เห็นแต่ไม่เห็น..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 17, 2012 เวลา 7:07 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1428

บ่อยครั้งที่ผมทดสอบความเข้าใจของคนที่เข้ามาทำงานชุมชนโดยให้ “วาดภาพหมู่บ้านชนบททั่วๆไปว่ามีอะไรบ้างที่เป็นแก่นแกนของหมู่บ้าน หากวาดไม่ได้ก็เขียนเป็นตัวอักษรแทน” ทุกท่านคงเดาออกว่าภาพที่ได้มานั้นจะมี ภูเขาสองลูก มีนกสองตัวบิน มีพระอาทิตย์ มีทุ่งนา มีบ้านมีกองฟาง มีวัวควาย เป็ดไก่ มีแหล่งน้ำ มีโรงเรียน มีสถานีอนามัย…..

แต่สิ่งที่พบว่าร้อยละ 99 ที่ไม่มีในภาพวาดนั้นคือ เรื่องของความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี แม้ว่าจะวาดยาก แต่โจทย์ก็บอกไว้ว่าหากวาดไม่ได้ก็เขียนได้

ยิ่งหากทำกิจกรรมนี้กับคนเมือง คนสมัยใหม่ที่ผ่านระบบโรงเรียนในเมืองมาเขายิ่งทำท่างงเข้าไปใหญ่

ภาพซ้ายมือข้างบนนั้นคือที่ทำการ อบต.ของตำบลหนึ่งสร้างขึ้นชายหมู่บ้านติดกับป่าชุมชนและศาลเจ้าปู่ที่คนในหมู่บ้านนี้ ตำบลนี้ให้ความเคารพนับถือ สังเกตได้จาก บริเวณนั้นมีต้นไม้ใหญ่หลายต้นมีศาล มีอาคารที่สร้างขึ้นขนาดบรรจุคนได้สักห้าสิบคนและมีบริเวณรอบอาคาร(ไม่เห็นในรูป) ที่อาคารนั้นมีเครื่องบ่งชี้ว่ามีการมาทำพิธีต่างๆของคนจากหมู่บ้าน และที่บ่งชี้ได้ชัดเจนอีกประการคือ ไม่ว่ามอเตอร์ไซด์ หรือรถยนต์ที่วิ่งผ่านตรงนี้จะบีบแตรสองครั้ง…..

ผมสังเกตทีมงาน ที่ไปกับผมนั้น ไม่มีใครสนใจสิ่งที่ผมบรรยายมานี่เลย ต่างขยันขันแข็งในการเตรียมสถานที่ประชุมตามบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ และเขาทำได้ดีมาก ต่างช่วยเหลือกันหยิบโน่น จัดนี่ เช็ด กวาด ถู เก็บ เดี๋ยวเดียวการเตรียมสถานที่ก็เรียบร้อย พร้อมที่จะประชุม แต่ไม่มีใครสนใจสิ่งที่อยู่ข้างๆนั้นเลย…..

แต่ว่าเรื่องที่เรามาประชุมนั้นเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่….

ผมเฝ้าสังเกตพฤติกรรมกลุ่ม เมื่อคราวที่ประชุมเสร็จเราก็มีการทำ after action review สรุป ประเมินผลสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นว่ามีจุดบกพร่องตรงไหนบ้าง เพื่อจะได้แก้ไขในวันต่อไป ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องที่ผมบรรยายมา ผมจึงลุกขึ้นสอบถามน้องคนหนึ่งว่า เมื่อน้องเข้ามาประชุมนี้ หากพบพ่อกำนันซึ่งมักเป็นผู้มีอาวุโสและมีตำแหน่งในชุมชนนี้น้องทำอย่างไร น้องตอบว่า ก็แสดงความเคารพโดยการยกมือไหว้ ผมชมเขาว่าถูกต้องแล้ววัฒนธรรมไทยเราเคารพผู้มีอาวุโสกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่เช่นนี้เราก็ควรแสดงความเคารพ

