น้ำท่วมมือถือ

ไม่มีความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 29 October 2011 เวลา 2:51 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1416

บริษัทมือถือทำอะไรอยู่ ในสภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ (หรือว่า กำไรท่วมล้น)

 

ในสภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ ประชาชนที่ถูกน้ำท่วม ต่างไม่มีหนทางไปเติมเงิน ทั้งที่ต้องการใช้เงินในการโทรขอความช่วยเหลือมากที่สุด

 

ดังนี้แล้ว บริษัทที่ขายบัตรเติมเงินมือถือทั้งหลายจะมีจิตสำนึกช่วยเหลือผู้ตกยากอย่างไรบ้างหนอ หรือว่า เร่งฉวยโอกาสขึ้นราคา เหมือนกับร้านขายเรือ ???

 

…คนพายเรือ


ป้องกันรถจากภัยน้ำท่วมด้วยการห่อผ้าใบ

ไม่มีความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 29 October 2011 เวลา 1:02 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1843

ป้องกันรถจากภัยน้ำท่วมด้วยการห่อผ้าใบ

 

ผมได้คิดค้นวิธีการป้องกันรถจากภัยน้ำท่วมโดยใช้วิธีการที่ไม่พ้นวิสัยของบุคคลทั่วไปจะพึงกระทำได้ และได้ทำการทดลองได้ผลประจักษ์แล้ว  ดังนี้

 

1) นำผ้าใบหรือผ้าพลาสติกที่กันน้ำได้ เช่น ผ้าใบคลุมรถกระบะสิบล้อขนาดที่กว้างกว่าความกว้างยาวกว่าตัวรถสัก 2 เมตร มาวางปูไว้กับพื้นราบ  โดยควรทำผ้าใบให้ย่นหย่อน (อย่าขึงให้ตึง…เหตุผลทางวิศวกรรมศาสตร์ อ่านได้ที่หมายเหตุด้านท้าย)….

 

http://www.youtube.com/watch?v=iM2zZYbHt34

 

 

2) นำตาข่ายที่แข็งแรงถักด้วยเชือกในล่อน ขนาดพอประมาณกับผ้าใบ มาวางซ้อนทับพลาสติก  (ตาข่ายนี้ควรเป็นตาข่ายเส้นใหญ่ รูตาข่ายประมาณ 2×2 นิ้วหรือเล็กกว่า  เป็นตาข่ายที่ใช้ในการคลุมรถปิ๊คอัพเพื่อกันสิ่งของที่บรรทุกหล่น  หรือ ใช้ในการประมงเพื่อดักปลาขนาดใหญ่)  ตาข่ายนี้ต้องขึงให้ตึงมากพอควร เช่น ใช้คนสี่คนดึงมุมทั้งสี่ให้ตึง ในขณะที่ขับรถทับเข้ามา  ถ้าไม่มีคน อาจต้องใช้เชือกดึงมุมทั้งสี่เข้ากับสิ่งยึด เช่น เสาสี่ต้นในโรงจอดรถของบ้าน  (หรืออาจใช้วิธีพลิกแพลงอื่นใดก็ได้)  ถ้าไม่มีกำลังจริงๆ ไม่ต้องขึงตึงก็ได้ แต่ในกรณีนี้ควรให้ผ้าใบหย่อนย่นมากสักหน่อยเพื่อเป็นการชดเชย

 

3) เมื่อขับรถเข้าทับตาข่ายและผ้าใบแล้ว ให้เอาเชือกขนาดปานกลาง (ขนาดเท่าแท่งดินสอ) ร้อยรูตาข่าย อ้อมหลังคารถยนต์ ทำสลับไปมาสัก 15-20 ครั้ง ..ดึงเชือกให้ตึงมาก  เชือกเหล่านี้จะทำหน้าที่รับน้ำหนักรถที่ถ่ายโอนจากแรงดันน้ำด้านล่างขึ้นสู่โครงรถยนต์ทั้งคัน ทำให้ไม่เกิดการบุบย่นของตัวถัง ส่วนการถลอกของสีรถก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามีเชือกจำนวนมากพอในการเฉลี่ยแรงจากนน.รถไม่ให้กดแรงเฉพาะจุด

 

4) จากนั้นทำการร้อยรัดผ้าใบเข้ากับตัวถังรถในทำนองเดียวกัน  แต่คราวนี้ไม่ต้องรัดแน่น ..ให้รัดเพียง “หลวมๆ” เท่านั้น  ควรให้มีรอยย่นมากๆ ขอบด้านล่างของผ้าใบควรสูงจากพื้นมากกว่า 50 ซม.

