ข้าน้อยขอสนองรับสั่ง…

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2008 เวลา 16:22 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2058

บันทึกของท่านครูบาชื่อ จดหมายถึงลูกที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=542 ผมอ่านแล้วก็ มีความรู้สึกเหมือนเพื่อนๆทุกคน ที่ทั้งตื้นตันใจแทนท่านครูบาและชาวเฮฮาศาสตร์ทุกท่าน ยากที่จะมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นโดยง่าย …ทำไมหรือ..

ตอบตัวเองอย่าง่ายๆตรงไปตรงมาก็คือ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านทรงโน้มกายลงมาสัมผัสชาวเราที่รวมตัวกันแบบหลวม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน แลกเปลี่ยนปัญญากัน ทำกิจกรรมต่างๆเท่าที่จะก่อเกิดได้ตามเงื่อนไข โอกาส แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ที่ค่อยๆก่อตัวจาก Cyber พัฒนาจนมาเป็นตัวเป็นตนและจะพัฒนาต่อๆไป… ทรงเห็นความสำคัญ และเสมือนท่านให้กำลังใจทำให้ก้าวหน้าต่อไป..

สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดเท่าที่ท่านครูบาพยายามถ่ายทอดให้เราทราบก็คือ….ท่านรับสั่งถามพ่อว่า อีสานนี่จะพัฒนายังไงดี ” …….

คำรับสั่งถามคำนี้แสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านต่อแผ่นดินนี้ ในฐานะที่พระองค์ท่านเสด็จมาอีสานก็ตั้งคำถามถึงอีสาน..

ผมมานั่งนึกในใจว่าหากพระองค์ท่านมาถามผม แบบทันทีทันใด ผมก็คงตื่นเต้นที่จะตอบคำถามที่ใหญ่โตเช่นนี้ แต่เรื่องนี้คล้ายๆกันกับที่ผมตั้งคำถามตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ย้ายฐานการทำงานจากภาคเหนือมาอีสานว่า หากมาอีสานจะมาพัฒนาอะไร….

1. มันแล้วแต่มุมมองของผู้คนที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นักการศึกษาก็เริ่มที่ต้องแก้การศึกษา แพทย์ก็กล่าวว่าเรื่องสุขภาพชุมชน นักเกษตรก็ว่าต้องพัฒนาการเกษตร นักป่าไม้ก็ว่าต้องฟื้นฟูป่า ตำรวจก็ว่าต้องจัดการเรื่องคนผิด ฯลฯ

2. แต่ทั้งหมดนั้นมันพัวพันอีรุงตุงนังแกะกันไม่ออก เกี่ยวเนื่องมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งนานวันความเกี่ยวเนื่องกันก็มีมากขึ้นตามลำดับ นักบริหารก็อาจจะกล่าวว่า เอาปัญหาทั้งหมดมาจัดลำดับความสำคัญซี….

3. คนที่ผ่านการ train มาบางด้านก็บอกว่าต้องเริ่มที่ area base อีสานเหนือกับอีสานใต้ก็ไม่เหมือนกัน อีสานลุ่มน้ำกับอีสานเชิงเขาก็ไม่เหมือนกัน หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบนิเวศวัฒนธรรมเกษตรแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน

4. ราชการก็เอาระบบฐานข้อมูลกลางมาเป็นตัวตั้ง คือ กชช 2 ค. หรือ จปฐ. หรือ ฯลฯ ก็มีคำถามว่า เชื่อมั่นฐานข้อมูลนั้นแค่ไหน

5. บ้างก็ว่าเริ่มอะไรก็ถูกทั้งนั้น แต่เราก็เริ่มการพัฒนามามากกว่า 50 ปีแล้ว จนเพื่อนบ้านใกล้เคียงวิ่งรุดหน้าไปไกลแล้ว ต่างก็บอกว่าเป็นเพราะเราไม่บูรณาการกัน

6. ครั้งหนึ่งเราบอกเกษตรกรว่าต้องเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ต้องเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นการดำ ต้องใส่ปุ๋ย เมื่อเกิดโรคข้าวก็ใช้สารเคมี เฟื่องฟูมาจนเราส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง แต่มาวันนี้บอกให้ลดละเลิกสารเคมี เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพองค์รวม

7. เราเปิดประเทศและเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรและอื่นๆ จนภาคการเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แรงงานภาคเกษตรไหลเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม จนภาคเกษตรต้องไปจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำแล้ว

8. แล้ววันหนึ่งพระองค์ท่านผู้เป็นที่สุดของแผ่นดินทรงตรัสว่าเราต้องพอเพียง สภาพัฒน์ฯก็บรรจุหลักการนี้เข้าไปในแผนฯชาติ แต่ประเทศกำลังผ่านวิกฤติพลังงาน ราชการส่วนหนึ่งเอกชนอีกจำนวนมากก็เห่อปลูกพืชพลังงานกัน บางหน่วยงานกลับไม่ได้เน้นเรื่องพอเพียงตรงข้ามกลับเน้นพืชพลังงานกันใหญ่โต มิใส่ใจหลักการพอเพียงอย่างจริงจัง…

9. พรรคการเมืองก็หวังดีเอาเงินไปทุ่มที่หมู่บ้านท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่าไปสู่ชนบทอย่างมิมีสิ่งใดฉุดรั้งหรือชะลอได้ มิใยจะมีมาตรการที่เหมาะสมในการใช้เงินก้อนนั้น ไม่ถึงสิบปีที่ Mobile phone เข้ามาเมืองไทย เครื่องมือชนิดนี้ก็ติดกายเด็กเลี้ยงควายกลางทุ่งนาเสียแล้ว

10. ฝ่ายปกครองก็บอกว่าชุมชนต้องเข้มแข็ง ตั้งโครงสร้างต่างๆขึ้นมาใหม่โดยไม่สนใจใยดีระบบชุมชนดั้งเดิมที่ function มาตลอดนับร้อยๆปี

11. ยิ่งทบทวนไปก็ยิ่งพบเห็นภาพเหล่านี้ ยิ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ยิ่งเห็นความผกผัน กระแสหนึ่งไหลไปแทนที่ของเดิม สิ่งใหม่และเก่ามีทั้งดีและด้อยปะปนกันไป แต่เราละทิ้งของเดิมแล้วถวิลหาแต่สิ่งใหม่ๆ

12. ผมมาอีสานก็บอกกับตัวเองว่าต้องรู้เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องชนเผ่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯ

13. พูดเรื่องกว้าง หากเราเป็นคนในหมู่บ้านก็ต้องเริ่มที่หมู่บ้าน วิเคราะห์ภาพของหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน หมู่บ้านกับข้างนอก

