เทคโนโลยีนำความสุขมาให้ได้จริงหรือ
หัวข้อหนึ่งในบทที่ ๔ ในตำรา “การพัฒนาคุณภาพชีวิต” บทนี้ผมเป็นผู้เขียน (เป็นวิดวะนอกคอกจนนักสังคมเขาเชิญให้ไปร่วมแจม) ตัดมาบางหัวข้อย่อยพอให้มาอ่านกันเป็นกระสาย ..เขียนไว้เมื่อปี ๔๗ (เรื่อง “อามิช” นั้นเพิ่งทราบว่า เป็นหัวข้อย่อยหนึ่งของบทนี้นี่เอง) ……….
4.7 เทคโนโลยีนำความสุขมาให้ได้จริงหรือ
เราทั้งหลายต่างพากันปลงใจเชื่อว่าเทคโนโลยีนำความสุข(และคุณภาพชีวิตที่ดี)มาให้มวลมนุษย์ แต่เราเคยฉุกคิดกันบ้างไหมว่าความสุข คืออะไร และ เรามีเวลาเหลือที่จะสร้างความสุขให้ชีวิตมากน้อยเพียงใดจากการเข้ามาของเทคโนโลยี
คำถามที่ว่า “ความสุขคืออะไร” เป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะหากไม่สามารถให้คำนิยามนี้ได้อย่างปราศจากความกำกวมเสียก่อน ก็ป่วยการที่จะบอกว่า เทคโนโลยีนำความสุข(และคุณภาพชีวิตที่ดี)มาให้
คำถาม ขอให้นักศึกษาพยายามให้คำนิยามของ”ความสุข”ตามความนึกคิดของตนที่เคยมีมาแต่อดีต จากนั้นจินตนาการต่อไปว่าเทคโนโลยีต่างๆ สามารถสร้างความสุขดังกล่าวให้แก่ตัวเราได้อย่างไร
หากลองสมมุติว่าเราสามารถให้คำนิยาม “ความสุข” ได้อย่างไม่กำกวมแล้วก็ตาม เช่นอาจนิยามว่า คือ การมีบ้านหรู รถหรู การไปท่องเที่ยวทัศนาจรในสถานที่ใฝ่ฝัน การกินอาหารอร่อยถูกปาก การฟังเพลงที่ชื่นชอบ การมีเสื้อผ้าอย่างดี การมีเกียรติในสังคม การมีเงินจับจ่ายใช้สอยอย่างเหลือเฟือ การมีสุขภาพดี การมีแฟนสวยหรือหล่อ การอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เราชื่นชอบ เหล่านี้เป็นต้นที่เราเรียกกันว่าความสุข ซึ่งก็คือคุณภาพชีวิตอันดีของเราด้วยโดยปริยาย แล้วหากถามว่า เราจะได้สิ่งเหล่านี้มาอย่างไร ก็คงต้องตอบว่า ต้องทำงานหนักจึงจะได้มา และในขณะทำงานนั้นส่วนใหญ่แล้วก็เครียดมาก ไม่ค่อยมีความสุขกันสักเท่าไร ยิ่งต้องทำงานในองค์กรที่ต้องทำกำไรด้วยแล้วก็จะยิ่งเครียดกันใหญ่ ตื่นแต่เช้าไปทำงาน รถติด ควันพิษ ทำงานเสร็จ กลับบ้าน รถติด ควันพิษ อีกรอบ ถึงบ้านมืด อาบน้ำอุ่นจากเครื่องทำน้ำอุ่น (เทคโนโลยี) ทำให้เกิดความสุขได้ระดับหนึ่ง กินข้าวร้อนๆ (หุงจากหม้อไฟฟ้าเทคโนโลยีสูง) ก็มีความสุขได้อีกระดับ นั่งดูโทรทัศน์ (เทคโนโลยี) หัวเราะได้สักเล็กน้อยเพราะ หม่ำ จ๊กมก เล่นตลกได้เฉียบคมถูกใจจริงๆ จากนั้นก็เข้านอน แล้วก็เข้าสู่รอบวันใหม่ วนเวียน ซ้ำอยู่ชั่วนาตาปี ปีละครั้งเราก็นัดเพื่อนๆไปทัศนาจรไกลๆ กัน (ด้วยรถยนต์ เทคโนโลยี ) ถ่ายรูปกันมาเป็นที่ระลึก (ด้วยกล้อง เทคโนโลยี) ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีก็อำนวยความสุขและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ดีพอสมควรทีเดียว
