บัณฑิตชนบท..

อ่าน: 1943

ที่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งรับนักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนมาฝึกงาน อาจารย์ก็มอบงานให้ทั้ง 5 คนไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสนามตามแผนงานที่มีอยู่แล้ว

ก่อนลงสนามก็ต้องมาคุยกันก่อนว่ามี วิธีเก็บข้อมูลอย่างไร กระบวนวิธีมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และอีกมากมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักวิชาการ หรือนักพัฒนาชุมชนเมื่อจะเก็บข้อมูลก็ต้องมาทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะสาระของข้อมูลที่จะต้องเก็บ อย่างละเอียดยิบ เพราะประเด็นคำถามนั้นมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจด้วยภาษาให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ มีบ่อยครั้งที่ผู้ไปซักถาม ตีความหมายผิด ก็จะทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความประสงค์ของผู้ออกแบบสอบถาม ยิ่งไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่น สำนวนท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีปฏิบัติของท้องถิ่น ก็จะยิ่ง สื่อสารให้ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจ ผู้ตอบก็จะให้ข้อมูลที่ไปคนละทิศละทาง สิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง กลายเป็นขยะไป

มีเรื่องเก่าที่ขอยกตัวอย่างอีกครั้ง นักศึกษาปริญญาโทมาเก็บข้อมูลสนาม ในเรื่องความรู้ความเข้าใจของชาวชนบทต่อหลักศาสนาบางประการ

นักศึกษา: คุณยายนับถือศาสนาอะไรครับ

คุณยาย: ศาสนาพุทธซิไอ้หนู

นักศึกษา: คุณยายช่วยอธิบายเรื่อง เมตตา หน่อยซิครับว่าหมายความว่าอย่างไร

คุณยาย: ห้วย…. จะให้ยายอธิบายจั๊งใด๋ ยายบ่อจั๊กแหล่ว…

ระหว่างคุยกันนั้น ยายก็เอาน้ำมาให้นักศึกษาดื่มกิน เมื่อเวลามาถึงเที่ยง ก็เตรียมอาหารมาให้กิน… เมื่อสิ้นสุดการซักถามนักศึกษาก็ลากลับไป แล้วก็ไปสรุปว่า คุณยายไม่เข้าใจเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเรื่องความมีเมตตา แค่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น…?

หารู้ไม่ว่า ยายนั้นไม่สามารถอธิบายความหมายเป็นภาษาได้ แต่ยายปฏิบัติ ก็ยายมีเมตตาต่อนักศึกษาไงถึงได้เอาน้ำเย็นมาให้ดื่มกิน เอาข้าวปลามาเลี้ยงดูปูเสื่อ นักศึกษาเองนั่นแหละยังไม่เข้าใจหลักศาสนาภาคปฏิบัติ…

นักศึกษาคุ้นเคยแต่ท่องจำแล้วไปสอบเอาคะแนน ตามหลักการวัดผลการศึกษาไงเล่า การวัดผลวัดแค่การท่องจำและขีดเขียนออกมาได้ แต่การเอาความรู้นั้นๆไปปฏิบัติวัดไม่เป็น หรือไม่ได้วัด หรือไม่อยากไปวัดมันยาก…

กลับมาที่นักศึกษาที่มาฝึกงานที่สถาบันวิจัยฯ อาจารย์บอกว่า เธอทุกคนต้องจดบันทึกการสัมภาษณ์ว่าชาวบ้านตอบอะไรบ้าง จดมาให้ละเอียดเลย นักศึกษาสาวคนหนึ่งไม่สนใจการทำความเข้าใจเตรียมตัวลงสนาม กลับบอกอาจารย์ว่า หนูไม่จดหรอกค่ะ หนูมีเทปบันทึก ..?

วันแรกที่ลงสนามจริงๆ เธอแต่งตัวอย่างกับไปช็อปปิ้ง ทาปากแดง สวยเชียว แล้วก็ทำเช่นนั้นจริงๆให้รุ่นพี่สัมภาษณ์แล้วเธอก็เอาเทปมาบันทึก เธอไม่สนใจการสนทนาเพื่อเก็บข้อมูลของรุ่นพี่กับชาวบ้าน เธอเล่นผมยาวๆของเพื่อน นั่งถักเปียกัน…และ….

วันรุ่งขึ้นเธอมาบอกอาจารย์ว่าหนูไม่ไปฝึกงานแล้ว มันลำบาก หนูขอลาออกจะไปฝึกงานที่สำนักงานเทศบาลเมืองดีกว่านั่งแต่ในห้องแอร์เย็นๆ สบายกว่า…???

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยนั้น ก็อนุญาตให้ลาออกไปฝึกงานที่อื่น..พร้อมส่ายหัวว่า นี่นักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนนะเนี่ยะ เข้าเรียนผิดคณะหรือเปล่า…

ไม่ระบุสถาบันนะครับ เสียหาย ความจริงมีรายละเอียดมากกว่านี้เยอะแต่เขียนไม่ได้….

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยท่านนั้น บอกว่า ให้เด็กพัฒนาชุมชนไปทำ Seasonal calendar ของครอบครัวชาวบ้านหน่อย เขาบอกว่าทำไม่เป็น อาจารย์ถามว่าท่านไหนสอนเรื่อง “เครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชน” นักศึกษาตอบว่า ก็อาจารย์ ดร. …………..เป็นผู้สอน พอเดาออกครับว่า กระบวนการเรียนการสอนนั้น เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ แค่เรียนในห้องเรียน อาจารย์ก็พูดปาวๆพร้อมกับเทคโนโลยีทางการสอน เช่น Power point รูปภาพ รายงานที่วางไว้หน้าชั้น ….. แต่ไม่เคยพานักศึกษาออกปฏิบัติจริง จึงทำไม่เป็น

นักศึกษาทั้ง 5 คนลาออกไปฝึกงานกับเทศบาลที่นั่งแต่ในห้องเย็นๆ ต่อมาอีกสองวัน มีเด็กสองคนในห้าคนนั้นกลับมากราบอาจารย์ที่สถาบันวิจัย ขอกลับมาฝึกงานที่นี่ใหม่ แต่สามคนไม่มา สองคนนี้บอกว่า หากไปฝึกงานที่เทศบาลจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องชนบทเลย ขอกลับมาและกราบขออภัยคราวที่แล้ว…

ที่บริษัทที่ปรึกษาก็เอาเด็กปริญญาโทออกไป แม้ปริญญาเอกก็เอาออกไปก็มีเพราะทำงานไม่เป็น ไม่ได้ ได้ไม่มีคุณภาพ ห่วยแตกว่างั้นเถอะ….

เป็นเรื่องหนักใจของหน่วยงานจริงๆที่บัณฑิตไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น…. ก็ดูการฝึกงานเป็นกรณีตัวอย่างซิ

สรุปว่า.. เป็นห่วงบัณฑิต ที่ไม่ได้มุ่งเน้นความรู้เชิงปฏิบัติ เราเป็นห่วงคุณภาพของความเป็นบัณฑิต ไม่ได้เข้าใจรากเหง้าของความรู้ ไม่ใช่ของจริง แค่ฉาบฉวย ล่องลอยไปกับกระแสสังคมที่เป็นสังคมบริโภค โอยจะสาธยายอย่างไรถึงจะหมดเนี่ยะ

ครับไม่ใช่ทุกสถาบันนะครับ ไม่ใช่บัณฑิตทุกคนนะครับ แต่ดูจะมีเรื่องราวดังกล่าวมานี้มากเหมือนกันครับ

จริงๆนักศึกษาที่มาสนใจทำงานพัฒนาชนบทนั้นไม่จำเป็นต้องแต่งตัว เซอ เซอ มอมๆ หล่อได้ สวยได้ครับ แต่ต้องไม่สักแต่หล่อ แต่สวยแต่ไม่มีกึ๋น หากสนใจอย่างนั้นไปเป็นพริตตี้ดีกว่านะจ๊ะคนสวย….


ปากกาของบัณฑิตคืนถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 9, 2012 เวลา 8:59 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1433

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปงานศพพี่จำลอง พันธุ์ไม้ท่านเป็นบัณฑิตอาสาของโครงการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นแรกๆ ที่มี ดร.ป๋วย เป็นผู้ริเริ่ม ในงานศพที่ขอนแก่นครั้งนั้นมีเพื่อนบัณฑิตร่วมรุ่น ต่างรุ่น ร่วมสถาบัน ต่างสถาบันไปร่วมมากมาย รวมทั้งยาหยีของผม เพราะเธอเป็นบัณฑิตอาสารุ่น 8 ของ มธ. แม้ว่าเธอจะเรียนจบจากจุฬาฯ

ผมกล่าวได้ว่า ความเป็นบัณฑิตอาสาของ มธ.นั้นมีแรงเกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่นมากๆ ไม่ว่าแต่ละคนจะไปประกอบอาชีพอะไร ฐานะทางสังคมเป็นเช่นไร ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เกาะเกี่ยวกันแน่นมากแม้ยามร่วงโรยลาจากกันไป

เป็นเพียงปรากฏการณ์ด้านหนึ่งเท่านั้นในสังคมที่มีคนกลุ่มหนึ่งผ่านกระบวนการฝึก ในหลักสูตรเพียงปีเดียวก็มีเยื่อใยกันขนาดนี้ เป็นสิ่งที่ดีครับ

คนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ผ่านกระบวนการบัณฑิตอาสา(ส่วนใหญ่) แต่มีสำนึกต่อบ้านเมืองสูงมาก คนกลุ่มนี้เอาบ้านเอาเมืองเป็นโจทย์ใหญ่ และกระโดดเข้าแบก อุ้ม ดัน ผลัก ลาก จูง คือกลุ่มคนที่เป็นผลผลิตทางอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมเข้ามาเป็นสำนึกอย่างสูง คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อย กัดไม่ปล่อย ทำในทุกบทบาทที่เขาสังกัดอยู่ อาจจะเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มที่มีอิทธิพลเดือนตุลาเป็นพลัง หลายคนก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงใดๆได้พอสมควรทีเดียว หลายคนยังจมดิ่งอยู่กับกระบวนการชาวไร่ชาวนา แม้ว่าหลายคนบ่ายหน้าเข้าสู่วงการธุรกิจ นักวิชาการ แต่ก็ไม่ทิ้งการร่วมด้วยช่วยกัน ยามใดที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ร้องขอ เขาก็พร้อมจะเทกระเป๋าให้ แม้ว่าจะเอาสีมาสาดใส่เสื้อเป็นนั้นเป็นนี่ แต่ความเข้มข้นนั้นปรอทวัดไม่ได้

บัณฑิตจะก้าวลงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งบัณฑิตรุ่นใหม่ที่ฝันนี้ แน่นอนทุกท่านคาดคิดว่า “ต้องเปลี่ยนด้านใน” คือสำนึก ที่ตกผลึกมาจากระบบคิด ความใฝ่ฝัน เจตนา ประสงค์ ต้องการ ที่มาจากด้านใน เราจะสร้างสำนึกได้อย่างไร เราจะวัดมันได้อย่างไร เราจะประคับประคองให้สำนึกมันเติบโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น มิใช่ฝ่อไปในบั้นปลาย เพราะแรงโน้มน้าวของค่านิยมแห่งยุคสมัยมันมาแรงจัดมากๆ

โปรแกรมด้านนี้ เชื่อว่าคณาจารย์ทุกท่านตระหนักดี และมีรูปธรรมหลายประการรองรับอยู่ แต่ต้องตรวจสอบบ่อยๆนะครับ เพราะจิตใจคนนั้นตอบสนองต่อสิ่งเร้า ตามหลักทั่วไปที่เราเข้าใจ ตราบใดที่สำนึกไม่ได้ตกผลึก มันก็พร้อมที่จะรื่นไหล เลี้ยวออกไปทิศทางอื่นๆ ผมเชื่อว่าการคืนถิ่นนั้นมิใช่ เอาทุนไปซื้อจอบซื้อเสียมแจก เอาที่ดินไปแล้วเจ้าไปทำมาหากินให้อยู่ได้ แต่สมัยนี้นอกจากจอบเสียมแล้ว เกษตรกรสมัยใหม่ต้องพก “ปากกา” ด้วย ปากกา เป็นตัวแทนการก้าวทันเทคโนโลยี ความรู้ใหม่ๆ และการรู้จักดัดแปลงเอาไปใช้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม เงื่อนไข แห่งนั้นๆ วิชาดัดแปลงมีเรียนมีสอนไหมล่ะ

หลายอย่างบัณฑิตต้องใช้ความรู้ไปสร้างความรู้ใหม่ๆ สถาบัน คณาจารย์ไม่สามารถป้อนได้หมดหรอก ดังนั้น เมื่อดัดแปลงได้เธอก็ก้าวไปอีกขั้นของการเป็นบัณฑิต อาจจะสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยใช้เทคโนโลยี่ปัจจุบันที่มันพัฒนาการไปไกลมากแล้วนั้นให้เป็นประโยชน์แก่เส้นทางของเราเถิด

เขียนบันทึกไว้เผื่อฟ้าดินจะสื่อสารไปถึงบัณฑิตที่เป็นอนาคตของสังคมของเรา…


สำนึก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 5, 2012 เวลา 15:17 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1485

วันก่อนผมเขียนถึงบัณฑิตคืนถิ่น โครงการของสมเด็จพระเทพฯ ที่มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดูแล และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาไปจัดค่ายหรือเสวนากันที่น่าน วิทยากรท่านหนึ่งให้ผมโฟนอินเข้าไปร่วมด้วย ตอนหนึ่งผมกล่าวว่า “…ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้ไม่ได้ให้สำนึก..” ผมเอามาโพสต์ในนี้ นักวิชาการศึกษาที่ผมนับถือยิ่งท่านหนึ่งกล่าวเห็นด้วย และจะไปพิจารณาต่อไป

ผมนำประเด็นนี้มาทบทวน เห็นว่าคำกล่าวของผมนั้นยังไม่ถูกต้อง ที่กล่าวว่า “ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้ไม่ได้ให้สำนึก” ผมมีความเห็นว่า..ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้..นั้นเป็นความจริง แต่การกล่าวว่า..ไม่ได้ให้สำนึกนั้น ไม่ถูกต้อง เพาะสำนึกนั้นให้ไม่ได้ แต่ควรใช้คำว่า “สร้างสำนึก” เพราะสำนึกนั้นมันเป็น “เรื่องภายใน” เป็นเรื่องจิต สภาวะหยั่งรู้ของจิตถึงความดี ความชอบ สิ่งที่ควรทำสิ่งที่ไม่ควรทำ สิ่งควรเคารพ ควรประพฤติ ควรปฏิบัติ มันเป็นเรื่องที่บอกกันได้ เรียนรู้กันได้ รับรู้ได้ แต่รู้แต่ไม่สำนึก รับรู้แต่ไม่เกิดสำนึก ซึ่งเป็นเรื่องสภาวะด้านในของจิต น่าจะใช้คำว่า “สร้างสำนึก” มากกว่า

รูปธรรมในเรื่องนี้มีมากมายในแต่ละวันของสังคมไทย

การจราจรทุกวันในเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯนั้น มีพฤติกรรมมากมายที่บ่งบอกทั้ง ว่าผู้ขับขี่รถยนต์นั้นมีความรู้เรื่องกฎ กติกาจราจร แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งในท้องถนนที่มีสำนึกสูงมาก เขาหยุดรถ ตรงเครื่องหมายที่เว้นช่องว่าไม่ควรหยุดรถตรงนี้ มีผู้ขับขี่จำนวนไม่น้อยที่ยอมให้รถอีกเส้นทางหนึ่งไปก่อน ที่เราเรียก “น้ำใจ” ที่มีให้ต่อกัน เห็นป้ายจราจรหลายแห่งบอกให้มีน้ำใจต่อกัน ซึ่งก็ดีที่เป็นป้ายเตือนสติให้คนเราไตร่ตรองเรื่องนี้มากขึ้น แต่ป้ายนี้ไม่สามารถสร้างคนให้มีน้ำใจได้