 

5) ผูกรถเข้ากับหลักเสา อย่างน้อยสองหลัก (เช่น เสาสี่เสาของโรงจอดรถ เสาไฟฟ้า หรือ ในกรณีลานจอดรถ อาจผูกเข้ากับถุงทรายที่จมน้ำอยู่  )   เพื่อป้องกันรถลอยหายไป หรือ ไปกระแทกกับเสา  อาจกันการกระแทกด้วยล้อยาง แบบเรือเมล์ที่เข้าเทียบท่า

 

6.)  อาจคลุมรถด้วยพลาสติกบางกันฝนอีกชั้น เพื่อกันน้ำฝนรั่วเข้าไปในพลาสติกด้านใน

 

เท่านี้เป็นเสร็จ พอน้ำหลากมา น้ำจะไม่เข้าไปด้านใน ถ้าน้ำหลากมาสูงมากประมาณ 1 ฟุต รถจะลอยขึ้น เหมือนเรือ (ระวังว่าเชือกที่ผูกยึดกับเสาจะไม่สั้นไป จนไปดึงเรือไม่ให้ลอยได้ หรือยาวเกินไป จนเรือไปกระทบกับเสา ทำให้บุบ หรือ ถลอกได้

 

หมายเหตุ

 

1) ประสิทธิผลการใช้งานจากแนวคิดนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการและวิจารณญาณของผู้ปฏิบัติเอง สำหรับเรื่องการลอยตัวได้ โดยน้ำไม่เข้านั้น ทีมงานของเราได้ทดลองเป็นที่ประจักษ์แล้ว ดังที่ได้รับการเผยแพร่ทางยูทูบและหน้าเว็บต่างๆ อย่างไรก็ดีวิธีการทำ และการใช้วัสดุที่แตกต่างออกไปนั้น ก็อาจทำให้เกิดการเสียหายต่อรถยนต์ได้

 

 

2) ผ้าหุ้มที่ได้ทดลองแล้วได้ผลคือ ก. ผ้าใบชั้นดีที่ใช้หุ้มกระบะรถสิบล้อ (ราคาค่อนข้างแพง ผืนละ 5-6 พันบาท)  ข. พลาสติกใสอย่างหนา ที่ใช้กันฝนหน้าร้านค้า (ราคา 3000 บาท)  โดยมีการต่อผ้าสามผืนเข้าด้วยกันด้วยการรีดร้อน   ค. พลาสติกบุบ่อน้ำ หรือ บ่อเลี้ยงกุ้ง (หาซื้อได้ตามร้านการเกษตร)   (ราคา 350 บาท) พบว่าสามารถลอยรถได้เช่นกัน 

 

3) หลักการทดสอบว่าพลาสติกใดใช้ได้หรือไม่ ให้เอาพลาสติกมาขยุ้มทำเป็นถุง แล้วเอาน้ำเทลงไป พร้อมเอามือบีบรัดแรงๆ เป็นเวลาสัก 10 วินาที ถ้ำไม่มีการรั่วซึมก็ถือว่าอาจใช้ได้ แต่ถ้ามีการซึมก็ใช้ไม่ได้แน่นอน  เช่น พลาสติกทึบบางชนิดที่ใช้บังแดดฝนตามชายคาร้านค้า ปรากฏว่ากันน้ำฝนได้ แต่ทนแรงดันน้ำแบบขังแช่ไม่ได้

 

