Budget Sheet

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 30, 2010 เวลา 20:55 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2942

เมื่อ พ.ศ. 2534-2538 ทำงานกับโครงการพัฒนาชลประทานภาคอีสาน มีท่านรองอธิบดีกรมชลประทานท่านปัจจุบัน ท่าน วีระ วงศ์แสงนาค เป็นผู้จัดการโครงการ ผมอยู่ส่วนคณะที่ปรึกษา ซึ่งมีทั้งบริษัทที่ปรึกษาของไทยและยุโรป ผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มประชาคมยุโรป ฝรั่งส่วนใหญ่เป็น Holland บางส่วนมาจากออสเตรเลีย ผมรับผิดชอบงานฝึกอบรม ทำงานร่วมกับข้าราชการกรมชลประทาน

ผมนั้นมาจาก องค์กรพัฒนาเอกชน มีใจให้กับชนบท มีทัศนคติอยู่ข้างชาวบ้าน แต่ก็มาเรียนรู้เรื่อราวเชิงวิชาการต่างๆเอาตอนทำงานกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆนี่แหละ ทั้งไทยและต่างประเทศ มีภรรยาเป็นนักวิชาการ มีตำรับตำราล้นห้อง ก็ค้นคว้าเอาเพิ่มเติมในสิ่งที่อยากรู้ เข้าไปใกล้ชิดกับผู้รู้ แล้วเราก็สะสมเอาความรู้ต่างๆมาอยู่ในตัวเรา อาจจะเรียกว่า เรียนรู้จากการทำงานมากกว่าในชั้นเรียน

สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากโครงการ NEWMASIP คือระบบการทำแผนงาน หากเป็นระบบราชการสั่งให้ทำแผนงานปฏิบัติงาน ก็จะมีแบบฟอร์มราชการ เขียนกันสองถึงสามแผ่นต่อหนึ่งกิจกรรม หรือหนึ่งโครงการ หากมี 30 กิจกรรมก็คูณจำนวนหน้ากระดาษเข้าไปแล้วเอามารวมเล่ม มีแผ่นสรุป มีสารบัญ มีคำนำ บางแห่งก็มีหน้าบทสรุปสำหรับผู้บริหาร รวมเล่มก็หนา หากเอาไปบูรณาการกับหน่วยงานอื่นอีกก็ใช้เวลาอีกมากและรวมเล่มก็หนามากๆ

ใครจะอ่าน.?.. ทุกตัวอักษรเพื่อค้นหาความถูกต้องเหมาะสม


จะอย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องใช้ แบบฟอร์มของราชการเขียนโครงการฝึกอบรมต่างๆภายใต้ระบบราชการกรมชลประทาน แต่ภายใต้ทีมที่ปรึกษา ผมต้องเขียนอีกชุดหนึ่ง โดยใช้ แบบฟอร์มของบริษัทที่ปรึกษาเอง ซึ่งเราเรียกว่า Budget Sheet (BS) โดยใช้กระดาษ A4 เขียนประเด็นสำคัญทั้งหมดของกิจกรรมให้อยู่ในหน้าเดียวเท่านั้น เรียกว่า 1 กิจกรรม หรือ 1 หลักสูตร ก็เพียง 1 หน้า A4 เท่านั้น เท่านั้น

ไม่ต้องสาธยายให้มากความ เขียนสั้นๆแต่ให้เข้าใจครอบคลุมสาระทั้งหมด (Concise) โห ..ผมชอบมาก เมื่อผมต้องย้ายไปทำงานที่องค์การ Save the Children(USA) ที่นครสวรรค์ ก็เอาระบบนี้ไปใช้ ปรากฏว่าผู้อำนวยการโครงการที่เป็นฝรั่งชอบมากให้ใช้แบบฟอร์มนี้ในการทำงบประมาณประจำปี เมื่อ Save the Children ไปร่วมกับ ส.ป.ก. และมูลนิธิหนองขาหย่างร่วมกับกรมป่าไม้ ทำโครงการประสานความร่วมมือพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง กับ DANCED โดนประเทศเดนมาร์คสนับสนุนงบประมาณ มี ส.ป.ก.เป็นหน่วยงานหลักบริหารงาน ผมก็เอาระบบ Budget Sheet ไปใช้ ทุกคนก็ยอมรับ ทั้ง ส.ป.ก. และ หน่วยงาน DANCED เอง อาจเพราะว่า BS ก็มาจากยุโรปก็ได้.. แต่ที่ดีก็คือราชการอย่าง ส.ป.ก. ยอมรับระบบนี้ด้วย เมื่อผมย้ายมาทำงานโครงการ คฟป.ในปัจจุบันก็เอามาใช้ ก็ใช้กันมาตลอด 10 ปี นี่แหละ

เมื่อคืนวาน ทางโครงการมีการประชุมครั้งสุดท้าย และเลี้ยงปิดโครงการ มีทีมงานเก่าของผมจากมุกดาหารที่ออกไปก่อนหน้านี้ และไปทำงานกับ Christian Children Fund (CCF) มาเล่าให้ฟังว่า เธอเอาระบบการทำงบประมาณนี้ไปเสนอใช้ที่หน่วยงานนั้น ปรากฏว่าเป็นที่พอใจของผู้บริหารงานที่นั่น หน่วยงานที่ตั้งมามากกว่า 30 ปี ปรับมาใช้ระบบ BS แล้ว

