั้ง อยากประชุมก็เรียกประชุมอ้างโน่นอ้างนี่


เบื่อจริงๆพวกนี้น่ะ ไม่รู้จักกาลเทศะ เรียนหนังสือมาก็สูงๆ แค่นี้ไม่เข้าใจ ไม่รับฟัง ไม่อินังขังขอบ แล้วจะให้ชาวนาอย่างเราไปคล้อยตามคุณจนหมดได้อย่างไร อ้าวไม่ไปประชุมก็หาว่าไม่ร่วมมือ ขาดประชุมไปก็หาว่าไม่มีส่วนร่วม…สารพัดจะว่ากล่าว…


ไม่หละ จะอะไร อย่างไรก็ช่าง เราต้องเอาข้าวของเราไว้ก่อนอื่น ก็พวกคุณมีเงินเดือนกิน ทำหรือไม่ทำก็มีเงินกิน พวกเราซิ ไม่ทำไม่มีกิน จึงต้องทำและทำ

ทุ่งนาก็คือสำนักงานของเรา โอเพ่นแอร์นะจะบอกให้


นานวันเข้าพวกเราฟังคุณพูดไม่รู้เรื่องมากขึ้น มากขึ้นทุกที ก็ไหนว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น การสื่อสารดีขึ้น ลงทุนนับแสนล้านที่บากกอกนั่นน่ะ เรานึกไม่ออกว่าเงินจำนวนนั้นน่ะมันมากมายแค่ไหน แต่การพัฒนาการผลิตขั้นพื้นฐานของเรายังแก้กันไม่ตกเลย คุณจะวิ่งหนีเราไปไหนกัน ….

บ้านนี้เมืองนี้ มีชาวนาจำนวนล้านๆคนเป็นส่วนประกอบสำคัญ คุณมองแต่จะขายสินค้าหากำไรจากพวกเรา ร่ำรวยกันหน้าบาน อวดความมั่งมีกัน ร่ายมนต์ตราแก้ปัญหาประเทศชาติบนหน้าจอทีวีไม่เว้นแต่ละวัน แต่ปล่อยให้เราเดินไปตามยถากรรม

เจ้านักการเมืองการแมงตัวดี พูดคำก็อ้างเรา พูดสามคำก็ว่าเพื่อเรา เปล่า ลึกๆพวกคุณก็เอาเราเป็นสะพานก้าวไปหาผลประโยชน์ของพวกคุณ เพื่อน พี่น้องเราหลายคนก็หลงคารมคมคาย ที่มาเล่นละคอนบนหลังคารถที่พวกคุณยืนปาวๆแล้ววิ่งไปตามหมู่บ้านเรา…

สักวันเถอะ เมื่อช่องว่างมันถ่างกันมากขึ้น คุยกันไม่รู้เรื่องมากขึ้น ที่พวกคุณเรียกว่ามันไม่สมดุลนั่นแหละ มันจะสายเกินไป แล้วจะมาแก้ไขเมื่อมันสายไปแล้วนา…


ปรุงทฤษฎีให้ร้อน..

2041 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มิถุนายน 2009 เวลา 14:03 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 80780

ครอบครัวผมเป็นพวกบริโภคนิยม คือ นิยมหาอาหารอร่อยทานกัน ถึงได้อ้วนไง.. คนข้างกายผมก็ทำอาหารอร่อย ถูกปาก เพียงแต่เธอไม่ค่อยมีเวลาทำเท่านั้น เดินทางร่อนไปทั่วประเทศ เหนือ ใต้ ออก ตก ไปหมด สิ้นสุดงบประมาณปีนี้เธอก็ออกจากราชการแน่นอนแล้ว ไปเป็นอิสระ Freelance ดีกว่า อิอิ

