การบริหารองค์กรแบบบิวตัน (Buton)
ผมได้ศึกษา ครุ่นคิด เกี่ยวกับวิธีการบริหารองค์กรมานานพอสมควร ตั้งแต่ยังไม่ได้เคยเป็นผู้บริหารกะเขา ไม่ใช่ว่ามักใหญ่ใฝ่สูงหรอก แต่เพราะเห็นว่ามันเป็นศาสตร์ศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนิสัยผมนั้นสนใจศาสตร์ทุกเรื่องโดยธรรมชาติอยู่แล้ว โดยเฉพาะศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ เช่นชาติพันธุ์มนุษย์และสังคมวิทยา เมื่อได้จับพลัดจับผลูเข้ามาสู่วงจรการบริหารการศึกษา ก็เลยยิ่งเป็นแรงดลใจให้ผมได้ใช้ความคิดอย่างหนักมากขึ้นว่าจะใช้ยุทธวิธีการบริหารแบบใด
ผมได้เข้าฟังการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการบริหาร(ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ) ได้สนทนากับผู้รู้ ตลอดจนสังเกตรูปแบบการบริหารของนักบริหารท่านอื่นๆ พอสมควร แต่ผมก็ยังไม่สามารถหารูปแบบการบริหารที่ถูกใจตนเองได้
หลังจากใช้ความคิดอยู่นานจึงได้คิดค้นวิธีการบริหารรูปแบบใหม่ขึ้น โดยการผสมผสานแนวทางวิทยาศาสตร์ ศาสนา และ จิตวิทยามนุษย์เข้าด้วยกัน ผมขอเรียกการบริหารแบบนี้ว่าการบริหารแบบบิวตัน (Buton) ซึ่งเป็นคำทีผสมมาจากคำว่า Buddha, Tao และ Newton ผมได้ทดลองใช้วิธีการบริหารแบบนี้ไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปได้ว่าเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร เพราะคงต้องใช้เวลายาวนานมากในการนี้ แต่ก็อยากจะฝากไว้ให้ท่านนักคิดทั้งหลายได้วิเคราะห์และกรองเอาส่วนที่เห็นว่าดีไปใช้ต่อไป
รูปแบการบริหารอันหลากหลายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เราลอกเรียนมาจากตะวันตกนั้น ผมเห็นว่านำมาซึ่งความเครียดของผู้บริหาร หรือผู้ถูกบริหาร หรือ ทั้งสองฝ่าย สุดแล้วแต่เงื่อนไขและลักษณะเฉพาะขององค์กรนั้นๆ ผมเชื่อว่าความเครียดนั้นไม่ว่าในรูปแบบใดจะนำมาซึ่งความด้อยประสิทธิภาพในที่สุด เพราะคนที่มีความเครียดคงจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้โดยเฉพาะในระยะยาว รูปแบบการบริหารที่ดีที่สุดน่าจะคือรูปแบบที่ทำให้ “งานได้ผล คนมีสุข”
คำถามอันยิ่งใหญ่ที่ต้องถามตามมาคือ แล้วจะทำให้คนทำงานมีความสุขได้อย่างไร เพราะการงานไม่ใช่เล่นกอล์ฟหรือร้องคาราโอเกะ ซึ่งเป็นคำถามที่ยากมาก แต่คำตอบมีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่แล้วมากมาย เช่น นักวิ่งมาราธอนนั้นไม่ว่าจะเป็นสมัครเล่น หรือ อาชีพ ต่างก็มีความสุขกับความเหนื่อยยากด้วยกันทั้งนั้น วันไหนไม่ได้ออกไปโทรมร่างกายให้มันเหงื่อท่วมตัวก็จะหงุดหงิดมากทีเดียว คนที่บ้าทำงาน(ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นน้อยกว่านักวิ่งมาก)ก็มีความสุขเช่นเดียวกัน