14. หากเราเอา area base ผนวกกับ ความคิดเห็นของชาวบ้าน ผนวกกับภาพรวมที่กระทำต่อหมู่บ้าน ต่อยอดของเดิมที่มีดีดีอยู่แล้ว ฟื้นฟูของเดิมขึ้นมา ผนวกกับสิ่งใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เดินไปด้วยกัน เกาะกลุ่มด้วยกัน โดยเฉพาะการผสมผสานสิ่งใหม่กับเก่าอย่างลงตัว ค่อยเป็นค่อยไป อาศัยเวลาและการปรับตัวขยับเส้นทางเดินไปตามช่วงจังหวะเวลา…ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องยึดหลักพอเพียงของพระองค์ท่าน

15. สิ่งที่กล่าวมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ตอกย้ำเส้นทางเดินของการพัฒนาอีสาน

สรุปทัศนะของผมคือ

· เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง

· เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง

· เอาวิชาการที่เหมาะสมเข้าไปผสามผสานอย่างลงตัว

· เอาภาพรวมประเทศเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว

· พัฒนาคน พัฒนาจิตสำนึกเป็นเรื่องใหญ่

· ต่อยอดของเดิมที่ดี เติมสิ่งใหม่ที่เหมาะสม

· เน้นความพอเพียงเป็นฐานก่อน

· อิงโครงสร้างเก่าผสมผสานหลักการใหม่อย่างเหมาะสม

· ผสมผสาน บูรณาการจากจุดเล็กๆ แล้วขยายสู่ใหญ่

· พัฒนาทุนเดิมหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ดัดแปลงให้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่

· ผนวก เด็ก เยาวชน สตรี พระ ผู้เฒ่า ฯลฯ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ

· ขับเคลื่อนภาพรวมอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตามสภาวะ เงื่อนไข

พูดง่ายทำยาก แต่เมื่อเริ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้ว ก็สร้างสายใยเกี่ยวเนื่องสิ่งอื่นๆตามไปอย่างบูรณาการ ใช้เวลาไม่เร่งรีบจนมีเพียงปริมาณโดยไม่มีคุณภาพ เนื้อในของชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก คนจากภายนอกเป็นเพียงผู้สนับสนุน

ข้าน้อยขอปลดปล่อยประสบการณ์บางส่วนออกมาบ้างเท่านั้น เพราะต้องการสนองรับสั่งของพระองค์ท่านด้วยวิสัยคนทำงานคนหนึ่ง..ที่เป็นข้ารองพระบาท…


The nicest people money can buy….

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 16, 2008 เวลา 23:16 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2813

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น(RDI) ที่คนข้างกายผมเป็นรอง ผอ.อยู่นั่นเชิญ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์ ดร.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม และพ่อผาย สร้อยสระกลางปราชญ์อีสาน มาอภิปรายกันเรื่อง รู้ทันประเทศไทย 3 ทศวรรษ..จากโลกาภิวัตน์ ถึงทุนนิยมสุดโต่ง เนื่องในวาระที่ RDI จะครบรอบอายุ 30 ปี…

งานนี้อาจารย์เจิมศักดิ์เป็นผู้ดำเนินการ แต่ท่านก็บอกว่าขอร่วมเป็นผู้อภิปรายด้วย ท่านที่ติดตามผลงานของวิทยากรดังกล่าวย่อมทราบดีว่า ทั้งอาจารย์ อคิน และอาจารย์ศรีศักดิ์นั้นท่านเป็นนักมานุษย์วิทยาที่ติดดินมากๆ ผลงานของทั้งสองท่านนั้นเป็นที่ยอมรับกันและอ้างอิงกันตลอดมา โดยเฉพาะท่านอาจารย์ศรีศักดิ์นั้น ผมเพิ่งกล่าวถึงท่านในกรณีที่ต่อต้านการสร้างท่าเรือที่เชียงแสนที่เราไปเยี่ยมมาสดๆร้อนๆ สาระการอภิปรายเป็นที่น่าสนใจยิ่งในสายตาผม ซึ่งถือว่าเป็นอาหารสมองที่เลิศรสยิ่งนักยิ่งกว่าไปบริโภค พระโดดกำแพง อีก อิอิ..

มีประโยคทองมากมายเกิดขึ้นระหว่างการอภิปราย ซึ่งอาจารย์เจิมศักดิ์ก็ถือว่าเป็นเลิศในการจับประเด็น ตั้งประเด็น ตรรกะ ต่างๆยิ่งจับสาระของทั้งสามท่านได้มาก ผมเองติดใจคำเหล่านั้นมีคำหนึ่งที่ อาจารย์อคินกล่าวว่า เพื่อนฝรั่งพูดถึงคนไทยว่า The nicest people money can buy หรือที่ว่า คนไทยนั้นน่ารักที่สุดที่เงินซื้อได้” …..

อาจารย์เจิมศักดิ์บอกว่า ฟังแล้วเจ็บปวดที่สุด ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ก็กล่าวว่า ฝรั่งมันไม่ได้พูดดูถูกคนไทยเช่นนี้ในวันนี้ ในอดีตนักวิชาการของฝรั่งก็กล่าวว่าสังคมไทยเป็น Thailand: Loosely structure และอื่นๆ…

กลับมาที่ Money can buy ซึ่งที่ประชุมก็ขยายความกัน ทั้งสาวอีสานและที่อื่นๆไปแต่งงานกับฝรั่งเพื่อต้องการเงิน….และ….และ.. มาถึงการเมืองที่อีสานที่เงินซื้อได้จริงๆในที่ประชุมมีการยกตัวอย่างมากมายว่า อีสาน เหนือ แม้ภาคกลางเองก็ตามเถอะไม่พ้นคำว่าเงินซื้อเสียงได้ และตั้งข้อสังเกตว่าอีสานซื้อได้มากที่สุด..และที่ภาคใต้เงินซื้อไม่ได้ หรือซื้อได้น้อยที่สุด…

ที่ประชุมไม่มีข้อสรุปที่พึงพอใจว่าทำไมเป็นเช่นนั้น แต่นี่คือปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต่างให้ข้อสังเกตไว้ และเมื่อปรากฏการณ์สังคมเป็นเช่นนี้ก็ไปเข้าทางของนักการเมืองบางคนที่มีเงินมากและมีเล่ห์เหลี่ยมมาก ก็ใช้จุดอ่อนนี้ดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งการผ่านการเลือกตั้ง และเข้าไปบริหารแผ่นดิน แล้วก็ใช้เงื่อนไขการมีอำนาจทางการเมืองหาผลประโยชน์…..

