เวลาผมวิจารณ์ใครหรืออะไร ผมไม่วิจารณ์ (และหรือด่า) เปล่าๆ แบบเอามันปาก แต่ผมจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาเท่าที่ผมคิดได้ไว้ด้วยเสมอ เรื่องแก้น้ำท่วมนั้น ผมได้วิจารณ์นโยบายรัฐบาลปู ๒ ไปแล้วในยกที่ ๑ ..ตอนนี้มาว่ากันต่อในยกที่ ๒
การปลูกป่าเพื่อดูดซับน้ำตามนโยบายนั้นเป็นสิ่งดี (ว่าไปแล้วนโยบายนี้ผมนำเสนอไว้แต่ปี ๒๕๔๓) แต่การปลูกในภาคเหนือนั้น ผมได้ชี้ไปในตอนที่ ๑ แล้วว่า จะมีประสิทธิผลต่ำกว่าปลูกในภาคกลาง แต่แม้ต่ำก็ต้องปลูกนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่ปลูก อย่างน้อยมันก็ทำให้จำเริญสายตา ว่าเมืองเราเขียวชอุ่มดีจริง (ช่วยดึงดูด(หลอก)นักท่องเที่ยวฝรั่ง และไทยด้วย อิอิ)
ภูเขาทางภาคเหนือนั้นผมคะเนว่า หน้าดินตื้นมาก ไม่เกิน ๑ เมตร เช่นที่ป่าน้ำหนาวเขาค้อเพชรบูรณ์ที่ป่าหายไปหมดแล้วก็มีลักษณะเช่นนั้น ซึ่งหน้าดินที่ตื้นๆนี้มันดูดซับน้ำอะไรไม่ได้มากหรอกครับ
ส่วนทางภาคกลางนอกจากมีพื้นที่รับน้ำฝนมากกว่าภาคเหนือแล้ว ยังมีหน้าดินลึกมาก อีกทั้งน้ำก็ไหลช้าเพราะความลาดชันต่ำ ทำให้น้ำมีเวลาในการซึมลงใต้ดินมากกว่าทางภาคเหนือ การปลูกป่าควรเน้นที่ภาคกลางให้มาก ส่วนภาคเหนือและอีสานนั้นก็ควรปลูกนะครับ แต่ปลูกด้วยวัตถุประสงค์คนละอย่าง (ถือโอกาสหลอกชาวบ้าน ตีกินซะเลยก็ได้ เป็นกุศโลบายในการบริหารประเทศ)
การปลูกป่าให้ดีต้องสลับกับการทำนาครับ..ผมได้เคยเสนอไปแล้วหลาย คงไม่มีใครอ่าน (ตามเคย)
เช่นในหนึ่งหมู่บ้านให้ปลูกป่าพันไร่ (ป่าหมู่บ้าน) ทำนาพันไร่ สลับกันไปเช่นนี้ โดยต้องสำรวจภูมิประเทศตามหลักวิชาการ (โดยเฉพาะด้านความลาดชัน) …ป่า(หรือสวน) ดังกล่าวจะปลูกด้านที่มีความลาดชันสูง ปลูกเป็นแนวขวางตั้งฉากกับทางน้ำไหลแบบสลับฟันปลา (คิดให้ละเอียดขนาดนี้เลยนะ) มันจะได้ดูดซับน้ำได้ดี …ถัดไป ในบริเวณที่ลาดต่ำ ก็เป็นแนวของนา ไร่
สุดแนวของนาไร่ ที่ด้านต่ำที่สุดของหมู่บ้าน ให้ขุดคลองขวางแนวน้ำไหล แล้วเอาดินที่ขุดได้ไปถมเป็นแนวดินขวางน้ำไว้ (กลายเป็นถนนหมู่บ้านด้วยโดยปริยาย) ควรมีการขุดสระด้วย เพื่อเป็นแก้มลิงจิ๋ว (การขุดให้ขุดในบริเวณที่มีความต่ำที่สุด ขุดแล้วเอาดินมาทำเป็นคันล้อม(บาราย) โดยอาจต้องมีเครื่องสูบน้ำด้วย (อาจใช้กังหันลม) จากนั้นให้สร้างประตูน้ำที่ปากคลองเพื่อระบายน้ำเหลือใช้ออกสู่คลองใหญ่ ที่อาจต้องขุดขึ้นมา หรือใช้คลองธรรมชาติในกรณีที่มีอยู่แล้ว (ดูให้ดี ส่วนใหญ่หมู่บ้านจะมีลำธารธรรมชาติไหลผ่านอยู่แล้วเป็นสวนใหญ่)
เพียงแค่นี้เราก็จะได้ระบบป้องกันน้ำท่วมแบบจิ๋วทั่วประเทศ 80,000 แห่ง ที่เชื่อมโยงกันไปหมด อีกทั้งเราจะได้ 1) ป่า 2) ผลพลอยได้จากป่าแบบยั่งยืน เช่น เนื้อไม้ (ถ้าตัดแบบสาง เอาไปทำเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงขายทั่วโลก) เห็ด กล้วยไม้ น้ำผึ้ง ปศุสัตว์ (ใต้ร่มไม้) ปุ๋ย ลดโลกร้อน ฯลฯ ที่สำคัญคือ carbon credit จากโลกที่รวยกว่าเรา 3) ระบบชลประทานหมู่บ้าน ทำให้ทำนาได้ปีละสองครั้ง ทั้งที่พื้นที่ทำนาลดลง แต่จะได้ผลผลิตมากขึ้น 4) การประมง จากสัตว์ในคลองและแก้มลิงจิ๋ว 5)การท่องเที่ยว ..จะมีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มาชมป่าชุมชน (อาจกันพท. 1 ไร่ เพื่อการพักแคมพ์ปิ้ง) 6) ฯลฯ (ไม่อยากบอกหมด เดี๋ยวหมดสนุก อิอิ)
นี่เป็นระบบน้ำแบบบูรณาการ ที่คิดแบบเชื่อมโยง กันไปหมด ไม่แยกเป็นส่วนๆ แบบภาคเหนือ ภาคกลาง กทม.และปริมณฑล แบบของรัฐบาล
การบริหารน้ำแบบนี้ยังใช้ได้ กับทุกภาค คือ อีสาน และ ใต้ ที่น้ำก็ท่วมบ่อยๆนะจ๊ะ โดยเฉพาะอีสานนั้น จะช่วยบรรเทาภัยแล้งไปด้วยในตัว
จริงๆ แล้วผมได้เสนอไปนานแล้ว (และหลายครั้งแล้ว) ว่า ไทยเราควรลดพื้นที่ทำนาลงมาให้เหลือเพียง พอกินในประเทศ ที่เหลือ เอามาปลูกป่าเศรษฐกิจแบบยั่งยืนดีกว่า ถ้าทำแบบผมคิด จะทำให้มีรายได้ปีละ 1 ล้านบาทจากพื้นที่ 1 ไร่ ในขณะที่ทำนาได้ 2-5พัน บาทต่อไร่เท่านั้นเอง
ถ้าเอาข้อมูลนี้ไปเสนอให้ชาวบ้านเห็น ชาวบ้านก็ย่อมยอม เพราะจะทำให้พวกเขารวยขึ้นกว่าเดิม 20 เท่าสบายๆ โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดินแต่ประการใดให้เปลืองเงิน
แบบนี้เขาเรียกว่า (ชาย) โย โย โย (หรือ วิน วิน วิน) ด้วยกันทุกฝ่าย คือ ชาวบ้าน รัฐบาล และสังคม
…ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕)