ประสบการณ์สหาย…
อ่าน: 1411
หลายคนอาจคิดว่าผมเข้าป่าไปร่วมกับ พคท.สมัยหลังตุลาวิปโยค ผมเข้าป่าเหมือนกัน แต่เข้าป่าสะเมิงไปทำงานพัฒนาชนบท ไม่ได้เข้าร่วมกับ พคท.เหมือนเพื่อนๆ น้องๆอีกนับร้อยคนจาก มช. ถามว่าเพราะอะไรก็ตอบว่า ต่อกันไม่ติดนั่นเอง เพราะผมคลุกคลีกับกิจกรรมทางการเมืองมาตลอดสมัยเป็นนักศึกษา จึงเป็นที่เพ่งเล็งของทางราชการ กอ.รมน. และในที่สุดก็มาเอาตัวผมไปนั่งนอนเล่นในศูนย์การุณยเทพฯร่วมกับนักเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา ชาวนา….
หากย้อนระลึกเรื่องราวสมัยนั้น ก็กล่าวได้ว่า เราต้องการความยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบ อิทธิพล คอรัปชั่น และระบบธุรกิจที่เอาเปรียบสังคม นักปกครองที่กดขี่ ข่มเหงประชาชน …. จริงๆทัศนคติแบบนี้ก็มีกันทั่วไป เพียงแต่ว่า เมื่อมีแล้วกลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อต้านด้วย ใครที่เดือดร้อนในเรื่องราวเหล่านั้นก็เข้าไปยืนเคียงข้างและเคลื่อนไหวเรียกร้องความเหมาะสม ถูกต้อง.. แต่แล้วคนกลุ่มนี้ก็ถูกผลักให้เข้าไปเป็นพวกลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยที่จำนวนมากไม่เข้าใจว่าลัทธินี้คืออะไร โดยเฉพาะชาวนา
แม้ว่านักศึกษากลุ่มนี้จะศึกษาเอกสารเกี่ยวกับลัทธินี้มามากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ทั้งที่เป็นเอกสารวางขายในท้องตลาดสมัยนั้นและเอกสารที่ต้องห้าม คือไม่มีวางขาย เอาเข้าจริงๆคนกลุ่มนี้ก็มีคำถามมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ และไม่รู้จะไปหาคำตอบที่ไหน ก็เป็นประเด็นค้างคาในใจ เป็นความเชื่อ ทัศนคติ แนวคิดในรายละเอียดที่แต่ละคนก็แตกต่างกันไป แต่รวมๆต้องการแก้ปัญหาสังคมที่เหลื่อมล้ำ เอารัดเอาเปรียบ เมื่อรายละเอียดแตกต่างกัน จึงเกิด “กลุ่มในกลุ่ม”
ปรากฏการณ์ “กลุ่มในกลุ่ม” นี้เองที่ พคท. ไปไม่รอด ก็เป็นเรื่องทั่วไปในสังคมไหนๆก็มี ในระบบครอบครัวทั่วไป สามี ภรรยาก็มีความแตกต่างในความคิดเห็น ปรากฏการณ์เหล่านี้ นี่เองจึงเกิดคำที่ว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อรวมกลุ่มกันเอาไว้ก่อนให้ “ผู้ทำหน้าที่ผู้นำรับผิดชอบความคิดเห็นเหล่านั้น” .. ช่างเหมือนหลักการ Law of Boss ในสังคมบริหารจัดการองค์กรที่ว่า “กฎข้อที่หนึ่ง เจ้านาย หรือผู้บริหารถูกต้องที่สุด กฎข้อที่สอง หากเจ้านายทำอะไรผิดพลาดให้ไปใช้กฎข้อที่หนึ่ง” ความรับผิดชอบจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
ผมจึงชอบศึกษาประสบการณ์ชีวิต แนวคิด หลักคิดของใครต่อใคร แล้วน้อมนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ปรับตัวเอง แน่นอนบางเรื่องปรับได้ หลายเรื่องก็ปรับไม่ได้ หนังสืออีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจศึกษาคือ บันทึกของท่านสหายทั้งหลายที่เข้าป่า ออกมาใช้ชีวิตปกติ เขียนบันทึกไว้นั้น หลายเรื่องตอกย้ำบทสรุปชีวิตของเรา บางเรื่องเราเรียนรู้ใหม่ๆ
ท่านครับ แต่ละประโยคที่ท่านเหล่านั้นหยดน้ำหมึกลงมาเขียนนั้น คือชีวิตจริงของเขาน่ะซี…