วิถีวัว วิถีชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 8, 2010 เวลา 15:17 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2433

ผู้ใหญ่วองไม่อยู่บ้าน ไปภูไก่เขี่ย เห็นว่าวัวหายไปจึงชวนเพื่อนบ้านออกไปตามดู เย็นนี้จะกลับมา แม่บ้านบอกผมเช่นนั้น เมื่อวันที่ไปแวะหาผู้ใหญ่วอง จริงๆเป็นอดีตผู้ใหญ่ แต่เรียกกันติดปาก ก็เลยตามเลย

ผู้ใหญ่วองเป็นไทโซ่น้อยคนที่ช่างพูดจริงๆ พูดน้ำไหลไฟดับ ตรงข้ามกับคนอื่นๆที่รู้จัก อดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยท่านนี้มีบทบาทในสังคมมากพอสมควร เพราะ เป็นผู้ประสานงาน พอช. เป็นหมอดิน เป็นผู้นำไทบรู เป็นนั่นเป็นนี่ แม้จะช่างคุยก็ทำจริงเหมือนกัน แม่บ้านเป็นช่างทอผ้ามีฝีมือผู้หนึ่ง


เมื่อมาหาผู้ใหญ่วองไม่พบก็ไม่เป็นไรฝากความไว้กับแม่บ้านแล้วจะมาเยี่ยมใหม่ เพื่อเตรียมการมาดูงานของ JBIC วันรุ่งขึ้นเราเข้าไปพบ เห็นหน้ากันก็ส่งเสียงมาแต่ไกล

เมื่อวานไปกับพี่น้องเพื่อนบ้าน ขึ้นไปบนภูไก่เขี่ย เพราะตามหาวัว ตามกันมาสามสี่วันแล้วไม่พบวัว ที่ปล่อยขึ้นป่าไปเมื่อเดือนที่แล้ว…

ท่านที่คลุกคลีกับชาวบ้านย่อมรู้ดีว่า ชาวบ้านนั้นหลังเสร็จฤดูดำนาแล้ว ไม่ได้ใช้แรงงานวัวควายแล้ว ก็จะเอาวัวควายไปปล่อยบนภูเขาในท้องถิ่นของตัวเอง ให้เขาหากินเองตามธรรมชาติ สามสี่วัน หรือ สัปดาห์หนึ่ง หรือนานกว่านั้นตามโอกาส ก็ขึ้นไปดูทีหนึ่งว่า วัว ควายไปอยู่ตรงไหน เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรบ้าง หากเรียบร้อยดีก็กลับลงมา แล้วอีกสัปดาห์ก็ค่อยขึ้นไปใหม่

นี่คือวิถีชุมชนที่มีพื้นที่ติดภูเขา ทางภาคเหนือก็เหมือนกัน

บางครั้งที่วัวควายเกิดไม่สบายในป่าในเขา เจ้าของก็จะเอาหยูกยาซึ่งส่วนมากเป็นสมุนไพรไปดูแลรักษา บางทีถูกทำร้ายด้วยสัตว์ป่าก็มี หรือ ถูกลักขโมยไปก็เกิดขึ้น หรือถูกชำแหละทิ้งซากเอาไว้ก็พบเหมือนกัน แต่การปล่อยวัวควายขึ้นไปหากินเองบนภูเขานั้นมิใช่เพียงครอบครัวเดียว ใครๆก็ทำเช่นนั้น ดังนั้นในป่า จึงมี วัวควายเต็มไปหมด นี่แหละเจ้าของต่างก็ขึ้นไปดูของใครของมัน ซึ่งอาจจะไปดูไม่ตรงเวลากัน ต่างก็ช่วยกันดูแล ช่วยกันส่งข่าว เพราะส่วนใหญ่ก็รู้ว่า วัวควายเป็นของใครบ้าง เพราะเขาคลุกคลีกับมัน ย่อมรู้จักมันดี แม้เพื่อนบ้าน

นี่เอง การเอากระดึง หรือกระดิ่งผูกคอวัวคอควายจึงมีความหมายยิ่งนัก เพราะมันเดินไปไหนก็ได้ยินเสียง เจ้าของไม่อยู่ใกล้ๆก็ย่อมรู้ว่า นั่นคือเสียงกระดึงของวัวของใคร เพราะเสียงไม่เหมือนกัน อดีตผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะใช้เวลาบรรจงสร้างกระดึงวัวควายพวกนี้ให้มีเสียงก้องไกล จะได้ง่ายต่อการฟังเสียง นั่นเป็นศิลปะพื้นที่บ้านที่กำลังห่างหายไปแล้ว

