จากฟักข้าวถึงงานสมุนไพรชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 28, 2010 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3973

ต้องเข้าไปดงหลวงเพราะงานที่ทำช่วงปิดโครงการ เลยหยิบเอาข้อมูลเรื่องฟักข้าวไปสอบถามชาวบ้าน ได้ข้อมูลจากอาว์เปลี่ยนว่าไปถ่ายรูปผลฟักข้าวมาจากบ้านพ่อชาดี เสร็จงานก็เลยไปดูซะหน่อย

ตรงไปบ้านพ่อหวัง เจอะแม่บ้านและลูกสาว ผมเอารูปที่อาว์เปลี่ยนให้ดู ลูกสาวก็บอกเลยว่าลูกฟักข้าว กินอยู่ มีที่สวน ปีนี้ออกลูกเดียว พร้อมทั้งชี้ไปที่ต้นไม้ของบ้านเพื่อนบ้าน นั่นไงต้นฟักข้าว เลื้อยพันจนไม่เห็นต้นไม้ที่เขาอาศัยเลย กำลังออกลูกส้มๆ


เราเลยไปบ้านพ่อชาดี ตามที่อาว์เปลี่ยนให้ข้อมูล พ่อชาดีนอนหลับก็เลยไปคุยกับศรีภรรยาพ่อชาดี ผมยื่นรูปให้ดู แม่บอกว่านั่นไง ต้นอยู่นั่นไง พร้อมชี้ให้ดู และเดินนำทางเราไปหลังบ้านซึ่งเป็นสวนเกษตรผสมผสานที่พ่อชาดีสร้างมันขึ้นมากับมือ โฮ..หนึ่งสอง สาม สี่ ลูก มีทั้งเหลืองส้มและส้มแดงแก่แล้ว เลยคุยกับแม่ว่าเอามากินไหม แม่ก็บอกว่ากิน เอาลูกอ่อนมาต้มจิ้มน้ำพริก ออกขมนิดๆ เอายอดมาแกง แต่คนไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เมื่อเทียบกับหวาย คนชอบหวายมากกว่า ทั้งที่หวายขมกว่า..

เด็กๆเอาลูกสุกมากินเหมือนกัน แต่ไม่ชอบมากเหมือนผลไม้อื่นๆ


เมื่อผมเอาสรรพคุณที่เป็นเอกสารที่เตรียมไปเผยแพร่ให้พี่น้องไทบรูได้เรียนรู้ แม่ก็ว่า เออ ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะบอกพ่อชาดีเขา…

ฟักข้าวเป็นพืชพื้นบ้านทั่วไป ชาวบ้านรู้จัก แต่ไม่นิยม เท่าที่ผมตรวจสอบความรู้นั้น ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยาของฟักข้าว รู้เพียงว่ามันกินได้ ผมคิดว่าแม้ชาวบ้านจะรู้จักสรรพคุณยาในพืชผักหลายชนิด แต่ก็มีพืชอีกหลายตัวที่ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยา นี่ก็น่าจะเป็นงานในการพัฒนาชุมชนที่สำคัญหนึ่ง

ปัจจุบันก็ทำกันบ้าง เครือข่ายไทบรูก็มีแผนงานด้านการรื้อฟื้นสมุนไพรโบราณ แต่ก็ยังไม่ได้กว้างขวางเท่าใดมากนัก

