การจัดการชุมชนชนบทในระบบนิเวศเกษตรเชิงเขา

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2012 เวลา 10:31 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2435

ทำไมคนอีสาน จึงเป็นมะเร็งตับมากที่สุดในโลก

ไม่ใช่สถิติที่เราควรภูมิใจ ตรงข้ามต้องเอามือมากุมขมับด้วยซ้ำไป…ทำไม..?

เป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง แต่สถิตินี้ไม่ใช่เพิ่งจะมาทราบ เราทราบมากว่า 20 ปีแล้วครับ

ท่านอาจารย์หัวหน้าภาควิชาการโภชนาการของ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ผมสนิทสนมด้วย ท่านเสียชีวิตไปเพราะมะเร็งตับ ยาหยีผมก็ร่วมงานวิจับกับคณะแพทย์ศาสตร์ มข. มาตั้งแต่สมัยปีมะโว้ ก็เรื่องนี้แหละ ตามไปศึกษาวิถีชีวิตอีสานที่ไปเป็นแรงงานตัดอ้อยในจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และ…. เข้าไปศึกษาในชนบทอีสานหลายแห่งทั้งอีสานเหนือ กลาง ใต้

สรุปมาตั้งแต่สมัยนั้นว่า ต้นเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งตับของคนอีสานคือ “การกินดิบ” ก็กินอาหารดิบ ดิบๆสุกๆ ไม่ว่า ปลาดิบๆ หอยดิบๆ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อสัตว์ป่า สารพัดเนื้อสัตว์เอามาทำอาหารดิบกินกับ แซบหลายเด้…. ก็เจ้าแซบหลายนี่แหละ คือต้นเหตุของการเกิดมะเร็งตับ คณะแพทย์ศาสตร์ มข.สรุปมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว… และมีการแปรข้อมูลเหล่านี้ออกไปสู่สื่อสาธารณะเพื่อเตือนประชาชนอีสานให้เปลี่ยนวิธีการกินอาหารดิบ…..ทำกันมานานแล้ว

มาวันนี้ก็ยังมีการพูดถึง เรื่องนี้ และเป็นสถิติโลกไปแล้วด้วย..

มีคำที่สำคัญ หรือ Key word ที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ “พฤติกรรมการกิน” ของคนเรานี่เอง หากจะกล่าวอีกมุม ก็คือ “วัฒนธรรมการกิน” อาจจะแยกเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือ ตัวอาหารที่กินกับกระบวนการกิน สำหรับตัวอาหารนั้น คือวัตถุดิบและวิธีการปรุง การศึกษาครั้งนั้นเท่าที่ผมจำได้คือ กระบวนการกินที่ใช้มือ มาเป็นใช้ช้อน จากช้อนของใครของมัน ตักอาหารส่วนกลางมาเป็นช้อนกลาง ดูจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่เรื่องอาหารที่ดิบ หรือไม่สุก ดีที่สุดคือ ดิบๆสุกๆนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเป็นกินสุกมากขึ้นนั้นทำได้แค่ระยะหนึ่ง แต่แล้วหันไปใช้พฤติกรรมเดิมๆ คือ “กินดิบ”

นี่เองที่ปัญหาที่สลัดไม่ออก คนอีสานไปกรีดยางภาคใต้ ก็ไปแสดงพฤติกรรมการกินของพื้นบ้านอีสาน ยังมีเรื่องเล่ากันว่า คนอีสานไปทำงานต่างประเทศ ยังไปจับสัตว์ป่าเขามากินดิบซะเรียบร้อย ทั้งที่สัตว์ป่านั้นเป็นสัตว์พ่อพันธุ์ของเขา….จริงหรือไม่จริงไม่มีใครยืนยัน แต่เรื่องราวทำนองนี้ไปยืนยัน พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสานว่ามีติดตัวไปทุกหนทุกแห่งที่คนอีสานไปอยู่อาศัย

ผมอยากจะเพิ่มอีกคำลงไปใน พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสานนั้นก็คือ “การติดใจในรสชาด” ของอาหารนั่นเอง ดังนั้น “พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสาน” จึงมี “การติดใจในรสชาดอาหาร” ติดขนานไปด้วยกัน…ไปไหนไปกัน..แบบนั้น

ทำไมชาวจีนจึงทานอาหารร้อนๆ ดื่มชาร้อนๆ ทำไมชาวเกาหลีจึงทานผักดองที่เรียกกิมจิ ทำไมชาวอินเดียจึงใส่เครื่องเทศในอาหารมากมาย เหล่านี้คือวัฒนธรรมการกิน พฤติกรรมการกินที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นด้วยระบบวิถีชีวิตที่คลุกคลีมาตั้งแต่เกิด

ข้อสรุปนี้ นักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆอาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งเหมือนนักวิทยาศาสตร์สังคม เพราะ Key word ตัวนี้มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอีกมากมายตามมา หรือกล่าวอีกทีคือ มีเรื่องราวอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์กลุ่มนี้ เช่นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในสังคม การใช้เวลาในแต่ละวันของชาย หญิง ในสังคมชุมชน การให้ความสำคัญกับความเชื่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ การจัดกลุ่มโดยธรรมชาติในชุมชน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในชุมชน การสร้างนวัตกรรมเครื่องมือจับสัตว์ที่หลากหลาย จากง่ายไปสู่ความซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ ตลอดเลยไปถึงการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งบ้านเรือน กระบวนการตัดสินใจต่างๆในวิถีการดำรงชีวิตของเขา..ฯลฯ…