การเข้าป่า ย่อมมีพิธีกรรมพื้นบ้าน แล้วแต่ชนเผ่า แล้วแต่ท้องถิ่น แล้วแต่ความเชื่อความศรัทธา ส่วนใหญ่ก็จะยกมือบอกกว่าเจ้าป่าเจ้าเขา ผีเจ้าที่เจ้าทางให้ปกปักรักษา วัวควายให้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นเมื่อเอาห่อข้าวไปกินกลางป่าก็ต้องเซ่นไหว้เจ้าที่ด้วย

วัวควายก็แปลก เมื่อสิ้นฤดู การเก็บเกี่ยว บางตัวบางฝูงก็เดินกลับบ้านเอง กลับถูกซะด้วย ตื่นเช้าขึ้นมาเจ้าของบ้านเห็นว่า วัวควายที่ไปปล่อยในป่านั้นกลับมาบ้านแล้ว…


ยามนี้ที่ดงหลวงสิ้นสุดการดำนาไปแล้ว คอยลุ้นให้มีฝนตกตามฤดูกาล อย่ามากอย่าน้อย เพื่อความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และที่ยิ่งใหญ่คือต้องการให้ได้ข้าวเต็มที่จะได้เพียงพอกินไปตลอดปี ยามฝนมากไปก็เฝ้าออกไปดูนา เอาจอบเอาเสียมไปเปิดคันนาให้ระบายน้ำออกไป ยามฝนทิ้งช่วงต่างก็จับกลุ่มกันพูดจาพาทีกันว่าจะเอาอย่างไรกันดี…. นี่คือความเสี่ยงที่ชาวนาอยู่กับสภาวะเช่นนี้มาตลอดชั่วนาตาปี…

ผมถามผู้ใหญ่วองว่า ปีนี้ฝนฟ้าบ้านเราเป็นไงบ้าง มากไปน้อยไปอย่างไร.. ผู้ใหญ่วองว่า ใช้ได้ ที่ดงหลวงช่วงนี้น้ำท่าปกติดี แต่ไม่รู้วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรบ้าง… เลยถือโอกาสถามเรื่องชวนเพื่อนบ้านไปขึ้นป่าตามหาวัวว่าพบไหม..

อาจารย์ ผมกับเพื่อนบ้านไปตามกันสามวันจึงพบ แต่มันตายซะแล้ว….

อ้าวทำไมล่ะ.. ผมถาม

ผู้ใหญ่วองตอบด้วยสีหน้าเศร้าว่า มันตกหน้าผาตายครับ.. แหมตัวใหญ่ซะด้วย…เลยทำพิธีเผาซากและส่งวิญญาณมันซะ…


รับแขก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 8, 2010 เวลา 10:01 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2410

เป็นสำนวนที่เราต้อนรับผู้มาเยือน ความจริงคือเจ้าหน้าที่ JBIC มาดูงานโครงการในพื้นที่มุกดาหารที่ผมรับผิดชอบอยู่ เป็นปกติของงานลักษณะโครงการ แต่ผมมีประเด็นคิด

การมาลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นนั้น ส่วนมาก เป็นเจ้าหน้าที่คนหนุ่มสาวที่อายุไม่สูง แต่หน้าที่การงานเขาสูงมาก เป็นเพียงข้อสังเกตเฉยๆเพราะพบบ่อยเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ โดยเฉพาะ พี่ไทยเรา

การลงพื้นที่ของเขาเป็นแบบง่ายๆทีมกะทัดรัด ไม่ยกโขยงไปอย่างแบบพี่ไทย แค่ผู้ติดตามก็สองคันรถตู้อะไรทำนองนั้น ไปกิน ไปเที่ยว ไปทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ และไปใช้อำนาจสั่งนั่นสั่งนี้ แสดงบารมีคับฟ้าเสียมากกว่า จะสร้างสรรค์


ความจริงในโครงการที่ผมทำงานอยู่นั้นมี 4 จังหวัด แต่ผมรับผิดชอบมุกดาหาร การรับแขกนั้นน้อยกว่าจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม คงมีหลายเหตุผล ประการหนึ่งคือ การเดินทางสะดวก เพราะขอนแก่นมีสนามบิน บินมาเช้า กลับเย็นได้ ไม่เสียเวลาเดินทางมากนัก แต่ที่มุกดาหารนั้นต้องลงเครื่องบินที่อุบลฯหรือสกลนครแล้วนั่งรถไปอีก เกือบสองชั่วโมง หากไม่ตั้งใจไปจริงๆก็มักจะขอดูงานที่ขอนแก่น มหาสารคาม แต่ทั้งนี้ขึ้นกับผู้จัด จะจัดไปดูที่ไหนเสียมากกว่า