ประดงขาวใช้แช่น้ำหรือฝน แล้วเอาน้ำไปทา แก้ปวดเมื่อย

วันนี้ก็พบหมอยาสมุนไพรหนุ่มคนหนึ่ง เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าเขาเป็นผู้รู้สมุนไพร บังเอิญแท้ๆ ที่หลายสัปดาห์ก่อน พิลาพนักงานขับรถบ่นว่า ภรรยาเขาปวดหลังมาก ลุกเดินแต่ละที ยังกะคนเฒ่าคนแก่เดินหลังค่อมไปเลย ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำเราคนหนึ่งได้ยินเข้าก็บอกว่า เออ..ไปเอายาสมุนไพรไปลองดูไหม… พิลาหูผึ่ง แล้วก็ตามไปเอาสมุนไพร เป็นสมุนไพร ชื่อ “ประดงขาว” เป็นต้นไม้ยืนต้นใหญ่ เอาเปลือก ราก แก่น มาแช่น้ำ หรือฝน แล้วเอาน้ำนั้นไปทาตรงปวด พิลาบอกว่า ใช้แล้วได้ผล ภรรยาเดินดีขึ้น อาการปวดเมื่อยลดลง แม้จะยังไม่หายขาดก็ตาม แต่ดีขึ้นจริงๆ

วันนี้พิลาเลยได้ยาไปอีกอย่าง เป็นสมุนไพรรักษาริดสีดวงทวาร จากหมอยาคนเดียวกัน สำหรับญาติที่เป็นมานานและอาการหนักมากขึ้น หมอยาคนนี้บอกว่า หากไม่หายก็ไม่เอาเงิน


สมุนไพรแก้ริดสีดวงทวาร

ระหว่างเดินทางกลับ เราคุยกันว่า ชาวบ้านหลายคนไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นหมอยา แต่หลายคนในหมู่บ้านมีความรู้เรื่องสมุนไพร คนนี้รู้จักสมุนไพรดีสามสี่ชนิด อีกคนรู้จักสมุนไพรดี หก เจ็ดชนิด หรือบางคนรู้จักชนิดเดียว แต่มีประสบการณ์ใช้แล้วได้ผลดี… สมองคิดงานเรื่องนี้ไปเยอะแยะเลย…ทั้งรวบรวม ทั้งตรวจสอบ ทั้งสงวน อนุรักษ์ ทั้งงานวิจัย ทำระบบข้อมูล สัมมนาหมอยา … ทำแผนที่สมุนไพร ฯลฯ

งานแบบนี้มีคน มีกลุ่มทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีใครทำ แต่ที่ดงหลวงแค่เริ่มต้นเท่านั้นครับ

กลับมาที่ฟักข้าว ความจริง อ.แป๋วเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วที่ ลานเรียนรู้สบายๆ ที่นี่

http://lanpanya.com/paew/?p=102 และมีข้อมูลมากมายใน goo เช่นที่ หมอชาวบ้าน http://www.doctor.or.th/node/1060 หากสมุนไพรจำนวนมากถูกมหาวิทยาลัยก้าวลงมาในชุมชนสำรวจและเอาสมุนไพรทั้งหลายไปวิจัยน่าที่จะเกิดประโยชน์มากหลาย ซึ่งผมเชื่อว่า บางมหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งผ่านข้อมูลกลับสู่ชุมชนในระดับกว้าง และสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนหยิบขึ้นมาพัฒนาเป็นสินค้าท้องถิ่น มหาวิทยาลัยไปสนับสนุน ราชการไปสนับสนุนให้ท้องถิ่นนั้นๆผลิตสมุนไพรเหล่านั้นขึ้นมา คล้ายๆโรงพยาบาลอภัยภูเบศร นะครับ

งานเยอะ… จริงๆ ไม่มีทางจบสิ้น อิอิ


เฮ่อ ชาวนา..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 20, 2010 เวลา 10:48 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 1988

