แมงน้ำฝน..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 20, 2012 เวลา 19:57 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3492

 

ให้ชาวบ้านมาตัดต้นไม้ พบตั๊กแตนใหญ่มาก ไม่เคยเห็นมาก่อน ถ่ายรูปไว้ แล้วมาหาข้อมูลในเนท ได้ข้อมูลดังนี้…..

ด้านนายเผด็จ กระจ่างยุทธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ให้รายละเอียดว่า น่าจะเป็น แมงน้ำฝน แมงง่วง หรือตั๊กแตนใบโศก  ตั๊กแตนหมู  ตั๊กแตนใบไม้เทียมยักษ์ เป็นตั๊กแตนหนวดยาว มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในตั๊กแตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย เพศผู้สามารถทำเสียงได้ดังโหยหวนมากในเวลากลางคืน หรือพลบค่ำโดยมีอวัยวะในการสร้างเสียง ที่โคนปีกคู่หน้าซึ่งใช้ในการเสียดสีกันจนเกิดเป็น เสียงดัง รูปร่างของปีกคล้ายใบไม้เขียว เพื่อการพรางตัวจากศัตรูตามธรรมชาติ  ขาหลังมีขนาดยาว อาหารของมันคือ ใบอ่อน และเปลือกอ่อนของพืช ในตระกูล ต้นไทร ตั๊กแตนชนิดนี้ ถือเป็นแมลงที่หายาก เพราะในปัจจุบันป่าไม้เหลือน้อย

(ข้อมูลจาก ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2555  ) 


จากแม่กำปองถึงรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 20, 2012 เวลา 14:49 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2022

หลายท่านไม่รู้จักบ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ เพราะเป็นหมู่บ้านที่โด่งดังเรื่องหมู่บ้านในป่าที่ทำโฮมสเตย์อย่างมีชื่อเสียง และมีกิจกรรมอื่นๆที่เป็นเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทนำเที่ยวระดับโลกไปเลยทีเดียว


บางท่านอาจจะไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป แนะนำนิดเดียวว่า บ้านแม่กำปองอยู่บนเทือกเขาด้านตะวันออกของตัวจังหวัดเชียงใหม่ รอยต่อกับ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง อยู่ที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน ซึ่งแยกตัวมาจาก อำเภอดอยสะเก็ด เมื่อหลายปีก่อน

ยาหยีผมมีโครงการศึกษาและพัฒนาเรื่องพลังงานทดแทนที่นั่นจึงทำให้ผมมีโอกาสไปเที่ยวมาครั้งหนึ่ง แต่ยาหยีผมไปหลายครั้ง นี่ก็เพิ่งกลับมา มาเล่าเรื่องราวเปลี่ยนแปลงให้ฟังจนผมต้องหยิบมาเขียน


เธอไปพักโฮมสเตย์ร่วมกับคณะอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. แล้วให้ชุมชนดำเนินรายการไปเสมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ก่อนที่จะไปทำงานตามเป้าหมาย เธอชมว่าผุ้ใหญ่บ้านเก่งมาก เพราะได้รับการพัฒนามานานหลายปีให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมที่โดดเด่นที่เป็นเป้าหมายของคณะอาจารย์ มข.คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าเองโดยอาศัยพลังน้ำตก

ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า แนวคิดนี้ไม่ได้เกิดมาจากชุมชน แต่เกิดจากในหลวง ที่ท่านเคยเสด็จมาที่นี่เมื่อหลายสิบปีมาแล้วเมื่อมาเห็นน้ำตกก็บอกกับผู้นำชาวบ้านว่า ไม่ต้องไปนำกระแสไฟฟ้าจากข้างนอกเข้ามา ผลิตเองได้จากพลังน้ำตกนี่แหละ ผู้นำสมัยนั้นไม่มีความรู้เลยแต่น้อมนำพระราชดำรินั้นมาใส่ใจและแสวงหาความรู้มาตลอด และมีโอกาสไปดูงานโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำของโครงการหลวง แล้วก็นำมาปรึกษากับเพื่อนบ้าน แล้วตัดสินใจจะดำเนินการตามพระราชดำริ

การก่อสร้างสมัยโน้น ซึ่งไม่มีเครื่องมือสมัยใหม่ ทีมงานอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.ยังกล่าวว่า นี่คือพลังใจมหาศาลและความร่วมมือของชาวบ้านโดยแท้ที่สามารถสร้างขึ้นมาได้โดยใช้ความรู้พื้นๆบ้าน แม้อาจารย์ยังส่ายหน้าว่า ทำมาได้อย่างไร เก่งมากๆ เพราะแค่การเจาะหินเพื่อติดตั้งเครื่องมือผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ใช้เวลาเจาะ 1 ปี หากไม่มีใจจริงๆแล้ว ไม่มีทางที่จะทำสำเร็จ เพราะไม่มีการใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ ใช้มือและเครื่องมือพื้นบ้านเท่านั้น…สุดยอดจริงๆ

ทีมอาจารย์ได้ใช้ความรู้สมัยใหม่มาเสริมเติมเต็มการดูแลรักษา ปรับปรุงพัฒนา ต่อยอดการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ยั่งยืนต่อไป ซึ่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันกล่าวว่า แม้ไฟฟ้าสมัยใหม่จะเข้ามาแล้ว แต่ชาวบ้านจะเอากระแสไฟฟ้าสมัยใหม่เป็นไฟสำรองเท่านั้น ยังใช้ไฟฟ้าที่ชุมชนผลิตเองเป็นหลัก… และจะใช้แบบนี้ตลอดไป

มีรายละเอียดมากมายที่ไม่ขอกล่าวถึง


เนื่องจากที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ในป่า บนภูเขาสูงขึ้นไป วัฒนธรรมทุนนิยมภายนอกยังเข้าไปน้อย จึงมีสภาพเดิมๆที่การท่องเที่ยวใช้เป็นจุดขาย และมีบริษัทท่องเที่ยวเข้ามาส่งเสริมร่วมกับทางราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาโฮมสเตย์ และส่งเสริมหัตถกรรมพื้นบ้าน และพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆให้ดึงดูดกลุ่มที่ชอบป่าไม้


แม่กำปองดังเป็นพลุแตก เมื่อฝรั่งมังค่าเล่าปากต่อปาก ต่างซื้อทัวร์มากับตลอดปี โฮมสเตย์จึงเติบโต กิจกรรมต่างๆในชุมชนเพื่อตอบสนองธุรกิจท่องเที่ยวก็ตามมา เช่นร้านอาหาร ร้านกาแฟ มัคคุเทศก์ น้ำตก เดินป่า Gibbon และ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การกำกับของผู้ใหญ่บ้านที่ถูกพัฒนาความรู้เรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จากหน่วยงานราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนดังกล่าว

เมื่อสังคมเปลี่ยน ปัญหาก็ตามมา ชุมชนปรับตัวมาตลอด แต่ก็อยู่ภายใต้การถกเถียงกันภายในชุมชนเองว่าความเหมาะสมคืออะไร… ปัญหาที่ตามมาและปรากฏชัดเจนมากขึ้นคือนโยบาย ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศในช่วงปีใหม่นี้เป็นต้นไปนี่แหละ….

