นโยบายพัฒนาประเทศไทยของผม
อ่าน: 1858หมายเหต. ผมยกร่างนโยบายนี้ไว้ในอดีต เพื่อเป็นแนวทางให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง (ตามที่ได้รับการร้องขอ) ผมไม่ทราบว่าทางพรรคได้นำไปใช้ประโยชน์เพียงใด แต่วันนี้ผมนำมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน หากเห็นด้วยโปรดช่วยกันกระพือตามศักยภาพครับ
นโยบายด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการเกษตร แบบบูรณาการที่ยั่งยืน
ข้อมูลและแนวคิดพื้นฐาน:
ปีพศ. ๒๕๕๒ ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติประมาณ ๙ ล้านล้านบาท หากนำมาเฉลี่ยอย่างเท่าเทียมกันโดยประเมินว่าครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 5 คน แต่ละครอบครัวจะมีรายได้เดือนละประมาณ 6 หมื่นกว่าบาท ซึ่งนับเป็นรายได้ที่ดีมากทีเดียว แต่ความเป็นจริงนั้นส่วนใหญ่ในภาคอีสานครัวเรือนจะมีรายได้เพียงประมาณ 4 พันบาทเท่านั้นเอง ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าวถึงกว่า 15 เท่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่จึงแร้นแค้นมาก ทั้งที่ประเทศมีรายได้สูงในภาพรวม
รายได้จริงที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากนี้มีสาเหตุใหญ่มาจากการกระจุกตัวของรายได้ประชาชาติอยู่กับกลุ่มคนเพียงสองกลุ่มคือ กลุ่มนายทุนต่างชาติซึ่งมีรายได้ประมาณ 70% (ข้อมูลนี้ข้าฯเป็นคนแรกที่นำเสนอในปีพศ. ๒๕๔๓ จากนั้นได้รับการยืนยันจากคำปราศรัยของอดีตรัฐมนตรีฯคลังเมื่อพศ. ๒๕๔๙) และกลุ่มมหาเศรษฐี 15 ตระกูลของประเทศไทยซึ่งคาดว่ามีรายได้ประมาณ 15% ส่วนคนไทย 60 ล้านคนทั้งประเทเทศมีรายได้รวมเพียง 15% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้นเอง
ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมจึงมีโสเภณีมากเหมือนเช่นประเทศในลักษณะเดียวกันเช่น ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก และโคลอมเบีย เพราะเชื่อได้ว่าโสเภณีไม่ได้เกิดจากความยากจน แต่เกิดจากช่องว่างทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นว่าประเทศที่ประชาชนจนเท่ากันหมดก็ไม่ค่อยมีโสเภณี (เช่นในอาฟริกา) และประเทศที่คนรวยเท่ากันหมดก็ไม่ค่อยมีโสเภณี (เช่นในยุโรป)
ปฐมเหตุแห่งความบิดเบี้ยวอย่างมหันต์ของการกระจายรายได้นี้เกิดจากที่ผ่านมา 50 ปี รัฐบาลไทยภายใต้ระบบการเมืองได้ใช้วิธี “รวยลัด” ในการพัฒนาประเทศ ด้วยการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทำอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างง่ายดาย โดยมีเครื่องล่อมากมาย เช่น แรงงานราคาถูก การลดภาษีวัตถุดิบนำเข้า ส่งออก ศุลกากร เงินได้นิติบุคคล ฯลฯ จนโรงงานอุตสาหกรรมต่างชาติมาตั้งกันมากตามปริมณฑลกทม. และชายฝั่งทะเล จนรายได้ของพวกนักลงทุนเหล่านี้มีปริมาณถึง 70% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ทั้งหมดของประเทศไทย
การพัฒนาประเทศโดยวิธีรวยลัด พึ่งผู้อื่น ไม่พึ่งตนเอง ตามรูปแบบการเมืองเก่านี้ยังมีปัญหาหนักอีกหลายประการตามมา เช่น
- 1. สัดส่วนของทุนต่างชาติที่มากเกินไปย่อมครอบงำเศรษฐกิจชาติโดยปริยาย โดยเฉพาะในสังคมที่อ่อนแอทางการเมืองเช่นประเทศไทย พวกเขาอาจ “ลงขัน” ด้วยเงิน “เพียงเล็กน้อย” เพื่อเปลี่ยนโยบาย กฎหมาย แม้แต่รัฐบาลของเราได้ทุกเมื่อ ในราคาพศ. ๒๕๕๑ ถ้าพวกเขาลงขันกันเพียง 0.1% ของรายได้ ก็จะได้เม็ดเงินถึง 6,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถใช้ซื้อเสียงเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดที่มีเสียงข้างมากได้อย่างสบาย
- 2. คนสัญชาติไทยไม่อาจพัฒนาตนขึ้นเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมได้ เพราะต่างชาติมีทุนและเทคโนโลยีสูงและยังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยดังกล่าวแล้ว เช่น ถ้าคนไทยคิดอยากจะเป็นเจ้าของโรงงานผลิตกระดาษเช็ดก้น ก็คงเจ๊ง เพราะยี่ห้อต่างชาติอันหลากหลายครองตลาดหมดแล้ว จะไปทำตลาดสู้เขาไม่ได้ รวมไปถึงดินสอ ปากกา ไม้บรรทัด แว่นตา เข็มขัด รองเท้า ยาสีฟัน ยาสระผม สบู่ เราคนไทยทั้งหลายจึงหมดหนทางทำมาหากิน เป็นได้แต่เพียงลูกจ้างในโรงงานต่างชาติเท่านั้น ดูเหมือนว่าอาชีพการผลิตที่คนไทยพอทำได้โดยไม่ต้องแข่งกับอุตสาหกรรมต่างชาติจะเหลืออยู่เพียงไม่กี่อาชีพ เช่น อาชีพผลิตโลงศพ และดอกไม้จันท์ (เอาไว้เผาศพตัวเอง และเป็นสัญลักษณ์ว่าคงต้องเผาศพประเทศไทยสักวันหนึ่งหากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านเศรษฐกิจแบบพึ่งผู้อื่นเช่นนี้)