หัวอกชาวนา หากไม่แล้งจนข้าวเหลืองเพราะแดดเผาไหม้ ก็น้ำท่วมอย่างนี้

ความพอดีเกือบจะไม่มี ขาดๆเกินๆ ชาวนารู้ดี

การคาดคะเนกับธรรมชาติมีประสบการณ์และประเพณี และตารางจันทรคติ

เป็นแผนที่ชีวิตคร่าวๆ ก็พอได้กินข้าว

ขาดเกินอย่างไร ประเพณีท้องถิ่นก็เอื้อเฟื้อกันไป สังคมอยู่ได้

แต่เมื่อฟ้าฝนแปรปรวนมากขึ้น มันกะเกณฑ์อะไรไม่ได้เลย

ยิ่งนาน้ำฝนที่ต้องใช้น้ำฝนเท่านั้น ทางเลือกชาวบ้านคือ

น้ำดี–> ดำ

น้ำไม่ค่อยดี--> ดำแห้ง

น้ำไม่ดี แต่ดินพอเปียกๆ–> สัก หยอด

ข้าวพอขึ้นฝนกระหน่ำท่วม พอน้ำลด–>ดำซ่อมส่วนที่เสียหาย

ฝนตกมาครั้งเดียวก็หายไปจะเอาไงดี ต้องเสี่ยงครั้งสุดท้ายแล้ว–> หว่านแบบไม่หวังผล หากมีโชคบ้างก็คงพอได้

ทั้งหมดนี้ขึ้นกับเงื่อนไขมากมาย เช่น แรงงานในครัวเรือน กล้าข้าว พันธุ์ข้าว ปริมาณ ภาระสำคัญอื่นๆ..สุขภาพ ญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน ทุนจ้างแรงงาน ที่ตั้งของนา ลุ่ม ลุ่มตรงคลอง ลุ่มตรงประตูระบายน้ำ ลุ่มทั่วไป ลุ่มๆดอนๆ ดอน ที่สูง ….ฯ

นาเขตชลประทานจึงเป็นนาชั้นหนึ่ง นาน้ำฝนจึงลูกผีลูกคน


บ้านหลังใหม่

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 9, 2010 เวลา 21:38 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2261

บ้านหลังใหม่ที่ชายป่าดงหลวง

หรูที่สุด เพราะหลังคามุมสังกะสี..

มีถังรองน้ำฝน มีตุ่มเก็บน้ำไว้ใช้

เจ้าของเป็นชายหนุ่มทำนาเหมือนคนทั่วไป

เพิ่งแยกเรือนออกมาจากพ่อแม่.

รองเท้าบางคนมีราคามากกว่าบ้านหลังนี้..


วิถีวัว วิถีชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 8, 2010 เวลา 15:17 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2441

ผู้ใหญ่วองไม่อยู่บ้าน ไปภูไก่เขี่ย เห็นว่าวัวหายไปจึงชวนเพื่อนบ้านออกไปตามดู เย็นนี้จะกลับมา แม่บ้านบอกผมเช่นนั้น เมื่อวันที่ไปแวะหาผู้ใหญ่วอง จริงๆเป็นอดีตผู้ใหญ่ แต่เรียกกันติดปาก ก็เลยตามเลย

ผู้ใหญ่วองเป็นไทโซ่น้อยคนที่ช่างพูดจริงๆ พูดน้ำไหลไฟดับ ตรงข้ามกับคนอื่นๆที่รู้จัก อดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยท่านนี้มีบทบาทในสังคมมากพอสมควร เพราะ เป็นผู้ประสานงาน พอช. เป็นหมอดิน เป็นผู้นำไทบรู เป็นนั่นเป็นนี่ แม้จะช่างคุยก็ทำจริงเหมือนกัน แม่บ้านเป็นช่างทอผ้ามีฝีมือผู้หนึ่ง


เมื่อมาหาผู้ใหญ่วองไม่พบก็ไม่เป็นไรฝากความไว้กับแม่บ้านแล้วจะมาเยี่ยมใหม่ เพื่อเตรียมการมาดูงานของ JBIC วันรุ่งขึ้นเราเข้าไปพบ เห็นหน้ากันก็ส่งเสียงมาแต่ไกล

เมื่อวานไปกับพี่น้องเพื่อนบ้าน ขึ้นไปบนภูไก่เขี่ย เพราะตามหาวัว ตามกันมาสามสี่วันแล้วไม่พบวัว ที่ปล่อยขึ้นป่าไปเมื่อเดือนที่แล้ว…