จุดเด่นของ BS คือ สั้น กะทัดรัด เอาแต่สาระสำคัญ ไม่ต้องอธิบายให้มากความ ประหยัดกระดาษ สาระที่สำคัญของกิจกรรมจะอยู่ที่เอา BS นี้ไปแตกรายละเอียดเป็นขั้นตอนละเอียดในการปฏิบัติมากกว่า นั้นเป็นเรื่องทีมงานที่จะต้องแปล BS เป็นขั้นตอน รายละเอียดการปฏิบัติ เทคนิคที่ใช้ เวลา งบประมาณละเอียด และผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอน ฯลฯ นั่นเป็นเรื่องทีมงานผู้ปฏิบัติเป็นผู้ประชุมทำรายละเอรยดส่วนนี้

ส่วนการได้มาของ BS นั้นหากหน่วยงานเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เราก็จะต้องลงไปประชุมกับเกษ๖รกร คุยให้ทะลุว่าจะทำอะไร ทำทำไม เมื่อไหร่ ที่ไหน ใครรับผิดชอบ ฯลฯ แล้วมีคนสรุปลงเป็น BS ไม่ใช่นั่งเทียนเขียนบนโต๊ะ

สำหรับท่านที่สนใจก็ลองนำไปดัดแปลงใช้ดูนะครับ

หากเป็นจอมป่วนก็ต้องพูดว่า ของเขาดีครับ..


ธรรมนูญชุมชน

อ่าน: 2385

เป็นต้นข่อยใหญ่ต้นหนึ่งที่เหมือนๆกับต้นข่อยทั่วไปที่มีประโยชน์สารพัดอย่างในวิถีดั้งเดิมของชนบท แต่ข่อยต้นนี้ที่บ้านพังแดงแตกต่างจากที่อื่นเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่อยู่ของเจ้าปู่ ผู้คุ้มครองกฎ ฮีตคองของบ้านแห่งนี้

ประเทศชาติปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่นักการเมืองต่างเสนอแก้ไขกันฉบับแล้วฉบับเล่า ต่างก็เพื่อประโยชน์ที่ใฝ่ปอง ชีวิตชนบทนั้นก็มีหลักการปกครองร่วมกันที่เรียกธรรมนูญชีวิต คือ ฮีตคอง ที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมาหลายชั่วคน คือกติกาสังคม มีไม่กี่มาตรา ไม่เคยมีใครเสนอให้แก้ไข ปรับปรุง ไม่เคยมีใครเสนอประชุมเปลี่ยนธรรมนูญชีวิตฉบับนี้

ผู้เฒ่า เจ้าโคตร คือประธานธรรมนูญนี้ในนามเจ้าปู่ มันผู้ใดที่ยึดฮีตคองเป็นแนวทางปฏิบัติตัวตน มันผู้นั้นจะมีเจ้าปู่คุ้มครอง มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู มันผู้ใดที่ลบล้าง ละเลย หมิ่น แคลน มันผู้นั้นต้องมีอันเป็นไป โดยที่ไม่ต้องพึ่งศาลปกครอง หรือศาลคดีผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ผู้ลงโทษคือ สังคม ฟ้าดิน


เมื่อไปก็ลา เมื่อมาก็ไหว้ เทียนน้อยสองเล่มถูกจุด ขันธ์ 5 วางเบื้องหน้า ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ผู้เป็นล่ามทรงม้าใช้ ทำหน้าที่สื่อสารบอกกล่าวเจ้าปู่ว่าข้าน้อยมากราบลาคราวสิ้นสุดวาระการทำงานในพื้นที่แห่งนี้ สิ่งใดที่ล่วงเกินทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ขอขมาลาโทษ สิ่งใดที่ทำดีแล้ว ขอเจ้าปู่ได้อนุโมทนาสาธุ


เสียงเอะอะ อึงอล ของผู้เฒ่าเจ้าโคตร บอกกล่าวต่อเจ้าปู่ ตามหลักฮีตคอง สื่อให้เราขนลุกขนพองถึงธรรมนูญชีวิตชนบทที่ห่อหุ้มสำนึกชนบทให้รู้ว่า สิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นธรรมนูญชีวิตนั้น คือการรวบรวมสิ่งดีงามให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข อำนาจวาสนา ทรัพย์ ศฤงคาร คือโลกธรรม ที่หากมีแต่โลภโมโทสัน ปลีกตัวออกห่างจากฮีตคอง เจ้าก็คือผู้ทำลาย แต่หากเจ้ามีสำนึกแห่งการอยู่ร่วมกัน โลกธรรมก็มิอาจมาทำลายได้ เพราะเจ้าเลือกแก่นมากกว่ากะพี้

การครอบครองรังแต่จะทำลาย การให้ต่างหากคือการสร้างสรรค์

19 ตุลาคม 2553


สิ่งเหนือธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 12, 2010 เวลา 16:52 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3118

สมัยที่ทำงานที่สะเมิง ผมเผชิญเรื่องเหนือธรรมชาติหลายครั้ง และเคยบันทึกใน Blog บ้างแล้ว เมื่อย้ายไปทำงานกับชนเผ่าเขมรที่ชายแดนไทยกัมพูชาที่จังหวัดสุรินทร์ ก็เผชิญเรื่องเหล่านี้ เมื่อมาดงหลวงก็สะอึกกับปรากฏการณ์สิ่งเหนือธรรมชาติกับการพัฒนาอีกจนได้

ผมบันทึกไปหลายครั้งแล้ว ก็เรื่องการพัฒนาพื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่บ้านพังแดงน่ะแหละ เมื่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่ได้ตามแผนงาน เป้าหมาย หากเป็นบริษัททำธุรกิจก็คงโดนโยกย้ายไปทำงานในหน้าที่อื่นแล้วให้ผู้มีแววมาทำแทน หากเป็นทหารก็โดนไปล้างส้วม ขุดดิน แบกสิ่งของแทนที่จะมาเป็นหัวหน้าทีมงานปฏิบัติการสนามแล้ว หรือส่งกลับบ้านไปเลย..