- 3. คนไทยต้องโง่ขึ้นทุกวันเนื่องจากสมองไม่ได้ออกกำลังเท่าที่ควร จากการที่ไม่รู้จักคิดทำด้วยตัวเองในการสร้างชาติ คอยแต่พึ่งคนต่างชาติเช่นนี้ นานวันไปอีกสักหนึ่งรุ่นมนุษย์ไอคิวชาวไทยอาจต่ำที่สุดในโลกก็เป็นได้ (ขณะนี้ก็ต่ำมากแล้ว)
- 4. มลภาวะจากอุตสาหกรรม จะก่อปัญหาเชิงสุขภาพในระยะยาวอย่างไร และคิดเป็นมูลค่าเท่าใด หักคิดบัญชีในประเด็นนี้ด้วยประเทศไทยจะขาดทุนอีกเท่าใด มลภาวะยังทำให้สมองเสื่อมและไอคิวต่ำกว่าปกติอีกด้วย
- 5. การพัฒนาแบบนี้ไม่มั่นคงและไม่ยั่งยืนอย่างยิ่ง ถ้าเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว) พวกเขาจะถอนทุนหมด คนจะตกงานนับสิบล้าน รัฐบาลก็ไม่มีรายได้หรือทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับวิกฤต ความทุกข์มหันต์จะเกิดขึ้นกับสังคมอย่างไม่เคยพบมาก่อน เพราะเมื่อก่อนหากมีปัญหายังมีภาคการเกษตรเป็นหยุ่นกันกระแทก แต่บัดนี้ภาคเกษตรก็กำลังล่มสลาย ทิ้งไร่ทิ้งนามาเป็นลูกจ้างขายแรงงานกันหมดแล้ว
- 6. สถาบันครอบครัวในชนบทซึ่งเป็นฐานรากของสังคมถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากการที่หัวหน้าครอบครัวทิ้งไร่นาไปขายแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างชาติ ปล่อยให้ลูกเล็กถูกเลี้ยงดูไปตามยถากรรมโดยปู่ย่าตายาย โดยต่างก็หวังว่าสักวันหนึ่งจะหอบเงินฟ่อนกลับมาบ้านเกิด แต่อนิจจาสิ่งที่พวกเขาได้หอบกลับมาเยี่ยมบ้านท่ามกลางอุบัติเหตุของท้องถนนอันคับคั่งปีละสองครั้งตอนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์คือโรคพิษสุราเรื้อรังที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาเนื่องจากความเครียด ความหว้าเหว่ และความจน จนประเทศไทยก้าวขึ้นติดอันดับที่ห้าของโลกในการจัดอันดับการดื่มสุราของพลเมือง ก็มันจะร่ำรวยอะไรได้กับการขายแรงงานวันละ 180 บาท (สองคนผัวเมีย 360 บาท) ในเมื่อมีค่าใช้จ่ายมากมาย เช่น ค่าที่พัก(เมื่อก่อนอยู่บ้านตัวเองก็ไม่ต้องจ่าย) อาหาร(เมื่อก่อนหาเก็บผักจิ้มริมรั้วและหัวคันนา) เดินทาง และแน่นอนค่าเหล้า รวมทั้งค่าโสหุ้ยสังคมเมืองจิปาถะต่างๆ
- 7. การที่จะไปง้อให้ต่างชาติมาลงทุนนั้นรัฐบาลก็ต้องเจียดงบประมาณชาติ รวมทั้งไปกู้เงินมาจากต่างชาติเพื่อมาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ท่าเรือ เพื่อรองรับการเข้ามาตักตวงความร่ำรวยของบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ และต้องขายสาธารณูปโภคเหล่านี้ให้พวกเขาแบบถูกๆ ตามราคารัฐวิสาหกิจอีกต่างหาก ถามว่าใคร..ที่จะต้องเสียภาษีจ่ายงบประมาณ รวมทั้งจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเพื่อใช้หนี้เงินกู้ระยะยาวเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่ลูกหลานคนไทยในอนาคต ซึ่งตอนนั้นโรงงานพวกนี้ก็คงย้ายฐานการลงทุนไปที่อื่นที่สามารถเอาเปรียบได้มากกว่าประเทศไทยแล้วก็เป็นได้
- 8. รัฐต้องลงทุนด้านการศึกษาจำนวนมาก เพื่อผลิตบัณฑิต (ลูกจ้าง) ป้อนโรงงานต่างชาติ ถือเป็นการลงทุนราคาแพงเพื่อมาสร้างแรงงานราคาถูกเพื่อเป็นฐานสร้างความร่ำรวยให้พวกเขาขนออกไปยังประเทศแม่ หากคิดต้นทุนด้านนี้จะเห็นว่าความคุ้มทุนก็ลดลงไปอีกระดับ อาจถึงขาดทุนด้วยซ้ำไป
เห็นได้ว่าการพึ่งคนอื่นโดยไม่พึ่งตนเองนั้นส่งผลเสียหายแบบบูรณาการไปทุกมิติของชีวิต หากไม่เกิดการเมืองใหม่และวิสัยทัศน์ใหม่ในการวางแผนพัฒนา ประเทศไทยจะไม่อาจหลุดพ้นจากพันธนาการนี้ได้เลย ปัญหาสำคัญที่สุดคือผู้นำพรรคการเมืองเก่าทั้งหลายไม่ตระหนักในปัญหาด้วยซ้ำ กลับซ้ำเติมประเทศด้วยการแข่งกันขายนโยบายเพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามามากขึ้นทุกปี
ปริมาณ (และคุณภาพ) ของการเข้ามาของทุนต่างชาติที่พอดี พอเหมาะ พอควร น่าจะเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ แต่การปล่อยให้เข้ามาจนมากเกินไปเช่นนี้ แบบสะเปะสะปะ โดยไม่มียุทธศาสตร์ชาติรองรับ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
การพัฒนาประเทศให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืนและพอเพียงจำเป็นต้องมีปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้องและฐานรากด้านการผลิตที่เหมาะสมรองรับ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทุกวันนี้เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เกาหลี ไต้หวัน ต่างวางฐานรากการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นของตนเองทั้งสิ้น ผิดจากประเทศไทยที่มีฐานรากด้านนี้ดีพอควรอยู่แล้วในอดีต แต่กลับพากันละทิ้งการเกษตรด้วยความรังเกียจ ทั้งนี้โดยการชี้นำโดยปริยายของรัฐบาลในระบบการเมืองเก่า จนบัดนี้ไม่มีนักศึกษาที่มีศักยภาพจะเลือกเรียนวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอีกแล้ว หันไปเรียนด้านอุตสาหกรรมเพื่อไปเป็นลูกจ้างในโรงงานต่างชาติกันเสียหมด วิชาการด้านเกษตรของเราจึงยิ่งตกต่ำกว่าปกติ จนบัดนี้ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยล้าหลังกลับแซงหน้าเราด้านผลผลิตการเกษตรไปแล้ว ตรงกันข้ามในสหรัฐฯมีมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำด้านการเกษตรมากมาย เช่น คอร์เนล อิลลินอยส์ ยูซีเดวิส
