ปฏิบัติธรรม๗…วิถีแห่งหลวงพ่อทิวา

4 ความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 23 July 2011 เวลา 12:52 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4721

แนวปฏิบัติสมาธิของหลวงพ่อทิวา มี ๔ ขั้นคือ

ขั้นฝึกสติ (ตามลม)

ขั้นสมาธิ (ดูลม)

ขั้นวิปัสสนา (เพ่งลม) 

ขั้นถอน (ลอยลม)

….คำในวงเล็บเป็นบัญญ้ติของผมเอง

 

มาดูขั้นที่ ๑ …ตามลม (คือเอาใจวิ่งตามลมหายใจไป)

-นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย 

-กำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า ผ่านจมูกเข้ามาหน้าอก ช่องท้อง ฝ่ามือ ขาที่จัดสมาท 

-กำหนดลมหายใจออก จากขาขัดสมาท มือประสาน ช่องท้อง ช่องอก ปลายจมูก 

 …ทั้งนี้เพื่อเจริญสติ ให้มั่น .(ผมเรียกว่าเป็นการวอร์มอัพ…เหมือนที่ทำก่อนเล่นกีฬา

……………………………………………………ทำไป สัก 5-10 นาทีา)

 

ขั้นที่สอง คือ ขั้นทำสมาธิ  (ที่ผมเคยอุปมาว่าคือทำจิตให้โฟกัส เหมือนเลนส์โฟกัสแสงแดด นั่นเอง)  ขั้นนี้จะไม่เอาจิตไล่ไปทั่วกาย ขึ้นลง แต่ให้เอาจิตมาจ่อเป็นจุด (หรือเป็นโฟกัส นั่นเอง) โดยเอาจิตมาจ่อไว้ที่ปลายจมูกเท่านั้น หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ (รู้ที่สัมผัส )

 ………………………………………………………….ทำไป…สัก 5-10 นาที

 

ขั้นที่สาม ขั้นวิปัสสนา คือพอจิตรวมเป็นสมาธิดีแล้วจากขั้นที่สอง จิตมีกำลัง (เหมือนแสงที่โฟกัส..ผม) ก็เอาพลังนี้ไปเพ่งวิปัสสนา (คือการพิจารณาด้วยปัญญา)  ให้พิจารณาว่า ลมหายใจเข้าออกนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับกายของเรา คือเป็นธาตุสี่ ดินน้ำลมไฟ มาประชุมกันพร้อมอยู่ ทำให้ดูเสมือนว่าเป็นตัวตน ตัวเรา ของเรา แต่แท้จริงแล้วหาใช่ตัวตนไม่ …หายใจเข้าพิจารณา ..หายใจออกพิจารณา

 …………………………………………………………….ทำไป…ประมาณ 40-60 นาที

 

ถ้าไม่บรรลุเสียก่อน ป่านนี้ก็คงเมื่อยโขแล้วแหละ ก็ถึงขั้นออกจากวิปัสสนา แต่ก่อนออกต้องพักผ่อนสักหน่อย ด้วยการ เลิกพิจารณา โดยให้ปล่อยจิตให้ว่างๆ ไว้ ไม่ต้องคิดอะไรมาก อาจทำใจ “ลอยๆ”   ..ผมอุปมาเรียกขั้นนี้ว่า  “วอร์มดาวน์”  ..เหมือนเล่นกีฬา ก็ต้องมีการวอร์มดาวน์ก่อนเลิก

……………………………………………………………………………ทำไป…สัก 5-10 นาที

 

แต่ละวันควรทำสามครั้ง เช้า กลางวัน เย็น  หรืออย่างน้อย เช้า เย็น  หรือ วันละมื้อก็ยังดี

กิเลสจะค่อยๆสึกไป ปัญญาจะค่อยๆ เบ่งบาน

สักวันหนึ่งกิเลสอาจหายไปหมด โดยไม่รู้ตัว..เป็นการบรรลุธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป

หรือฟลุกๆ วันหนึ่งอาจจะ “ปึ๊ง” …เป็นการบรรลุแบบเฉียบพลันกระโดดข้ามขั้นก็เป็นได้

 

พูดแล้วจะหาว่าโม้…เมื่ออายุสัก ๒๘ ผมเป็นนศ. ป.เอก อยู่ usa ไปทำงานกับนาซ่า  ผมก็ทำสมาธิแทบทุกวัน ส่วนใหญ่ตอนกลางคืน ก่อนนอน ทำไปแบบไม่มีครู ก็ต้องคิดหาวิธีเอาเอง อ่านทฤษฎีมาจากหนังสือท่านพุทธทาส (ซึ่งท่านไม่ได้สอนวิธีปฏิบัติ) แล้วเอามาสร้างวิธีปฏิบัติเอง ปรากฏว่าวิธีปฏิบัติของผม ในสองขั้นแรก แทบเหมือนกับของหลวงพ่อทิวาราวกับแกะ ส่วนขั้นที่สามวิปัสสนานั้น ต่างกัน โดยของผมใช้วิธี ลอยจิต แล้วมองลงมาให้เห็นตัวของเราเป็นธาตุสี่ เป็นอนัตตา (ก็ยังเหมือนกันในหลักการกับวิธีของหลววพ่อทิวา ต่างกันแต่ในวิธีการ)

 

ดังนี้ผมจึง อิน กับวิธีของหลวงพ่อทิวามาก แต่ตอนนี้ผมเอามาต่อยอดอีกแล้ว (ศิษย์คิดต่อยอดครู ไม่ได้คิดล้างครูนะครับ)  คือในช่วง สมาธินั้น ผมมี “วิปัสสนา” แถมเข้าไปด้วย กล่าวคือ ขณะเพ่งดูลมนั้น ให้มีการตามลมสั้นๆ คือหายใจเข้า ก็บริกรรมว่า เกิดขึ้น” พอหายใจสุดก็บริกรรมว่า ตั้งอยู่” พอหายใจออกก็บริกรรมว่า ดับไป”  ทั้งนี้เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายก็มีอยู่สามอาการนี่แหละ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป  ลองปฏิบัติดูแล้ว พบว่าวิธีนี้ ทำให้เกิดสมาธิเร็วดี และแถมยังได้ปัญญาญานอ่อนๆ อีกด้วย  เป็นการนำร่องก่อนเข้าไปสู่ขั้นวิปัสสนาต่อไป

สำหรับการขัดสมาท นั้นผมไม่ได้ทำอย่างท่าน (ขาขวาทับขาซ้าย) เพราะผมเคยลองขวาทับซ้ายมานานแล้ว พบว่ามีข้อเสียคือ ฐานนั่งมันเอียงซ้าย อีกทั้งทำให้เกิดเหน็บชาจากการที่ขามันทับเส้นเลือด เส้นประสาท ผมเลยคิดค้นวิธีนั่งแบบใหม่ (แต่สมัยอายุ ๒๘)  คือ ขาทั้งสองวางราบกับพื้น โดยไม่ซ้อนกัน เช่น ขาขวาอยู่หน้าซ้าย หรือ ซ้ายอยู่หน้าขวาก็ได้ โดยเอาขาข้างหนึ่งงอเข้ามาติดขาอ่อน อีกข้างหนึ่งก็วางแปะอยู่ด้านหน้า วิธีนี้ฐานจะราบ ไม่เอียง ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย อีกทั้งนั่งได้ทนกว่า เนื่องจากไม่ค่อยเกิดเหน็บชา

 

…คนตามธรรม (๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔)

ของดีที่สุด คือพระนิพพาน ไม่มีขาย มีแต่แจกฟรี (บทขัด..ของห่วยที่สุดมักมีราคาแพงที่สุด..เสมอ)

ดังนั้น สรุปได้ว่า คุณค่า แปรผกผันกับ มูลค่า เสมอ


ฝากไว้ในวันอาสาฬหบูชา…วัดสีเขียว

ไม่มีความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 15 July 2011 เวลา 6:09 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1708

วันนี้ อาสาฬหบูชา (๑๕ ๗  ๒๕๕๔ ) คิดว่าน่าจะสร้างความคิดอะไรสักอย่างสะสมไว้ให้เป็นโมเมนธรรมทั้งต่อตนเองและต่อสังคม

 

คิดแล้วได้ความว่า น่าฝากแนวคิด “วัดสีเขียว” ฝากไว้ให้ช่วยกันคิดต่อ

 

โรงเรียนสีเขียว

โรงพยาบาลเขียว

วัดสีเขียว

 

ก็ครบหมด พระ หมอ ครู ที่เป็นปูชนียบุคคลแห่งสังคมไทย ถ้าสามสังคมนี้เขียว (ทั้งกายและใจ) ก็หมดปัญหา นำพาชาติรอดแน่ๆ

 

พึงตระหนักว่า พพจ. ทรงเป็นนักนิเวศวิทยาคนแรกของโลก (นักชีวคนแรกอาจเป็น อริสโตเติล)  ดังที่บัญญัติไว้ในพระวินัยว่า ห้ามพรากของเขียว (เช่น แม้แต่เด็ดใบไม้ ) ห้ามถ่ายของเสียรดของเขียว หรือ ลงในลำน้ำคูคลอง

 

ดังนั้นการทำให้วัดกลับมาเขียวจึงเป็นการสนองพระคุณแห่งองค์พระศาสดาที่น่ากระทำยิ่ง

 

วัดเขียวควรมีตัวชี้วัดอย่างน้อยดังนี้

 

-มีต้นไม้ร่มคลึ้ม …ไม่ใช่มีแต่ลานจอดรถเทปูน แสนร้อน  หากิน กับค่าจอดรถ

-กุฏิโล่ง ไม่ติดแอร์

-มีการจัดการกับของเหลือจากบิณฑบาตรอย่างได้ประโยชน์สูงสุด

-สะอาดไม่มีขยะ พระเณรช่วยกันกวาดไม่เหลือหรอ

-งานศพเป็นไปอย่างประหยัด ห้ามให้พวงหรีดฟุ่มเฟือย

-การเผาศพไร้ควันและประหยัดพลังงาน

-ห้องส้วมสะอาด ไร้กลิ่น และไม่ต้องฟุ่มเฟือย สองมาตรฐาน แยกส้วมพระออกจากโยม ให้ใช้ส้วมร่วมกัน

