เถาวัลย์ในใจ..
อ่าน: 1900
ต้นไม้สองสามต้นนี้อยู่ที่หน้าที่พัก Green Lake Resort เชียงใหม่ เดินผ่านก็สะดุดตายิ่งนัก คนอย่างเราอดไม่ได้ที่จะเก็บภาพและคิดไปต่างๆนาๆ เช่น
ก่อนจะเป็นภาพที่เราเห็นนี้ มันมีพัฒนาการมานานเท่าไหร่ไม่รู้ ต้นหลักคงจะเติบโตไปธรรมดา แต่เจ้าเถาวัลย์ต้นนั้นก็มาอิงอาศัย เลื้อยพันขึ้นไปทางยอด เดาได้เลยว่าเดิมๆคงเป็นสภาพป่า ที่ต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด เถาวัลย์ต้นนี้คงเติบโตเร็วกว่าต้นหลักที่เขายึดเกาะอยู่ ก็เลยไปเกี่ยวพันต้นอื่นต่อไปซึ่งสูงกว่าต้นหลักเดิมที่เห็น
อัตราการเจริญเติบโตของผู้มาอิงอาศัยอาจจะมีมากกว่าจึงใหญ่กว่าต้นหลักเดิม แถมขยายขนาดออกไปทุกฤดูกาล จนรัดแน่น หากเราเป็นต้นหลักเดิมคงอึดอัดตายไปนานแล้ว
เคยมองเห็นภาพทำนองนี้ของธรรมชาติมาหลายครั้งหลายคนหลายแห่ง เมื่อเราเข้าป่าก็จะเห็นลักษณะการอิงอาศัยแบบนี้ มันเป็นธรรมชาติ ในเชิงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติด้านพืช ผมไม่ทราบรายละเอียดที่เขาอิงอาศัยกันนี้ นอกจากการกอดรัดพันกันแล้วมีการแบ่ง หรือแชร์อะไรอย่างอื่นอีกหรือเปล่า
บางคนอธิบายภาพนี้โยงไปถึงระบบอุปถัมภ์ ที่นักวิชาการหลายท่านตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นรากเหง้าของสังคมไทยที่ไม่ดี เพราะภาพที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น นักการเมือง และนายทุนบางกลุ่มใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อประโยชน์ของเขา
ส่วนตัวเองคิดว่า ทุกอย่างมีสองด้าน เดิมแท้ระบบอุปถัมภ์นั้นเนื้อแท้คือการแสดงน้ำใจ การเอื้ออาทร การแบ่งปัน น้ำใจ คำเหล่านี้คือสาระของการ ช่วยเหลือกัน โดยไม่มีเงื่อนไข แต่มันไปผนวกกับค่านิยมสังคมที่กล่าวว่าบุญคุณต้องทดแทน… ดังนั้นเมื่อมีการมอบให้ ก็มีการตอบแทน แต่ดั้งเดิมนั้นตอบแทนด้วย “น้ำใจ” ที่แสดงออกต่อกันอย่างบริสุทธิ์ ไม่จำกัดขนาด ราคา ปริมาณ มูลค่า แต่แสดงออกถึงด้านลึกข้างในของจิตใจ ซึ่งเป็นแรงเกาะเกี่ยวของคนในแต่ละชุมชน คนสมัยก่อนวัดกันที่น้ำใจกัน ไม่เอามูลค่ามาเป็นตัววัด ชุมชนจึงแน่นแฟ้นมากๆ
ภาพเช่นนี้ไม่เห็นหรือเห็นได้น้อยในสังคมเมือง ยิ่งหากระบบครอบครัวไม่อบรมสั่งสอนลูกหลาน ก็ยิ่งห่างไกลคุณค่า มองเห็นแต่มูลค่าไปหมด สังคมเมืองนั้นลูกหลานใช้ชีวิตกับสังคมนอกมากกว่าครอบครัว การส่งต่อทางคุณค่าดั้งเดิมของสังคมเราจึงขาดสะบั้นไปหมดสิ้น ปล่อยให้ระบบทุน ระบบธุรกิจ เข้ามาหล่อหลอมจิตใจเด็กรุ่นใหม่ไปหมดแล้ว
เขียนมาเพื่อกระตุกกันบ้างเท่านั้น..หุหุ..