เป็นคำถามที่ใหญ่มากๆว่า ทำไม? Money can buy…The nicest people. และคนไทยเหมือนกัน แต่ทำไมคนภาคใต้จึงมีปรากฏการณ์นี้น้อยที่สุด ในฐานะที่ อ.เจิมศักดิ์ใกล้ชิดกับ พธม.ตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ พธม.นั้นที่มากที่สุดคือภาคใต้และจังหวัดรอบอ่าวไทยตั้งแต่ ตราด จันทบุรี ชลบุรี เลยไปถึงเพชรบุรี ราชบุรี…. และทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่ของ ปชป. เพราะอะไร??

หลายคนกล่าวว่า เพราะความยากจน… แต่อีกหลายท่านก็อธิบายว่าอาจจะไม่จริง เพราะในปัจจุบันค่าเฉลี่ยรายได้คนภาคอีสานก็เพิ่มขึ้นมากมาย เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา อาจารย์อคินกล่าวว่า มันเป็น ความจนเทียม หรือ ความจนเปรียบเทียบหมายถึง รายได้สูงขึ้นจริงแต่เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นนั้นยังรู้สึกว่าตัวเองยังจนอยู่… จึงแสวงหาเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมกับภูมิภาคอื่น….???

ท่านล่ะ คิดอย่างไรบ้างครับ…ที่ฝรั่งมังค่าพูดอย่างนี้..


ปาย..จะเป็นไป..

อ่าน: 2453

หากจะแสดงความเห็นต่อปายในทัศนะคนทำงานพัฒนานั้น ระยะเวลาสั้นๆที่ปายนั้นผมมีความคิดเห็นความเป็นไปบางเสี้ยวส่วนดังนี้


หนึ่ง… ปายมีเสน่ห์มากๆ ด้านกายภาพนั้น ปายเป็นเมืองที่ตั้งในหุบเขาที่ซ่อนตัวหลีกลี้จากเมืองใหญ่ ทำให้ปายคือปายรักษาความบริสุทธ์ เดิมๆ ด้วยธรรมชาติที่สวยงาม มีแม่น้ำปายไหลผ่านกลางเมือง จะดูพระอาทิตย์ขึ้นให้ไปอยู่แถบหมู่บ้านสันติชน หากจะดูพระอาทิตย์ตกดินก็ไปดูที่วัดแม่เย็น มีแหล่งน้ำพุร้อนที่มีคุณค่าทางด้านสุขภาพด้วย ความยากลำบากของการเดินทางไม่ว่าจากเชียงใหม่ไปปาย หรือ แม่ฮ่องสอนไปปาย ถนนเพิ่งจะมีการก่อสร้างเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง แม้มีถนนแต่จากเชียงใหม่ไปปายนั้นมีมากกว่า 900 กว่าโค้ง ความยากลำบากมีส่วนสำคัญที่ชะลอการไหลบ่าของวัฒนธรรมเมือง หรือกล่าวตรงๆคือวัฒนธรรมทุนนิยม จึงทำให้เมืองปายมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่มาก …. แต่วันนี้ไม่ใช่เสียแล้ว

สอง… กลุ่มชนชาวปาย คือความหลากหลาย ของชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตอาศัยอยู่ล่างสุดคือคนเมือง ขยับขั้นมาเป็นปกาเกอญอ ขึ้นมาเป็น คนจีนยูนานหรือจีนฮ่อ สูงขึ้นไปคือ ลีซอ และสูงสุดคือ มูเซอร์ โดยเฉลี่ยภาพรวม ต่างอยู่ด้วยกันอย่างสงบ ไม่มีปัญหาระหว่างกัน แต่ละชนเผ่าก็มีวิถี มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่อยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมที่โดดเด่นที่เป็นจุดขายปายที่สำคัญคือกลุ่มชนชาวจีนที่หมู่บ้านสันติชน โดยเฉพาะร้านอาหารชาวจีนที่สร้างด้วยดิน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สินค้าบางอย่างที่มาจากเมืองจีน หมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินที่เมื่อขึ้นไปแล้วมองได้เกือบทั่วปาย ฯลฯ ลีซอ สร้างหัตถกรรมที่สวยงาม ฯลฯ ทุกชนเผ่ามีการเกษตรที่เป็นความถนัดของตนเอง และเป็นอาหารเพื่อบริโภค และขาย ด้วยสภาพธรรมชาติที่ดี อุดมสมบูรณ์

สาม… ถนนคนเดินกลางคืน แม้ว่าเหมือนกับไนท์บาร์ซาร์ที่เชียงใหม่ที่ทำมานานแล้ว เหมือนตลาดกลางคืนของหลวงพระบาง ฯ แต่ถนนคนเดินที่ปายมีความเป็นท้องถิ่นที่ยกระดับมาเป็นอินเตอร์มากขึ้นอย่างค่อนข้างกลมกลืน โดยเฉพาะมีอาหารท้องถิ่น มีขนมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่มีที่อื่น ใครๆก็อยากชิม อยากลอง จนติดใจและเป็นจุดขายได้ หรือการทำน้ำดื่มง่ายๆ เช่นน้ำตะไคร้ น้ำขิง ฯลฯ ใส่หม้อดิน อุ่นขาย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เป็นสีสัน ของถนนคนเดิน

สี่… การเงินเดินสะพัด โดยเฉพาะช่วงวันหยุด ต่างๆ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีจนถึงวันอาทิตย์ ที่พักตั้งแต่ราคา 100 บาทจนถึงคืนละ 4,000 บาท เต็มหมด จนล้น ชาวปายต่างดัดแปลงที่ดินเป็นอาคารเพื่อให้เช่ามากมาย เมื่อคนจำนวนมากไปรวมกัน เรื่องการใช้ชีวิตปกติ แต่ไม่ปกติก็ไหลหลั่งเต็มๆ เช่นการกิน การเดินทาง การซื้อบริการต่างๆ แม้ว่าจะเป็นสองมุมของการพัฒนาที่จะเจริญแบบสร้างสรรค์ หรือเจริญแบบทำลาย แต่บทเรียนที่มีมากมายที่คนปายเรียนรู้ และคงน้อมนำมา สร้างปายที่เหมาะสมได้