ครั้งหนึ่งผมรายงานให้ระดับบริหารสูงขึ้นไปทราบ เขาก็พูดในทำนองเข้าใจได้ว่า มันต้องทำได้ซิ (คุณไม่มีฝีมือต่างหาก…) เหตุผลร้อยแปดที่พยายามอธิบายให้ท่านเหล่านั้นฟังดูเหมือนว่า เป็นเรื่องไร้สาระมากกว่าจะรับฟังแล้วนั่งลงคุยกันให้เป็นกิจจะลักษณะ ผมก็แบกรับความรู้สึกเหล่านั้นเป็นโจทย์ไปขบคิดต่อไปว่า จะมีทางออกอย่างไรบ้างหนอ

ความจริงก็มีลู่ทางอยู่ แต่การพัฒนาต้องใช้เวลา ยิ่งเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรนั้น แต่ละ crop คือ หนึ่งฤดูกาล คือหนึ่งปี และกว่าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำซ้ำๆก็ใช้เวลามากกว่า 1 ปี การปรับเปลี่ยนระบบคิด การกระทำจึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมที่ทำงานมาจนแก่เฒ่าแล้ว..

วันนั้นเราประชุมเครือข่ายไทบรู ถือโอกาสตั้งประเด็นเรื่องลัทธิความเชื่อของชนเผ่าโส้บ้านพังแดง ที่มีต่อสิ่งเหนือธรรมชาติคือ ปอบ ที่ประชุมยิ้มกันใหญ่

ประเด็นของผมก็คือ เป็นความจริงหรือที่ความเชื่อเรื่องปอบนั้นมาครอบระบบต่างๆของชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าโส้ โดยเฉพาะที่บ้านพังแดง ? เท่านั้นเอง แต่ละคนก็เล่าประสบการณ์ของตนเองต่อที่ประชุม โดยเฉพาะ ผู้ใหญ่วองบ้านโพนไฮ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้บ้านพังแดงมากที่สุดในบรรดาจำนวนผู้ที่เข้ามาประชุมในวันนั้น ผู้ใหญ่วองยกสองกรณี เล่าให้ฟัง ว่าพวกเรามีความเชื่อจริงๆ และดูเหมือนเป็น TABU คือไม่ใช่สิ่งที่จะต้องมาคุยออกหน้าออกตา ไม่ใช่เรื่องที่เอามาขึ้นโต๊ะคุยกัน ความเชื่อก็คือความเชื่อ พฤติกรรมที่มีต่อความเชื่อคือการเก็บ เงียบ ไม่วิภาควิจารณ์ ไม่ฟ้องร้อง ฯลฯ แต่ในทางลับ หรือใต้ดิน ซุบซิบกัน และสิ่งที่ควบคู่กับความเชื่อนั้นคือ วิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนานว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง

ผมตั้งประเด็นต่ออย่างคนหมดหนทางจะไปอธิบายแก่คนยุคโลกาภิวัตน์ ที่จะให้เขาหันมารับฟังและยอมรับการมีอยู่จริงต่อสิ่งนี้ ตรงๆคือ ผมไม่รู้ว่าจะไปอธิบายอย่างไร..

ทันใดนั้น ผู้ใหญ่ไพโรจน์ แกนนำสำคัญท่านหนึ่งของเครือข่ายไทบรูตำบลดงหลวงก็พูดขึ้นมาว่า

“….อาจารย์กลับไปถามเขาเหล่านั้นซิว่า คุณแขวนพระหรือเปล่า แขวนทำไม ที่บ้านคุณมีศาลพระภูมิหรือเปล่า มีไว้ทำไม ฯ นั่นเพราะคุณมีความเชื่อใช่ไหม… คุณเชื่ออะไร…คุณเชื่อทำไม… แล้วพี่น้องโส้ของผมมีความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้ คุณทำเป็นไม่เข้าใจหรือ…”

โห…ผมหายโง่ไปเลย….


กินทุกอย่างที่ปลูก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 10, 2010 เวลา 20:14 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3020

การทำงานพัฒนาชุมชนหรืออื่นๆนั้นเรามักจะตั้งตัวชี้วัดที่สำคัญหนึ่งคือ ความต่อเนื่องยั่งยืน ซึ่งเป็นยาหม้อใหญ่สำหรับนักปฏิบัติ เพราะองค์ประกอบ ที่มาที่ไป การเริ่มต้น เงื่อนไขชุมชน การสนับสนุนจากภายนอก แม้แต่ระเบียบราชการต่างก็มีส่วนไม่มากก็น้อยต่อประเด็นชี้วัดดังกล่าว