แต่หากถามว่าเวลาที่ต้องเสียไปกับความเครียดเพื่อทำงานที่จะให้ได้เงินมาซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้คุ้มกันไหมกับความสุขที่ได้รับจากเทคโนโลยี ก็คงต้องถกกันหน่อย เพราะดูเหมือนว่าใช้เวลาไปมากเพื่อมาเสวยสุขเพียงแผล็บเดียวเท่านั้น เช่นในแต่ละวันใช้เวลาเดินทางและทำงานวันละ 12 ชม. เพื่อเสวยสุข 2 ชม. เท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องเป็นห่วงว่าเทคโนโลยีต่างๆเช่นรถยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆจะถูกขโมย ชำรุด เสียหาย ตกรุ่น ทำให้เกิดความเครียดมากขึ้นอีกมากโข และที่สำคัญที่ว่า “ความสุข” นั้นก็ยังจับไม่มั่นคั้นไม่ตายว่าเป็นความสุขแน่หรือ ถามว่าเมื่อเห็นเพื่อนบ้านระดับเดียวกันเขาซื้อของรุ่นใหม่มา ในขณะที่เรายังใช้รุ่นเก่าอยู่ (เช่น โทรศัพท์มือถือ) เราจะยังมีความสุขดีดังเดิมอยู่หรือไม่ ทั้งที่ก็ยังมีเทคโนโลยี(รุ่นเก่า)ใช้อยู่ในมือ ดูเหมือนว่าความสุขที่ว่านี้มันช่างรวนเรง่ายเสียเหลือเกิน เพียงแค่คนอื่นเปลี่ยนรุ่นโทรศัพท์มือถือก็อาจทำให้เราสูญเสีย “ความสุข” ไปเสียแล้ว ไม่ต้องพูดถึงรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ กางเกงยีนส์ รุ่นใหม่ก็ยังได้
ลองจินตนาการว่าเราเป็นชาวนาอยู่ตามบ้านนอก สร้างบ้านอยู่กลางนา มีควายสองตัวสำหรับไถนา ตื่นแต่เช้าเหมือนคนกรุงออกไปทำนา ช้าหน่อย แต่ควายไม่ติด ทำให้ไม่หงุดหงิด และไม่มีมลพิษ (ยกเว้นควายผายลมออกมาพอดี) ขี่ควายไปก็ผิวปากไปด้วย อากาศยามเช้าสดชื่นแสนสบาย นกและจิ้งหรีดส่งเสียงร้องไพเราะอยู่ข้างหู เมื่อถึงนาก็ไถนากันไป ไม่ต้องรีบร้อนมาก เหนื่อยนักก็หยุดพักยังได้ ไม่ต้องมีหัวหน้างานมาคอยเดินกำกับ หรือมีเอกสารกองโตตั้งไว้ข้างหน้า ที่ต้องรีบเคลียร์ออกก่อนสิบโมงเช้า (ไม่งั้นออกของให้ลูกค้าไม่ทัน จะเสียเปรียบคู่แข่ง) ตกกลางวันก็ล้อมวงกินข้าวกันกับเพื่อนไถนาแปลงใกล้เคียง ตกเย็นผิวปากกลับบ้าน แสงอาทิตย์สีทองจับขอบฟ้าสวยงามตา อาบน้ำท่ากินข้าวปลากลางนอกชาน ลมพัดเย็น โพล้เพล้หัวค่ำก็นั่งสนทนา หรือ ร้องรำทำเพลงกัน จากนั้นเข้านอน หากไม่คิดอะไรมาก หรือ ไม่คิดเปรียบเทียบกับคนกรุง ก็คงจะมีความสุขดี อาจนับเป็นความสุขมากกว่าคนทำงานกินเงินเดือนในเมืองกรุงด้วยซ้ำไป หรือหากคิดเปรียบเทียบอย่างชาญฉลาดก็ยิ่งอาจทำให้มีความสุขมากกว่าเดิมเสียอีก คือคิดเปรียบเทียบว่า เออ..เราไม่ต้องทุกข์ทรมานเหมือนคนกรุงนะ
ดังนี้จะเห็นว่าแม้ไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยมากนัก ก็สามารถมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หากมีแนวคิดที่ถูกต้องเป็นเครื่องนำทาง แนวคิดที่ถูกต้อง (หรือสัมมาทิฐิ) จึงนับว่าสำคัญที่สุดไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม แต่หากมีแนวคิดที่ผิด(มิจฉาทิฐิ)เสียแล้ว แม้นอนอยู่บนกองเงินกองทองก็มีความทุกข์มหันต์ได้ ดังมีนิยายเล่าว่า ขอทานคนหนึ่งนั่งขอทานอยู่หน้าบ้านเศรษฐี แกนั่งขอทานไปก็ผิวปากอย่างมีความสุขไปทั้งวัน อยู่มาวันหนึ่งเศรษฐีเกิดความเมตตาเลยควักกระเป๋าให้เงินไปห้าพันบาท ทำให้ขอทานดีใจมาก แต่ในวันรุ่งขึ้นเศรษฐีเห็นขอทานนั่งซึมไม่ยอมผิวปากเหมือนเดิม ทำให้เศรษฐีนึกสงสัยอยู่ในใจ เพราะเห็นผิวปากได้ทั้งปี