ห้า… ศาสนา ดูเหมือนว่าการท่องเที่ยวได้ส่งผลกระทบทั้งดีและไม่ดีต่อระบบศาสนาในพื้นที่อำเภอปายแห่งนี้ เพราะวัดมีสถานที่ตั้งบนเนินที่สวยงาม และมีสิ่งก่อสร้างที่บ่งชี้วัฒนธรรมล้านนาผสมชนเผ่าต่างๆ สวยไปอีกแบบ และมีความหมายในทางศาสนาคติ ความเชื่อ…. เมื่อคนหลั่งไหลมาส่วนหนึ่งก็ไปกราบพระที่วัด ชื่นชมศิลปวัฒนธรรม และที่วัดส่วนหนึ่งก็กลายเป็นตลาดของกลุ่มแม่บ้านที่เอาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมาวางขาย ภาพที่ผมประทับใจมากๆคือ แม่อุ้ยท่านมานั่งหน้าโบสถ์ คอยบอกกล่าวนักท่องเที่ยว และทำความสะอาดโดยใช้ไม้กวาด ทุกๆ ครั้งที่นักท่องเที่ยวทำพื้นสกปรก นอกจากนี้ข้อมูลความเป็นมาเป็นไปทางประวัติศาสตร์ก็ถูกบอกผ่านแก่นักท่องเที่ยวด้วย กำอู้ของกลุ่มคนเฒ่า เอกสาร และแผ่นป้ายที่สรุปเรื่องราวไว้… ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย เช่น กรณีวัดน้ำฮู เกี่ยวกับพระนางสุพรรณกัลยา เป็นต้น

หก… ที่น่าตกใจ คือการไหลบ่ามาของนักท่องเที่ยวนั้น ปัจจุบันมันเกินกว่าพื้นที่จะรับได้ (ผมประเมินเอง) ผมสอบถามเจ้าของที่พัก เจ้าของร้านค้าบางแห่งบอกว่า คนที่มามากมายนี้ก็แค่ 4-5 ปีมานี่เอง ปากต่อปาก และการที่ท้องถิ่นพยายามจัดงานท้องถิ่นขึ้นมา น่าเป็นห่วงมากๆเรื่องการมาของการท่องเที่ยวที่จำนวนมากเกินพอดี…. เหมือนที่เราเคยพูดกันว่าน่าห่วงหลวงพระบาง…

เอาแค่นี้ก่อน จะเดินทางแย้วววว


ผ่านไปอีกวัน……

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 21, 2008 เวลา 21:24 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1769

ระบบโครงการใหญ่ที่ผมทำอยู่นี่ บางทีก็ดูเทอะทะ เวลาเจ้านายอยากประชุมทีก็เรียกกันลงมากรุงเทพฯต้องเหมารถตู้มากัน บ้างก็นั่งเครื่องฯมา ไปกลับเท่าไหร่ ค่าที่พัก ค่ากิน ค่าแท็กซี่ บางคนก็ชอบชีวิตแบบนี้…ผมเห็นว่ามันไม่คุ้นกันเลย บางคนมาแล้วไม่ได้พูดสักคำ นั่งรับฟังเฉยๆ บางทีผมยังสงสัยว่าที่นั่งเฉยๆน่ะ เข้าใจกันแค่ไหน..? เสียดายงบประมาณจริงๆ…เฮ่อ บ่นสักหน่อยวันนี้…

ลงกรุงเทพฯก็พยายามพักที่โรงแรมใกล้กระทรวงเกษตร เพราะตื่นเช้ามาก็เดินมาได้ คราวนี้น้องๆบอกมีโรงแรมราคาถูก ชื่อ Golden Horse จำได้ว่าสมัยทำงานกับสภาพัฒน์ฯมาพักที่นี่บ่อยมากเพราะเขาจองให้ว่ามันอยู่ใกล้ๆ เมื่อคืนกลับมาพัก โห….ผิดไปมากทีเดียว ก็โทรมจนหมดราคาเลย ไม่มีแขกพักซักเท่าไหร่ เมื่อผมเข้าพักแล้วก็นึกได้ว่ามันอยู่ใกล้ๆ ภูเขาทองวัดสระเกศ จึงเปิดผ้าม่านดู โฮ สวยจริงๆ…เหลืองอร่าม

ถ่ายรูปนี้ผ่านกิ่งไม้ข้างห้องพัก

การประชุมวันนี้เพื่อมาให้รับทราบว่าเบอร์หนึ่งจะเดินทางขึ้นไปประชุมพิเศษที่ขอนแก่น จะต้องเตรียมตอบคำถามท่านอย่างไรบ้าง จะเอางานอะไรมาบรรยายสรุปให้ท่าน ใครจะเตรียมฯลฯ เป็นที่ทราบกันดีว่า เบอร์หนึ่งของหน่วยงานนี้ท่านเป็นคนเช่นไร จึงต้องกำชับกันมากหน่อย…. เจ้านายสั่งงานแล้วก็นั่งคุยต่อกันนิดหน่อยแล้วก็แยกย้ายกันกลับ

แค่นี้..แค่มาประชุม 2 ชั่วโมงเสียงบประมาณไปมากมาย พวกเราเลยถือโอกาสไปดูพระเมรุที่สนามหลวง พนักงานขับรถที่เช่ามาเตือนว่า พี่ช่วงนี้รถติดมากนะครับ ทุกคนในรถก็ว่ามาแล้วไปดูซะหน่อยเป็นบุญตา…

โห..จริงๆ รถติดกันยังกะฝูงมดเดินกลับรัง…. เห็นรถบัสคันใหญ่จอดในสนามก็เดาว่าที่คงเป็นทัวร์ต่างจังหวัดที่เข้ามาชมเหมือนเราที่ตั้งใจ แต่เราหมดสิทธิ พนักงานขับรถไปถึงสามเหลี่ยมศาลหลักเมือง ก็ปรึกษากันว่าเลี้ยวกลับเถอะ ขืนไปต่อไม่ได้กลับขอนแก่นแน่

ก็อาศัยถ่ายรูปในรถเอา เราต่างกระหายบริโภคภาพพระเมรุมาศที่มีพี่น้องชาวไทยเข้ามาชมกันเต็มนั่น รถก็กระดึบๆไปข้างหน้า สวยมากจริงๆ อยากให้คงอยู่เช่นนี้นานๆ พี่น้องจะได้เดินทางมาชมศิลปกรรมของประเทศเรา ล้ำค่า เลอเลิศ สะแมนแตนจริงๆ บุญตาเรา คนข้างกายผมก็บ่นว่าอยากเข้ามาดู แต่ไม่มีโอกาส เลย ก็แค่เก็บรูปเท่าที่จะพอถ่ายได้เอาไปฝากกันเท่านั้น… อิจฉาคนกรุงเทพฯจัง…


ผมเข้าใจว่าพระเมรุนี้จะไม่เก็บไว้นานเพียง 1 เดือนประมาณนั้น จะต้องเก็บเพื่อเหตุผลของความเชื่อของวัฒนธรรมไทยเราตามที่โฆษกพระราชพิธีประกาศให้เราทราบช่วงพระราชพิธีอันงดงามนั้น

ผมเดินทางกลับขอนแก่นโดยเครื่องเพราะมีนัดกับคุณหมอเรื่องอวัยวะข้างในผม เลยแยกตัวจากเพื่อนที่นั่งรถตู้กลับ แต่เรื่องจริงเพื่อนๆที่นั่งรถตู้กลับถึงบ้านขอนแก่นก่อนผม เพราะเมื่อผมลงเครื่องก็เลยเข้าไปพบคุณหมอที่คลินิก