ผมอธิบายต่อไปว่า สังคมเรานั้น โดยเฉพาะสังคมชนบทมีโครงสร้างสองชั้น หรือมากกว่าสองชั้น คือ โครงสร้างทางการปกครองที่มี ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เป็นต้นที่มีหน้าที่ตามระบบการปกครอง แต่มีอีกระบบหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นต่อกันเหมือนระบบการปกครองแบบราชการ นั่นคือระบบวิถีชุมชน เรามี หมอตำแย(ซึ่งเหลือน้อยเต็มทีแล้ว) เรามีหมอนวด หมอเป่า หมอสมุนไพร มีผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีตามประเพณีของชุมชน ทางอีสานก็มีเจ้าโคตรที่เป็นผู้อาวุโสสูงสุดของตระกูล และที่สำคัญ “มีความเชื่อ ความเคารพต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ”

สิ่งที่กล่าวมานี้คนในชุมชนด้วยกันเขาเห็น เขาเคารพ เขาปฏิบัติ ดูได้จากเสียงแตรรถที่ดังเมื่อขับผ่านสถานที่ตรงนั้น ดูได้จากวันประเพณีที่ชาวบ้านต่างมาร่วมประกอบพิธีเคารพ บูชาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติตรงศาลเจ้าพ่อแห่งนี้…. แต่คนนอกอย่างเรา มองไม่เห็น หรือเห็น(ด้วยตาเนื้อ)แต่ไม่เห็น(ด้วยความเข้าใจ)

เมื่อเราไม่เข้าใจชุมชน “ทั้งครบ” เราจะเข้าใจสิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็นได้อย่างไร หรือให้ความหมายไม่ถูกต้อง ไม่หมดสิ้นของการพยายามสื่อของชาวบ้านต่อเราที่เป็นคนนอก ฉาบฉวยเข้ามาชุมชน เมื่อไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งเราอาจสรุปผิด แล้วเอาการสรุปนี้ไปรายงาน ทำแผนงาน ทำอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย มิคลาดเคลื่อนไปหมดหรือ…

ภาพวาดชุมชนตามโจทย์เบื้องต้นนั้นจึงไม่มีภาพหรืออักษรที่เกี่ยวกับความเชื่อ ประเพณีของชุมชน นั่นแหละที่ “เขาเห็นชุมชนแต่ไม่เห็นความจริงของชุมชน”

แน่นอนครับสถานที่แห่งนี้ผมเดินเข้าไปกราบ ไหว้ บอกกล่าวสิ่งเหนือธรรมชาติตรงนั้น มาแนะนำตัว กลุ่มและขออนุญาตทำงานตามหน้าที่ โดยที่น้องๆไม่เห็นในสิ่งที่ผมทำนั้นเลย เพราะไม่อยู่ในความเข้าใจของเขา

(เรื่องนี้เคยบันทึกไว้แล้วแต่อยากทำอีกครั้ง)


สิ่งที่ตกอยู่กลางห้องประชุม..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 14, 2012 เวลา 17:35 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1508


 

มันเป็นภาพปกติ ที่ใครๆก็เห็น ที่ไหนๆก็มีภาพเหล่านี้ มันอาจกลายเป็นสิ่งปกติของการเคลื่อนตัวของสังคมจาก สังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม สังคมพอเพียงในอดีตไปสู่สังคมการบริโภคที่มีระบบธุรกิจสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ภายใต้ความรู้สึก ดีกว่า ทันสมัยกว่า ก้าวหน้ากว่า และเลยเถิดไปถึง เท่ห์ เขาก็มีเราก็อยากจะมี