นักการเมืองเก่าไม่อาจรู้ได้เลยว่าธุรกิจการเกษตรนั้นสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ชาติได้มหาศาล ดังเช่นสหรัฐฯ นั้น แม้จะมีจำนวนเกษตรกรเพียงประมาณ 1.8% ของประชากรทั้งหมด แต่กลับมีปริมาณแรงงานที่อิงอยู่กับวงจรการเกษตรถึง 30% ของคนทั้งประเทศ (รวมนักวิจัยด้านการเกษตร) ซึ่งหากไม่คิดภาคบริการถือว่าเป็นภาคแรงงานที่ใหญ่ที่สุด จึงไม่เกินความจริงที่จะกล่าวว่าสหรัฐฯยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ล้วนแต่เป็นประเทศเกษตรกรรมทั้งสิ้น ส่วนไทยเราขณะนี้รัฐบาลการเมืองเก่าและนักวิชาการเก่าต่างพูดกันอย่างภาคภูมิใจว่าสินค้าอีเล็กทรอนิกส์และยานยนต์สร้างรายได้ให้ประเทศได้มากกว่าสินค้าเกษตรมาก แต่ลืมไปว่ามันเป็นรายได้ของนายทุนต่างชาติเสียเกือบทั้งหมด และที่สำคัญเป็นเพราะนักการเมืองเก่าโง่เขลาไม่รู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลการเกษตรต่างหาก
ด้วยปัญหาและความเสียหายอันหลากหลายที่ระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแบบเก่าได้ก่อให้เกิดกับประเทศไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จึงได้วางนโยบายในการพัฒนาประเทศเสียใหม่เพื่อให้นำมาซึ่งความมั่งคั่งที่ยั่งยืนและพอเพียงของสังคมไทย โดยได้คำนึงถึงการบูรณาการกันของนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเกษตร อุตสาหกรรม คมนาคม พลังงาน และกุโศลบายรูปแบบต่างๆ ดังนั้นจึงได้จัดแบ่งนโยบายดังกล่าวเป็น 3 กลุ่ม ใน 20 ประเด็น ที่เชื่อมโยงเสริมพลังระหว่างกัน ดังนี้
๑. สร้างหรือเพิ่มรายได้ให้พลเมืองไทยอย่างยั่งยืน พอเพียง พร้อมพัฒนาภูมิคุ้มกันให้ประเทศ
- 1. พัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมระดับตำบลขึ้นทั่วประเทศ
- 2. จัดตั้งเครือข่ายร้านค้าปลีกแบบสหกรณ์ทุกตำบลทั่วประเทศ
- 3. ปรับการเกษตรและปศุสัตว์ให้เป็นแบบชีวภาพ 100% ภายใน 8 ปี
- 4. ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ได้เกณฑ์มาตรฐานสากลภายใน 8 ปี
- 5. เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรก่อนส่งออกขายต่างประเทศ
- 6. เพิ่มมูลค่าสินค้าจากอุตสาหกรรมประมง
- 7. พัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่มีศักยภาพเดิมอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
- 8. พัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจ
- 9. ปรับนโยบายด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้คนไทยมีรายได้มากขึ้น
- 10. พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติ
๒. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจการเกษตรและอุตสาหกรรม
- 11. พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เกษตร อาหาร
- 12. การชลประทานทั่วถึงทั้งประเทศแบบบูรณาการ
- 13. เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมแบบบูรณาการ
- 14. พัฒนาและผลิตพลังงานยั่งยืน
๓. กุศโลบายและมาตรการสนับสนุนทางอ้อมเพื่อความมั่งคั่ง ยั่งยืน และพอเพียงทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
- 15. ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำลายล้างมาเป็นทุนนิยมพอเพียง
- 16. กำหนดเพดานรายได้ประชาชาติ (GDP) ไม่ให้สูงเกินไป
- 17. เพิ่มรายได้ของพลเมืองไทยให้ได้สัดส่วน 60% ของรายได้ประชาชาติภายใน 8 ปี
- 18. กระจายโรงงานอุตสาหกรรมออกสู่ท้องถิ่น
- 19. กำหนดสัดส่วนประชากรในแต่ละกลุ่มอาชีพ
- 20. กำหนดปริมาณขั้นต่ำของพื้นที่ทำเกษตรกรรมของครัวเรือน
รายละเอียดของแต่ละประเด็นในแต่ละกลุ่มดังนี้
๑. สร้างหรือเพิ่มรายได้ให้พลเมืองไทยอย่างยั่งยืนพร้อมพัฒนาภูมิคุ้มกันให้ประเทศ
•1. พัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมระดับตำบลขึ้นทั่วประเทศ