บ้านแม่กำปองแม้จะอยู่ในป่าห่างไกลจากเมือง แต่ก็หนีไม่พ้นที่เด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่ออกจากหมู่บ้านไป เหลือแต่คนวัยกลางคนขึ้นไปถึงผู้เฒ่า ซึ่งคนวัยนี้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอดอายุ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน หลายอย่างก็ค่อยๆเปลี่ยนไป โฮมสเตย์จำนวน 20 กว่าหลังนั้นต้องใช้แรงงานตระเตรียมที่พักอาศัย การบริการต่างๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นเจ้าของโฮมสเตย์ก็ต้องว่าจ้างแรงงานในชุมชนด้วยกันเอง และจากชุมชนใกล้เคียง

เมื่อรัฐบาลประกาศ 300 บาทค่าแรงทั่วประเทศเท่านั้น ผู้เฒ่าต่างคิดไม่ตกว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรเพราะแรงงานเรียกค่าแรงเท่าที่รัฐบาลประกาศ แม้จะยังไม่ถึงเวลาก็ตาม

ผู้เฒ่า เจ้าของโฮมสเตย์แห่งหนึ่งกล่าวว่า รัฐไม่ได้แยกแยะประเภทแรงงานเลย งานบางชนิดใช้เวลาไม่เต็มวัน และเคยพึ่งพาอาศัยกัน ค่าตอบแทนก็ใช้ความพึงพอใจแบบพื้นบ้าน เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว ค่าเช่าก็ไม่ได้แพงเหมือนในเมือง อาหารก็ทำให้กิน ฯ ราคาที่เก็บนั้นยังถูกเทศบาลเรียกเก็บไปบำรุงอีก ชุมชนก็เรียกเก็บบำรุง เรายินดีให้ แต่หากค่าแรงมาขึ้นแบบนี้ เราผู้เฒ่าจะอยู่อย่างไร การจะไปขึ้นราคาที่พักเราไม่อยากทำ

เงินที่ชุมชนเก็บไปนั้นไปตั้งเป็นกองทุนดูแลชุมชนทั่วไปหมด ครัวเรือนใดที่ไม่สามารถทำโฮมสเตย์ได้ ก็ได้รับสวัสดิการต่างๆจากกองทุนนี้ด้วยในหลายๆรูปแบบ เราพึงพอใจที่โฮมสเตย์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชน แต่แรงงานที่ประกาศขึ้นราคาแบบนี้ รัฐบาลไม่ได้พิจารณารายละเอียดของธุรกิจและพื้นที่ บางครอบครัวบอกว่าเมื่อไม่สามารถแบกรับค่าจ้างได้อาจจะต้องปิดโฮมสเตย์ลงไป

นี่คือเสียงสะท้อนจากชุมชนในป่า…ถึงรัฐบาล


น่ารัก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 20, 2012 เวลา 0:25 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1124

ทดสอบ


วิภาคย์ CSR บางองค์กรธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 7, 2012 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1682

สมัยก่อนเราวิจารณ์คุณหญิงคุฯนาย และข้าราชการตำแหน่งสูงๆในการออกไปช่วยเหลือชนบทผู้มีปัญหา เช่น แจกผ้าห่ม แจกถุงยังชีพ มอบสิ่งของ….ฯลฯ ว่าเป็นแค่การสงเคราะห์ มิใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แจกแล้วถ่ายรูปเอาไปลงหนังสือต่างๆ เป็นที่พออกพอใจว่าได้ช่วยเหลือแล้ว

ส่วนดี เป็นการแสดงดารเอื้ออาทรในระดับหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปัญหาแบบเร่งด่วนไปก่อน ส่วนนี้ผมก็ยินดี และเห็นด้วยว่าสมควรทำ แต่ที่เราวิจารณ์กันมากๆคือ มากไปกว่านี้นั้นมันไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานของการเกิดปัญหา แค่บรรเทา แล้วปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นอีก ก็ต้องมาแจกของกันอีก….

การพยายามพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาแท้จริงก็มีมากขึ้น จนเกิดโครงการพัฒนารากฐานจริงๆมากมายในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่การแจกของก็ยังมีคงเดิม ผมก้าวผ่านประเด็นนี้ไปแล้วตรงที่ว่า หากเขามีศักยภาพตรงนั้นก็ทำเถอะครับ ดีกว่าไม่ได้ทำ ส่วนการแก้ปัญหาที่แท้จริงนั้น ก็มีหลายหน่วยงานก้าวลึกลงไปมากขึ้น

จนมาถึงยุค CSR ที่บริษัทใหญ่ๆทั้งหลายต่างก็ตั้งแผนกงานนี้ขึ้นมาแล้วก็จัดตั้งงบประมาณลงมาตรงนี้จำนวนมากเพื่อทำงานพัฒนาชุมชน เป้าหมาย ของเขา เช่น รอบๆโรงงานของเขาเอง หรือพูดตรงๆก็คือ ตั้งงบประมารมาดูแล ช่วยเหลือ พัฒนาให้กลุ่มคนที่อาจจะได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการขององค์กรธุรกิจ พูดง่ายๆ ก็คือ มาเอาอกเอาใจกันเต็มที่ในหลากหลายรูปแบบ สาระ แล้วแต่นโยบายและวิสัยทัศน์ขององค์กรและผู้บริหารองค์กรนั้นๆ

ผมมีโอกาสสัมผัส โครงการ CSR ขององค์กรขนาดใหญ่ที่ทำงานกับประชาชน ผมมีความเห็นมากมาย ทั้งเชิงสนับสนุน และวิภาคย์ งานนี้ เชิงสนับสนุนนั้นคงไม่ต้องพูดมาก เพราะท้องถิ่นได้เม็ดเงินลงไปมากมายในหลายๆรูปแบบ บางแห่งต้องตกใจว่า งบประมาณที่ลงไปนั้นมากกว่างบพัฒนาของจังหวัดทั้งจังหวัดเสียอีก…. แต่ผมอยากวิภาคย์ตรงๆอย่างนี้ครับ

· องค์กรธุรกิจอ้างว่าสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือไปพัฒนาให้ชุมชนพัฒนาตัวเองได้ แต่บรรยากาศ และรูปธรรมนั้นมองไม่เห็นความยั่งยืน มีแต่ปัญหาที่สะสางกันไม่จบสิ้น น่าตั้งคำถามว่า งาน CSR ไปทำอย่างไรจึงไม่สามารถสะสางปัญหาได้ แถมรุนแรงมากขึ้น เพราะมันกลายเป็นการสะสมอารมณ์ ความรู้สึก และความผิดหวังไป แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดพื้นที่

· การทำงาน CSR กลายเป็นการแบ่งประชาชนออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนองค์กรธุรกิจ และฝ่ายที่ต่อต้าน ทั้งสองกลุ่มนี้หลายพื้นที่ก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ทำไมงานพัฒนาโดย CSR จึงก่อให้เกิดปรากฏการณ์นี้