นานๆเราจะได้ยินว่าคนขับแท็กซี่เก็บกระเป๋าเงิน หรือสิ่งของมีค่าที่ผู้โดยสารลืมไว้ในรถแล้วเอาไปให้สื่อมวลชนประกาศหาเจ้าของ…นี่คือ “น้ำใจ” และนี่คือ “สำนึก” ไม่ต้องมีป้าย ไม่ต้องมีใครบอก แต่มันเกิดขึ้นมาภายในจิตใจว่า สิ่งที่ถูกต้องที่สังคมควรพึงปฏิบัติต่อกันนั้นคือการเอาสิ่งของมีค่านั้นๆคืนให้เจ้าของเขาเสีย

บังเอิญผมดูรายการไทยพีบีเอส เกี่ยวกับรัฐสภา ซึ่งวิทยากรเชิญคุณดำรง พุฒตาลมาคุยกันถึงเรื่อง AEC ตอนหนึ่งวิทยากรพูดถึงว่า ประเทศที่ไม่มีคอรัปชั่น โปร่งใสที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด ประชาชนเคารพกติกาสังคมมากที่สุด คือ ประเทศนิวซีแลนด์ วิทยากรเล่าว่า เขาได้รับฟังเรื่องเล่าจากสตรีไทยที่มีสามีเป็นชาวนิวซีแลนด์ เล่าว่า วันหนึ่งสามีไปตกปลา ก็นำปลากลับมาบ้าน แล้วบอกภรรยาที่เป็นคนไทยว่า …วันนี้ตกปลาได้ 10 ตัว…

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมภรรยาไปเอาปลามาเพื่อประกอบอาหาร พบว่ามีปลาแค่ 4 ตัว จึงไปถามสามีว่า ที่บอกว่าตกปลาได้ 10 ตัวทำไมมีปลาเพียง 4 ตัว สามีกล่าวว่า ตกปลาได้ สิบตัวจริง แต่ 6 ตัวนั้นปล่อยกลับคืนทะเลไป ภรรยาคนไทยงงมากๆ ทำไมเป็นเช่นนั้น สามีอธิบายว่า ปลา 6 ตัวนั้น 3 ตัวเป็นปลาขนาดเล็ก กฎหมายห้ามจับปลาเล็กจึงปล่อยไป อีก 3 ตัวเป็นปลาขนาดใหญ่มาก กฎหมายก็ระบุว่า ปลาขนาดใหญ่นั้นเขาจะเป็นพ่อพันธ์แม่พันธ์ต่อไป ควรปล่อยให้เขาขยายพันธ์ต่อไป จึงปล่อยลงทะเลไป..

ภรรยางงใหญ่ บอกสามีว่า ก็เอาปลาใหญ่มาบ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยไปทั้งหมด สามีบอกว่า ทำเข่นนั้นไม่ได้ พร้อมทั้งกำมือมาทุบที่ดวงใจพร้อมกล่าวว่า หากทำเช่นนั้น “..จะเป็นความรู้สึกผิดข้างใน..” ไม่มีคำอธิบายใดๆอีกแล้ว มันแจ่มแจ้งแทงใจจริงๆ นี่คือ “สำนึก” ที่มันเกิดขึ้นมาข้างใน แม้เขาจะมีโอกาสละเมิดกฏิกา โดยที่ผู้อื่นไม่รู้ แต่ “ตัวเขาเองรู้” และนั่นคือรู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด ไม่ถูกต้อง สำนึกข้างในบอกว่า ไม่ควรทำ.. กฏิกามีไว้ดีแล้ว เหมาะสมแล้ว ทุกคนควรเคารพ และปฏิบัติตามเพื่อวัตถุประสงค์ของกติกานั้นๆ….

ผมนึกถึงช่วงที่ผมมีโอกาสไปลงชุมชนชนบทในประเทศลาว ผมพบว่า ในหมู่บ้านมีครอบครัวที่มีแต่คนแก่ หรือผู้สูงอายุ หรือผู้เฒ่า อยู่อย่างโดดเดี่ยว ผมนึกว่าหากเป็นเมืองไทย เขาอาจจะไปเป็นขอทานตามถนนในเมือง หรือดีหน่อยก็สังคมสงเคราะห์ก็เอาไปพักที่สถานที่พกคนชรา หรือมีเงินช่วยเหลือให้ แต่ที่ชนบทลาวแห่งนี้ คนแก่ คนเฒ่า ผู้สูงอายุอยู่ในชุมชนตามปกติได้ แม้จะไม่มีลูกหลานมาดูแลเพราะ “…..ชุมชนเขาช่วยกันดูแล…” คนโน้นคนนี้เอาข้าวมาให้ บ้านซ้ายบ้านขวาเอาเสื้อผ้า หยูกยามาให้…นี่คือน้ำใจ นี่คือสำนึก..

ในสังคมไทยเราก็มีเรื่องราวแห่งสำนึกนี้มากมาย โดยเฉพาะในชนบท… แต่หายากยิ่งกว่าหาทองในฝาเครื่องดื่มชนิดหนึ่งเสียอีก….

แล้วสังคมเราจะช่วยกันได้อย่างไร การศึกษาจะมีส่วนสร้าง “สำนึก” นี้ให้แก่คนหนุ่ม สาว ที่เป็นอนาคตของชาติได้อย่างไร..

เป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบครับ


ถึงบัณฑิตคืนถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 3, 2012 เวลา 13:25 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1452

ขอแนะนำตัวเองว่า เป็นคนภาคกลาง ไปเรียนจบที่ภาคเหนือ มีครอบครัวกับคนภาคใต้ แต่มาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ภาคอีสาน ครอบครัวที่บ้านเกิดมีอาชีพทำนาพ่อเป็นครูประชาบาล

ตัวเองเรียนจบสมัยคลื่นกระแส 14 ตุลา หลายคนเรียก คนเดือนตุลา ก็มีอุดมการณ์กะเขาบ้าง สมัยเรียนก็ไม่ค่อยเรียน จับกลุ่มออกชนบททางภาคเหนือ รอบๆเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พอจบออกมาเพื่อนๆเข้าป่ากันหมด ผมก็เข้าป่าเหมือนกันแต่เป็นป่าอำเภอสะเมิงจังหวัดเชียงใหม่ ทำงานพัฒนาชนบทกับสำนักงานเกษตรภาคเหนือ

ทำงานไปก็ศึกษาไป ก็รู้ตัวดีว่า ไม่เข้าใจชนบทดีพอ เพราะไม่มีความรู้เรื่องทางสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา แต่มีใจจะพัฒนาชนบทเท่านั้น แม้ตัวเองจะเป็นลูกชาวนา บ้านนอก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจวิถีชนบทไปทั้งหมด

ภายใต้รูปธรรม ที่เรามองเห็น จับต้องได้ สัมผัสได้นั้น มันมีสิ่งที่เรียกว่านามธรรมที่เป็นสาระเรื่องราวมากมายที่เราไม่เข้าใจ มันมีประวัติศาสตร์ มีที่มาที่ไป กว่าจะมาเป็นสิ่งที่เห็นนั้นมีเรื่องราวที่มีคน กลุ่มคนเข้าไปเกี่ยวข้อง มีความคิดความเห็นเข้าไปเกี่ยวข้อง มีคามเชื่อ ศรัทธาเข้าไปเกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์ระหว่างกันเข้าไปเกี่ยวข้อง

อย่างที่มีการสรุปกันว่า ความเกี่ยวข้องนี้เรียกความสัมพันธ์ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ระหว่าคนกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

แต่ทั้งหมดนี้ล้วนมีเพื่อ ความสงบ ร่มเย็น ความพอดี พึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งนำไปสู่คำสั่งสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เอื้ออาทรแก่กัน เคารพซึ่งกันและกัน ให้อภัยกัน เกรงอกเกรงใจกัน และมีสำนึกแห่งความพอดีที่จะอยู่ร่วมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นี่คือภาพคร่าวๆของสังคมดั้งเดิมของเรา

ขยายความสักนิดหนึ่ง

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน: คือลักษณะทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆที่พึงปฏิบัติต่อกัน เช่น ผู้เด็กเคารพผู้ใหญ่ คนทั่วไปเคารพนักบวชหรือผู้ประพฤติในศีลในธรรม น้องเคารพพี่

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ: มีประเพณีสิบสองเดือน มีฮีต หรือจารีต เช่น ยามสามค่ำเดือนสามของชนเผ่าไทยอีสานจะทำพิธีเปิดประตูเล้าข้าว แล้วทำขวัญวัวควายที่เคยใช้งานหนัก     ทุบตีเขา วันนั้นจะบำรุงบำเรออาหารการกิน ไปสารภาพบาปแก่เขาไปพูดจาสำนึกบุญคุณแก่สัตว์ที่เราใช้แรงงานเขา เป็นสำนึกที่พึงปฏิบัติต่อกัน แล้วเอามูลวัวควายไปใส่ไร่นา เตรียมการทำนาครั้งต่อไป..

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ: คนภาคกลางไหว้เจ้าที่ เจ้าทาง ศาลพระภูมิ คนอีสานไหว้ปู่ตา ใครไปใครมาต้องไหว้ บอกกล่าว คนไทโซ่นั้นหากใครจะเข้าไปอยู่ในสังคมเขาถาวรหรือกึ่งถาวรต้องทำพิธีก๊วบ หรือไหว้เจ้าที่ บอกกล่าวเจ้าที่ เมื่อคนก้มกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ สำนึกด้านในของเขาก็คิดแต่สิ่งดีดี สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่มีประโยชน์ สำนึกเหล่ารี้ก็จะกำกับความคิด และมาสู่การปฏิบัติที่ดีดี ที่ถูกต้อง ที่สอดคล้องต่อวิถีของเขา…

 

เหล่านี้คือเนื้อหาสาระของชนบทที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตของเขา ส่วนใหญ่เราเคยเห็น แต่ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจเหตุผล แต่ไม่ได้พัฒนาขึ้นไปสู่สำนึก

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันเคลื่อนตัวไป เปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนตัวของสังคมใหญ่ สิ่งใหม่ๆเข้ามาแล้วบดบังของเดิมๆเสียสิ้น ยิ่งเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้คลุกคลีกับชนบท กลับไปคลุกคลีกับสังคมเมือง หลุดออกไปจากชนบท และไปถูกสังคมเมืองหล่อหลอมจิตวิญญาณท่านให้เป็นคนเมืองด้วยวิถีชีวิต ระบบสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ ค่านิยม พลังการโฆษณา พลังการดำเนินการค้าทางธุรกิจ เพลง เทคโนโลยี่ใหม่ ความทันสมัย ศิวิไลซ์…..อินเทรนด์…. คนเข้าคิวกันตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อซื้อ iPhone5 และตื่นสายจนไปใส่บาตรพระไม่ทัน

ภาพเหล่านี้บอกอะไรเราบ้างเล่า…

ผมเคยคุยกับเพื่อนๆในวงการพัฒนาชนบทว่า พวกเรานั้นเป็นมนุษย์สามโลก

โลกที่ 1 คือโลกเมือง มีความสะดวกสบายทุกอย่าง เจริญ ทันสมัย พัฒนาแล้ว แต่คุณต้องมีเงินเท่านั้นจึงจะอยู่ได้

โลกที่ 2 คือโลกชนบท ก็อย่างที่เล่าให้ฟัง

โลกที่ 3 คือโลกในความฝัน ที่อยากให้สังคมเป็น อยากให้เมืองและชนบทอยู่กันอย่างมีความสุข…..

ระบบสังคมเรา ดึงคนออกจากชนบทมาอยู่ในเมือง กินทุกอย่างที่ชนบทกิน แต่ต้องมีเงินเดือน อยู่ไปนานๆลืมรากเหง้าดั้งเดิมเสียสิ้น ลืมกำพืด กลับเข้าชนบทก็เห็นแต่ความล้าหลัง ความด้อย สกปรก ไม่เจริญหูเจริญตา ไม่ทันสมัย มองไม่เห็นอีกภาพของชนบท

ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้ไม่ได้ให้สำนึก ความรู้ที่ได้จึงเดินหน้าเข้าเมืองหมด เพราะเมืองคือตลาดงานที่ใหญ่ที่สุดของบัณฑิต มีเงินเดินสะพัดมากที่สุด ความรู้ที่ได้ ที่มี จึงไปรับใช้ระบบธุรกิจที่มุ่งผลประโยชน์สูงสุด ใครทำได้มีรางวัลให้ ความรู้ที่มี ถูกกฎระเบียบข้อบังคับและวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจกำกับให้ทำตามคำสั่ง หรือ Job description เท่านั้น วัฒนธรรมองค์กรธุรกิจเป็นเบ้าหล่อหลอมคนที่เราเรียกบัณฑิต ลืมรากเหง้าสังคมเดิมไปสิ้น

คำตอบของสังคมแบบนี้คือ ความร่ำรวย ความหรูหรา บ้านแพงๆ รถแพงๆ เครื่องมือเทคโนโลยี่ดีดี เครื่องแต่งตัวดีดี…. แล้วบอกว่านั่นคือความสำเร็จของชีวิต… ???

ภาพทั้งหมดนี้หลุดลอย ออกห่างจากสังคมชนบท ไกลไปจนต่อไม่ติด ไม่เข้าใจ สัมผัสสาระด้านในที่เป็นนามธรรมของสังคมชนบทไม่ได้

ขอเล่าเรื่องประกอบให้ฟังสักเรื่อง

ครั้งหนึ่งผมไปทำงานที่ประเทศลาว มีโอกาสไปเที่ยวเมืองหลวงพระบาง ที่เป็นเมืองมรดกโลก คนมักจะเที่ยว พระราชวัง วัดเชียงทอง พระธาตุพูสี สุสานมูโอต์ และอีกมากมายหลายที่…

ขอกล่าวเฉพาะพระธาตุพูสีตั้งอยู่หน้าพระบรมมหาราชวังหลวงพระบาง เป็นภูเขาเล็กๆบนยอดนั้นมีวัดมีพระเจดีย์ บันไดสองข้างทางที่ขึ้นไปนั้นมีต้นลั่นทม (คนลาวเรียกต้นจำปา) ตลอดแนว คนขึ้นไปกราบไว้ พระธาตุแล้วยืนข้างบนเพื่อชมวิวหลวงพระบาง โดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ตก สวยงามมาก

ก่อนขึ้นพระธาตุพูสีทางขวามือห่างไปสัก 50 เมตรมีโบสถ์เก่าหลังหนึ่งที่หน้าโบสถ์มีกระดานแผ่นเล็กๆเขียนไว้ว่า “เชิญชมวัดป่าฮวกสร้างโดย รัชการที่ 5 ของไทย” แต่โบสถ์หลังนี้ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมของบริษัทจัดทัวร์ของคนไทยเลย

ผมเดินเข้าไป พบชาวลาวคนหนึ่งนั่งที่พื้นโบสถ์ มีโต๊ะเล็กๆตัวหนึ่งวางสินค้าจำหน่ายแก่ผู้คนที่เข้ามาชมศิลปกรรมภาพวาดด้านในโบสถ์ หรือมากราบไหว้พระประธาน ภาพวาดบนโต๊ะของชายคนนั้นเป็นภาพเกี่ยวกับศาสนาที่วาดลงบนกระดาษสา

ผมเดินชมและกราบพระประธานแล้วมาคุยกับท่านผู้นั้น ท่านบอกว่าเป็นข้าราชการกรมศิลป์ของนครหลวงพระบาง ใช้เวลาว่างตอนเย็นหรือเสาร์อาทิตย์มาวาดรูปขายเพื่อเอาเงินมาทำนุบำรุงโบสถ์หลังนี้

