เศรษฐกิจและเทคโนโลยีพอเพียง : กรณีศึกษาชาวอามิช
อ่าน: 1645เศรษฐกิจและเทคโนโลยีพอเพียง : กรณีศึกษาชาวอามิช (Amish people)
หมายเหตุ: ผู้เขียนเคยอาศัยอยู่ที่มลรัฐโอไฮโอ usa เป็นเวลา ๕ ปี ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชุมชนชาวอามิชหลายต่อหลายครั้ง รู้สึกประทับใจกับวิถีชีวิตของพวกเขามาก จึงได้เขียนบทความนี้ไว้เป็นที่อนุสรณ์ ..เขียนเมื่อปีพศ. ๒๕๔๗
วิถีการดำรงชีวิตของชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “อามิช” (Amish) ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2 แสนคน เป็นวิถีชีวิตที่น่าศึกษาและน่าสนใจมาก เพราะกลุ่มชนนี้ไม่ยอมรับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังคงดำเนินชีวิตแบบในยุโรปสมัยก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม คือเดินทางโดยรถม้า ทำไร่ไถนาโดยใช้แรงงานสัตว์ทั้งสิ้น พวกเขาให้เหตุผลโดยหลักการว่าหากใช้เทคโนโลยีมากจะทำให้ “คุณภาพชีวิต” ของพวกเขาตกต่ำลง
จะเห็นได้ว่าคำว่า “คุณภาพชีวิต” ที่เราคิดว่ารู้จักกันดีนั้น มีคำนิยามที่ไม่เป็นสากล เพราะขึ้นอยู่กับการตีความของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วย ชาวอามิชเห็นว่าคุณภาพชีวิตของพวกเขาคือการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สงบเสงี่ยม ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ทำการเกษตรแบบพอมีพอกิน และดำเนินชีวิตตามประสงค์ของพระเจ้าเพื่อชีวิตนิรันดร์ในปรโลก พวกเขาได้ดำรงชีวิตอย่างนี้มาเป็นเวลาประมาณ 500 ปีแล้ว กฎสังคมโดยทั่วไปของชาวอามิชมีดังนี้
- - ไม่ใช้กระแสไฟฟ้า (ใช้ตะเกียง)
- - ไม่ใช้รถยนต์ รถแทรคเตอร์ เครื่องยนต์กลไกทั้งหลาย (ใช้รถม้าและแรงงานสัตว์)
- - แต่งกายมิดชิด สีเข้ม เรียบง่าย เป็นเครื่องแบบเหมือนกันทุกคน
- - ไม่ใช้โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ เครื่องอำนวยความสะดวกที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย
เหตุผลหลักที่ห้ามใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะเขาเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ หากใช้มากเท่าใดก็จะทำให้ทำให้เกิดความเสื่อมทั้งต่อตนเองและต่อสังคมดังนี้
- - ทำให้เกิดความโอ้อวดและความหยิ่งผยอง
- - ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม
- - ทำให้สนใจครอบครัวและสังคมน้อยลง (สนใจเทคโนโลยีแทน)
- - ทำให้จิตใจหยาบกระด้างและโน้มเอียงไปทางรุนแรง (ชาวอามิชเป็นพวกอหิงสาอย่างยิ่ง)
- - ทำให้ห่างเหินจากพระเจ้ามากขึ้น (ชาวอามิชเป็นสาขาหนึ่งของศาสนาคริสต์)
ทั้งนี้เพราะชาวอามิชถือว่าคุณภาพชีวิตของเขาคือ การอยู่ใกล้ชิดกับสมาชิกครอบครัวและสังคมเพื่อนบ้าน หากใช้เทคโนโลยีมากเกินจำเป็นก็จะทำให้ห่างเหินกันมากเกินจำเป็นด้วย เช่น อาจดูโทรทัศน์อยู่คนเดียวโดยไม่ติดต่อกับใคร หรือคุยโทรศัพท์นินทาว่าร้ายคนอื่นได้ง่ายเป็นเวลานาน นำความเสื่อมถอยมาสู่สังคมได้ นอกจากนี้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะ พอมีพอกิน ประหยัด สุภาพ เรียบง่าย รักสงบ ตามแนวทางของพระเยซูไครสต์เพื่อเป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้าและชีวิตนิรันดร์ในที่สุด