· ผู้บริหารองค์กรมีเจตนาที่ดี แต่ยังไม่เข้าใจชุมชน ไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาชุมชน กระบวนการพัฒนาคน แต่ใช้นโยบาย “ต้องได้ผลลัพธ์ที่ดีตามที่ผู้บริหารต้องการเท่านั้น” ก็คือคำสั่ง คือโจทย์ที่ผู้รับผิดชอบรองลงไปตามลำดับขั้นก็ก้มหน้าหาทางตอบสนองผู้บริหารมากกว่าที่จะให้ “เมล็ดพืชค่อยๆงอกงามไปตามธรรมชาติ” แต่ไปบังคับว่า ต้องเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ หากเป็นเกษตรก็ยังใช้ปุ๋ยเคมี ไปเร่งการเติบโตของพืช มากกว่าใช้ปุ๋ยชีวภาพ ที่ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป และไม่มีผลตกค้าง ตรงข้าม ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปนั้น พืชเติบโตจริง แต่ รอบๆ มีการสะสมสารพิษ

· ทุกคนทำเพื่อเอาใจ นาย ตอบสนองนายมากกว่า นอบน้อมให้ชุมชนค่อยๆเติบโต แคร์นายมากกว่าแคร์ความรู้สึกด้านลึกของชุมชน

· ในมือองค์กรธุรกิจมีทุนมากมาย และแสดงตัวออกมาในภาพเช่นนั้น และผู้บริหารจำนนไม่น้อยเผยออกมาบ่อยๆว่า เขาต้องการเงินไปพัฒนา ไปแก้ปัญหา ก็จัดสรรเงินให้เขาไปซิ ตั้งกรรมการ ระเบียบ ระบบการใช้เงินขึ้นมาก็จบ นี่ไง เราพยายามช่วยเหลือท้องถิ่นแล้ว

· การมีเงินมากมาย กลายเป็นเป้าของนักการเมืองท้องถิ่น ที่ผสมผสานความเดือดร้อนปัญหาของท้องถิ่นที่มีจริงๆ เอามาเป็นนกต่อในการเรียกร้องเอางบประมาณลงสู่ท้องถิ่นที่ตนนั่งบริหารงบประมาณนั้น แล้วก็บริหารงบประมาณนั้นเพื่อสนับสนุนแผนงานตนเอง อวดอ้างแบบเนียนๆว่านี่คือฝีมือเขาในการดึงงบประมาณลงมาพัฒนาท้องถิ่น ช่วยเหลือพี่น้อง ลึกๆก็สร้างชื่อ สร้างภาพ สร้างคะแนน ที่นักการเมืองต่างก็หวังไต่เต้าขึ้นที่สูงไปเรื่อยๆ

· ผมมองว่าในพื้นที่รอบๆองค์กรธุรกิจนั้นเป็นพื้นที่พิเศษ ที่แตกต่างจากท้องถิ่น ชุมชนทั่วไป กระบวนการทำงานจึงต้องแตกต่างจากงานพัฒนาท้องถิ่นทั่วๆไป ผมเห็นคุณนายในคราบ CSR ผมเห็นผู้ให้ในคราบ CSR ผมเห็นผู้หวังดีในคราบ CSR แต่ไม่เห็นนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปวิเคราะห์เจาะลึก แก่นแท้ของสภาพจิตใจ ระบบคิด และความคาดหวังลึกๆของคนในชุมชนที่มีความแตกต่างกัน กลุ่ม CSR เป็นเพียงคนนอก และผู้หวังดี เท่านั้น “ต่างก็อ่านกินกัน” แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในมุมลึกๆของจิตใจ หากเอารูปธรรมของจำนวนความช่วยเหลือ หรือการแก้ปัญหา จะพบ “จำนวนที่ระบุปริมาณ” มากมาย แต่ไม่สามารถกะเทาะเปลือกเข้าไปสู่เนื้อใน จิตใจ ของชุมชนได้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้เวลาสั้นๆทบทวนและวิภาคย์ออกมา ผมคิดว่า หากธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดและแก้ปัญหาที่เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งจริงๆแล้ว จำนวน และปริมาณของงาน งบประมาณ ที่ลงไปนั้น เป็นเพียงน้ำเย็นที่ไปลูบเท่านั้น ปัญหาเชิงลึกที่ดำรงอยู่ในจิตใจของชุมชนนั้นพร้อมที่จะระอุออกมาได้ทุกเมื่อ


ได้ยินแต่ไม่สำเหนียก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 3, 2012 เวลา 8:44 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1271

 

ผมนั้นเกิดอาการเครียดหลายครั้งที่น้องๆมาเชิญให้เป็นพิธีกร หรือผู้ดำเนินการ “การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย…” เพราะงานนี้จะเผชิญกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่มาคัดค้านกิจกรรมนั้นๆหรือไม่ หนอ ผมเคยร้องขอหน่วยวานไปครั้งหนึ่งว่าขออนุญาตไม่รับทำหน้าที่นี้ เพราะผมรู้จักกลุ่มต่อต้าน คัดค้านนั้นเป็นอย่างดี เขาเหล่านั้นก็รู้จัก “พี่บู๊ด” ดีถึงดีมาก ซึ่งผมเคยถูกกระซิบว่า ห้ามมาทำหน้าที่นี้ในเรื่องนี้…. แต่ส่วนใหญ่รับหมด ด้วยความจริงใจที่มาทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น…

ฝ่ายคัดค้านจะเหมารวมว่า ผู้มาดำเนินการนี้เป็นเพียงเครื่องมือของเจ้าของกิจการที่ว่าจ้างมาเท่านั้น เนื้อในก็เป็นพวกเดียวกัน…. ยากครับที่จะอธิบายให้เข้าใจว่า เราเป็นคนกลางที่มารับฟังปัญหา อุปสรรค ความคิดเห็น ข้อคิด ข้อเสนอแนะ ข้อกังวลต่างๆของประชาชนต่อกิจการนั้นๆ บางครั้งวิทยากรต้องหลบสิ่งของที่ถูกขว้างปามาจากฝ่ายต่อต้าน คัดค้านอย่างไม่สมควร …. ประสบการณ์เหล่านี้เองที่ผู้ดำเนินการประชุมเรื่องสำคัญ เรื่องร้อนๆจึงยากที่ใครจะรับมาดำเนินการ ผมต้องมารับหน้าที่นี้ ด้วยหัวใจตุ้มๆต่อมๆ อิอิ

ผมบอกตัวเองว่ามีเจตนาดี และ มีคำที่พยายามจะอธิบายว่าผมมาทำหน้าที่อะไร เราใช้ลู่ทางที่ให้ผู้เข้าร่วมการประชุมพึงพอใจที่สุดว่า ทุกคำพูดของเขานั้นเรารับฟังและถูกบันทึกไว้ทั้งหมด โดยการ บันทึกเทป มีคนทำหน้าที่จดบันทึก และมีพนักงานพิมพ์ทันทีขึ้นจอ Power point ให้เห็นกันจะๆว่าทุกคนพูดอะไร พร้อมทั้งพิธีกรและพิธีกรร่วมยังกล่าวสรุปให้อีกครั้ง ที่ผ่านมาทุกครั้งเป็นที่พึงพอใจต่อที่ประชุม..