เรามิใช่เทิดทูนทุกอย่างที่เป็นชุมชนว่าดีเลิศประเสริฐศรีไปหมด ที่ดีก็มีมาก ที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็มีไม่น้อย ยกตัวอย่างหากเปรียบเทียบครอบครัวกลุ่มผู้ไทกับกลุ่มไทบรู หรือโส้ กลุ่มโส้จะสกปรกกว่า บ้านช่องห้องหอ เกะกะ มองตรงไหนก็เป็นเรื่องต้องตำหนิติติงในมุมมองของคนเมืองอย่างเราไปหมด แต่เราจะไปชี้นิ้วให้เขาเปลี่ยนไปหมดทุกอย่างนั้น เขาคงหนีตะเลิดขึ้นป่าขึ้นดอยไปอีก ก็ค่อยเป็นค่อยไป แต่หลายอย่างของเขานั้น ชนเผ่าอื่นๆอาจจะทำอยากกว่า เช่นการปฏิบัติทำการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง โดยเน้นเกษตรผสมผสานตามเงื่อนไขตัวเองนั้น มันสอดคล้องกับวิถีเดิมๆของเขา โส้ทำได้ดีมาก

เมื่อวันก่อนมีประชุมกรรมการเครือข่ายไทบรู แล้วลืมสมุดบันทึก จึงกลับไปเอา พบผู้นำรุ่นสองกำลังปฏิบัติหน้าที่ “คุณมาดี” เจ้าหน้าที่สถิติแห่งชาติที่กำลังทำการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ใช้เวลาพอสมควร แต่ก็ให้กำลังใจเขาเพราะผลการสำรวจมีผลต่อการพัฒนาประเทศ


พอดีเข้าสู่เวลาอาหารกลางวัน ประสิทธิ์ ผู้นำรุ่นสองอีกคนก็เตรียมอาหาร แบบง่ายๆ ผมไม่ทราบว่าเรียกอะไร เห็นเขาบอกว่าเป็นเมี่ยง ก็แปลกๆ เขาเอาตะไคร้มาหั่น ใส่ครก เอาพริกใส่ ข่ากลางอ่อนกลางแก่ ส้มมะขาม ตำพอแหลก แล้วที่ขาดไม่ได้คือปลาร้า เป็นเสร็จ


แล้ว ภรรยาพ่อหวังก็ไปเอากล้วยอ่อนและปลีมาหั่นใส่กะละมังที่ใส่น้ำ เอาเกลือใส่ลงไปพอสมควรขยำๆแล้วเทน้ำออก ใส่น้ำใหม่เข้าไปเพื่อล้างความฝาด ประสิทธิ์บอกว่านี่คือเมี่ยงของชาวบ้าน เอาปลีกล้วยมาห่อกล้วยอ่อน แล้วไปจ้ำเมี่ยงที่ตำมาแล้วนั้นใส่ปาก หยิบข้าวเหนียวตามไป

สักพักประสิทธิ์ก็เดินไปสวนข้างบ้านคว้าเอาใบมะละกอมาใบหนึ่ง ผมงง งง เอามาทำไม เขาบอกว่าเอามากินกับเมี่ยงนี่แหละ เขาบอกว่า หากกล้วยอ่อนยังฝาดอยู่ก็เอาใบมะละกอมาเพื่อตัดฝาด ความอยากรู้ผมลองชิมดู ก็จืดๆ รสชาติจะอยู่ที่ตัวเมี่ยงที่เขาตำมามากกว่า

ภรรยาพ่อหวังบอกว่า หากมีมะเดื่อก็เอามากินได้ ยิ่งได้มะเข่งยิ่งอร่อย เพราะเขาจะออกเปรี้ยว มะเข่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ใบมีรสส้มใช้แทนมะขามได้ หน่วยสุกกินได้ หน่วยอ่อนจะมีรสฝาด ส่วนมะเดื่อนั้นมีสองชนิด ชนิดหนึ่งนั้นกินไม่ได้ แต่เอาไปให้วัวควายกินเวลาเขาคลอดลูก เพราะจะช่วยให้ “น้องวัว” ตกง่าย น้องวัวคืออะไร นี่ต้องถาม อาวเปลี่ยน ได้ข่าวว่าชอบนัก..

ภรรยาพ่อหวังบอกว่า “นี่ไงปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เพราะทุกอย่างที่เป็นอาหารมื้อกลางวันนี้ไม่ได้ซื้อหามาเลย และทุกอย่างมีอยู่ในสวนเล็กๆนี่เอง ชาวบ้านถึงบอกว่า เข้าป่านั้นเอาแค่กระติ๊บข้าวไปเท่านั้น อาหารหรือกับข้าวไปหาเอาข้างหน้าในป่า

หากมองในมุมของนักโภชนาการนั้นสอบตกหมด เพราะความสะอาดนั้นไม่ผ่าน..

เรื่องนี้หากหยิบมาพัฒนากันละก็คงใช้เวลามากกว่าโครงการปัจจุบันที่กำลังจะปิดตัวลงน่ะครับ…


20 บาท

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2010 เวลา 20:27 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2514


การทำธุรกิจปะเภท Convenient store นั้นพัฒนาเชิงรุกไปมาก 711 ทำธุรกิจฟันกำไรถล่มทลายทั่วประเทศ ถูกใจคนไทยที่เปิดตลอดวันตลอดคืน หลายประเทศเขาปิดในเวลากลางคืน แต่พี่ไทยเปิดตลอด

ซอยหนึ่งใกล้ๆบ้านที่ขอนแก่น ชาวบ้านเอาสินค้าพื้นบ้านมาขายไม่กี่ราย นับวันก็ขยายใหญ่ขึ้น คนก็มาซื้อหามากขึ้น เพราะมีสินค้าพวกอาหารพื้นบ้านมาก สด จึงเป็นที่นิยม วันดีคืนดี 711 ก็มาเปิด