แรงกระตุ้นทางธุรกิจก่อให้เกิดความอยากมีอยากได้ คือลัทธิการบริโภคนิยมที่เกินความพอเพียง พอดี พอสมควร สิ่งที่จะตอบสนองค่านิยมนี้ได้คือ เงิน การมีเงินในกระเป๋า ในธนาคาร หรือระบบเงินผ่อน บัตรเครดิต เพื่อตอบสนองการเดินสะพัดของเงิน

มันช่างสอดคล้องกับวัยรุ่นที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และไหลไปตามกระแสนิยมมากกว่าวุฒิภาวะ ตระหนักได้ ยับยั้งชั่งใจ หรือให้น้ำหนักระหว่าง เทคโนโลยีใหม่ๆที่เพิ่งตกมาในท้องตลาดกับความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายในสิ่งหลักของชีวิตที่พ่อแม่ต้องแบกภาระเหล่านี้

การทำการเกษตรในไร่นา สวน พื้นดินข้างบ้าน ทั้งหมดไม่เพียงพอกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พ่อแม่ พี่ๆ ต้องออกจากบ้านไปขายแรงงานตามแหล่งโรงงานหรือการจ้างงานที่ใกล้ที่สุด

ชาบ้านกลุ่มนี้ทิ้งบ้านช่องเดินทางเป็นระยะทางมากกว่า 30 กม.เพื่อไปรับจ้างทำงานในเขตอุตสาหกรรมใกล้ตัวเมือง ด้วยค่าแรงที่กดลงมาต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศ แม้ว่าจะเสนอ ร้องเรียน ….หลายวิธี ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ก็จำยอมแบบคั่งแค้นลึกๆในใจ พร้อมที่จะระเบิดออกมาเมื่อใครเอาไฟมาจุด ซึ่งเคยทำสำเร็จมาแล้วครั้งที่ พคท.มาเคลื่อนไหวในจุดอ่อนเหล่านี้ของการบริหารประเทศเช่นนี้

ปัญหามันวนเวียน เกิดขึ้น คงอยู่ เปลี่ยนไป เกิดขึ้นอีกในรูปแบบใหม่ แต่ประเด็นเดิม ในพื้นที่ใหม่ ….

วันนี้ผมเห็นน้ำตาสตรีชาวบ้านหลั่งกลางที่ประชุม เมื่อเขามาเรียกร้องสิทธิการดูแลการเจ็บป่วยของเธอและญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน อันเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ขณะที่สำนักงานอุสาหกรรมแห่งนั้นเร่งพัฒนา ISO หมายเลขที่เท่าไหร่แล้ว เร่งประชาสัมพันธ์บนสื่อกล่าวถึงภาพสวยงามต่างๆนานา

แต่เบื้องหลังมันมีน้ำตาตกหล่นอยู่กลางห้องประชุมใหญ่…..


อยู่กับก๋ง..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 10, 2012 เวลา 16:37 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2055

(ภาพจากเหมืองหงสา แขวงบริคำไซ ลาว)

 

เด็กในเมืองใช้เวลาทำอะไรบ้าง สมัยนี้ก็อยู่หน้าจอ Tablet จิ้มโน่นจิ้มนี่ไปเรื่อย นัยว่าเด็กชุดนี้รอบรู้ทะลุโลกไปเลย

แต่เด็กชนบทในรูปนี้ เวลาว่างของเขาก็ชวนกันออกไปป่าข้างบ้าน ไปเก็บเอาดอกก๋ง ดอกแขม หรือแล้วแต่ภาษาถิ่นจะเรียกกัน เอามาผึ่งลมแดดให้แห้งเคาะๆเอาดอกออกไปเหลือแต่ก้านดอก แล้วก็เอาไปขายต่อให้คนเอาไปทำไม้กวาด บางครอบครัวก็มีผู้ใหญ่ทำไม้กวาดเองที่บ้าน

 