กรณีต่อเนื่องจากครั้งหลังสุดที่ทำหน้าที่นี้มา เราพัฒนากระบวนการแสดงความเห็นของชาวบ้านโดยมีเจ้าหน้าที่เราไปจัดคิวให้ ตามลำดับการเสนอตัวมาแสดงความเห็น พบว่า แย่งกันเลยครับ ทั้งหมดเป็น “หน้าเดิมๆ” และ ร้อยละเก้าสิบผมเคยไปสัมภาษณ์ส่วนตัวมาแล้วจึงพอเข้าใจพื้นฐานเขา ซึ่งมีตั้งแต่ชาวบ้านจบเพียง ป. 4 จนถึงผู้นำชุมชน และผู้ที่จบปริญญาโทและเป็นผู้นำในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ละคนมีลีลา ดุดัน เข้มแข็ง ชัดเจน หลายคนมองว่าเป็นการหาเสียงเพื่อการครองใจประชาชน แต่ผมให้น้ำหนังเรื่องนี้น้อยกว่าการที่เขาพยายามแสดงถึงความคิดเห็นของชุมชน ชาวบ้าน ผ่านตัวเขาซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ในชุมชนนั้น

คนหนึ่งที่จบเพียง ป.4 และไม่มีตำแหน่งในชุมชุม ดุดันครับ เขาอธิบายว่าชุมชนเขานั้นเดือดร้อนอะไรบ้าง ลำดับให้ฟัง แล้ววกมาที่หน่วยงาน ที่เพิ่งลงทุนสร้างภาพท้องเที่ยวแม่….จ้างดารามาโชว์ตัวและแสดงต่างๆมากมาย หมดเงินไปเท่าไหร่ทั่วประเทศมาเที่ยวและชื่นชมการจัดงาน ความสวยงามและความประทับใจ ทั้งที่คนในพื้นที่ต้องการเยียวยาปัญหาที่คาราคาซังมาเนิ่นนานแล้ว จะให้ชาวบ้านเข้าใจว่าอย่างไร จะให้คนท้องถิ่นรู้สึกอย่างไร สนุกไปกับงานสร้างภาพนี้หรือ ชื่นชม ไปกับภาพเช่นนี้หรือ…อีกมากมาย….

ชาวบ้านที่จบ ป 4 ท่านนั้น น้ำตาตกมานานแล้ว เขาเรียกร้องมานานแล้ว ครับ ท่านผู้รับผิดชอบได้ยินทั้งสองหูแต่สำเหนียกหรือไม่เท่านั้น การกระทำ การปฏิบัติ เป็นคำตอบ


ความจริงใจที่ทดแทนไม่ได้ด้วยเงิน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 2, 2012 เวลา 23:00 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1202

การทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ EHIA หรือการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ นั้นเป็นเรื่อง ที่ต้องกระทำหากกิจกรรมใดๆคาดว่าจะมีผลกระทบรุนแรง ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่ เป็นความก้าวหน้าของการจัดการของสังคมที่เป็นมาตรฐานโลก การศึกษาดังกล่าวต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สอบผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆมาแล้ว และการศึกษาดังกล่าวมีขั้นตอนที่กำกับ ควบคุมโดยสำนักนโยบายและแผน หรือที่เรียก สผ.

ขั้นตอนที่สำคัญหนึ่งของทั้งหมดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย หรือกลุ่มประชาชนที่อยู่ในบริเวณรัศมี 5 กม.ของที่ตั้งกิจการนั้นๆ ประชาชนที่อยู่ในรัศมีนี้ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ผู้รับจ้างทำการศึกษาจะต้องทำตามกระบวนการ เช่น สื่อสารให้ทราบแผนงานต่างๆที่จะทำ ข่าวสารข้อมูลต่างๆที่จะดำเนินการของผู้ลงทุน และฯลฯ และจะถูกสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามในเรื่องต่างๆตามระเบียบกฎหมายกำหนด

ที่สุดของขั้นตอนคือการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่มี 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เรียกการประชุมรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องกรอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ แล้วให้ประชาชนเป้าหมายแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ แสดงข้อกังวล ให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อให้คณะที่จะทำการศึกษารับรู้รับทราบแล้วนำข้อคิดเห็นทั้งหมดนั้นไปปรับปรุงพัฒนากระบวนการศึกษาให้รอบคอบครอบคลุมตามข้อเสนอนั้นๆ ผู้เข้าร่วมการประชุมจะรวมไปถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชนกลุ่มต่างๆ ฯลฯ… การประชุมครั้งที่ 1 นี้เรียกสั้นๆว่า ค1

การประชุมครั้งที่สองเรียกการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องผลการศึกษา EIA และ EHIA และมาตรการต่างๆ โดยจะลงไปประชุมย่อยในแต่ละพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ระดับตำบล เพื่อใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด รับฟังความเห็นถึงมาตรการต่างๆที่ถูกกำหนดตามหลักวิชาการที่นำมาจัดการกับข้อกังวลต่างๆที่ประชาชนตั้งประเด็นไว้ และที่นักวิชาการเฉพาะด้านคาดการว่าจะเกิดปัญหา อุปสรรคด้านนั้นๆ มาตรการเหล่านี้เป็นไปตามหลักตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกใช้ เป็นอย่างต่ำ อาจจะกำหนดมาตรการที่เข้มข้นมากกว่ามาตรฐานก็ย่อมได้ เรียกการประชุม ค2

การประชุมครั้งที่สามเรียกการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องรายงานผลการศึกษาศึกษาและวิเคราะห์ EIA และ EHIA และมาตรการต่างๆ ก่อนที่จะทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ที่จะส่งให้ สผ.พิจารณาต่อไป ก็เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เรียกการประชุม ค3

ทั้งหมดนี้ผมย่อๆสั้นๆ ซึ่งมีรายละเอียดมากมายตามกฎหมายกำหนด ที่อยากจะกล่าวถึงจากประสบการณ์ที่ผมทำหน้าที่ดำเนินการประชุมมาหลายโครงการ หลายพื้นที่มาแล้ว พบว่า

  • ประชาชนไม่มีความเข้าใจต่อกรับวนการตามกฎหมายเหล่านี้ แม้ว่าจะพยายามอธิบาย หรือใช้สื่อสารต่างๆก็ตาม
  • ประชาชนที่มาร่วมจะพูด หรือแสดงความเห็นในเรื่องที่ตนเองเดือดร้อนเท่านั้น หลายเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการประชุม หรือไม่อยู่ในกรอบเนื้อหาการประชุม เช่น หัวข้อเรื่องเหมืองแร่ลิกไนต์ ก็เอาเรื่องโรงไฟฟ้ามาพูด
  • ประชาชนจะพูดตามแบบฉบับของเขา ที่เป็นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีภาษา สำเนียง สำนวนเฉพาะถิ่น หากผู้รับฟังไม่มีพื้นฐานก็อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้
  • ประชาชนเอาปรากฏการณ์ ประสบการณ์ ความรู้สึก การคาดการณ์มาพูดมากกว่า สถิติ ตัวเลข ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ ซึ่ง เป็นเรื่องปกติ
  • ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามหลักวิชาการนั้นต้องพิสูจน์ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนว่าเกิดมาจากเหตุใด จึงจะสรุปชี้ชัดลงไป ซึ่งปัจจัยการเกิดมีมากมาย แต่ชาวบ้านมีจำเลยในสายตาอยู่แล้วจึงมักชี้นิ้วมาที่ผู้ประกอบการที่สร้างกิจการนั้นๆขึ้นมา
  • ฯลฯ

