การบริหารองค์กรแบบบิวตัน (Buton)
การบริหารองค์กรแบบบิวตัน (Buton)
ผมได้ศึกษา ครุ่นคิด เกี่ยวกับวิธีการบริหารองค์กรมานานพอสมควร ตั้งแต่ยังไม่ได้เคยเป็นผู้บริหารกะเขา ไม่ใช่ว่ามักใหญ่ใฝ่สูงหรอก แต่เพราะเห็นว่ามันเป็นศาสตร์ศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนิสัยผมนั้นสนใจศาสตร์ทุกเรื่องโดยธรรมชาติอยู่แล้ว โดยเฉพาะศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ เช่นชาติพันธุ์มนุษย์และสังคมวิทยา เมื่อได้จับพลัดจับผลูเข้ามาสู่วงจรการบริหารการศึกษา ก็เลยยิ่งเป็นแรงดลใจให้ผมได้ใช้ความคิดอย่างหนักมากขึ้นว่าจะใช้ยุทธวิธีการบริหารแบบใด
ผมได้เข้าฟังการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการบริหาร(ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ) ได้สนทนากับผู้รู้ ตลอดจนสังเกตรูปแบบการบริหารของนักบริหารท่านอื่นๆ พอสมควร แต่ผมก็ยังไม่สามารถหารูปแบบการบริหารที่ถูกใจตนเองได้
หลังจากใช้ความคิดอยู่นานจึงได้คิดค้นวิธีการบริหารรูปแบบใหม่ขึ้น โดยการผสมผสานแนวทางวิทยาศาสตร์ ศาสนา และ จิตวิทยามนุษย์เข้าด้วยกัน ผมขอเรียกการบริหารแบบนี้ว่าการบริหารแบบบิวตัน (Buton) ซึ่งเป็นคำทีผสมมาจากคำว่า Buddha, Tao และ Newton ผมได้ทดลองใช้วิธีการบริหารแบบนี้ไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปได้ว่าเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร เพราะคงต้องใช้เวลายาวนานมากในการนี้ แต่ก็อยากจะฝากไว้ให้ท่านนักคิดทั้งหลายได้วิเคราะห์และกรองเอาส่วนที่เห็นว่าดีไปใช้ต่อไป
รูปแบการบริหารอันหลากหลายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เราลอกเรียนมาจากตะวันตกนั้น ผมเห็นว่านำมาซึ่งความเครียดของผู้บริหาร หรือผู้ถูกบริหาร หรือ ทั้งสองฝ่าย สุดแล้วแต่เงื่อนไขและลักษณะเฉพาะขององค์กรนั้นๆ ผมเชื่อว่าความเครียดนั้นไม่ว่าในรูปแบบใดจะนำมาซึ่งความด้อยประสิทธิภาพในที่สุด เพราะคนที่มีความเครียดคงจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้โดยเฉพาะในระยะยาว รูปแบบการบริหารที่ดีที่สุดน่าจะคือรูปแบบที่ทำให้ “งานได้ผล คนมีสุข”
คำถามอันยิ่งใหญ่ที่ต้องถามตามมาคือ แล้วจะทำให้คนทำงานมีความสุขได้อย่างไร เพราะการงานไม่ใช่เล่นกอล์ฟหรือร้องคาราโอเกะ ซึ่งเป็นคำถามที่ยากมาก แต่คำตอบมีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่แล้วมากมาย เช่น นักวิ่งมาราธอนนั้นไม่ว่าจะเป็นสมัครเล่น หรือ อาชีพ ต่างก็มีความสุขกับความเหนื่อยยากด้วยกันทั้งนั้น วันไหนไม่ได้ออกไปโทรมร่างกายให้มันเหงื่อท่วมตัวก็จะหงุดหงิดมากทีเดียว คนที่บ้าทำงาน(ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นน้อยกว่านักวิ่งมาก)ก็มีความสุขเช่นเดียวกัน
