หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นภายหลังการค้นคว้าพระไตรปิฏกของผม สมัยบวช และจำพรรษาอยู่ที่วัดป่านางเหริญ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เมื่อพศ. ๒๕๔๒
เหตุผลหลักที่พระผู้ชายนิกายเถรวาท (ของไทยเรา) ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่อนุญาตให้มีการบวชภิกษุณีในนิกายเถรวาท คือการยกอ้าง ครุธรรม ๘ ประการ ที่ว่ากันว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติ
ผมจะชี้ให้เห็นว่าครุธรรม ๘ นี้ไม่ใช่พุทธบัญญัติ แต่เป็นของปลอมที่ผู้ประสงค์ร้ายสอดแทรกเข้ามาภายหลัง เพื่อมุ่งหวังลดทอนสถานะภาพของภิกษุณี
ก่อนอื่นต้องเข้าใจท้องเรื่องก่อนว่าพระนางปชาบดีโคตมี มาทูลขอบวช (เข้าใจว่าเป็นแม่นมของพระพุทธเจ้า และเป็นน้องสาวของมารดาของพพจ.ด้วย คือเป็นแม่เลี้ยงพพจ. นั่นเอง หลังจากมารดาพระองค์สวรรคตหลังคลอด) ท่านได้พานางทาสีตามมาด้วย 500 คน เดินเท้าเร่ร่อนหลงป่ามานานเป็นปี ตามหาพระพุทธเจ้าจนพบ จนเท้าบวมแตกเลือดไหลไปหมด
พพจ.ก็ไม่ยอมให้บวชสักที จนพระอานนท์สงสารพระนาง ต้องมาทูลอ้อนวอนให้เหตุผลนานัปการถึงสามครั้ง จนในที่สุดพพจ.ใจอ่อน บอกว่าถ้ายอมรับครุธรรม 8 ได้ก็จะยอมให้บวช
ครุธรรม 8 บัญญัติไว้ดังนี้
๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟัง คำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้ว ในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรม แม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทาง ให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
ดูกรอานนท์ ก็ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นแหละ จงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง ฯ
[๕๑๗] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เรียนครุธรรม ๘ ประการ ในสำนัก พระผู้มีพระภาค แล้วเข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมี ชี้แจงว่า พระนางโคตมี ถ้าพระนางยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละจักเป็นอุปสัมปทาของพระนาง
พระนางมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ดิฉันยอมรับ ครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาว หรือชายหนุ่ม ที่ชอบแต่งกาย อาบน้ำสระเกล้าแล้ว ได้พวงอุบล พวงมะลิ หรือพวงลำดวนแล้ว พึงประคองรับด้วยมือทั้งสอง ตั้งไว้เหนือเศียรเกล้าฉะนั้น ฯ (คัดลอกมาจากพระไตรปิฎก ฉบับ…)
จากนี้ไป ผมจะชี้ให้เห็นว่าครุธรรม ๘ นี้ไม่ใช่คำตรัสของพระพุทธเจ้า แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงขึ้นแล้วเอามาแทรกไว้ในภายหลัง โดยผมใช้หลัก”มหาปเทส” เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน หลักการนี้เป็นหลักการที่พพจ.ทรงบัญญัติ