ป๊าดดดด แม่คุณทูนหัวทั้งผู้ป่วยและญาติที่มาส่งผู้ป่วยพบหมอนั้นลามออกมาข้างนอกห้อง เมื่อผมยื่นบัตรให้เจ้าหน้าที่สาว เธอก็บอกว่าคิวยาวมากนะคะ ผมก็พยักหน้า ยาวก็จะรอครับ เพราะคุณหมอนัดวันนี้

ผมอ่านหนังสือจบเป็นเล่มเลย ระหว่างนั้นคุณหมอก็ออกมาทักทายคนไข้ตามนิสัยสร้างบรรยากาศดีดี ครั้งหนึ่งคุณหมอประกาศดังๆต่อหน้าคนไข้ว่า มีใครมาไกลกว่าเมืองสะหวันนะเขต(เมืองลาว) บ้าง ต่างพยายามมองว่ามีใครมาไกลบ้าง มีคนยกมือจริงๆ มุมห้องโน้น มาจากไหนครับคุณหมอถาม ผมมาจากจันทรบุรีครับ…เอ้า มาเอารางวัลไปเลย…คุณหมอหยิบขนมปังที่ทำเป็นแบบแฮมเบอร์เกอร์ห่อด้วยพลาสติกใส 1 ชิ้น…

คนไข้ที่นั่งต่างหัวเราะและยิ้มให้แก่พฤติกรรมน่ารักของคุณหมอครับ… ท่ามกลางความทุกข์ที่ทุกคนมาเพื่อหาหมอนั้น ต่างก็ยิ้ม นี่เองที่ทำให้คนไข้คุณหมอแน่นทุกวัน…

ผมดูเวลา ห้าทุ่มแล้ว ก็ถึงคิวผม อิอิ เป็นคนสุดท้ายเลยครับ…..เห็นใจคุณหมอจริงๆที่ต้องรับภาระหนักเช่นนี้.. แต่ชื่นชมที่ท่านทำบุญให้แก่เพื่อนคนไทยที่มีทุกข์ต่างบากหน้ามาหาหมอ…

ผมว่าคุณเป็นนิ่ว..ไหนเอาแผ่นฟิล์มที่ทำอุนตราซาวน์ดูหน่อยซิ แทนที่คุณหมอจะหยิบคำวินิจฉัยที่คุณหมอที่ทำอุลตราซาวน์มาอ่านก่อน กลับไปหยิบแผ่นฟีล์มมาส่องไฟดู

นี่ไงเห็นไหม…นิ่วก้อนเล็กๆนี่ไง… แล้วคุณหมอจึงมาอ่านคำวินิจฉัยทีหลัง…

เอาไงดี..จะผ่าหรือจะกินยาต่อ.. ขอกินยาต่ออีกครั้งครับ หากยังไม่ดีขึ้นก็จะผ่าครับ ผมอ้อนวอนคุณหมอ..

เอางั้นเอายาไป… ผมเห็นคุณหมอเพลียมากจึงไม่ซักถามมากนัก ผมลาคุณหมอและเจ้าหน้าที่แล้วก็มุ่งหน้ากลับบ้าน เกือบเที่ยงคืน เพื่อนที่นั่งรถจากกรุงเทพฯมาถึงบ้านก่อนจริงๆ….

เฮ่อ…ผ่านไปอีกวันหนึ่ง…ชีวิต..

พักผ่อนเอาแรงไว้วันพรุ่งนี้ต่อดีกว่า…. อย่างไรเสียวันนี้ก็ได้กราบวัดพระแก้ว และพระเมรุ ผมหลับลงด้วยจิตใจที่ดีอีกวันหนึ่ง

คร๊อกฟี้ยยยยยย……


“ดาวเหนือ” แห่งวัดป่าอาชาทอง เชียงราย

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 6, 2008 เวลา 22:13 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4214

พระอาจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่าอาชาทอง

คืนนี้พักผ่อนตัวเอง  วางงาน แล้วมาดู UBC ซึ่งนานๆจะมาดูที โดยบังเอิญไปดูช่อง 46 พบรายการที่กำลังบรรยายประวัติของพระขี่ม้า ที่ประหลาด ที่เชียงราย ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ เฮฯหกจะแวะไปใส่บาตร (จริงป๊ะ)

ผมคว้ากล้องมาถ่ายรูปท่านจากหน้าจอ ทีวีเป็นร้อยๆ แต่พอจะใช้ได้ไม่กี่ภาพ ตามที่คัดมา

เป็นการดีที่ได้รู้จักท่านก่อนที่จะมีโอกาสมาพื้นที่นี้ในเฮฯหก เป็นการดีมากๆ

“ม้า” สัญลักษณ์ของวัดแห่งนี้

พระ เณร วัดนี้มีความสามารถในการขี่ม้า

พระอาจารย์ท่านสอนเณรในการขี่ม้า คุ้นชินกับม้า

พระอาจารย์มีอดีตเป็นนักมวยชื่อดัง จึงมีความสามารถทางการต่อยมวย และตั้งค่ายมวยที่วัดนี้ด้วย

ความสามารถเชิงมวยของท่านเคยสามารถเอาชนะกลุ่มพ่อค้ายาบ้าจำนวนหลายคนมาแล้วในอดีต

เด็กคนนี้มาอยู่กับพระอาจารย์ ซึ่งกว่าจะละทิ้งความเป็นเด็กและมาอยู่ในโอวาทของท่านได้ ท่านใช้เวลานานพอสมควรที่ให้เด็กได้ปรับตัว  เมื่อเห็นว่าจะสั่งสอนหลักธรรมได้แล้วก็นำมาสอนเรื่องการนั่งสมาธิ

ดูรายกา่รนี้แล้วเห็นความตั้งใจท่าน และศรัทธาท่านที่ใช้ธรรมสร้างคนใหม่ตั้งแต่เด็กขึ้นมา

นี่คือ เด็กชาย “ดาวเหนือ” ที่ต่อมาบวชเป็นสามเณร “ดาวเหนือ” เด็กคนนี้มาจากบ้านหัวแม่คำ ผมประทับใจวิธีการอบรมเด็กของท่าน ท่านเข้าใจธรรมชาติเด็กและขั้นตอนที่ควรจะอบรมกับเด็กที่ยังไม่สามารถใช้เหตุผลอย่างผู้ใหญ่ได้  ท่านให้เด็กทำอะไรตามใจ เช่นชอบต่อยมวยก็ให้ไปต่อยมวย ท่านก็สอนให้จนสามารถชนะการต่อยมวย  แล้วเด็กคนนี้ก็หมดพยศแล้วก็ก้าวเข้ามาอยู่ในร่มของศาสนาเต็มตัว

ผมไม่สามารถบรรยายเรื่องราวทั้งหมดได้ แต่เอาภาพมาให้ท่านได้ดู เพื่อเป็นการกระตุ้น เฮหกก็แล้วกันครับ


สันติเสวนา…(3)

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 11:54 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2983

เมื่อพิจารณาเหตุของปัญหาแล้วเห็นว่ามันซับซ้อน เกี่ยวเนื่อง พัวพันกันไปหมด ทั้งตรงทั้งอ้อม ทั้งมากทั้งน้อย….