เคล็ดลับของการทำงานให้มีความสุขอยู่ที่ไหน หรือ เคล็ดลับของการบริหารองค์กรเพื่อให้คนทำงานหนักอย่างมีความสุขคืออะไร ถ้าทำได้คงจะวิเศษที่สุด
รูปแบบการบริหารองค์กรที่ส่วนใหญ่เราลอกเลียนฝรั่งมานั้น มักไม่หนีพ้นหลักการ วิสัยทัศน์ วางแผน วางมาตรการ และวิธีปฏิบัติ ตั้งเป้าหมาย มอบงาน ควบคุม ตรวจสอบ ประเมิน และการป้อนกลับ ตลอดจนการบริหารความขัดแย้ง
นั่นเป็นระบบการทำงาน ส่วนในระดับพนักงานก็มักจะมีการ สร้างแรงจูงใจให้ทำงานหนักด้วยเครื่องล่อเชิงรูปธรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การขึ้นเงินเดือน โบนัส การเลื่อนตำแหน่ง สวัสดิการ การแข่งขัน การทำงานเป็นทีม เป็นต้น ระบบบริหารแต่ละระบบจะแตกต่างกันบ้างก็แต่เพียงในรายละเอียดของวิธีการเพื่อทำให้ได้มาซึ่งองค์ประกอบต่างๆที่กล่าวมาเท่านั้น
ปัจจุบันนี้ยังมีการเน้นผลงานที่สามารถชี้วัดได้อย่างชัดเจนด้วยตัวชี้วัดต่างๆที่สร้างกันขึ้นมา จึงก่อให้เกิดความเครียดในตัวผู้บริหารสูงสุดซึ่งทยอยลงสู่ระดับล่างจนเกิดการเฉลี่ยความเครียดกันโดยถ้วนหน้า ทำให้งานอาจจะได้หรืออาจจะไม่ได้ผล มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี แต่คนทำงานนั้นเป็นทุกข์หนักถ้วนหน้าแน่นอน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมยาแก้ปวดหัวจึงเป็นยาที่ขายดีที่สุดในตลาดยาทั่วโลกทุกวันนี้
พนักงานในองค์กรถูกบีบคั้นให้เกิดความเครียดได้หลายทาง เช่น จากอำนาจบริหารของผู้บริหาร จากกฎระเบียบ (ที่วางโดยผู้บริหาร) จากปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และแน่นอนจากการงานโดยตรง ทั้งหมดมีมูลเหตุมาจากความกลัว คือ กลัวตกงาน กลัวไม่ก้าวหน้า กลัวคนอื่นจะก้าวหน้ากว่า กลัวเสียหน้า(ที่ทำงานไม่เสร็จทันเวลา)
ผมมาคิดสังเคราะห์แบบสามประสานได้ว่า 1) พระพุทธเจ้าได้ให้หลักการในการทำกิจกรรมใดๆไว้ว่า ควรได้ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านพร้อมกัน 2) เล่าจื้อ (เต๋า) บอกว่าจงปกครองเสมือนหนึ่งว่าไม่มีผู้ปกครอง 3) เซอร์ ไอแซค นิวตัน บอกว่าสรรพสิ่งย่อมนิ่งหรือเคลื่อนไปในทิศทางเดิมด้วยความเร็ว(หรือความช้า)เดิม จนกว่าจะใส่แรงจากภายนอกเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลง
ระบบการบริหารแบบ Butonian ก็คือการบริหารที่เอาสามหลักการนี้มาบูรณาการให้สอดคล้องกับสภาวะเงื่อนไขขององค์กรในขณะเวลานั้นๆนั่นเอง
หากใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ของท่านนิวตันที่อธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุ (ที่ไร้วิญญาณ) องค์กรเปรียบได้กับวัตถุก้อนหนึ่งที่มีมวล (ขนาด) และ ความเร็วในการเคลื่อนที่ (โมเมนตัม) ซึ่งกำลังเคลื่อนที่ไป(หรือคิดว่าเคลื่อนที่ไป)ในทิศทางหนึ่งเพื่อไปสู่จุดหมายอันหนึ่ง (ถ้ามี)
ก่อนอื่นควรต้องวิเคราะห์ให้ได้เสียก่อนว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่มุ่งหวังหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็มีได้สองทางคือ ยังไม่ถูกต้อง หรือ ถูกต้องแล้ว ซึ่งจะต้องจัดการเป็นกรณีไปให้เหมาะสม
1. ถูกต้องแล้ว ต้องถามต่อไปว่าแล้วเดินไปด้วยความเร็วที่เหมาะสมหรือยัง ซึ่งอาจเหมาะสมแล้ว หรือ เร็วเกินไป หรือ ช้าเกินไป ก็เป็นได้ ซึ่งก็ต้องจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป
2. ไม่ถูกต้อง ต้องถามต่อไปว่าทิศทางเฉไปในทิศใด และ กำลังวิ่งเฉไปด้วยความเร็วมากหรือน้อย เพียงใด ซึ่งก็ต้องการมาตรการเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมต่อไป
ในกรณีที่ถูกต้องแล้ว เราต้องใส่แรงในทิศทางเดิมเพิ่มเติม หรือ ลดแรงลง แล้วแต่ว่าจะให้เร็วขึ้นหรือช้าลง ในกรณีที่ผิดทั้งขนาดและทิศทางเราก็ต้องเปลี่ยนทั้งทิศทางและหรือขนาดของแรงที่เหมาะสมต่อไป
แต่การใส่แรงเข้าไปเพื่อปรับระบบนั้น มีได้สามลักษณะคือ
1) การใส่แรงผลักจากภายนอก
2) การใส่แรงดึงจากภายนอก
3) และการสร้างแรงขับเคลื่อนจากภายใน(กำลังภายใน)
การใส่แรงผลักจากภายนอกนั้นมักด้อยประสิทธิภาพและเป็นการเพิ่มความเครียดได้มาก ส่วนการใส่แรงดึงจากภายนอกนั้นได้ประสิทธิภาพมากกว่าและเกิดความเครียดน้อยกว่าด้วย สำหรับการสร้างแรงจากภายในนั้นทำได้ยากที่สุด แต่จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และยังเป็นการลดความเครียดด้วย
อุปมาดังเช่น การจะทำให้สุนัขเดินไปตามทิศทางที่ต้องการนั้น อาจทำด้วยการผลักดันสุนัขทางก้น ซึ่งเป็นอาการที่ยากลำบากทุลักทุเลมาก ไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการใช้เชือกผูกดึงหรือจูงสุนัขไป แม้จะทุลักทุเลอยู่บ้าง ก็ยังดีกว่าวิธีผลักมาก นอกจากจูงด้วยเชือกแล้วยังอาจจูงด้วยเครื่องล่อเช่นอาหารขบเคี้ยวเพื่อล่อให้เดินตาม วิธีที่สามคือเรียนรู้นิสัยของสุนัขแล้วปลูกฝังความรักความสัมพันธ์กับสุนัขจนสุนัขเดินตามเราไปทุกทางที่เราไป วิธีนี้ไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะเกิดจากแรงดลใจภายในของสุนัขเอง สุนัขเองก็ไม่เครียดด้วยเพาะทำเองตามความสมัครใจ ออกจะไม่ค่อยดีนักที่เอามาเปรียบกันสุนัขแต่ก็คงได้ภาพพจน์ที่ง่ายดี ไม่ต้องอธิบายกันมาก