ผมได้อธิบายกับเพื่อนที่ผมไปทำงานด้วยกันเรื่องปรากฏการณ์หนึ่งคือ จะมีการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงศึกษา สำรวจ แล้วทำการโยกย้ายชาวบ้าน สมมติ 700 ครัวเรือนออกไปจากพื้นที่โครงการ ไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ ไกลออกไปจากที่เดิม พร้อมกับจะจัดที่ดินทำกินให้ใหม่ และอื่นๆมากมายที่จะสนับสนุนให้คนที่ถูกโยกย้ายมานั้นมีความกินดีอยู่ดีให้ได้ แต่บังเอิญเหลือเกินที่โลกเกิดวิกฤติการเงิน ไปกระทบผู้ลงทุน โครงการนี้จึงหยุดไป ขณะที่โยกย้ายชาวบ้านไปแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไปได้จนจบสิ้น ค้างเติ่ง เช่นนั้น

วันดีคืนดี มีอีกกลุ่มหนึ่งมาดำเนินโครงการนี้ต่อ จึงมีการศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบันว่าเป็นเช่นไรบ้าง การศึกษาพบว่ามีประชาชนที่โยกย้ายไปแล้วนั้น กลับไปอยู่ในที่ดินทำกินเดิมจำนวนที่มากพอสมควร

ประเด็นอื่นเราไม่ขอกล่าวถึง แต่ตั้งคำถามกันว่าทำไมจึงมีการโยกย้ายกลับไปยังที่ดินทำกินเดิม.? และเป็นจำนวนมากกว่าที่รับรู้มาก่อนจนตกอกตกใจกัน จากการประมวลข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์โยกย้ายกลับคืนที่ดินทำกินเดิม การสัมภาษณ์ประชาชนท่านหนึ่งเป็นผู้สูงอายุท่านกล่าวว่า หมู่บ้านที่ราชการจัดสรรให้นั้นเป็นชีวิตที่พึ่งพิงตลาด ฝากท้องไว้กับตลาด แต่การกลับไปทำมาหากินในที่เดิมนั้นเป็นการพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ได้ซื้อไม่ได้ขาย หาของป่ากินไปวันๆ….

เมื่อเราเดินทางไปดูสถานที่ตั้งชุมชน ซึ่งปลูกกระต๊อบเป็นกลุ่มๆ มีกลุ่มละ 5-6 หลังคาเรือน รอบๆบ้านปลูกกาแฟ ถัดออกไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ถัดออกไปเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาก มีร่องรอยบุกเบิกเพิ่มเติม…คนที่เราพบส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน มีผู้เฒ่าบ้าง แต่ส่วนใหญ่ผู้เฒ่าจะอยู่ที่บ้านจัดสรรโน้น.. ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนักเรียกว่าอยู่กันแบบดั้งเดิมจริงๆ แน่นอนไม่มีมือถือ ไม่มีทีวี และไม่มีไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด..

เดินขึ้นไปในบ้านมีถุงข้าวกองอยู่ นั่นคือข้าวสำรองที่เก็บไว้ให้คุ้มกินตลอดปีสำหรับจำนวนคนในครอบครัว อาจมากเกินบ้างก็เผื่อเหลือเผื่อขาดง..ฯลฯ ล้วนเป็นระบบวิถีชีวิตชุมชนแบบที่มีระบบนิเวศเชิงเขาและเป็นชนเผ่าที่มีความเชื่อเฉพาะของเขา

หากเราไม่เข้าใจเขา การแก้ปัญหาของคนนอกก็ไปใช้ระบบคิดแบบคนนอกไปกำหนดวิถีชีวิตเขาไปหมด นัยเจตนาที่ดี นโยบายของรัฐ สารพัดเหตุผลที่เอาไปอธิบายชาวบ้านที่ส่วนมากจำนนต่อกฎของรัฐ แต่สภาวะจิตใจภายในนั้น บ่งบอกออกมาในรูปของคำพูดและน้ำเสียง สีหน้า เลยเถิดไปถึงพฤติกรรมที่ตามมาอีกหลายด้าน….

ชาวบ้านที่โยกย้ายกลับมาในที่ดินทำกินเดิมนี้ ส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลหลักคือ วัฒนธรรมการทำมาหากิน ความถนัด ความเคยชิน รวมไปถึงวัฒนธรรมการบริโภค และพฤติกรรมการบริโภคนั่นเอง มีข้าวจากข้าวไร่ พอมีรายได้จากกาแฟ แต่อาหารนั้นหามาจากป่ามากกว่า ร้อยละ 90

สรุปแบบห้วนๆว่า พฤติกรรมของวิถีชีวิต วัฒนธรรมการบริโภคอาจจะไม่เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งตับของชุมชนที่นี่ แต่มีส่วนสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ คือป่าไม้

ประเด็นของนักพัฒนาคือ เราจะหาความลงตัวใหม่ได้ที่ตรงไหน…

แต่น่าเสียดายที่ระบบงานมักให้แก้โจทย์สำคัญเหล่านี้ด้วยเงื่อนไขกระบวนวิธีของคนภายนอก นโยบายรัฐ และเวลาที่จำกัด

ทำได้ครับ แต่ต้องอาศัยกระบวนการปรับตัว ในด้านต่างๆมากพร้อมๆกับระบบพี่เลี้ยงที่เข้าใจและยืดหยุ่นพอสมควร…

ไม่มีอะไรที่ติดแน่นคงที่ มีแต่เปลี่ยนแปลงไป แต่การเปลี่ยนแปลงต้องอยู่บนฐานของความสมดุลและการลงตัวด้วย…



Main: 0.072594881057739 sec
Sidebar: 0.17918920516968 sec