ผมขอให้ท่านผู้นี้เล่าประวัติให้ฟังท่านยินดีเล่า ว่า…. วัดนี้ชื่อวัดป่าฮวก เพราะเดิมตรงนี้เป็นป่าไผ่รวก ก่อสร้างโดยรัชการที่ 5 แห่งสยาม มีหลักฐานคือหน้าบัญเป็นรูปพระครุฑซึ่งเป็นสัตว์ประจำกษัตริย์ของอาณาจักรสยาม ด้านหลังโบสถ์มีเจดีย์ และสถานที่กราบไหว้บูชา เป็นคติของชาวสยามว่าหากมเหสีชิ้นพระชนม์ก็จะเก็บพระอัฐิไว้ที่เจดีย์หลังวัด เมื่อคราวใดมาที่วัดก็จะถือโอกาสมากราบไหว้อัฐิด้วย เช่น วัดสวนดอกเชียงใหม่ เจดีย์ด้านหลังวัดคืออัฐิเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งสิ้น

วัดแห่งนี้สมเด็จพระพี่นางเสด็จมามากกว่าสองครั้ง สมเด็จพระเทพฯเสด็จมามากกว่าสองครั้ง และเจ้านายองค์อื่นๆก็มาบ่อย

สมเด็จพระเทพฯท่านทรงมีพระราชดำริว่าต้องการสนับสนุนให้คนหลวงพระบางมาเรียนศิลปกรรมการบำรุงศาสนาศิลปกรรม แล้วให้มาทำหน้าที่ดูแล พระองค์ท่านจึงพระราชทานทุน 5 ทุนให้คนหลวงพระบางมาเรียนที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วให้กลับไปดูแลโบสถ์หลังนี้และศิลปกรรมอื่นๆในหลวงพระบาง เช่นพระบรมมหาราชวังเป็นต้น ท่านผู้นี้จึงมีโอกาสไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะศิลปกรรมล้านนาล้านช้างเป็นอันเดียวกัน

ท่านผู้นี้จึงมาใช้เวลาว่างวาดรูปขายเพื่อเอารายได้เข้ากองทุนทำนุบำรุงวัดป่าฮวกแห่งนี้ เพื่อนๆที่เหลือก็ใช้ความรู้นั้นวาดรูปขายที่ตลาดกลางคืนของหลวงพระบางเพื่อแบ่งรายได้มาสมทบกองทุนนี้….

ท่านผู้นี้ชื่อสมบุน ท่านกล่าวว่าเป็นมหากรุณาธิคุณเหลือเกินที่ทรงเมตตาให้ทุนการศึกษาครั้งนั้น ด้วยสำนึกในพระราชดำริจึงตั้งใจทำหน้าที่นี้โดยรับมาดูแลโบสถ์หลังนี้ สลับกับเพื่อนๆ

น้องทุกคน กำลังคิดอะไร หวังอะไร และจะทำอะไรต่อไปตามเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระเทพรัตนสุดาสยามบรมราชกุมารีพระองค์นี้ที่ทรงพระราชทานโครงการบัณฑิตคืนถิ่นมาเช่นนี้

พี่ๆขอให้น้องพิจารณาเอาเองเถิด..

สวัสดีครับ


งานเขียนห้วยขาแข้ง..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 2, 2012 เวลา 18:18 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1257

“จงใช้ชีวิตให้ตรงกับศักยภาพของคุณ” ผมพูดเอง ไม่ใช่คำพูดของใคร หรือใครจะพูดในทำนองนี้มาแล้วก็เป็นเรื่องปกติ

ผมดีใจที่งานเขียนเรื่องเล่าจากดงหลวงเป็นที่พึงพอใจของท่านเลขาธิการ ส.ป.ก. วันนี้ท่านโทรมาหา แล้วบอกว่า ท่านอ่านทุกเย็นช่วงทานอาหารแล้วก็หยิบมาอ่านวันละเรื่องสองเรื่อง จนท่านบอกกับเลขาหน้าห้องว่า อยากไปเยี่ยมดงหลวงซะแล้ว…

ได้จังหวะผมก็เลยเสนอโครงการในฝันของผม ที่วันก่อนท่านกล่าวว่า เราทำงานโครงการมาด้วยกันที่ ห้วยขาแข้ง ชื่อโครงการก็ย้าวยาว ชื่อ โครงการประสานความร่วมมือเพื่ออนุรักษ์และพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง (HKKC-ICDP) โครงการนี้ได้รับงบประมาณแบบให้เปล่าจาก DANCED หรือ Danish Cooperation for Environment and Development แต่ต้องมีการสมทบจากรัฐบาลไทย และจากองค์กรพัฒนาเอกชน สมัยนั้นผมสังกัด Save the Children (USA) ซึ่งเป็น International NGO ท่านเคยบอกว่าเสียดายโครงการนี้ที่ไม่มีใครทำการบันทึกเหมือน “เรื่องเล่าจากดงหลวง”

วันนี้ผมเลยแย๊บท่านทันทีว่า ท่านเลขาฯครับผมอยากกลับไปกินๆ นอนๆ ที่นั่นสัก 4, 5.. เดือน เพื่อฟื้นความทรงจำแล้วเขียนบันทึกออกมาในรูปเรื่องเล่า… ท่านได้ยินก็บอกว่า …พี่เอาจริงนะ.. เอาเลย แล้วท่านก็ต่อว่า เนี่ยะ เชิญให้มาเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษปีนี้ก็ไม่มาจะได้มอบหมายงานนี้ซะเลย.. แล้วท่านก็กล่าวต่อไปว่า เอางี้ ซิ..พี่ส่ง CV ให้ผม ผมจะตั้งพี่เป็นที่ปรึกษา แล้วพี่เข้าไปพื้นที่ก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้..

เอาแล้วซิ งานเข้าแล้วเรา…

ผมเรียนท่านว่าผมสนใจงานชิ้นนี้ เพราะกลุ่มป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกซึ่งหลายคนไม่ทราบ และเป็นป่าผืนใหญ่ที่สุดของประเทศเรา เป็นต้นน้ำทางซีกตะวันตกของประเทศเรา อยากทราบว่างานของเราหลังสิ้นสุดโครงการแล้วเป็นอย่างไรบ้าง และสิ่งต่อเนื่องกันคือพื้นที่ส่วนเหนือของโครงการนั้นกำลังมีกรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์

ผมรับปากท่าน ว่าจะพิจารณา และปรับชีวิตให้เหมาะสมกับภารกิจนี้ แต่ขอเวลาหน่อย ในหลักการนั้นตกลงแล้ว

ผมตื่นเต้นต่องานนี้ เริ่มงานอย่างไม่เป็นทางการทันที คือ การลงไปห้องสมุดขอเบิกเอกสารของโครงการนี้มาทบทวนรายละเอียดกันหน่อย ได้มาสองเล่ม จริงๆมีมากมาย แต่วันนี้เอาแค่นี้ก่อนก็ได้

ผมตั้งใจว่าจะพัฒนาการเขียนขึ้นไปเป็นแบบมีเค้าโครง เพราะ เรื่องเล่าจากดงหลวงนั้น เป็นเรื่องเล่าสบายๆจริงๆ วันวันเห็นอะไรก็เขียนสิ่งนั้น พบประเด็นอะไรที่น่าสนใจก็หยิบมาขยายความ ใส่ทัศนะ มุมมองของตัวเองลงไป แต่ “งานเขียนห้วยขาแข้ง” มีเป้าหมายการเขียนเพราะต้องการติดตามผลงานของโครงการ จะเรียก Expose evaluation ก็ไม่ใช่ เป็นเรื่องเล่านั้นแหละ แต่มีประเด็นหลักของการเขียน..

คงค่อยๆพัฒนางานเขียนไป เพราะนี่เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นเท่านั้น

ติดตาม “งานเขียนห้วยขาแข้ง” นะครับ..

ไม่รู้จะเริ่มจริงเมื่อไหร่..