4) ให้แน่ใจว่าพื้นที่ปูพลาสติกนั้นเป็นพื้นเรียบราบ และปราศจากเม็ดหิน อีกทั้งล้อรถยนต์ก็ไม่มีเม็ดหินติดอยู่ เพราะหินเหล่านี้อาจมีความคมจนทำให้เกิดรอยฉีกบนผ้าใบได้เมื่อได้รับแรงอัดจากล้อรถ

 

5) การปูผ้าบนพื้นนั้นในทำเป็นแบบย่นๆ โดยให้มีระยะย่นตัวในแนวขวางสัก 20 ซม. และ ย่นตัวในแนวยาวสัก 30 ซม. (แต่ตาข่ายให้ขึงให้ตึง) การย่นตัวจะทำให้ผ้าใบไม่ถูกดึงให้ตึงจนฉีกขาดได้ แต่แรงดันน้ำจะดันตัวอัดกับตาข่ายแบบเฉลี่ยน้ำหนักไปทั่ว แล้วผ้าใบนี้จะส่งแรงไปดันรถที่ล้อทั้งสี่ ทำให้รถลอยขึ้นได้ (ดังนั้นถ้าเราไม่ขึงตาข่าย ผ้าพลาสติกจะรับน้ำหนัก ทำให้ฉีกขาดได้)

 

6) ตามที่มีกระแสข้อมูลว่า การหุ้มรถยนต์ด้วยผ้าพลาสติกคลุมรถ (ที่นำมากลับทางบนลงล่าง)  หรือ การหุ้มคลุมด้วยพลาสติกใดๆ ในลักษณะใด ก็ตาม  (ตามที่เป็นข่าวทั่วไป)   อาจไม่สามารถป้องกันความเสียหายได้ เพราะผมเชื่อว่าจะเกิดการฉีกขาดของพลาสติกด้วยแรงดันน้ำเสียก่อน   นอกเสียจากว่า มีการทำให้เกิดความย่นอย่างมาก จนกระทั่งผ้าพลาสติกถูกดันขึ้นไปจนถึงพื้นล่างของตัวถังรถยนต์  (จนไม่เกิดแรงกระทำเป็นจุดที่ล้อทั้งสี่) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ จะต้องใช้พลาสติกที่ใหญ่มาก และระดับน้ำจะสูงมากขึ้นกว่าวิธีในที่นี้ ก่อนที่รถจะลอยตัวขึ้น  เช่นในวีธีนี้รถจะลอยตัวเมื่อระดับน้ำสูงประมาณ 25-30 ซม. แต่วิธีการไม่มีตาข่าย  ถ้าผ้าไม่ขาดเสียก่อนรถจะลอยที่ความลึกประมาณ 60 ซม. (สำหรับรถเก๋ง) และสูงกว่านั้นสำหรับรถปิ๊คอัพ

 

เขาเอาใจช่วยให้ชีวิต สวัสดิภาพ และทรัพย์สินของทุกท่านจงปลอดจากภัยน้ำท่วมครับ

 …คนถางทาง


เจาะถนนเพื่อลดน้ำท่วม

4 ความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 28 October 2011 เวลา 2:54 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1339

ผมได้เขียนบทความเรื่องถนนเป็นเขื่อนกักน้ำให้ท่วมเมืองมานาน หลายบทความ โดนด่ามาก็มาก วันนี้รู้สึกดีใจเล็กๆ ที่ไปถึงหูรัฐบาล ทำให้นายกฯยิ่งลักษณ์ กำลังจะให้มีการ “ลองเจาะถนน” แต่ท่านกลัวว่ามันจะไม่เวิร์ค

 

ผมจึงขอเสนอว่า การเจาะถนนนั้น อย่าเจาะแบบ “ลองผิดลองถูกดู” สิครับ แต่ให้ใช้หลักวิชาง่ายๆ คือ เอาแผนที่มากาง (แผนที่ทหารที่มีเส้นความลาดชันระบุด้วย) แล้วดูว่าถนนเส้นไหนไปขวางแนวลาดชันของภูมิประเทศ  ก็เจาะ โดยเจาะเป็นระยะอย่างมียุทธศาสตร์ในการระบายน้ำ จากไหน ไปไหน ปริมาณเท่าไร มันคำนวณได้หมดตามหลักชลศาสตร์ครับ

