ทำไมฝรั่งเจริญกว่าไทย (ตอนที่ ๔)
ทำไมฝรั่งเจริญกว่าไทย (ตอนที่ ๔)
การเมืองถือเป็นต้นธารแห่งกระแสการพัฒนาประเทศ จึงถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญ
ผมเห็นว่าฝรั่งเขามีระบบการเมืองที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของคนในชาติ คือระบอบประชาธิปไตยแบบของเขา ส่วนไทยเรามีระบบการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของสังคมไทย เพราะไปลอกฝรั่งมาทั้งดุ้น มันก็เลยมีต้นธารที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความเจริญได้
ว่าไปแล้วญี่ปุ่น เกาหลีก็ลอกฝรั่งมาเหมือนกัน ทั้งที่ลักษณะสังคมญี่ปุ่นเกาหลีก็เป็นสังคมแนวดิ่ง (มีชนชั้น เล่นพวก) ไม่ต่างจากไทย แต่ทำไมเขาเจริญล่ะ คำตอบคือเขามีวินัยเป็นปัจจัยแย้ง ก็ทำให้เจริญได้ ถ้าเขามีระบบการเมืองที่สอดคล้องกว่านี้จะยิ่งเจริญกว่านี้เสียอีก ส่วนไทยเราไม่มีปัจจัยวินัย ก็เลยได้แค่นี้
ประชาธิปไตยแบบตะวันตก (ปชต.ตต.) นั้น เวลาเขาโหวตกันในรัฐสภาโดยเฉลี่ยแล้ว สส. พรรคฝ่ายค้านจะโหวตให้ญัตติของรัฐบาลประมาณ 25% นั่นเทียว (และในทางตรงข้ามก็เช่นกัน) หลักฐานมีให้เห็นว่าเมื่อตอนนาย จอห์น แมคเคน ลงสมัครรับเลือกเป็น ปธด.สหรัฐแข่งกับนายโอบามา นั้น นายโอบามา ได้หาเสียงโจมตีว่านายแมคเคนไม่ใช่นักปชต. เพราะประวัติการโหวตอันยาวนานของนายแมคเคนนั้นระบุว่ายกมือโหวตให้พรรคตรงข้าม (คือเดโมแครต) เพียง 10% ของการโหวตทั้งหมดเท่านั้น
โห..ตั้ง ” 10% ” เขาก็หาว่าแย่แล้ว …แล้วหันมาดูนักการเมืองไทยสิ ยกมือให้พรรคตรงข้ามเท่าไร คำตอบคือ “0%” ครับ แล้วแบบนี้มันจะเป็นปชต. ได้อย่างไร อย่างนี้มัน พรรคาธิปไตย ชัดๆ
สรุปคือฝรั่งโหวตตามสำนึกแห่งความถูกต้องของปัจเจก ส่วนเราโหวตตามหัวหน้าสั่ง ผมได้เขียนบทความมานับร้อยในบริบทที่ต่างกันว่า ระบบปชต.ตต.นี้ใช้กับประเทศไทยไม่ได้ดีหรอก ขืนใช้ต่อไปก็จะยิ่งทำให้ประเทศตกต่ำไปเรื่อยๆ ไม่มีทางพัฒนาให้เจริญทันฝรั่งได้
ที่ระบบนี้มันเหมาะกับตะวันตกเพราะมันเป็นการวิวัฒนาการมาตามขั้นตอน มีการปรับย่อยๆมาเรื่อยๆ ตามการบีบคั้นของลักษณะนิสัยและบริบทประจำชาตินั้น ดังจะเห็นว่าปชต. ตะวันตกในแต่ละประเทศไม่เหมือนกันเลย ส่วนของเราไปลอกอังกฤษมา ตอนหลังก็ไปลอกเยอรมันมาผสมบ้าง โดยไม่เคยมองบริบทของตัวเองเลยว่า..