เด็กที่ออกไปชายป่าไปเก็บสิ่งของนี้ ก็เหมือนการเรียนรู้โดยไม่ได้เรียน เขาไปกับรุ่นพี่ และพี่ๆก็จะบอกเรื่องโน้นเรื่องนี้ ทำโน่น ไม่ทำนี่ เล่าเรื่องที่พี่เคยผ่านมาแล้ว ทั้งสนุกและเป็นชีวิตจริง และทั้งหมดนั้นซึมเข้าไปในสำนึกของเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้

การเรียนโดยไม่ได้เรียนนี้เป็นธรรมชาติของการบอกกล่าวกัน แล้วเรามากำหนดเองว่านี่คือการเรียนรู้ มันก็เลยมีกลิ่นอายของความเป็นระบบ ความเป็นวิชาการ ความเป็นสมัยใหม่ แต่อะไรก็ช่าง กระบวนการนี้เกิดมีการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบรอบตัวของวิถีชีวิตเขา เอาไปใช้ได้ทันที ไม่ต้องปรุงแต่งอีก


ทำไมต้องสวนป่า

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 6, 2012 เวลา 15:32 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1612

 

ทำไมพระที่แสวงการหลุดพ้นจึงต้องออกไปปลีกวิเวกในป่า…

ทำไมความอุดมสมบูรณ์ที่สุด อยู่ในป่า….

ทำไมความหลากหลายทางชีวภาพที่มากที่สุดอยู่ในป่า…

พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ในป่า..

 

ทำไมการแสวงการหลุดพ้นจึงไม่เข้ามาศึกษาสรรพวิชาความรู้ในกลางเมือง..

ทำไมความอุดมสมบูรณ์ที่สุด ไม่ได้อยู่กลางเมืองหลวงหรือ….

ทำไมความหลากหลายทางชีวภาพที่มากที่สุดไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่…

พระพุทธองค์ไม่ทรงมาตรัสรู้ในเมือง..

 

ผมไม่ได้กำลังบอกว่าสวนป่าของพ่อครูบาเป็นป่าทิพย์ ใครไปสวนป่าแล้วจะวิเศษวิโสกลับออกมา

มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น และไม่มีทางที่จะเป็นเช่นนั้น

 

แต่ผมต้องยอมรับว่าที่สวนป่าเรียนไม่รู้จบจริงๆทั้งที่สองมือของพ่อครูปั้นมันขึ้นมา และธรรมชาติแห่งป่าได้ผลิตความรู้ขึ้นมาเอง เพียงแต่ว่า ผู้มาเยือนจะเห็นหรือไม่ สัมผัสมันได้หรือไม่ รับรู้ได้หรือไม่ แน่นอนก้าวแรกนั้นต้องอาศัยพ่อครูเอื้อนเอ่ย หรือเคาะกะโหลกออกมา แต่ภายหลังท่านอาจจะเห็นความรู้นั้นเอง

แค่พ่อครูพาเดิน บ่งบอกความรู้ก็มากมายจนเก็บไม่ไหว แต่นั่นเพียงเสี้ยวส่วนของพื้นที่ทั้งหมด ไม่ได้เขี่ยใบไม้มองลึกลงไปที่ผิวดิน ใต้ดิน

เราไม่ได้เดินออกนอกขอบที่พ่อครูพาเดิน

เราไม่ได้หยุดนิ่งฟังเสียงป่า

เราไม่ได้หยุดนิ่งไม่ได้ฟังเสียงภายใน

ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะสวนป่าของพ่อครูบาเท่านั้นที่มีอะไรให้ศึกษามากมาย ป่าที่ไหนๆก็เหมือนกัน เพียงแต่ปัจจุบันเราเห็นป่าแต่ไม่เข้าใจป่า

ที่สวนป่าเราเห็นป่าและมีพ่อครูเคาะกะโหลกน่ะซีครับ

มีอะไรที่สวนป่า…..

บอกไม่ได้ ไปสัมผัสเองซิครับ


เสื้อในตู้….