นี่ Lotus express ก็มาเปิดแข่งกับ 711 อีกแล้ว เปิดทีหลังก็ทำดีกว่า คนก็แห่เข้าไปอุดหนุน…

วันก่อนผ่านไปทาง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เป็นอำเภอเล็กๆ ที่ลุงเอกจะพาคณะ 4ส2 ไปพบเจ้าพ่อ NGO ที่นั่น ผมพบร้านค้า ทเวนตี้ ช็อป ที่ขายทุกอย่างในราคา 20 บาท อะไรเป็นสินค้าที่เขาขายบ้างล่ะ ภาพขวามือนั่นแหละครับ

ผมคิดว่าร้านชื่อนี้ กิจการแบบนี้อาจจะมีมานานแล้วแต่ผมตกข่าว เพิ่งจะเห็น ก็สั่นหัว ว่าระบบธุรกิจเขารุกสู่ชนบททุกรูปแบบ รู้ว่ากำลังซื้อมีน้อยกว่าในเมืองก็จัดสินค้าที่เป็นไปได้มาในรูปทุกอย่าง 20 บาท

มองในมุมการทำธุรกิจก็บ้านเราเสรีประชาธิปไตย ใครใคร่ค้า..ค้า

มองในแง่การเคลื่อนตัวของสังคมชุมชน ….. เฮ่อ..

นี่ก็เป็นประเด็นวิจัยได้นะครับ…


ไผ่กับชีวิต

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2010 เวลา 19:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2671


มันเป็นภาพธรรมดาที่ใครๆก็อาจจะเห็นรถมอเตอร์ไซด์ที่บรรทุกไม้ไผ่ด้านหลัง

บางท่านอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่สำหรับคนทำงานชนบทมันมีความหมายที่บ่งบอกเรา ให้รู้ว่าฤดูเก็บเกี่ยวใกล้เข้ามาแล้ว ฤดูหนาวเริ่มเข้ามาแล้ว และ… เพราะไม้ไผ่นี้จะเอาไปทำ “ตอก” มัดข้าว ที่ชาวนา รู้ว่าจะต้องทำอะไรล่วงหน้าก่อนที่ข้าวจะสุกเต็มที่และต้องเก็บเกี่ยว

พ่อบ้านจะเข้าป่าไปหาไผ่ที่เพิ่งผ่านฤดูฝนมากำลังงาม เลือกลำที่ไม่แก่ไม่อ่อน ตัดลงมาให้มากพอที่จะเอาไปใช้ โดยชาวบ้านเขาคำนวณในหัวเสร็จว่า ข้าว ไร่ต้องใช้ตอกจำนวนกี่เส้น หากปีไหนข้าวงามดี ก็เพิ่มจำนวน ไผ่ที่จะเอามาทำตอกที่ดงหลวงนิยมใช้ไผ่ไร่ เพราะปล้องยาวและเหนียว เหมาะที่จะเอามาทำตอกมัดข้าว และใช้สานทำเครื่องใช้ในครัวเรือนตามวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกหลายอย่าง


ปัจจุบันอะไรอะไรก็เปลี่ยนไปเยอะ มีอาชีพไปรับจ้างหาไผ่ป่ามาขายทำตอก หรือมีพ่อค้าขายตอกจากภาคเหนือบุกอีสานที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้แล้ว การจักตอกนั้น มิใช่ใครก็ทำได้ ต้องมีความรู้มีทักษะมีภูมิปัญญาที่สั่งสมและส่งต่อกันมานานแสนนาน การเลือกไม้ไผ่ การผ่าให้เป็นเส้นการจัก การพ่นน้ำ การผึ่งให้แห้ง ล้วนมีองค์ความรู้และเทคนิคที่ไม่มีการสอนในห้องเรียน แต่มีสอนแบบไม่สอนในชีวิตจริง


ภาพเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งบอกอย่างหนึ่งว่าฤดูกาลเปลี่ยนแล้ว จริงๆมีหลายอย่างที่เป็นความรู้ชาวบ้านที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ชาวบ้านคนหนึ่งบอกผมว่า ช่วงนี้ใส้เดือนจะออกจากรูขึ้นมาบนผิวดิน ชาวบ้านที่เลี้ยงเป็ดก็จะบอกลูกหลานให้เอาตะกร้าออกไปเก็บใส้เดือนมาให้เป็ดกิน หากเป็นเป็ดแม่ไข่ จะได้ไข่สีแดงจัดด้วย….

มีความรู้มากมายที่ซ่อนอยู่ในวิถีชุมชนที่เราเห็น.. หากมีเวลาก็อยากจะบันทึกเรื่องราวเหล่านี้จริงๆครับ..