-จีวรมีชุดเดียว ตามพุทธบัญญัติ (เดี๋ยวนี้มีไหมอิตาลี มันวาว)

-แว่นตาประหยัด ราคา 300 บาทมีถมไป แต่ใส่กันแบบ tag huer กันเป็นแถว)

-รถยนต์ให้ใช้รถตู้เท่านั้น ห้ามมีรถเก๋ง ราคาแพง แล้วอ้างฉลองศรัทธาโยม  (ท่านปยุตโตภิกขุ ท่านใหญ่ปานไหนก็ใช้รถตู้ตลอด พอว่างก็เอาไปขนพระอื่นๆไปไหนมาไหนได้ ใช้ขนของก็ได้)

-ตาลปัตรก็ให้มีได้อันเดียว ที่เหลือ เอาไปแจกให้ชาวนา เอาไว้ทำวีฝัดข้าว

-หมาวัด แมววัด ไร้ขี้เรื้อน

-พระในวัดมีทีวีน้อยที่สุด ควรมีทีวีรวมเพียงเครื่องเดียว  จัดรายการให้ดูตามที่กรรมการวัดกำหนด พอให้เรียนรู้โลก

-พระมีมือถือสาธารณเพียงเครื่องเดียว เอาไว้โทรติดต่อธุระสำคัญเท่านั้น และในการพูดต้องมีพระอื่นร่วม ฟังอยู่ด้วย (ประหยัด และห้ามมีกิ๊ก)

 

แค่นี้ก็ไม่รู้ว่าจะเหลือวัดเขียวสักกี่วัด

 

ถ้าจำไม่ผิด พพจ. ทรงสั่งเสียว่า พระวินัยปลีกย่อยให้ตัดทิ้งได้ตามกาลสมัย อีกทั้งให้บัญญัติเพิ่มเติมได้ตามกาลสมัย  …เถรวาท เป็นพวกอนุรักษ์ ไม่กล้าตัดอะไรทิ้งหรือบัญญัติอะไรใหม่อีกด้วย

…คนถางทาง (๑๕ กค. ๕๔)


โมเมนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 15 July 2011 เวลา 3:54 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1705

โมเมนธรรม

 

โมเมนตัม (momentum)  เป็นภาษา ละติน แปลว่าพลังที่เนื่องอยู่กับความแรงในอดีตที่สะสมไว้ เอามาแผลงแบบไทยๆ เราเป็น “โมเมนธรรม” ก็ยังได้

 

เมืองไทยเรา ดีๆ ชั่วๆ วันนี้ ยังไงก็ยังมี โมเมนธรรม ที่บรรพชนสะสมสร้างไว้ให้เป็นเนื้อนาบุญของชาติ  เป็นเสบียงทางวิญญาณที่ใช้ในการเดินทางไปสู่เป้าหมายได้

 

โดยเฉพาะท่านพุทธทาสภิกขุ ที่บ้าบิ่นอย่างแสนสุขุมทุ่มเทเหงื่อทุกหยาดหยดรดแผ่นดินธรรมผืนนี้ให้ชุ่มฉ่ำอย่างที่เรียกว่า ปิดทองหลังเขา  ฝ่าฟันอุปสรรค (เสียงก่นด่า) มานานับปการ

 

ท่าอาจารย์ชา หลวงปู่มั่น หลวงตาบัว เป็นอาทิ  และแม้แต่ ธรรมกลาย ก็เถอะ ถือว่าก็ยังอยู่ในธรรมนองคลองธรรม ดีกว่าไปเต้นแร้งเต้นกา แสวงหาทำลายล้างในรูปแบบอื่น

 

ในวันอาสาฬหบูชา และเข้าพรราษานี้ ขออำนวยพรให้ทุกท่านจงสะสมโมเมนธรรมให้ตนมากๆยิ่งขึ้นทุกท่านเด๊อ

 

..ธรรมสวัสดิ์ (คนธรรมทาง..๑๕ กค. ๕๔)


ทางสายกลาง..หัวใจสำคัญสุดของพุทธที่ยังเบลอกันอยู่

ไม่มีความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 15 July 2011 เวลา 3:44 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1695

ใน ธัมมจักกัปวัตตนสูตรนี้ ว่ากันว่าเป็นคำสอนเริ่มแรกของ พพจ. ต่อศิษย์เอกทั้งห้า  (ชื่อธัมนี้แปลเป็นไทยว่ากระไรก็ไม่รู้) เมื่อวันอาสาฬหกว่า 2500 ปีมาแล้ว

 

หัวใจสำคัญคือ สอนทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปเป็นพวกนิยมกามฝ่ายหนึ่งและทรมานตนอีกฝ่ายหนึ่ง  จากนั้นสอนอริยสัจ ๔

 

เรื่องทางสายกลางนี้มีการตีความที่แตกต่างกันไปมาก  จนบางที่กลายเป็นเครื่องมือให้ทำความชั่ว เช่น กินเหล้าต้องอย่ามากเกินไป ถ้าไม่กินเลย เดี๋ยวก็จะเคร่งเกินไป ให้กินพอเป็นกระสายคือสายกลาง..ว่าเข้านั้น

 

ท่านพุทธทาสสอนว่า แท้จริงแล้ว สายกลาง คือ เรื่องของจิตใจที่เป็นหลักสำคัญที่สุดของศาสนาพุทธ เพราะก่อนนั้นมีเพียงสองโต่งสุดขั้ว คือหลัก อัตตา (ตัวตน)  และ หลัก นิรัตตา (ไม่มีตัวตน) พพจ.ทรงค้นพบทางสายกลาง คือ อนัตตา (ซึ่งตอนนี้พวก  “ธรรมกลาย” รู้เท่าไม่ถึงกาล พยายามทำให้กลายไปเป็น อัตตา ไปอีกแล้ว)

 

ข้างล่างนี้ผมขยายความท่านพุทธทาส….

 

ระบบ อัตตา คือเชื่อว่ามีตัวตน ตายไปแล้ว ไปเสวยสุขอยู่กับพระเจ้า  พวกนี้จะเชื่อพรหมลิขิตไปด้วยโดยอัตโนมัติ ศาสนาที่เชื่อระบบนี้ก็เช่น ฮินดู คริสต์ อิสลาม ยิว

 

ระบบ นิรัตตา คือเชื่อว่าตายแล้วไม่มีอะไรเหลือ ดังนั้นไม่ต้องเชื่อเวรกรรม ทำอะไรในโลกนี้ได้เต็มที่ พวกนี้ไม่มีศาสนารองรับเป็นระบบ แต่วันนี้อนุโลมเป็นพวก Atheist  หรือ ในอดีตเรียกว่าพวกนิยมลัทธิ  Hedonism

 

อนัตตาคือ “ไม่ใช่ตัวตน” (ต่างจาก “ไม่มีตัวตน”  ลิบลับ แต่คนไทยจำนวนมากทั้งพระและฆราวาส  ก็แปลกันว่า “ไม่มีตัวตน” ..กลายเป็นพวก นิรัตตาไป) ..ท่านพุทธทาสสอนง่ายๆ ว่ามันมีอยู่ แต่มีแบบไม่มี

 

นี่แหละความเด่นของศาสนาเรา ที่ต้องภูมิใจให้มาก “มีแบบไม่มี” มันเข้าได้กับหลัก Quantum reality เลยนะ วิทยาศาสตร์สุดขั้ว

 

ตามที่ผมได้คิดค้นการตรัสรู้โดยสมองไว้ ผมเชื่อว่า เมื่อจิตเราเข้าสู่นิพพานแล้ว เข้าเสวยอารมณ์นิพพานว่างั้นเถอะ มันสุขล้ำเหลือ แต่ในที่สุด เราก็ระลึกได้ ต้องถอนจิตออกมา เลิกเสวยอารมณ์ กลายเป็นจิตบริสุทธิ์ (หรือจิตเดิมแท้..ตามภาษาเซ็น)  ที่มองเห็นนิพพานที่ถอดทิ้งไว้

จิตบริสุทธิ์หรือจิตเดิมแท้ หมายความว่าจิตที่หมดแล้วซึ่งการปรุงแต่งใดๆ (ถูกนิพพานดูดกลืนการปรุงแต่งไปหมดแล้ว จนบริสุทธิ์)  ถามว่า จิตเดิมแท้ นั้นจะคิดว่าตนเป็นอัตตาไหม หรือ ไม่เป็นอัตตาไหม ตอบว่า..ไม่ทั้งสองอย่าง เพราะถ้าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแสดงว่ายังมีการปรุงแต่ง (ธรรมมารมณ์) ก็ไม่ใช่จิตเดิมแท้ ที่แท้ ตามนิยามของจิตเดิมแท้ น่ะสิ

 

แหม กระแดะ เทศน์เสียสูง กลัวขี้กลากขึ้นจิต เดี๋ยวพรุ่งนี้เช้าจะไปปลีกวิเวกในป่าใหญ่ตามที่หมอแม่แผ่เมตตามาให้แล้ว

 

..ธรรมสวัสดี วันอาสาฬหะบูชา (คนธรรมทาง…๑๕ กค. ๕๔)


Making money from thin air is not impossible anymore (การทำนาประมงและป่าไม้ในพื้นที่เดียวกัน)

2 ความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 13 July 2011 เวลา 7:45 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2072

ปลูกป่า ทำนา  ประมง  และปลูกผัก ชีวภาพ 100% (make money from thin air)

 

รายได้ไร่ละ 300,000 ต่อปี ไม่น่าหนีไปไหน

 

วิธีการคือท้องนาพื้นที่ 1 งาน กว้าง 20×20 ม.  ให้ ขุดคูน้ำลึกรอบคันนาด้านในกว้างสัก 1 ม. ลึก 1 ม. แล้วเอาดินไปถมทำคันนาให้กว้าง 1.5 ม. สูงจากระดับท้องนาสัก 0.6  ม. . (ตามปริมาณดินที่ขุดได้)

 

หลักการคือ บนคันนาเราจะปลูกไม้ยืนต้น ในคูน้ำเลี้ยงปลา ในนาปลูกข้าวและผัก โดยมีคูน้ำเป็นแหล่งชลประทานไปในตัว

 

ที่ดินตรงกลางนั้นให้แบ่งเป็น 3 ส่วนเท่าๆกัน หน้ากว้างประมาณ 4 8 4  ระหว่างรอยต่อของ 4 กับ 8 ให้ขุดคูน้ำทลุถึงคูรอบนอก ..ทำเช่นนี้เพื่อการชลประทานในการรดน้ำผักภายหลังการทำนา

 

ปรากฏว่าพื้นที่ 1 งานตอนนี้เป็นคันนา คูน้ำ ไปเสียประมาณ  30% เห็นจะได้  แต่อย่าตกใจ นี่แหละที่จะทำให้เราสบาย เหนื่อยน้อยลง 3 เท่าแต่กำไรมากขึ้น 100 เท่า (ปรสิทธิผลเพิ่ม 300 เท่า)

 

พอเริ่มเข้าหน้าฝน พค. มิย. น้ำฝนเริ่มตก และไหลลงคูโดยรอบ เก็บสะสมน้ำไว้เรื่อยๆ ปลาย กค. น้ำจะเต็มคูและเริ่มนองเข้านา เราจะปลูกข้าวที่ปลายกค. อาจจะล่าไปหน่อยแต่ไม่น่าเป็นไร ดีเสียอีก ช่วงนั้นเมล็ดวัชพืช งอกหมดแล้วก็สบายขึ้นอักโขในการจัดการวัชพืช (เม็ดหญ้าส่วนใหญ่งอกก่อนและระหว่างเดือนมิย…ที่มา..กรมวิชาการเกษตร)

ช่วง พค. มิย. กค. เราปลูกอะไรนำร่องได้มากหลาย เช่น ถั่วต่างๆ ข้าวโพดฝักอ่อน ผักอื่นๆ โดยน้ำที่ขังอยู่ในคูก็เอามาช่วยรดได้ในยามที่ฝนทิ้งช่วง  ถั่วน่าจะดีเพราะช่วยบำรุงดิน แต่ผักก็เย้ายวน เพราะรายได้ดี (และนั่นคือเหตุผลทำไมขุดคูขวาง…ก็เพื่อที่จะเอาแพลอยน้ำไปสูบน้ำฉีดรดได้ทั่วนาภายใน 20 นาที ผมออกแบบแพยนต์นี้ไว้แล้ว มันง่ายมาก และลงทุนน้อยมาก ทำเป็นบูมแผ่ออกสองข้าง รดน้ำได้อย่างทั่วถึง และรวดเร็วมาก ประหยัดน้ำด้วย ถ้าฝนทิ้งช่วงก็เอาไปรดให้นาข้าวได้ด้วย)

 

พอน้ำเริ่มขังในคูมากเราก็คั่นคอก ทดน้ำเข้าไปในคอก เพื่ออภิบาลลูกปลาไว้ล่วงหน้าสัก 2 เดือนกว่าน้ำจะมามาก ให้กินอาหารทั้งธรรมชาติและอาหารเสริม ซึ่งในช่วงนี้ปลายังเล็ก ราคาอาหารไม่มากนัก

 

บนคันนาเราปลูกพืชยืนต้นที่ชอบแวดล้อมแบบนี้ คือมีน้ำแฉะขังรอบๆ ปีละ 8 เดือน  ที่นึกออกตอนนี้มีสองคือ ตะกูและไผ่ การปลูกตะกูที่ไม่ค่อยสำเร็จกันนั้นเป็นเพราะหารู้ไม่ว่ามันชอบอยู่ริมน้ำ ถ้าไม่เช่นนั้นจะโตช้า ถ้าอยู่ริมน้ำจะเร็วแบบเหลือเชื่อ  ไผ่หลายสกุลก็ชอบริมน้ำ ตอนนี้ผมค่อนข้างจะโน้มมาทางไผ่ เพราะมันมีผลพลอยได้ที่ใบมันร่วงหล่นลงสู่น้ำ

 

และนี่คือเหตุผลทำไมมาขุดคูไว้ริมนาแบบนี้ ก็เพื่อให้มันรับล่มจากต้นไม้ และได้รับใบไม้ที่ร่วงหล่นนี่แหละ ร่มจะช่วยทำให้น้ำเย็น ปลาที่เลี้ยงไว้ในคูจะไม่ร้อนเกินไป คูน้ำนี้จะเป็นทั้งแหล่งชลประทานและบ่อเลี้ยงปลาไปในตัว

 

พอน้ำท่วมนา (ปลาย กค. ) ปลาก็โตพอที่จะปล่อยได้แล้ว ให้หากินกันเอาเอง จากไรน้ำ ที่เกิดจากใบไผ่หล่นลงไปเน่าเปื่อยในน้ำ แล้วสร้างจุลินทรีย์ และไรน้ำพืชขึ้นมาเป็นอาหารให้ปลา (นี่ยังเดาอยู่นะ ต้องทดลองและหรือวิจัยต่อ ว่าสร้างจุลินทรีย์ได้ไหม หรือเผลอๆ ใบไผ่อาจเป็นพิษด้วยซ้ำ แต่เชื่อว่ามีทางใช้ประโยชน์แน่ๆจากใบไม้ริมน้ำ)

 

 นอกจากนี้จะเสริมด้วยสาหร่ายทีปลาชอบกิน เช่น สาหร่ายหางกระรอก พุงชะโด ข้าวเหนียว  ซึ่งเรื่องนี้พอมีพื้นฐานอยู่แล้วว่าเป็นไปได้ แต่ต้องทำวิจัยเสริมว่า สาหร่ายอะไรดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีสาหร่ายที่ตรึงในโตรเจนและฟอสเฟตจากอึสัตว์น้ำอีกด้วย(วิจัยในกุ้ง แต่ปลาก็น่าจะเหมือนกันนะ)  นี่มันวิเศษจริงๆ สาหร่ายกินอึปลา ปลากินสาหร่าย (making money from thin air is not impossible anymore)

 

ปลาที่เลี้ยงเป็นปลากินพืชเท่านั้น เช่น ปลาจีน ปลาตะเพียนทั้งหลาย ซ่ง ลิ่น สลิด กระดี่ แรด นิล หมอตาล (ไอ้เพียนนี่ต้องระวังหน่อย โดดสูงมาก ชอบโดดไปงับกินรวงข้าว …ลูกสาวชาวนาเตือนเราไว้นานแล้ว)

 

การทำนาก็ทำไปตามปกติ เริ่มปลายกค. ถึงต้นสิงหาด้วยซ้ำ เพราะน้ำมันจะยังไม่ท่วมนา หรือถ้าจะให้เร็วขึ้นก็ทำคันในรอบในขนาดเล็กเพื่อกักน้ำก็ได้ แบบนี้ก็จะทำนาได้ตามปกติ น้ำที่มากเกินไป ก็ไขออกไปลงคูรอบๆ ให้หมด หรือทำเป็นฝายน้ำล้นไปเลย ..อ้อ..อย่าลืมการทำแบบหยอดหล่นด้วยนะ ..และเกี่ยวแบบหวีสางที่ไม่ต้องนวด จากนั้นตากแห้งแบบเตียงพรุ่น..ซึ่งผมได้คิดไว้ให้หมดแล้ว ตากแห้งนั้นทดลองได้ผลแล้วด้วย

 

ถ้ำทำคันนาด้านในด้วย เราจะมีประตูเปิดให้ปลาพวกนี้ไปว่ายเล่นในนาข้าวด้วย มีวัชพืชออกมามันกินหมดไม่เหลือ ก็ไม่ต้องฉีดยาฆ่าหญ้า

 

อ้อ..ลืมไป เพิ่งจะได้แนะนำพระเอก ในซีนนี้ คือ เขียดน้อย เช่น เขียดขาคำ และ ที่เล็กกว่า เพื่อให้ไต่ไปตามใบข้าวไปกินเพลี้ย อีกทั้งแมงปอเข็มก็น่ากินเพลี้ยให้เราได้ด้วย พวกแมงใหญ่ ก็ไม่ยาก เลี้ยงปลาเสือพ่นน้ำไว้สักฝูง รับรองว่าเล่นสงกรานต์กันสนุก ส่วนกบใหญ่ ที่แรกก็อยากเลี้ยง แต่กลัวมันไปกินปลาเสียหมด หอยขม ก็ปล่อยลงนาได้ เอาไม้ผุไปลอยไว้ ให้มันเกาะ ขายได้เงิน แถมมันช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศด้วยเพราะย่อยสลายของเน่าให้กลายเป็นปุ๋ยให้นา

 

การเลี้ยงปลาควรเลี้ยงแบบสางขาย คือ ตอนแรกตัวเล็กๆ ให้เลี้ยงแน่นๆ แล้วสางขายเป็นระยะเมื่อมันโตขึ้น จะมีรายได้สม่ำเสมอต่อเนื่อง อาหารปลาก็ไม่ต้องซื้อเพราะมีให้เหลือเฟือ เผลอๆ สาหร่ายที่ปลูกไว้จะโตไวเกินปลาเสียอีก ก็สางสาหร่ายเอามาทำอะไรได้มาก เช่น เลี้ยงหมู ไก่ ทำปุ๋ยสดหมัก (ปลาจีนนั้นว่ากันว่ามันกินอาหาร 3 เท่าน้ำหนักตัว ตปท. ใช้มันในการกำจัดวัชพืชน้ำ)