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 28, 2012 เวลา 19:04 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1319

 

มีเสื้อที่ผลิตออกมาแนวนี้เยอะ เห็นบ่อยๆ

และจำนวนไม่น้อยเป็นภาษาอังกฤษ

และผู้ใส่ไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไร

บ้างมีความหมายที่ขำกลิ้ง บ้างประชด

บ้างเที่ยวบอกใครๆว่าไปที่นั่น ที่นี่ มาแล้ว

…………………………

แต่บางตัว ไม่กล้าแปลให้ผู้ใส่เข้าใจ

มันหวาดเสียวน่ะซี….

เฮ่อ….ในตู้เสื้อผ้าของท่านมีกี่ตัวล่ะ

อิอิ อิอิ


สีอะไรก็ได้…

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 27, 2012 เวลา 6:30 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2319

มะพร้าวสีอะไรก็ได้

ข้างในเป็นน้ำหอมทั้งหมด

(ภาพจากโรงเรียนไม้ไผ่ ลำปลายมาศ)


CIA…

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 21, 2012 เวลา 13:21 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1462

อย่าเพิ่งตกใจว่าผมกำลังจะเขียนถึงหน่วยงานสายลับของอเมริกานะครับ ไม่ใช่ครับ คืองี้… ผมทำงานในบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง ธุรกิจส่วนใหญ่มีสินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ธุรกิจที่ผมเป็นลูกจ้างอยู่นี้เป็นธุรกิจขายความรู้ทางวิชาการ ที่เรียกปริษัทที่ปรึกษา ซึ่งมีหลายมุมมองของคนหลายกลุ่ม เช่น พี่น้อง NGO ส่วนใหญ่ก็จะมองว่าพวกนี้เป็นมือปืนรับจ้างทำเรื่องไม่ดีให้ดี กลุ่มที่มีกิจกรรมที่จะต้องทำประเมินผลกระทบก็ต้องว่าจ้างมืออาชีพที่มีชื่อเสียงมาทำการศึกษา

ผมคิดว่าเป็นความก้าวหน้าทางการพัฒนาบ้านเมือง ที่มีกฎหมายออกมาบังคับให้มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆมากมาย และมีกิจการมากมายที่ไม่ผ่าน หมายความว่าจะต้องปรับปรุงบางส่วนของกิจการเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงจะดำเนินการต่อไปได้

ที่ผ่านมานั้นก็มักจะได้ยินว่ามีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียก EIA หรือ Environmental Impact Assessment และมีการศึกษาผลกระทบอื่นๆอีกเช่น IEE, HIA, SIA ฯ ซึ่งล้วนมีกฎหมายบังคับ และมีขั้นตอน มีกระบวนการ มีส่วนร่วมมากมาย ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างมากในการดำเนินงานศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านประกอบเป็นทีมงาน

ผมนั้นมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลชนิดต่างๆเหล่านี้ตามความถนัดและชำนาญที่มีอยู่ ล้วนเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน เกี่ยวกับสนาม และข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นชาวบ้านหรือผู้มีส่วนได้เสีย

สิ่งที่ดีอีกประการหนึ่งของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคือ หากว่ามีประเด็นใดๆที่เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบ จะต้องมีการกำหนดมาตรการต่างๆในการแก้ไข ปรับปรุง ดำเนินการต่างๆออกมา และเจ้าของธุรกิจนั้นๆก็จะต้อนำไปปฏิบัติ มิเช่นนั้นกิจการก็อาจถูกปิดลงตามกฎหมายที่ควบคุมได้

ผมพบว่าส่วนใหญ่ดูเรื่องเศรษฐกิจ และกายภาพต่างๆ สุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ตรวจวัดได้ สิ่งที่หายไปนั้นก็คือ ส่วนทื่จับต้องไม่ได้ก็คือผลกระทบด้านวัฒนธรรม จริงๆมีอยู่ครับแต่เป็นประเด็นย่อยในด้านสังคม ใน EIA มิได้หยิบมาให้เป็นประเด็นใหญ่ แต่ผมเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ มิใช่เรื่องเพียงผิวเผินเท่านั้นเอง