พอได้เงินมากน่าจะดีใจกว่านั้นแต่กลับไม่ผิวปาก วันรุ่งขึ้นเศรษฐีก็พบว่าขอทานมาขอเข้าพบ พร้อมกับเอาเงินฟ่อนโตมาคืน โดยบอกว่าผมไม่ขอเก็บไว้หรอกครับ เพราะผมมีความทุกข์มาก กลัวเงินมันจะหายไป เมื่อก่อนบ้านผมไม่มีอะไรไม่ต้องพะวงว่าอะไรจะหาย ตั้งแต่ได้เงินก้อนนี้มาเก็บไว้เกิดความทุกข์มาก เพราะกลัวหาย กลัวโขมย กลัวไฟไหม้ เลยขอนำมาคืนเจ้าของเดิม นิทานนี้สอนให้รู้ว่า มีมากเกินไปก็ทุกข์ได้เหมือนกัน เช่น คนที่รวยที่สุดในโลกก็มีความทุกข์มาก เพราะอย่างน้อยก็คงกลัวคนรวยที่สองในโลกแซงหน้าขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ก็เลยเครียดทำงานหนักมากที่สุดเพื่อคงความเป็นหนึ่งไว้ให้ได้ตลอดการ (ไม่เชื่อลองไปถามท่านบิล เกต ดู และนี่คือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมคนที่รวยมากๆแล้วจึงไม่รู้จักพอเสียที)
หวนกลับมาเรื่องคำนิยามของความสุข ผู้เขียนได้วิเคราะห์ไว้ว่า ความสุขมีด้วยกันสามประเภทคือ สุขกาย สุขใจ(อารมณ์) และสุขจิต(วิญญาณ) ซึ่งความสุขกายนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึงการมีพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคเบียดเบียนทั้งปวง รวมตลอดไปจนถึงการไม่ต้องทำงานหนักเพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น อาบน้ำ หุงข้าว ทำความสะอาดบ้าน เดินทาง ทั้งนี้เพราะอาศัยเทคโนโลยีช่วยผ่อนแรงนั่นเอง สังเกตได้ว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่มาอำนวยความ”สุขกาย”ในส่วนนี้เป็นอันดับแรก ส่วนความสุขใจนั้นเกิดได้หลายทาง เช่น การได้อยู่ในแวดวงของคนที่รักที่รู้ใจกัน เช่น คนรัก เพื่อนสนิท พ่อแม่พี่น้อง เครือญาติที่รักสามัคคีกัน เป็นต้น หรือ การได้อ่านหนังสือดีๆ การได้ฟังเพลง ดูรายการโทรทัศน์ที่ชื่นชอบ การได้รับเกียรติคุณต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีก็มีส่วนทำให้เราได้สุขใจมากขึ้นกว่าอดีต เช่น เครื่องอำนวยความสุขต่างๆ โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องเล่นวีดิทัศน์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าความสุขในสองประการแรกนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นความสุขอันเนื่องมากจาก “การยึดติด” เช่นความสุขทางกายอันเนื่องจากการดื่มกินนั้น แต่ละคนมีรสนิยมไม่เหมือนกัน บางคนชอบเผ็ดแต่บางคนชอบจืด บางคนชอบขมแต่บางคนชอบหวาน บางคนชอบเบียร์แต่บางคนชอบเหล้า บางคนชอบบุหรี่แต่บางคนชอบกันชา บางคนชอบยาบี(บ้า)แต่บางคนชอบยาอี เป็นต้น ที่แต่ละคนมีนิยามของ”ความสุขกาย”แตกต่างกันนี้เป็นเพราะยึดติดกันคนละแนวใครยึดติดอะไรก็ว่าอันนั้นคือความสุข ส่วนความสุขด้านอารมณ์ก็มีลักษณะเดียวกัน หานิยามที่แน่นอนตายตัวอันใดไม่ได้ เช่น บางคนชอบเพลงเบาๆแต่บางคนชอบหนักๆ บางคนชอบอ่านปรัชญาล้ำลึกแต่บางคนชอบอ่านเรื่องบู๊ล้างผลาญ บางคนชอบลูกกรุงแต่บางคนชอบลูกทุ่ง บางคนชอบแต่งกายสีฉูดฉาดแต่บางคนชอบสีขรึมๆ เป็นต้น ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับว่าใครยึดติดกับรูปแบบใดก็จะทำให้ตนรู้สึกเป็นสุขใจ(อารมณ์) เมื่อได้เสพวัตถุทางอารมณ์ที่ตนยึดติด