แล้วทำไง?

สามารถแบ่งเป็นสองส่วนคือ ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขป้องกันระยะยาว การแก้ไขระยะยาวนั้น มีข้อน่าพิจารณาดังนี้….

- ฟื้นฟูระบบสังคมคุณธรรม: หรือคุณค่าความเอื้อเฟื้อ อาทรแก่กัน แล้วทำอย่างไร สาธยายกันยาวเหยียด ค่อยว่ากัน

- กิจกรรมทางสังคมแบบเดิมๆที่เป็นกิจกรรมสะสมทุนทางสังคม หน่วยงานต้องฟื้นสาระนี้ขึ้นมา มิใช่เพียงสร้างรูปแบบเอาไว้

- การเสริมสร้างทัศนคติต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม: ระบบการศึกษาที่เป็นเบ้าหลอมเด็กต้องปฏิวัติใหม่หมด

- การปรับปรุงกฎหมาย: ให้เหมาะสมสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ..

- ทบทวนหลักการเสรีประชาธิปไตย: น่าจะมีอะไรบกพร่องในรายละเอียดของหลักการนี้…

- อีกมากมาย มากมาย มากมาย ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ทั้งส่วนรวม ส่วนตัว ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ต้องกระทำกันเป็นกระบวนการ บูรณาการ เชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะระบบคุณค่าทางสังคมนั้นแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามพื้นวัฒนธรรมเดิม การเสริมสร้างฟื้นฟูมิใช่ทำแค่รูปแบบเท่านั้น แต่เน้นความเข้าใจ สืบต่อทางด้านสาระเป็นหลัก..

กรณีความขัดแย้งเฉพาะหน้า หรือปัจจุบันนั้น (กรณี ปัจจุบัน)


ทัศนคติส่วนตัว

- เห็นว่าความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่จุดที่ไม่สามารถเจรจากันได้ ต่างฝ่ายต่างขีดเส้นแบ่งไว้แล้ว และยึดมั่นว่าจะไม่ก้าวผ่านเส้นแบ่งนั้นไป และหาทางเผด็จศึกอีกฝ่ายด้วยวิธีการทั้งทางเปิดเผยและทางลับ ทั้งที่ถูกกฎหมายและทำไปแบบข้างๆคูๆ หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย

- หมดเวลาต่อการเรียกร้องเพียงวาจา ต่อให้ไพเราะแค่ไหนก็ทำไม่ได้แล้ว สถานการณ์พัฒนาขึ้นสู่ความขัดแย้งที่สูงแล้ว

- ตั้งเงื่อนไขไว้สูงที่จะบังคับให้อีกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม แล้วหาทางกดดันต่อไปด้วยวิธีการต่างๆ จากเบาไปหาหนัก

- สถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยสันติเสวนาตามปกติเสียแล้ว

ถามว่า: ไม่มีที่นั่งที่สามารถปักป้าย สันติเจรจา หรือ สันติเสวนาเลยหรือ

ตอบว่า: พอมีอยู่บ้าง

การแก้ไขแบบสันติทำอย่างไร

ต้องใช้อำนาจที่สาม หรือที่สี่ เข้ามา เช่น ฝ่ายทำเนียบเรียกร้องทหาร ก็หวังว่าทหารจะออกมาอยู่ข้างประชาชนเหมือนในตุรกี และอื่นๆ โดยไม่ใช้กำลัง ซึ่งขึ้นกับว่ารายละเอียดของอำนาจที่สามนี้จะยืนตรงไหน อย่างไร…. (แต่ก็หมิ่นเหม่มากๆต่อความรุนแรง) การกดดันเช่นนี้เป็นการบีบบังคับให้อีกฝ่ายต้องยอมเจรจาและยอมสูญเสียบางส่วนเพื่อรักษาบางส่วน

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ อำนาจทางตุลาการต้องเข้มแข็ง ไม่โงนเงน อ่อนไหวไปตามกระแสทุนที่สามารถไหลบ่าเข้ามาอย่างท่วมท้น เอาหลักการตามกฎหมายมาจัดการผู้กระทำมิชอบอย่างตรงไปตรงมา

อีกหนทางหนึ่งคือ ผู้ที่มีบารมีสูงส่งก้าวมาเป็นผู้ใช้สันติเสวนา อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และทุกอย่างก็สงบลงได้จริงๆ ในปัจจุบันผู้มีบารมีสูงส่งที่เป็นสามัญชนธรรมดานั้นดูจะไม่มีทางที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้แล้ว

ทำไมปัจจุบันผู้มีบารมีในสังคมจึงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้

- เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาท่ามกลางความวิปริตของสังคมไทย เพราะเปลืองตัว หรือหาเรื่องเปล่าๆ

- เพราะไม่มีใครไว้ใจใครอีกต่อไปแล้ว แม้แต่คนกลาง ก็ไม่แน่ใจว่ากลางจริงหรือไม่ กลางของใคร ต่างเกรงว่าตัวเองจะเสียเปรียบ และถึงแก่ความพินาจ สูญเสียประโยชน์มหาศาล

(มีผู้อยู่วงในกล่าวว่า คนสี่เหลี่ยมมีเงินจริงๆถึงสามแสนล้าน และมีธุรกิจที่มีรายได้อีกมากมาย เช่นที่ประเทศจีน สมมุติว่าจะถูกกฎหมายไทยยึดทรัพย์สินหมดตามที่มีการฟ้องร้องกัน ก็อยู่ได้อย่างราชาเพราะมีรายได้ปีละหนึ่งหมื่นหกพันล้าน…ก็ฟังหูไว้หูก็แล้วกัน) เงินเป็นปัจจัยในการต่อสู้ที่สำคัญประการหนึ่ง แบ่งเงินมาปีละ ห้าพันล้าน ก็สู้กันไปอีกนาน หากฝ่ายตุลาการเข้มแข็งตลอด ผู้รักษากฎหมายเข้มแข็ง ทหารไม่ไหวเอน ประชนเข้าถึงความจริงทุกด้าน …. แม้ลึกๆจะเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ลุกขึ้นยืน แต่ก็เหนื่อยอ่อนเต็มที….