หลักมหาปเทส(ในมหาปรินิพพานสูตร)บอกว่า วิธีตัดสินว่าคำสอนใดถูกหรือผิดนั้นให้ตรวจสอบเทียบเคียงกันกับเนื้อความในคำสอนส่วนอื่นๆที่เป็นส่วนใหญ่ ถ้าลงกันได้ก็แสดงว่าถูก ถ้าลงกันไม่ได้กับส่วนใหญ่ก็แสดงว่าผิด หลักการนี้แสดงให้เห็นพระปัญญาอันเฉียบคมของพระพุทธเจ้า
ผมจะเอาครุธรรมบางข้อไปเทียบกับเนื้อความอื่นๆในพระไตรปิฎก ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกันอย่างไม่อาจประนีประนอมได้ ซึ่งแสดงว่าครุธรรม 8 นั้นผิดแน่นอน มิใช่แต่ผิดตามหลักมหาปเทสเท่านั้นแต่ยังผิดตรรกะตื้นๆและยังไม่สอดคล้องกับพระพุทธจริยาวัตรในการทำงานของพระองค์อีกด้วย
ผมต้องขออภัยที่ไม่มีเวลากลับไปค้นคว้าและอ้างเล่มอ้างหน้าคัมภีร์ แต่จะว่ากันลุ่นๆตามที่จำได้ ในอดีตผมเคยค้นคว้าไว้ อ้างหน้าอ้างคัมภีร์ได้ แต่ทำต้นฉบับหายไปสัก 6 ปีได้แล้ว (ขณะที่เขียนนี้ พศ. 2548 )
ผมไม่ได้แตกฉานในคัมภีร์แต่ประการใด ค้นคว้าวิเคราะห์เอาลุ่นๆจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง ตามตัวหนังสือ และตามท้องเรื่อง ผนวกกับสามัญสำนึกของตนเอง ถ้าผิดก็ขอน้อมรับ ถ้าถูกขออุทิศผลบุญบันดาลให้เกิดคณะนางภิกษุณีขึ้นในแผ่นดินไทยด้วยเถิด
อันว่าครุธรรม 8 นี้แม้พิสูจน์ได้เพียงว่าข้อใดข้อหนึ่งมีการปลอมแปลง ก็ต้องถือว่าที่เหลือทั้ง 7 ข้อเป็นโมฆะไปด้วย เพราะข้อที่ถูกปลอมแปลงนั้นอาจเป็นข้อที่กำหนดข้อยกเว้นของอีก 7 ข้อ ไว้ก็เป็นได้ แต่ผมเคยได้พิสูจน์ว่าปลอมแปลงทั้ง 8 ข้อ บัดนี้จะพยายามพิสูจน์ให้มากข้อที่สุด แต่อาจไม่ครบทุกข้อ
ต่อนี้ไปผมจะใช้หลักมหาปเทสแสดงให้เห็นข้อผิดเพี้ยนของครุธรรม 8
ข้อที่ 1) ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
มีเรื่องเล่าในพระไตรปิฏกว่า (จำหน้าจำคัมภีร์ไม่ได้ แต่ค้นได้ไม่ยากเลย อยู่ในพระวินัย สงสัยว่าจะเป็นหมวดภิกษุณีวิภังค์) หลังจากบวชแล้วพระนางปชบด. ได้เข้าไปทูลขอพระพุทธเจ้าให้สงฆ์ทั้งสองฝ่าย (คือชายหญิง) กราบไหว้กันตามอาวุโสโดยไม่แยกว่าเป็นหญิงชาย เพราะปรากฏว่าพระผู้ชายไม่ยอมไหว้พระผู้หญิงที่แก่พรรษากว่า ….ผมถามว่า พนปชบด. นี่นะ ที่มีศรัทธาแรงกล้า มีขัตติยมานะสูงสุด (จนได้เป็นพระอรหันต์ในภายหลัง) จะกล้าทูลขอสิ่งนี้จากพพจ. ทั้งที่ได้รับเอาครุธรรมข้อที่ 1 ตั้งไว้เหนือเศียรตลอดชีวิตแล้ว ผมว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลย
เพียงครุธรรมข้อ 1 นี้ก็เข้าข่ายปลอมแปลงเสียแล้ว!! พอเข้าใจได้ว่าพวกพระผู้ชายที่เป็นพราหมณ์มาก่อนไม่อยากกราบผู้หญิง เพราะยึดเป็นอคติมานานว่าผู้หญิงคือของชั้นต่ำตามคติพราหมณ์ก่อนมาบวช ก็เลยหาทางเอามาแทรกไว้ในครุธรรมโดยอาจลบของเดิมทิ้งไป(อาจทำโดยพละการหรือโดยการสอดไส้ในคราวสังคายนาครั้งใดครั้งหนึ่งก็ได้) ถ้าผมจำไม่ผิดดูเหมือนว่าเมื่อทูลขอแล้วพพจ.ก็อนุญาตให้กราบไหว้กันตามอาวุโสเสียด้วย ซึ่งยิ่งแสดงว่าครุธรรมข้อนี้ปลอมแปลงแน่นอน เพราะพพจ.คงไม่วันนี้บัญญัติไว้อย่างแล้วพรุ่งนี้ก็ยูเทิร์น 180 องศา
อีกอย่างการบัญญัติวินัยของพพจ. ไม่ทรงนิยมบัญญัติวินัยไว้ล่วงหน้า แต่จะบัญญัติหลังเกิดปัญหาขึ้นเสมอ โดยเฉพาะปัญหาที่สังคมติฉินนินทา แต่ข้อ 1 นี้ บัญญัติล่วงหน้า ซึ่งผิดพุทธจริยาวัตรเป็นอย่างยิ่ง
ข้อที่ 2) ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
เรื่องนี้ได้มีเล่าไว้ในพระไตรฯ (พระวินัย) ว่านางภิกษุณีอยู่จำพรรษา(ในช่วงเข้าพรรษา)ในวัดที่มีแต่นางภิกษุณีล้วนๆ แล้วเกิดโจรมาปล้นวัด นางภิกษุณีไม่สามารถสู้โจรได้ พพจ.จึงออกบัญญัติห้ามนางภิกษุณีจำพรรษาลำพัง ต้องมีพระผู้ชายด้วยเพื่อคอยคุ้มครองภัยจากโจร
เห็นได้ว่าข้อ 2 นี้เป็นการบัญญัติขึ้นในภายหลัง หลังจากที่มีนางภิกษุณีเป็นปึกแผ่นแล้ว ไม่ได้บัญญัติไว้ล่วงหน้าในครุธรรมก่อนมีนางภิกษุณี ครุธรรมข้อนี้จึงขัดแย้งกับคัมภีร์อื่นๆ(ตามหลักมหาปเทส) ด้วยเงื่อนเวลาอย่างชัดเจน คือถ้าบัญญัติไว้ล่วงหน้าในครุธรรมแล้วจะไปบัญญัติซ้ำในพระวินัยอีกทำไม นอกจากทรงลืม (ซึ่งคงทำให้พระบารมีของพพจ. เสื่อมลงไปมากทีเดียว เนื่องจากแสดงว่าทรงลืมได้เหมือนปุถุชน)
อนึ่งพึงเข้าใจว่าพพจ. มักไม่นิยมบัญญัติข้อห้ามอะไรที่ไม่จำเป็นล่วงหน้า เพราะไม่ทรงเป็นเผด็จการ แต่มักจะบัญญัติข้อห้ามแต่ภายหลังเมื่อเกิดเหตุไม่ดีงามขึ้นแล้วเท่านั้น (ศีล 227 ข้อของพระภิกษุและ 348 ของนางภิกษุณี ส่วนใหญ่ก็บัญญัติภายหลังเกิดเหตุและสังคมติเตียนแล้วทั้งสิ้น)
ข้อที่ 3-4-5)
๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟัง คำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
ถ้าข้อ 2 โมฆะก็จะพลอยทำให้ข้อ 3-4-5 เป็นโมฆะไปด้วย เพราะจะปฏิบัติทั้งสามข้อนี้ไม่ได้ถ้าไปจำพรรษาเฉพาะในวัดที่มีแต่นางภิกษุณีเท่านั้น ด้วยเหตุผลว่าสมัยโน้นวัดอยู่ห่างไกลกันมาก เดินทางก็ธุรกันดาร ถ้าอยู่ในพรรษาเฉพาะภิกษุณีแล้วต้องไปทำกิจในสงฆ์สองฝ่ายแค่เดินทางก็หมดวันแล้ว แล้วจะกลับไปจำพรรษาที่วัดเดิมไม่ได้ตามกฎของการอยู่พรรษา อนึ่งการเดินไปมานอกสถานที่ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของการให้อยู่จำพรรษาอีกด้วย พพจ.ทรงเป็นสัพพัญญู คงไม่บัญญัติกฎที่ปฏิบัติไม่ได้และขัดแย้งกันเองเช่นนี้
ข้อที่ ๖) ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้ว ในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