พูดถึงอาหาร แกงเหลืองภาคใต้ก็มีสูตรเฉพาะ มีทั้งคนชอบเผ็ดมากเผ็ดน้อย ใส่หน่อไม้ดองต้องคัดสรรมา น้ำต้องข้น ปลาต้องเป็นเฉพาะชนิดนี้เท่านั้นถึงจะเข้ากันดี และจะกินแกงเหลืองต้องมีผักท้องถิ่นมากๆ หากมีไข่เจียวมาคู่กัน…อูย…หิวหละซี… ในขอนแก่นเองมีร้านอาหารภาคใต้มากกว่า สามร้าน ล้วนแต่คนแน่นตลอด คืออร่อยทุกร้าน แม้ว่ารสชาติและส่วนประกอบจะแตกต่างไปบ้างก็ตาม

แรกๆผมไม่คิดว่าจะมาตกล่องปล่องชิ้นกับสาวใต้ ผมว่าสาวเหนืองาม กิริยามารยาทเรียบร้อย..ซะไม่เมี๊ยะ มาทำงานอีสานผมก็ว่าสาวเขมรแถบสุรินทร์ดำขำก็งามไปอีกแบบ ยิ่งสาวผู้ไท กะเลิง..งามก็มีมากมายชวนให้มองไปหมด ไปเที่ยวทางใต้ ทางตะวันออก ก็มีสาวงามถูกตาต้องใจไม่แพ้กัน

เป็นว่า ไม่ว่าอาหารชนิดเดียวกัน ก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน องค์ประกอบแตกต่างกันไปบ้างตามเงื่อนไข และกระบวนการปรุงอาหารก็คงจะมีเคล็ดลับเฉพาะที่เป็นแบบฉบับของใครของมัน เป็นของเก่าต้นตระกูลก็เคยได้ยินบ่อยๆ ปัจจุบันสูตรอาหารเหล่านี้เมื่อเป็นธุรกิจไปแล้วราคาค่างวดซื้อขายกันแพงๆเชียวหละ

สาวที่ไหนก็สวยทั้งนั้น แม้สาวดอยบนที่สูงเมื่อจับมาแต่งตัวแล้วเธอก็เช้งวับไปหมด ที่เรามักเรียกกันว่า สวยไปคนละแบบ.. ไม่เชื่อไปถามอาเหลียง เฮียตึ๋งดูซี พูดทีไรเอาผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดปากทุกที..อิอิ..

อาหารอร่อย สาวสวยนั้น มันขึ้นอยู่กับการปรุงแต่ง การปรับปรุง พัฒนา การทดลองปรุงแบบนั้นแบบนี้ นานเข้า ก็ลงตัวว่ารสชาดแบบนี้ ใช้ได้ ผู้คนชม ติดใจ เราก็ได้สูตรอาหารที่เป็นที่ยอมรับกัน

สาวท้องทุ่ง..ตัวดำเหนี่ยง สาวดวงตาไม่มีเล่าเต้ง หรือสาวไหนๆ ลองมาแต่งใส่เสื้อผ้า ทำผมทำเผ้า ผัดหน้าทาปาก ใส่น้ำปรุงน้ำหอม โอย..ขี้คร้านหนุ่มๆ แก่ๆ จะช๊อคตาย..

แม้ว่าปัจจุบันจะมีสูตรที่บอกกล่าวกันทั่วไปว่า แกงเหลืองนั้นต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง การแต่งตัวควรพิจารณาอะไรบ้าง หากไม่มีศิลปะการทำอาหารก็เทให้สุนัขรับประทานเถอะ.. แต่หากพัฒนาจนสุดยอดแล้ว น้ำแกงหยดสุดท้ายก็อร่อย..ไม่ยอมทิ้งเด็ดขาด สาวๆบางคนหน้าตาไปวัดไปวาได้ แต่แต่งตัวไม่เป็น โทษที คุณดำเหนี่ยงข้างวัดสวยกว่าเยอะเลย

การปรุงแต่งเป็นศิลปะ เป็นเรื่องฝีมือ เป็นทักษะ เป็นความชำนาญ เป็นศาสตร์เฉพาะตัวของใครของมัน เลียนแบบได้แต่อาจดีไม่เท่า

