ฮักถึงแก่น..
อ่าน: 1267
ผู้มีอำนาจประสานกับนักธุรกิจ หรือบางทีก็เป็นคนเดียวกันคิดอ่านสร้างความเคลื่อนไหวทางกิจกรรมสาธารณะเพื่อให้ธุรกิจเดินสะพัด เช่น งานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ งานสงกรานต์ปิดถนน งาน…..และงาน “ฮักถึงแก่น” ในวันที่ 14 ก.พ. ที่ขอนแก่นนี้
มองคนละมุม : นักบริหารบ้านเมือง และนักธุรกิจเขาคิดอ่านแต่เรื่องจะทำอย่างไรจึงเกิดการเดินสะพัดของการเงิน เพื่อให้ธุรกิจเฟื่องฟู หากมีงานเช่นดังกล่าว ที่พัก ร้านอาหาร โดยเฉพาะไนต์คลับในรูปแบบต่างๆ ที่มีเครื่องดื่ม ดนตรี ที่วัยรุ่นชอบ หากมีงานคนจะมาเที่ยวมากก็จะใช้บริการเหล่านี้มาก เงินก็สะพัด หากมองในมุมนี้ ก็ไม่เห็นความเสียหายอะไร
แต่อีกมุมหนึ่ง ผมว่ามันมากเกินไป เพราะงานแบบนี้สิ่งที่มาพร้อมๆกับกิจกรรมสาธารณะเชิงสนุกสนานนั้นก็คือ การที่ใช้เงินเกินความจำเป็น เกิดปัญหาทางสังคม ยาเสพติดเดินสะพัด และไม่ได้สร้างสรรค์ให้สังคมมีความดีงามแต่อย่างใด ท่านอาจจะบอกว่า อ้าว งานสงกรานต์นั้นเป็นงานประเพณีมิใช่หรือ เขาส่งเสริมวัฒนธรรมไทยเรามิใช่หรือ
ชื่องานนั้นใช่ การอ้างอิงประเพณียิ่งใช่ใหญ่ แต่สาระ รายละเอียดกิจกรรมนั้น มันก็แค่วันเสรีแห่งการกระทำทางการบันเทิง พร้อมๆกับดึงเอาวัฒนธรรมเดิมๆมาขยี้ด้วยความสนุกสนานมากกว่าเพื่อคุณค่า ความหมายแท้จริง สิ่งที่ได้ก็คือธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้อง และทุกครั้งมีคนเสียชีวิต บาดเจ็บ และพัฒนาความทุเรศในเรื่องการสาดน้ำ เต้นรำ และฯลฯ มากขึ้นทุกปี ดังเห็นว่าเมื่อปีที่ผ่านมาถึงขั้นเปิดเผยหน้าอกสตรีกันแล้ว หากสังคมไม่วิภาคย์กันหนักๆ ปีต่อไปอาจจะเห็นการแก้ผ้ากลางถนนเล่นน้ำก็ได้
เมื่อย้อนไปสมัยเราหนุ่มแน่น เราก็สนุกไปตามยุคสมัย แต่ดูเหมือนยังไม่มีอะไรแผลงๆ แต่นั่นอาจจะเป็นเส้นทางเดินของพัฒนาการงานแบบนี้จากอดีตสู่ปัจจุบันก็ได้ เพราะแต่ละปีผู้จัดงานก็มักคิดที่จะทำอะไรที่ใหม่ๆ และแปลกๆ ซึ่งบรรยากาศงานก็สร้างพัฒนาการความต่ำทรามมากขึ้น
ไม่เคยมีนักวิชาการมาประเมินผลกิจกรรมทางสังคมแบบนี้
สังคมไม่เคยมีคณะกรรมการกลั่นกรองกิจกรรมสาธารณะเหล่านี้
สังคมไม่เคยมองมุมกลับย้อนไปหาคุณค่าที่ควรสร้างสรรค์ขึ้นจากกิจกรรมสาธารณะแบบนี้
จริงๆผมไม่คัดค้านงานสาธารณะ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการมองมุมเดียวเฉพาะในเรื่องเชิงบวก แต่ไม่มีใครมองเชิงลบบ้าง
อาจจะเรียกว่า Impact ของงานมีอะไรบ้าง ศึกษา วิจัยกันออกมาซิ มีงานที่สร้างสรรค์สาธารณะอีกมากมายที่ทำได้ ทำไมนักบริหารและนักธุรกิจไม่คิดมองมุมนั้นบ้าง เอาแต่เรื่องสนุกสนาน และสาระก็เป็นวัฒนธรรมนำเข้ามาจากต่างประเทศ มิใช่การต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมของสังคมไทยเรา
สังคมเราถูกจูงไปด้วยระบบธุรกิจ และละทิ้งรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยของเรา นักบริหารบ้านเมืองก็ถูกบรรยากาศกระแสหลักพัดพาไปจนขาดสติในการไตร่ตรองให้มากๆว่าผลเสียมีอะไรบ้าง
แล้วแก่นแกนความเป็นไทยจะเหลืออะไรอีกเล่า…นอกจากอยู่ในตำราที่ท่องบ่นกันเพื่อเอาคะแนนกันเท่านั้น แต่ไม่เคยเข้าถึงคุณค่า ความหมายแท้จริงกัน…