เคล็ดลับของการทำงานให้มีความสุขอยู่ที่ไหน หรือ เคล็ดลับของการบริหารองค์กรเพื่อให้คนทำงานหนักอย่างมีความสุขคืออะไร ถ้าทำได้คงจะวิเศษที่สุด
รูปแบบการบริหารองค์กรที่ส่วนใหญ่เราลอกเลียนฝรั่งมานั้น มักไม่หนีพ้นหลักการ วิสัยทัศน์ วางแผน วางมาตรการ และวิธีปฏิบัติ ตั้งเป้าหมาย มอบงาน ควบคุม ตรวจสอบ ประเมิน และการป้อนกลับ ตลอดจนการบริหารความขัดแย้ง
นั่นเป็นระบบการทำงาน ส่วนในระดับพนักงานก็มักจะมีการ สร้างแรงจูงใจให้ทำงานหนักด้วยเครื่องล่อเชิงรูปธรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การขึ้นเงินเดือน โบนัส การเลื่อนตำแหน่ง สวัสดิการ การแข่งขัน การทำงานเป็นทีม เป็นต้น ระบบบริหารแต่ละระบบจะแตกต่างกันบ้างก็แต่เพียงในรายละเอียดของวิธีการเพื่อทำให้ได้มาซึ่งองค์ประกอบต่างๆที่กล่าวมาเท่านั้น
ปัจจุบันนี้ยังมีการเน้นผลงานที่สามารถชี้วัดได้อย่างชัดเจนด้วยตัวชี้วัดต่างๆที่สร้างกันขึ้นมา จึงก่อให้เกิดความเครียดในตัวผู้บริหารสูงสุดซึ่งทยอยลงสู่ระดับล่างจนเกิดการเฉลี่ยความเครียดกันโดยถ้วนหน้า ทำให้งานอาจจะได้หรืออาจจะไม่ได้ผล มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี แต่คนทำงานนั้นเป็นทุกข์หนักถ้วนหน้าแน่นอน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมยาแก้ปวดหัวจึงเป็นยาที่ขายดีที่สุดในตลาดยาทั่วโลกทุกวันนี้
พนักงานในองค์กรถูกบีบคั้นให้เกิดความเครียดได้หลายทาง เช่น จากอำนาจบริหารของผู้บริหาร จากกฎระเบียบ (ที่วางโดยผู้บริหาร) จากปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และแน่นอนจากการงานโดยตรง ทั้งหมดมีมูลเหตุมาจากความกลัว คือ กลัวตกงาน กลัวไม่ก้าวหน้า กลัวคนอื่นจะก้าวหน้ากว่า กลัวเสียหน้า(ที่ทำงานไม่เสร็จทันเวลา)
ผมมาคิดสังเคราะห์แบบสามประสานได้ว่า 1) พระพุทธเจ้าได้ให้หลักการในการทำกิจกรรมใดๆไว้ว่า ควรได้ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านพร้อมกัน 2) เล่าจื้อ (เต๋า) บอกว่าจงปกครองเสมือนหนึ่งว่าไม่มีผู้ปกครอง 3) เซอร์ ไอแซค นิวตัน บอกว่าสรรพสิ่งย่อมนิ่งหรือเคลื่อนไปในทิศทางเดิมด้วยความเร็ว(หรือความช้า)เดิม จนกว่าจะใส่แรงจากภายนอกเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลง
ระบบการบริหารแบบ Butonian ก็คือการบริหารที่เอาสามหลักการนี้มาบูรณาการให้สอดคล้องกับสภาวะเงื่อนไขขององค์กรในขณะเวลานั้นๆนั่นเอง
หากใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ของท่านนิวตันที่อธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุ (ที่ไร้วิญญาณ) องค์กรเปรียบได้กับวัตถุก้อนหนึ่งที่มีมวล (ขนาด) และ ความเร็วในการเคลื่อนที่ (โมเมนตัม) ซึ่งกำลังเคลื่อนที่ไป(หรือคิดว่าเคลื่อนที่ไป)ในทิศทางหนึ่งเพื่อไปสู่จุดหมายอันหนึ่ง (ถ้ามี)