สำนึกที่ข้างเตียงผู้ป่วย..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 31, 2012 เวลา 22:02 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1351

บ้านรูปทรงไทยเรือนปั้นหยาริมคลองสำเหร่ ธนบุรีหลังนี้ผมเคยมาพึ่งใบบุญหลับนอน เรียนหนังสือเมื่อ พ.ศ. 2509 โอ้…..54 ปีมาแล้ว หรือนี่….

เป็นบ้านคุณตา คุณยาย ที่ท่านมีเมตตาล้นเหลือให้เด็กบ้านนอกอย่างผมมีโอกาสมาเรียนหนังสือชั้น ม.ศ. 4-5 ที่โรงเรียนใกล้ๆคลองสำเหร่นี้ ซึ่งคุณตาท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ผมมาพักอาศัยฟรีโดยไม่เสียค่าเช่า เพียงทำหน้าที่ทำความสะอาดบ้าน เปิดปิดบ้าน ดูแลความเรียบร้อย และหน้าที่สำคัญอีกประการคือ พาหลานสาว ลูกคุณน้า สามคนไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งเดียวกัน เช้าก็ไป เย็นก็รับกลับบ้าน

หลานคนโตชื่อ อ้น คนกลางอ้อย และ คนสุดท้องอ่อน อ้อยนั้น เป็นประจำที่ผมจะยื่นนิ้วชี้ให้เธอ เธอก็กำแน่นเชียว แล้วก็จูงเธอไปโรงเรียน อย่างนี้ทุกเช้า เย็นก็ยื่นนิ้วให้ เธอก็จับ พาเธอกลับบ้าน ผมจบแล้วเอ็นทรานซ์ติด มช. ก็ไปเรียนที่นั่น น้องชายผมมาจากบ้านนอกก็แทนที่ผม เขาสอบติด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถมยังมีน้องสาวมาอีกคน เป็นสามคนที่มาพึ่งใบบุญบ้านไทยหลังใหญ่นี้..

อ้น หลายคนโตเธอเกิดเส้นโลหิตในสมองแตก พิการขณะที่กำลังจะไปเรียนที่ออสเตรเลีย เธอต้องนอนที่โรงพยาบาล นับสิบสิบปี คุณน้าหมดเงินไปหลายล้านบาทแล้ว แต่ชีวิตลูกก็ต้องรักษากันต่อไป

คุณตาคุณยายท่านเสียชีวิตไปนานแล้ว คุณน้าก็เข้ามาเป็นผู้สูงอายุเต็มที่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา น้องชายผมโทรมาบอกว่า เป็นวันเกิดอายุที่ 78 ของคุณน้า มีงานบุญที่บ้านทรงไทยหลังนี้ ผมควรจะไปกราบท่าน …..

สมควรอย่างยิ่งที่ผมจะต้องวางภาระทั้งหมดลงแล้วไปร่วมงานมงคลที่สำคัญนี้ นานมากแล้วที่ภาระการงานดึงผมห่างออกจากบ้านหลังนี้ แต่ใจผมก้มกราบแทบเท้าคุณตาคุณยายผู้มีพระคุณใหญ่หลวงแก่ผม แก่น้องๆ แก่ตระกูลผม …

คุณน้าต้องผ่าหัวเข่าทั้งสองข้างด้วยความเสื่อมโทรมเป็นปกติของร่างกาย ต้องนอนบนเตียงและจ้างผู้ดูแลมาบริการทุกอย่างให้ วันนั้นมีเพื่อนร่วมรุ่นของคุณน้าที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณสัก 10 ท่านมาร่วมงานด้วย ล้วนเป็นสตรีสูงอายุ เมื่อผมไปเยี่ยมคุณน้าที่ห้องพัก ซึ่งคุณน้านอนบนเตียง เพื่อนๆก็แวะเวียนมาคุยไม้ได้ขาด คนนั้น คนนี้ ผมก็นั่งคุยกับคุณน้าบ้าง ฟังคุณน้าคุยกันบ้าง

แน่นอนครับ ผู้สูงอายุคุยกัน ก็มีแต่เรื่องสุขภาพร่างกาย ความร่วงโรย เป็นนั่นเป็นนี่ รักษาอย่างนั้นอย่างนี้ ที่นั่นที่นี่ แบบนั้นแบบนี้ ทำให้ผมมีสติไตร่ตรองตัวเองที่กำลังก้าวไปสู่จุดนั้น มีช่วงหนึ่งที่ เพื่อนๆคุณน้ามาคุยกันว่า …นี่ดีนะที่หลวงท่านดูแลพวกเราอยู่… พูดแล้วทั้งคุณน้าและเพื่อนคุณน้าท่านนั้นต่างยกมือไหว้ท่วมหัว ผมเข้าใจได้ว่าท่านหมายถึงเงินบำนาญที่ท่านยังรับจากหลวงท่านอยู่ทุกเดือน และเป็นส่วนสำคัญที่เอามาดูแลรักษาร่างกายยามแก่เฒ่าเช่นนี้…

ครับที่หัวเตียงคุณน้ามีพระรูปในหลวงแขวนอยู่…

สำนึกของท่านนั้นส่งต่อเข้ามาในสำนึกของผม…

แม้ผมจะไม่ใช่ข้าราชการ…


ลุงคนหนึ่ง..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 29, 2012 เวลา 20:34 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1374

ผมและน้องทีมงานมีภารกิจต้องไปติดต่อประสานงานเจ้าหน้าที่สวนหลวง ร 9 น้องขับรถไปบนทางด่วนหลายต่อหลายสาย ซึ่งผมไม่รู้เรื่องว่าทำไมต้องเส้นนั้น เห็นจ่ายค่าผ่านด่านไม่รู้จักกี่ครั้ง คนกรุงเทพฯนะ หากคุณต้องการความสะดวก คุณก็ซื้อบริการเอาเอง มิเช่นนั้นคุณก็ใช้เส้นทางปกติที่จะข้ามเมืองไปธุระคงใช้เวลาค่อนวันแน่ๆ

ก่อนเข้าสวนหลวงน้องจอดรถเพื่อหากาแฟดื่ม เรื่องกาแฟนี่ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ แต่ก่อนมีแต่คนรุ่นผู้ใหญ่ ซื้อกาแฟกิน นับตั้งแต่มีการโฆษณากาแฟสด เดี๋ยวนี้วันรุ่นโดยเฉพาะวัยทำงานใหม่ๆ ติดกาแฟเย็น และสารพัดเครื่องดื่มประเภทนี้ ผมตกใจไปสั่งสตาร์บักมาแก้วหนึ่ง 100 กว่าบาท หัวใจไปอยู่ที่ตาตุ่ม ทำไมมันแพงขนาดนี้ ทั่วๆไปกินอเมซอนก็สี่สิบ ห้าสิบ ผมก็ควักแล้วควักอีกว่า กินดีไม่กินดีหือ…


ปรากฏว่าน้องลงไปกาแฟแต่ร้านไม่เปิด ผมกำลังสนใจคุณลุงท่านนี้ตั้งใจจะไม่กินกาแฟตามน้องจะมาคุยกับคุณลุงสักหน่อย สัมภาษณ์สามคำซักหน่อย อิอิ แต่จริงๆสามคำไม่ได้เรื่องอะไร ต้องมากกว่านั้น แต่น้องไม่ได้กาแฟจึงต้องออกรถไป ผมเลยคุยกับลุงได้สองคำเองไม่ถึงสามคำด้วยซ้ำไป

ทำไมลุงต้องถอดเสื้อ ทำไมลุงต้องใส่รองเท้าสวยทำงานซ่อมรองเท้า ทำไมรองเท้าที่ซ่อมจึงเป็นรองเท้ากีฬาทั้งหมด ทำไม ทำไม ทำไม…อีกมากมายในหัวที่อยากคุย ได้คำตอบเพียงว่า ลุงมาออกกำลังกายทุกเช้ามืดที่สวนหลวงแห่งนี้ และมีเพื่อนหลายคนที่มาออกกำลังกายด้วยกัน ลุงคุยไปแสดงท่าออกกำลังกายด้วย แล้วเพื่อนๆก็เอารองเท้ากีฬาที่ชำรุดมาให้ลุงซ่อม….

