เศรษฐกิจและเทคโนโลยีพอเพียง : กรณีศึกษาชาวอามิช

โดย withwit เมื่อ 4 July 2011 เวลา 10:35 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1654

เศรษฐกิจและเทคโนโลยีพอเพียง : กรณีศึกษาชาวอามิช (Amish people)

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนเคยอาศัยอยู่ที่มลรัฐโอไฮโอ usa เป็นเวลา ๕ ปี ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชุมชนชาวอามิชหลายต่อหลายครั้ง รู้สึกประทับใจกับวิถีชีวิตของพวกเขามาก จึงได้เขียนบทความนี้ไว้เป็นที่อนุสรณ์ ..เขียนเมื่อปีพศ. ๒๕๔๗

               

วิถีการดำรงชีวิตของชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “อามิช” (Amish) ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2 แสนคน เป็นวิถีชีวิตที่น่าศึกษาและน่าสนใจมาก เพราะกลุ่มชนนี้ไม่ยอมรับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังคงดำเนินชีวิตแบบในยุโรปสมัยก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม คือเดินทางโดยรถม้า ทำไร่ไถนาโดยใช้แรงงานสัตว์ทั้งสิ้น พวกเขาให้เหตุผลโดยหลักการว่าหากใช้เทคโนโลยีมากจะทำให้ “คุณภาพชีวิต” ของพวกเขาตกต่ำลง          

จะเห็นได้ว่าคำว่า “คุณภาพชีวิต” ที่เราคิดว่ารู้จักกันดีนั้น มีคำนิยามที่ไม่เป็นสากล เพราะขึ้นอยู่กับการตีความของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วย ชาวอามิชเห็นว่าคุณภาพชีวิตของพวกเขาคือการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สงบเสงี่ยม ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ทำการเกษตรแบบพอมีพอกิน และดำเนินชีวิตตามประสงค์ของพระเจ้าเพื่อชีวิตนิรันดร์ในปรโลก พวกเขาได้ดำรงชีวิตอย่างนี้มาเป็นเวลาประมาณ 500 ปีแล้ว กฎสังคมโดยทั่วไปของชาวอามิชมีดังนี้

  • - ไม่ใช้กระแสไฟฟ้า (ใช้ตะเกียง)
  • - ไม่ใช้รถยนต์ รถแทรคเตอร์ เครื่องยนต์กลไกทั้งหลาย (ใช้รถม้าและแรงงานสัตว์)
  • - แต่งกายมิดชิด สีเข้ม เรียบง่าย เป็นเครื่องแบบเหมือนกันทุกคน
  • - ไม่ใช้โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ เครื่องอำนวยความสะดวกที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย

 

เหตุผลหลักที่ห้ามใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะเขาเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ  หากใช้มากเท่าใดก็จะทำให้ทำให้เกิดความเสื่อมทั้งต่อตนเองและต่อสังคมดังนี้

  • - ทำให้เกิดความโอ้อวดและความหยิ่งผยอง
  • - ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม
  • - ทำให้สนใจครอบครัวและสังคมน้อยลง (สนใจเทคโนโลยีแทน)
  • - ทำให้จิตใจหยาบกระด้างและโน้มเอียงไปทางรุนแรง (ชาวอามิชเป็นพวกอหิงสาอย่างยิ่ง)
  • - ทำให้ห่างเหินจากพระเจ้ามากขึ้น (ชาวอามิชเป็นสาขาหนึ่งของศาสนาคริสต์)

 

ทั้งนี้เพราะชาวอามิชถือว่าคุณภาพชีวิตของเขาคือ การอยู่ใกล้ชิดกับสมาชิกครอบครัวและสังคมเพื่อนบ้าน หากใช้เทคโนโลยีมากเกินจำเป็นก็จะทำให้ห่างเหินกันมากเกินจำเป็นด้วย เช่น อาจดูโทรทัศน์อยู่คนเดียวโดยไม่ติดต่อกับใคร หรือคุยโทรศัพท์นินทาว่าร้ายคนอื่นได้ง่ายเป็นเวลานาน นำความเสื่อมถอยมาสู่สังคมได้ นอกจากนี้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะ พอมีพอกิน ประหยัด สุภาพ เรียบง่าย รักสงบ ตามแนวทางของพระเยซูไครสต์เพื่อเป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้าและชีวิตนิรันดร์ในที่สุด