 

อ้อ..ทิศทางการวางนาอาจต้องคำนึง ให้แนวคันนาที่ปลูกไผ่อยู่ในแนวออกตก ส่วนแนวเหนือใต้อาจปลูกไม้พุ่มเศรษฐกิจแทน เช่น พริก ทั้งนี้เพื่อจะไม่ถูกบังแดด เพราะสาหร่ายชอบแดด ถ้าแดดน้อยจะโตไม่ดี อาจไม่พอให้ปลากิน

 

พอเกี่ยวข้าวเสร็จก็ปลูกผักต่อได้เลย เพราะพื้นนายังมีความชื้นอยู่มาก ถ้าต้องการน้ำ ก็น้ำในคูนั่นไง เพราะตอนนั้นจับปลาขายไปครึ่งหนึ่งแล้ว น้ำมีพอเอามารดแปลงผัก แถมเป็นน้ำปุ๋ยอุดมด้วยแอมโมเนียและฟอสเฟตจากอึปลาด้วย ผักงามดี มีกำไรมาก กว่าน้ำจะหมดคูก็คงต้นกพ.  คูนามีอยู่แล้วก็ทำเป็นเทือกแฉะๆ กางปิดด้วยสแลนท์ก็ปลูกผักน้ำแฉะแดดรำไรราคาแพงได้ง่ายๆ เช่น วอเตอร์เครสท์ ที่ตัดแล้วแตกใหม่อย่างรวดเร็ว ปลูกได้สามชุดสบายๆ

ช่วงปลูกผักนี้สามารถปล่อยเขียดใหญ่ เช่น เขียดอีโม่ที่เพาะเลี้ยงไว้ร่วมกับปลาใหญ่ได้แล้ว (เพราะมันกินปลาไม่ได้แล้ว) เขียดอีโม่มันจะกินแมลงใหญ่ ส่วนเขียดขาคำและอื่นๆ จะกินแมลงเล็กจนถึงเพลี้ย ผักของเราก็ปลอกสารพิษ แถมได้อึเขียดที่กินแมลงมาเป็นปุ่ย อีกทั้งเขียดพวกนี้ขายได้ แพงเสียด้วย

 

ส่วนปลานั้นถ้าเลี้ยงหนาแน่นเกินไป จะมีปัญหาเรื่องน้ำเสียจากอึของมันเอง  ซึ่งสาหร่ายช่วยบำบัดแบบ รีไซเคิลไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ที่เหลือถ้าจำเป็นก็ต้องแทรกแซง ซึ่งสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ไม่ยาก ลองคิดดู อย่าให้บอกทั้งหมด เดี๋ยวหมดสนุก

 

นานี้ไม่ต้องฉีดยาใดๆ ไม่ว่าเคมีหรือชีวะ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย (มาจากอึปลา) ไม่ต้องทำหญ้า (ปลาตอดกินหมดแล้วเอาไปอึเป็นปุ๋ย) ส่วนปลาก็ไม่ต้องให้อาหารกินอาหารธรรมชาติจากไรน้ำที่หล่นมาจากใบไม้ และจากสาหร่าย ผักที่ปลูกก็เช่นกันไม่ต้องฉีด ไม่ต้องใส่ปุ๋ย (กินบุญเก่าจากน้ำปลา)

 

รายได้มาจาก ข้าวชีวภาพ ผักชีวภาพ(อาจมากกว่าข้าวซึ่งเป็นพืชหลัก 10 เท่า) พืชก่อนฤดูเช่นถั่ว (อาจได้พอๆกับพืชหลัก) ปลา (อาจมากกว่าข้าว 5 เท่า) หอย หน่อไม้ ลำไม้ไผ่  

 

คิดให้ดีนี่มันกลั่นเงินจากดินน้ำลมไฟธรรมชาติแท้ๆ เลย

ดิน น้ำ ไฟ(แสงอาทิตย์) ลม(อากาศ) ไม่ได้มาจาก thin air ดังที่ล้อไว้ 

 

…ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔)


ลดพื้นที่ทำไร่นา..เพิ่มพื้นที่ป่าไม้แบบค่อยเป็นค่อยไป

1 ความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 13 July 2011 เวลา 6:03 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1733

ลดพื้นที่ทำไร่นา..เพิ่มพื้นที่ป่าไม้แบบค่อยเป็นค่อยไป

 

การทำนาได้กำไรน้อยกว่าป่าไม้ การป่าไม้ได้น้อยกว่าประมง นอกจากนี้การทำนายังทำลายธรรมชาติ ป่าไม้ช่วยรักษาธรรมชาติ แต่การทำนาเป็นสิ่งจำเป็น ต้องคงไว้ในระดับพอเพียงที่ไม่มากแต่ก็ไม่น้อยจนเกินไป

 

กานำป่าไม้กลับคืนมาสู่ผืนแผ่นดินไทย มีแนวคิดง่ายๆ (แต่ทำอาจยากในบริบทประเทศไทย) คือจัดสรรที่ดินใหม่ ด้วยการเอาที่ดินทั้งหมดในตำบลมารวมกันใหม่ แบ่งเป็นโซนป่าไม้เสียครึ่งหนึ่งโดยเป็นป่าใหญ่ติดต่อกันเป็นผืนเดียว เรียกว่าป่าตำบล  ที่เหลืออีกครึ่งให้ทำไร่นา

 

ที่ดินอีกครึ่งหนึ่งก็มาจัดสรรกันใหม่ โดยการเทียบบัญญัติไตรยางค์จากของเดิม แต่โดยมีข้อกำหนดว่าถ้าใครได้น้อยกว่า 3 ไร่ให้เพิ่มขึ้นเป็น  3 ไร่  ส่วนคนที่มีมากเกินไปก็ให้ลดลงมา เอาไปเจียดให้คนที่มีที่น้อย แต่เขาจะมีส่วนตอบแทนในภายหลังเป็นการชดเชย (มาจากป่าตำบล)

 

คำนวณดูคร่าวๆ ป่าตำบลนี้จะมีพื้นที่เฉลี่ยถึง 15,000 ไร่ นับว่าใหญ่โขขนาดทำเป็นอุทยานได้เลย ตำบลไหนที่ทำเลสวยๆ ก็จัดสรรให้เป็นป่าไปเลย จะดึงดูดการท่องเที่ยวได้อีก

 

ที่สำคัญคือ เราจะทำอุตสาหกรรมป่าไม้แบบตัดสางอย่างยั่งยืน เอาไม้มาแปรรูป เป็นเครื่องใช้ เพิ่มมูลค่าได้มหาศาล รายได้ต่อพื้นที่สูงกว่าการทำนา 20 เท่าได้สบายๆ นอกจานี้ยังมีผลพลอยได้จากป่าอีกมากมาย เช่น เห็ด สัตว์ป่า

 

อุตสาหกรรมนี้ทำแบบให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมทำนองสหกรณ์  รายได้ที่เกิดขึ้น ก็นำมาจัดสรรให้ชาวบ้าน โดยชดเชยให้คนที่เสียที่ดินไปด้วยในสัดส่วนที่มากกว่าคนอื่น

 

อุตสาหกรรมป่าไม้ที่เกิดขึ้นจะเกิดการจ้างงานเพิ่ม และระบบนิเวศโดยรวมของประเทศจะดีขึ้น น้ำท่วมลดลง อากาศเย็นสบายขึ้น

 

ถ้ารัฐบริหารให้ดีทำเป็นนโยบายประเทศ น่าขอ คาร์บอนเครดิตจากยุโรปได้อีกด้วย

 

….ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔)


ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ยังต่ำเกินไปมาก

6 ความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 13 July 2011 เวลา 5:10 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2605

ในประดานโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น มีอยู่อย่างเดียวที่ผมพอเห็นด้วย คือ นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แม้มันจะเป็นเพียงนโยบายประชานิยมตื้นๆก็ตามที

 

ถ้ารัฐไม่เก่งจริง หรือไม่รับผิดชอบ การขึ้นค่าแรงอาจยิ่งทำให้แรงงานจนลงด้วยซ้ำไป (ถ้าราคาสินค้ามันขึ้นแซงหน้า โดยเฉพาะในประเทศไทยที่การแข่งขันเสรียังอ่อนแอมาก)

 

ใจจริงผมอยากให้ขึ้นเป็น 1000 บาทด้วยซ้ำไป  (ณ วันนี้ กรกฎาคม พศ. ๒๕๕๔)

 

ผมคำนวณได้ว่าถ้าค่าแรงขั้นต่ำ 1000 บาท แล้วสามารถคุมราคาก๋วยเตี๋ยวไว้ได้ที่ชามละ 50 บาท ประเทศไทยจะพัฒนาอย่างรวดเร็วในเชิงเศรษฐกิจ นายทุน ภาคอุตสาหกรรมจะรวยขึ้นสองเท่าทันที รวมทั้งคนขายก๋วยเตี๋ยว ช่างตัดผม  

 

ผมจะลองแจงการคำนวณให้ดูนะครับ สมมติว่าก๋วยเตี่ยวชามละเฉลี่ย 30 บาทในวันนี้  ในจำนวนนี้เป็นค่าแรงเสีย 10% หรือ 3 บาท (ค่าแรงไทยต่ำมาก ถ้าเป็นในอารยประเทศจะเป็นประมาณ 30%) กำไร 10 บาท ที่เหลือ 17 บาทเป็นค่าวัตถุดิบ ค่าเช่าร้าน ค่าติดสินบทเจ้าพนักงาน (ที่ไปตั้งแผงลอยบนฟุตบาท) 

 

ถ้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 200 เป็น 1000 บาท ค่าแรงเพิ่ม 5 เท่า ดังนั้นก๋วยเตี๋ยว 1 ชามจะมีค่าแรง 15 บาท ค่าวัตถุดิบและอื่นๆ จะเป็น 25 บาท (เพราะมีค่าแรงอยู่ในนั้นด้วย 10%)  ถ้าคงกำไรไว้ 10 บาทเท่าเดิม ก็จะได้ก๋วยเตี๋ยวราคา 50 บาท