จากฟักข้าวถึงงานสมุนไพรชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 28, 2010 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3955

ต้องเข้าไปดงหลวงเพราะงานที่ทำช่วงปิดโครงการ เลยหยิบเอาข้อมูลเรื่องฟักข้าวไปสอบถามชาวบ้าน ได้ข้อมูลจากอาว์เปลี่ยนว่าไปถ่ายรูปผลฟักข้าวมาจากบ้านพ่อชาดี เสร็จงานก็เลยไปดูซะหน่อย

ตรงไปบ้านพ่อหวัง เจอะแม่บ้านและลูกสาว ผมเอารูปที่อาว์เปลี่ยนให้ดู ลูกสาวก็บอกเลยว่าลูกฟักข้าว กินอยู่ มีที่สวน ปีนี้ออกลูกเดียว พร้อมทั้งชี้ไปที่ต้นไม้ของบ้านเพื่อนบ้าน นั่นไงต้นฟักข้าว เลื้อยพันจนไม่เห็นต้นไม้ที่เขาอาศัยเลย กำลังออกลูกส้มๆ


เราเลยไปบ้านพ่อชาดี ตามที่อาว์เปลี่ยนให้ข้อมูล พ่อชาดีนอนหลับก็เลยไปคุยกับศรีภรรยาพ่อชาดี ผมยื่นรูปให้ดู แม่บอกว่านั่นไง ต้นอยู่นั่นไง พร้อมชี้ให้ดู และเดินนำทางเราไปหลังบ้านซึ่งเป็นสวนเกษตรผสมผสานที่พ่อชาดีสร้างมันขึ้นมากับมือ โฮ..หนึ่งสอง สาม สี่ ลูก มีทั้งเหลืองส้มและส้มแดงแก่แล้ว เลยคุยกับแม่ว่าเอามากินไหม แม่ก็บอกว่ากิน เอาลูกอ่อนมาต้มจิ้มน้ำพริก ออกขมนิดๆ เอายอดมาแกง แต่คนไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เมื่อเทียบกับหวาย คนชอบหวายมากกว่า ทั้งที่หวายขมกว่า..

เด็กๆเอาลูกสุกมากินเหมือนกัน แต่ไม่ชอบมากเหมือนผลไม้อื่นๆ


เมื่อผมเอาสรรพคุณที่เป็นเอกสารที่เตรียมไปเผยแพร่ให้พี่น้องไทบรูได้เรียนรู้ แม่ก็ว่า เออ ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะบอกพ่อชาดีเขา…

ฟักข้าวเป็นพืชพื้นบ้านทั่วไป ชาวบ้านรู้จัก แต่ไม่นิยม เท่าที่ผมตรวจสอบความรู้นั้น ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยาของฟักข้าว รู้เพียงว่ามันกินได้ ผมคิดว่าแม้ชาวบ้านจะรู้จักสรรพคุณยาในพืชผักหลายชนิด แต่ก็มีพืชอีกหลายตัวที่ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยา นี่ก็น่าจะเป็นงานในการพัฒนาชุมชนที่สำคัญหนึ่ง

ปัจจุบันก็ทำกันบ้าง เครือข่ายไทบรูก็มีแผนงานด้านการรื้อฟื้นสมุนไพรโบราณ แต่ก็ยังไม่ได้กว้างขวางเท่าใดมากนัก

ประดงขาวใช้แช่น้ำหรือฝน แล้วเอาน้ำไปทา แก้ปวดเมื่อย

วันนี้ก็พบหมอยาสมุนไพรหนุ่มคนหนึ่ง เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าเขาเป็นผู้รู้สมุนไพร บังเอิญแท้ๆ ที่หลายสัปดาห์ก่อน พิลาพนักงานขับรถบ่นว่า ภรรยาเขาปวดหลังมาก ลุกเดินแต่ละที ยังกะคนเฒ่าคนแก่เดินหลังค่อมไปเลย ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำเราคนหนึ่งได้ยินเข้าก็บอกว่า เออ..ไปเอายาสมุนไพรไปลองดูไหม… พิลาหูผึ่ง แล้วก็ตามไปเอาสมุนไพร เป็นสมุนไพร ชื่อ “ประดงขาว” เป็นต้นไม้ยืนต้นใหญ่ เอาเปลือก ราก แก่น มาแช่น้ำ หรือฝน แล้วเอาน้ำนั้นไปทาตรงปวด พิลาบอกว่า ใช้แล้วได้ผล ภรรยาเดินดีขึ้น อาการปวดเมื่อยลดลง แม้จะยังไม่หายขาดก็ตาม แต่ดีขึ้นจริงๆ

วันนี้พิลาเลยได้ยาไปอีกอย่าง เป็นสมุนไพรรักษาริดสีดวงทวาร จากหมอยาคนเดียวกัน สำหรับญาติที่เป็นมานานและอาการหนักมากขึ้น หมอยาคนนี้บอกว่า หากไม่หายก็ไม่เอาเงิน


สมุนไพรแก้ริดสีดวงทวาร

ระหว่างเดินทางกลับ เราคุยกันว่า ชาวบ้านหลายคนไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นหมอยา แต่หลายคนในหมู่บ้านมีความรู้เรื่องสมุนไพร คนนี้รู้จักสมุนไพรดีสามสี่ชนิด อีกคนรู้จักสมุนไพรดี หก เจ็ดชนิด หรือบางคนรู้จักชนิดเดียว แต่มีประสบการณ์ใช้แล้วได้ผลดี… สมองคิดงานเรื่องนี้ไปเยอะแยะเลย…ทั้งรวบรวม ทั้งตรวจสอบ ทั้งสงวน อนุรักษ์ ทั้งงานวิจัย ทำระบบข้อมูล สัมมนาหมอยา … ทำแผนที่สมุนไพร ฯลฯ

งานแบบนี้มีคน มีกลุ่มทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีใครทำ แต่ที่ดงหลวงแค่เริ่มต้นเท่านั้นครับ