คำอธิบาย: โรงงานเหล่านี้จะสร้างรายได้ที่ดี มีศักดิ์ศรี ให้ประชาชนในท้องถิ่น ไม่ต้องพึ่งเงินแจกซึ่งทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จากนักการเมืองเก่าอีกต่อไป และยังจะเป็นรากฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมของคนไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป ความยั่งยืนเกิดขึ้นเพราะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและใช้แรงงานในท้องถิ่น ไม่ได้หวังเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ของนายทุนซึ่งเป็นวิถีที่ไม่ยั่งยืน ยังเป็นห้องทดลองทางความคิดให้คนไทยรู้จักคิดค้นนวัตกรรมด้านการผลิต การออกแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพ และการบริหารอีกด้วย แทนที่จะเป็นเพียงลูกจ้างแรงงานของต่างชาติที่ไม่ได้ใช้สมองคิดค้นอะไรมากนัก นอกจากนี้ยังช่วยตรึงคนไว้ในท้องถิ่น ภูมิใจในท้องถิ่น ไม่อพยพไปขายแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม (ของต่างชาติ) ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตต่ำและต้องพลัดพรากจากลูกเต้า
วิธีดำเนินการ: ออก พรบ. งบประมาณผูกพันระยะยาวเพื่อดำเนินการในรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐเข้าไปร่วมทุนกับประชาชนในท้องถิ่นแบบมีการร่วมบริหารจากภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเพียงที่ปรึกษาและผู้ประสานงานด้านเทคโนโลยีข้อมูลต่างๆ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีทุนให้ถือเอาแรงงานเป็นการลงทุน และมีการปันผลกำไรตามสัดส่วนอย่างยุติธรรม กิจการที่โรงงานเหล่านี้จะทำส่วนใหญ่จะเป็นการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหลาย เพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก อย่างไรก็ดีในบางท้องที่อาจปรับไปเป็นอุตสาหกรรมได้หลากหลายตามความเหมาะสม เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง เครื่องจักกรกลการเกษตร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ เป็นต้น
•2. จัดตั้งเครือข่ายร้านค้าปลีกแบบสหกรณ์ทุกตำบลทั่วประเทศ
คำอธิบาย: การค้าปลีกมีผลกระทบมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ ทุกวันนี้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ของต่างชาติได้เข้ามากอบโกยกำไรออกนอกประเทศปีละมหาศาลโดยการเมืองเก่าไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติเลย หากปล่อยให้เป็นดังนี้ไปเรื่อยจะส่งผลเสียมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะเงินถูกสูบออกแทนที่จะกลับไปไหลเวียนหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย เราสามารถสู้กับระบบนี้ได้ในระดับหนึ่งด้วยการจัดตั้งร้านค้าปลีกในระดับตำบลทั่วประเทศ เพื่อสกัดเงินไม่ให้ทะลักออกนอกประเทศ แต่หมุนเวียนหล่อเลี้ยงท้องถิ่นไทยได้หลายรอบ ร้านค้าเหล่านี้ยังจะเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตโดยโรงงานตำบลในข้อ 1 อีกด้วย รวมทั้งช่วยสร้างงานในท้องถิ่น
วิธีการ: จัดตั้งร้านค้าปลีกในทุกตำบลโดยอาจทำในรูปแบบสหกรณ์ที่รัฐคอยช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการบริหารจัดการสมัยใหม่ ส่วนการลงทุนให้ร่วมทุนกันระหว่างรัฐและประชาชนในท้องที่โดยอาจให้สิทธิเจ้าของกิจการโชว์ห่วยในหัวเมืองร่วมลงทุนด้วย ต้องมีการจัดตั้งโกดังผ่องถ่ายสินค้าที่เป็นเครือข่ายทั่วประเทศอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่าย มีรูปแบบร้านค้าที่ทันสมัย สะดวก และดึงดูดใจลูกค้าเพื่อการแข่งขัน
•3. ปรับการเกษตรและปศุสัตว์ให้เป็นแบบชีวภาพ 100% ภายใน 8 ปี
คำอธิบาย: ประจักษ์ชัดแล้วว่าการเกษตรแบบตะวันตกที่ใช้สารเคมีเป็นหลักเป็นวิถีทางที่ไม่ยั่งยืนและยังเป็นพิษต่อการดำรงชีวิต ผลผลิตเกษตรชีวภาพจะเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่จะพัฒนาขึ้นทั่วประเทศ (นโยบายข้อ 1) ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยอย่างมากในอนาคต เนื่องเพราะแนวโน้มการบริโภคอาหารของคนในอารยประเทศจะเป็นแนวชีวภาพทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาดี อีกทั้งยังถือเป็นการกุศลที่ช่วยให้คนไทยและคนทั่วโลกได้บริโภคอาหารที่ไร้สารเคมี ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องไปทั่วโลกอีกด้วย (ได้ทั้งเงินและกล่อง)
วิธีดำเนินการ: ในระหว่าง 8 ปีนี้ให้มีการเตรียมความพร้อมด้านมาตรการการบริหารจัดการ การศึกษาวิจัย การทดลอง โดยต้องร่วมมือกับภาคการศึกษาด้วย
•4. ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ได้มาตรฐานสากลภายใน 8 ปี