 

กำไร 10 บาทเท่าเดิมนี้ยังเป็นธรรมอยู่ เพราะแม่ค้าจะขายก๋วยเตี๋ยวได้มากขึ้น 3 เท่า เนื่องจากเมื่อก่อนคนมีกำลังซื้อก๋วยเตี๋ยวแค่วันละ 200 หาร 30 หรือ 6.7 ชามเท่านั้น แต่บัดนี้คนมีกำลังซื้อก๋วยเตี๋ยวถึงวันละ 20 ชาม มากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า ก็น่าเชื่อได้ว่าก๋วยเตี๋ยวจะขายดีขึ้น 3 เท่า แม่ค้าจะกำไรเพิ่ม 3 เท่า ทั้งที่กำไรต่อชามเท่าเดิม

 

นอกจากนี้แม่ค้าจะจ้างคนงานเพิ่ม 3 เท่าด้วย คนก็มีงานทำมากขึ้น และเป็นงานที่มีรายได้ดีเสียด้วย

 

ที่มาของสูตรการขึ้นค่าแรงเป็น 1000 บาทนี้ก็เพื่อให้ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 20 ชามพอดีนี่แหละครับ ผมสร้างโจทย์คณิตศาสตร์แล้วคำนวณตัวเลขนี้ออกมา  ตัวเลข 20 เท่านี้ไม่ได้มาจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในตำราหรอกครับ แต่มาจากการสำรวจของผมเองที่พบว่าประเทศอารยทั้งหลายทั้งสหรัฐ ยุโรป มีค่าแรงขั้นต่ำที่ซื้ออาหารหนึ่งมื้อได้ประมาณ  20 มื้อพอดี จึงคิดว่านี่มันน่าเชื่อถือกว่าตำราเสียอีก เพราะอารยประเทศพวกนี้เขาลองผิดลองถูกมาเป็นร้อยปี สร้างหลักฐานให้เราเห็นเป็นรูปธรรม เป็นสูตรสำเร็จที่ตรงกันทุกประเทศอยู่แล้ว

 

ในการขึ้นค่าแรงนี้ รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากกว่าเดิมมากหลาย น่าจะประมาณ 5 เท่า เพราะเดิมแรงงาน 20 ล้านคนไม่เสียภาษีเงินได้ บัดนี้รายได้เกินระดับเสียภาษีแล้ว รัฐจะมีฐานภาษีใหม่ 20 ล้านคน อีกทั้งผู้ประกอบการทั้งหมดมีรายได้มากขึ้น 3 เท่า ก็ได้ภาษีการค้ามากขึ้นมหาศาล ยังภาษีค้าปลีกที่จะมากขึ้นอีก 5 เท่า (จากกำลังซื้อทีเพิ่มขึ้น 5 เท่า) ความจริงจะมากกว่า 5 เท่าด้วยซ้ำไปเพราะมันมีตัวคูณทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอีกหลายต่อ

 

ที่น่าสังเกตคือ คราวนี้ค่าแรงในก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม คือ 15 บาท คิดได้เป็น 30% ของราคาสินค้าพอดี ซึ่งเท่าๆกับระดับอารยประเทศ นี่คือจุดค่าแรงยุติธรรม ไม่ถูกหรือแพงเกินไป  ถ้าค่าแรงแพงกว่านี้การค้าขายและระดับเศรษฐกิจจะเริ่มลดลง (การลดลงนี้อธิบายยาก มันเกี่ยวกับการสัมพันธ์แบบไม่เป็นเชิงเส้นของกำไรการค้าและค่าแรง)

 

 ดังนั้นมันมีจุดหนึ่งที่เป็นจุดที่ค่าแรงดีที่สุด ที่จะทำให้ทุกฝ่ายวินวินวิน (ยกเว้นสิ่งแวดล้อม ฮา)  สำหรับประเทศไทยเรา ณ ตอนนี้ก็อยู่ประมาณ 1000 นี่แหละ แต่รัฐบาลต้องเก่ง ต้องทำให้ก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ชามละ 50 บาทได้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้พรวดไปที่ 150 บาท

 

ส่วนพวกโรงงานอุตสาหกรรมก็จะได้รับผลดีเช่นเดียวกัน เพราะพอพนักงานมีรายได้มากขึ้น เขาก็จะอุปโภคสินค้าที่ผลิตจากโรงงานมากขึ้น เช่น พนักงานโรงงานผลิตรองเท้า ก็ไปซื้อมอเตอร์ไซค์มากขึ้น พนักงานโรงงานมอเตอร์ไซค์ก็ไปซื้อโทรทัศน์มากขึ้น พึ่งพากันเป็นร่างแหแบบนี้ สุดท้ายคือเจ้าของโรงงานได้กำไรสุทธิมากขึ้น 3 เท่า ทั้งที่ต้องจ่ายค่าแรงมากขึ้น 5 เท่า  (เหมือนแม่ค้าก๋วยเตี๋ยว)

 

การที่สภาอุตสาหกรรมไทยออกมาโจมตีว่าที่รัฐบาลนั้นเป็นเพราะ 1) ยังไม่เข้าใจในประเด็นที่ได้กล่าวไปแล้วว่าพวกตนจะได้กำไรมากกว่าเดิมสามเท่า  2) สภาฯถูกพวกนักลงทุนต่างชาติหลอกให้มาพูดแทน 3) พูดเองด้วยใจจริงเพราะเกรงไปว่านักลงทุนต่างชาติที่โรงงานพวกตนหากินร่วมอยู่ด้วยจะถอนทุนไปที่อื่นหมด …ไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทั้งหมด

 

ข้อ 1) ได้เฉลยไปแล้ว ข้อ 2) ไม่ต้องกลัวต่างชาติถอนทุน ยิ่งถอนยิ่งดี นักลงทุนไทย (พวกสภาฯคุณนั่นแหละ) จะได้มีช่องว่างในการลงทุนมากขึ้น (ไม่ต้องไปแข่งกะไอ้พวกนี้) ช่องว่างที่ว่ามาจากไหน ก็จากกำลังซื้อที่มากขึ้นประมาณ 3 เท่านะซี่ ดังนั้นโรงงานใหม่ๆ จะผุดขึ้นมาทำกำไรได้อีกมาก  ข้อ 3)  อนุโลมใช้คำตอบตามข้อ 2)

 

ไอ้ฝรั่งพวกนี้มันไม่โง่หรอก การขึ้นค่าแรงจาก 200 เป็น 1000 ผมว่าต่างชาติจะมาลงทุนมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก เพราะพวกนี้มันไม่โง่คิดชั้นเดียวเหมือนสภาอุตฯไทยหรอก ไม่เช่นนั้นญี่ปุ่นมันจะไปลงทุนในสหรัฐฯมากมหาศาลที่สุดในโลกหรือ ทั้งที่ค่าแรงวันละ 5000 บาท ค่าสวัสดิการอีก 20%

 

โรงงานไทยที่จะกระทบมากที่สุดคือ โรงงานสัญชาติไทยจริงๆ (ที่ไม่ใช่นอมินีให้ต่างชาติ) ที่ผลิตสินค้าส่งออกนอกเป็นหลักหรือทั้งหมด อีกทั้งเป็นโรงงานที่ใช้แรงงานมาก (labor intensive) ซึ่งรัฐบาลต้องช่วยเหลือ เช่น สินค้าหัตถกรรมส่งออก ดอกไม้ประดิษฐ์

 

ที่เดือดร้อนคือสินค้าส่งออกจะมีราคาแพงขึ้น อาจทำให้แข่งขันสู้คู่แข่งจากประเทศอื่นไม่ได้ แต่เนื่องจากโรงงานเหล่านี้มียอดขายน้อยมากเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ อีกทั้งรัฐเก็บภาษีได้มากกว่าเดิม 5 เท่า ก็เอาเงินมาเยียวยาจุดนี้ได้สบายมาก

 …ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔)


ห่วงโซ่อาหาร (ทางปัญญา)

1 ความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 13 July 2011 เวลา 2:50 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1703

อาหารกาย อาหารใจ  มีอะไรเหมือนกันอยู่บ้าง

มีต้นวงจร และปลายวงจร เป็นวงกลม 

ไม่มีอะไรเหนืออะไร สรรพสิ่งล้วนเป็นวงจร

 

คนที่รับการซื้อเสียง 500 บาท แล้วรับเงินไปฟังปราศรัย 3 ครั้งอีก 300 บาท ก็มีปริมาณการเป็นเจ้าของประเทศนี้  1 เสียง เท่ากับ หมอเสม หมอประเวศ นายอานันท์ อ.สุลักษณ์ ทักษิณ และ จตุพร  หมอเหวง นังดา (สงสารที่ติดคุก ..น่าปล่อยออกมาให้ด่าได้เต็มที่ไปเลย เผลอๆและบ้าๆ อาจร่วมแจมเป็นครั้งครา ในบางประเด็น แต่ถ้าเอาทุกอย่างตามที่มรึงว่ามา กรูโดดหนีไปอยู่กะหลวงพ่อคูณดีกว่า)

 

 ..ส่วนแมงมุมใหญ่ที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง กลับไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใด ๆ …แบบนี้มัน 1009 มาตรฐานเลยนะเพ่ …แบบนี้ต้องปฏิวัติ  ๆ ๆ ๆ (เอาไปเป็นวลีแต่งเพลงได้เลย)

 

น้ำใสย่อมตกมาจากยอดเขาสูงสุด  แต่น้ำใสนั้นย่อมกลั่นมาจากไอน้ำที่ลอยมาจากทะเลที่ต่ำที่สุด

 

ปริมาณการไหล เท่ากันเสมอ

 

เมื่อไหร่จะหยุดไหล สักที…ชักเบื่อแล้ว

 