ครุธรรมข้อที่ 6 นับว่าเป็นข้อเอกที่คณะสงฆ์ไทยอ้างกันมากเพื่อไม่อนุญาตให้บวชนางภิกษุณี(ภษณ) เพราะถือว่าขณะนี้ไม่มีภษณแล้ว จึงไม่สามารถอุปสมบทภษณ”ในสงฆ์สองฝ่าย” ได้
การบวชในสงฆ์สองฝ่ายหมายความว่าต้องทำพิธีบวชทั้งในสงฆ์ฝ่ายชาย และ ในสงฆ์ฝ่ายหญิงด้วย ก็ในเมื่อไม่มีสงฆ์ฝ่ายหญิงแล้วจึงอ้างกันว่าไม่สามารถบวชได้ เพราะจะขัดกับบัญญัติข้อนี้ ผมขอวิเคราะห์ข้อนี้ด้วยสามัญสำนึกก่อน ก่อนที่จะไปอ้างท้องเรื่องอื่น
ลองคิดดูเถิดพพจ.ทรงเป็นสัพพัญญูจะมาบัญญัติกฎที่ปฏิบัติไม่ได้ได้อย่างไร คือถ้าบัญญัติกฎข้อนี้ต่อปชบด. ก็หมายความว่าพระนางบวชได้เพียงคนเดียว (โดยพระพุทธเจ้าเอง แบบเอหิภิกขุฯ?) แต่คนต่อๆไปจะบวชไม่ได้เลย เพราะมีสงฆ์ไม่ครบทั้งสองฝ่าย คือยังมีเพียงพระนางคนเดียว ยังไม่ถือว่าเป็นสงฆ์ (ซึ่งต้องมีสามรูปขึ้นไป)
และยังไม่เห็นว่าข้อนี้เป็นธรรมอันหนักอึ้งตรงไหนเลย เป็นแต่เพียงพิธีกรรมที่กระทำครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น นอกจากนี้พพจ.ยังกระทำการที่ขัดต่อบทบัญญัติของพระองค์เองอีกด้วย ที่บอกว่า….ดูกรอานนท์ ก็ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นแหละ จงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง ฯ ….คือเมื่อยอมรับปึ๊บก็เป็นภษณปั๊บ
แต่ถามว่า …แล้วการบวชเป็นภษณนี้ไม่ละเมิดกฎข้อ 6 ที่พระนางเพิ่งยอมรับดอกหรือ (ตรรกด้านเวลา) …พพจ.เป็นสัพพัญญูคงไม่กระทำการใดๆที่ขัดต่อบัญญัติอันหนักของพระองค์เองเป็นแน่
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกว่า แรกเริ่มเดิมทีการบวชนางภิษุณีกระทำในสงฆ์ฝ่ายเดียว (คือฝ่ายชาย) (แค่นี้ก็ขัดต่อข้อ 6 แล้ว) แต่ในการบวชต้องมีการถามอันตรายิกธรรม เช่น ถามว่า เป็นนาคปลอมตัวมาบวชหรือเปล่า สำหรับหญิงมีการถามเพิ่มด้วยว่า “ท่านกำลังเป็นระดูหรือเปล่า” เพราะกำหนดกันไว้ว่าห้ามบวชตอนเป็นระดู (ไม่รู้ใครกำหนด) การถามเรื่องลับเฉพาะแบบนี้ทำให้นาคหญิงไม่กล้าตอบเพราะเขินอาย ความทราบพพจ.จึงกำหนดว่า จากนี้ไปจะให้ไปถามอันตรายิกธรรมกันในสงฆ์ฝ่ายหญิงก็ได้ เรื่องนี้มีนัยสำคัญ 2 ประการคือ
• 1) จะบวชนางภิกษุณีในสงฆ์ฝ่ายชายฝ่ายเดียวก็ได้ ถ้านาคหญิงไม่อายที่จะตอบคำถาม คือ การให้บวชสองฝ่ายนั้นอนุโลมให้สำหรับหญิงที่เขินอาย ดังนั้นถ้าไม่เขินอายก็ควรที่จะบวชในสงฆ์ฝ่ายเดียวได้ อันนี้ไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นข้ออนุโลมต่างหาก
• 2) ในตอนแรกบวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว ซึ่งแสดงว่าครุธรรมข้อ 6 นั้นน่าจะมา(แอบ)บัญญัติภายหลัง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกเกี่ยวกับการบัญญัติให้มีการศึกษาของนางสิกขมนา (แม่ชีฝึกหัด) เป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะให้บวช นี่ก็ขัดกับครุธรรมอีก เพราะแสดงว่าเรื่องนางสิกขมนานี้บัญญัติไว้ทีหลังไม่ได้บัญญัติล่วงหน้าไว้ในครุธรรม