ว่า..นิสัยคนไทยไม่ได้เป็นปัจเจกชนแบบฝรั่ง (ที่ทำให้เขาโหวตกันตามจิตสำนึกของปัจเจก ไม่ต้องฟังเสียงหัวหน้าพรรคมากนัก) ส่วนของเราโหวตตามหน.พรรค ถ้าหน.พรรคเป็นคนดีก็ดีไป แต่ถ้าเป็นคนเลวล่ะ (และส่วนใหญ่ก็เป็นคน…ซะด้วยสิ)
ดังนั้นถ้าจะให้ต้นธาร ของเราดี ผมว่าคนไทยเราต้องผนึกกำลังกันมาปรับใหญ่ระบบการเมืองไทยให้ได้ ให้มันเข้ากับนิสัยอำนาจนิยม หรือ กลุ่มนิยม ของเรา ไม่เช่นนั้นก็ต้องปรับนิสัยคนไทยให้เป็นปัจเจกนิยมแบบฝรั่ง ซึ่งผมว่ามันยาก มันต้องใช้เวลานานมาก แล้วก็ไม่รู้ว่าลึกๆ แล้ว ไอ้ปัจเจกที่ว่านี้มันดีไหม แต่ถ้าดีจริงก็คงต้องใช้เวลานับพันปีกว่าจะปรับได้ ซึ่งสังคมไทยคงล่มสลายจากระบบการเมืองปัจจุบันนี้เสียก่อนเป็นแน่
ในบทความอันหลากหลายในอดีต ผมได้เสนอระบบทางเลือกไว้นับสิบ วันนี้จะลองเสนอสักหนึ่งคือ ให้สส.ที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมายเท่านั้น แต่อำนาจาบริหาร (คือคณะรัฐมนตรี) นั้นให้มาจากการคัดสรรมาจากสภาปัญญาแห่งชาติ ซึ่งสภานี้มีสมาชิกประมาณ 500 คน ที่คัดสรรมาจากประชาชนทั้งประเทศ ที่ได้รับการเสนอชื่อตามที่กำหนด แล้วมีคณะกรรมการกลางทำหน้าที่เลือก คกก.กลางนี้อาจให้เป็นราชบัณฑิตก็ได้
ถ้าสร้างระบบคัดสรรให้ดีสภาปัญญานี้จะเป็นที่รวมของบุคคลที่มีความรู้ มีความเก่ง มีความดี 500 คนแรกของประเทศไทย ในทุกสาขาวิชาชีพ แล้วเราก็มีกลไกอีกต่อมาคัดสรรเอาประมาณ 35 คนไปเป็น ครม. ซึ่งเลือกคนหนึ่งเป็นนายก ครม. ส่วน 465 ท่านที่เหลือก็ให้เป็น สว. คอยกลั่นกรองกฎหมายที่มาจาก สส.
ถ้าทำแบบนี้เราก็จะได้กฎหมายที่สะท้อนความต้องการของประชาชนโดยรวม ที่ยังมีการกลั่นกรองจากสว. ที่ไร้ผลประโยชน์ตนและพวก และได้นักบริหารที่มีความรู้สูงสุด เก่งที่สุด ดีที่สุด เข้าไปวางนโยบายและทำการบริหารประเทศ มีการถ่วงดุลที่ดี
เป็นต้นธารการเมืองที่ปราศจากอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ และยังเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ตามแบบของเรา (ที่ไม่ต้องลอกฝรั่งทั้งดุ้น) เพราะสมาชิก 500 ท่านนี้ เท่ากับว่าได้รับเลือกมาจากประชาชนนั่นเอง แต่เลือกด้วยใจไม่ใช่เลือกด้วยเงิน และยังมีการตรวจสอบในขั้นสองด้วยว่า เก่งจริง ดีจริงนะ ไม่ใช่ว่ามีเงินก็ซื้อตำแหน่งเข้ามาได้กันโครมๆ
ส่วนสส. นั้นเลือกโดยตรงจาก ปชช. แต่พอกำหนดว่าเป็นผู้บริหารไม่ได้ ก็จะค่อยๆขจัดนักธุรกิจการเมืองให้หมดไป เราก็จะได้สส.ดีๆ มีความรู้มากขึ้น ก็ยิ่งเสริมการเมืองให้ดีขึ้นไปอีก
ถ้าปรับระบบให้ สส. ดี สว. ดี ครม.ดี แล้วประเทศไทยจะไม่ดีหรือครับ…แต่ก่อนอื่นต้องเลิกบูชาปชต.ตต.เสียทีว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
..ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๒๖ กย. ๕๓)
« « Prev : คนไทยมาจากไหนกันแน่..ทฤษฏีกลางเก่ากลางใหม่
Next : ประชาธิปไตย+ทุนนิยม = หายนะ » »
2 ความคิดเห็น
เดินเข้ามานั่งขัดสมาธิพร้อมลากหมอนมาด้วยเพื่อจะคุยอย่างสบายอารมณ์ค่ะ
เบิร์ดสงสัยว่า”การคัดเลือกสภาปัญญาแห่งชาติ”นั้นใครเป็นคนคัดเลือกคะ ปชช.ได้รับการเสนอชื่อบนเงื่อนไขอะไร และใช้ราชบัณฑิตกลั่นกรองนั้นพอหรือ?
