กังหันลมสำหรับประเทศไทย..จนป่านนี้ก็ยังงมหอย..เฮ้อ
เรื่อง พลังงานลม
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
กระผมรับทราบด้วยความยินดีว่าท่านนายกฯสนใจพลังงานลม แต่ก็วิตกอยู่เล็กน้อยว่าท่านอาจไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะขณะนี้ท่านนายกฯทราบเพียงข้อมูลบางส่วน เช่น มีการผลิตกังหันลมโดยคนไทยในบางแห่ง แต่การผลิตนั้นเป็นเพียงการลอกการออกแบบมาจากต่างประเทศเท่านั้น แล้วเอามาสร้าง ซึ่งการสร้างนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากนัก ใครๆที่พอมีฝีมือช่างก็สร้างกังหันลมได้ แต่การออกแบบและสร้างให้ได้ประสิทธิภาพสูง แข่งกับฝรั่งได้นั้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วผลิตออกมาก็ไม่คุ้มทุน ซื้อฝรั่งคุ้มทุนกว่า เอาไปขายใครเขาก็ไม่ซื้ออีกต่างหาก
ดังนั้นกลุ่มวิจัยด้านพลังงานลมของกระผม (ซึ่งเป็นหนึ่งในสามกลุ่ม) มีนศ.ปริญญาเอกอยู่ 4 คน ป.โทอีก 1 คน จึงทำงานวิจัยด้านการออกแบบกังหันลมให้เหมาะกับสภาพลมในประเทศไทยและให้ได้ประสิทธิภาพสูงด้วยมาเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว บัดนี้เราได้พัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบจนสามารถออกแบบได้ดีกว่าการออกแบบของต่างชาติด้วยซ้ำไป หากรัฐบาลหรือเอกชนใดต้องการเทคโนโลยีด้านนี้เราก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องซื้อเทคโนโลยีการออกแบบจากต่างชาติให้สิ้นเปลือง เราเชื่อว่าเราเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศที่มีเทคโนโลยีการออกแบบนี้ และมีผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการกว่า 20 ฉบับเป็นเครื่องยืนยัน
ที่ผ่านมา 10 กว่าปีกระผมได้ล็อบบี้หนักรอบประเทศว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีศักยภาพพลังงานลมต่ำอย่างที่ทุกท่านพากันคิดตามข้อมูลดั้งเดิมที่เรามีอยู่ จนแนวคิดนี้ติดลมบนในที่สุด ทำให้ธุรกิจกังหันลมไทยอาจได้รับการโหมกระพือมากเกินจริงไปเสียด้วยซ้ำ ซึ่งน่ากลัวอันตราย (เช่นไปลงทุนแล้วเจ๊ง ข่าวแพร่อออกไป สร้างความเสียหายได้มากในวงกว้าง) รัฐจึงต้องระวังให้มากในด้านนี้ เพราะอาจกระทบต่อยุทธศาสตร์ชาติ กระผมใคร่ขอเสนอประเด็นสำคัญที่สุดตามลำดับ คือ
- 1) ต้องสำรวจหาช่องลมแรงให้เจอ เช่น ใน usa กว้างใหญ่ไพศาลมีช่องลมเพียง 2-3 ช่องเท่านั้น อย่าลืมว่าลมแรงขึ้นสองเท่าจะได้พลังงานลมเพิ่มมากขึ้น 8 เท่า ผมมีแนวคิดในการหาช่องลมแรงอย่างง่ายและรวดเร็ว เอาไปบอกให้ผู้เกี่ยวข้องหลายท่านทำโดยไม่หวงความรู้ ก็เหมือนว่าเขาไม่ค่อยจะยอมรับรู้ ทำให้ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำกันไปมาก และคงเสียเวลากันอีกนาน
- 2) ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบกังหันให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด (ซึ่งขณะนี้กลุ่มของกระผมที่ มทส. ทำได้แล้ว)
- 3) ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งขณะนี้ มีมหาลัยบางแห่ง และ บริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งก็สามารถทำได้แล้ว แต่ยังพัฒนาเพิ่มได้อีกมาก ซึ่งประเด็นนี้คนจำนวนมาก (รวมทั้งรัฐบาล) คิดว่าคือสาระสำคัญที่สุดของกังหันลม ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก
- 4) ต้องมีนโยบาย มาตรการรัฐสนับสนุน
สุดท้ายผมวิจัยด้วยตนเอง ขอยืนยันว่าบรรพชนไทยเป็นคนแรกในโลกที่สร้างกังหันลมแบบ lift type ซึ่งใช้หลักการของแรกยกแบบปีกเครื่องบิน ส่วนกังหันของ ducth เป็นแบบ drag type (แรงฉุด) ซึ่งเป็น low tech กว่าแบบ lift type มาก
ไทยเราทำกังหันลมแบบ lift type มาก่อนปี คศ. 1935 แน่นอน ซึ่งเป็นปีที่ชาวอเมริกันจดสิทธิบัตรกังหันลมแบบ lift type เป็นครั้งแรกของโลก ผมได้สะสมปีกกังหันลมโบราณไว้ในพิพิธพันธ์เทคโนโลยีไทยโบราณที่มทส. ซึ่งมีอุปกรณ์ให้ชมหลายพันชิ้น และนับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศทางด้านนี้ (ทำมาคนเดียว เงียบๆ หลายปีแล้วครับ และแสนเหนื่อย แต่ก็สนุก)
กราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ทวิช จิตรสมบูรณ์
ปล. เขียนถึง ฯพณฯท่าน แต่เมื่อท่านเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ๆ
« « Prev : เด็กไทยเจ๋ง…แต่ชาติไทยเจ๊ง
3 ความคิดเห็น
เคยเห็นภาพกังหันลมที่แหลมพรหมเทพ ภูเก็ต ไม่แน่ใจว่าเข้าใจผิดหรือเปล่า ว่าเป็นกังหันลมที่อาจารย์กำลังคุยถึงอยู่หรือเปล่า
ไม่ทราบนายกคนนี้ได้อ่านแล้วยัง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานอ่านแล้วยัง วันนี้อยู่กับที่ปรึกษานายกฯ เสียดายอาจารย์โพสช้า แต่ถ้าเขียนในลาน ท่านคงจะได้อ่าน ผมจะชวนให้มาอ่านอีกที เพื่อนผมทำธุรกิจด้านนี้ (บริษัทEG)เห็นคุยนักหนาว่าของเยอรมันดีอย่างโน่นอย่างนี้ จะมาให้เขามาปรึกษาอาจารย์นะครับ
แหลมพรมเทพ เป็นของต่างชาติครับ เรามาติดตั้งทดลอง ที่ลำตะคองก็เช่นกัน
ท่านบาครับ ยินดีครับ ทางเรามีเทคโนการออกแบบ แต่การผลิตก็งั้นๆ ยังต้องพัฒนาอีกครับ แต่เรื่องนี้ไม่ยากเท่าการออกแบบ เพราะมันเป็นของพื้นๆ ประเภท know how (ส่วนการออกแบบมัน know why ครับ มันอีกระดับ)