ผมชอบสัมผัสวิถีชีวิตผู้คนที่ติดดินเช่นนี้ ผู้คนที่ไร้ค่าในสายตาหลายๆคน ผู้คนชายขอบของนักธุรกิจใหญ่ที่มุ่งกำไรมากมาย ผู้คนสูงอายุที่มาต่อสู้ชีวิตด้วยการทำงานริบถนนเช่นนี้ ผมคิดว่าท่านเหล่านี้มีประสบการณ์ชีวิตที่น่าสนใจ และมักมีมุมคิดที่ทำให้เราเห็นสังคมมากกว่ามุมอื่นๆ

ในสังคมสวัสดิการท่านเหล่านี้อาจจะนั่งๆนอนๆในอาคารที่รัฐจัดไว้ให้ ทำกิจกรรมตามกำหนดการที่นักวิชาการสร้างขึ้นมา มีการตรวจสุขภาพตามกำหนด และทานอาหารตามเวลาที่มีคนทำไว้ให้ และ…. ผู้สูงอายุที่มีอันจะกินก็มีคนรับใช้ข้างๆตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง การออกกำลังกายก็เดินไปเดินมาในบ้านที่แสนสงบ…

แต่มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ มีผู้มีความรู้มากมายเดินผ่านไปวันละมากมาย มีนักการเมืองที่เจตนาดีขับรถหรูผ่านไปคันแล้วคันเล่า มีบริษัทใหญ่โตทำโครงการ CSR แล้วถ่ายรูปลงหนังสือมากมายนัยว่าเขาแบกสังคมทั้งสังคมไว้

แต่ลุงข้างถนนต้องมาทำงาน อย่างเต็มใจเพราะความจำเป็นมากมาย…..

อนาคตผมก็คงไม่หนีภาพเหล่านี้หรอกนะ…


ใบไม้ใบนั้น..

อ่าน: 2170

ผมมีธุระต้องไป Lotus Express แห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อทำภารกิจเสร็จก็เดินกลับที่จอดรถ เป็นทางเดินข้างอาคารใหญ่ ผมพบใบโพธิ (ผมเดาว่าเป็นใบโพธิ์ หากไม่ใช่ก็ใกล้เคียงเพราะเหมือนมากๆ) ใบนี้ที่ทางเท้าอย่างแปลกใจมากๆ เพราะ ผมมองไปรอบๆไม่เห็นต้นโพธิ มีแต่ตึกและการจราจรที่หนาแน่น ผมว่าเป็นใบไม้ที่สวยงามมากจึงหยิบเอามาเก็บกลับบ้าน พร้อมจิตก็นึกไปถึง ศาสนา หลักธรรม ความสำคัญของต้นโพธิ์ที่เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์


ใบไม้ใบนี้ถูดเหยียบย่ำมานานเท่าไหร่แล้วไม่ทราบ คนที่เดินผ่านคงเห็น(ว่าเป็นเศษใบไม้ใบหนึ่งที่ไม่ได้คิดอะไร ก็แค่ใบไม้ จิตเขานึกถึงอย่างอื่นๆ) แต่ไม่เห็น ว่านี่คือใบไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ตัวแทนของธรรมะ ตัวแทนของการหลุดพ้น ฯลฯ ผมรู้สึกว่าเมื่อผมเห็นนั้น สำนึกผมดึงกลับมาอยู่ที่ตัวแทนของความบริสุทธิ์…

ผมไม่ได้เขียนเพื่อมาอวดอ้างตัวตนว่าดีเลิศประเสริฐศรีใดๆนะครับ แค่สะท้อนออกมาเฉยๆว่า ผมเห็นใบไม้ใบนี้แล้วผมรู้สึกอะไร..

ที่แปลกไปอีกคือ วันต่อมาผมไปธุระเรื่องเดิม สถานที่เดิมอีก ผมได้มาอีก 1 ใบ และวันที่ 3 ผมก็ได้มาอีก 1 ใบ แต่หลังสุดนี้ สภาพใบยับเยินทีเดียว เพราะถูกเหยียบน่ะซีครับ

ทั้งสามใบอยู่ในครอบครองของผม หรืออาจจะเรียกว่า ผมเอาเศษเท้าของประชาชนที่เหยียบผ่านใบไม้นี้มาเก็บไว้ แล้วระลึกถึงธรรมะ

ไม่มีวันที่ 4 เพราะผมมีกำหนดการไปที่อื่น….

อย่างไรก็ตาม สภาพงาน สังคมเมืองหลวงที่วุ่นวายตลอดเวลานั้น ทำให้ผมวุ่นวายใจมาตลอดเพราะไม่ชอบการใช้ชีวิตในสภาพแบบนี้ แต่ความจำเป็นที่จะต้องอยู่

ใบไม้ใบนี้ทำให้ผมเย็นลงเยอะเลยครับ…..


เรื่องเล่าจากดงหลวง..อีกที..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 17, 2012 เวลา 20:14 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1850

วันนี้ผมอยู่ กทม. หลังจากทำงานในหน้าที่แล้วก็พอมีเวลาก็โทรไปหาหน้าห้องท่านเลขาธิการ สปก. เสียงจากโทรศัพท์ดูเหมือนกำลังอยู่ในห้องประชุม เมื่อน้องเขาทราบว่าเป็นผมก็รีบบอกว่าหนังสือออกแล้วนะ เท่านั้นเองผมก็รีบบอกว่าขอบคุณครับเดี๋ยวพี่จะไปเยี่ยมหน่อย

หนังสือที่พิมพ์มาเมื่อวานเอง..พี่.. ยังอุ่นๆเลย น้องหน้าห้องรีบบอกทันที เที่ยงวันของวันนี้ผมลืมกินข้าวไปเลย เพราะแอบดีใจที่เห็นหนังสือ เรื่องเล่าจากดงหลวงออกมาแล้ว หลังจากใช้เวลาเป็นปี กว่าจะออกมาได้

ผมต้องกล่าวว่า เป็นความเมตตา และกรุณาของท่านเลขาธิการ สปก.ที่หยิบเอาเรื่องเล่าดงหลวงมาจัดพิมพ์ เพราะผมไม่คิดว่าในชีวิตผมจะมีปัญญาพิมพ์เอง แม้จะเขียนเรื่องราวได้มากมายแค่ไหนก็ตาม หากไม่มีผู้อุปการคุณ ที่เห็นประโยชน์ในสาระและให้การสนับสนุนพิมพ์ ตัวผมเองไม่มีทางทำการพิมพ์เองได้


ขออนุญาตแนะนำท่านเลขาธิการ สปก.ท่านนี้นะครับ ท่านเป็นคนนครสวรรค์ เรียนจบรัฐศาสตร์การปกครองจากจุฬาลงกรณ์ รับราชการ สปก.และเรียนต่อที่ AIT ด้าน Rural Development Planning โดยได้รับทุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ และไปเรียนปริญญาเอกที่ University Putra Malaysia(UPM) ทางด้าน Rural Sociology กลับมารับราชการที่ สปก.ตลอดมา พื้นฐานของท่านเช่นนี้จึงมีความเข้าใจชนบทเป็นอย่างดียิ่งท่านหนึ่ง ยิ่งท่านเป็นผู้ใหญ่ของราชการที่หายากมากที่จะเข้าใจชนบท เมื่อท่านมีตำแหน่งสูงขึ้นจึงทำโครงการพัฒนาชนบทมาตลอด ซึ่งผมมีโอกาสร่วมงานกับท่าน 2 โครงการขนาดใหญ่ คือโครงการพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง และโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรูปที่ดินด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน (คฟป.)