คำอธิบาย: ทุนนิยมทำลายล้างข้ามชาติได้กดขี่ขูดรีดแรงงานชาวไทยมานานแล้ว ภายใต้การสมยอมของรัฐบาลการเมืองเก่า ทำให้แรงงานไทยประมาณ 10 ล้านคนอยู่ในสถานะยากจน ทั้งที่ทำงานชนิดเดียวกับแรงงานในประเทศพัฒนาแล้ว (เช่นประกอบรถยนต์) พึงเข้าใจด้วยว่าค่าแรงที่ต่ำเกินไปจะทำให้ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีเท่าที่ควร เนื่องเพราะประชาชนขาดกำลังซื้อ ดังนั้นการเพิ่มค่าแรงให้เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป เป็นผลดีทั้งแก่นายจ้างและลูกจ้าง จากการเปรียบเทียบค่าแรงและค่าครองชีพกับประเทศทั่วโลก ค่าแรงขั้นต่ำของไทยควรปรับจากกวันละ 200 บาทมาเป็นวันละ 600 บาท (ในสหรัฐฯ ขณะนี้วันละประมาณ 2,500 บาท)
วิธีการ: แน่นอนว่าเราคงทำลำพังไม่ได้เพราะนายทุนทั้งเทศและไทยจะต่อต้าน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ถ้าเราขึ้นค่าแรงเขาก็จะขู่ว่าจะย้ายฐานไปเวียตนาม จีน กันหมด ซึ่งนี่คือผลร้ายของการพึ่งคนอื่นที่ทำให้เราต้องเป็นเบี้ยล่างเขาตลอดไป แต่เชื่อว่าหากรัฐบาลชาญฉลาดจะยังสามารถทำได้ ทั้งนี้ด้วยการเสนอเรื่องนี้เป็นมาตรการที่ประเทศอาเซียนจะใช้ร่วมกัน และให้จีนร่วมลงนามด้วย ซึ่งเป็นผลประโยชน์กับทุกประเทศ ถ้าทำได้แบบนี้บริษัทก็ไม่อาจย้ายไปไหนได้ ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องผลักดันให้ยูเอ็นประกาศเป็นนโยบายสากลทั่วโลก ซึ่งเชื่อว่ายูเอ็นจะเห็นด้วยถ้าเรารู้จักอธิบายให้ยูเอ็นเข้าใจว่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม เพราะทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนามีกำลังซื้อสินค้ามากขึ้น(เพราะค่าแรงมากขึ้น) ซึ่งทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว (ผู้มีอำนาจในยูเอ็น) ขายสินค้าได้มากขึ้น (นโยบายคล้ายกันนี้องค์การอังถัดของยูเอ็นก็กำลังผลักดันอยู่ แต่ไปดันผิดที่ด้วยการจะส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาได้สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีกำลังซื้อ(สินค้าของพวกเขา)มากขึ้น)
•5. เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรก่อนส่งออกขายต่างประเทศ
คำอธิบาย: ผลิตผลการเกษตรไทยเราทุกวันนี้ส่วนใหญ่ยังส่งออกขายต่างประเทศแบบดิบๆ เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าว ถ้ารู้จักเพิ่มมูลค่าให้ดีก่อนส่งออกขายต่างชาติ จะก่อรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 30 เท่า เช่น มันสำปะหลังกก.ละ 2 บาท เอามาทำเป็นพลาสติกชีวภาพได้ 60 บาท ยางพารากก. ละ 20 บาท เอามาทำยางรถยนต์ได้ 500 บาท ข้าวโพดเอามาทำแป้งแปรรูปและสกัดสารแต่งรส นำมันปาล์มเอามาสกัดวิตามินอี เป็นต้น ประเมินได้ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่ารายได้ประชาชาติปัจจุบันของไทยเสียอีก (ซึ่ง 70% เป็นของชาวต่างชาติ)
วิธีการ: พัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร อาจทำเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ หรือสนับสนุนให้เอกชนไทยทำโดยรัฐค้ำประกันเงินกู้ (เพราะถือเป็นธุรกิจสนองยุทธศาสตร์ชาติ) ต้องมีการเตรียมพร้อมด้านบุคลากร การศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยไทยต้องปรับใหญ่เพื่อรองรับนโยบายนี้ (ขณะนี้นโยบายการศึกษาไทยก็ไร้ระบบ ผลิตบัณฑิตออกไปเพื่อเป็นลูกจ้างโรงงานต่างชาติเป็นหลัก หรือไม่ก็ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมทำงานวิจัยแบบเลิศลอยฟ้าเกินไป)
•6. เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมประมง
คำอธิบาย: การประมงเป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้จากการส่งออกที่สำคัญของประเทศ ต้องมีการใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ
วิธีการ: ให้การช่วยเหลือด้านวิจัย พัฒนา ต่อเอกชน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้อาหารทะเลก่อนส่งออกขาย การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการถนอมอาหาร อนุรักษ์แหล่งวางไข่ของปลา เช่น ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน เป็นพิเศษ เพื่อความยั่งยืนของการประมงไทย รวมถึงการบูรณาการกับอุตสาหกรรมต่อเรือประมง ให้ไทยสามารถส่งออกเรือประมงไปขายได้ทั่วโลก
•7. พัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่มีศักยภาพเดิมอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
คำอธิบาย: น่าสังเกตว่าขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นฐานอุตสาหกรรมบางอย่างที่มีศักยภาพพอที่จะขยายกิจการเพื่อสร้างงานและรายได้ชั้นดีให้กับประชาชนได้อีกมาก แต่รัฐกลับไม่ส่งเสริม หันไปส่งเสริมแต่อุตสาหกรรมต่างชาติ เช่น
- เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กซึ่งมีผู้ผลิตรายย่อยกว่า 500 รายกระจายอยู่ทั่วประเทศ
