ปลูกป่าแก้น้ำท่วม..วิจารณ์นโยบายรัฐบาล๑

ไม่มีความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 18 February 2012 เวลา 8:56 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1276

วันนี้  (๑๖ กพ. ๒๕๕๕) ผมได้มีโอกาสดูจอแก้ว (ที่ผมดูวันละเฉลี่ยประมาณ 1 นาทีเห็นจะได้)  พบโดยบังเอิญว่า รัฐบาล (หลังจากระดมสมองนักวิชาการทั่วประเทศแล้ว) มีมติว่า จะวางนโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยแบ่งเขตประเทศไทยออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนต้นน้ำ (ภาคเหนือ) ส่วนกลางน้ำ (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน)  และส่วนรับน้ำ คือ กทม. และปริมณฑล โดยทั้งสามส่วนจะมีวิธีการต่างกัน

 

ส่วนต้นน้ำจะมีนโยบายให้ปลูกป่าต้นน้ำเพื่อดูดซับน้ำ   ส่วนกลางน้ำจะทำแก้มลิงเพื่อชะลอน้ำ  ส่วนกทม.ที่รับน้ำจะขุดคลองระบายน้ำลงทะเล

 

…คนส่วนใหญ่ฟังแล้วก็คงเคลิ้มแล้วอุทาน โอ้โฮ..ดีมากเลย เก่งจริงๆ

 

แต่สำหรับผมผมฟังปุ๊บก็เกิดอาการ “ของขึ้น” ปั๊บ  จนต้องมานั่งจิ้มแป้นปุ๊บทำหน้าที่ประชาชนพิทักษ์ชาติทันที   ก็คนแบบเรามันมีอำนาจวาสนาเพียงแค่นี้แหละ ทำไงได้ ก็ทำหน้าที่ได้เท่าที่ศักยภาพอำนวยไปตามยถากรรม

 

นโยบายนี้คิดกันยังกะว่า ถ้าฝนมันแล้งในต้นน้ำ และกลางน้ำ  แต่ตกหนักที่ปลายน้ำ แล้วน้ำมันจะไม่ท่วมกทม. อย่างนั้นแหละ ปัดธ่อ บ้านผมที่โคราชนี้อยู่กลางโคกแท้ๆ ฝนมันตกเจ็ดวันเจ็ดคืนน้ำยังท่วมได้เลย โดยไม่ต้องมีน้ำป่าหลากไหลมาจากไหนให้ยุ่งยาก  น้ำท่วมโคราชเมื่อปี ๕๓ นั้นก็มาจากน้ำ”ในพื้นที่” ทั้งสิ้น ไม่ได้มาจากน้ำป่าไหลหลากแต่ประการใด…ไม่มีปัญญาคิดกันออกบ้างหรือไร

 

สมมติฐานที่มาของนโยบายรัฐบาล (ต้นตอมาจากนักวิชาการน้ำ) มีข้อบกพร่องอยู่ตรงที่คิดกันแบบผิดๆว่า ภาคเหนือคือต้นตอของน้ำ (ท่วม) … แต่ความจริงแล้ว ต้นตอของน้ำมาจากทุกภาคแหละครับ

 

 ถ้าให้ผมเดาแบบเร็วๆ โดยไม่ต้องมีข้อมูลราคาแพงประกอบ ผมว่า ภาค “กลางน้ำ” นี่แหละ ที่รับน้ำ(ท่วม)มากที่สุด ส่วนภาคเหนือนั้นมีส่วนร่วมในการน้ำท่วมไม่น่าถึง 20%  เพราะ 1) พื้นที่รับน้ำภาคเหนือมีน้อยกว่าภาคกลางประมาณ 1 ต่อ 3  2) น้ำภาคเหนือที่รับมา(จากฝน)ก็ถูกแบ่งออกไปอิรวะดี และ แม่โขง เสียสองส่วน ออกมาเจ้าพระยาเพียงส่วนเดียวเท่านั้นเอง …..  แต่น้ำจากภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางอันกว้างใหญ่นั้น ร้อยละร้อยส่งต่อมายังส่วนปลายน้ำโดยตรง …แต่อนิจจา นักวิชาการราคาแพง ที่รัฐบาลจ้างมาหาได้ตระหนักไม่