ที่ คฟป. นี่เองที่ผมรับผิดชอบพื้นที่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ผมและเพื่อนร่วมงานโดยเฉพาะคุณเปลี่ยน ลุยสนามกันดูเหมือนจะมากกว่าใช้ชีวิตในเมือง จากการคลุกคลีทั้งในบทบาทหน้าที่ที่จะต้องทำ กับความสนใจส่วนตัวต่อความเป็นไปของวิถีชนบท โครงการมีหลายอย่างไปมอบให้ชุมชน โดยเฉพาะความรู้ และมีสิ่งที่ผมได้คืนมาคือความรู้เช่นกัน ผมเขียนสิ่งเหล่านั้นลงในBlog ทั้งที่ Gotoknow.org และที่ Lanpanya.com



และในโครงการเองก็มี KM message ที่ผมเขียนทุกสัปดาห์เวียนให้ทุกคนทราบในเรื่องที่เป็นสาระของชุมชนในพื้นที่และส่วนที่เป็นความเห็นส่วนตัว ผมหยิบมาเขียนหมด ทั้งหมดนี้พบว่าอยู่ในสายตาของท่านเลขาธิการ สปก. ท่านยังบอกผมว่า ไอ้ส่วนที่เขียน อิอิ นั้นเอาไปพิมพ์ไม่ได้นะ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจทานกันและใช้เวลาเยอะทีเดียวกว่าจะเรียบร้อย…



วันนี้ผมได้พบท่านเลขาฯ ท่านยังบอกอีกว่า หากยังมีงานเขียนที่เกี่ยวกับ ผลงานของโครงการ คฟป.อีกก็เอามาพิมพ์อีกได้…. โฮ…ท่านยังให้ความกรุณามากถึงขนาดนี้อีก

เรียนถึงพี่น้องชาวเฮว่า ความจริงท่านกรุณาผมมากเป็นพิเศษ อีกประการคือ ท่านจูงมือผมเข้าไปในห้องคุยกันส่วนตัวว่า หากพี่สนใจตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สปก. ผมก็จะพิจารณาให้…เพราะอยากให้พี่เอาประสบการณ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ สปก.ในด้านที่เหมาะสม…

พี่น้องครับ ผมมี “เรื่องเล่าจากดงหลวง” ให้พี่น้องคนละเล่มครับ ผมจะทยอยส่งให้นะครับ

อ้อ..มีบางส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปคือ เมื่อเกือบสองปีก่อนที่จะจัดพิมพ์ ผมเรียนพ่อครูบาให้ท่านกรุณาเขียนคำนิยมให้ ท่านก็เมตตาเช่นกัน เมื่อจะพิมพ์ผมก็เรียนท่านเลขา สปก.ว่าขอเรียนเชิญท่านกรุณาเขียนคำนิยมให้ แต่ท่านบอกว่า ไม่ต้องหรอก เนื้อหาสาระมากมาย เอาหน้ากระดาษเป็นสาระที่จะพิมพ์ดีกว่า ทีมงานของท่านจึงไม่ใส่คำนิยมทั้งพ่อครูบาฯและของท่านเลขาธิการ สปก.เอง จึงกราบขออภัยพ่อครูบามา ณ ที่นี้ด้วยครับ

เนื่องจากต้นฉบับหนามาก ค่าพิมพ์สูงมาก ขนาดผมเอาหลายบันทึกออกไป ก็ยังหนามากอยู่ และการพิมพ์เป็นแบบ Pocket Book ทำให้แต่ละเรื่องในบันทึกจึงต้องใช้หลายหน้ากระดาษ ผมจึงได้มาในจำนวนไม่มากนัก หากท่านใดต้องการมากกว่า 1 ฉบับ ติดต่อขอเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศครับ เพราะท่านเลขาพิมพ์มาเพื่อเผยแพร่ในวงการ สปก.ทั่วประเทศครับ สำหรับพ่อครูบาผมมีจำนวนพิเศษให้ท่านครับ


 


หมาตัวนี้..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 18, 2012 เวลา 9:53 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2105

ผมมักคุยกันในบ้านว่า เกิดเป็นเจ้าคุกกี้นี่ ดีจริงนะ ถึงเวลาก็มีคนเอาอาหารมาให้ อาบน้ำให้ ปูที่นอนให้ มาหวีขนหาเห็บหาเหาให้ และ….

เป็นน้องหมาที่ไม่ได้ตั้งใจจะเลี้ยง เพราะที่บ้านสมัยแม่ยายอยู่ด้วยท่านไม่ชอบ เพราะเป็นภาระและสกปรก แต่ลูกสาวมาเรียน ABAC เช่าห้องพัก ดันเอาลูกหมาน้อยมาเลี้ยงในห้อง จะอยู่กันอย่างไร เมื่อเธอไปเรียนก็ทิ้งไว้ตัวเดียวในห้อง โฮ..อย่าให้เล่าเลย ลูกหมาก็จัดการทุกอย่างในห้องอ่ะซี ความอยากเลี้ยงเพราะมันน่ารัก เธอไม่ได้ซื้อมา เพื่อนแบ่งมาให้ เธอว่างั้น


ในที่สุดเราก็ต้องเอาขึ้นไปขอนแก่น เพราะความน่ารัก และขี้เล่นของเจ้า โกลเดนท์รีทรีฟเวอร์ นี่แหละ ก็กลายเป็นเพื่อนเล่น ยาหยีผม ยามที่ผมไม่อยู่บ้าน เธอก็เล่นกับน้องหมานี่แหละ คลุกคลีกันจน ขาดกันไม่ได้ เอาไปนอนในบ้านครับ ปูผ้าให้นอน เช้าก็เอาออกไปข้างนอก

บ่อยครั้งที่ผมเอาเขาขึ้นรถไปเที่ยวตามสวนสาธารณะ หรือรอบบึงทุ่งสร้างรอบบ่อบำบัดน้ำเสีย ให้เขาได้เที่ยวนอกบ้านบ้าง ซึ่งเขาชอบมาก หากหยิบสายรัดตัวเพื่อเกี่ยวกับโซ่บังคับละก็ เขาจะแสดงอาหารระริกระรี้ ดิ้นพลาดๆ ชอบมาก เตรียมไปขึ้นรถเลยทีเดียว

เมื่อครบวันก็มีผู้ช่วยแม่บ้านเอาไปอาบน้ำให้ ดูแลให้แทนเรา เขาก็กินทุกอย่างที่เรากิน เราไม่ให้อาหารที่วางขาย เอาข้าวนี่แหละ เขาชอบผลไม้มาก กินทุกอย่างที่เรากิน โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า ต้องมีติดบ้านไว้เลย

เขาว่าหมานั้นแก่เร็ว อายุเท่าใดให้เอา 7 คูณ เจ้าคุกกี้ปีนี้ก็เป็นหมาแก่ๆตัวหนึ่งเจ็บออดแอด ผมต้องเอาไปหาสัตว์แพทย์บ่อยครั้ง หมอหมาก็รับคนไข้(หมาป่วยทั้งหลาย) มากมาย รับกันไม่หวาดไม่ไหว ต้องจ้างผู้ช่วยมาหลายคน แสดงว่าคนเมืองชอบเลี้ยงหมามากจริงๆ

เมื่อสามเดือนก่อน หมอหมา บอกว่า เจ้าคุ้กกี้เป็นมะเร็งลำไส้ ….

เนื่องจากผมและยาหยีเดินทางเยอะ ไม่ค่อยอยู่บ้าน ก็ได้แต่เอายามาจากหมอแล้วทิ้งไว้ให้ผู้ช่วยแม่บ้านดูแลแทน

มาวันนี้อาการเขาแย่มากแล้ว ไม่กินอาหาร หรือกินน้อย เราก็บดและป้อนเขาด้วยทางหลอด เหมือนคนแก่เลย สองสามวันมาแล้วเขาไม่ลุกเดิน นอนมองเราตาปริบๆ เราเดินไปลูบหัวเขา เขาก็กระดิกหางเคาะพื้นดังโป๊กๆ ผมมักเอาทิชชูหรือผ้าเช็ดขี้ตาให้เขา และพูดกับเขา หวีขนให้ ซึ่งหมาพันธุ์นี้ขนหลุดเยอะ ได้เป็นกระจุกๆ

เราคาดการณ์ว่าเขาคงอยู่กับเราไม่นานนัก….

ชีวิตเป็นไปตามกรรม..



Main: 0.087651014328003 sec
Sidebar: 0.078963041305542 sec