แต่ทั้งนี้จุดบกพร่องของฝ่ายเจ้าของกิจการก็มีมากมาย แต่มักเป็นผู้ “ถือไผ่เหนือกว่า” อยู่เสมอ และชาวบ้านเองก็ไม่รู้จักช่องทางในการต่อสู้ให้เข้าถึงความจริงที่สุด ผมพบว่า คำกล่าวของประชาชนที่ซ้ำกันมากที่สุดคือ เจ้าของกิจการไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แม้จะตั้งฝ่ายCSR ที่ใช้งบประมาณเพื่อกิจกรรมของฝ่ายนี้ไปมากมาย แต่หากไม่มีความจริงใจ ปัญหาพื้นฐานนี้ก็ไม่ได้แก้ไข ความจริงใจนั้นมีความหมายลึกซึ้งมากกว่า การตั้งงบประมาณหลายล้านเข้าไปแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่เอาไปกองในชุมชนให้ชุมชนมีอิสระในการใช้จ่ายก็ตาม

ชาวบ้านระยองท่านหนึ่งกล่าวว่า คุณคะ…เงินล้านนั้นซื้อใจฉันไม่ได้ แม้ฉันจะต้องการเงินก็ตาม หากไม่มีความจริงใจเสียแล้ว ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข….

น่าเสียดายที่ฝ่าย CSR ของหน่วยงานที่มีมูลค่านับแสนล้านนั้น เข้าไม่ถึงจิตใจชุมชน..


Public Review

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 2, 2012 เวลา 13:21 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1525

ด้วยวัยวุฒิ และประสบการณ์ จึงถูกกำหนดให้เป็นผู้ดำเนินรายการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 67 (วรรค 2) และกฎหมายอื่นๆ ที่สอดคล้องกัน จริงๆในกลุ่มเพื่อนร่วมงานก็สามารถทำหน้าที่ บทบาทนี้ได้ แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นเขาเหล่านั้นอาจจะผ่านมาน้อยกว่า ระหว่างการดำเนินการอาจเกิดการเคลื่อนไหวที่รุนแรง เขาอาจจะไม่เชื่อใจตนเองว่าจะควบคุมได้อย่างไร เขาเลยมอบความไว้วางใจให้เรามาทำหน้าที่นี้

เราเรียก “การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเรื่อง….” กฎหมายปัจจุบันให้สิทธิประชาชนมาก ที่หน่วยงานที่มีกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงจะต้องทำการประชุมรับฟังความคิดเห็น… หากไม่ทำกิจกรรมนั้นๆก็ไม่ผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ.. ก็ไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการนั้นๆได้

จึงเป็นเวทีที่บังคับจะต้องทำซึ่งมีรายละเอียดมากที่จะต้องปฏิบัติตามมิให้บกพร่อง หากไม่เป็นไปตามข้อกำหนดนั้น แม้จะมีการประชุม.. และการประชุมเสร็จสิ้น แต่ไม่ครบเงื่อนไข ก็ไม่ผ่าน จะต้องจัดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งการจัดแต่ละครั้งนั้นใช้งบประมาณจำนวนมาก ใช้กำลังคนมาก เพราะต้องใช้แสงสีเสียง และกำลังคนรับผิดชอบทุกส่วนมิให้ขาดตกบกพร่อง

ผมไม่ใช่ “แม่งาน” แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานเป็นคนควบคุมเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด หากเกิดความรุนแรงขึ้นมาก็มีมาตรการจัดการที่เหมาะสม และใช้วิจารญาณจากประสบการณ์ตัดสินใจควบคุมให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย จึงเป็นบทบาทที่สำคัญที่เขามอบให้ผม เพราะมีหลายงานที่ฝ่ายข่าววิเคราะห์ว่าจะมีการประท้วง จะมีการต่อต้าน อาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการ ซึ่งก็มีจริงจากประสบการณ์ของกลุ่มงาน…

งานที่เพิ่งผ่านมาหยกๆนี้ เป็นหน่วยงานใหญ่มากๆ มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก และเป็นเป้าหมายของฝ่ายคัดค้าน เพราะประชาชนเคยได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ชีวิตและสิ่งแวดล้อมมาแล้ว และคาราคาซังกันมานาน เป็นคดีในศาลก็มี การจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย..จึงเป็นโอกาสตามกฎหมายที่ประชาชนเหล่านั้นจะเข้ามาพูด และแสดงออกซึ่งความเห็นของเขา จากบทเรียนของเขา จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของเขา

การประชุมเตรียมการเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้รัดกุมที่สุด เพื่อให้ดีที่สุดกับทุกฝ่ายโดยคาดการณ์ว่าจะมีชาวบ้านมาร่วม ประมาณ 2000 คน เพราะครั้งก่อนคาดการณ์ว่าจะมา 1000 แต่มาจริง 1800 กว่าคน เกิดปัญหากระทบมากมายต่อการเตรียมการที่ไม่พร้อม เช่นเอกสารแจกไม่พอ อาหารว่าง เครื่องดื่มไม่พอ อาหารกลางวันไม่พอ ขลุกขลัก ที่นั่งไม่พอ ซึ่งหน่วยงานที่ว่าจ้างไม่ชอบที่จะให้เกิดความไม่เพียงพอเช่นนั้น แบบ “เหลือได้แต่ห้ามขาด” การเตรียมการครั้งนี้จึงมโหฬารบานตะไท จ่ายไม่อั้น

โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือกับความรุนแรง ใช้กำลังมากมายทั้งตำรวจ และ รปภ. อปภร. และฝ่ายต่างๆระดมกันมาในรูปแบบต่างๆพร้อมที่จะปกป้องให้การดำเนินงานลุล่วงไปด้วยดี การตรวจสอบ การเชค การทดสอบ ล้วนใช้งบประมาณ ใช้เวลา ใช้กำลังคนมากมาย

เราก็พลอยตื่นเต้นตูมตามไปด้วย เพราะ ….ตรู..กำลังเผชิญหน้ากับอะไรหนอ…. และเราเป็นคนนอกที่ไม่รู้รายละเอียดเชิงลึกของพื้นที่ ของคน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของผู้ดำเนินการที่จะต้องทำหน้าที่ควบคุมด้วย เราจึงต้องหาข้อมูลให้มากที่สุดทั้งเอกสาร ตัวบุคคลเท่าที่จะหาได้