แต่จริงๆ แล้วชาวอามิชไม่ได้ปฎิเสธเทคโนโลยีโดยสิ้นเชิงพวกเขาจะประชุมเพื่อตกลงร่วมกันว่าเทคโนโลยีใดจำเป็นก็จะรับไว้และรับในปริมาณที่เหมาะสมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น พวกเขายอมรับให้เก็บนมวัวในถังแสตนเลสที่มีเครื่องกวนไฟฟ้าได้ เพราะมีความจำเป็นที่ต้องทำตามกฎกระทรวงเกษตรเพื่อที่จะได้รับการรับรองว่าสะอาดพอที่จะขายในท้องตลาดได้ การใช้โทรศัพท์ในกรณีจำเป็นเช่น เรียกหมอ ก็ทำได้ การใช้รถยนต์เพื่อไปโรงพยาบาลแบบฉุกเฉินก็กระทำได้
วิธีการและระดับของการยอมรับเทคโนโลยีของชาวอามิชนับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ก่อนอื่นสังคมของเขามีวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างเป็นระบบว่าคุณภาพชีวิตคืออะไร ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายและแม้กระทั่งหลังจากตายแล้ว จากนั้นเขาจะประชุมร่วมกันว่าจะยอมรับเทคโนโลยีใดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีนั้นจะมาช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หรือมาบั่นทอนให้ลดลง ในขณะที่สังคมของประเทศไทยเปิดกว้างยอมรับเทคโนโลยีทุกอย่างโดยไม่ค่อยได้วิพากษ์ไตร่ตรองและประชุมหารือกันเลย ส่วนใหญ่ก็มักอ้างกันแต่เพียงว่าหากไม่ยอมรับก็จะทำให้ตามโลกเขาไม่ทัน แต่ไม่แน่ใจนักว่าตามไปที่ไหนและมีจุดหมายอยู่ที่ใด ส่วนชาวอามิชมีจุดหมายชีวิตที่ชัดเจนว่าต้องการไปอยู่กับพระเจ้า
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ คุณภาพชีวิตของชาวอามิชนั้น หมายรวมถึงความสุขสามประเภท คือความสุขทางกาย ความสุขทางอารมณ์(พวกอามิชก็ร้องรำทำเพลงด้วย) และความสุขทางจิตวิญญาณ ในความเห็นของผู้เขียนนับได้ว่าเป็นนิยามที่มีความสมดุลกว่านิยามของคนทั้งหลายในโลก ซึ่งมักเอากันแค่ความสุขทางกายหรืออย่างมากก็เพิ่มทางอารมณ์ด้วยเท่านั้น
หมายเหตุ ความเชื่อด้านศาสนาของชาวอามิชแยกตัวออกมาจากกระแสหลักของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกและโปรแตสแตนเมื่อประมาณ คศ. 1500 ทำให้ถูกพวกกระแสหลักเข่นฆ่าอย่างทารุณเป็นจำนวนมาก จนต้องอพยพหนีไปอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งก็ยังถูกตามรังแก จึงต้องอพยพไปอยู่อเมริกาในราวปี คศ. 1850 ปัจจุบันส่วนใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในตอนกลางด้านเหนือของอเมริกา ในรัฐโอไฮโอ เพนซิลเวเนีย และอินเดียนา เป็นต้น แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมมากในแต่ละปี แต่ชาวอามิชก็ยังคงวิถีชีวิตแบบพอเพียงได้อย่างคงเส้นคงวาตลอดมา
ตัวผู้เขียนเองเมื่อปีคศ. 1995 เคยร้องขอและได้รับอนุญาตให้ไปพำนักกับครอบครัวอามิช ๑ เดือนก่อนเดินทางกลับประเทศไทย แต่ติดภารกิจวุ่นวายเสียก่อน เลยไม่ได้ไป ยังเสียดายโอกาสอยุ่จนวันนี้
…คนถางทาง (๒๕๔๗)