ส่วนความสุขประเภทที่สามนั้นคือความสุขทางจิตหรือวิญญาณนั้น ก็มีอยู่หลายหลักการ เช่นหลักการของศาสนาที่อิงพระเจ้า เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู และ จูดา(ยิว) และหลักการของศาสนาที่ไม่อิงพระเจ้าเช่น พุทธ และ เต๋า เป็นต้น ในศาสนาที่มีพระเจ้านั้นส่วนใหญ่มีหลักการร่วมกันว่าความสุขคือการได้มีชีวิตนิรันดร์โดยอยู่ร่วมกับพระเจ้าในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ทั้งในเชิงรูปธรรมและหรือนามธรรม ทั้งในปัจจุบันและหรืออนาคต(ในปรโลก) ส่วนศาสนาที่ไม่อิงพระเจ้านั้นมีหลักการของความสุขทางวิญญาณคือการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม และหวังผลในเวลาปัจจุบันเป็นสำคัญ อาจตีความได้ว่า แม้ในศาสนาที่อิงพระเจ้าก็มีนัยของการไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่มาก เพราะมีความเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งปวง(รวมทั้งวิญญาณ)เป็นของที่พระเจ้าประทานให้มา เป็นสมบัติของพระเจ้าทั้งนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นและทึกทักว่าเป็นตัวเราและหรือของเรา
โดยหลักการทางจิตวิญญาณนั้น เมื่อไม่ยึดมั่นในสิ่งใดๆเหมือนกัน นิยามของความสุขทางวิญญาณจึงน่าจะเหมือนกัน คือเป็นความปล่อยวางอย่างใดอย่างหนึ่งในระดับใดระดับหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักการของศาสนานั้นๆ และหากเป็นการปล่อยวาง(ไม่ยึดติด)อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้วไซร้ก็คงจินตนาการได้ว่านิยามของความสุขต้องเหมือนกันทุกคนด้วย กล่าวคือ เป็นความสุขที่มีความชัดเจนแน่นอน ไม่รวนเรไปตามความยึดมั่นถือมั่นหรือตามรสนิยมของปัจเจกชน เมื่อเป็นดังนี้จึงน่าจะอนุมานได้ว่าความสุขชนิดนี้เป็นความสุขที่ดีที่สุด และน่าแสวงหาที่สุด เพราะมีความชัดเจนที่สุด มั่นคงที่สุด และรวนเรน้อยที่สุด
สำหรับตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นการปล่อยวางอย่างสมบูรณ์ถือเป็นการเข้าถึง”นิพพาน” ซึ่งนิยามกันด้วยภาษาของชาวโลกว่า เป็น”บรมสุข” ดังคำบาลีที่ออกเสียงว่า นิพพานัง ปรมัง สุขขัง (นิพพานคือยอดแห่งความสุข) แต่ผู้น่าเชื่อถือบางท่าน (เช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ) ได้เคยกล่าวว่า นั่นเป็นเพียงภาษาพูดของมนุษย์เพื่อให้ดูน่าสนใจใฝ่หา แต่ความจริงแล้ว นิพพานอยู่เหนือความสุขขึ้นไปอีก เพราะการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นหมายรวมถึงว่าไม่ยึดมั่นอยู่ใน(รสแห่ง)นิพพานด้วย