เมื่อไหร่น้ำจะเลิกไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ

เมือไหร่ไอน้ำจะเลิกลอยจากที่ต่ำสู่ที่สูง

เสียที 

 

คำตอบ ละลายอยู่ในสายลม 

แวงซองต์  วาน โกะ คงกำลังอมยิ้ม  

…คนเบิกทาง  ..๑๒ กค. ๒๕๕๔

 

 


เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

4 ความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 4 July 2011 เวลา 11:27 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2285

4.9 สมดุลระหว่าง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

               

                นักปราชญ์เป็นจำนวนมาก ได้วิเคราะห์และสรุปไว้ว่า การดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนของสรรพสิ่งในธรรมชาตินั้นล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากการเกิดสมดุลระหว่างองคาพยพต่างๆทั้งสิ้น การสมดุลในที่นี้หมายถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกันต่างก็เกื้อหนุนค้ำจุนซึ่งกันและกันอย่างลงตัว ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน เนื่องจากไม่มีใครสะสมส่วนเกิน (ที่เกินจำเป็นต่อการดำรงชีวิต) เช่น ในระบบนิเวศน์ของป่าน้ำลำธาร สัตว์ป่ากินพืชได้อาศัยหญ้าและใบไม้เป็นอาหาร พร้อมกับช่วยแพร่พันธุ์ให้กับพืชสกุลต่างๆ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่กินเข้าไป หรือ ติดไปตามขนสัตว์ และเมื่อถ่ายมูลก็เป็นปุ๋ย ตายลงร่างกายก็เน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยคืนให้พืชได้กินซากของตนบ้าง แต่หากไม่มีสัตว์กินเนื้ออยู่ด้วย สัตว์กินพืชก็จะมีจำนวนมากจนทำลายพืชได้หมด ดังนั้นสัตว์กินเนื้อพวก งู เสือ สิงโต จึงคอยควบคุมจำนวนสัตว์กินพืชให้อยู่ในปริมาณพอเหมาะ (ได้สมดุล) นอกจากนี้รากไม้ยังช่วยอุ้มน้ำฝน ทำให้น้ำค่อยๆไหลสู่ลำธาร นำความชุ่มชื้นให้กับป่า และเป็นแหล่งน้ำให้สัตว์ทั้งหลายได้ใช้ในการดำรงชีวิต ดังนี้จะเห็นว่าเกิดการสมดุลกันมาเป็นเวลายาวนานมาก สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย (รวมทั้งมนุษย์) จึงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขตามสมควรมาเป็นระยะเวลานานแต่สังคมอดีตกาล

                นับแต่ยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เริ่มส่อเค้าว่าความสมดุลเริ่มเปลี่ยนไปมาก เพราะสัตว์สกุลหนึ่ง (เรียกขานกันว่ามนุษย์) เริ่มค้นพบวิธีที่จะทำการสะสมส่วนเกินจำเป็นในการดำรงชีวิตได้อย่างมากและรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลมาจากมันสมองที่ได้รับวิวัฒนาการจนถึงขั้นหนึ่งทำให้ค้นพบกรรมวิธีการผลิตแบบใหม่ ผนวกกับการค้นพบระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่มีรากฐานอยู่บนความต้องการในการบริโภคสิ่งต่างๆของมนุษย์ ที่นอกเหนือจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต รวมทั้งการสะสมส่วนเกินเพื่อ”ความมั่นคง”ของชีวิต ทั้งสองสิ่งนี้กลายเป็น “วัฒนธรรม” แบบใหม่ที่มนุษย์ใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำรงชีวิต อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรม “บริโภคนิยม” (consumerist culture)

 

ทั้งสามสิ่งนี้เกื้อหนุนกันอยู่อย่าง “ไม่สมดุล” ทั้งนี้เป็นเพราะมีการบริโภคและสะสมส่วนเกินที่ “เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต”  ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้ามาก ทำให้อัตราการตายของมนุษย์ลดน้อยลงมาก ทำให้จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เมื่อจำนวนคนมีมากกว่าเดิม และแต่ละคนบริโภคและสะสมมากกว่าเดิมในสังคมบุพกาล จึงนับเป็นการขาดการสมดุลเป็นอย่างยิ่ง

 

การไม่สมดุลนี้จะนำพามนุษย์ชาติไปสู่ความหายนะใหญ่หลวงประการใด ยังมิอาจประเมินได้ ณ จุดนี้ แต่ประเด็นนี้ไม่อาจรอให้เหตุเกิดเสียก่อนแล้วจึงค่อยคิดแก้ไข เหมือนดังเช่นในกรณีอื่นๆ เพราะหากถึงจุดนั้นแล้ว อาจหมายถึงความล่มสลายอย่างเฉียบพลันและรุนแรงจนไม่อาจฟื้นคืนสภาพได้อีกเลย (irreversible damage) อุปมาเช่น การสะสมทองเอาไว้ในบ้านมากขึ้นๆทุกวันโดยไม่ได้เอาออกไปทำประโยชน์อะไร สักวันหนึ่งบ้านก็จะพังครืนลงมาเพราะทนรับน้ำหนักทองที่สะสมไว้ไม่ได้

 

และหากเกิดการพังทลายครืนลงของระบบธรรมชาติที่ค้ำจุนเราอยู่ ก็ย่อมกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเรา และ ของคนทั้งโลกโดยถ้วนหน้า ดังนั้นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของเรา  คนไทย และของคนทั้งโลก คือต้องไม่บริโภค หรือสะสมจนเกินพอดี รวมทั้งต้องช่วยกันให้ความรู้แก่ผู้อื่นที่ยังไม่มีทัศนะทางด้านนี้ด้วย หากทุกคนถือว่าไม่ใช่หน้าที่ ต่างพากันละเลย วันนั้นย่อมมาถึงสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน

 

                เราจะต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ยั่งยืน ซึ่งเราทุกคนในฐานะเจ้าของโลกต้องช่วยกันคิด โดยอาจเริ่มต้นด้วยการถอยไปตั้งหลักใหม่เสียก่อนด้วยการ “ถอยหลังเข้าคลอง” หวนกลับไปพัฒนาวัฒนธรรมใหม่แบบเก่า เช่นวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน ไม่สะสมจนเกินพอดี หากใครเกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนก็มีระบบสงเคราะห์กลางที่คอยบรรเทาช่วยเหลือ

 

ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากผู้นำประเทศทั่วโลกในยุค”แข่งกันรวย” ที่วัดความภูมิใจของประเทศจากอันดับการแข่งขันที่ได้รับการจัดจากองค์กรต่างๆ ยามใดที่ลำดับการแข่งขันของประเทศตกจากลำดับ 42 เป็น 46 รัฐบาลก็จะเร่งทุ่มงบพัฒนาให้ได้ลำดับสูงขึ้น หากทุกประเทศใช้ระบบนี้หมดในการบริหารเศรษฐกิจและสังคม ก็นับได้ว่าเป็นระบบที่แข่งกันไปสู่ความหายนะ สักวันหนึ่ง คงไม่แคล้วว่าวันโลกาวินาศจะมาถึง

 

โจทย์ ให้ท่านคิดวิธีการในการชะลอ หรือ หยุด การแข่งขันไปสู่วันโลกาวินาศของประเทศทั้งหลายในโลกมาคนละ 3 วิธี อธิบายถึงเหตุผลด้วยว่าวิธีของท่านจะช่วยชะลอ หรือ หยุด การแข่งขันนี้ได้อย่างไร

  

                จากบทเรียนที่ชาวอามิชได้ทำเป็นตัวอย่างไว้ เราน่าจะได้สัมมนากันอย่างหนัก เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ชัดเจนว่า นิยามของความสุขที่จริงแท้ ที่เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการของปัจเจก ของสังคมประเทศ และของสังคมโลก ในลักษณะที่สอดคล้องกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปนั้น คืออะไรกันแน่

 

                เพื่อหาคำนิยามนี้ให้ได้ อาจจำเป็นที่จะต้องเริ่มด้วยการถามคำถามง่ายๆ(แต่ตอบยาก)เสียก่อนว่า “คนเราเกิดมาเพื่อจุดประสงค์ใด”  หากตอบคำถามนี้ได้ไม่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ก็คงจะเป็นการยากที่จะกำหนดจุดหมายและคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติร่วมกัน

 

                สมมติว่าเราได้สัมมนาร่วมกันจนได้ข้อสรุปที่ถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว (จะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์โดยปราศจากการลำเอียงเข้าข้างตนเองของปัจเจกชน ของสังคมประเทศ และ ของสังคมโลก)  จากนั้นเราก็คงต้องเลือกใช้เฉพาะเทคโนโลยีที่ไม่ลดทอนความสมดุลแห่งปัจจัยของความสุขนั้น  ซึ่งฟังดูเหมือนกับว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่หากคิดให้ดีจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะเกี่ยวพันกับบุคคลหกพันกว่าล้านคนในโลก ประเทศกว่าสองร้อยประเทศ ในจำนวนนี้เป็นประเทศมหาอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจประมาณ 10 ประเทศ ที่ได้พัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืนมากว่าหนึ่งร้อยปีจนร่ำรวยกันอย่างมหาศาล การที่จู่ๆจะไปบอกให้พวกเขาลดการร่ำรวยลงเพื่อให้ลูกหลานของชาวโลกได้มีหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย

 

                หากสังคมมนุษย์ยังไม่มีหรือยังไม่ยอมรับในปรัชญาคุณภาพชีวิตที่สมดุลกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกเสียก่อน คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการผลิตและสังคมบริโภคที่เชื่อกันว่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่นำความล่มสลาย (ไม่ยั่งยืน) มาสู่โลกของเราในที่สุด

 

                เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ความจนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี แต่อย่าลืมด้วยว่าคนจนมีอยู่สองประเภท คือประเภท”มีไม่พอ” กับ ประเภท “พอไม่มี” (คือไม่รู้จักพอ) คนจนประเภทหลังนี้น่าเป็นห่วงกว่าประเภทแรก เพราะแม้จะเป็นคนที่คนทั้งหลายจัดอันดับให้ว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศหรือในโลกแล้วก็ตาม ก็ยังไม่รู้จักพอ ยังสร้างสรรค์ความร่ำรวยให้ตนเองอีกต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งคนจนประเภทนี้เป็นพวกที่กุมระบบเศรษฐกิจฐานการผลิตและการบริการของสังคมโลกโดยรวม จึงเชื่อได้ว่าหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป การ “สร้างสรรค์” ของท่านเหล่านี้คงจะ “ทำลาย” สิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆมากมายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

 

วิธีการหยุดยั้งการ”สร้างสรรค์”วิธีหนึ่งที่เราทุกคนในฐานะพลโลกอาจช่วยกันได้คนละไม้คนละมือคือ..การลดทอนการบริโภคอันเกินพอดีของเราลงให้อยู่ในระดับสมดุลอันหนึ่ง…..