ผมเรียนรู้ทฤษฎีการพัฒนามากก็มาก หลักการต่างๆก็เยอะ แต่เมื่อเอาลงสู่ชุมชนจริงๆ บางทีมันไปไม่เป็นก็เกิดขึ้นบ่อยๆ ล้มกลางเวทีก็เคยหน้าแตกมาแล้ว ผมจึงมักแลกเปลี่ยนกับน้องๆว่า เราเป็นคนทำงานพัฒนาชุมชนนั้น คือคนที่ต้องเรียนรู้หลักการ หรือทฤษฎี แล้วเอามาปฏิบัติให้เกิดมรรคเกิดผล ซึ่งเป็นเรื่องยาก ไม่ง่ายอย่างที่พูดกันปาวๆในชั้นเรียน

หลักการเดียวกัน ทฤษฎีเดียวกัน ไปใช้ที่ภาคเหนือ ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากภาคใต้ ในภาคอีสานเดียวกัน เอาหลักการ หรือทฤษฎีไปปฏิบัติที่อีสานใต้ กับชุมชนเทือกเขาภูพานก็แตกต่างกัน ในภูมินิเวศวัฒนธรรม ภูมินิเวศเกษตร ภูมินิเวศสังคมที่แตกต่างกัน ก็มีรายละเอียดการปรุงแต่งที่แตกต่างกัน

ผู้บริหารมักมองไม่เห็น แม้นักปฏิบัติเองก็ไม่เข้าใจว่าหลักการเหมือนกัน แต่การนำไปใช้ต้องรู้จักดัดแปลง ปรับปรุงขั้นตอน รายละเอียดให้สอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ

ครูบาอาจารย์ หรือนักวิชาการ จำนวนมาก ก็มักสร้างทฤษฎี สร้างหลักการใหม่ๆขึ้นมา เป็นตัวย่อบ้าง เป็นคำคล้องจองกันบ้าง เป็นโค้ดต่างๆบ้าง แต่เมื่ออธิบายลงไปไม่เคยได้ยินการกล่าวถึงรายละเอียดการปรุงแต่งในระดับปฏิบัติการเลย หากจะบอกว่าเป็นเรื่องของนักปฏิบัติที่ต้องไปหาเอาเอง ผมก็ว่า เป็นการกล่าวที่ไม่สมบูรณ์

ผมสนับสนุนชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แบบเครดิตยูเนี่ยน ขึ้นในระดับหมู่บ้านและชุมชนใหญ่ กว้างขึ้นไป หลักการของเครดิตยูเนี่นยนั้น มีเป็นต้นฉบับที่ใช้กันทั่วโลกคือ จิตตารมณ์ 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจกัน แต่ที่สุรินทร์ ชาวบ้านซึ่งเป็นชนชาวเขมรนั้นบอกว่า “อาจารย์ พวกเราแค่ดื่มน้ำสาบานแบบท้องถิ่นเท่านั้น เจ้าจิตตารมณ์ ตาแรม อะไรนี่ผมไม่เข้าใจ ไม่ต้องพูดถึงเลย ดื่มน้ำสาบานเท่านั้นพอ…”…!!

เมื่อรายละเอียดในความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ จะไปกำหนด KPI แบบเดียวกันใช้ทั่วประเทศ ผมว่านักประเมินผลท่านนั้นก็ล้าหลังไปแล้ว

หากนักปฏิบัติบ้าแต่ทฤษฎี ปรุงไม่เป็น ท่านผู้นั้นก็เป็นเพียงผู้หวังดีคนหนึ่งเท่านั้น

หากนักบริหาร นักวิชาการ นักพูด กล่าวแต่หลักการ ทฤษฎี แต่ไม่บ่งชี้ถึงการปรุงแต่งในภาคปฏิบัติ ศาสตร์นั้นก็แห้งแล้งเกินไป จืดชืด ใช้อะไรแทบไม่ได้..



Main: 0.13744306564331 sec
Sidebar: 0.046038866043091 sec