 

ถนนที่เจาะขาดแล้ว ก็เอาเหล็กตัว I มาพาดเรียงกันเป็นสะพานให้รถข้ามไปได้ โดยเอาถุงทรายมาหนุนเป็นเนินตรงขอบตัวเหล็ก เพื่อให้รถไต่ขึ้นไปได้

 

..คนถางทาง  (๒๘ ตค. ๒๕๕๔)


ปัจจัยช่วยน้ำท่วมไทย..ถนนสูง

3 ความคิดเห็น โดย withwit เมื่อ 9 October 2011 เวลา 8:33 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1770

ทำไม ถนนต้องยกสูง

 

จู่ๆ วันหนึ่ง นานมากว่าสิบปีแล้วกระมัง ผมคิดเรื่อยเปื่อยไปตามประสาคนชอบคิดว่า ..ทำไมถนนจึงต้องถูกยกผิวถนนให้สูงมากกว่าผิวดินรอบๆข้างด้วย บางแห่งมันยกสูงกันถึงสามวาโน่นเทียว

 

คนเมาๆ ขับรถมา ตกลงไปคอหักตายกันมามากแล้ว โดยเฉพาะตอนที่ตำรวจมันมาตั้งด่าน บริการประชาชน” อยู่กลางถนน กลางดึก แบบไม่คาดคิด (5๕5..ผมขับรอดมาได้จนแก่ป่านนี้ ทั้งที่ขับรถรอบไทยมาหลายรอบ แสดงว่ายัง sober ดีอยู่ใช่ไหม …อ้อ ลืมไปพวกท่านอาจไม่เก่งปะกิดแบบใครบางคน คือคำว่า sober นี้ เขาแปลว่า “(ยัง)ไม่เมา”  นะฮ้าาาา)

 

สมอง (ที่ไม่ได้เรียนมาทางสร้างถนน) ก็เดาว่า…อืมม์…อาจเป็นว่า วิศวกรเขาป้องกันน้ำท่วม..กลัวถนนขาดเพราะน้ำท่วม และป้องกันไม่ให้รถถูกน้ำท่วมไปพร้อมกัน ได้นกสองตัวด้วยการถมครั้งเดียว พอไปสอบถามเอากับพวกพี่ๆน้องๆที่เรียนมาทางสร้างถนนก็ได้ความตรงกันว่า.. ใช่เลย เอ็ง (พี่) เดาถูกแล้ว

 

…แต่คนอย่างเรา ไม่วายตะแบงต่อไปว่า เฮ่ย..ถ้าแบบนี้จะไม่ยิ่งไปกันใหญ่หรือ เพราะถ้าน้ำมันท่วมบริเวณนั้น แล้วเอ็งเจือกเอาเขื่อน (ที่เรียกกันว่าถนน) ไปกั้นไว้ มันจะไม่ยิ่งไปกันใหญ่หรือ เพราะถ้าน้ำมันถูกกั้นไว้ด้วยถนน มันไม่รู้จะไหลไปไหน มันก็เลยออกันอยู่บริเวณนั้น ก็จะท่วมกันมากขึ้นกว่าปกติเสียอีกน่ะซิ่ ก็จะยิ่งไปกัดไปเซาะถนนให้ขาดมากกว่าปกติเสียอีก แถมท่วมบ้านท่วมเรือนรอบๆ มากขึ้น

 

อย่างนี้ สู้ปล่อยให้น้ำมันไหลไปสู่ที่ชอบๆ ของมันให้มากที่สุดตามธรรมชาติที่พวกมันวิวัฒนาการมาหลายพันปีแล้ว จะไม่ดีกว่าหรือ คือให้มันไหล “ข้าม” ถนนไปเลย ถ้ามีตรงไหนเป็นแอ่งมากๆ ก็เพียงแค่ทำสะพานให้มันไหลลอดก็พอแล้ว

 