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรม แม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทาง ให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
สำหรับข้อ 7-8 นี้ ผมลืมรายละเอียดจริงๆครับ จำได้ลางๆว่า ได้อ่านเจอเรื่องนี้ในพระไตรปิฎกด้วย คือมีการด่าทอกัน และมีการสอนกัน แล้วก็ทรงมีบัญญัติ (แต่จำไม่ได้ว่าบัญญัติว่ากระไร) รายละเอียดไม่ต้องสนใจก็ได้ ขอให้สนใจแต่เพียงว่าเป็นเรื่องที่เกิดภายหลัง ไม่ได้บัญญัติไว้ล่วงหน้า มันขัดแย้งกันในเงื่อนเวลากับครุธรรมอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะสำนวนภาษาในข้อ ๘ นั้นส่อพิรุธชัดเจนว่าเป็นบัญญัติที่มีขึ้นภายหลังจากมีภิกษุณีแล้ว ถ้าบัญญัติก่อนมีภิกษุณีจะต้องไม่ใช้ภาษาแบบนี้ (ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป)
จุดประสงค์ในการ”สอดไส้”ครั้งสำคัญนี้ก็คงเพื่อกดผู้หญิงให้ต่ำกว่าตน ตามคตินิยมของพวกพราหมณ์ผู้ชายสมันโน้นที่เข้ามาบวชเป็นพระในพุทธศาสนา พวกนี้ยังยึดติดว่าผู้หญิงคือของต่ำช้า ไม่อาจกราบไหว้ได้ ก็คงหาทางปลอมเอาครุธรรมมายัดไส้ไว้ แต่ด้วยความด้อยปัญญาก็ปลอมได้ไม่แนบเนียน มีร่องรอยให้จับผิดได้เต็มเกลื่อนไปหมด
คณะสงฆ์ไทยยังจะยืนยันยึดทุกคำในพระไตรปิฏกว่าถูกต้องอีกหรือ ท่านพุทธทาสภิกขุก็เคยกล่าวว่า 60% ของพระไตรปิฎกเป็นเรื่องที่แทรกเข้ามาในภายหลัง ขณะนี้สงฆ์ไทยกำลังเสื่อมมาก ถ้าให้บวชนางภิกษุณีได้ก็น่าจะช่วยพยุงศาสนาไว้ได้นานขึ้น เพราะสมัยนี้ต้องยอมรับว่าผู้หญิงมีศรัทธาแรงกล้าและบริสุทธิ์มากกว่าผู้ชายในการนับถือและปฏิบัติศาสนากิจ
ผมเห็นว่าถ้าเรายังยึดครุธรรมว่าเป็นของแท้ ก็ต้องลบเนื้อความในหลายๆคัมภีร์ออกให้หมด เพราะลงกันไม่ได้เลยกับครุธรรม ถ้ายังคงไว้อย่างนี้ก็จะเป็นการเสื่อมพระยศของพระพุทธเจ้า เพราะเท่ากับเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพระองค์ทรงลืมหรือทรงสับสน ไม่ต่างอะไรกับปุถุชน
พพจ.ทรงสอนไว้ว่าศาสนาจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อครบพุทธบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ตอนนี้เรามีเพียง 3 ขาเท่านั้นเอง
หมายเหตุ การบัญญัติวินัยที่ซ้ำกับครุธรรมนั้นส่วนใหญ่อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม 3 อารามวรรค และ คัพภินีวรรค แสดงให้เห็นว่ามีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นก่อนจึงทรงบัญญัติห้าม แต่ทำไมไปบัญญัติ (ซ้ำซ้อน) ไว้ล่วงหน้าในครุธรรม 8 ก่อนแต่จะเกิดมีภิกษุณีสงฆ์เสียอีก
…ทวิช จิตรสมบูรณ์ ( พศ. ๒๕๔๘)