หกโมงเช้าทุกคนมาพร้อมที่สถานที่ดำเนินงาน พระออกบิณฑบาต หมอกจางๆกระจายไปทั่ว นกออกหากิน น้ำค้างบางๆรวมตัวกันเป็นหยดบนผิวใบไม้ริมถนน แม้ถนนก็ถูกจัดการทุกอย่างตามแผนงาน ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายตรวจสอบสิ่งที่เขารับผิดชอบ เครื่องมือ อุปกรณ์ทำงานไหม สิ่งของต่างๆวางในสถานที่ถูกต้องไหม work ไหม ระบบสื่อสารถูกเชค ฯลฯ

ตะวันแดงเริ่มโผล่ขอบฟ้าโน้น หมอกเมฆบดบังแล้วเคลื่อนตัวจางหายไป เสียงเรียกให้มากินข้าวห่อที่ตระเตรียมมาพร้อม เอาน้ำมาเสริฟแล้ว ต่างเชค ตรวจสอบในเรื่องที่ตัวเองรับผิดชอบกัน ผู้ว่าจ้างทยอยมาในรูปแบบต่างๆ กับต่างมองหน้ากันว่า เวลามาถึงแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหนอ…วิตกจริตจริงๆ

แปดโมงเศษ การลงทะเบียนเริ่มขึ้นแล้ว มีพนักงานของหน่วยงานผู้ว่าจ้าวทยอยมาลงทะเบียนแล้วกระจายไปนั่งในสถานที่ต่างๆในห้องเปิดที่มีเก้าอี้สองพันกว่าตัววางจัดระเบียบอย่างดี มีชาวบ้านสองสามคนมา เราเองเดินไปพิจารณามุมโน้นมุมนี้ของห้องเพื่อประเมินข้อบกพร่องที่อาจมี หรือมองแล้วเห็นแง่มุมอะไรบ้าง ก็ปรึกษาหารือกัน

แปดโมงครึ่ง ชาวบ้านมากันหนาตามากขึ้น ลงทะเบียน รับเอกสาร รับของว่าง น้ำดื่มติดมือมานั่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่พาไปนั่งตามบทบาทหน้าที่ที่เตรียมกันไว้

ผ่านเวลาทำพิธีเปิดไปแล้ว ประธานมาแล้ว แต่ชาวบ้านยังมาน้อยกว่าที่ควรเป็น เพราะมีผลบังคับเรื่องเวลา จึงต้องทำการเปิดการประชุม มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อจำนวนเวลาประชุมตามกฎหมายกำหนด ประธานพูดมากตามที่พวกเราเป็นห่วง เพราะคราวที่แล้วประธานพูดยาวเกินไป เกินเหตุ ชาวบ้านจึงลุกมาต่อต้านชี้หน้ากันกลางห้องประชุม ประธานแบบนี้แม้ว่าจะร้องขอท่าน ท่านก็ไม่สนใจ

เมื่อถึงเวลาบรรยายข้อมูลให้ที่ประชุมเพื่อประกอบความเห็นที่เขาอาจจะมีเกิดขึ้นก่อนเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นเห็นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมาแบบนัดหมายกันมา ถือป้ายต่อต้านมาด้วย แต่ตำรวจร้องขอให้เอาป้ายไว้ด้านนอก ไม่อนุญาตเอาเข้ามาในห้องประชุม

แล้วช่วงเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็มาถึง เราจัดระเบียบการพูดไว้โดยให้คิวตามลำดับ เราเป็นคนเชิญให้พูด โดยไม่จำกัดเวลาแต่ร้องขอให้กระชับ แล้วการแสดงความคิดเห็นก็พัฒนาความร้อนแรงขึ้นตามประเด็นที่ชาวบ้านมาพูด ตามน้ำเสียงและวิธีการพูด….มีเสียบปรบมือตอบรับบ้างเป็นครั้งคราว

แต่ชาวบ้านไม่ได้มามากตามที่คาดการณ์……….

คิวการพูดผ่านไปเรื่อยๆ เราเดินไปสังเกตมุมโน้นมุมนี้ แล้วก็ไปถามคุณยายคู่หนึ่งที่ท่านมาร่วมการประชุมนี้ด้วย

ไพศาล คุณยายครับพี่น้องชาวบ้านมากันน้อยจัง…

คุณยาย เออ..คุณ.. เมื่อสองวันก่อนฝนมันตก(เรานึกว่าแล้วเกี่ยวอย่างไร) วันนี้แดดออกดีเชียว ชาวบ้านก็รีบลงนาเกี่ยวข้าวน่ะซีคุณ…..

เท่านั้นเอง อ๋อ………..


 


ตัวตนไทโซ่ที่ Pullman กลางกรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 27, 2012 เวลา 22:57 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1670

เมื่อวันที่ 26 ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power Hotel มีการประชุมนำเสนอบทเรียนที่เรียกว่า Rural Development Model based on Sufficiency Economy for Asia Rural Community in the Future ซึ่งจัดโดย JICA และ สปก. และทีมงานเก่าโครงการ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฎิรูปที่ดินด้วยการพัฒนาการเกษตรผสมผสาน หรือ คฟป. ที่ผมเคยประจำที่ อ.ดงหลวง มุกดาหารมาเกือบ สิบปี


เป็นเรื่องน่าสนใจมากเพราะเป็นการสรุปบทเรียนการทำงานมาทั้งหมดโดยทีมงานวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัย Chubu แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะมุมมองของ Prof. Masato Noda หยิบเอาเรื่องพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ไปเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก ที่ญี่ปุ่นสนใจเอาไปเป็นทางเลือกทางรอดของสังคมของเขา รายละเอียดค่อยเจาะกันต่อไป

ผมมีประเด็นเล็กๆที่จะหยิบมาสะท้อน กล่าวคือ การประชุมครั้งนี้ทางผู้จัดมิได้เปิดกว้างทั่วไปจะเชิญวงในเฉพาะส่วนที่เคยเกี่ยวข้องกับโครงการ คฟป. มาก่อน เช่น ตัวแทนผู้นำเกษตรกร ข้าราชการที่เคยร่วมงาน หน่วยงานราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น สภาพัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวง ฯลฯ

ฝ่ายต่างประเทศนั้นผมเห็นคนญี่ปุ่นมากันเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ JICA และสถานทูตญี่ปุ่น และบริษัทที่ปรึกษา

บรรยากาศในงานเป็นการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยทั้งของนักวิชาการไทยและญี่ปุ่น มุมแสดงกิจกรรมที่สำคัญ เช่นตลาดชุมชน กลุ่มข้าวพื้นบ้านและผักปลอดสารพิษ การเกษตรผสมผสาน และอื่นๆ


 

ตลอดงานช่วงเช้าที่ผมอยู่ร่วมงาน เสียดายที่ตอนบ่ายผมต้องเดินทางไปนครชัยศรี นครปฐมจึงไม่ได้ร่วมงานช่วงบ่าย ตลอดช่วงเช้ามีการนำเสนอผลการวิจัยของคุณ Noda ที่ผมสนใจมากๆ

