ประชาธิปไตย+ทุนนิยม = หายนะ
บทความนี้จะเสนอข้อมูลและเหตุผลให้ผู้อ่านเห็นว่าหายนะกำลังรอโลกและประเทศไทยอยู่ เป็นผลมาจากการที่ประเทศทั้งหลายในโลกต่างใช้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งไทยเราเองก็ใช้ระบบทั้งสองนี้ตามเขาด้วย ซึ่งไม่น่าแปลกอะไร เพราะไทยเราไม่เคย และไม่กล้าคิด (อย่าว่าแต่ทำ) อะไรที่มันแหกโลกบ้างเลย ได้แต่เดินตามโลก (ฝรั่ง) อย่างเซื่องๆ มานานแล้ว นำขบวนโดยนักวิชาการใส่เสื้อนอกแห่งมหาวิทยาลัยทั้งหลายนั่นแล
ผมได้เอะใจคิดถึงแนวโน้มความหายนะโลกแต่เมื่อประมาณพศ. ๒๕๓๕ แต่เพิ่งจะมาได้ข้อมูลสนับสนุนแนวคิดนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ จากการที่ผมได้สำรวจข้อมูลงบประมาณของชาติทั้งหลายในโลก พบว่าส่วนใหญ่ตั้งงบประมาณแบบขาดดุล (รายจ่ายมากกว่ารายได้) แม้แต่ usa ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน บราซิล ยกเว้นชาติเล็กๆในแถบแสกนดิเนเวีย (ชาติพวกไวกิ้งเดิมนี้มักมีนโยบายอะไรดีๆที่คล้ายกันเสมอ)
การที่ชาติทั้งหลายตั้งงบขาดดุลนั้นผมเชื่อว่าเป็นเพราะการ “สัญญาว่าจะให้” ของนักการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องใช้เงินทั้งสิ้น เมื่องบประมาณไม่พอ ก็เลยต้องไปกู้เงินมาทำโครงการตามสัญญาเหล่านั้น โดยมักจะยกยอดหนี้ไปให้รัฐบาลชุดต่อไปชำระ ซึ่งรัฐบาลชุดต่อไปก็ต้องสัญญาว่าจะให้เพื่อหาเสียงด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ได้รับเลือก จึงต้องไปกู้หนี้เข้ามาสะสมมากขึ้นทุกที เป็นงูกินหางกันไปแบบนี้ในทุกประเทศทั่วโลกที่ใช้ระบบทั้งสองนี้ควบคู่กัน ส่วน จีน เวียตนาม นี้เลวยิ่งกว่า เพราะจะตั้งงบอย่างไรก็ได้ ไม่มีฝ่ายค้านมาคอยท้วง
ถ้าแนวโน้มยังคงเป็นเช่นที่กล่าวมานี้ ผนวกกับหนี้สะสมในภาคธุรกิจ(ทุนนิยม)ที่ก็มากขึ้นทุกที สักวันหนึ่งเงินกู้ทั้งหลายที่สั่งสมกันทั่วโลกมันจะมีน้ำหนักมาก จนไม่สามารถถูกแบกรับไว้ได้ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกโดยรวม และวันนั้นจะคือวันโลกาวินาศทางเศรษฐกิจทั่วโลก
เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก (อย่าว่าแต่ของไทยที่ตามโลก) ยังไม่ตระหนักในมหันตภัยนี้ เพราะกำแพงล้อมความคิดแบบเดิมมันยังสูงและแกร่งเอาการอยู่
ที่ล้มกันมาด้วยอุบัติการณ์ต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์นั้นมันเป็นการล้มเฉพาะจุดๆ ในช่วงเวลาที่ต่างกัน แม้จะส่งแรงกระแทกจนสั่นเทากันไปทั่วโลก แต่โครงสร้างเศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ยังช่วยยึดโยงกันไว้ จนพอฟื้นคืนตัวได้ในเวลาต่อมา แต่การล้มแบบที่กำลังกล่าวถึงนี้มันจะล้มครืนทั้งระบบ มันจะไม่เหลืออะไรไว้ให้ยึดโยงเลย
จะมียกเว้นบ้างก็เช่น ลาว พม่า ภูฐาน และอีกบางประเทศที่ยังไม่เป็นทุนนิยมสุดโต่ง สำหรับประเทศไทยเรา จะวอดวายหนักที่สุดเพราะการเมืองก็เป็นธนาธิปไตย การเศรษฐกิจพึ่งนายทุนต่างชาติ และราชการก็เป็นระบบอุปถัมภ์ โครงสร้างของเราเปราะบางที่สุดในโลกแถมยังไม่มีหยุ่นกันกระแทกเพราะโครงสร้างเกษตรกรรมก็ผุกร่อนมากแล้วเนื่องจากโดนทุนนิยมต่างชาติ และในชาติ มาหลอกให้ใช้ปุ๋ยเคมีและยาเคมีกำจัดศัตรูพืชกันเสียหมดประเทศ