- อุตสาหกรรมต่อเรือประมงจำนวนมากกระจายอยู่ตลอดแนวชายฝั่ง สามารถต่อเรือประมงขนาด 200 ตันได้ แต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลเลย
- แม้แต่อุตสาหกรรมสีข้าวซึ่งมีกว่า 20,000 โรงและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจชาติมากก็ไม่มีมหาวิทยาลัยแม้แต่แห่งเดียวเปิดสอนวิชาสีข้าว
- อุตสาหกรรมต่อรถบัส รวมทั้งการผลิตเครื่องยนต์เองในประเทศ เพื่อความพอเพียง พึ่งตนเองได้ในสินค้าสำคัญนี้
วิธีการ: สำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมของคนไทยที่มีศักยภาพ และสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ จากนั้นให้การสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการวิจัย พัฒนา การตลาด โดยประสานกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
•8. พัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจ
คำอธิบาย: ประเมินได้ว่าการปลูกป่าไม้เนื้อแข็งเช่นไม้สัก ไม้ชิงชัน อาจทำรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวถึง 20 เท่า และยังส่งผลดีต่อระบบนิเวศด้วย เพียงแต่ว่าต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ชั้นดีราคาแพงก่อนส่งออกขายทั่วโลก (ในขณะที่เพิ่มมูลค่าข้าวได้ไม่สูงนัก) ประเมินได้ว่าการปลูกป่า 10 ล้านไร่สามารถสร้างรายได้อย่างน้อยปีละ 1 ล้านล้านบาท ในขณะที่ปลูกข้าวจะได้เพียง 5 หมื่นล้านบาท
วิธีการ: รัฐยึดคืนพื้นที่สูงบนเขาและเชิงเขาที่ถูกประชาชนบุกทำลายทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีกว่า 10 ล้านไร่ แล้วปลูกป่า 20 ปี แต่ละปีจะตัดมาป้อนอุตสาหกรรมเพียง 5 แสนไร่เท่านั้น ซึ่งป่าที่เหลือจะช่วยอุ้มความชุ่มชื้นอีกด้วย ต้องเตรียมความพร้อมด้านการผลิตช่างไม้ฝีมือดีทั่วประเทศ ซึงจะเป็นการสร้างอาชีพที่มีรายได้ดีให้กับคนไทยจำนวนมาก ป่าเหล่านี้ให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของด้วย อีกทางหนึ่งคือการส่งเสริมให้ชาวนาในเขตที่มีผลผลิตต่ำ (เช่นอีสานที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ) เปลี่ยนอาชีพมาปลูกป่าเศรษฐกิจแทนการทำนา แต่รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือในช่วง 19 ปีที่ไม้เนื้อแข็งยังไม่ให้ผลผลิต เช่นตั้งโรงงานอุตสาหกรรมตำบลเพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้เนื้ออ่อนไปพลางก่อน ซึ่งเป็นการพัฒนาฝีมือแรงงานไปด้วยในตัว
•9. ปรับนโยบายด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้คนไทยมีรายได้มากขึ้น
คำอธิบาย: อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่นักการเมืองเก่าภูมิใจกันหนักหนาก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นที่รายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับนายทุนต่างชาติในรูปของค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่าบริการทัวร์ ส่วนคนไทยมีรายได้จากการเป็นบ๋อยโรงแรม ยาม แม่บ้าน และนวดฝ่าเท้าตามชายหาดเท่านั้น อาชีพราคาแพงเช่นผู้จัดการโรงแรม ร้านอาหารโรงแรมเป็นของต่างชาติหมด (แม้แต่กุ๊ก) โรงแรมขนาดใหญ่ของต่างชาติที่มาตั้งยังมีราคาระดับสากล ซึ่งแพงมาก ทำให้ประเทศไทยไม่ได้เปรียบประเทศอื่นเท่าที่ควรในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว
วิธีการ: ออกกฎหมายห้ามสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ไม่คุ้มทุนในการลงทุนข้ามชาติ ดังนั้นโรงแรมส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กถึงปานกลางและเป็นของคนไทยในท้องถิ่นโดยปริยาย ยังเป็นการกระจายนักท่องเที่ยวออกไปในพื้นที่กว้าง ไม่กระจุกตัวหนาแน่นเกินไปในบางแห่ง ซึ่งก่อผลเสียต่อระบบนิเวศ อีกทั้งช่วยกระจายความเจริญและรายได้ ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจในสังคมได้อีกด้วย
•10. พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติ
คำอธิบาย: มีอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งที่ควรกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ แต่กลับตกอยู่ในมือของต่างชาติเสียหมด ซึ่งรัฐควรต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น
- ปุ๋ย ซึ่งควรทำเป็นปุ๋ยชีวภาพให้หมดเพื่อสนองยุทธศาสตร์ชีวภาพ และให้มีโรงงานอุสาหกรรมตำบลผลิตปุ๋ยกระจายอยู่ทั่วประเทศ
- ยาปราบศัตรูพืช อาจยังจำเป็นต้องมียาชีวภาพใช้อยู่บ้างแม้จะยกเลิกยาเคมีแล้ว
- เมล็ดพันธุ์ เป็นสิ่งสำคัญมากที่รัฐควรเข้ามาเกี่ยวข้องเนื่องเพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลผลิตการเกษตร
วิธีการ: ระดมสมองและข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดอุตสาหกรรมต่างๆที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้
๒.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจการเกษตรและอุตสาหกรรม
- 11. พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เกษตร และอาหาร
คำอธิบาย: การเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่เป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจระบบใหม่นี้ ล้วนต้องการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเป็นหัวหอกในการสร้างคุณภาพและนวัตกรรมของสินค้า เพื่อความเข่งขันได้ในตลาดโลก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาให้เข้มแข็งที่สุด อนึ่ง เกาหลีได้ประกาศให้เทคโนฯชีวภาพเป็นวาระในการปฏิวัติประเทศระลอกใหม่ไปแล้ว ส่วนไต้หวันก็บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีความหลากหลายและความอุดมทางชีวภาพมากที่สุดกว่าใครในโลก ควรต้องสร้างศักยภาพด้านนี้ของเราให้เข้มแข็งที่สุด
วิธีการ: ขยายองค์การวิจัยของรัฐทางด้านนี้ และมอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยทางด้านนี้พร้อมงบสนับสนุนเป็นการเฉพาะ โดยต้องเชื่อมโยงไปสู่การเกษตรชีวภาพและอุตสาหกรรมการเกษตรได้ด้วย
•12. การชลประทานทั่วถึงทั้งประเทศแบบบูรณาการ
คำอธิบาย: ที่ผ่านมาการชลประทานทำกันแบบแยกส่วน เป็นเบี้ยหัวแตก ไร้ประสิทธิภาพ แต่นโยบายใหม่นี้จะพัฒนาแบบบูรณาการในระดับกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด นำสู่การเพิ่มผลผลิตและรายได้ที่พอเพียงของเกษตรกร ผลพวงของการพัฒนาแหล่งน้ำ ยังใช้ในการขนส่งสินค้าทางเรือได้ เป็นแหล่งสัตว์น้ำเพื่อบริโภคและนันทนาการของประชาชนในท้องถิ่นอีกด้วย อาจใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้อีกโสดหนึ่ง
วิธีการ: ออก พรบ. ผูกพันงบประมาณระยะยาว เพื่อขุดคลองก้างปลาทั่วประเทศระยะทางนับแสนกิโลเมตร เพื่อเชื่อมแม่น้ำลำคลองต่างๆเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสามารถชดเชยปริมาณน้ำแก่กันได้ ทำการกักเก็บน้ำไว้ในแหล่งภูมิประเทศที่เป็นแอ่งซึ่งสำรวจจากข้อมูลดาวเทียม (มีการขุดเสริมตามสมควร)
•13. เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมแบบบูรณาการ
คำอธิบาย: การขนส่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจชาติเพราะเป็นต้นทุนในราคาสินค้า ที่ผ่านมาการขนส่งเน้นไปที่ระบบถนน ซึ่งเป็นการขนส่งที่มีราคาแพงที่สุดในด้านเชื้อเพลิงและการซ่อมบำรุงถนนและรถยนต์ขนส่ง ดังนั้นจะเน้นไปที่การพัฒนาการขนส่งระบบรางให้ทั่วประเทศ เพราะค่าโสหุ้ยถูกกว่าระบบถนนนับสิบเท่า และยังมีผลดีโดยอ้อมอีกมาก เช่น ลดความแออัดและอุบัติเหตุบนท้องถนน ลดมลพิษ
วิธีการ: 1) สำรวจเส้นทางที่เหมาะสม สร้างถนน รางรถไฟ (รางเดี่ยวและคู่) และ ลำคลองชลประทาน โดยให้เกิดการเชื่อมโยงกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งถ่ายสินค้าให้มากที่สุด เช่น ลำคลองเชื่อมถึงสถานีรถไฟ โดยไม่ต้องผ่านถนน เป็นต้น
2) รัฐออกมาตรการให้เอกชนหันมาใช้รถไฟในการขนส่งสินค้า พร้อมพัฒนาการบริหารจัดการกิจการรถไฟให้มีคุณภาพ คุ้มราคาค่าขนส่ง
•14. พัฒนาและผลิตพลังงานยั่งยืน
คำอธิบาย: พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงต้องพัฒนาให้เกิดความมั่นคง และมีความยั่งยืน
วิธีการ: วิจัยพัฒนาวิธีการผลิตพลังงานยั่งยืนด้วยการพึ่งตนเอง โดยเฉพาะพลังงานแดด ลม พลังน้ำ (บูรณาการกับการชลประทาน) เอทานอล ไบโอแก๊ส ไม้โตเร็ว
๓. กุศโลบายและมาตรการสนับสนุนเพื่อความมั่งคั่ง ยั่งยืนและพอเพียงทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
•15. ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำลายล้างเสรีมาเป็นทุนนิยมพอเพียง
คำอธิบาย: ประจักษ์ชัดขึ้นทุกทีว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำลายล้างเสรีที่ก่อตั้งโดยประเทศตะวันตกและกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจะนำโลกไปสู่ความล่มสลายในที่สุด แม้หากเพียงประเทศจีนและอินเดียมีรายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรเท่าญี่ปุ่น โลกเราก็จะล่มสลายทางระบบนิเวศแล้วเนื่องเพราะโลกมีทรัพยากรจำกัด ประเทศไทยต้องกล้าที่จะเป็นผู้นำโลกด้วยการจัดตั้งเศรษฐกิจระบบใหม่นี้ขึ้นมาให้เป็นแบบอย่าง ซึ่งองค์กษัตริย์ของเราก็ได้ทรงนำเสนอหลักการไว้เป็นอย่างดีแล้ว หากทำสำเร็จจะเป็นแบบอย่างที่นำชาวโลกไปสู่ทางรอด ซึ่งจะเป็นศักดิ์ศรีแก่ชาวไทยไปอีกแสนนาน
