เห็นแต่ไม่เห็น..
อ่าน: 1428
บ่อยครั้งที่ผมทดสอบความเข้าใจของคนที่เข้ามาทำงานชุมชนโดยให้ “วาดภาพหมู่บ้านชนบททั่วๆไปว่ามีอะไรบ้างที่เป็นแก่นแกนของหมู่บ้าน หากวาดไม่ได้ก็เขียนเป็นตัวอักษรแทน” ทุกท่านคงเดาออกว่าภาพที่ได้มานั้นจะมี ภูเขาสองลูก มีนกสองตัวบิน มีพระอาทิตย์ มีทุ่งนา มีบ้านมีกองฟาง มีวัวควาย เป็ดไก่ มีแหล่งน้ำ มีโรงเรียน มีสถานีอนามัย…..
แต่สิ่งที่พบว่าร้อยละ 99 ที่ไม่มีในภาพวาดนั้นคือ เรื่องของความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี แม้ว่าจะวาดยาก แต่โจทย์ก็บอกไว้ว่าหากวาดไม่ได้ก็เขียนได้
ยิ่งหากทำกิจกรรมนี้กับคนเมือง คนสมัยใหม่ที่ผ่านระบบโรงเรียนในเมืองมาเขายิ่งทำท่างงเข้าไปใหญ่
ภาพซ้ายมือข้างบนนั้นคือที่ทำการ อบต.ของตำบลหนึ่งสร้างขึ้นชายหมู่บ้านติดกับป่าชุมชนและศาลเจ้าปู่ที่คนในหมู่บ้านนี้ ตำบลนี้ให้ความเคารพนับถือ สังเกตได้จาก บริเวณนั้นมีต้นไม้ใหญ่หลายต้นมีศาล มีอาคารที่สร้างขึ้นขนาดบรรจุคนได้สักห้าสิบคนและมีบริเวณรอบอาคาร(ไม่เห็นในรูป) ที่อาคารนั้นมีเครื่องบ่งชี้ว่ามีการมาทำพิธีต่างๆของคนจากหมู่บ้าน และที่บ่งชี้ได้ชัดเจนอีกประการคือ ไม่ว่ามอเตอร์ไซด์ หรือรถยนต์ที่วิ่งผ่านตรงนี้จะบีบแตรสองครั้ง…..
ผมสังเกตทีมงาน ที่ไปกับผมนั้น ไม่มีใครสนใจสิ่งที่ผมบรรยายมานี่เลย ต่างขยันขันแข็งในการเตรียมสถานที่ประชุมตามบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ และเขาทำได้ดีมาก ต่างช่วยเหลือกันหยิบโน่น จัดนี่ เช็ด กวาด ถู เก็บ เดี๋ยวเดียวการเตรียมสถานที่ก็เรียบร้อย พร้อมที่จะประชุม แต่ไม่มีใครสนใจสิ่งที่อยู่ข้างๆนั้นเลย…..
แต่ว่าเรื่องที่เรามาประชุมนั้นเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่….
ผมเฝ้าสังเกตพฤติกรรมกลุ่ม เมื่อคราวที่ประชุมเสร็จเราก็มีการทำ after action review สรุป ประเมินผลสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นว่ามีจุดบกพร่องตรงไหนบ้าง เพื่อจะได้แก้ไขในวันต่อไป ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องที่ผมบรรยายมา ผมจึงลุกขึ้นสอบถามน้องคนหนึ่งว่า เมื่อน้องเข้ามาประชุมนี้ หากพบพ่อกำนันซึ่งมักเป็นผู้มีอาวุโสและมีตำแหน่งในชุมชนนี้น้องทำอย่างไร น้องตอบว่า ก็แสดงความเคารพโดยการยกมือไหว้ ผมชมเขาว่าถูกต้องแล้ววัฒนธรรมไทยเราเคารพผู้มีอาวุโสกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่เช่นนี้เราก็ควรแสดงความเคารพ
ผมอธิบายต่อไปว่า สังคมเรานั้น โดยเฉพาะสังคมชนบทมีโครงสร้างสองชั้น หรือมากกว่าสองชั้น คือ โครงสร้างทางการปกครองที่มี ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เป็นต้นที่มีหน้าที่ตามระบบการปกครอง แต่มีอีกระบบหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นต่อกันเหมือนระบบการปกครองแบบราชการ นั่นคือระบบวิถีชุมชน เรามี หมอตำแย(ซึ่งเหลือน้อยเต็มทีแล้ว) เรามีหมอนวด หมอเป่า หมอสมุนไพร มีผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีตามประเพณีของชุมชน ทางอีสานก็มีเจ้าโคตรที่เป็นผู้อาวุโสสูงสุดของตระกูล และที่สำคัญ “มีความเชื่อ ความเคารพต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ”
สิ่งที่กล่าวมานี้คนในชุมชนด้วยกันเขาเห็น เขาเคารพ เขาปฏิบัติ ดูได้จากเสียงแตรรถที่ดังเมื่อขับผ่านสถานที่ตรงนั้น ดูได้จากวันประเพณีที่ชาวบ้านต่างมาร่วมประกอบพิธีเคารพ บูชาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติตรงศาลเจ้าพ่อแห่งนี้…. แต่คนนอกอย่างเรา มองไม่เห็น หรือเห็น(ด้วยตาเนื้อ)แต่ไม่เห็น(ด้วยความเข้าใจ)
เมื่อเราไม่เข้าใจชุมชน “ทั้งครบ” เราจะเข้าใจสิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็นได้อย่างไร หรือให้ความหมายไม่ถูกต้อง ไม่หมดสิ้นของการพยายามสื่อของชาวบ้านต่อเราที่เป็นคนนอก ฉาบฉวยเข้ามาชุมชน เมื่อไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งเราอาจสรุปผิด แล้วเอาการสรุปนี้ไปรายงาน ทำแผนงาน ทำอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย มิคลาดเคลื่อนไปหมดหรือ…
ภาพวาดชุมชนตามโจทย์เบื้องต้นนั้นจึงไม่มีภาพหรืออักษรที่เกี่ยวกับความเชื่อ ประเพณีของชุมชน นั่นแหละที่ “เขาเห็นชุมชนแต่ไม่เห็นความจริงของชุมชน”
แน่นอนครับสถานที่แห่งนี้ผมเดินเข้าไปกราบ ไหว้ บอกกล่าวสิ่งเหนือธรรมชาติตรงนั้น มาแนะนำตัว กลุ่มและขออนุญาตทำงานตามหน้าที่ โดยที่น้องๆไม่เห็นในสิ่งที่ผมทำนั้นเลย เพราะไม่อยู่ในความเข้าใจของเขา
(เรื่องนี้เคยบันทึกไว้แล้วแต่อยากทำอีกครั้ง)