แต่จริงๆ แล้วชาวอามิชไม่ได้ปฎิเสธเทคโนโลยีโดยสิ้นเชิงพวกเขาจะประชุมเพื่อตกลงร่วมกันว่าเทคโนโลยีใดจำเป็นก็จะรับไว้และรับในปริมาณที่เหมาะสมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น พวกเขายอมรับให้เก็บนมวัวในถังแสตนเลสที่มีเครื่องกวนไฟฟ้าได้ เพราะมีความจำเป็นที่ต้องทำตามกฎกระทรวงเกษตรเพื่อที่จะได้รับการรับรองว่าสะอาดพอที่จะขายในท้องตลาดได้ การใช้โทรศัพท์ในกรณีจำเป็นเช่น เรียกหมอ ก็ทำได้ การใช้รถยนต์เพื่อไปโรงพยาบาลแบบฉุกเฉินก็กระทำได้

วิธีการและระดับของการยอมรับเทคโนโลยีของชาวอามิชนับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ก่อนอื่นสังคมของเขามีวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างเป็นระบบว่าคุณภาพชีวิตคืออะไร ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายและแม้กระทั่งหลังจากตายแล้ว จากนั้นเขาจะประชุมร่วมกันว่าจะยอมรับเทคโนโลยีใดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีนั้นจะมาช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หรือมาบั่นทอนให้ลดลง  ในขณะที่สังคมของประเทศไทยเปิดกว้างยอมรับเทคโนโลยีทุกอย่างโดยไม่ค่อยได้วิพากษ์ไตร่ตรองและประชุมหารือกันเลย ส่วนใหญ่ก็มักอ้างกันแต่เพียงว่าหากไม่ยอมรับก็จะทำให้ตามโลกเขาไม่ทัน แต่ไม่แน่ใจนักว่าตามไปที่ไหนและมีจุดหมายอยู่ที่ใด  ส่วนชาวอามิชมีจุดหมายชีวิตที่ชัดเจนว่าต้องการไปอยู่กับพระเจ้า

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ คุณภาพชีวิตของชาวอามิชนั้น หมายรวมถึงความสุขสามประเภท คือความสุขทางกาย ความสุขทางอารมณ์(พวกอามิชก็ร้องรำทำเพลงด้วย) และความสุขทางจิตวิญญาณ  ในความเห็นของผู้เขียนนับได้ว่าเป็นนิยามที่มีความสมดุลกว่านิยามของคนทั้งหลายในโลก ซึ่งมักเอากันแค่ความสุขทางกายหรืออย่างมากก็เพิ่มทางอารมณ์ด้วยเท่านั้น

  

หมายเหตุ ความเชื่อด้านศาสนาของชาวอามิชแยกตัวออกมาจากกระแสหลักของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกและโปรแตสแตนเมื่อประมาณ คศ. 1500 ทำให้ถูกพวกกระแสหลักเข่นฆ่าอย่างทารุณเป็นจำนวนมาก จนต้องอพยพหนีไปอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งก็ยังถูกตามรังแก จึงต้องอพยพไปอยู่อเมริกาในราวปี คศ. 1850 ปัจจุบันส่วนใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในตอนกลางด้านเหนือของอเมริกา ในรัฐโอไฮโอ เพนซิลเวเนีย และอินเดียนา เป็นต้น แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมมากในแต่ละปี แต่ชาวอามิชก็ยังคงวิถีชีวิตแบบพอเพียงได้อย่างคงเส้นคงวาตลอดมา

 

ตัวผู้เขียนเองเมื่อปีคศ. 1995 เคยร้องขอและได้รับอนุญาตให้ไปพำนักกับครอบครัวอามิช ๑ เดือนก่อนเดินทางกลับประเทศไทย แต่ติดภารกิจวุ่นวายเสียก่อน เลยไม่ได้ไป ยังเสียดายโอกาสอยุ่จนวันนี้

 

…คนถางทาง (๒๕๔๗)

« « Prev : พรวันเกิด…แหบปี่เบิดเด่ตู๊ยู

Next : เทคโนโลยีนำความสุขมาให้ได้จริงหรือ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เศรษฐกิจและเทคโนโลยีพอเพียง : กรณีศึกษาชาวอามิช"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.051659822463989 sec
Sidebar: 0.0087862014770508 sec