ท่านที่คลุกคลีกับชาวบ้านย่อมรู้ดีว่า ชาวบ้านนั้นหลังเสร็จฤดูดำนาแล้ว ไม่ได้ใช้แรงงานวัวควายแล้ว ก็จะเอาวัวควายไปปล่อยบนภูเขาในท้องถิ่นของตัวเอง ให้เขาหากินเองตามธรรมชาติ สามสี่วัน หรือ สัปดาห์หนึ่ง หรือนานกว่านั้นตามโอกาส ก็ขึ้นไปดูทีหนึ่งว่า วัว ควายไปอยู่ตรงไหน เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรบ้าง หากเรียบร้อยดีก็กลับลงมา แล้วอีกสัปดาห์ก็ค่อยขึ้นไปใหม่

นี่คือวิถีชุมชนที่มีพื้นที่ติดภูเขา ทางภาคเหนือก็เหมือนกัน

บางครั้งที่วัวควายเกิดไม่สบายในป่าในเขา เจ้าของก็จะเอาหยูกยาซึ่งส่วนมากเป็นสมุนไพรไปดูแลรักษา บางทีถูกทำร้ายด้วยสัตว์ป่าก็มี หรือ ถูกลักขโมยไปก็เกิดขึ้น หรือถูกชำแหละทิ้งซากเอาไว้ก็พบเหมือนกัน แต่การปล่อยวัวควายขึ้นไปหากินเองบนภูเขานั้นมิใช่เพียงครอบครัวเดียว ใครๆก็ทำเช่นนั้น ดังนั้นในป่า จึงมี วัวควายเต็มไปหมด นี่แหละเจ้าของต่างก็ขึ้นไปดูของใครของมัน ซึ่งอาจจะไปดูไม่ตรงเวลากัน ต่างก็ช่วยกันดูแล ช่วยกันส่งข่าว เพราะส่วนใหญ่ก็รู้ว่า วัวควายเป็นของใครบ้าง เพราะเขาคลุกคลีกับมัน ย่อมรู้จักมันดี แม้เพื่อนบ้าน

นี่เอง การเอากระดึง หรือกระดิ่งผูกคอวัวคอควายจึงมีความหมายยิ่งนัก เพราะมันเดินไปไหนก็ได้ยินเสียง เจ้าของไม่อยู่ใกล้ๆก็ย่อมรู้ว่า นั่นคือเสียงกระดึงของวัวของใคร เพราะเสียงไม่เหมือนกัน อดีตผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะใช้เวลาบรรจงสร้างกระดึงวัวควายพวกนี้ให้มีเสียงก้องไกล จะได้ง่ายต่อการฟังเสียง นั่นเป็นศิลปะพื้นที่บ้านที่กำลังห่างหายไปแล้ว

การเข้าป่า ย่อมมีพิธีกรรมพื้นบ้าน แล้วแต่ชนเผ่า แล้วแต่ท้องถิ่น แล้วแต่ความเชื่อความศรัทธา ส่วนใหญ่ก็จะยกมือบอกกว่าเจ้าป่าเจ้าเขา ผีเจ้าที่เจ้าทางให้ปกปักรักษา วัวควายให้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นเมื่อเอาห่อข้าวไปกินกลางป่าก็ต้องเซ่นไหว้เจ้าที่ด้วย

วัวควายก็แปลก เมื่อสิ้นฤดู การเก็บเกี่ยว บางตัวบางฝูงก็เดินกลับบ้านเอง กลับถูกซะด้วย ตื่นเช้าขึ้นมาเจ้าของบ้านเห็นว่า วัวควายที่ไปปล่อยในป่านั้นกลับมาบ้านแล้ว…


ยามนี้ที่ดงหลวงสิ้นสุดการดำนาไปแล้ว คอยลุ้นให้มีฝนตกตามฤดูกาล อย่ามากอย่าน้อย เพื่อความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และที่ยิ่งใหญ่คือต้องการให้ได้ข้าวเต็มที่จะได้เพียงพอกินไปตลอดปี ยามฝนมากไปก็เฝ้าออกไปดูนา เอาจอบเอาเสียมไปเปิดคันนาให้ระบายน้ำออกไป ยามฝนทิ้งช่วงต่างก็จับกลุ่มกันพูดจาพาทีกันว่าจะเอาอย่างไรกันดี…. นี่คือความเสี่ยงที่ชาวนาอยู่กับสภาวะเช่นนี้มาตลอดชั่วนาตาปี…