ผมยกตัวอย่าง สังคมเราตั้งแต่โบราณมานั้น วัฒนธรรมสังคมของเรานั้นมีความเรียบร้อย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ใครไม่มี คนมีก็แบ่งปันกัน ใครขาดอะไรก็ขอกันได้ เพียงเอ่ยปากบอกกล่าว มิได้ใช้เงินตรามาซื้อหากัน ฯลฯ แต่เมื่อสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ซิวิไลซ์ ก้าวหน้า แล้วแต่จะสรรหาคำพูดมาอธิบาย คุณค่าทางวัฒนธรรมเดิมของเราก็จางหายไป อย่างที่เราๆ ท่านๆซึ้งอยู่แก่ใจ และเรียกร้องให้กลับคืนมา มีการจัดงานโน่นนี่เพื่อประกาศคืนสู่คุณค่าแบบดั้งเดิมแต่ก็เป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น

การก่อสร้างสรรพสินค้า สมควรมีการศึกษาผลกระทบด้านวัฒนธรรม การเข้ามาของ เทคโนโลยี่ใหม่ๆ ควรศึกษาผลกระทบด้านวัฒนธรรม ฯลฯ มิใช่ศึกษาเพื่อเอาไม่เอาเทคโนโลยี่นั้นๆ เทคโนโลยีมีผลสองด้าน ด้านดีเรารับ แต่ด้านส่งผลเสียก็น่าที่จะพิจารณามีมาตรการป้องกัน แก้ไข หรืออย่างใดอย่างหนึ่งมิให้ใช้เทคโนโลยี่นั้นๆอย่างอิสระ และปล่อยให้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของเรา

สมควรหยิบเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หรือเป็นวาระแห่งชาติอะไรก็ว่าไป ทีน้ำเสียส่งกลิ่นนิดเดียวโอยมีมาตรการมากมายไปบังคับให้เจ้าของกิจการแก้ไข ปรับปรุง แต่กรณีเด็กนัดเรียนหนีโรงเรียนไปนั่งเล่นเกมที่ห้างสรรพสินค้าเป็นวันๆ ไม่มีมาตรการใดๆ ร้านเกมปล่อยให้เด็กวัยรุ่นเปิดดูภาพลามก…ฯลฯ

การพัฒนาเมืองไปสู่ความทันสมัยไปสร้างค่านิยมว่าคนเราต้องมุ่งหาเงินเพื่อไปซื้อสิ่งที่ใจต้องการ แต่มากเกินขอบเขตปัจจัยการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่นกรณีตัวอย่างที่ผมประสบมาคือ ที่เมืองหนึ่ง เป็นสังคมพุทธ เป็นสังคมค่อนข้างชนบทกำลังเร่งพัฒนา เป็นสังคมที่ดีงาม เย็นวันหนึ่งผมเดินไปชมบ้านเมือง พร้อมกล้องถ่ายรูปที่นิสัยผมชอบถ่ายรูปวิถีชีวิต ขณะที่ผมเดินผ่านห้องแถว มีสาวกลางคนอุ้มลูกน้อยเดินรี่มาหาผมแล้วถามตรงๆดังชัดเจนว่า “เอาผู้สาวบ่” ผมตะลึงที่ไม่คิดว่าจะได้ยินคำนี้ออมาจากปากสตรีในเมืองเช่นนี้ ในเวลาเย็นๆที่อากาศกำลังดีเช่นนี้…

เราเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ กายภาพ ความทันสมัย การเติบโต ฯลฯ แต่คุณค่าทางสังคมเดิมๆของเราก็กลายเป็นสินค้าไปด้วย เพียงเพื่อเงิน เพราะเงินคือสื่อกลางที่จะนำมาในสิ่งที่ใจต้องการ ใจที่ต้องการนั้นมาจากการกระตุ้นของระบบค่าทางสังคมที่มีธุรกิจเป็นตัวสร้างค่านี้ขึ้นมา และจากปัจจัยอื่นๆที่ระบบสังคมเราไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบ

ผมคิดว่าทุนนิยมไม่ได้เลวร้ายไปหมด ผมก็ไม่ได้คิดว่า วัฒนธรรมเดิมของสังคมเราจะดีไปหมดทุกเรื่อง แต่ควรมีการศึกษา กลั่นกรอง ปรับแก้ มีมาตรการที่เลือกสรรสิ่งที่เป็นประโยชน์สังคมเท่านั้น การปล่อยฟรี อิสระ ในระบบประชาธิปไตยเสรีนั้น คือเหยื่อของระบบธุรกิจสามานย์ ทั้งแบบจงใจและไม่รู้ตัว..

นี่คือความหมายหยาบๆที่เสนอให้มีการทำการศึกษาผลกระทบด้านวัฒนธรรมและคุณค่าทางสังคมหรือ Cultural Impact Assessment หรือ CIA นี่แหละครับ..


หิมะหมอก..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 19, 2012 เวลา 18:07 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2009

 

ปลายเดือนมกรา ที่ผ่านมา ที่เมืองนี้หนาวมากๆ เช้ามีแต่หมอก ผมเห็นคลุมยอดเขา ไกลออกไปแถวชายแดน ลาว-เวียตนาม มันแปลกตามากๆ เหมือนหิมะปกคลุมยอดภูเขา สวยสะใจจริงๆ รีบขอขึ้นไปที่หน้าอาคารที่ทำการเมืองซึ่งอยู่ที่สูง ถ่ายรูปนี้..

คนท้องถิ่นบอกว่าลมทะเลจากเวียตนามหอบลมเย็นพัดเข้ามาแผ่นดินลาว ลมแรงๆจึงเกิดปรากฏการณ์แบบนี้

เขาว่างั้นครับ


สายภู..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2012 เวลา 20:31 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1511

เป็นรูปเมฆและทิวภูเขาที่เมืองคำเกิด แขวงบริคัมไซ

ภูเขาที่เห็นนั้นอยู่ใกล้ชายแดน ลาว-เวียตนาม

มีเหมืองทองคำอยู่ที่นั่น และเป็นเขตต้องห้ามเข้า

ช่วงที่ไปที่นั่นมันหนาวมากๆ แถมมีลมพัดอีกด้วย


นับ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2012 เวลา 9:40 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1383

ไปทำงานที่ลาวก็สนุกดีครับ งานรับผิดชอบผมก็ประชุมชาวบ้านคู่กับอาว์เปลี่ยน ในเรื่องต่างๆเพื่อพัฒนาตัวเขาเอง ผมต้องอาศัยเปลี่ยนมากเพราะเปลี่ยนเขาเขียนลาวได้ ฟังลาวออก พูดลาวแท้ๆได้ ศัพท์แสงเฉพาะต่างๆนั้น เปลี่ยนเข้าใจหมด ส่วนผมนั้นเตาะแตะอยู่ เผลิดเปิดเปิงไปก็หลายครั้ง

ผมชอบชนชาวลาวหลายประการ โดยเฉพาะความซื่อใส น้ำใจดี และต่อหน้าเราเขากล้าหาญมากทีเดียวที่จะพูดในสิ่งที่อยากจะพูด แต่ต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเขาก็จะไม่พูด หรือพูดน้อย ก็เหมือนๆชาวไทยนี่แหละ โดยเฉพาะในสมัยก่อน