สังคมไทยและสังคมโลกโดยรวมควรจะต้องสัมมนากันให้มากว่า ความสุข และ คุณภาพชีวิตที่แท้จริง มีความหมายอย่างไรกันแน่ และมีองค์ประกอบใดแน่ หากยังไม่ถูกต้องเต็มที่และชัดเจนเต็มที่ การเดินทางไปตามเส้นทางเก่าๆเพื่อแสวงหาแคุณภาพชีวิตของมนุษย์ตามที่เชื่อกันหรือถูกทำให้เชื่อกันในปัจจุบันนี้นั้นอาจกลายเป็นเส้นทางที่นำพาสังคมไทยและมวลมนุษย์ทั้งผองในโลกไปสู่วันโลกาวินาศก็เป็นได้ และเมื่อนั้นน้องนุ่งลูกหลานของเรา หรือ แม้แต่ตัวเราเองในชั่วชีวิตนี่ก็อาจจะไม่เหลือแม้แต่ชีวิต มิใยจะต้องเอ่ยถึงคุณภาพชีวิต
« « Prev : เศรษฐกิจและเทคโนโลยีพอเพียง : กรณีศึกษาชาวอามิช
Next : เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน » »
2 ความคิดเห็น
ชอบใจบันทึกนี้ครับ
- เป็นจุดเด่นของอาจารย์ที่เป็นคนที่มีหลายมิติในตัวคนเดียว ระบบการศึกษาสร้างคนเรามีความรู้ด้านเดียว จริงๆเราจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ก็ต้องเพรียบพร้อมในการบูรณาการความรู้อื่นๆเข้าไปด้วย
- มีเพื่อน ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์เป็นวิศวะหลายคนคุยกันแล้วเราก็รู้ว่าท่านเหล่านั้นเก่งในเรื่องของวิศวะมาก บางคนมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง แต่ผิดหวังในเรื่องมุมมองทางสังคม มิติของความพอดี มิติของสมดุล ฯลฯ อย่างผมเคยบันทึกไว้ว่า กรมทางหลวงส้รางซุปเปอร์ไฮเวย์ชั้นหนึ่งลากยาวจากกรุงเทพฯไปทุกทิศทุกทาง เกิดความสดวกสบายมากมายเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง อาชีพหนึ่งหรือหลายอาชีพ แต่ก็ไปขวางกั้นวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีปฏิบัติของคนอีกกลุ่มหนึ่งในบางพื้นที่ เช่น ระบบเกาะกลางถนนที่ลากยาวบนถนนไฮเวย์กว่าจะเลี้ยวรถกลับได้ โน่น อีกกิโล สองกิโลเมตร เพื่อความปลอดภัยของระบบจราจร แต่ไปขวาง ไปทำลายระบบความเชื่อของชาวบ้านในภาคเหนือ เมื่อมีศพ เอาศพไปป่าแฮ่ว ห้ามหันหัวกลับเข้าสู่บ้าน แต่ไฮเวย์ขวางบ้านคนมีศพกับป่าแฮ่ว จึงต้องลากศพไปอ้อม ยูเทิน ก็ทำให้เกิดการหันหัวกลับเข้าบ้าน ประชาชนเดินขบวนให้ทำลายเกาะกลางถนน ก็ไปขัดกับหลักความปลอดภัยของกรมทาง สร้างระบบหนึ่ง ไปขวาง ไปทำลายอีกระบบหนึ่ง นี่คือปัญหาของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน กรณีนี้สู้กันนาน ในที่สุด กรมทางหลวงยอมชาวบ้าน….
แต่ผมก็มีเพื่อนชาวแคนาดาคนหนึ่งจบวิศวะแล้วไปสอบเข้าเรียนแพทย์ใหม่….ไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว ไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน
อาจารย์มีความพิเศษตรงที่ได้บวชเรียนและสนใจหลักธรรม สนใจในเรื่องคุณค่าของดั้งเดิม ฯลฯ ในตัวอาจารย์จึงผสมผสานกันไปหมด ดีมากครับ เพราะในชีวิตจริงเรานั้นเรามีชีวิตด้วยศาสตร์ทุกศาสตร์ ไม่ใช่เพียงศาสตรในเพียงศาสตร์เดียว การนำศาสตร์ต่างๆมาผสมผสานก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งซึ่งคนโบราณทรงคุณสมบัตินี้ไว้จริงๆ
ขอบคุณพี่บางทรายมากครับที่ให้กำลังใจว่า “หลายมิติ” (น้ำมันอ๊อกเทนสูงแม้มาที่ละน้อยก็ให้พลังได้มาก)
ผมรู้ตัวดีว่าเป็นจับฉ่าย ตอนแรกอยู่โอเคเนชั่นผมเรียกบลอกตัวเองว่า “จับฉ่ายไร้สาร”