ก่อนอื่นควรต้องวิเคราะห์ให้ได้เสียก่อนว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่มุ่งหวังหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็มีได้สองทางคือ ยังไม่ถูกต้อง หรือ ถูกต้องแล้ว ซึ่งจะต้องจัดการเป็นกรณีไปให้เหมาะสม
1. ถูกต้องแล้ว ต้องถามต่อไปว่าแล้วเดินไปด้วยความเร็วที่เหมาะสมหรือยัง ซึ่งอาจเหมาะสมแล้ว หรือ เร็วเกินไป หรือ ช้าเกินไป ก็เป็นได้ ซึ่งก็ต้องจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป
2. ไม่ถูกต้อง ต้องถามต่อไปว่าทิศทางเฉไปในทิศใด และ กำลังวิ่งเฉไปด้วยความเร็วมากหรือน้อย เพียงใด ซึ่งก็ต้องการมาตรการเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมต่อไป
ในกรณีที่ถูกต้องแล้ว เราต้องใส่แรงในทิศทางเดิมเพิ่มเติม หรือ ลดแรงลง แล้วแต่ว่าจะให้เร็วขึ้นหรือช้าลง ในกรณีที่ผิดทั้งขนาดและทิศทางเราก็ต้องเปลี่ยนทั้งทิศทางและหรือขนาดของแรงที่เหมาะสมต่อไป
แต่การใส่แรงเข้าไปเพื่อปรับระบบนั้น มีได้สามลักษณะคือ
1) การใส่แรงผลักจากภายนอก
2) การใส่แรงดึงจากภายนอก
3) และการสร้างแรงขับเคลื่อนจากภายใน(กำลังภายใน)
การใส่แรงผลักจากภายนอกนั้นมักด้อยประสิทธิภาพและเป็นการเพิ่มความเครียดได้มาก ส่วนการใส่แรงดึงจากภายนอกนั้นได้ประสิทธิภาพมากกว่าและเกิดความเครียดน้อยกว่าด้วย สำหรับการสร้างแรงจากภายในนั้นทำได้ยากที่สุด แต่จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และยังเป็นการลดความเครียดด้วย
อุปมาดังเช่น การจะทำให้สุนัขเดินไปตามทิศทางที่ต้องการนั้น อาจทำด้วยการผลักดันสุนัขทางก้น ซึ่งเป็นอาการที่ยากลำบากทุลักทุเลมาก ไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการใช้เชือกผูกดึงหรือจูงสุนัขไป แม้จะทุลักทุเลอยู่บ้าง ก็ยังดีกว่าวิธีผลักมาก นอกจากจูงด้วยเชือกแล้วยังอาจจูงด้วยเครื่องล่อเช่นอาหารขบเคี้ยวเพื่อล่อให้เดินตาม วิธีที่สามคือเรียนรู้นิสัยของสุนัขแล้วปลูกฝังความรักความสัมพันธ์กับสุนัขจนสุนัขเดินตามเราไปทุกทางที่เราไป วิธีนี้ไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะเกิดจากแรงดลใจภายในของสุนัขเอง สุนัขเองก็ไม่เครียดด้วยเพาะทำเองตามความสมัครใจ ออกจะไม่ค่อยดีนักที่เอามาเปรียบกันสุนัขแต่ก็คงได้ภาพพจน์ที่ง่ายดี ไม่ต้องอธิบายกันมาก
(นี่เป็นเพียง 3 ใน 13 หน้าของบทความนี้ที่ผมเขียนไว้เมื่อประมาณปีพศ. ๒๕๔๕ เห็นจะได้ เกรงว่าถ้าเอามาลงหมดแล้วจะทำให้ท่านผู้อ่านเครียด ก็ขอเอวังแต่เพียงเท่านี้)