เราได้เยาวชนสตรีลาวทั้งเจ้าหน้าที่โครงการและลูกจ้างรัฐบาลลาวกรมกสิกรรมและป่าไม้มาช่วย เขียน ประชุมกลุ่มย่อย และอื่นๆ เธอเหล่านั้นทั้งหมดจบปริญญาตรีมาแล้ว และนุ่งผ้าถุงทุกคน ไมมีใครนุ่งกางเกงเพราะเป็นกฎหมายแห่งชาติ ผมนั้นติดใจน้องสาวคนที่กำลังวาดรูปโดยหันหลังให้เราในภาพแรกนั้น เธอฉลาด เก่งมาก ในสายตาผม จึงไปชมเด็กคนนี้ให้อาว์เปลี่ยนฟัง อาวเปลี่ยนบอกว่าเธอสอบได้ที่ 1 ของการเข้ามาเป็น Community Development Worker ผมก็ร้องอ๋อ…..เธอช่างซักถามผมในเรื่องงานพัฒนาชนบท เธอฟังผมสอนมาสองชั่วโมงเมื่อครั้งก่อน เธอติดใจอยากให้ผมสอนให้อีก… อิอิ


เธอกระโดดเข้ามาเป็นผู้ช่วยผมในกลุ่มย่อย เพื่อการสื่อสารระหว่างผมกับชาวบ้านในรายละเอียดบางประเด็น และเลยไปถึงเป็นผู้รวบรวมความคิดเห็นจากชาวบ้านแล้ววาดความคิดเห็นนั้นลงในกระดาษ ความจริงเราอยากให้ชาวบ้านเป็นผู้ทำเอง บังเอิญกลุ่มนี้มีแต่สตรี จึงไม่มีใครกล้าออกมาทำหน้าที่นี้ คนลาวกล่าวกับผมเองว่าสตรีลาวส่วนใหญ่ด้อยการศึกษาทำให้ขาดทักษะพื้นฐานในหลายเรื่อง


ประเด็นคือ เมื่อผมตรวจสอบกิจกรรมที่ชาวบ้านปฏิบัติในครอบครัว และพืชที่ชาวบ้านเพาะปลูก และความสนใจชนิดพืชที่ต้องการปลูก ลูกศิษย์คนนี้ก็ช่วยดำเนินการให้และมีการตรวจนับจำนวน ผมเองทึ่งวิธีการนับของลูกศิษย์คนนี้ ดูตามรูปด้านบนซิครับ ท่านผู้อ่านอาจจะคุ้นชินกับการนับแบบนี้มาแล้ว แต่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน เคยเห็นแต่การนับนิ้ว เด็กๆมีสิบนิ้วไม่พอยังเอานิ้วเท้ามานับ ส่วนผู้เฒ่าหลายท่านนับข้อของนิ้ว ไม่ต้องยกเท้ามานับนิ้วเหมือนเด็กๆ

เราคุ้นกับการนับแบบคะแนนเสียงบนกระดาน ที่เอาขีดมาเรียงกันครบห้าก็ขีดเฉียงๆรวมสี่เส้นตรงไว้ เป็นหนึ่งกลุ่มที่มีความหมายเป็นจำนวน 5 แต่ลูกศิษย์คนนี้ใช้เส้นตรงที่ประกอบเป็นสี่เหลี่ยม และขีดเฉียงตรงมุมสี่เหลี่ยมเท่ากับจำนวน 5 ผมว่าเป็นความฉลาด เพราะประหยัดพื้นที่และไม่พลาดง่ายๆ เพราะสี่เหลี่ยมนั้น เป็นรูปสามัญที่เราและใครๆก็คุ้นกัน

แต่วิธีขีดเส้นตรงที่มีความหมาย สอง หรือสามนั้น อาจจะต่อจากข้างบนหรือข้างล่างนั้น ก็แล้วแต่ความถนัด

นักพยากรณ์ อาจจะเอาไปดูหมอทายลักษณะนิสัยเลยเถิดไปก็ได้ อิอิ..



Main: 0.085607051849365 sec
Sidebar: 0.069066047668457 sec