ชาวนาและกรรมกร..
อ่าน: 1674…”สหายทั้งหลาย พรรคของเราก่อเกิดขึ้นมาท่ามกลางความมืดมนอนธการของสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ที่ทุกหนแห่งมีแต่การกดขี่ขูดรีด ชาวนาถูกเอาเปรียบ ถูกเจ้าที่ดินอิงกับอำนาจรัฐปล้อนชิงที่นาเอาไปจนหมดสิ้น กลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ต้องเช่านายทุนทำนาอยู่ในที่ดินที่เคยเป็นของตัวเองมาก่อน ที่เลวร้ายนั้นกลายเป็นชาวนารับจ้างมีชีวิตที่ยากจนข้นแค้น ร่อนเร่พเนจรไปตามยถากรรม กรรมกรในเมืองได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ชีวิตเลวร้ายตกต่ำไม่ต่างจากชาวนา เหล่านี้ล้วนเป็นสภาพที่พวกสหายได้พบได้เห็นและลึกซึ้งกับมันอย่างดี”…
เอามาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่อดีตสหายเขียนไว้ อ่านมาถึงส่วนนี้ผมอยากจะวิเคราะห์วิจารณ์สักหน่อย
ผมอ่านคำกล่าวข้างต้นมานั้นมันคุ้นหูคุ้นตามากๆ
ทั้งนี้เพราะผ่านมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะนี่คือสาระหลักของลัทธิมาร์ค เลนิน ที่วิเคราะห์สังคมในสภาพของชนชั้นที่มีความแตกต่างกัน และคนชั้นล่างมักถูกเอาเปรียบ ถูกใช้ ถูกกดขี่ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ตราบใดที่สังคมเราไม่ใช่สังคมพระศรีอารย์ ผู้ที่ได้เปรียบในทุกๆด้านก็ย่อมหาทางเอาเปรียบทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ยิ่งสังคมในปัจจุบันที่ ความร่ำรวยคือเป้าหมายของชีวิต ระบบการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างคนไปในทางที่เคารพการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ให้แต่ความรู้ แต่คุณธรรมกำกับความรู้นั้นไม่มีประสิทธิภาพดีพอ
ยิ่งระบบธุรกิจมาใช้จิตวิทยามวลชนสร้างระบบการประชาสัมพันธ์ที่ไปกระตุ้นกิเลสเด็ก คนหนุ่มคนสาวที่สำนึกติดกับค่านิยมของยุคสมัยมากกว่าความพอดี ความเหมาะสม ก็ยิ่งไปสนองธุรกิจให้งอกงามเกินความเหมาะสม ระบบธุรกิจนั้นไม่เลวทรามไปทั้งหมด แต่หากชีวิตแยกแยะได้ จำแนกได้เลือกบริโภคได้เป็นสิ่งที่ดีตามความเหมาะสม ก็ไปด้วยกันได้
ทัศนะการร่ำรวยคือเป้าหมายนั้นมาคู่กับอำนาจ ต่างพึ่งพากัน อำนาจเป็นฐานของโอกาสในการแสวงหาความร่ำรวย การมีเงินทองมากก็เป็นฐานของการได้มาซึ่งอำนาจ และใช้อำนาจนั้นไปแสวงหาเงินทองให้มากยิ่งๆขึ้นไปอีก
แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธพัฒนาการของสังคมแบบนี้ และไม่ใช่ไม่เห็นด้วยเฉยๆ เขาต่อต้านด้วย คนกลุ่มนี้รวมๆกันอยู่ในกลุ่มซ้ายในสมัย 14 ตุลา เชื่อมโยงไปถึงพรรคการเมืองใต้ดินคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ภายใต้กลุ่มนี้ มีกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่อีกหลายกลุ่ม ซึ่งสามัคคีกันในระดับหนึ่งและแตกหักกันในท้ายที่สุดของหลักความเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง
สามัคคีกรรมกรและชาวนาเพื่อโค่นล้มทุนนิยมและศักดินา อำมาตย์ คือแนวคิดของกลุ่มซ้ายจัดและพคท.
เมื่อเกิดตุลาวิปโยค กลุ่มซ้ายก็หนีตายหนีการถูกจับเข้าป่า ไปร่วมกับ พคท. โดยมีสายของ พคท.ในเมืองจัดการเดินทางให้ กลุ่มที่เข้าป่ากลุ่มแรกๆคือกลุ่มซ้ายที่เป็นตัวเปิด หรือแดงเด่น พวกนี้เข้าป่าไปก่อนเพื่อน มีกลุ่มซ้ายที่ไม่แดงเด่น มีบุคลิก เงียบๆเฉยๆ พคท.ก็แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเข้าป่า ให้ทำงานในเมืองต่อไป
จนกระทั่ง นโยบาย 66/23 ออกมา ป่าก็แตก คนเข้าป่าทยอยออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย นักศึกษาก็กลับมาเรียนต่อจนจบ แม้บางคนจะไม่เรียนต่อ
คนที่ออกจากป่าแล้วทิ้งอุดมการณ์ทั้งหมดหรือ…..????!!!! ไม่ใช่….แล้วทำไงต่อ…..แต่ละคนก็มีพัฒนาการไปกันตามเงื่อนไขและสำนึกภายใน เมื่อใดที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง คนกลุ่มนี้มักมีส่วนร่วมทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ก้าวเข้าสู่การเมืองในรูปแบบพรรคการเมืองเปิด
ตัดต่อสั้นๆ..มาถึง เมื่อมาจับมือกับ “นายทุนนักการเมือง” มันจึงเกิดช่องทางใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อพรรคการเมืองของทุนใหญ่ก้าวเข้ามาเป็นรัฐบาล แล้วนโยบายของพรรคก็แสดงภาพที่ซ่อนประเด็นแห่งอุดมการณ์ออกมา ต้องเอามวลชนเป็นพลังสนับสนุนให้มากที่สุด โดยการจัดตั้งเครือข่ายโดยอิงอาศัยเครือข่ายเดิมที่ยังอยู่กับ พคท. ยกระดับชาวนาและกรรมกรที่เป็นฐานกำลังสำคัญของเขา หรือมวลมหาประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม…
นี่คือส่วนหนึ่งของที่มา การขึ้นค่าแรง 300 บาท เพื่อกรรมกร
นี่คือส่วนหนึ่งของที่มา การจำนำข้าว 15,000 บาท เพื่อชาวนา
วันก่อนสมองของพรรคการเมืองทุนใหญ่ เปิดเผยว่า เราจำเป็นต้องทำนโยบายนี้ “หากส่งผลไม่ดี เราก็ยินดีทบทวน”
การมุ่งแก้ปัญหาชาวนาและกรรมการนั้นผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ผลที่ปรากฏออกมานั้นมีหลายเรื่องที่เป็นผลข้างเคียงของนโยบายนี้และส่งผลเสียหายมาก
ขอสะท้อนกลับไปยังสมองของพรรคการเมืองทุนใหญ่ครับว่า จงทบทวนรายละเอียดเรื่องนี้อย่างหนักเลยนะครับ