สัญญาณเตือนภัยที่ที่เพิ่งเกิดเมื่อปี ๒๕๕๒ หยกๆนี้คือปัญหาการเงินของประเทศกรีซ ซึ่งเป็นปัญหาแบบที่ผมได้คะเนไว้แต่เมื่อปี ๒๕๓๕ กล่าวคือประเทศก่อหนี้สาธารณะมากเกินพิกัด จนส่งผลกระทบไปทั่วโลก ยังมีเสปน ปอร์ตุเกส อิตาลี และว่าไปแล้วเกือบทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่จะตามมาเร็วนี้ โปรดอดใจรอสักอึด ไม่น่าเกิน 10 ปี จากนี้ไป
ทุนนิยมกับประชาธิปไตยมีความเหมือนกันอยู่ประการหนึ่งคือ ต่างดำรงอยู่ได้ด้วยความโลภ โดยในระบบประชาธิปไตยนั้นพรรคการเมืองต้องสนองความโลภของประชาชนด้วยโครงการล่อใจต่างๆ (ในนามของความกินดีอยู่ดี) ส่วนระบบทุนนิยมนั้นก็สนองความโลภของนายทุนด้วยการลงทุนใหม่ๆ (ในนามของการสร้างงาน ก็การกินดีอยู่ดีนั่นเอง)
ดังนั้นประชาธิปไตย กับ ทุนนิยม เมื่อนำผสมกันแล้วก็ยิ่งมาเสริมความโลภซึ่งกันและกัน (ไม่ได้คานอำนาจกัน) ความโลภที่ไร้การคานอำนาจนี้จะเป็นแรงแห่งความชั่วร้ายที่ขับเคลื่อนสังคมโลกไปสู่ความหายนะอย่างรวดเร็วที่สุด
ที่น่าสนเท่ห์คือ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่คิดค้นแนวทางการนำโลกสู่หายนะได้เร็วขึ้น ต่างได้รับรางวัลโนเบลกันระนาวกราวรูด ได้รับเสียงปรบมือก้องโลกเสมอมา …โดยที่นักเศรษฐศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ก็อ้าปากหวอ ชื่นชมกันใหญ่
คิดดูสิท่าน..เคยมีพรรคการเมืองไหนในโลกที่ใช้ระบบทุนนิยมผสมปชต. แล้วหาเสียงว่าจะทำประเทศให้มีรายได้ประชาชาติน้อยลง มีแต่จะทำให้มากขึ้นด้วยกันทั้งนั้น ถามว่าถ้าทุกประเทศในโลกรวยกันหมด รวยเท่าญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป อะไรจะเกิดขึ้น?
ไม่ต้องทุกประเทศก็ได้ ขอแค่จีนกับอินเดียสองประเทศก็เพียงพอแล้วที่จะถล่มโลกให้ดับสิ้น และก็ไม่ใช่ความผิดของสองประเทศนี้ที่จะอยากรวยเหมือนพวกฝรั่ง ญี่ปุ่น เพราะมันกลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกประเทศไปแล้ว แม้แต่องค์การสหประชาชาติก็ยังทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประเทศยากจน โดยมีวาระซ่อนเร้นว่าประเทศนายทุนใหญ่ที่บริจาคงบประมาณให้ยูเอ็นจะขายสินค้าได้มากขึ้นจากการกินดีอยู่ดีนั้น
ปชต. มีมานานแต่ยุคกรีกโบราณ แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก จนกระทั่งมาถึงยุคทุนนิยมที่บีบคั้นให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน สิ่งที่ควรสังเกตคือ 200 ปีที่ผ่านมาระบบผสมนี้ช่วยทำลายโลกมากกว่าแสนปีที่ผ่านมาเสียอีก ถ้าปล่อยให้มันดำรงอยู่ต่อไปอีก 200 ปี แล้วโลกนี้จะเหลือหรือ
ประวัติศาสตร์โลกในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานั้น มีระบบการปกครองทางเลือกสองรูปแบบเท่านั้นคือ ปชต. กับ เผด็จการ (อาจเป็นเผด็จการโดยบุคคล คณะบุคคล หรือ พรรคการเมืองพรรคเดียว) ส่วนระบบเศรษฐกิจก็มีสองคือ ทุนนิยมและคอมมิวนิสต์ ส่วนสังคมนิยมในแสกนดิเนเวียนั้นไม่ต่างจากทุนนิยมในเชิงหลักการเพียงแต่เก็บภาษีจากนายทุนค่อนข้างมากเพื่อเอาเงินมาเป็นสวัสดิการให้ประชาชนเท่านั้นเอง
สองกับสองเมื่อผสมกันก็จะได้สี่รูปแบบ ที่ผ่านมามนุษยโลกได้ทดลองผสมกันไปแล้ว 3 แบบ (แบบที่สามคือเผด็จการคอมมิวนิสต์ผสมทุนนิยม เช่น จีน เวียตนาม น่าจะเลวร้ายที่สุด) ส่วนแบบที่ 4 ยังไม่มีการทดลองที่ไหน คือ การเมืองเป็น ปชต. ส่วนเศรษฐกิจเป็นแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งอาจเป็นทางรอดของโลกในอนาคตก็เป็นได้