ตลอดการสัมมนาครั้งนี้ ตัวแทนชาสบ้านจากจังหวัดที่มีโครงการ คฟป.นั้น นั่งกระจายกันอยู่ แต่ที่เดาออกโดยไม่ต้องหันไปดูคือ เกษตรกรจาก ดงหลวง มุกดาหารนั้นจะนั่งหลังสุด ติดฝาห้องเลย นี่หากแทรกฝาได้คงแทรกเข้าไปแล้ว อิอิ (ผมก็กล่าวให้เว่อร์ไป) ทั้งนี้ในฐานะที่ผมคลุกคลีกับดงหลวงมานานจึงรู้ดีว่า นี่คือตัวตนของกลุ่มคนไทโซ่ ดงหลวง

ไทโซ่จะถ่อมตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนต่ำ ล้าหลัง เป็นน้อง เป็นผู้ด้อยกว่า….. ทุกครั้งที่เราจัดประชุมสัมมนาร่วมกับเกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ภาพทำนองนี้ในลักษณะต่างๆจะปรากฏ หากเราเป็นคนช่างสังเกต ทำไมเป็นเช่นนี้ ก็ต้องเข้าในรากเหง้าของไทโซ่ ใครสนใจก็ไปศึกษาได้จาก เรื่องเล่าจากดงหลวง ที่ผมรวบรวมไว้นั่นแหละครับ

พฤติกรรมเหล่านี้ นักพัฒนาสังคมต้องเข้าใจ เรียนรู้ และอ่านรหัสนัยนี้ให้ออกเพื่อการเดินกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มไทโซ่ที่ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับตัวตนของเขา

นักการศึกษา หากเอา Pattern การศึกษาที่ใช้กันทั่วไปมาใช้ก็จะไม่ได้ผลเต็มที่

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ดูจะเป็นคำที่มีความหมายมากกว่าการท่องบ่น และพูดอ้างกันทั่วๆไป…..


ชีวิตกังนัมสไตล์..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 23, 2012 เวลา 22:01 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1391

สายวันหยุดสุดสัปดาห์วันนั้น ผมเดินออกมาหน้าบ้านเพื่อมาดูต้นไม้ว่าควรจะรดน้ำไหม พลันสายตาก็มองไปเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเดินไปที่รั้งข้างบ้านถัดไปสองห้อง เดาเอาว่าเขาเป็นใครคนหนึ่งที่เอาแผนโฆษณาสินค้ามาประชาสัมพันธ์ให้กับสมาชิกบ้านจัดสรรแห่งนี้ เมื่อเขาเหลือบมาเห็นผมก็เปลี่ยนใจเดินตรงลี่มาที่ผมพร้อมยื่นใบโฆษณาตามที่ผมเดาไม่ผิด

เขายกมือสวัสดีพร้อมแนะนำสินค้าเครื่องกรองน้ำญี่ห้อที่ขายตรงชนิดหนึ่ง พร้อมแนะนำ อธิบายตามสไตล์ผู้มาขายตรง ผมดูสินค้าแล้วก็เห็นว่าที่บ้านขอนแก่นผมก็ใช้รุ่นนี้ เลยไม่คุยเรื่องนี้แต่กลับไปถามว่า พ่อหนุ่มเป็นคนที่ไหนล่ะ เขาตอบว่า กาฬสินธุ์ครับ คุณอาล่ะครับ เขาเรียกผมว่าคุณอาพร้อมเหลืบตาไปดูป้ายทะเบียนรถแล้วก็ยิ้มๆว่า อ้อ อยู่ขอนแก่นใกล้ๆกัน

ขายดีไหมเล่า…ผมถาม เขาบอกว่ามาช่วยภรรยาครับ เป็นงานหลักของภรรยา วันนี้ผมว่าช่วงเช้าก็มาช่วยภรรยา ผมอยู่ในหมู่บ้านนี้แหละ แต่เป็นโครงการโน้น พร้อมชี้มือไปทางนั้น ผมถามต่อว่า มีไอ้ตัวน้อยกี่คนล่ะ เขาตอบว่ายังไม่มีครับคุณอา ยังไม่พร้อมครับ นี่ต้องมาหารายได้พิเศษช่วยกันหารายได้ผ่อนบ้านผ่อนรถ ผ่อนทุกอย่าง …..

เย็นวันนั้นผมเรียกแท็กซี่จาก CU square มาบ้าน คนขับรถเป็นคนหนุ่มดูท่าทางทะมัดทะแมง ผมเห็นป้ายแนะนำตัวที่ห้อยจากเบาะหน้าตามหลักของกรมขนส่งทางบก บอกว่าเป็นทหารยศนายสิบ ผมก็เลยถามว่า เป็นทหารหรือครับมาหารายได้พิเศษหรือครับ เขาตอบว่าใช่ครับ ออกเวรยาม จากหน้าที่ปกติแล้วก็มาช่วยเหลือครอบครัว มาขับแท็กซี่นี่แหละครับ ไม่ไหวครับทหารชั้นยศผู้น้อยอย่างผมเงินเดือนไม่พอใช้ ผมมีครอบครัวมีลูกสาวคนหนึ่งกำลังน่ารัก หากไม่หาเงิน ลูกโตขึ้นมาผมก็คงรับไม่ไหว ต้องเตรียมหาเงินให้ลูก ภรรยาผมก็ทำงานแต่รายได้ก็แค่นั้น ครอบครัวใหม่ ต้องซื้อหาของจำเป็นมาสร้างครอบครัวกว่าจะได้มาแต่ละอย่าง ก็ต้องมาอดหลับอดนอน แต่จะให้ทหารอย่างผมไปทำอะไรได้เล่าครับ ความรู้ก็แค่นี้ ไม่ไปปล้นร้านทองหรอกครับ ไม่ปล้นรถขนเงินหรอกครับ..

ผมรักลูกรักเมีย ทำมาหาเลี้ยงชีพสุจริตดีกว่า……

ระหว่างนั่งรถกลับจากไปทำงานที่นครชัยศรี วิศวกรหนุ่มใหญ่ขับปิกอับที่ผู้รับเหมาก่อสร้างถนนเอามาให้ใช้ตามเงื่อนไขการจัดจ้างขับเข้าตัวเมืองมหานคร โดยมีผมนั่งมาด้วยเพื่อกลับบ้าน เราคุยกันหลายเรื่องระหว่างทางซึ่งรถติดมากเป็นช่วงๆ เมื่อใกล้เข้าใจกลางเมืองผมถามวิศวกรว่า บ้านอยู่ไหนเล่าครับ โน้น มีนบุรีโน้น….. หา…มีนบุรี แล้วขับรถไปกลับอย่างนี้น่ะหรือ เขาตอบว่าใช่ครับ นี่มันขับจากตะวันออกไปตะวันตกของตัวเมือง และเลิกงานก็ขับรถจากตะวันตกไปตะวันออกผ่านกลางเมืองที่รถติดมหาศาลอย่างนี้นะหรือ ทุกวันหรือ เขาตอบว่าใช่ครับ…