การมาดูงานมาในฐานะที่แตกต่างกัน พี่ไทยมาพร้อมกับอำนาจ แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่าข้านี่ใหญ่แค่ไหน ดุด่าว่ากล่าวกันแบบไม่ไว้หน้ากันเลย และหลายครั้งเป็นการแสดงเพื่อวัตถุประสงค์ที่ซ่อนเร้น กล่าวในที่นี้ไม่ได้ เหมือนกันไปหมด ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ยิ่งใหญ่มากก็ยิ่งแสดงอำนาจมาก ผมเคยพบขนาดสั่งย้ายหัวหน้าส่วนระดับจังหวัดในยี่สิบสี่ชั่วโมงทั้งที่ผู้สั่งและผู้ถูกสั่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกันมา เพียงตอบคำถามไม่ชัดเจน ต่อหน้าที่ประชุมคนเป็นร้อย โดยไม่เปิดใจกว้างรับฟังรายละเอียดของเหตุและผล ผมนั้นไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ก็สงสารจริงๆ และสงสารประเทศที่มีเจ้านายแบบนี้มาปกครอง

ถามว่าเคยพบเจ้านายดีดีบ้างไหม มีครับ พบครับ แม้ท่านจะหมดอายุราชการไปแล้วผมก็ยังระลึกถึงท่านเหล่านั้นอยู่เลย ท่านมีเมตตา นิ่งสงบ ให้กำลังใจและหาทางช่วยแก้ปัญหามากกว่า

แต่หนึ่งประเด็นที่ติดใจ คือ บางช่วงมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ มาติดตามผล มาประเมินผล ทั้งประเมินเล็กประเมินใหญ่ กรณีของJBIC นั้นก็ยังใช้คนหนุ่มสาว ซึ่งผมคิดว่า เขาช่างดีจริงเขาเอาเด็กหนุ่มสาวมาหาประสบการณ์ เพราะการมาทำหน้าที่แบบนั้นต้องลงลึกในรายละเอียด เหตุผล และเงื่อนไขต่างๆของกิจกรรมที่ดำเนินไป และสาระตรงนี้คือประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นข้อมูลด้านลึก เมื่อใครมาทำหน้าที่ย่อมที่จะได้สาระตรงนี้ไป ผมคิดว่า ทำไม ระบบของเราไม่สร้างเงื่อนไขให้คนไทยมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะประสบการณ์ที่ได้จะตกกับคนไทย ประเทศไทย


แต่นี่หนุ่มสาวญี่ปุ่นมาทำ ประสบการณ์ไปอยู่กับเขา เรารู้ดีว่าเมื่อเอาข้อมูลดิบในสนามไปเขียนรายงาน ในรายงานก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เขียนตามระบบ ตาม แบบฟอร์มที่กำหนดมา แต่รายละเอียดที่ไม่ได้เขียนมีอีกเยอะ และที่ร้าย ส่งรายงานให้พี่ไทย ก็ไม่อ่านอีก หรืออ่านแบบผ่านๆ

แล้วใครได้สาระมากกว่ากัน…. หลายครั้งผมคิดเลยไปถึงว่า ระบบนี้ เหมือนญี่ปุ่นส่งเด็กรุ่นใหม่มาฝึกงาน และความรู้ ประสบการณ์ที่ได้เขาจะพัฒนากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติในอนาคต โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาชนบท

ให้ตายซิ ญี่ปุ่นเขามีชนบทแบบไหนกัน เขามาเรียนและสร้างประสบการณ์จากบ้านเรานี่แหละ ที่เขียนมาไม่ได้จะโจมตีญี่ปุ่น แต่ตั้งประเด็นสำหรับพี่ไทยเราต่างหาก

เรากู้เงินเขามา แล้วเขายังส่งเด็กรุ่นใหม่มาพัฒนาเพื่อก้าวไปเป็นมืออาชีพในอนาคต และบางปีเขาเอาผู้แทนประชาชนจากญี่ปุ่นมาดูงานอีกนับสิบๆคน ผมงงว่าทำไมเขาต้องเอาชาวบ้านญี่ปุ่นมาดูงาน

เขาอธิบายว่า เงินที่เราไปกู้เขามานั้น เป็นเงินของประชาชนคนญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องเอาผู้แทนประชาชนตามมาดูว่า เอาเงินมาทำอะไรบ้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร..

แต่ผมเดาออกว่าความหมายมีมากกว่านั้น

ท่านคิดว่าอย่างไรล่ะครับ




Main: 0.02052903175354 sec
Sidebar: 0.027435064315796 sec