ณ จุดนี้ ขอเสนอระบบพันธุ์ทาง (ทางเลือกที่ห้า) คือ การเมืองเป็นปชต. ส่วนเศรษฐกิจเป็นทุนนิยมยั่งยืนก็ได้ (sustainable capitalism) หรืออาจเรียกว่าคอมมิวนิสต์ก้าวหน้าก็ดี (progressive communism) โดยมีลักษณะเด่นคือ
- 1. เน้นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร ที่กระจายอยู่ทั่วทุกตำบลในประเทศ โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้แรงงานในพื้นที่ และทรัพยากรในพื้นที่ (อย่างน้อย 80%) ดังนั้นจึงเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน เพราะไม่สามารถรุกล้ำเข้าไปทำลายล้างทรัพยากรในท้องถิ่นอื่นได้ เหมือนดังที่บริษัทข้ามชาติกำลังทำกันอย่างเมามันทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างรวดเร็ว
- 2. ทุนที่ใช้ในการทำอุตสาหกรรมในข้อ 1 ให้เป็นการระดมทุนในท้องถิ่น โดยสามารถใช้แรงงานเทียบเท่าทุนได้ ระบบนี้จึงเปรียบดังคอมมูนผมสทุนนิยมที่ปชช.และนายทุนในท้องถิ่นร่วมกันเป็นเจ้าของโรงงาน
- 3. กิจการสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกินระดับหนึ่ง (เช่นคนงานเกิน 1000 คน) ให้เป็นกิจการของรัฐ
- 4. กำหนดในรธน.ว่างบประมาณชาติในแต่ละปีต้องไม่ขาดดุล (ห้ามกู้)
จะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจนี้เป็นลูกผสมระหว่างทุนนิยมและคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะทำให้มีการคานอำนาจกันในทางเศรษฐกิจ นายทุนยังมีอยู่ได้แต่ต้องไปร่วมทุนกับชุมชนในท้องถิ่นเท่านั้น โดยโรงงานเหล่านี้จะมีลักษณะคล้ายคอมมูน (คือเป็นโรงงานชุมชน)
ความโลภจะถูกจำกัดขอบเขตไม่ให้ลุกลามออกไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ล้างผลาญทรัพยากรได้มาก ส่วนสัญญาว่าจะให้จากนักการเมืองก็ถูกจำกัดเนื่องเพราะห้ามทำงบขาดดุล ดังนั้นจะบังคับโดยปริยายให้พรรคการเมืองต้องหาเสียงแข่งกันว่าใครจะบริหารงบประมาณ “เท่าที่มีอยู่” ได้มีประสิทธิผลมากกว่ากัน แทนการสร้างโครงการประชานิยมต่างๆ
ประเทศไทยเราควรเลิกตื่นตูมทุนนิยมโล”ภา”ภิวัฒน์ตามที่ถูกหลอกให้โง่มานานได้แล้ว หันมาสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบยั่งยืนตามที่เราคิดกันเองเพื่อเป็นตัวอย่างแก่โลกนี้จะดีกว่า (ไม่จำเป็นต้องเอาตามที่เสนอในบทความนี้ก็ได้)
H.G. Wells นักประพันธ์ชื่อดังชาวอังกฤษผู้ล่วงลับเคยกล่าวอย่างเหยียดหยามว่า “คนไทยไม่เคยให้อะไรกับโลกนี้เลย” คราวนี้น่าจะลองลบคำสบประมาทนี้ดูสักที ด้วยการคิดค้นระบบใหม่ ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นบุญอีกด้วยที่ช่วยโลกให้รอดหายนะ
ท่านพุทธทาสภิกขุได้ประกาศลัทธิ “ธรรมิกสังคมนิยม” มานานแล้ว ส่วนคุณจำลอง ศรีเมืองแห่งสันติอโศก ก็ได้ประกาศลัทธิ “บุญนิยม” แต่นักวิชาการไทยที่ผูกไทใส่เสื้อนอกยังล้าหลัง ยังตามไม่ทัน ยังจะเดินตามก้นฝรั่งเพื่อให้ฝรั่ง “พาไปตาย” ต่อไป
เป็นบทพิสูจน์ว่าความรู้ที่ไม่คู่ปัญญานั้นมันอันตรายเสียยิ่งกว่าไม่รู้อะไรเลยเสียอีก
………ทวิช จิตรสมบูรณ์ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๓