เขาอธิบายว่า โธ่ พี่…เพื่อนผมขับจากอ้อมใหญ่มาที่บริษัททุกวัน ไปกลับด้วย อีกคนขับจาก ฉะเชิงเทรา มาทำงานบริษัท ไปกลับทุกวัน เขาทำได้ไง…ผมขับแค่นี้ จิ๊บจ้อย ครับ

พี่อีกคนนะ เรียนปริญญาตรีวิศวะ แต่มาหางานทำเพื่อเอาไปเรียนหนังสือ ได้คุมงานก่อสร้างเป็นกะ อยู่ที่นครนายก แต่เรียนที่วิศวะเกษตร บางเขน เขาเรียนจบก็นั่งรถไปนครนายกเข้ากะคุมงาน เสร็จก็นั่งรถกลับกรุงเทพฯ ไปเรียนหนังสือ เสาร์อาทิตย์ก็ทำโอ…เขาทำเช่นนี้ตลอดสองปี จนเขาเรียนจบปริญญาตรี…วิศวกรรมศาสตร์สมใจ

พี่…ผมขับรถแค่นี้ จิ๊บจ้อยมาก….

เฮ่อ…ชีวิตกังนัมสไตล์

มันไม่เกี่ยวกันหรอกครับ ตั้งชื่อเล่นๆให้มันซะใจเล่น

เฮ่อ….ชีวิตของตัวเอง ใช้ซะ…..


ครูเสือ ถึงป้าหวาน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 14, 2012 เวลา 0:13 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1265

เมื่อวาน มีเสียงโทรศัพท์มาถึง บอกว่า เสือ ครับจะมาเยี่ยมที่บ้าน

เอ มันเสือไหนกันล่ะ เสือ ดำ เสือโคร่ง เสือฝ้าย เสือมเหศวร…. สักพักเล็กๆก็นึกออก ครูเสือสมาชิกเฮฮาศาสตร์ของเรานี่เอง ลูกชายมาเรียนเทคนิค ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ปีสองแล้ว มาเยี่ยมลูกก็อยากมาเยี่ยมพี่บู๊ด นานแล้วไม่ได้พบปะกัน

เอ้า..มาซิวันนี้อยู่บ้าน พรุ่งนี้อยู่ระยอง มาเลย มาเลย

รถเก๋งเก่าๆ สัมภาระในรถเต็มไปหมด ตามประสาคนง่ายๆ สบายๆ ไม่ใช่ประเภท เมโทร…ที่ต้องเนียบไปหมดทุกอย่าง

เราแลกเปลี่ยนกันนานสมควรเพราะไม่ได้พบปะกันนาน แม้ในลานในเฟสก็ไม่ได้คุยกัน ผ่านแวบๆบ้าง ครูเสือบอกว่า ยังสอนเด็กอยู่ ภรรยาคนเก่งไปทำงานเชียงใหม่ ลูกชายคนเดียวเรียนที่เทคนิคนี่แหละ หากหมดภาระอีกสัก 5 ปี ตั้งเป้าในใจไว้ว่าอยากเดินสู่อิสรภาพเหมือน ดร.ประมวลเพ็งจันทร์ แห่ง มช.ที่ลาออกจากราชการแล้วเดินจากเชียงใหม่ลงไปบ้านบ้านเกิดที่เกาะสมุย จนโด่งดัง

ผมหยิบเอา อาจารย์ประมวลมาคุยกับเสือเพราะผมรู้ว่า เสือเป็นคนหนึ่งที่สนใจด้านลึกของชีวิต และพอดีที่ อ.ประมวลให้สัมภาษณ์ใน สกุลไทย ฉบับล่าสุด ที่บ้านผมรับประจำ จึงได้อ่านคำสัมภาษณ์ท่าน ยังเฉียบ คม ลุ่มลึกเหลือเกิน ทำให้ผมต้องไปค้น เดินสู่อิสรภาพ หนังสือที่ท่านเขียนหลังเดินทางไกลด้วยเท้าเปล่าและไม่มีเงินติดตัวสักบาทเดียว เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ใครไม่เคยอ่านไปหามาอ่านซะ แนะนำครับ

ผมสนใจและชอบมุมมองชีวิตของ อ.ประมวลมาก จนต้องมาเขียนถึงท่านอีกและอยากแนะนำให้ใครๆอ่านหนังสือของท่านครับ

การเดินของท่าน แน่นอน ผ่านประสบการณ์สุดๆทั้งในแง่บวกและลบ คนข้างทางมองท่านเป็นคนบ้า คนเข้าใจท่านมองท่านคือเทวดา ผู้แน่วแน่ในการค้นหาตัวเองที่ยากใครจะทำจริงๆได้ เพราะคนเราติดสุขกันทั้งนั้น ที่ก้มหน้าทำงานกันงกงกนี่ก็เพื่อความสุข แม้ทางกายก็ตาม….รวมทั้งผมด้วย

แต่บ่อยครั้งที่ผมวกกลับมาสำนึกถึงเรื่องด้านในของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เหนี่ยวรั้ง หรือกระตุ้นจิต ด้านในไว้คือ การเดินเข้าสู่สภาวะความตายจากไป อันเป็นเรื่องปกติของชีวิต ทำอะไรได้บ้างเล่า รีบทำเสีย คิดมาคิดไปยังไม่ได้ทำอีกมากมาย…

ขอบคุณครูเสือที่เป็นกัลยาณมิตรมาเสวนาเรื่องราวด้านในแก่กันแบบสบายๆ คุยกันนานมากประมาณ 6-7 ชั่วโมง

ในระหว่างนั้น ครูเสือยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเอาไฟล์ เรื่องเล่าจากดงหลวง ขึ้นไปแปะไว้ เพื่อให้ท่านที่สนใจดาวน์โหลดไป เพราะตัวหนังสือไม่มีแจก อยากจะแจกแต่ไม่มีจะแจกน่ะซีครับ ครูเสือสอนไว้ ทำให้ดู ให้ผมมาทำต่อ ก็ยังคลำอยู่เลยครับ จนคอมแฮงค์ไปเมื่อเช้าต้องหิ้วเข้าโรงซ่อมที่ it city หลักสี่ ช่างเขาเคาะสองสามทีบอกลุงเอาไปใช้ต่อได้แล้ว ไม่เอาตังค์ด้วย ขอบอกขอบใจแล้วก็หิ้วกลับบ้าน เสียค่าแท็กซี่ไปเกือบสองร้อยบาท แต่ไม่เสียค่าซ่อมคอมพ์ เดี๋ยวนี้ก็มานอนห้องหรูที่ระยองแล้ว พรุ่งนี้จะปฏิบัติภารกิจต่อไป

ขอบคุณครูเสือมากๆครับ จริงๆป้าหวานอาสาช่วยผมในเรื่องเอาไฟล์แปะไว้ที่ไหนสักที่ ก็เกรงใจป้าจริงๆ ครูเสือมาช่วยและมอบให้ผมทำต่อ ก็ยังเปะปะอยู่ครับเนี่ย… ช่วยกันเน๊าะป้าหวานเน๊าะ



Main: 0.21432089805603 sec
Sidebar: 0.11074805259705 sec