กลับมาที่ฟักข้าว ความจริง อ.แป๋วเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วที่ ลานเรียนรู้สบายๆ ที่นี่

http://lanpanya.com/paew/?p=102 และมีข้อมูลมากมายใน goo เช่นที่ หมอชาวบ้าน http://www.doctor.or.th/node/1060 หากสมุนไพรจำนวนมากถูกมหาวิทยาลัยก้าวลงมาในชุมชนสำรวจและเอาสมุนไพรทั้งหลายไปวิจัยน่าที่จะเกิดประโยชน์มากหลาย ซึ่งผมเชื่อว่า บางมหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งผ่านข้อมูลกลับสู่ชุมชนในระดับกว้าง และสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนหยิบขึ้นมาพัฒนาเป็นสินค้าท้องถิ่น มหาวิทยาลัยไปสนับสนุน ราชการไปสนับสนุนให้ท้องถิ่นนั้นๆผลิตสมุนไพรเหล่านั้นขึ้นมา คล้ายๆโรงพยาบาลอภัยภูเบศร นะครับ

งานเยอะ… จริงๆ ไม่มีทางจบสิ้น อิอิ


เฮ่อ ชาวนา..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 20, 2010 เวลา 10:48 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 1968

หัวอกชาวนา หากไม่แล้งจนข้าวเหลืองเพราะแดดเผาไหม้ ก็น้ำท่วมอย่างนี้

ความพอดีเกือบจะไม่มี ขาดๆเกินๆ ชาวนารู้ดี

การคาดคะเนกับธรรมชาติมีประสบการณ์และประเพณี และตารางจันทรคติ

เป็นแผนที่ชีวิตคร่าวๆ ก็พอได้กินข้าว

ขาดเกินอย่างไร ประเพณีท้องถิ่นก็เอื้อเฟื้อกันไป สังคมอยู่ได้

แต่เมื่อฟ้าฝนแปรปรวนมากขึ้น มันกะเกณฑ์อะไรไม่ได้เลย

ยิ่งนาน้ำฝนที่ต้องใช้น้ำฝนเท่านั้น ทางเลือกชาวบ้านคือ

น้ำดี–> ดำ

น้ำไม่ค่อยดี--> ดำแห้ง

น้ำไม่ดี แต่ดินพอเปียกๆ–> สัก หยอด

ข้าวพอขึ้นฝนกระหน่ำท่วม พอน้ำลด–>ดำซ่อมส่วนที่เสียหาย

ฝนตกมาครั้งเดียวก็หายไปจะเอาไงดี ต้องเสี่ยงครั้งสุดท้ายแล้ว–> หว่านแบบไม่หวังผล หากมีโชคบ้างก็คงพอได้

ทั้งหมดนี้ขึ้นกับเงื่อนไขมากมาย เช่น แรงงานในครัวเรือน กล้าข้าว พันธุ์ข้าว ปริมาณ ภาระสำคัญอื่นๆ..สุขภาพ ญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน ทุนจ้างแรงงาน ที่ตั้งของนา ลุ่ม ลุ่มตรงคลอง ลุ่มตรงประตูระบายน้ำ ลุ่มทั่วไป ลุ่มๆดอนๆ ดอน ที่สูง ….ฯ

นาเขตชลประทานจึงเป็นนาชั้นหนึ่ง นาน้ำฝนจึงลูกผีลูกคน


บ้านหลังใหม่

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 9, 2010 เวลา 21:38 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2240

บ้านหลังใหม่ที่ชายป่าดงหลวง

หรูที่สุด เพราะหลังคามุมสังกะสี..

มีถังรองน้ำฝน มีตุ่มเก็บน้ำไว้ใช้

เจ้าของเป็นชายหนุ่มทำนาเหมือนคนทั่วไป

เพิ่งแยกเรือนออกมาจากพ่อแม่.

รองเท้าบางคนมีราคามากกว่าบ้านหลังนี้..


วิถีวัว วิถีชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 8, 2010 เวลา 15:17 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2418

ผู้ใหญ่วองไม่อยู่บ้าน ไปภูไก่เขี่ย เห็นว่าวัวหายไปจึงชวนเพื่อนบ้านออกไปตามดู เย็นนี้จะกลับมา แม่บ้านบอกผมเช่นนั้น เมื่อวันที่ไปแวะหาผู้ใหญ่วอง จริงๆเป็นอดีตผู้ใหญ่ แต่เรียกกันติดปาก ก็เลยตามเลย

ผู้ใหญ่วองเป็นไทโซ่น้อยคนที่ช่างพูดจริงๆ พูดน้ำไหลไฟดับ ตรงข้ามกับคนอื่นๆที่รู้จัก อดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยท่านนี้มีบทบาทในสังคมมากพอสมควร เพราะ เป็นผู้ประสานงาน พอช. เป็นหมอดิน เป็นผู้นำไทบรู เป็นนั่นเป็นนี่ แม้จะช่างคุยก็ทำจริงเหมือนกัน แม่บ้านเป็นช่างทอผ้ามีฝีมือผู้หนึ่ง


เมื่อมาหาผู้ใหญ่วองไม่พบก็ไม่เป็นไรฝากความไว้กับแม่บ้านแล้วจะมาเยี่ยมใหม่ เพื่อเตรียมการมาดูงานของ JBIC วันรุ่งขึ้นเราเข้าไปพบ เห็นหน้ากันก็ส่งเสียงมาแต่ไกล

เมื่อวานไปกับพี่น้องเพื่อนบ้าน ขึ้นไปบนภูไก่เขี่ย เพราะตามหาวัว ตามกันมาสามสี่วันแล้วไม่พบวัว ที่ปล่อยขึ้นป่าไปเมื่อเดือนที่แล้ว…