 

ขอให้ทุกท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป

 

…คนถางทาง (๒๕๔๗)


เทคโนโลยีนำความสุขมาให้ได้จริงหรือ

2 ความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 4 July 2011 เวลา 11:17 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2260

หัวข้อหนึ่งในบทที่ ๔ ในตำรา “การพัฒนาคุณภาพชีวิต”  บทนี้ผมเป็นผู้เขียน (เป็นวิดวะนอกคอกจนนักสังคมเขาเชิญให้ไปร่วมแจม)  ตัดมาบางหัวข้อย่อยพอให้มาอ่านกันเป็นกระสาย ..เขียนไว้เมื่อปี ๔๗ (เรื่อง “อามิช” นั้นเพิ่งทราบว่า เป็นหัวข้อย่อยหนึ่งของบทนี้นี่เอง) ……….

4.7 เทคโนโลยีนำความสุขมาให้ได้จริงหรือ

               

                เราทั้งหลายต่างพากันปลงใจเชื่อว่าเทคโนโลยีนำความสุข(และคุณภาพชีวิตที่ดี)มาให้มวลมนุษย์  แต่เราเคยฉุกคิดกันบ้างไหมว่าความสุข คืออะไร และ เรามีเวลาเหลือที่จะสร้างความสุขให้ชีวิตมากน้อยเพียงใดจากการเข้ามาของเทคโนโลยี

                คำถามที่ว่า “ความสุขคืออะไร” เป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะหากไม่สามารถให้คำนิยามนี้ได้อย่างปราศจากความกำกวมเสียก่อน ก็ป่วยการที่จะบอกว่า เทคโนโลยีนำความสุข(และคุณภาพชีวิตที่ดี)มาให้

 

คำถาม ขอให้นักศึกษาพยายามให้คำนิยามของ”ความสุข”ตามความนึกคิดของตนที่เคยมีมาแต่อดีต จากนั้นจินตนาการต่อไปว่าเทคโนโลยีต่างๆ สามารถสร้างความสุขดังกล่าวให้แก่ตัวเราได้อย่างไร

 

                หากลองสมมุติว่าเราสามารถให้คำนิยาม “ความสุข” ได้อย่างไม่กำกวมแล้วก็ตาม เช่นอาจนิยามว่า คือ การมีบ้านหรู รถหรู การไปท่องเที่ยวทัศนาจรในสถานที่ใฝ่ฝัน การกินอาหารอร่อยถูกปาก การฟังเพลงที่ชื่นชอบ การมีเสื้อผ้าอย่างดี การมีเกียรติในสังคม การมีเงินจับจ่ายใช้สอยอย่างเหลือเฟือ การมีสุขภาพดี การมีแฟนสวยหรือหล่อ การอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เราชื่นชอบ เหล่านี้เป็นต้นที่เราเรียกกันว่าความสุข ซึ่งก็คือคุณภาพชีวิตอันดีของเราด้วยโดยปริยาย แล้วหากถามว่า เราจะได้สิ่งเหล่านี้มาอย่างไร ก็คงต้องตอบว่า ต้องทำงานหนักจึงจะได้มา และในขณะทำงานนั้นส่วนใหญ่แล้วก็เครียดมาก ไม่ค่อยมีความสุขกันสักเท่าไร ยิ่งต้องทำงานในองค์กรที่ต้องทำกำไรด้วยแล้วก็จะยิ่งเครียดกันใหญ่ ตื่นแต่เช้าไปทำงาน รถติด ควันพิษ ทำงานเสร็จ กลับบ้าน รถติด ควันพิษ อีกรอบ ถึงบ้านมืด อาบน้ำอุ่นจากเครื่องทำน้ำอุ่น (เทคโนโลยี) ทำให้เกิดความสุขได้ระดับหนึ่ง กินข้าวร้อนๆ (หุงจากหม้อไฟฟ้าเทคโนโลยีสูง) ก็มีความสุขได้อีกระดับ นั่งดูโทรทัศน์ (เทคโนโลยี) หัวเราะได้สักเล็กน้อยเพราะ หม่ำ จ๊กมก เล่นตลกได้เฉียบคมถูกใจจริงๆ จากนั้นก็เข้านอน แล้วก็เข้าสู่รอบวันใหม่ วนเวียน ซ้ำอยู่ชั่วนาตาปี ปีละครั้งเราก็นัดเพื่อนๆไปทัศนาจรไกลๆ กัน (ด้วยรถยนต์ เทคโนโลยี ) ถ่ายรูปกันมาเป็นที่ระลึก (ด้วยกล้อง เทคโนโลยี) ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีก็อำนวยความสุขและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ดีพอสมควรทีเดียว

                แต่หากถามว่าเวลาที่ต้องเสียไปกับความเครียดเพื่อทำงานที่จะให้ได้เงินมาซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้คุ้มกันไหมกับความสุขที่ได้รับจากเทคโนโลยี ก็คงต้องถกกันหน่อย เพราะดูเหมือนว่าใช้เวลาไปมากเพื่อมาเสวยสุขเพียงแผล็บเดียวเท่านั้น เช่นในแต่ละวันใช้เวลาเดินทางและทำงานวันละ 12 ชม. เพื่อเสวยสุข 2 ชม. เท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องเป็นห่วงว่าเทคโนโลยีต่างๆเช่นรถยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆจะถูกขโมย ชำรุด เสียหาย ตกรุ่น ทำให้เกิดความเครียดมากขึ้นอีกมากโข และที่สำคัญที่ว่า “ความสุข” นั้นก็ยังจับไม่มั่นคั้นไม่ตายว่าเป็นความสุขแน่หรือ ถามว่าเมื่อเห็นเพื่อนบ้านระดับเดียวกันเขาซื้อของรุ่นใหม่มา ในขณะที่เรายังใช้รุ่นเก่าอยู่ (เช่น โทรศัพท์มือถือ) เราจะยังมีความสุขดีดังเดิมอยู่หรือไม่ ทั้งที่ก็ยังมีเทคโนโลยี(รุ่นเก่า)ใช้อยู่ในมือ ดูเหมือนว่าความสุขที่ว่านี้มันช่างรวนเรง่ายเสียเหลือเกิน เพียงแค่คนอื่นเปลี่ยนรุ่นโทรศัพท์มือถือก็อาจทำให้เราสูญเสีย “ความสุข”  ไปเสียแล้ว ไม่ต้องพูดถึงรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ กางเกงยีนส์ รุ่นใหม่ก็ยังได้

                ลองจินตนาการว่าเราเป็นชาวนาอยู่ตามบ้านนอก สร้างบ้านอยู่กลางนา มีควายสองตัวสำหรับไถนา ตื่นแต่เช้าเหมือนคนกรุงออกไปทำนา ช้าหน่อย แต่ควายไม่ติด ทำให้ไม่หงุดหงิด และไม่มีมลพิษ (ยกเว้นควายผายลมออกมาพอดี) ขี่ควายไปก็ผิวปากไปด้วย อากาศยามเช้าสดชื่นแสนสบาย นกและจิ้งหรีดส่งเสียงร้องไพเราะอยู่ข้างหู เมื่อถึงนาก็ไถนากันไป ไม่ต้องรีบร้อนมาก เหนื่อยนักก็หยุดพักยังได้ ไม่ต้องมีหัวหน้างานมาคอยเดินกำกับ หรือมีเอกสารกองโตตั้งไว้ข้างหน้า ที่ต้องรีบเคลียร์ออกก่อนสิบโมงเช้า (ไม่งั้นออกของให้ลูกค้าไม่ทัน จะเสียเปรียบคู่แข่ง) ตกกลางวันก็ล้อมวงกินข้าวกันกับเพื่อนไถนาแปลงใกล้เคียง ตกเย็นผิวปากกลับบ้าน แสงอาทิตย์สีทองจับขอบฟ้าสวยงามตา อาบน้ำท่ากินข้าวปลากลางนอกชาน ลมพัดเย็น โพล้เพล้หัวค่ำก็นั่งสนทนา หรือ ร้องรำทำเพลงกัน จากนั้นเข้านอน  หากไม่คิดอะไรมาก หรือ ไม่คิดเปรียบเทียบกับคนกรุง ก็คงจะมีความสุขดี อาจนับเป็นความสุขมากกว่าคนทำงานกินเงินเดือนในเมืองกรุงด้วยซ้ำไป หรือหากคิดเปรียบเทียบอย่างชาญฉลาดก็ยิ่งอาจทำให้มีความสุขมากกว่าเดิมเสียอีก คือคิดเปรียบเทียบว่า เออ..เราไม่ต้องทุกข์ทรมานเหมือนคนกรุงนะ