 

อีกทั้งการปลูกป่าเพื่อดูดซับน้ำในภาคเหนือตามนโยบายรัฐบาลนั้น ผมว่ามันมีประสิทธิผลน้อย เพราะพื้นที่ภาคเหนือมันมีความชันสูง ทำให้น้ำไหลเร็ว ดังนั้นน้ำมันไม่มีเวลาที่จะให้ดินดูดซับมากนักหรอก

 

มันต้องมาที่กลางน้ำต่างหากที่ความเร็วน้ำลดลง ทำให้มีเวลาดูดซับ…. ดังนั้นถ้าจะปลูกป่า ต้องปลูกหนักที่ “กลางน้ำ” ครับ ไม่ใช่ที่ต้นน้ำ ดังที่พวกท่านคิดกัน แต่ต้องยอมรับว่าจะต้องลดพื้นที่ทำนาลง แล้วปลูกป่าให้มากขึ้น ซึ่งผมก็ได้เสนอไว้แต่แรกแล้วว่า ปลูกป่าให้ดีจะมีรายได้มากกว่าทำนา 20 เท่า (แล้วได้การป้องกันน้ำท่วมเป็นของแถมฟรี ๆ)  แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครอ่านและฟังอย่างมีโยนิโสมนสิการ

 

ส่วนที่ปลายน้ำ ผมก็ได้เขียนไว้มาก ก็ดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจอีกตามเคย เช่น ใน บอร์ด “ไปเรียนรู้” ก็มีคนอ่านไม่ถึง ๕๐ คน

 

โอ๊ยเหนื่อย ไปนอนก่อนละ

 

….คนถางทาง (๑๖ กพ. ๒๕๕๕)

 

 

ปล…

ผมได้แสดงความเห็นไว้ในบทความจำนวนมากในการแก้ปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่น้ำประมาณปีพศ. ๒๕๔๓ ก่อนที่น้ำจะท่วมใหญ่โคราช (บ้านอยู่ผม) และหาดใหญ่ ในปีเดียวกัน  (๒๕๕๓ หรือไงเนี่ย)  ยิ่งน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ๒๕๕๔ ผมก็ยิ่งเขียนอีกหลายบทความ

 

ในปี ๒๕๔๓ ผมน่าจะเป็นคนแรกในที่ตั้งคำถามว่า ทำไมถนนต้องยกให้สูง เพราะผมเห็นว่าถ้าสร้างไม่ดีมันจะกั้นทางน้ำ ยิ่งทำให้น้ำท่วมเมือง และยังเกิดปัญหาด้านนิเวศอีกด้วย เช่นดินเค็ม ..ผลคือผมถูกเสียดสี ด่าหยาบคาย จากหลายคน คนชมผมมีเพียงสองสามคนเท่านั้น

 

 แต่วันนี้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถนนสูงทำให้น้ำท่วมมากขึ้น   (โดยไม่มีใครรู้ว่าคนจุดประเด็นคือผมนี่แหละ..เอ้าวันนี้รู้แล้วนะ ขอเป่าแตรให้ตัวเองหน่อยนะ)

 

แต่ช้าก่อน ..ที่ว่ามามันก็ผิด เพราะผมได้เขียนไว้แต่ต้นแล้วว่า ถนนสูงนั้นถ้าสร้างให้ดี ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิเทศด้วย มันก็สามารถช่วยลดน้ำท่วมได้นะ มันขึ้นอยู่กับ “สมอง” ของผู้ออกแบบ

 

แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา สร้างกันตามใจชอบ ฟลุกๆ มันก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่มันช่วยทำให้ท่วมมากขึ้นเสียมากกว่า

 

วันนี้รัฐบาลจะให้สร้างถนน ปรับถนน เพื่อแก้น้ำท่วม  งบประมาณเป็นหมื่นล้าน โดยไม่คิดจะปรึกษา “คนต้นน้ำทางความคิด” บ้างเลย  หึหึ

 

…คนถางทาง (๑๘ กพ. ๒๕๕๕)



Main: 0.029310941696167 sec
Sidebar: 0.0087931156158447 sec