ผมถามผู้ใหญ่วองว่า ปีนี้ฝนฟ้าบ้านเราเป็นไงบ้าง มากไปน้อยไปอย่างไร.. ผู้ใหญ่วองว่า ใช้ได้ ที่ดงหลวงช่วงนี้น้ำท่าปกติดี แต่ไม่รู้วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรบ้าง… เลยถือโอกาสถามเรื่องชวนเพื่อนบ้านไปขึ้นป่าตามหาวัวว่าพบไหม..

อาจารย์ ผมกับเพื่อนบ้านไปตามกันสามวันจึงพบ แต่มันตายซะแล้ว….

อ้าวทำไมล่ะ.. ผมถาม

ผู้ใหญ่วองตอบด้วยสีหน้าเศร้าว่า มันตกหน้าผาตายครับ.. แหมตัวใหญ่ซะด้วย…เลยทำพิธีเผาซากและส่งวิญญาณมันซะ…


รับแขก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 8, 2010 เวลา 10:01 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2420

เป็นสำนวนที่เราต้อนรับผู้มาเยือน ความจริงคือเจ้าหน้าที่ JBIC มาดูงานโครงการในพื้นที่มุกดาหารที่ผมรับผิดชอบอยู่ เป็นปกติของงานลักษณะโครงการ แต่ผมมีประเด็นคิด

การมาลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นนั้น ส่วนมาก เป็นเจ้าหน้าที่คนหนุ่มสาวที่อายุไม่สูง แต่หน้าที่การงานเขาสูงมาก เป็นเพียงข้อสังเกตเฉยๆเพราะพบบ่อยเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ โดยเฉพาะ พี่ไทยเรา

การลงพื้นที่ของเขาเป็นแบบง่ายๆทีมกะทัดรัด ไม่ยกโขยงไปอย่างแบบพี่ไทย แค่ผู้ติดตามก็สองคันรถตู้อะไรทำนองนั้น ไปกิน ไปเที่ยว ไปทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ และไปใช้อำนาจสั่งนั่นสั่งนี้ แสดงบารมีคับฟ้าเสียมากกว่า จะสร้างสรรค์


ความจริงในโครงการที่ผมทำงานอยู่นั้นมี 4 จังหวัด แต่ผมรับผิดชอบมุกดาหาร การรับแขกนั้นน้อยกว่าจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม คงมีหลายเหตุผล ประการหนึ่งคือ การเดินทางสะดวก เพราะขอนแก่นมีสนามบิน บินมาเช้า กลับเย็นได้ ไม่เสียเวลาเดินทางมากนัก แต่ที่มุกดาหารนั้นต้องลงเครื่องบินที่อุบลฯหรือสกลนครแล้วนั่งรถไปอีก เกือบสองชั่วโมง หากไม่ตั้งใจไปจริงๆก็มักจะขอดูงานที่ขอนแก่น มหาสารคาม แต่ทั้งนี้ขึ้นกับผู้จัด จะจัดไปดูที่ไหนเสียมากกว่า

การมาดูงานมาในฐานะที่แตกต่างกัน พี่ไทยมาพร้อมกับอำนาจ แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่าข้านี่ใหญ่แค่ไหน ดุด่าว่ากล่าวกันแบบไม่ไว้หน้ากันเลย และหลายครั้งเป็นการแสดงเพื่อวัตถุประสงค์ที่ซ่อนเร้น กล่าวในที่นี้ไม่ได้ เหมือนกันไปหมด ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ยิ่งใหญ่มากก็ยิ่งแสดงอำนาจมาก ผมเคยพบขนาดสั่งย้ายหัวหน้าส่วนระดับจังหวัดในยี่สิบสี่ชั่วโมงทั้งที่ผู้สั่งและผู้ถูกสั่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกันมา เพียงตอบคำถามไม่ชัดเจน ต่อหน้าที่ประชุมคนเป็นร้อย โดยไม่เปิดใจกว้างรับฟังรายละเอียดของเหตุและผล ผมนั้นไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ก็สงสารจริงๆ และสงสารประเทศที่มีเจ้านายแบบนี้มาปกครอง

ถามว่าเคยพบเจ้านายดีดีบ้างไหม มีครับ พบครับ แม้ท่านจะหมดอายุราชการไปแล้วผมก็ยังระลึกถึงท่านเหล่านั้นอยู่เลย ท่านมีเมตตา นิ่งสงบ ให้กำลังใจและหาทางช่วยแก้ปัญหามากกว่า

แต่หนึ่งประเด็นที่ติดใจ คือ บางช่วงมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ มาติดตามผล มาประเมินผล ทั้งประเมินเล็กประเมินใหญ่ กรณีของJBIC นั้นก็ยังใช้คนหนุ่มสาว ซึ่งผมคิดว่า เขาช่างดีจริงเขาเอาเด็กหนุ่มสาวมาหาประสบการณ์ เพราะการมาทำหน้าที่แบบนั้นต้องลงลึกในรายละเอียด เหตุผล และเงื่อนไขต่างๆของกิจกรรมที่ดำเนินไป และสาระตรงนี้คือประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นข้อมูลด้านลึก เมื่อใครมาทำหน้าที่ย่อมที่จะได้สาระตรงนี้ไป ผมคิดว่า ทำไม ระบบของเราไม่สร้างเงื่อนไขให้คนไทยมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะประสบการณ์ที่ได้จะตกกับคนไทย ประเทศไทย


แต่นี่หนุ่มสาวญี่ปุ่นมาทำ ประสบการณ์ไปอยู่กับเขา เรารู้ดีว่าเมื่อเอาข้อมูลดิบในสนามไปเขียนรายงาน ในรายงานก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เขียนตามระบบ ตาม แบบฟอร์มที่กำหนดมา แต่รายละเอียดที่ไม่ได้เขียนมีอีกเยอะ และที่ร้าย ส่งรายงานให้พี่ไทย ก็ไม่อ่านอีก หรืออ่านแบบผ่านๆ

แล้วใครได้สาระมากกว่ากัน…. หลายครั้งผมคิดเลยไปถึงว่า ระบบนี้ เหมือนญี่ปุ่นส่งเด็กรุ่นใหม่มาฝึกงาน และความรู้ ประสบการณ์ที่ได้เขาจะพัฒนากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติในอนาคต โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาชนบท

ให้ตายซิ ญี่ปุ่นเขามีชนบทแบบไหนกัน เขามาเรียนและสร้างประสบการณ์จากบ้านเรานี่แหละ ที่เขียนมาไม่ได้จะโจมตีญี่ปุ่น แต่ตั้งประเด็นสำหรับพี่ไทยเราต่างหาก

เรากู้เงินเขามา แล้วเขายังส่งเด็กรุ่นใหม่มาพัฒนาเพื่อก้าวไปเป็นมืออาชีพในอนาคต และบางปีเขาเอาผู้แทนประชาชนจากญี่ปุ่นมาดูงานอีกนับสิบๆคน ผมงงว่าทำไมเขาต้องเอาชาวบ้านญี่ปุ่นมาดูงาน

เขาอธิบายว่า เงินที่เราไปกู้เขามานั้น เป็นเงินของประชาชนคนญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องเอาผู้แทนประชาชนตามมาดูว่า เอาเงินมาทำอะไรบ้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร..

แต่ผมเดาออกว่าความหมายมีมากกว่านั้น

ท่านคิดว่าอย่างไรล่ะครับ




Main: 0.038631916046143 sec
Sidebar: 0.02993106842041 sec