เอาแนวคิดนี้ไปเสนอต่อพี่ๆน้องๆ แต่พวกเขาก็เพียงแต่บอกแค่ว่า อืมม์…น่าสนใจ แต่เชื่อว่าคงไม่กล้าแย้งทฤษฎีฝรั่งที่เรียนมา ….ทั้งที่เมืองฝรั่งนั้นที่ต้องทำสูงขึ้นสักเล็กน้อย เพราะเขาป้องกันการลื่นไถลเข้ามาของ “หิมะ” (ซึ่งบ้านเราไม่มี)

 

จำได้ว่าปีกลายน้ำท่วมหนักโคราช ผมได้ขับรถออกตระเวนเมื่อน้ำลดพอขับรถได้ พบเห็นกะตาเลยว่า น้ำฝั่งซ้ายของถนน ท่วมมากกว่าฝั่งขวา..นี่แสดงว่าถนนมันกักน้ำไว้จนเป็นปัจจัยเสริมการท่วมได้จริงๆ นอกจากนี้ยังพบความจริงที่ “ตรงข้าม” กับวิชาการในตำราเลยว่า ถนนสูงช่วยป้องกันน้ำท่วม เพราะพอถนนสูงก็กักน้ำจำนวนมากไว้ให้ไหลไปรวมกันยังแหล่งพื้นที่ต่ำริมถนน ทำให้พื้นที่ตรงแอ่งมีน้ำมาก แล้วน้ำก็ไหลมาท่วมถนนบริเวณนั้น ท่วมลึกมากจนรถวิ่งไม่ได้  นี่เห็นกะตาสองสามแห่งบนถนนมิตรภาพช่วงเลี่ยงเมืองโคราช

แต่ถ้าเราทำถนนให้เรียบราบไปกับพื้นดิน น้ำก็ไหลข้ามถนนไปได้ โดยเป็นน้ำที่เป็นฟิล์มบางๆเท่านั้น รถก็ยังแล่นไปได้ (แม้ไม่เร็วมากนักก็ยังดี) ส่วนพื้นที่รอบๆ ก็ไม่ถูกน้ำท่วมเพราะถูกถนนกักน้ำไว้อีกต่างหาก

 

ผมว่าถึงเวลาปฏิวัติการสร้างถนนไทยได้แล้ว เลิกถมถนนให้สูงด้วยดินเป็นคิวๆ จนต้องมีการ “กินค่าหัวคิว” กันหลายต่อได้แล้ว

 

การถมถนน..ยังทำลายระบบนิเวศได้อีกมากมายมหาศาล เช่น ไปเปลี่ยนทางน้ำธรรมชาติ ทำให้ดินเค็ม (เช่นถนนมิตรภาพด้านซ้ายด้านขวา ดินเค็มแตกต่างกัน…ชาวบ้านให้การกับผม ไปค้นวิชาการสร้างถนนก็ว่าไว้ตรงกัน )  พันธุ์พืช-สัตว์ อุตุนิยมเฉพาะที่ เปลี่ยนไปหมด

 

นี่ยังไม่นับผลทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียค่าโง่ถมถนนเกินจำเป็น ทำให้ราคาถนนแพงเกินจำเป็น  การถมที่ริมถนนเพื่อสร้างบ้านและ โรงงาน ก็เพิ่ม ทำให้สินค้าไทยและค่าดำรงชีวิตของคนไทยมีต้นทุนสูงกว่าปกติ ซึ่งทำให้สูญเสียศักยภาพในการเแข่งขันทางการค้าในเวทีโลกโดยอ้อม

 

ส่วนไอ้รถขนดินก็ทำงานหนักเกินจำเป็น ทำให้เกิดถนนฝุ่นขึ้นทั่วประเทศด้วยเศษดินที่ร่วงหล่นในขณะขนถ่าย

 

ยังต้องทำลายป่าเพื่อขุดหน้าดินมาทำถนนกันอีกมากมาย

 

…คนถางทาง (ตค. ๕๔)

 

 



Main: 0.05575704574585 sec
Sidebar: 0.0079231262207031 sec