วิธีการ: เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็กในระดับตำบลที่ยั่งยืนและพอเพียง โดยไม่หวังการขยายกิจการเพื่อทำกำไรอย่างไม่สิ้นสุดเช่นระบบทุนนิยมทำลายล้างเสรี ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบสูงให้ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจซึ่งสามารถควบคุมนโยบายให้พอเพียงได้ ส่วนอุตสาหกรรมระดับกลางและเล็กให้เอกชนดำเนินการได้เสรี
•16. การกำหนดเพดานรายได้ประชาชาติ (GDP) ไม่ให้สูงเกินไป
คำอธิบาย: จากนโยบายหลักที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพอเพียง จำเป็นต้องกำหนดเพดานรายได้ประชาชาติต่อหัวประชากร มิฉะนั้นจะไม่เกิดความยั่งยืนให้เป็นแบบอย่างแก่ประเทศทั่วโลก เนื่องจากหากทุกประเทศต่างแข่งกันสร้างรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี ในที่สุดทรัพยากรของโลกก็จะไม่เพียงพอ นำสู่การล่มสลายของระบบนิเวศโลกในที่สุด
วิธีการ: ศึกษาวิจัย เพื่อกำหนดเพดานรายได้ประชาชาติให้เหมาะสมสอดคล้องกับมาตรฐานการครองชีพที่ดี ในบริบทของความยั่งยืนของประเทศและของโลก ทั้งนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ของประชาชนและการพัฒนาปรัชญาชีวิตที่เหมาะสมด้วย
- 17. เพิ่มรายได้ของคนสัญชาติไทยให้ได้สัดส่วน 60% ของรายได้ประชาชาติภายใน 8 ปี
คำอธิบาย: เพื่อป้องกันบรรเทาภัยทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีรายได้ของชาวต่างชาติมากเกินไป ดังที่บรรยายไว้ในข้อมูลพื้นฐาน
วิธีการ: ชะลอการลงทุนจากต่างชาติ พร้อมเพิ่มรายได้ของคนไทยตามนโยบาย ข้อ 1-10
•18. กระจายโรงงานอุตสาหกรรมสู่ท้องถิ่น
คำอธิบาย: นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ริมกทม. และริมทะเลกำลังช่วยกร่อนทำลายสังคมไทยอย่างหนัก ดังที่ได้อธิบายในข้อมูลพื้นฐานแล้ว การกระจายโรงงานออกไปท้องถิ่นยังจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และความเจริญสู่ท้องถิ่นอีกด้วย มลภาวะที่เกิดขึ้นก็มีการกระจายเฉลี่ย ไม่กระจุกแน่นเกินเกณฑ์อยู่เฉพาะพื้นที่ใกล้นิคมฯ โรงงานเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นจะช่วยเหลือสังคมมากขึ้น ท้องถิ่นก็จะรักโรงงานเพราะเป็นแหล่งรายได้
วิธีการ: ห้ามสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกต่อไป พร้อมสร้างมาตรการจูงใจและข้อบังคับให้ขยายโรงงาน (ทั้งต่างชาติและไทย) ออกไปยังท้องถิ่น เช่น มาตรการภาษี และกำหนดว่าก่อนอนุญาตสร้างโรงงานต้องประเมินปริมาณแรงงานในท้องที่ว่ามีเพียงพอ (เพื่อป้องกันการอพยพแรงงาน)
•19. กำหนดสัดส่วนประชากรในแต่ละกลุ่มอาชีพ
คำอธิบาย: เพื่อให้เกิดการสมดุลของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ที่ดีของสังคม ประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมมากเกินไปจะขาดเสถียรภาพเมื่อระบบเศรษฐกิจโลกมีปัญหา (เช่นไต้หวัน) ส่วนประเทศที่มีเกษตรกรมากไปย่อมมีเสถียรภาพดีแต่จะเกิดปัญหาความยากจน ตัวอย่างของการกำหนดดังเช่น: อาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ประมาณ 25% อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารประมาณ 25% อุตสาหกรรมอื่นประมาณ 10% ภาคบริการ 40% ด้วยสัดส่วนอาชีพที่กำหนดนี้ประเทศไทยจะมีความมั่งคั่ง แต่หากเศรษฐกิจโลกมีปัญหาประเทศไทยจะได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะสินค้าเกษตรยังคงเป็นที่ต้องการเสมอ ในกรณีเลวร้ายที่สุดถึงขนาดที่แม้อุตสาหกรรมเกษตรก็ต้องหยุดกิจการ ก็ยังมีเกษตรกรถึง 25% ที่จะเป็นหยุ่นช่วยรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ หากมีเกษตรกรน้อยเพียง 2% เหมือนสหรัฐฯจะเกิดปัญหาหนักแน่นอน
วิธีการ: วางมาตรการ และกุศโลบายที่เหมาะสม จากการศึกษาข้อมูลเชิงสถิติและแนวโน้มของอาชีพ
•20. กำหนดปริมาณขั้นต่ำของพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมของแต่ละครัวเรือน
คำอธิบาย: เกษตรกรที่มีที่ดินน้อยเกินไปย่อมไม่สามารถมีรายได้ที่พอเพียงได้ แต่หากมีมากเกินไปก็ไปเบียดบังโควตาของผู้อื่นและกลายเป็นระบบทุนนิยมทำลายล้างโดยปริยาย การทำเช่นนี้ผนวกกับการเพิ่มผลผลิต นโยบายราคาสินค้าเกษตร จะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้ดีทุกครัวเรือน นโยบายนี้ต้องทำคู่กับนโยบายการกำหนดสัดส่วนปริมาณอาชีพด้วย
วิธีการ: รัฐอาจต้องซื้อคืนที่ดินของเกษตรกรที่มีที่ดินเกินกำหนดแล้วนำมาเกลี่ยให้รายอื่นเช่าทำในราคาประชาชน หรือคิดค้นมาตรการอื่น เช่น ที่ดินที่ใหญ่เกิน 100 ไร่ต้องแบ่งให้เกษตรกรอื่นเช่าทำด้วยอัตราที่เหมาะสมเช่น 20% ของผลกำไร (อัตราค่าเช่าปัจจุบันนี้คิดเอาผลผลิตครึ่งหนึ่ง เท่ากับว่าเอากำไรประมาณ 80% ของผลกำไร)
‘””””””””””””ทวิช จิตรสมบูรณ์