ท่ามกลางค่านิยมในสังคมเสรีประชาธิปไตยเช่นนี้…ท่ามกลางทัศนคติที่มุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายไว้ที่ อำนาจ กับ ทุน เพื่อผลประโยชน์ ประชาชนอย่างเราต้องตั้งสติให้มั่นคง…

ทำให้นึกถึงเพลงหนึ่งที่ร้องกันในที่รโหฐานว่า

หยดฝนย้อย..จากฟ้า..มาสู่ดิน

ประมวลสินธุ..เป็นมหา..สาครใหญ่

แผดเสียงซัด..ปฐพี..อึ่งมี่ไป

พลังไหล..แรงรุด..สุดต้านทาน

อันประชาฯ..สามัคคี..ที่จัดตั้ง

เป็นพลัง..แกร่งกล้า..มหาศาล

แสนอาวุธ..แสนศัตรู..หมู่อันธพาล

มิอาจต้าน..แรงมหา..ประชาชน

สันติภาพจงเจริญ..


สันติเสวนา… (2)

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 0:35 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2805

สรุปจากตอนที่ 1


วิเคราะห์ : สังคมเราซับซ้อนมากขึ้น จนระบุสาเหตุเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง กลุ่มสาระใดสาระหนึ่งเด็ดขาดไม่ได้ ต่างมีส่วนเนื่องกันทั้งตรงและอ้อม ทั้งมีส่วนมากและน้อย

แต่ละสาระมีรายละเอียดมากมาย และทั้งหมดผันแปรไปตามการเปลี่ยนทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ระบบการพัฒนาประเทศชาติทั้งหมด ภายใต้กรอบระบบเสรีประชาธิปไตย..

ประชาชนฐานรากก็มีสาระในวงล้อมเขาแบบหนึ่ง นักการเมืองฉลาดแกมโกง อ่านสังคมออกก็ใช้จุดอ่อนต่างๆเหล่านี้เป็นเส้นทางการเข้าสู่อำนาจ แล้ว อำนาจก็เป็นที่มาของทุน (ย้ำว่านักการเมืองน้ำดีมีอยู่)

นักธุรกิจอุดมการณ์ทุนสามาลย์ก็อ่านออกว่าสังคม โครงสร้างสังคม และส่วนต่างๆนั้นมีจุดอ่อน ที่เขาสามารถใช้เป็นช่องทางการก้าวเข้าสู่อำนาจ จึงใช้ทุน หรือเงิน ซึ่งนักการเมืองบางคนก็ใช้เงินจำนวนมากที่มิใช่เงินจากกระเป๋าเขาเองด้วย นี่คือความฉลาดแกมโกง และด้วย ทุนมหาศาล เขาก็ก้าวสู่อำนาจ (ทุนดีดีก็มีอยู่ครับ)

ลองย้อนดูความขัดแย้งในสังคมหมู่บ้านเดิม ที่จบลงที่ ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ซึ่งเป็นระบบคุณค่าเดิม ลูกหลานในหมู่บ้านมีเรื่อง มีปัญหา พ่อแม่เขาก็มาพบ ผู้เฒ่าเจ้าโคตรให้เป็นคนกลางที่มีคุณธรรมมีจริยธรรมไม่เข้าใครออกใคร เกลี้ยกล่อม การที่ท่านผู้เฒ่ามีคุณสมบัติต่างเป็นที่เคารพของชุมชนนั้น เมื่อท่านพูดอะไรถือเป็นมงคล แล้วก็ไกล่เกลี่ยจนความขัดแย้งนั้นสลายไป กลับมาคืนดีกัน วิธีการของพ่อเฒ่าในสมัยนี้อาจจะเรียกว่า สันติเสวนา ก็ย่อมไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด

หากบางสังคมไม่มีผู้เฒ่าที่มีคุณสมบัติดังกล่าว หรือสังคมใหม่เข้าไปครอบเสียคุณค่าเดิมสลายไปหมดสิ้นแล้ว ปัญหาต่างจึงมุ่งตรงไปสู่ที่โรงพัก หนักมากขึ้นก็ถึงโรงศาล ซึ่งเป็นระบบการแก้ปัญหาในระบบสังคมใหม่

ความขัดแย้งในหน่วยงาน จบลงที่ระเบียบ ข้อบังคับในสำนักงานนั้นๆ หรือหัวหน้างาน นายจ้าง หรือตามกฎหมายส่วนที่เกี่ยวข้อง

ความขัดแย้งทางสังคมใหญ่ มีแต่ระบบกฎหมาย และจบลงที่ศาลสถิตยุติธรรม

มีข้อสังเกตว่า: ความขัดแย้งที่จบลงที่ระบบผู้เฒ่า เจ้าโคตรแบบดั้งเดิมนั้น จบลงแล้ว อยู่ด้วยกันต่อไปได้

แต่ความขัดแย้งที่จบลงที่กระบวนยุติธรรม โรงศาลนั้น จบลงด้วยกฎหมาย ข้อบังคับที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อการปกครองร่วมกัน แต่สองฝ่ายของความขัดแย้งกันนั้นไม่จบลงที่คำพิพากษา คำตัดสินเป็นเพียงการยอมรับเพราะจำนนต่อหลักฐาน

แต่ความสลดหดหู่ กลับเนื้อกลับตัวนั้นดูเหมือนจะไม่มี และกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น จึงมีจำนวนมากที่เมื่อออกจากการถูกลงโทษทางกฎหมายแล้ว ก็ปฏิบัติความชั่วนั้นต่อเนื่องอีก…..?? (มีต่อตอนสาม)

หมายเหตุ: การเขียนที่ผิดพลาดเรื่องสกด การันต์ ต้องขออภัยด้วยครับ


ตอบครูบา…สันติเสวนา (1)

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 24, 2008 เวลา 15:22 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2422

ขออนุญาตท่านครูบาหยิบโจทย์มาเขียนที่นี่ครับ..

โจทย์ใหญ่คับฟ้าเช่นนี้.. ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นต้องตีวงกันหน่อย

การเสวนาเพื่อสันติต่อกรณีไหน. เพราะแต่ละกรณีมีที่มาที่ไปต่างกัน มีต้นขั้วที่แตกต่างหลากหลาย ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ยากง่ายแตกต่างกัน หากเราไม่รู้แจ้งแทงตลอดทั้งหมดก็ยากที่จะเสวนาเพื่อสันติ…..