เคยฟังคุณตาเล่าถึงการเลือกกำนัน ผญบ.หรือผู้นำชุมชนในอดีต พบว่าไม่มีการเสนอตัวเพื่อ”แข่งขัน” แต่ใช้ผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน พูดคุยกันเพื่อคัดเลือกคนที่เหมาะสม โดยอาศัยหลักเป็นคนดี เข้ากับทุกคนได้ ไม่มีประวัติด่างพร้อย (โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะรู้จักกันหมดตั้งแต่ต้นตระกูล และเห็นการเติบโต การใช้ชีวิต เรียกว่าทุกอย่างอยู่ในสายตา) เมื่อได้ตัวคนแล้วก็ทาบทาม เพื่อรับตำแหน่ง ซึ่งปกครองแบบนี้ไม่มีปัญหาเลย ผู้นำชุมชนยุคก่อนๆจึงเป็นที่เคารพนับถือมาก (อาจรวมถึง”กษัตริย์”โบราณด้วยมั้งคะ แต่คงมีคุณสมบัติที่จำเป็นในการนำกลุ่มชนและรักษาขอบเขตเพิ่มเติมเพราะการเป็นชนเผ่า ไม่น่าจะต้องมีเลือกตั้ง)
พอการปกครองเปลี่ยน มีการ”เลือกตั้ง”เข้ามา ก็เกิดการนำเสนอนโยบาย การแข่งขัน(ที่คิดว่าเป็นธรรม แต่จริงหรือ?) และเบิร์ดคิดเล่นๆเองว่าการแข่งขัน ทำให้เกิดการเกทับบลั๊ฟแหลก จนแบ่งฝักฝ่ายในที่สุด เราคงยังไม่เข้าใจ”สาระ”พอเหมือนอย่างที่อาจารย์ชวนคุยมาหลายตอน จึงติดอยู่ที่รูปแบบ และฮือกันเป็นพักๆ (และพรรคๆ) ตามแต่ใครจะดึงเหตุการณ์ขึ้นมาเป็นคราวๆไป
เราอาจเคารพการ”นำเข้า” ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม รวมทั้งการ”นำเข้า”จากคนในประเทศเราด้วย แต่เราลืมว่าแม้แต่ประเทศที่เป็น”ต้นแบบ”ประชาธิปไตย ตัวเขาเองก็ยังไม่นิ่ง สาระและหลักการก็ยังไม่สมบูรณ์เหมือนกัน มีการปรับเปลี่ยน ปรับแก้ตลอดเวลา แล้วเราเอาความไม่สมบูรณ์มาเป็นกรอบในการก้าวเดินเพื่ออะไร
เพื่อหนับหนุนการคุยกันในการหา”สาระ”ของประชาธิปไตย อาจารย์คิดว่าประชาธิปไตยคืออะไรคะ และ”หลักสำคัญของประชาธิปไตย”คืออะไร
แหมเล่นใช้มุกผมมาเหน็บผมซะแล่ว
ปชต.คืออะไรมันมีนิยามอยู่แล้วไปหาดูที่ไหนก็ได้ คล้ายๆกัน แต่ผมว่าปชต.ทีแท้จริงคือ อะไรก็ได้ที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้ไพร่ฟ้าหน้าใส ดังนั้น เผด็จการก็เป็นประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ก็เป็นประชาธิปไตย (เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว..โอยชื่อยาวอิ๊บ)
หลักการสำคัญของปชต. คือ ทำให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนน้อยครับ ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ (ฟังยากนะ และค้านกับนิยามข้างบนด้วย)
ห้ามถามต่อนะ ไปคิดเฉลยเอาเอง …ไปละ