ท่านที่คลุกคลีกับชาวบ้านย่อมรู้ดีว่า ชาวบ้านนั้นหลังเสร็จฤดูดำนาแล้ว ไม่ได้ใช้แรงงานวัวควายแล้ว ก็จะเอาวัวควายไปปล่อยบนภูเขาในท้องถิ่นของตัวเอง ให้เขาหากินเองตามธรรมชาติ สามสี่วัน หรือ สัปดาห์หนึ่ง หรือนานกว่านั้นตามโอกาส ก็ขึ้นไปดูทีหนึ่งว่า วัว ควายไปอยู่ตรงไหน เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรบ้าง หากเรียบร้อยดีก็กลับลงมา แล้วอีกสัปดาห์ก็ค่อยขึ้นไปใหม่

นี่คือวิถีชุมชนที่มีพื้นที่ติดภูเขา ทางภาคเหนือก็เหมือนกัน

บางครั้งที่วัวควายเกิดไม่สบายในป่าในเขา เจ้าของก็จะเอาหยูกยาซึ่งส่วนมากเป็นสมุนไพรไปดูแลรักษา บางทีถูกทำร้ายด้วยสัตว์ป่าก็มี หรือ ถูกลักขโมยไปก็เกิดขึ้น หรือถูกชำแหละทิ้งซากเอาไว้ก็พบเหมือนกัน แต่การปล่อยวัวควายขึ้นไปหากินเองบนภูเขานั้นมิใช่เพียงครอบครัวเดียว ใครๆก็ทำเช่นนั้น ดังนั้นในป่า จึงมี วัวควายเต็มไปหมด นี่แหละเจ้าของต่างก็ขึ้นไปดูของใครของมัน ซึ่งอาจจะไปดูไม่ตรงเวลากัน ต่างก็ช่วยกันดูแล ช่วยกันส่งข่าว เพราะส่วนใหญ่ก็รู้ว่า วัวควายเป็นของใครบ้าง เพราะเขาคลุกคลีกับมัน ย่อมรู้จักมันดี แม้เพื่อนบ้าน

นี่เอง การเอากระดึง หรือกระดิ่งผูกคอวัวคอควายจึงมีความหมายยิ่งนัก เพราะมันเดินไปไหนก็ได้ยินเสียง เจ้าของไม่อยู่ใกล้ๆก็ย่อมรู้ว่า นั่นคือเสียงกระดึงของวัวของใคร เพราะเสียงไม่เหมือนกัน อดีตผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะใช้เวลาบรรจงสร้างกระดึงวัวควายพวกนี้ให้มีเสียงก้องไกล จะได้ง่ายต่อการฟังเสียง นั่นเป็นศิลปะพื้นที่บ้านที่กำลังห่างหายไปแล้ว

การเข้าป่า ย่อมมีพิธีกรรมพื้นบ้าน แล้วแต่ชนเผ่า แล้วแต่ท้องถิ่น แล้วแต่ความเชื่อความศรัทธา ส่วนใหญ่ก็จะยกมือบอกกว่าเจ้าป่าเจ้าเขา ผีเจ้าที่เจ้าทางให้ปกปักรักษา วัวควายให้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นเมื่อเอาห่อข้าวไปกินกลางป่าก็ต้องเซ่นไหว้เจ้าที่ด้วย

วัวควายก็แปลก เมื่อสิ้นฤดู การเก็บเกี่ยว บางตัวบางฝูงก็เดินกลับบ้านเอง กลับถูกซะด้วย ตื่นเช้าขึ้นมาเจ้าของบ้านเห็นว่า วัวควายที่ไปปล่อยในป่านั้นกลับมาบ้านแล้ว…


ยามนี้ที่ดงหลวงสิ้นสุดการดำนาไปแล้ว คอยลุ้นให้มีฝนตกตามฤดูกาล อย่ามากอย่าน้อย เพื่อความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และที่ยิ่งใหญ่คือต้องการให้ได้ข้าวเต็มที่จะได้เพียงพอกินไปตลอดปี ยามฝนมากไปก็เฝ้าออกไปดูนา เอาจอบเอาเสียมไปเปิดคันนาให้ระบายน้ำออกไป ยามฝนทิ้งช่วงต่างก็จับกลุ่มกันพูดจาพาทีกันว่าจะเอาอย่างไรกันดี…. นี่คือความเสี่ยงที่ชาวนาอยู่กับสภาวะเช่นนี้มาตลอดชั่วนาตาปี…

ผมถามผู้ใหญ่วองว่า ปีนี้ฝนฟ้าบ้านเราเป็นไงบ้าง มากไปน้อยไปอย่างไร.. ผู้ใหญ่วองว่า ใช้ได้ ที่ดงหลวงช่วงนี้น้ำท่าปกติดี แต่ไม่รู้วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรบ้าง… เลยถือโอกาสถามเรื่องชวนเพื่อนบ้านไปขึ้นป่าตามหาวัวว่าพบไหม..

อาจารย์ ผมกับเพื่อนบ้านไปตามกันสามวันจึงพบ แต่มันตายซะแล้ว….

อ้าวทำไมล่ะ.. ผมถาม

ผู้ใหญ่วองตอบด้วยสีหน้าเศร้าว่า มันตกหน้าผาตายครับ.. แหมตัวใหญ่ซะด้วย…เลยทำพิธีเผาซากและส่งวิญญาณมันซะ…



Main: 0.10031509399414 sec
Sidebar: 0.029061079025269 sec