เมื่อวันที่ 22 ผมเข้าร่วม การอภิปรายโดย อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ( อ.เจิมศักดิ์กับผมรู้จักกันเป็นส่วนตัว เป็นคนบ้านเดียวกัน เรียนมัธยมที่เดียวกันมา และเคยร่วมงานกันมาสมัยทำงานที่ จ.สุรินทร์ เคนเป็น reference person ตอนผมสมัครงานโครงการของ USAID ที่ขอนแก่นหลายสิบปีก่อน)

ในทัศนะผม อ.เจิมศักดิ์เป็นคนจับประเด็นเก่ง สรุปอะไรได้ชัด และมีความรู้กว้างขวางมากกว่าวิชาชีพด้านเศรษฐศาสตร์ที่จบมาจาก Princeton คนที่ได้รางวัลเหรียญทองจาก ดร.ป๋วย สมัยเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่มายืนข้างประชาชนตลอดมา ผมชื่นชมเป็นส่วนตัว

การสัมมนาวันนั้นมีหลายประเด็นเกี่ยวเนื่องกับโจทย์ที่ท่านครูบายกมาแสวงหาความเห็น ผมเลยถือโอกาสนี้สรุปสั้นๆเอามาแลกเปลี่ยนกันครับ

สื่อสารมวลชน : การสัมมนาคืนนั้นผมทราบข้อเท็จจริงมากมายเกี่ยวกับความขัดแย้งของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งปกติสื่อสารมวลชนต่างๆพยายามเจาะลึกอยู่บ้างแต่ก็มีข้อมูลหลายด้านที่ประชาชนสับสนอะไรแท้จริง อะไรบิดเบือน ชนชั้นกลางอย่างเรายังมีหนทางที่จะไขว่คว้าหาความจริงได้มากกว่า แต่ชาวบ้านที่ห่างไกลการเข้าถึงแหล่งข้อมูลนั้น ก็บริโภคแต่สื่อที่รัฐจัดให้เป็นหลัก และหากผู้ให้สื่อมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตพูดอีก ชาวบ้านก็ต้องเชื่อ…???

ระบบอุปถัมภ์ : สิ่งที่ผมได้ยินอีกเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้ว่าสังคมไทยนั้นระบบอุปถัมภ์มีผลสองด้าน ในที่เสวนาครั้งนี้ก็ย้ำกันอีกว่า ระบบนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองผลประโยชน์ที่ฉลาดแกมโกง (นักการเมืองน้ำดีก็มีอยู่นะครับ มิใช่เลวไปหมด)

ค่านิยมของทุนนิยมสามานย์ : ในบรรยากาศที่สังคมเป็นทุนนิยมสามานย์ ต่างแข่งขันในการมีเงินและทรัพย์สมบัติให้มาก ระบบอุปถัมภ์เลยสอดคล้องกับพวกทุนและนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่แกมโกงนั้น…เราจะสังคายนาเรื่องนี้อย่างไร หรือทำอย่างไรให้ถูกใช้ในแง่เป็นประโยชน์เท่านั้น

การได้มาของนักการเมือง : ระบบเลือกตั้งนั้นมีจุดอ่อนที่ต่างเห็นๆ แต่แก้ไม่ตก จึงมีการระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอทางเลือกใหม่ของการได้มาของนักการเมือง ก็กำลังถกกันในปัจจุบันที่ยังไม่ฟันธง มีกรณีตัวอย่างที่เขาแก้มาแล้วในจ่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน หรือออสเตรเลีย และ ฯลฯ

อำนาจทางการบริหารเข้าไปมีอิทธิพลอำนาจนิติบัญญัติ: ชัดเจนที่สุดในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องสาธยายมาก จะต้องแบ่งแยกให้ชัดเจน โดยอำนาจบริหารจะต้องไม่สามารถมามีอิทธิพลเหนืออำนาจนิติบัญญัติ มิเช่นนั้นบ้านเมืองไปไม่ได้

ประชาชนฐานรากไม่มีส่วนร่วมแท้จริงในการปกครอง : แลกเปลี่ยนกันว่างบประมาณภาษีท้องถิ่นไม่ต้องส่งส่วนกลางให้อยู่ในท้องถิ่นนั้น แล้วบริหารกันเองในจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ประชาชนจะรู้สึกมากขึ้นว่าเงินภาษีที่เขาเสียไปนั้น นักการเมืองท้องถิ่นเอาไปทำประโยชน์อะไรบ้าง มิใช่คิดแต่ว่า เงินที่ส่งมาจากส่วนกลางนั้นเป็นเงินหลวง(ทั้งๆที่เป็นเงินจากภาษีของเราเอง) ความรู้สึกการเป็นเจ้าของจะมีมากขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นมากขึ้น หรือมีอำนาจถ่วงดุลมากขึ้น

โครงสร้างตำรวจ: ตำรวจต้องเป็นตำรวจของประชาชนแท้จริง มิใช่ที่เห็นปัจจุบัน โดยการโอนไปอยู่ที่จังหวัด แล้วประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารตำรวจนั้นๆ….

ระบบคุณค่าทางสังคมเดิมจืดจางหายไป: ความสัมพันธ์ของคนในสังคมจึงมีแต่ผลประโยชน์เป็นตัวเชื่อม ยิ่งมีระบบอุปถัมภ์ในมุมลบเป็นโครงสร้างหนุน คุณค่าเดิมทางสังคมจึงบิดเบือนไปเพียงเพราะว่า เขาเป็นญาติพี่น้อง เขาเป็นเพื่อน เป็นเจ้านาย ลูกน้อง ฯลฯ ที่อุบถัมภ์ค้ำชูกันมา ความผิดจึงซ่อนอยู่ใต้ความสัมพันธ์แบบนี้ ยิ่งค่านิยมทุนนิยมเข้ามา คนที่มีทุนการเงินมหาศาลจึงซื้อคนได้ง่ายมากๆ

ระบบศีลธรรมหดหาย บุญบาป ไม่มีใครเกรงกลัวต่อไป: นายแพทย์ใหญ่ท่านหนึ่งบวชมาถึง 23 พรรษา ปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเกี่ยวกับผู้ป่วยช่วงสุดท้าย..ท่านกล่าวว่า ระบบสงฆ์ไม่มีบทบาทในการหล่อหลอมจิตใจประชาชนให้ดำรงคุณธรรมอย่างสูงได้เลย ตัวระบบสงฆ์ก็จำลองระบบราชการ เป็นระบบขึ้นต่อเหมือนระบบทางการปกครอง ตำแหน่งทางสงฆ์ก็ซื้อกัน พระต่างจังหวัดจะไปจำพรรษาที่วัดธาตุทองต้องจ่ายเงินแสนเพื่อจะเข้าสู่กุฏิได้ ??

อีกมากมาย…… (อยากรู้เรื่องต่อก็ต้อง ติดตามตอนสองอ่านเอา…)



Main: 0.11782002449036 sec
Sidebar: 0.054933071136475 sec