                ดังนี้จะเห็นว่าแม้ไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยมากนัก ก็สามารถมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หากมีแนวคิดที่ถูกต้องเป็นเครื่องนำทาง แนวคิดที่ถูกต้อง (หรือสัมมาทิฐิ) จึงนับว่าสำคัญที่สุดไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม แต่หากมีแนวคิดที่ผิด(มิจฉาทิฐิ)เสียแล้ว แม้นอนอยู่บนกองเงินกองทองก็มีความทุกข์มหันต์ได้ ดังมีนิยายเล่าว่า ขอทานคนหนึ่งนั่งขอทานอยู่หน้าบ้านเศรษฐี แกนั่งขอทานไปก็ผิวปากอย่างมีความสุขไปทั้งวัน อยู่มาวันหนึ่งเศรษฐีเกิดความเมตตาเลยควักกระเป๋าให้เงินไปห้าพันบาท ทำให้ขอทานดีใจมาก แต่ในวันรุ่งขึ้นเศรษฐีเห็นขอทานนั่งซึมไม่ยอมผิวปากเหมือนเดิม ทำให้เศรษฐีนึกสงสัยอยู่ในใจ เพราะเห็นผิวปากได้ทั้งปี พอได้เงินมากน่าจะดีใจกว่านั้นแต่กลับไม่ผิวปาก วันรุ่งขึ้นเศรษฐีก็พบว่าขอทานมาขอเข้าพบ พร้อมกับเอาเงินฟ่อนโตมาคืน โดยบอกว่าผมไม่ขอเก็บไว้หรอกครับ เพราะผมมีความทุกข์มาก กลัวเงินมันจะหายไป เมื่อก่อนบ้านผมไม่มีอะไรไม่ต้องพะวงว่าอะไรจะหาย ตั้งแต่ได้เงินก้อนนี้มาเก็บไว้เกิดความทุกข์มาก เพราะกลัวหาย กลัวโขมย กลัวไฟไหม้ เลยขอนำมาคืนเจ้าของเดิม นิทานนี้สอนให้รู้ว่า มีมากเกินไปก็ทุกข์ได้เหมือนกัน เช่น คนที่รวยที่สุดในโลกก็มีความทุกข์มาก เพราะอย่างน้อยก็คงกลัวคนรวยที่สองในโลกแซงหน้าขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ก็เลยเครียดทำงานหนักมากที่สุดเพื่อคงความเป็นหนึ่งไว้ให้ได้ตลอดการ (ไม่เชื่อลองไปถามท่านบิล เกต ดู และนี่คือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมคนที่รวยมากๆแล้วจึงไม่รู้จักพอเสียที)

                หวนกลับมาเรื่องคำนิยามของความสุข ผู้เขียนได้วิเคราะห์ไว้ว่า ความสุขมีด้วยกันสามประเภทคือ สุขกาย สุขใจ(อารมณ์)  และสุขจิต(วิญญาณ) ซึ่งความสุขกายนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึงการมีพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคเบียดเบียนทั้งปวง รวมตลอดไปจนถึงการไม่ต้องทำงานหนักเพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น อาบน้ำ หุงข้าว ทำความสะอาดบ้าน เดินทาง ทั้งนี้เพราะอาศัยเทคโนโลยีช่วยผ่อนแรงนั่นเอง สังเกตได้ว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่มาอำนวยความ”สุขกาย”ในส่วนนี้เป็นอันดับแรก  ส่วนความสุขใจนั้นเกิดได้หลายทาง เช่น การได้อยู่ในแวดวงของคนที่รักที่รู้ใจกัน เช่น คนรัก เพื่อนสนิท พ่อแม่พี่น้อง เครือญาติที่รักสามัคคีกัน เป็นต้น  หรือ การได้อ่านหนังสือดีๆ การได้ฟังเพลง ดูรายการโทรทัศน์ที่ชื่นชอบ การได้รับเกียรติคุณต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีก็มีส่วนทำให้เราได้สุขใจมากขึ้นกว่าอดีต เช่น เครื่องอำนวยความสุขต่างๆ โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องเล่นวีดิทัศน์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าความสุขในสองประการแรกนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นความสุขอันเนื่องมากจาก “การยึดติด”  เช่นความสุขทางกายอันเนื่องจากการดื่มกินนั้น แต่ละคนมีรสนิยมไม่เหมือนกัน บางคนชอบเผ็ดแต่บางคนชอบจืด บางคนชอบขมแต่บางคนชอบหวาน บางคนชอบเบียร์แต่บางคนชอบเหล้า บางคนชอบบุหรี่แต่บางคนชอบกันชา  บางคนชอบยาบี(บ้า)แต่บางคนชอบยาอี เป็นต้น ที่แต่ละคนมีนิยามของ”ความสุขกาย”แตกต่างกันนี้เป็นเพราะยึดติดกันคนละแนวใครยึดติดอะไรก็ว่าอันนั้นคือความสุข ส่วนความสุขด้านอารมณ์ก็มีลักษณะเดียวกัน หานิยามที่แน่นอนตายตัวอันใดไม่ได้ เช่น บางคนชอบเพลงเบาๆแต่บางคนชอบหนักๆ บางคนชอบอ่านปรัชญาล้ำลึกแต่บางคนชอบอ่านเรื่องบู๊ล้างผลาญ บางคนชอบลูกกรุงแต่บางคนชอบลูกทุ่ง บางคนชอบแต่งกายสีฉูดฉาดแต่บางคนชอบสีขรึมๆ เป็นต้น ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับว่าใครยึดติดกับรูปแบบใดก็จะทำให้ตนรู้สึกเป็นสุขใจ(อารมณ์) เมื่อได้เสพวัตถุทางอารมณ์ที่ตนยึดติด

                ส่วนความสุขประเภทที่สามนั้นคือความสุขทางจิตหรือวิญญาณนั้น ก็มีอยู่หลายหลักการ เช่นหลักการของศาสนาที่อิงพระเจ้า เช่น คริสต์  อิสลาม ฮินดู และ จูดา(ยิว) และหลักการของศาสนาที่ไม่อิงพระเจ้าเช่น พุทธ และ เต๋า เป็นต้น ในศาสนาที่มีพระเจ้านั้นส่วนใหญ่มีหลักการร่วมกันว่าความสุขคือการได้มีชีวิตนิรันดร์โดยอยู่ร่วมกับพระเจ้าในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ทั้งในเชิงรูปธรรมและหรือนามธรรม ทั้งในปัจจุบันและหรืออนาคต(ในปรโลก)  ส่วนศาสนาที่ไม่อิงพระเจ้านั้นมีหลักการของความสุขทางวิญญาณคือการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม และหวังผลในเวลาปัจจุบันเป็นสำคัญ อาจตีความได้ว่า แม้ในศาสนาที่อิงพระเจ้าก็มีนัยของการไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่มาก เพราะมีความเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งปวง(รวมทั้งวิญญาณ)เป็นของที่พระเจ้าประทานให้มา เป็นสมบัติของพระเจ้าทั้งนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นและทึกทักว่าเป็นตัวเราและหรือของเรา

                โดยหลักการทางจิตวิญญาณนั้น เมื่อไม่ยึดมั่นในสิ่งใดๆเหมือนกัน นิยามของความสุขทางวิญญาณจึงน่าจะเหมือนกัน คือเป็นความปล่อยวางอย่างใดอย่างหนึ่งในระดับใดระดับหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักการของศาสนานั้นๆ และหากเป็นการปล่อยวาง(ไม่ยึดติด)อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้วไซร้ก็คงจินตนาการได้ว่านิยามของความสุขต้องเหมือนกันทุกคนด้วย กล่าวคือ เป็นความสุขที่มีความชัดเจนแน่นอน ไม่รวนเรไปตามความยึดมั่นถือมั่นหรือตามรสนิยมของปัจเจกชน เมื่อเป็นดังนี้จึงน่าจะอนุมานได้ว่าความสุขชนิดนี้เป็นความสุขที่ดีที่สุด และน่าแสวงหาที่สุด  เพราะมีความชัดเจนที่สุด มั่นคงที่สุด และรวนเรน้อยที่สุด

                สำหรับตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นการปล่อยวางอย่างสมบูรณ์ถือเป็นการเข้าถึง”นิพพาน” ซึ่งนิยามกันด้วยภาษาของชาวโลกว่า เป็น”บรมสุข” ดังคำบาลีที่ออกเสียงว่า นิพพานัง ปรมัง สุขขัง (นิพพานคือยอดแห่งความสุข) แต่ผู้น่าเชื่อถือบางท่าน (เช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ) ได้เคยกล่าวว่า นั่นเป็นเพียงภาษาพูดของมนุษย์เพื่อให้ดูน่าสนใจใฝ่หา แต่ความจริงแล้ว นิพพานอยู่เหนือความสุขขึ้นไปอีก เพราะการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นหมายรวมถึงว่าไม่ยึดมั่นอยู่ใน(รสแห่ง)นิพพานด้วย

                สังคมไทยและสังคมโลกโดยรวมควรจะต้องสัมมนากันให้มากว่า ความสุข และ คุณภาพชีวิตที่แท้จริง มีความหมายอย่างไรกันแน่ และมีองค์ประกอบใดแน่ หากยังไม่ถูกต้องเต็มที่และชัดเจนเต็มที่ การเดินทางไปตามเส้นทางเก่าๆเพื่อแสวงหาแคุณภาพชีวิตของมนุษย์ตามที่เชื่อกันหรือถูกทำให้เชื่อกันในปัจจุบันนี้นั้นอาจกลายเป็นเส้นทางที่นำพาสังคมไทยและมวลมนุษย์ทั้งผองในโลกไปสู่วันโลกาวินาศก็เป็นได้ และเมื่อนั้นน้องนุ่งลูกหลานของเรา หรือ แม้แต่ตัวเราเองในชั่วชีวิตนี่ก็อาจจะไม่เหลือแม้แต่ชีวิต มิใยจะต้องเอ่ยถึงคุณภาพชีวิต



Main: 0.29244589805603 sec
Sidebar: 0.01252007484436 sec