(นี่เป็นเพียง 3 ใน 13 หน้าของบทความนี้ที่ผมเขียนไว้เมื่อประมาณปีพศ. ๒๕๔๕ เห็นจะได้ เกรงว่าถ้าเอามาลงหมดแล้วจะทำให้ท่านผู้อ่านเครียด ก็ขอเอวังแต่เพียงเท่านี้)
« « Prev : ต้นไม้ก็สอนคนฉลาดได้
Next : กลับตาลปัตร (๑๑) ..อารมณ์นิพพาน(ที่ผ่านไป) » »
3 ความคิดเห็น
ถ้าคนมาก กิเลศน้อย คงต้อยๆตามกันง่าย
ถ้ากำกับและควบคุมกิเลศลดลงได้บ้าง โดยใช้คำสอนทางศาสนา
กฎกิติกากฎหมายต่างๆ ถ้าเป็นธรรมก็พอไหว
วัฒนธรรม-จารีตประเพณี-นิสัยใจคอ -ยึดเหนี่ยวจิตใจ คงช่วยได้บ้าง
ถ้าดูรูปแบบพระพุทธเจ้าปกครองสงฆ์ ใช้วิชาหักดิบ
โกนผมโกนคิ้วหิ้วกลดกาน้ำโหลดทรัพย์ให้เหลือเท่าที่จำเป็น
กินอยู่แต่พอสมควรแก่เหตุ
ไม่แย่ง-ไม่กอบโกย-ทรัพยากรโลกก็เหลือเฟือและปกติสุข
การบริหารบุคคลฝรั่งสนองกิเลศทั้งนั้น โลกมันจึงป่วน
การบริหารบุคคลพระพุทธเจ้า กำกับและควบคุมกิเลศ
2ความคิดนี้ตีคู่กันมาตลอด
แต่วันนี้..สงครามกิเลศ..ของฝรั่งทำท่าชนะขาด
สังคมโลกจึงเกิดความวิบัติให้เห็น
มนุษย์ไม่รู้ธรรมชาติของโลก เรียนบ้าๆบอๆไปอย่างนั้นแหละ
มดแดง ผึ้ง ยังบริหารองค์กรได้ดีกว่ามนุษย์มากนัก พากันอยู่ในโลกนี้ได้แต่พอดี ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่สร้างมลภาวะ ไม่ทำตัวเป็นปัญหาให้แก่โลกเหมือนพวกมนุษย์ขี้เหม็น ตำราบริหารบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ ถ้าไปถามช้าง ม้า วัว ควาย มันคงหัวเราะกลิ้ง ที่เห็นการบริหารงค์กรของมนุษย์มันโหล่ยโท้ยเต็มที
ไม่มีผึ้งตัวไหนหรอก แอบคุยกิ๊ก เบี้ยวงาน คอรัปชั่นเวลา แง่งอน ปัดขา เที่ยวนินทาคนอื่น ถึงเวลาผึ้งก็บินหึ่งๆออกไปทำหน้าที่ ศัตรูบุกมาก็สู้ตายถวายแหวน ชัดเจนตรงๆเหลือหลายในการทำหน้าที่ ทั้งๆที่ผึ้งไม่เคยเรียกประชุม อบรม เรื่องการบริหารงาน แต่สังคมผึ้งก็เป็นปกติสุข
เห็นด้วยกับท่านจอหงวน ว่าคนนี่แหละห่วยแตก กว่าต้นไม้ กว่าสัตว์อื่นๆ
ถนัดแต่ยกก้นตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ประเสริฐตรงไหนวะ ในเมื่อมันแย่กว่าสังคมมด-ปลวก-ผึ้ง เสียอีก
อิ อิ..ที่ท่านจอหงวนเขียนไว้เป็นสิบๆหน้าก็ลงมาเถิด ไม่มีใครอ่าน ผมจะเอาไปอ่านให้หมูแมวฟัง
ความคิดคล้ายๆกันที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/190479 นี่เป็นความคิดหยาบๆที่ผมสรุปจากการเฝ้ามองการเคลื่อนต้วขององค์กร สังคม คน ครับ
น่าสนใจแนวคิดของอาจารย์ครับ เอามาลงเถอะครับ
มาขอให้ลงอีกคนค่ะ อย่างไรๆลงก็มีประโยชน์ค่ะ ป้าหวานก็สนใจเหมือนกัน และเชื่อว่าการคิดและพัฒนานั้นมีได้หลากหลายทั้งในแนวเดียวกันและคนละแนว ในระดับความลึกต่างๆ นิดเดียวที่พลิก ขยับ ก็ก่อเกิด ปรับเปลี่ยนได้มากมายเมื่อกระจายออกไป ยิ่งว่าการแบ่งตัวแบบไม่จำกัดผสมลูกโซ่